คำถามจากผู้อ่าน
▪ คริสเตียนผู้ถูกเจิมบางคนซึ่งได้ผ่าน “ความทุกข์ลำบากใหญ่ยิ่ง” จะยังมีชีวิตอยู่ในโลกใหม่ไหมก่อนถูกรับไปยังสวรรค์?
เป็นที่กระจ่างแจ้ง คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอก.
คริสเตียนต่างก็สนใจตลอดมาในสิทธิพิเศษต่าง ๆ ตามที่พระเจ้าทรงโปรดแก่เขา. (กิจการ 1:6) เรื่องนี้เป็นจริงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยของเรา ตั้งแต่ราชอาณาจักรได้รับการสถาปนาขึ้น. (มัดธาย 24:3, 24, 34) เนื่องจากอวสานของระบบชั่วจะอุบัติขึ้นในชั่วอายุของเขา คริสเตียนรู้สึกข้องใจว่าผู้ถูกเจิมบางคนจะรอดผ่าน “สงครามในวันใหญ่ของพระเจ้า” หรือไม่ แล้วรับใช้บนแผ่นดินชั่วระยะหนึ่งก่อนรับบำเหน็จในสวรรค์. (วิวรณ์ 16:14) พระคัมภีร์ไม่ได้ระบุว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้น แต่มีแบบอย่างและคำพยากรณ์เฉพาะเรื่องซึ่งดูเหมือนบ่งชี้ว่าอาจเป็นไปได้. แทนที่จะถือความเห็นของตัวเองเป็นสำคัญ เราจะเฝ้าดูว่าพระเจ้าทรงดำเนินการอย่างไร.
บางเหตุการณ์ที่บันทึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิลภายหลังปรากฏเหตุการณ์คล้ายคลึงกันในท่ามกลางไพร่พลของพระเจ้า. อาทิ เรารู้ว่าโยนาอยู่ในท้องปลาสามวันสามคืน. บางคนอาจคิดว่าเป็นแค่ตัวอย่างที่พระเจ้าทรงช่วยชีวิตให้รอด แต่พระเยซูตรัสว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นแบบอย่างเชิงพยากรณ์ว่าพระองค์จะอยู่ในหลุมศพนานพอกันก่อนพระองค์คืนพระชนม์. (โยนา 1:17; มัดธาย 12:40) ใช่แล้ว ประสบการณ์ของโยนาเป็นแบบอย่างเชิงพยากรณ์. จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่า ผู้รับใช้ของพระเจ้าพิจารณาคำพยากรณ์และบันทึกบางเรื่องในพระคัมภีร์เพื่อจะดูว่าเรื่องราวเหล่านั้นบ่งชี้วิธีที่พระยะโฮวาจะทรงดำเนินการกับพวกตนหรือไม่.
เกี่ยวกับตัวอย่างอันเป็นคำพยากรณ์ในไบเบิล วารสารวอชเทาเวอร์ ฉบับ 15 ธันวาคม 1928 ได้พิจารณาพระธรรมมีคา 5:2-15. พระธรรมเล่มนี้กล่าวถึงชาวอัสซีเรียได้ทำลายกรุงซะมาเรียจนเริศร้างและชาวยิวที่ถูกเนรเทศไปอยู่ในบาบูโลนจะกลับคืนสู่ประเทศ. (มีคา 1:1, 5-7; 4:10) แต่พระธรรมมีคายังได้ชี้ไปถึงเหตุการณ์ต่อมาเช่นประสูติกาลของพระมาซีฮาในเมืองเบธเลเฮม. (มีคา 5:2) มีคาได้พยากรณ์ว่าภายหลังการช่วยให้รอดจากเงื้อมมือ “ชาวอัสซีเรีย” แล้ว “ชนเดนเลือกของยาโคบ” จะกลายเป็น “ดุจน้ำค้างมาจากพระยะโฮวา” “ดุจสิงโตหนุ่มอยู่ในท่ามกลางฝูงแกะ.” (มีคา 5:6-8) วอชเทาเวอร์ ฉบับนั้นชี้แจงเพิ่มเติมว่า “ข้อนี้อาจเข้าใจเสมือนว่าเป็นสิ่งบ่งบอก ชนที่เหลือบางคนจะยังอยู่ทางโลกนี้ภายหลังสงครามอาร์มาเก็ดดอน และตอนนั้นจะคงมีงานทำอีกบ้างในนามขององค์พระผู้เป็นเจ้า และเพื่อเป็นคำสรรเสริญและสง่าราศีแด่พระองค์.” โปรดสังเกตถ้อยแถลงอย่างถ่อมตัวและมีเหตุผลกล่าวในเชิงอันเป็นไปได้ที่ว่า “ข้อนี้อาจเข้าใจเสมือนว่า เป็นสิ่งบ่งบอก.”
