กิจการ
ข้อมูลสำหรับศึกษา บท 15
ผู้ดูแล: แปลตรงตัวว่า “ผู้ชายสูงอายุ” คำกรีก เพร็สบูเทะรอส ในข้อนี้หมายถึงคนที่มีตำแหน่งและหน้าที่รับผิดชอบในประชาคมคริสเตียนในยุคแรก พระคัมภีร์บอกว่าเปาโลกับบาร์นาบัสและพี่น้องชายคนอื่น ๆ จากเมืองอันทิโอกในแคว้นซีเรียไปหาพวกอัครสาวกและผู้ดูแลในกรุงเยรูซาเล็มเพื่อปรึกษาเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการเข้าสุหนัต เหมือนกับชาติอิสราเอลสมัยโบราณมีผู้ดูแลบางคนที่ทำหน้าที่เป็นผู้นำและผู้บริหารงานระดับชาติ ในศตวรรษแรกก็มีพวกอัครสาวกและผู้ดูแลในกรุงเยรูซาเล็มทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการปกครองดูแลประชาคมคริสเตียนทุกแห่ง นี่แสดงให้เห็นว่าพี่น้องที่ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการปกครองมีเพิ่มมากขึ้นจากที่ก่อนหน้านี้มีเพียงอัครสาวก 12 คน—กจ 1:21, 22, 26; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 16:21; กจ 11:30
เรื่อง: หรือ “การโต้เถียง” คำกรีก เศเทมา มักหมายถึงข้อสงสัยหรือประเด็นที่กำลังโต้เถียงกัน คำนี้เกี่ยวข้องกับคำกรีกที่มีความหมายว่า “ค้นหา” (เศเทะโอ)—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 15:7
เปลี่ยนมาเชื่อพระเจ้า: คำกรีก เอะพิสะทะรอเฟ ที่ใช้ในข้อนี้มาจากคำกริยาที่มีความหมายว่า “กลับมา, หันกลับ” (ยน 12:40; 21:20; กจ 15:36) เมื่อใช้ในแง่ของความเชื่อ คำนี้อาจเกี่ยวข้องกับการกลับมาหาพระเจ้าเที่ยงแท้ และทิ้งรูปเคารพกับพระเท็จ (มีการใช้คำกริยานี้ด้วยที่ กจ 3:19; 14:15; 15:19; 26:18, 20; 2คร 3:16) และที่ 1ธส 1:9 ก็ใช้คำกริยานี้ในสำนวนที่บอกว่า “พวกคุณทิ้ง รูปเคารพแล้วมาหา พระเจ้า” ต้องมีการกลับใจก่อนถึงจะเปลี่ยนมาเชื่อพระเจ้าได้—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:2, 8; กจ 3:19; 26:20
คุยกันอย่างเคร่งเครียด: หรือ “โต้เถียง” คำกรีกที่ใช้ในข้อนี้เกี่ยวข้องกับคำกริยาที่มีความหมายว่า “ค้นหา” (เศเทะโอ) และยังแปลได้ด้วยว่า “การค้นหา, การถาม” (ฉบับคิงดอม อินเตอร์ลิเนียร์) นี่แสดงให้เห็นว่าพวกอัครสาวกและผู้ดูแลได้ค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง พวกเขาตั้งคำถาม วิเคราะห์เรื่องนี้อย่างละเอียด และแน่นอนว่าพวกเขาแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาและเปิดเผย
การอัศจรรย์: หรือ “หมายสำคัญ”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 2:19
ยากอบ: น่าจะหมายถึงยากอบที่เป็นน้องชายต่างพ่อของพระเยซู และเป็นยากอบที่พูดถึงใน กจ 12:17 (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 13:55; กจ 12:17) ดูเหมือนตอนที่ “พวกอัครสาวกและผู้ดูแลที่กรุงเยรูซาเล็ม” คุยกันเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการเข้าสุหนัต ยากอบเป็นประธานการประชุม (กจ 15:1, 2) และตอนที่เปาโลบอกว่ายากอบ เคฟาส (เปโตร) และยอห์น “เป็นเสาหลักของประชาคม” ในกรุงเยรูซาเล็ม เขาก็คงจะนึกถึงการประชุมครั้งนั้น—กท 2:1-9
