คุณจำได้ไหม?
คุณได้รับความยินดีจากการอ่านเรื่องต่าง ๆ ที่ลงในวารสารหอสังเกตการณ์ ฉบับเมื่อไม่นานมานี้ไหม? ถ้าเช่นนั้น คุณจะพบว่าน่าสนใจที่จะทวนความจำในเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้:
▫ คำภาษากรีกพารูเซียʹ ซึ่งใช้ที่มัดธาย 24:3, 27, 37, 39 มีความหมายเช่นไร?
พจนานุกรมอธิบายศัพท์คัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ ของไวน์กล่าวว่า “พารูเซียʹ . . . บ่งชี้ทั้งการมาถึงและการประทับอยู่ต่อจากนั้น.” ดังนั้น จึงไม่ใช่เพียงชั่วเวลาสั้น ๆ แห่งการมาถึง แต่เป็นการประทับอยู่ต่อไปนับจากที่ได้มาถึง.—15/8/96 หน้า 11.
▫ ‘วันเหล่านั้นถูกย่นให้สั้นลง’ อย่างไรเพื่อว่า “เนื้อหนัง” สามารถได้รับการช่วยให้รอดในศตวรรษแรก และจะเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นในขอบเขตที่กว้างกว่าอย่างไร? (มัดธาย 24:22)
ในปีสากลศักราช 66 พวกโรมันถอนทัพที่ล้อมกรุงยะรูซาเลมไปอย่างที่ไม่มีใครคาดฝัน ทำให้ “เนื้อหนัง” ซึ่งก็คือเหล่าคริสเตียนหนีออกไปได้. ในทำนองคล้ายกัน เราคาดว่าการโจมตีบาบูโลนใหญ่ที่กำลังจะมาถึงจะถูกย่นให้สั้นลงโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง. เมื่อเป็นเช่นนี้ คริสเตียนผู้ถูกเจิมและผู้ร่วมสมทบกับพวกเขาจะได้รับการช่วยให้รอดจากการทำลายใด ๆ ที่อาจมาถึงพวกเขา.—15/8/96 หน้า 18-20.
▫ เราควรมีปฏิกิริยาเช่นไรหากคนหนึ่งเริ่มรับเครื่องหมายในการฉลองอนุสรณ์หรือเลิกทำเช่นนั้น?
คริสเตียนไม่ว่าใครไม่จำเป็นต้องกังวลในเรื่องนี้. พระเยซูตรัสว่า “เราเป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดี และเรารู้จักแกะของเรา.” เป็นเรื่องแน่นอนเช่นกันว่า พระยะโฮวาทรงรู้จักผู้ที่พระองค์ทรงเลือกอย่างแท้จริงให้เป็นบุตรฝ่ายวิญญาณของพระองค์. (โยฮัน 10:14, ล.ม.; โรม 8:16, 17)—15/8/96 หน้า 31.
▫ จุดประสงค์หลักของพระบัญญัติของโมเซคืออะไร?
ประการแรกสุด พระบัญญัติสอนพวกยิศราเอลถึงการที่พวกเขาจำเป็นต้องมีมาซีฮา ผู้ซึ่งจะไถ่ถอนพวกเขาจากสภาพที่ผิดบาป. (ฆะลาเตีย 3:24) พระบัญญัตินี้ยังสอนเรื่องความเกรงกลัวพระเจ้าและการเชื่อฟังพระองค์ อีกทั้งช่วยให้ยิศราเอลแยกตัวอยู่ต่างหากจากกิจปฏิบัติที่เลวทรามของชาติต่าง ๆ ที่อยู่ล้อมรอบ. (เลวีติโก 18:24, 25)—1/9/96 หน้า 9.
▫ จุดประสงค์ของคำสัญญาไมตรีใหม่คืออะไร? (ยิระมะยา 31:31-34)
คำสัญญาไมตรีนี้ก่อให้เกิดชาติหนึ่งที่ประกอบด้วยกษัตริย์และปุโรหิตที่จะอวยพรแก่มนุษยชาติ. (เอ็กโซโด 19:6; 1 เปโตร 2:9; วิวรณ์ 5:10)—1/9/96 หน้า 14, 15.
▫ เหตุใดเราควรฝึกทักษะของการขอโทษ?
การขอโทษอาจช่วยบรรเทาความเจ็บปวดที่เกิดจากความไม่สมบูรณ์ และอาจทำให้สัมพันธภาพที่ตึงเครียดเป็นปกติได้. แต่ละครั้งที่เราขอโทษเป็นบทเรียนบทหนึ่งในเรื่องความถ่อมและฝึกเราให้รู้สึกไวมากขึ้นต่อความรู้สึกของคนอื่น.—15/9/96 หน้า 24.
▫ น้ำท่วมโลกในสมัยโนฮาเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ไหม?
ใช่แล้ว. ตำนานว่าด้วยเรื่องน้ำท่วมโลกนี้ปรากฏว่ามีการเล่ากันทั่วโลกทีเดียว ตั้งแต่ทวีปอเมริกาถึงออสเตรเลีย. สาระสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ซึ่งได้แพร่กระจายไปทุกแห่งหนนั้นเป็นการเสริมข้อเท็จจริงที่ว่าน้ำท่วมใหญ่ทั่วโลกนั้นเคยเกิดขึ้นจริงตามบันทึกในคัมภีร์ไบเบิล. (เยเนซิศ 7:11-20)—15/9/96 หน้า 25.
▫ มีอะไรเกี่ยวข้องอยู่ด้วยในการมีน้ำใจรับรองแขก? (โรม 12:13)
คำน้ำใจรับรองแขกแปลมาจากคำกรีกซึ่งมีรากศัพท์มาจากสองคำที่มีความหมายว่า “รัก” และ “คนแปลกหน้า.” ดังนั้น น้ำใจรับรองแขกโดยเนื้อแท้แล้วหมายถึง “การรักคนแปลกหน้า.” แต่คำนี้รวมความมากกว่าความรักที่อาศัยหลักการซึ่งอาจแสดงออกมาด้วยความสำนึกในหน้าที่หรือพันธะ. น้ำใจรับรองแขกมีพื้นฐานอยู่ที่ความรักชอบ, ความรักใคร่, และมิตรภาพที่แท้จริง.—1/10/96 หน้า 9.
▫ เปาโลหาเหตุผลเช่นไรเรื่องการสมรสและความเป็นโสดในจดหมายฉบับแรกของท่านที่มีไปยังชาวโกรินโธ ในบท 7?
การสมรสนั้นถูกทำนองคลองธรรม และภายใต้สภาพการณ์บางอย่างแล้ว บางคนควรจะสมรสเสีย. แต่ความเป็นโสดมีข้อได้เปรียบอย่างที่มิอาจปฏิเสธได้สำหรับคริสเตียนชายหญิงผู้ปรารถนาจะรับใช้พระยะโฮวาโดยมีสิ่งที่ทำให้เขวน้อยที่สุด.—15/10/96 หน้า 13.
▫ ผู้ปกครอง “จัดหามาเลี้ยงคนเหล่านั้นที่เป็นของตนเอง” อย่างไร? (1 ติโมเธียว 5:8)
ผู้ปกครองควร ‘จัดหาสำหรับคนซึ่งเป็นของตน’—ภรรยาและลูก ๆ—ทางด้านวัตถุ, ด้านวิญญาณ, และด้านอารมณ์.—15/10/96 หน้า 22.
▫ พระยะโฮวาทรงจัดให้มีการปลอบโยนอย่างไรสำหรับผู้รับใช้ของพระองค์?
พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าทำหน้าที่เป็น “ผู้ปลอบโยน.” (โยฮัน 14:16, ล.ม. เชิงอรรถ) อีกวิธีที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมการปลอบโยนให้คือโดยทางคัมภีร์ไบเบิล. (โรม 15:4) พระเจ้าทรงทราบความจำเป็นในด้านต่าง ๆ ของเราแต่ละคน และสามารถใช้พวกเราให้ปลอบโยนกันและกัน ดังที่เปาโลได้รับการปลอบโยนจากข่าวที่ติโตรายงานให้ทราบเกี่ยวกับพี่น้องชาวโกรินโธ. (2 โกรินโธ 7:11-13)—1/11/96 หน้า 10, 12.
▫ ความหมายอะไรที่แฝงอยู่ในคำพรรณนาของเปาโลเกี่ยวกับพระยะโฮวาว่าทรงเป็น “พระบิดาแห่งความเมตตาอันอ่อนละมุน” ซึ่งพบใน 2 โกรินโธ 1:3?
คำนามภาษากรีกที่ได้รับการแปลว่า “ความเมตตาอันอ่อนละมุน” มาจากคำที่ใช้แสดงความเสียใจต่อความทุกข์ยากของอีกคนหนึ่ง. ด้วยเหตุนี้ เปาโลพรรณนาความรู้สึกอันอ่อนละมุนของพระเจ้าที่มีต่อผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ทุกคนของพระองค์ซึ่งประสบความทุกข์ยากลำบาก.—1/11/96 หน้า 13.
▫ การถือศีลอดอาหารของชาวยิศราเอลในวันไถ่โทษประจำปีทำให้อะไรสำเร็จผล? (เลวีติโก 16:29-31; 23:27)
การถือศีลอดอาหารกระตุ้นชนชาติยิศราเอลให้มีความสำนึกมากขึ้นถึงบาปของตนและความจำเป็นในการไถ่. พวกเขาถือศีลอดอาหารเพื่อแสดงความเสียใจในบาปของเขาและการกลับใจเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า.—15/11/96 หน้า 5.
▫ คำโอวาทที่กล่าวต่อคนหนุ่มสาวที่ว่า “บัดนี้ จงระลึกถึงพระผู้สร้างองค์ยิ่งใหญ่ของเจ้า” แฝงความหมายเช่นไร? (ท่านผู้ประกาศ 12:1, ล.ม.)
แหล่งอ้างอิงหนึ่งกล่าวว่า คำฮีบรูที่ได้รับการแปลว่า “ระลึกถึง” นั้นมักจะส่อนัยถึง “ความรักใคร่ของจิตใจและการกระทำซึ่งควบคู่ไปกับการระลึกถึง.” ดังนั้นการเอาใจใส่ฟังคำโอวาทนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่การคิดถึงพระยะโฮวาเท่านั้น แต่หมายรวมถึงการกระทำด้วย กล่าวคือการทำในสิ่งที่ทำให้พระองค์พอพระทัย.—1/12/96 หน้า 16.