จะว่าอย่างไรเกี่ยวกับบันทึกในไบเบิลซึ่งอาจเปรียบเทียบการรอดชีวิตอยู่ทางโลกนี้? ตัวอย่างหนึ่งซึ่งถูกนำขึ้นมาได้แก่ตัวอย่างของโนฮากับครอบครัวของท่าน. โนฮาถูกใช้เป็นภาพเล็งถึงพระเยซูในยุคสุดท้ายนี้. (เยเนซิศ 6:8-10; มัดธาย 24:37) โนฮาได้นำภรรยาและบุตรชายสามคนพร้อมด้วยลูกสะใภ้ผ่านพ้นอวสานแห่งระบบเก่าในครั้งนั้นฉันใด พระคริสต์จะทรงนำชนที่เหลือจำพวกเจ้าสาวของพระองค์และคนเหล่านั้นซึ่งได้กลายเป็นบุตรของพระเยซู “บิดาองค์ถาวร” ฉันนั้น. ภรรยาของโนฮารอดผ่านน้ำท่วมโลกแล้วได้ร่วมกันฟื้นฟูการนมัสการแท้ขึ้นบนแผ่นดินที่ถูกชำระแล้ว. อาจเปรียบได้กับการรอดชีวิตของชนที่เหลือแห่งจำพวกเจ้าสาวเข้าสู่โลกใหม่ก็ได้.—ยะซายา 9:6, 7; 2 โกรินโธ 11:2; วิวรณ์ 21:2, 9.
บันทึกเรื่องอื่น ๆ ในไบเบิลเคยให้ทัศนะในเชิงชี้ชวนเป็นที่เข้าใจว่า ชนที่เหลือบางคนอาจ มีชีวิตรอดเข้าสู่โลกใหม่. ดังเช่นยิระมะยารอดชีวิตเมื่อกรุงยะรูซาเลมถูกทำลาย “ผู้ชาย” ที่ถือกระปุกหมึกทำเครื่องหมายก็รอดชีวิตและเห็นการสำเร็จโทษก่อนการกลับไปรายงาน.—ยะเอศเคล 9:4, 8, 11.
คำชี้แจงถึงความเป็นไปได้ที่ว่าบางคนจากกลุ่มผู้ถูกเจิมอาจจะรอดเข้าโลกใหม่เช่นนั้นก็เนื่องจากเจตนาอันดีและอาศัยความสว่างจากแบบอย่างแต่ก่อน ๆ ในไบเบิลสำหรับความพยายามที่จะเข้าใจคำพยากรณ์ หรือแบบอย่างซึ่งอาจเปรียบเทียบกันได้ภายหลัง. ถ้าปรากฏว่าไม่มีผู้ถูกเจิมเหลืออยู่บนแผ่นดินโลกเลย ก็คงไม่มีเหตุผลจะเกิดความไม่พอใจ. พวกเราได้ยอมรับแล้วว่าเรื่องต่าง ๆ ในไบเบิลย่อมเข้าใจกระจ่างขึ้นเรื่อย ๆ ตามกาลเวลาที่ผ่านไป. ตัวอย่างเช่น วอชเทาเวอร์ ฉบับ 15 กรกฎาคม 1981 ได้พิจารณามีคา 5:6-9 อีกครั้งหนึ่งทั้งได้ชี้แจงด้วยว่า “ชนที่เหลือแห่งยิศราเอลฝ่ายวิญญาณไม่จำเป็นต้องคอยกระทั่งภายหลัง . . . อาร์มาเก็ดดอนเพื่อจะเป็นดุจ ‘น้ำค้าง’ ให้ความสดชื่นแก่ผู้คน.” การชี้แจงเรื่องนี้อีกครั้งชวนให้นึกถึงความเป็นไปได้ ที่ว่าชนที่เหลืออาจรอดชีวิตผ่านสงครามใหญ่ของพระเจ้า และชั่วระยะหนึ่ง “ยังคงเป็นดุจ ‘น้ำค้าง’ ซึ่งยังความสดชื่นแก่ ‘ชนฝูงใหญ่’ แห่ง ‘แกะอื่น.’” ถึงกระนั้น เราเห็นว่ากาลเวลาที่ล่วงผ่านไปและความสว่างฝ่ายวิญญาณซึ่งเจิดจ้ายิ่งขึ้นย่อมเสริมหรือเปลี่ยนแปลงความเข้าใจของเราเกี่ยวกับคำพยากรณ์หรือเรื่องราวอันน่าทึ่งในคัมภีร์ไบเบิลกระจ่างยิ่งขึ้น.—สุภาษิต 4:18.
