ภาษาละติน
ภาษาหนึ่งในตระกูลภาษาอินโด-ยูโรเปียน และเป็นต้นกำเนิดของกลุ่มภาษาโรมานซ์ ซึ่งก็คือภาษาฝรั่งเศส อิตาลี โปรตุเกส โรมาเนีย และสเปน คำว่า “ละติน” ปรากฏแค่ครั้งเดียวในคัมภีร์ไบเบิลคือที่ ยน 19:20 ข้อนั้นพูดถึงป้ายที่ติดบนเสาทรมานของพระเยซูซึ่งเขียนเป็นภาษาฮีบรู ละติน และกรีก
ตอนที่พระเยซูคริสต์อยู่บนโลก ภาษาละตินเป็นภาษาที่เจ้าหน้าที่โรมันในอิสราเอลใช้กัน มีการใช้ภาษานี้ในข้อความจารึกของทางการแม้จะไม่ได้เป็นภาษาสากลที่คนทั่วไปใช้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มีคำภาษาละตินในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก ในพระคัมภีร์ส่วนนี้มีชื่อคนและสถานที่ภาษาละตินมากกว่า 40 ชื่อ เช่น อะควิลลา ลูกา (Lucas) มาระโก (Marcus) เปาโล (Paulus) ซีซารียา และทิเบเรียส นอกจากนั้นยังมีคำกรีกอีกประมาณ 30 คำที่มาจากคำละติน ซึ่งเป็นคำที่เกี่ยวกับการทหาร การพิจารณาคดี เงิน และเรื่องทั่วไปในบ้าน เช่น centurio (มก 15:39, นายร้อย), denarius (มธ 20:2, เดนาริอัน), และ speculator (มก 6:27, องครักษ์) และพระคัมภีร์ส่วนนี้ยังมีข้อความหรือสำนวนภาษาละติน เช่น “ต้องการจะเอาใจประชาชน” (มก 15:15) และ “ให้ . . . จ่ายค่าประกันตัว” (กจ 17:9) มีการใช้คำละตินมากที่สุดในหนังสือข่าวดีของมัทธิวและมาระโก ที่จริง มาระโกใช้คำละตินมากกว่าผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลคนอื่น ๆ จึงทำให้เชื่อได้ว่ามาระโกเขียนหนังสือข่าวดีของเขาในกรุงโรมและเขียนเพื่อคนต่างชาติโดยเฉพาะชาวโรมัน เปาโลแทบไม่ใช้คำละติน ส่วนฉบับเซปตัวจินต์ ภาษากรีกก็ไม่มีคำละตินเลย สำหรับผู้อ่านคัมภีร์ไบเบิลแล้ว การมีคำละตินอยู่ในพระคัมภีร์ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องที่ให้ความรู้เท่านั้น แต่ยังทำให้เห็นว่าผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลให้ข้อมูลที่ถูกต้องว่าอิสราเอลโบราณสมัยพระเยซูอยู่ภายใต้การปกครองของโรม นอกจากนั้น การที่นักเขียนทั่วไปชาวกรีกในสมัยที่มีการเขียนพระคัมภีร์ใช้คำละตินเหล่านี้และคำที่คล้าย ๆ กันทำให้มั่นใจว่าพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกเขียนขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันจริง ๆ นี่เป็นการยืนยันความน่าเชื่อถือของพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก