มาระโก
ข้อมูลสำหรับศึกษา บท 13
ไม่เหลือหินซ้อนทับกันแม้แต่ก้อนเดียว: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 24:2
ตรงจุดที่มองเห็นวิหารได้: หรือ “ตรงข้ามกับวิหาร” มาระโกบอกให้รู้ว่าสามารถมองเห็นวิหารได้จากภูเขามะกอก ซึ่งเป็นคำอธิบายที่ไม่จำเป็นสำหรับผู้อ่านชาวยิวส่วนใหญ่—ดู “บทนำของหนังสือมาระโก”
จุดจบ: มาจากคำกริยากรีก ซูนเทะเล่โอ ซึ่งเกี่ยวข้องกับคำนาม ซูนเทะเล่อา ที่มีความหมายว่า “ร่วมกันจบ, ประกอบรวมกันจนจบ, จบด้วยกัน” และมีคำกริยานี้อยู่ในบันทึกเหตุการณ์เดียวกันที่ มธ 24:3 ด้วย (คำกรีก ซูนเทะเล่อา ยังมีอยู่ที่ มธ 13:39, 40, 49; 28:20; ฮบ 9:26) คำนี้หมายถึงช่วงเวลาที่มีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นซึ่งจะนำไปสู่ “จุดจบ” สุดท้ายที่พูดถึงใน มก 13:7, 13 สำหรับคำว่า “จุดจบ” ในข้อคัมภีร์ 2 ข้อนี้มีการใช้คำกรีกอีกคำหนึ่งคือ เทะลอส—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 13:7, 13 และส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “สมัยสุดท้ายของโลกนี้”
ฉันเป็นพระคริสต์: หรือเป็นเมสสิยาห์—เทียบกับบันทึกเหตุการณ์เดียวกันที่ มธ 24:5
จุดจบ: หรือ “จุดจบสุดท้าย” คำกรีกที่ใช้ในข้อนี้ (เทะลอส) ต่างจากคำกรีกที่แปลว่า “สมัยสุดท้าย” (ซูนเทะเล่อา) ใน มธ 24:3 และต่างจากคำกริยากรีกที่แปลว่า “จุดจบ” (ซูนเทะเล่โอ) ใน มก 13:4—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 24:3; มก 13:4 และส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “สมัยสุดท้ายของโลกนี้”
สู้รบ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 24:7
ประเทศ: คำกรีก เอ็ธนอส มีความหมายกว้าง อาจหมายถึงผู้คนที่อาศัยในเขตปกครองหนึ่งหรือดินแดนหนึ่ง เช่น ในประเทศหนึ่ง และยังหมายถึงกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งได้ด้วย—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 13:10
ความทุกข์เหมือนตอนเจ็บท้องใกล้คลอด: ความหมายตรงตัวของคำกรีกนี้คือความเจ็บปวดอย่างรุนแรงเหมือนตอนคลอดลูก แม้บางครั้งคำนี้หมายถึงความทุกข์และความเจ็บปวดทั่ว ๆ ไป แต่เมื่อใช้ในท้องเรื่องนี้ทำให้คิดถึงการเจ็บท้องคลอด เพราะปัญหาและความทุกข์ที่มีบอกไว้ล่วงหน้าจะเกิดถี่ขึ้น รุนแรงขึ้น และยาวนานขึ้น แล้วหลังจากนั้นก็จะเกิด “ความทุกข์ยากลำบาก” ที่บอกไว้ใน มก 13:19
ศาล: คำกรีก ซูนเอ็ดริออน ที่แปลว่า “ศาล” ในข้อนี้อยู่ในรูปพหูพจน์ พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกมักใช้คำนี้เพื่อหมายถึงศาลแซนเฮดรินซึ่งเป็นศาลสูงของชาวยิวในกรุงเยรูซาเล็ม (ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “แซนเฮดริน” และข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 5:22; 26:59) แต่ก็มีการใช้คำนี้ในความหมายทั่ว ๆ ไปด้วยเพื่อหมายถึงที่ประชุมหรือการประชุม และในข้อคัมภีร์นี้ หมายถึงศาลท้องถิ่นซึ่งอยู่ในที่ประชุมของชาวยิว ศาลท้องถิ่นเหล่านี้มีอำนาจตัดสินลงโทษโดยการเฆี่ยนและขับไล่ออกจากชุมชน—มธ 10:17; 23:34; ลก 21:12; ยน 9:22; 12:42; 16:2
ข่าวดี: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 24:14