ซีเมโอน: คือซีโมนเปโตร ซีเมโอน เป็นชื่อกรีกที่ทับศัพท์มาจากชื่อฮีบรู (สิเมโอน) การใช้ชื่อที่ทับศัพท์มาจากภาษาฮีบรูแสดงให้เห็นว่าภาษาที่ใช้กันในการประชุมนั้นอาจเป็นภาษาฮีบรู ในคัมภีร์ไบเบิลมีการใช้ชื่อนี้เพื่อเรียกอัครสาวกเปโตรแค่คนเดียวเท่านั้น—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 10:2
ประชาชนกลุ่มหนึ่งที่ใช้ชื่อของพระองค์: สำนวนนี้อาจทำให้นึกถึงข้อความในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูหลายข้อที่บอกว่าพระยะโฮวาได้เลือกประชาชนกลุ่มหนึ่งให้เป็นชนชาติพิเศษของพระองค์ (อพย 19:5; ฉธบ 7:6; 14:2; 26:18, 19) ประชาชนกลุ่มนี้ใช้ชื่อของพระยะโฮวา และถูกเรียกว่า “อิสราเอลของพระเจ้า” ซึ่งตอนนี้รวมผู้เชื่อถือที่ไม่ใช่ชาวยิวด้วย (กท 6:16; รม 11:25, 26ก; วว 14:1) เนื่องจากพวกเขาเป็นตัวแทนของพระเจ้า พวกเขาจึงต้องสรรเสริญพระองค์และประกาศชื่อของพระองค์ (1ปต 2:9, 10) เหมือนกับชาติอิสราเอลในอดีต พระยะโฮวาพูดถึงประชาชนของพระองค์ในตอนนี้ว่า “ประชาชนเหล่านั้นจะสรรเสริญเรา เพราะเราเป็นผู้สร้างพวกเขาขึ้นมา” (อสย 43:21) คริสเตียนในยุคแรกเหล่านี้ได้ประกาศอย่างกล้าหาญว่าพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว พวกเขาเปิดโปงว่าพระทั้งหมดที่ผู้คนนมัสการในตอนนั้นเป็นพระเท็จ—1ธส 1:9
หนังสือของพวกผู้พยากรณ์: คำพูดของซีเมโอนหรือซีโมนเปโตร (กจ 15:7-11) และหลักฐานที่เปาโลกับบาร์นาบัสให้ (กจ 15:12) อาจทำให้ยากอบคิดถึงข้อคัมภีร์ที่เกี่ยวข้องซึ่งช่วยให้เข้าใจเรื่องที่กำลังคุยกันมากขึ้น (ยน 14:26) หลังจากที่ยากอบบอกว่า “เรื่องนี้ตรงกับที่เขียนไว้ในหนังสือของพวกผู้พยากรณ์” เขาก็ยกข้อความจาก อมส 9:11, 12 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูที่ปกติแล้วเรียกกันว่า “หนังสือของพวกผู้พยากรณ์”—กจ 15:16-18; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 24:44
เต็นท์ของดาวิด: หรือ “เพิง (ที่อยู่) ของดาวิด” พระยะโฮวาสัญญาว่ารัฐบาลของดาวิด “จะมั่นคงตลอดไป” (2ซม 7:12-16) “เต็นท์ของดาวิด” หรือราชวงศ์ของเขาล่มสลายตอนที่กษัตริย์เศเดคียาห์ถูกถอดออกจากตำแหน่ง (อสค 21:27) ตั้งแต่ตอนนั้น ไม่มีกษัตริย์องค์ไหนในเชื้อวงศ์ของดาวิดได้นั่งอยู่บน “บัลลังก์ของพระยะโฮวา” ที่กรุงเยรูซาเล็ม (1พศ 29:23) แต่พระยะโฮวาจะสร้างเต็นท์ของดาวิดขึ้นใหม่โดยให้พระเยซูซึ่งเป็นลูกหลานของเขาเป็นกษัตริย์ตลอดไป (กจ 2:29-36) คำพูดของยากอบแสดงให้เห็นว่าคำพยากรณ์ที่อาโมสบอกไว้เกี่ยวกับการสร้างเต็นท์ขึ้นใหม่ (การตั้งคนจากเชื้อสายของดาวิดให้เป็นกษัตริย์อีกครั้ง) จะเกี่ยวข้องกับการรวบรวมคนที่เป็นสาวกของพระเยซู (ทายาทของรัฐบาลพระเจ้า) ทั้งคนที่เป็นชาวยิวและคนต่างชาติ—อมส 9:11, 12
