ความดีกับความชั่วการต่อสู้อันยาวนาน
ในภาพยนตร์สมัยก่อน “พระเอก” มักปราบอำนาจของความชั่วได้เสมอ. แต่สภาพจริงไม่เคยง่ายเช่นนั้นเลย. บ่อยทีเดียว ในโลกแห่งความเป็นจริง ความชั่วดูเหมือนเป็นฝ่ายมีชัย.
เรื่องพฤติกรรมที่ชั่วร้ายเป็นเรื่องเด่นประจำในรายการข่าวทุกคืน. ในภาคเหนือของสหรัฐ ชายชาวเมืองมิลวอกีคนหนึ่งสังหารผู้คน 11 คน และเอาซากศพที่ถูกหั่นออกเป็นชิ้นซ่อนไว้ในตู้แช่แข็งของเขา. ลงไปทางใต้ คนแปลกหน้าคนหนึ่งพรวดพราดเข้าไปในร้านอาหารในเท็กซัสและเปิดฉากยิงอย่างไม่เลือกเป็นเวลาสิบนาที ทิ้งคนตายไว้ 23 คน รวมทั้งตัวเขาเอง. ผู้ต่อต้านที่ไม่พอใจคนหนึ่งในเกาหลีจุดไฟเผาหอประชุมของพยานพระยะโฮวา ฆ่าผู้นมัสการตายไป 14 คน.
ไม่เพียงแต่มีการเพิ่มทวีของความชั่วร้ายที่เกิดขึ้นเฉพาะที่เท่านั้น แต่มีความชั่วที่น่ากลัวอย่างอื่นอีกซึ่งกระทบกระเทือนโลก—การทำลายล้างเผ่าพันธุ์. มีการคำนวณว่าชาวอาร์มีเนียนหนึ่งล้านคน, ชาวยิวหกล้านคน, และชาวกัมพูชามากกว่าหนึ่งล้านคนถูกกำจัดในการกวาดล้างด้านเผ่าพันธุ์และด้านการเมืองในศตวรรษนี้เท่านั้น. การกวาดล้างชาติพันธุ์ตามที่เรียกกันนั้นได้ทำให้หลายคนถูกยิงบาดเจ็บในดินแดนที่เมื่อก่อนเป็นยูโกสลาเวีย. ไม่มีใครทราบว่าชนที่ไม่มีความผิดกี่ล้านคนถูกทรมานอย่างทารุณตลอดทั่วโลก.
โศกนาฏกรรมทำนองนี้ทำให้เราต้องเผชิญกับคำถามที่ทำให้ไม่สบายใจ ทำไมผู้คนจึงปฏิบัติอย่างนั้น? เราไม่อาจบอกปัดว่าความทารุณเหล่านี้เป็นผลิตผลจากจิตใจที่ฟั่นเฟือนของคนไม่กี่คน. ขอบเขตจริง ๆ ของความชั่วที่ทำกันในศตวรรษของเราไม่ตรงกับคำอธิบายดังกล่าว.
พฤติกรรมที่ชั่วได้รับการจำกัดความว่าเป็นการกระทำที่ผิดทางด้านศีลธรรม เป็นการกระทำโดยบางคนซึ่งสามารถเลือกได้ระหว่างการทำดีและการทำชั่ว. จะโดยวิธีใดก็ตาม การวินิจฉัยทางศีลธรรมของเขาได้ถูกบิดเบือนไปและความชั่วมีชัยชนะ. แต่ทำไมเรื่องนี้เกิดขึ้น และโดยวิธีใด?
คำอธิบายทางศาสนาสำหรับความชั่วบ่อยครั้งไม่เป็นที่จุใจ. โทมัส อะควินัส นักปราชญ์ชาวคาทอลิกได้อ้างว่า “สิ่งที่ดีหลายอย่างคงจะเหือดหายไปหากพระเจ้าไม่ยอมให้ความชั่วมีอยู่.” นักปราชญ์โปรเตสแตนต์หลายคนยึดถือทัศนะคล้าย ๆ กัน. ตัวอย่างเช่น ดังที่แถลงใน สารานุกรมบริแทนนิกา นั้น ก็อตฟรีด ไลบ์นิซถือว่าความชั่วเป็น “เพียงการทำให้ความดีเด่นชัดขึ้นในโลก ซึ่งความชั่วทำให้เด่นขึ้นโดยการเปรียบเทียบ.” กล่าวอีกนัยหนึ่ง เขาเชื่อว่าเราจำเป็นต้องมีความชั่วเพื่อที่เราจะหยั่งรู้ค่าความดีได้. การหาเหตุผลดังกล่าวเป็นเหมือนการบอกคนป่วยเป็นมะเร็งว่าความเจ็บป่วยของเขานั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นทีเดียวเพื่อที่จะทำให้ใครอื่นบางคนรู้สึกมีชีวิตชีวาและสุขสบายดีอย่างแท้จริง.
เจตนาที่ชั่วร้ายต้องมาจากที่ไหนสักแห่ง. สมควรตำหนิพระเจ้าทางอ้อมไหม? พระคัมภีร์ตอบว่า “เมื่อถูกทดลอง อย่าให้ผู้ใดว่า ‘พระเจ้าทดลองข้าพเจ้า.’ เพราะพระเจ้าจะถูกทดลองด้วยสิ่งที่ชั่วไม่ได้ หรือพระองค์เองก็ไม่ทดลองผู้ใดเลย.” ถ้าไม่ใช่ความรับผิดชอบของพระเจ้าแล้ว ใครล่ะรับผิดชอบ? ข้อต่อไปให้คำตอบ “ทุกคนถูกทดลองโดยที่ความปรารถนาของตัวเขาเองชักนำและล่อใจเขา. ครั้นเมื่อความปรารถนาเพาะตัวขึ้นแล้ว ความปรารถนานั้นก่อให้เกิดบาป.” (ยาโกโบ 1:13-15, ล.ม.) ด้วยเหตุนี้ การกระทำที่ชั่วเกิดขึ้นเมื่อมีการปลูกฝังความปรารถนาที่ชั่วแทนที่จะปฏิเสธ. อย่างไรก็ดี มีมากกว่านั้นที่เกี่ยวข้องด้วย.
