“เวลาที่มีคุณภาพ” แบ่งให้ก็จริง แต่จำกัด
ทุกวันนี้มีบิดามารดาน้อยคนที่ให้เวลาเพียงพอกับลูก ๆ ของตน. หลายคนเป็นพ่อแม่ไร้คู่ที่ต้องดิ้นรนหาเลี้ยงลูกโดยไม่ได้รับการช่วยเหลือจากคู่ของตน. และเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่กำลังทรุดลง บิดามารดาที่สมรสกันหลายคู่ยิ่งขึ้นจึงพบว่าทั้งสองต้องออกไปทำงานนอกบ้านเพื่อครอบครัวจะประคองตัวอยู่ได้ในเรื่องการเงิน. จึงไม่แปลกที่แนวความคิดเรื่องเวลาที่มีคุณภาพได้แพร่หลายขึ้น.
ดังที่เข้าใจกันโดยทั่วไป เวลาที่มีคุณภาพมักเกี่ยวข้องกับการจัดเวลาไว้เฉพาะที่จะอยู่กับลูก บ่อยครั้งโดยมุ่งหมายจะทำกิจกรรมเฉพาะอย่างด้วยกัน—ยกตัวอย่าง การออกไปนอกบ้านแบบพิเศษหน่อย เช่นไปสวนสัตว์. แน่นอน นี่เป็นความคิดที่ดี. เด็ก ๆ จำต้องได้รับการเอาใจใส่เป็นพิเศษมากที่สุดเท่าที่จะมากได้. อย่างไรก็ตาม ความคิดที่กำลังนิยมกันในเรื่องเวลาที่มีคุณภาพนั้น มีข้อบกพร่องอยู่บ้างดังผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลเด็กตระหนักมากขึ้น.
ดูเหมือนว่า บิดามารดาหลายคนที่มีธุระยุ่ง มุ่งแต่งานอาชีพ ได้รับเอาความคิดแบบหลอกตัวเองที่ว่า การจัดตารางเจียดเวลาไว้นิดหน่อยเพื่ออยู่กับลูกก็เพียงพอต่อความต้องการทั้งหมดของเด็กในเรื่องการดูแลเอาใจใส่จากบิดามารดา. ด้วยเหตุนี้ หนังสือพิมพ์ เดลี นิวส์ แห่งนิวยอร์ก จึงยกเอาคำพูดของ ดร. ลี ซอล์ก ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยคอร์เนล คณะแพทยศาสตร์ ในสหรัฐอเมริกา ขึ้นมาซึ่งกล่าวว่า “ความคิดเกี่ยวด้วยเวลาที่มีคุณภาพนั้นเป็นเรื่องไร้สาระ.” เขาอธิบายว่า “คำ ๆ นี้เกิดขึ้นเนื่องจากความรู้สึกผิดของบิดามารดาทั้งหลาย. ผู้คนยอมให้ตัวเองใช้เวลาน้อยลงกับลูก ๆ ของตน.”
แต่คุณภาพของเวลา พร้อมกับความเอาใจใส่เต็มที่ต่อเด็กในช่วงนั้น เป็นการชดเชยปริมาณเวลาที่ขาดไปมิใช่หรือ? เปล่า เนื่องด้วยเหตุผลง่าย ๆ—บิดามารดาสอนเด็ก ๆ ของตนได้อย่างทรงพลังที่สุดโดยการวางแบบอย่าง. ด้านมืดของหลักที่ชัดแจ้งในตัวเองนี้มีการแสดงให้เห็นอย่างน่าวิตกจากการศึกษาวิจัยบรรดาเยาวชนย่านใจกลางเมืองเมื่อเร็ว ๆ นี้. คนเหล่านั้นที่มีสมาชิกครอบครัวติดคุกอยู่ในขณะที่พวกเขากำลังเติบโตขึ้น มีโอกาสถึงสองเท่าที่พวกเขาจะติดคุกเช่นเดียวกัน. ในทำนองคล้ายคลึงกัน คนพวกที่เติบโตขึ้นภายใต้การดูแลของผู้ใช้แอลกอฮอล์หรือยาเสพย์ติดในทางที่ผิดมีโอกาสถึงสองเท่าที่จะติดนิสัยเหล่านี้อันทำให้ถึงตาย.
ตัวอย่างที่ดีของบิดามารดานับว่าทรงพลังพอ ๆ กัน. ปัญหาอยู่ที่ว่าการวางตัวอย่างที่ดีต้องใช้ เวลา ช่วงอันยาวนาน ไม่ใช่ระยะเวลาที่มีคุณภาพช่วงสั้น ๆ. ดังที่หนังสือพิมพ์ เดลี นิวส์ แห่งนิวยอร์กบอกว่า “ปัญหาของแนวความคิดในเรื่องเวลาที่มีคุณภาพคือชั่วขณะที่สำคัญยิ่งระหว่างพ่อแม่และลูก—การสนทนาและการตัดสินใจที่ค่อย ๆ ปลูกฝังความคิดของลูกในเรื่องต่าง ๆ เช่นความปลอดภัย, ค่านิยมและความนับถือตนเอง—เหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ.” ไม่มีใครสามารถจัดตารางเวลาสำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ. บิดาหรือมารดาอาจจัดเวลาที่มีคุณภาพไว้ 15 นาทีเพื่อจะอยู่กับลูก แต่ใครอาจบอกได้ว่าระหว่างเวลานั้นเขาจะบรรลุซึ่งการสมานจิตใจกัน? และลูก ๆ จะเรียนจากตัวอย่างได้อย่างไรถ้ามีแค่นาทีเหล่านั้นในวันที่เขาอยู่กับพ่อหรือแม่?