เพื่อคนที่เหลืออยู่จะเสาะหาเรายะโฮวาอย่างจริงจัง: เหมือนที่บอกไว้ในข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 15:15 ยากอบยกข้อความนี้มาจาก อมส 9:11, 12 แต่ดูเหมือนข้อความในข้อนี้ต่างจากข้อความในสำเนาพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เชื่อกันว่าความแตกต่างนี้เป็นเพราะยากอบได้ยกข้อความจากฉบับเซปตัวจินต์ ซึ่งเป็นฉบับแปลพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูเป็นภาษากรีก แต่ตอนที่ยากอบพูดถึงเปโตร เขาใช้ชื่อซีเมโอนซึ่งเป็นชื่อกรีกที่ทับศัพท์มาจากชื่อฮีบรู (สิเมโอน) การใช้ชื่อที่ทับศัพท์มาจากภาษาฮีบรูแสดงให้เห็นว่าภาษาที่ใช้กันในการประชุมนั้นอาจเป็นภาษาฮีบรู (กจ 15:14) ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็เป็นไปได้ว่ายากอบได้ยกข้อความมาจากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูโดยตรง แต่ลูกาบันทึกโดยยกข้อความมาจากฉบับเซปตัวจินต์ ทั้งลูกา ยากอบ และผู้เขียนพระคัมภีร์คนอื่น ๆ ก็ใช้ข้อความนี้ตอนที่พวกเขายกข้อความมาจากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู ถึงแม้การยกข้อความจากฉบับเซปตัวจินต์อาจแตกต่างจากข้อความในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูที่มีอยู่ในทุกวันนี้ แต่พระยะโฮวาก็ยอมให้ผู้เขียนพระคัมภีร์ทำอย่างนั้น และให้ข้อความที่ยกมาเป็นส่วนหนึ่งของพระคัมภีร์ที่ได้รับการดลใจ (2ทธ 3:16) น่าสนใจที่ในฉบับเซปตัวจินต์ ข้อความจาก อมส 9:12 อ่านว่า “คนที่เหลืออยู่” แต่สำเนาพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูที่มีอยู่ตอนนี้มีข้อความที่อ่านว่า “ข้าวของของเอโดมที่เหลืออยู่” บางคนคิดว่าที่ต่างกันแบบนี้อาจเป็นเพราะในภาษาฮีบรูโบราณคำว่า “คน” ดูคล้ายกันมากกับคำว่า “เอโดม” และคำว่า “เสาะหา” ก็ดูคล้ายกันมากกับคำว่า “เป็นของ” บางคนเชื่อว่าข้อความที่ อมส 9:12 ในฉบับเซปตัวจินต์ แปลจากสำเนาพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูโบราณซึ่งต่างจากสำเนาพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่ก็ไม่มีใครรู้แน่ชัดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่ว่าจะอย่างไร ทั้งข้อความในฉบับเซปตัวจินต์ และข้อความภาษาฮีบรูของพวกมาโซเรตก็ถ่ายทอดแนวคิดเดียวกันคืออาโมสได้พยากรณ์ว่าคนต่างชาติจะถูกเรียกตามชื่อของพระยะโฮวา