พระคัมภีร์อธิบายว่าความปรารถนาที่ชั่วเกิดขึ้นเนื่องจากมนุษยชาติมีข้อบกพร่องขั้นพื้นฐาน—ความไม่สมบูรณ์ที่ติดมาแต่กำเนิด. อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “เหตุฉะนั้นก็เช่นเดียวกับที่ความผิด [บาป, ล.ม.] ได้เข้ามาในโลกเพราะคน ๆ เดียว และความตายก็เกิดมาเพราะความผิด [บาป, ล.ม.] นั้น อย่างนั้นแหละความตายจึงได้ลามไปถึงคนทั้งปวง เพราะคนทั้งปวงเป็นคนผิด [ได้ทำบาป, ล.ม.].” (โรม 5:12) เนื่องจากบาปที่สืบทอดมา ความเห็นแก่ตัวอาจพิชิตความกรุณาในการคิดของเรา และความโหดร้ายอาจลบล้างความเมตตาสงสารได้.
แน่นอน คนส่วนใหญ่ทราบโดยสัญชาตญาณว่าพฤติกรรมบางอย่างนั้นผิด. สติรู้สึกผิดชอบของพวกเขา—หรือ ‘กฎหมายที่เขียนไว้ในหัวใจของเขา’ ดังที่เปาโลเรียกนั้น—เตือนเขาไม่ให้ทำการชั่ว. (โรม 2:15, ล.ม.) กระนั้น สภาพแวดล้อมที่เลวร้ายอาจบดบังความรู้สึกดังกล่าว และสติรู้สึกผิดชอบอาจตายด้านไปได้หากถูกละเลยครั้งแล้วครั้งเล่า.a—เทียบกับ 1 ติโมเธียว 4:2.
ความไม่สมบูรณ์ของมนุษย์อย่างเดียวอธิบายสาเหตุที่ความชั่วรวมตัวกันในสมัยของเราได้ไหม? นักประวัติศาสตร์เจฟฟรีย์ เบอร์ตัน รัสเซลได้กล่าวว่า “เป็นความจริงที่ว่ามีความชั่วในตัวเราแต่ละคน แต่ถึงแม้เอาความชั่วส่วนบุคคลจำนวนมากมายมารวมกันก็ไม่ได้อธิบายเหตุผลที่มีค่ายกักกันเอาชวิตซ์ . . . ความชั่วในระดับนี้ดูเหมือนจะต่างกันทางลักษณะเช่นเดียวกับทางปริมาณ.” ไม่ใช่ใครอื่นนอกจากพระเยซูคริสต์ผู้ซึ่งชี้ชัดออกมาถึงต้นตอของความชั่วที่ต่างกันทางลักษณะนี้.
ไม่นานก่อนการวายพระชนม์ของพระองค์ พระเยซูได้อธิบายว่าพวกคนที่วางแผนจะสังหารพระองค์นั้นมิได้กระทำเนื่องจากความตั้งใจของตัวเองอย่างเดียว. อำนาจที่ไม่ประจักษ์ชี้นำพวกเขา. พระเยซูทรงแจ้งแก่พวกเขาว่า “ท่านทั้งหลายมาจากมารซึ่งเป็นพ่อของท่าน และท่านใคร่จะทำตามความปรารถนาของพ่อของท่าน. มันเป็นผู้ฆ่าคนตั้งแต่เดิมมา และมันมิได้ตั้งอยู่ในความจริง.” (โยฮัน 8:44) พญามาร ผู้ซึ่งพระเยซูให้ฉายาว่า “ผู้ครองโลกนี้” มีบทบาทสำคัญอย่างเห็นได้ชัดในการปลุกปั่นความชั่ว.—โยฮัน 16:11; 1 โยฮัน 5:19.
ทั้งความไม่สมบูรณ์ของมนุษย์และอิทธิพลของซาตานได้ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานมากมายเป็นเวลาหลายพันปี. และไม่มีการส่อเค้าว่าสภาพดังกล่าวที่ครอบงำมนุษยชาตินั้นเบาบางลง. ความชั่วจะยังคงมีอยู่ที่นี่ต่อไปไหม? หรือว่าในที่สุดพลังแห่งความดีสามารถกำจัดความชั่วได้?
[เชิงอรรถ]
a ไม่นานมานี้บรรดานักวิจัยได้เข้าใจความเกี่ยวพันระหว่างความรุนแรงอย่างชัดแจ้งบนจอโทรทัศน์กับอาชญากรรมของเยาวชน. บริเวณที่มีอาชญากรรมดาษดื่นและครอบครัวที่แตกแยกยังเป็นปัจจัยของพฤติกรรมที่ต่อต้านสังคมอีกด้วย. ในเยอรมนีสมัยพวกนาซี การโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับการเหยียดเผ่าพันธุ์อย่างไม่หยุดหย่อนได้ชักนำให้ประชาชนบางคนอ้างเหตุผลสนับสนุน—และถึงกับยกย่อง—ทารุณกรรมต่อชาวยิวและชาวสลาฟ.
[ที่มาของภาพหน้า 2]
Cover: U.S. Army photo
[ที่มาของภาพหน้า 3]
U.S. Army photo