แต่ในเมื่อพ่อแม่มีเวลาว่างน้อยเหลือเกิน อะไรล่ะคือวิธีแก้? ไม่มีคำตอบที่ง่าย. ไม่มีอะไรอาจเปลี่ยนข้อเท็จจริงที่ว่าโลกนี้ได้ทำให้การเลี้ยงดูบุตรเป็นภารกิจที่ลำบากยากยิ่ง. พ่อแม่บางคนอาจให้ความสนใจน้อยลงต่อหน้าที่การงานของพวกเขา. ผู้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้เกี่ยวกับการดูแลบุตร รบเร้าพ่อแม่ที่ทำได้ให้ทำเช่นนั้น—คืออยู่บ้านกับลูก ๆ. แต่สำหรับพ่อแม่หลายคน ไม่มีทางเลือกดังกล่าว. และแม้แต่คนเหล่านั้นที่ทำงานแบบไม่มีตารางเวลาตายตัวหรือไม่ได้ทำงานที่มีรายได้ก็ยังพบว่ายากที่จะใช้เวลาให้พอเพียงอยู่กับลูก ๆ ของตน.
ผู้เชี่ยวชาญบางคนรบเร้าพ่อแม่ให้สำรวจดูงานบ้านที่พวกเขาทำเช่น การทำความสะอาด, ทำครัว, บำรุงรักษาบ้าน, ดูแลรถยนต์, ซักผ้า, และจับจ่ายใช้สอย เพื่อดูว่ามีงานอะไรบ้างที่เขาอาจทำร่วมกับบุตรได้. การทำงานร่วมกันแม้จะเป็นงานธรรมดา ๆ หรือแค่การนั่งหย่อนใจด้วยกัน อาจเปิดโอกาสให้พ่อแม่สนทนากับลูก ๆ และวางตัวอย่างในแง่บวก. พ่อแม่ที่เป็นคริสเตียนก็มีงานอื่น ๆ ที่เขาจะทำร่วมกับลูก ๆ ที่อยู่เคียงข้างได้. การประชุมต่าง ๆ ฝ่ายคริสเตียน, การเผยแพร่, การศึกษาประจำครอบครัว, การสมาคมกับเพื่อนร่วมความเชื่อ—ทั้งหมดนี้เปิดโอกาสอย่างดียิ่งสำหรับบิดามารดาที่จะอยู่กับลูก ๆ ของตน.
น่าสนใจ ในกฎหมายที่ให้กับชาติยิศราเอลประมาณ 3,000 ปีมาแล้วก็มีจุดหนึ่งในทำนองที่คล้ายกัน. ที่พระบัญญัติ 6:6,7 เราอ่านว่า “ถ้อยคำเหล่านี้ ซึ่งเราสั่งไว้แก่เจ้าทั้งหลายในวันนี้ ก็ให้ตั้งอยู่ในใจของเจ้าทั้งหลาย และจงอุตส่าห์สั่งสอนบุตรทั้งหลายของเจ้าด้วยถ้อยคำเหล่านี้ และเมื่อเจ้าทั้งหลายจะนั่งอยู่ในเรือน หรือเดินในหนทาง หรือนอนลง และตื่นขึ้น.” ชีวิตในโบราณกาลก็ใช่ว่าจะง่ายกว่า. ลองนึกถึงเวลาทั้งหมดที่ต้องใช้ไปเพียงเพื่อการอยู่รอด—บิดาต้องใช้เวลามากเพียงไรในการทำงานหาเลี้ยงครอบครัว หรือการทำอาหารหรือการซักผ้าต้องใช้แรงงานมากแค่ไหน! แต่บิดามารดาผู้ซึ่งรักพระยะโฮวาได้ทำงานร่วมกับลูก ๆ ที่อยู่เคียงข้างพวกเขามากเท่าที่จะมากได้ และจึงประสบหลายโอกาสในช่วงของแต่ละวันที่จะประทับข้อกฎหมายของพระเจ้าลงบนหัวใจลูก ๆ ผู้เยาว์วัยของตน.
บิดามารดาคริสเตียนในทุกวันนี้จำต้องทำเช่นเดียวกัน. เมื่อพูดถึงการใช้เวลาอยู่กับลูก ๆ ของตน เขาจะต้องหลีกเลี่ยงการกระทำดังกล่าวเฉพาะในเวลาที่เห็นว่าสะดวก. คำคมคายเก่าแก่ที่ว่า “ปริมาณไม่สำคัญ คุณภาพต่างหาก” ใช้ไม่ได้ในเรื่องของการเลี้ยงดูเด็ก. โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่บุคลิกกำลังก่อรูป เด็ก ๆ ต้องการไม่เพียงช่วงเวลาพิเศษ แต่เวลาเพียงแค่ได้ “อยู่ร่วมกัน”.
[รูปภาพหน้า 17]
เมื่อพ่อแม่ทำโน่นทำนี่ที่บ้าน ให้ลูก ๆ มีส่วนด้วย
[รูปภาพหน้า 17]
การรับใช้พระยะโฮวาด้วยกัน