ยะโฮวา: ยากอบบอกไว้ที่ กจ 15:14 ว่าสิเมโอนเล่าว่า “ตอนนี้พระเจ้าหันมาสนใจคนต่างชาติ” และในข้อ 19 ยากอบก็พูดถึง “คนต่างชาติที่หันมาหาพระเจ้า” แต่ในข้อนี้ยากอบยกข้อความมาจาก อมส 9:11, 12 ซึ่งในข้อความภาษาฮีบรูมีชื่อของพระเจ้าอยู่แค่ 1 ครั้งในข้อความที่บอกว่า “เรายะโฮวาผู้ทำสิ่งนี้พูดไว้อย่างนั้น” แต่ในข้อ 17 นี้มีคำกรีก คูริออส (องค์พระผู้เป็นเจ้า) 2 ครั้ง และทั้ง 2 ครั้งหมายถึงพระยะโฮวา ถ้าดูจากท้องเรื่องในข้อนี้ จากท้องเรื่องในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู รวมทั้งการใช้คำ คูริออส ในฉบับเซปตัวจินต์ และที่อื่น ๆ ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก ก็มีเหตุผลที่ดีหลายอย่างที่จะใช้ชื่อของพระเจ้าทั้ง 2 ครั้งเพื่อแปลคำว่า คูริออส ในข้อนี้
ร่วมกับประชาชนจากทุกชาติ: คือร่วมกับคนที่ไม่ใช่ชาวยิวหรือคนต่างชาติ คนต่างชาติที่ได้เข้าสุหนัตจะไม่ถูกมองว่าเป็นคนจากชาติอื่นอีกแล้ว แต่พวกเขา “เป็นเหมือนชาวอิสราเอล” หรือชาวยิว (อพย 12:48, 49) ในสมัยของเอสเธอร์ มีคนต่างชาติหลายคน “ประกาศตัวว่าเป็นคนยิว” (อสธ 8:17) น่าสนใจที่ฉบับเซปตัวจินต์ แปล อสธ 8:17 ว่าคนต่างชาติเหล่านี้ “เข้าสุหนัตและกลายมาเป็นคนยิว” คำพยากรณ์ที่ อมส 9:11, 12 ซึ่งยกมาในข้อนี้บอกว่า “ประชาชนจากทุกชาติ” (คนต่างชาติที่ไม่เข้าสุหนัต) จะเข้ามาสมทบกับ “คนที่เหลืออยู่” ของชาติอิสราเอล (ชาวยิวและคนต่างชาติที่เข้าสุหนัต) และพวกเขาจะกลายเป็น “ประชาชนที่ถูกเรียกตามชื่อของเรา [ยะโฮวา]” จากคำพยากรณ์นี้ทำให้พวกสาวกรู้ว่าพวกคนต่างชาติที่ยังไม่เข้าสุหนัตไม่จำเป็นต้องเข้าสุหนัตเพื่อจะเป็นที่ยอมรับของพระเจ้า
ประชาชนที่ถูกเรียกตามชื่อของเรา: ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู การที่ชาวอิสราเอลถูกเรียกตามชื่อของพระยะโฮวาแสดงให้เห็นว่าพวกเขาเป็นประชาชนของพระองค์ (ฉธบ 28:10; 2พศ 7:14; อสย 43:7; 63:19; ดนล 9:19) พระยะโฮวายังให้ชื่อของพระองค์อยู่ที่กรุงเยรูซาเล็มซึ่งเป็นที่ตั้งของวิหารด้วย นี่หมายความว่าพระองค์ยอมรับที่นั่นว่าเป็นศูนย์กลางการนมัสการพระองค์—2พก 21:4, 7
เรายะโฮวาได้พูดไว้: ข้อความนี้ยกมาจาก อมส 9:12 ซึ่งในต้นฉบับภาษาฮีบรูมีชื่อของพระเจ้าเขียนด้วยอักษรฮีบรู 4 ตัว (ตรงกับเสียงอักษรไทย ยฮวฮ)
เป็นผู้ทำสิ่งนี้, [ข้อ 18] ตามที่เราตั้งใจจะทำนานมาแล้ว: ข้อความนี้ในภาษากรีกอาจเข้าใจได้อีกอย่างหนึ่งว่า “เป็นผู้แจ้งสิ่งนี้ [ข้อ 18] ให้รู้มานานแล้ว”
ผมเห็นว่า: หรือ “ผมสรุปว่า” แปลตรงตัวว่า “ผมตัดสินว่า” คำกรีกที่ใช้ในข้อนี้ไม่ได้แสดงว่ายากอบที่ดูเหมือนเป็นประธานการประชุมในตอนนั้นพยายามบังคับทุกคนให้คิดเหมือนกับเขา แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ยากอบเสนอว่าควรทำอย่างไรโดยอาศัยหลักฐานที่ได้ยินและสิ่งที่พระคัมภีร์บอกไว้ พจนานุกรมฉบับหนึ่งอธิบายความหมายของคำกรีกในท้องเรื่องนี้ว่าหมายถึง “การตัดสินโดยคำนึงถึงปัจจัยหลายอย่าง” ดังนั้น คำกริยาที่ใช้ในข้อนี้จึงไม่ได้หมายถึงการตัดสินอย่างเป็นทางการ แต่หมายถึงความคิดเห็นของยากอบที่อาศัยข้อสรุปจากพระคัมภีร์