คนทุกชาติ: คำนี้แสดงให้เห็นขอบเขตของงานประกาศ ทำให้พวกสาวกรู้ว่าพวกเขาจะไม่ได้ประกาศกับเพื่อนร่วมชาติชาวยิวเท่านั้น คำกรีกที่แปลว่า “ชาติ” (เอ็ธนอส) เมื่อใช้ในความหมายกว้าง ๆ จะหมายถึงกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกันทางสายเลือดและใช้ภาษาเดียวกัน เชื้อชาติหรือกลุ่มคนแบบนี้มักจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีเขตแดนชัดเจน
จับคุณไป: คำกริยากรีก อาโก ที่ใช้ในข้อนี้เป็นคำทางกฎหมายที่มีความหมายว่า “จับกุม, ควบคุมตัว” คำนี้ยังบ่งชี้ว่ามีการใช้กำลังด้วย
อดทน: คำกริยากรีกที่แปลว่า “อดทน” (ฮูพอเมะโน ) มีความหมายตรงตัวว่า “อยู่ต่อ ๆ ไปภายใต้” มักมีการใช้คำนี้เพื่อหมายถึงการ “อยู่ต่อไปแทนที่จะหนี, ยืนหยัด, บากบั่น, ไม่ท้อถอย” (มธ 10:22; รม 12:12; ฮบ 10:32; ยก 5:11) ในท้องเรื่องนี้ คำนี้หมายถึงการทำหน้าที่สาวกของพระคริสต์ต่อไปไม่ว่าจะเจอการต่อต้านหรือปัญหาใด ๆ ก็ตาม—มก 13:11-13
ที่สุด: หรือ “จุดจบสุดท้าย”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 13:7
แคว้นยูเดีย: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 24:16
ไปที่ภูเขา: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 24:16
ดาดฟ้า: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 24:17
ฤดูหนาว: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 24:20
ถ้าพระยะโฮวาไม่ทำให้ช่วงเวลานั้นสั้นลง: พระเยซูกำลังอธิบายให้พวกสาวกรู้ว่าพ่อของท่านจะทำอะไรในช่วงความทุกข์ยากลำบากครั้งใหญ่ ในคำพยากรณ์นี้พระเยซูใช้คำคล้ายกับที่ใช้ในคำพยากรณ์หลายข้อในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู ซึ่งข้อเหล่านั้นมีการใช้ชื่อพระเจ้า (อสย 1:9; 65:8; ยรม 46:28 [26:28, ฉบับเซปตัวจินต์]; อมส 9:8) ถึงแม้ในข้อนี้สำเนาพระคัมภีร์ภาษากรีกส่วนใหญ่ใช้คำว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า” (คำกรีก คูริออส) แต่มีเหตุผลหนักแน่นที่จะเชื่อว่าในข้อความต้นฉบับเคยมีชื่อของพระเจ้าอยู่ ก่อนจะถูกแทนที่ด้วยตำแหน่งองค์พระผู้เป็นเจ้า ดังนั้น พระคัมภีร์ฉบับนี้จึงใช้ชื่อพระยะโฮวาในข้อนี้
พระคริสต์ปลอม: หรือ “เมสสิยาห์ปลอม” คำกรีก พะซือดอฆริสท็อส มีเฉพาะในข้อคัมภีร์นี้และในบันทึกเหตุการณ์เดียวกันที่ มธ 24:24 คำนี้หมายถึงใครก็ตามที่อ้างตัวว่าเป็นพระคริสต์หรือเมสสิยาห์ (แปลตรงตัวว่า “ผู้ถูกเจิม”)—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 24:5; มก 13:6
เห็น: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 24:30
ลูกมนุษย์: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 8:20
เมฆ: เมฆน่าจะบดบังการมองเห็นแทนที่จะช่วยให้เห็นชัดขึ้น แต่คนที่สังเกตจะ “เห็น” ด้วยตาแห่งความเข้าใจ—กจ 1:9
ทั้งสี่ทิศ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 24:31
ตัวอย่าง: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 24:32
ฟ้าสวรรค์และโลกจะสูญสิ้นไป: ข้อคัมภีร์อื่น ๆ ช่วยให้เห็นว่าฟ้าสวรรค์และโลกจะคงอยู่ตลอดไป (ปฐก 9:16; สด 104:5; ปญจ 1:4) ดังนั้น คำพูดของพระเยซูในข้อนี้เป็นอติพจน์หรือคำพูดเกินจริง หมายความว่าถึงแม้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้จะเกิดขึ้น เหมือนที่ฟ้าสวรรค์และโลกจะสูญสิ้นไป แต่คำพูดของพระเยซูจะยังเป็นจริงแน่นอน (เทียบกับ มธ 5:18) นอกจากนั้น ฟ้าสวรรค์และโลกในข้อนี้ยังอาจมีความหมายเป็นนัย คือเป็นสิ่งเดียวกับที่ วว 21:1 เรียกว่า “ฟ้าสวรรค์เก่าและโลกเก่า”