เราทราบดีว่าคัมภีร์ไบเบิลเชื่อม ‘การเสด็จมาของบุตรมนุษย์’ เข้ากับ ‘การรวบรวมผู้ถูกเลือกสรรจากทิศลมทั้งสี่.’ (มัดธาย 24:29-31) อนึ่ง ในสมัย “การเสด็จปรากฏขององค์พระผู้เป็นเจ้า” ด้วยขัตติยอำนาจ ชนผู้ถูกเจิมที่ล่วงลับไปแล้วจะถูกปลุกขึ้นมาสู่ชีวิตในสวรรค์. (1 เธซะโลนิเก 4:15, 16) ชนที่มีตราประทับเหล่านี้อยู่ที่นั่นเพื่อจะเป็นมเหสีพระเมษโปดก. เหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้นเมื่อไร?
ในพระธรรมวิวรณ์ ทันทีหลังจากโยฮันกล่าวถึงพระเจ้าทรงสำเร็จโทษบาบูโลนใหญ่แพศยาด้านศาสนาแล้ว ท่านพรรณนา “การสมรสของพระเมษโปดก.” “หญิง” ชั่วน่าอุจาดถูกกำจัดออกไปจากฉากเหตุการณ์นั้น และเราเห็น “เจ้าสาว มเหสีพระเมษโปดก” ‘สวมผ้าป่านเนื้อละเอียด ใสบริสุทธิ์ อันได้แก่การประพฤติที่ชอบธรรมของสิทธชน.’ (วิวรณ์ 18:10; 19:2, 7, 8; 21:9) การทำลายบาบูโลนใหญ่เป็นส่วนหนึ่งของความทุกข์ลำบากใหญ่ยิ่ง. (มัดธาย 24:21; วิวรณ์ 7:14) ฉะนั้น จึงอาจชักเหตุผลได้ว่าบางคนแห่งชนจำพวกเจ้าสาวจะรอดผ่านความทุกข์ลำบากใหญ่ยิ่ง เป็นหลักฐานแสดงถึงความโปรดปรานและการคุ้มครองจากพระยะโฮวา. (ซะฟันยา 2:3; เทียบมัดธาย 24:22.) ถ้าชนเหล่านี้ได้รับการพิทักษ์ชีวิตบนแผ่นดินโลกดังกล่าวพวกเขาสามารถจะอยู่ ณ ที่นี่ จนกระทั่งพระเจ้าจะทรงรับเขาเข้าสู่สวรรค์.
อย่าไรก็ดี การเสนอเรื่องในพระธรรมวิวรณ์ไม่ได้เป็นไปตามลำดับเหตุการณ์เสมอไป. มิใช่เหมือนกับว่าผู้ถูกเจิมที่เหลือจำนวนน้อยจะต้องอยู่เพื่อเริ่มดำเนินการโลกใหม่ เนื่องจากเขาได้ฝึกสอนคริสเตียนที่ภักดีหลายล้านคนไว้แล้ว ซึ่งคนเหล่านี้จะอยู่ตลอดไปบนแผ่นดินโลก. เมื่อเป็นเช่นนั้น พระเจ้าย่อมรับบรรดาผู้ถูกเจิมไปสู่สวรรค์ได้ทันทีหลังจากบาบูโลนใหญ่ถูกทำลายเป็นการจัดฉากสำหรับ “การสมรสแห่งพระเมษโปดก.” สิทธชนทั้งปวงจึงสามารถร่วมกับพระคริสต์ในการ ‘บังคับบัญชานานาชาติด้วยคทาเหล็ก’ ระยะที่ความลำบากใหญ่ยิ่งยังไม่จบสิ้น. (วิวรณ์ 2:26, 27; 19:11-21) ถ้าพระเจ้าทรงจัดการให้สิ่งต่าง ๆ เป็นไปตามนั้น ชน 144,000 คนทั้งสิ้นก็จะอยู่กับพระเยซู ‘ปกครองเป็นกษัตริย์ร่วมกับพระคริสต์เป็นเวลาพันปี.’—วิวรณ์ 20:4.
นับว่าดีจริง ๆ ที่ไพร่พลของพระเจ้าให้ความสนใจใคร่รู้ว่าพระองค์จะทรงชี้นำและให้รางวัลผู้รับใช้ของพระองค์โดยวิธีใด. (เทียบกับ 1 เปโตร 1:12.) ทั้งนี้ย่อมสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของพวกเขาที่ว่าพระทัยประสงค์ของพระองค์จะสำเร็จ. ถึงแม้เราไม่สามารถวินิจฉัยเรื่องนี้ ทั้งไม่สมควรจะถือแต่ความคิดของตัวเองเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่เราก็อาจรอท่าอย่างจดจ่อว่าอะไรจะเกิดขึ้น.