การผิดศีลธรรมทางเพศ: คำกรีก พอร์เน่อา เป็นคำกว้าง ๆ ที่หมายถึงการมีเพศสัมพันธ์ทุกรูปแบบที่คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าผิด ซึ่งรวมถึงการเล่นชู้ การเป็นโสเภณี การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนที่ยังไม่แต่งงาน การรักร่วมเพศ และการร่วมเพศกับสัตว์—ดูส่วนอธิบายศัพท์
สัตว์ที่ถูกรัดคอตาย: หรือ “สัตว์ที่ถูกฆ่าโดยไม่เอาเลือดออก” ดูเหมือนข้อห้ามนี้ยังเกี่ยวข้องกับสัตว์ที่ตายเอง หรือตายเพราะถูกสัตว์ตัวอื่นฆ่า เพราะการตายทั้ง 2 แบบนี้ไม่ได้มีการเอาเลือดออกอย่างถูกต้อง—อพย 22:31; ลนต 17:15; ฉธบ 14:21
หนังสือของโมเสส: ยากอบพูดถึงข้อเขียนของโมเสสที่ไม่ใช่แค่กฎหมายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบันทึกเกี่ยวกับวิธีที่พระเจ้าปฏิบัติกับประชาชนของพระองค์ และบันทึกที่ช่วยให้เห็นความคิดของพระองค์ก่อนที่จะมีกฎหมายของโมเสส ตัวอย่างเช่น หนังสือปฐมกาลช่วยให้รู้ว่าพระเจ้าคิดอย่างไรกับการกินเลือด การเล่นชู้ และการไหว้รูปเคารพ (ปฐก 9:3, 4; 20:2-9; 35:2, 4) ดังนั้น พระยะโฮวาเปิดเผยหลักการต่าง ๆ ที่มนุษย์ทุกคนต้องทำตามไม่ว่าพวกเขาจะเป็นชาวยิวหรือคนต่างชาติ คำตัดสินที่บันทึกใน กจ 15:19, 20 จะไม่ทำให้คริสเตียนชาวต่างชาติรู้สึก “ยุ่งยากลำบากใจ” เพราะไม่ได้มีข้อเรียกร้องหลายอย่างเหมือนกับกฎหมายของโมเสส และคำตัดสินนี้ยังให้เกียรติกับคริสเตียนชาวยิวที่ยังยึดติดกับคำสั่งต่าง ๆ ที่มีอยู่ในหนังสือของโมเสส . . . และมีการอ่านให้ฟังในที่ประชุมของชาวยิวทุกวันสะบาโตมานานหลายร้อยปี (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 4:16; กจ 13:15) คำแนะนำนี้น่าจะช่วยให้คริสเตียนชาวยิวและคนต่างชาติเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น
อ่านให้ฟังในที่ประชุมของชาวยิวทุกวันสะบาโต: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 4:16; กจ 13:15
พวกอัครสาวกและผู้ดูแล: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 15:2
สวัสดีพี่น้องทุกคน: มีการใช้คำกรีก ไฆโร ที่แปลตรงตัวว่า “มีความสุข” ในข้อนี้เพื่อเป็นคำทักทาย และถ่ายทอดแนวคิดที่ว่า “ขอให้พวกคุณมีความสงบสุข” คำนำของจดหมายเกี่ยวกับการเข้าสุหนัตที่ส่งไปถึงประชาคมต่าง ๆ นี้เป็นรูปแบบการเขียนจดหมายสมัยก่อน จดหมายนี้เริ่มต้นด้วยการบอกว่าผู้เขียนเป็นใคร จากนั้นก็พูดถึงผู้รับ และก็ตามด้วยคำทักทาย (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 23:26) ในบรรดาจดหมายทั้งหมดของพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก มีแต่จดหมายของยากอบเท่านั้นที่ทักทายโดยใช้คำกรีก ไฆโร ซึ่งเป็นคำเดียวกับที่ใช้ในจดหมายนี้จากคณะกรรมการปกครองในศตวรรษแรก (ยก 1:1) เนื่องจากยากอบมีส่วนร่วมในการเขียนจดหมายฉบับนี้ จึงสรุปได้ว่ายากอบที่เขียนหนังสือยากอบในพระคัมภีร์เป็นคนเดียวกับยากอบที่เป็นประธานการประชุมซึ่งมีบันทึกไว้ในกิจการ บท 15