คำพูดของผมจะไม่มีวันสูญหายไปเลย: แปลตรงตัวว่า “คำพูดของผมจะไม่ไม่สูญหายไป” การใช้คำว่า “ไม่” 2 ครั้งในภาษากรีกเป็นการเน้นว่าการกระทำนั้นไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย ซึ่งในข้อนี้เน้นให้เห็นว่าคำพูดของพระเยซูจะคงอยู่ตลอดไป ถึงแม้ว่าสำเนาพระคัมภีร์ภาษากรีกบางฉบับใช้คำว่า “ไม่” แค่ครั้งเดียว แต่สำเนาพระคัมภีร์ที่เก่าแก่ที่สุดหลายฉบับใช้คำว่า “ไม่” 2 ครั้งเหมือนกับในฉบับนี้
ยาม . . . เฝ้าประตู: ในสมัยโบราณคนเฝ้าประตูจะอยู่ที่ทางเข้าเมือง หรือทางเข้าวิหาร และบางครั้งก็อยู่ที่หน้าบ้านส่วนตัวด้วย นอกจากจะคอยเช็คว่ามีการปิดประตูตอนกลางคืนแล้ว คนเหล่านี้ยังทำหน้าที่เป็นยามด้วย (2ซม 18:24, 26; 2พก 7:10, 11; อสธ 2:21-23; 6:2; ยน 18:16, 17) การที่พระเยซูเปรียบคริสเตียนเป็นเหมือนยามที่เฝ้าประตูบ้านเป็นการเน้นว่าพวกเขาต้องตื่นตัวและเฝ้าคอยการพิพากษาของท่านที่จะเกิดขึ้นในอนาคต—มก 13:26
เฝ้าระวังอยู่เสมอ: คำกรีกนี้มีความหมายหลักว่า “ตื่นตัวอยู่เสมอ” แต่ในหลายท้องเรื่องก็อาจแปลได้ว่า “ระวังให้ดี, เฝ้าระวัง” มาระโกยังใช้คำนี้ที่ มก 13:34, 37; 14:34, 37, 38 ด้วย—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 24:42; 26:38; มก 14:34
ตอนเย็น: ข้อนี้พูดถึงการแบ่งเวลาตามระบบกรีกและโรมันที่แบ่งเวลากลางคืนเป็น 4 ช่วง ช่วงละ 3 ชั่วโมง ตั้งแต่ 6 โมงเย็นจนถึง 6 โมงเช้า (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาอื่น ๆ ในข้อนี้ด้วย) สมัยก่อนชาวฮีบรูเคยแบ่งเวลากลางคืนเป็น 3 ยามหรือ 3 ช่วง ช่วงละ 4 ชั่วโมง (อพย 14:24; วนฉ 7:19) แต่ในสมัยพระเยซูมีการเอาระบบโรมันมาใช้ คำว่า “ตอนเย็น” ในข้อนี้หมายถึงช่วงแรก คือตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกจนถึงประมาณ 3 ทุ่ม—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 14:25
ตอนเที่ยงคืน: หมายถึงช่วงที่ 2 ของเวลากลางคืนตามการแบ่งเวลาแบบกรีกและโรมัน คือตั้งแต่ประมาณ 3 ทุ่มจนถึงเที่ยงคืน—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาคำว่าตอนเย็นในข้อนี้
ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น: แปลตรงตัวว่า “ตอนไก่ขัน” นี่เป็นชื่อที่ใช้เรียกช่วงที่ 3 ของเวลากลางคืนตามการแบ่งเวลาแบบกรีกและโรมัน คือตั้งแต่เที่ยงคืนจนถึงประมาณตี 3 (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาก่อนหน้านี้) น่าจะเป็นช่วงเวลานี้เองที่ “ไก่ขัน” (มก 14:72) คนทั่วไปในดินแดนฝั่งตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนยอมรับกันมานานแล้วว่าเสียงไก่ขันเป็นเครื่องบอกเวลาอย่างหนึ่ง—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 26:34; มก 14:30, 72
ตอนเช้าตรู่: หมายถึงช่วงที่ 4 ของเวลากลางคืนตามการแบ่งเวลาแบบกรีกและโรมัน คือตั้งแต่ประมาณตี 3 จนถึงดวงอาทิตย์ขึ้น—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาก่อนหน้านี้