เป็นเอกฉันท์: แปลตรงตัวว่า “มีความคิดจิตใจเดียวกัน” มีการใช้คำกรีก ฮอมอธูมาดอน หลายครั้งในหนังสือกิจการ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วใช้เพื่อพูดถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันของคริสเตียนในยุคแรก ตัวอย่างเช่น ที่ กจ 1:14 แปลคำนี้ว่า “ร่วมกัน” และที่ กจ 4:24 แปลว่า “พร้อมใจกัน”
งดเว้นจาก: หรือ “อยู่ห่างจาก” คำกริยาที่ใช้ในข้อนี้ทำให้รู้ว่าคริสเตียนต้องงดเว้นจากการกระทำทุกอย่างต่อไปนี้ คือ การไหว้รูปเคารพ การผิดศีลธรรมทางเพศ และการกินเนื้อสัตว์ที่ถูกรัดคอตายและไม่ได้เอาเลือดออกอย่างถูกต้อง จากคำกริยานี้ทำให้รู้ว่าคำสั่งที่ให้งดเว้นจากเลือดมีความหมายกว้างกว่าการแค่ไม่กินเลือด คำสั่งนี้ยังเกี่ยวข้องกับการไม่ใช้เลือดอย่างผิด ๆ ในทุกกรณี เพราะนี่เป็นการแสดงความนับถือต่อความศักดิ์สิทธิ์ของเลือด—ลนต 17:11, 14; ฉธบ 12:23
งดเว้น . . . จากเลือด: พระเจ้ามีคำสั่งห้ามไม่ให้กินเลือดครั้งแรกในสมัยโนอาห์กับลูก ๆ ซึ่งเป็นคำสั่งที่ให้กับมนุษย์ทุกคน (ปฐก 9:4-6) 800 ปีต่อมา พระองค์ก็ให้มีคำสั่งนี้ในกฎหมายที่ให้กับชาติอิสราเอล (ลนต 17:13-16) และอีก 1,500 ปีต่อมา พระองค์ก็ยืนยันคำสั่งนี้อีกครั้งกับประชาคมคริสเตียนอย่างที่บอกไว้ในข้อนี้ ในสายตาพระเจ้าการงดเว้นจากเลือดสำคัญเหมือนกับการงดเว้นจากการไหว้รูปเคารพและการทำผิดศีลธรรมทางเพศ
สัตว์ที่ถูกรัดคอตาย: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 15:20
การผิดศีลธรรมทางเพศ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 15:20
ด้วยความปรารถนาดี: หรือ “ขอให้มีสุขภาพดี” คำกรีกที่ใช้ในข้อนี้เป็นคำลงท้ายปกติของจดหมายในสมัยนั้น แต่นี้ไม่ได้หมายความว่าคำสั่งที่ให้ก่อนหน้านี้เป็นคำสั่งที่ช่วยให้มีสุขภาพดี เหมือนกับบอกว่า ‘ถ้าคุณงดเว้นจากสิ่งเหล่านี้ คุณก็จะมีสุขภาพดีขึ้น’ แต่เป็นคำลงท้ายที่อวยพรให้ผู้รับมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงและมีความสุข
สำเนาพระคัมภีร์ภาษากรีกยุคหลังบางฉบับและฉบับแปลเก่าแก่บางฉบับเพิ่มข้อความว่า “ฝ่ายสิลาสเห็นชอบที่จะอยู่ต่อไปที่นั่น ส่วนยูดาสไปกรุงเยรูซาเล็มคนเดียว” แต่ข้อความนี้ไม่มีในสำเนาพระคัมภีร์ที่เก่าแก่ที่สุดและน่าเชื่อถือที่สุด จึงไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของข้อความต้นฉบับของหนังสือกิจการ ข้อความนี้อาจเป็นคำอธิบายริมหน้ากระดาษของ กจ 15:40 และต่อมาถูกเพิ่มเข้าไปในสำเนาบางฉบับ—ดูภาคผนวก ก3
คำสอนของพระยะโฮวา: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 8:25
คำสอนของพระยะโฮวา: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 8:25