กิจการ
ข้อมูลสำหรับศึกษา บท 12
เฮโรด: คือเฮโรดอากริปปาที่ 1 หลานของเฮโรดมหาราช (ดูส่วนอธิบายศัพท์) เขาเกิดในปี 10 ก่อน ค.ศ. และได้ศึกษาเล่าเรียนในกรุงโรม เขาเป็นเพื่อนกับสมาชิกหลายคนในราชวงศ์ของจักรพรรดิ เช่น กายอัสซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อคาลิกูลา ไม่นานหลังจากกายอัสได้เป็นจักรพรรดิในปี ค.ศ. 37 เขาได้ประกาศแต่งตั้งอากริปปาเป็นกษัตริย์ปกครองแคว้นอิทูเรีย ตราโคนิติส และอาบีเลน ต่อมาคาลิกูลาได้ให้อากริปปาปกครองแคว้นกาลิลีและพีเรียด้วย อากริปปาอยู่ในกรุงโรมตอนที่คาลิกูลาถูกลอบสังหารในปี ค.ศ. 41 มีรายงานว่าอากริปปามีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์นี้ เขามีส่วนร่วมในการเจรจาที่ตึงเครียดระหว่างคลาวดิอัสซึ่งเป็นเพื่อนที่มีอิทธิพลของเขากับสภาสูงของโรม ผลก็คือคลาวดิอัสได้รับการประกาศแต่งตั้งเป็นจักรพรรดิและสงครามกลางเมืองก็ไม่เกิดขึ้น คลาวดิอัสให้รางวัลอากริปปาที่ช่วยไกล่เกลี่ยโดยตั้งเขาเป็นกษัตริย์ปกครองแคว้นยูเดียและสะมาเรีย ซึ่งก่อนหน้านี้ทั้ง 2 แคว้นปกครองโดยผู้สำเร็จราชการของโรมมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 6 ดังนั้น อากริปปาจึงควบคุมดูแลอาณาเขตเทียบเท่ากับที่เฮโรดมหาราชเคยปกครองโดยมีกรุงเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวง พวกผู้นำศาสนาชาวยิวชอบอากริปปา ว่ากันว่าเขาทำตามกฎหมายและธรรมเนียมของชาวยิวอย่างเคร่งครัด นอกจากถวายเครื่องบูชาในวิหารทุกวันแล้ว เขายังอ่านกฎหมายของโมเสสในที่สาธารณะ และยังกล่าวกันว่าเขามักจะปกป้องความเชื่อของชาวยิวอย่างกระตือรือร้น แต่การที่เขาอ้างว่าเป็นผู้นมัสการพระเจ้าปรากฏว่าไม่จริง เนื่องจากเขาจัดให้มีการต่อสู้ในสังเวียนและการแสดงแบบนอกรีตในโรงมหรสพ มีการพูดถึงนิสัยของอากริปปาว่าชอบทรยศ ฉาบฉวย และสุรุ่ยสุร่าย การปกครองของเขาจบลงอย่างกะทันหันเพราะเขาถูกทูตสวรรค์ของพระเจ้าลงโทษอย่างที่บอกไว้ใน กจ 12:23 พวกผู้เชี่ยวชาญบอกว่ากษัตริย์เฮโรดอากริปปาที่ 1 ตายในปี ค.ศ. 44 ตอนนั้นเขาอายุ 54 ปี และปกครองยูเดียเป็นเวลา 3 ปี
ประหารยากอบที่เป็นพี่น้องกับยอห์น: การประหารนี้น่าจะเกิดขึ้นประมาณปี ค.ศ. 44 ยากอบจึงเป็นคนแรกในอัครสาวก 12 คนที่ตายเพราะความเชื่อ เฮโรดอาจต้องการฆ่ายากอบเพราะยากอบเป็นที่รู้จักว่าใกล้ชิดกับพระเยซูเป็นพิเศษ หรืออาจเป็นเพราะยากอบมีชื่อเสียงว่าเป็นคนกระตือรือร้นมาก นี่อาจทำให้ยากอบและยอห์นได้รับฉายาว่าโบอาเนอเยที่แปลว่า “ลูกฟ้าร้อง” (มก 3:17) ถึงการกระทำที่ขี้ขลาดและหวังผลประโยชน์ทางการเมืองครั้งนี้ของเฮโรดไม่ได้หยุดยั้งการประกาศข่าวดี แต่ทำให้ประชาคมต้องสูญเสียอัครสาวกผู้เป็นที่รัก สูญเสียผู้บำรุงเลี้ยงและผู้ให้กำลังใจ คำว่าถูกประหารด้วยดาบอาจแสดงให้เห็นว่ายากอบถูกตัดหัว
เทศกาลขนมปังไม่ใส่เชื้อ: เทศกาลขนมปังไม่ใส่เชื้อเริ่มวันที่ 15 เดือนนิสาน ซึ่งก็คือ 1 วันหลังจากปัสกา (14 เดือนนิสาน) และเทศกาลนี้จะฉลองนาน 7 วัน (ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “เทศกาลขนมปังไม่ใส่เชื้อ” และ ภาคผนวก ข15) การที่หนังสือข่าวดีและหนังสือกิจการพูดถึงเทศกาลต่าง ๆ หลายครั้งแสดงให้เห็นว่ายังมีการใช้ปฏิทินของชาวยิวอยู่ในสมัยพระเยซูกับอัครสาวก เทศกาลเหล่านี้จึงช่วยให้รู้ว่าบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลเกิดขึ้นเมื่อไร—มธ 26:2; มก 14:1; ลก 22:1; ยน 2:13, 23; 5:1; 6:4; 7:2, 37; 10:22; 11:55; กจ 2:1; 12:3, 4; 20:6, 16; 27:9
ทูตสวรรค์ของพระยะโฮวา: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 5:19
แต่งตัว: หรือ “คาดเอว” ดูเหมือนหมายถึงการรัดเสื้อตัวในไว้ไม่ให้หลุดโดยใช้เข็มขัดหรือผ้า—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 12:35
พระยะโฮวาใช้ทูตสวรรค์ของพระองค์: สำนวน “ใช้ทูตสวรรค์ของพระองค์” ที่ใช้ในข้อนี้ทำให้นึกถึงการช่วยให้รอดที่พูดถึงในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู ตัวอย่างเช่น ที่ ดนล 3:28; 6:22 ก็บอกว่าพระเจ้า “ส่งทูตสวรรค์” มาช่วยดาเนียลและเพื่อนของเขาให้รอด—เทียบกับ สด 34:7
บ้านมารีย์: ดูเหมือนประชาคมในกรุงเยรูซาเล็มจะประชุมกันที่บ้านส่วนตัวซึ่งก็คือบ้านของมารีย์แม่ของยอห์นมาระโก บ้านนี้ใหญ่พอที่จะต้อนรับผู้นมัสการ “หลายคน” และมีสาวใช้หนึ่งคนที่ทำงานอยู่ที่นั่นด้วย ดังนั้น มารีย์น่าจะเป็นคนที่ค่อนข้างมีฐานะ (กจ 12:13) นอกจากนั้น พระคัมภีร์บอกว่าบ้านนี้เป็น “บ้านมารีย์” แต่ไม่ได้พูดถึงสามีของเธอ จึงเป็นไปได้ว่ามารีย์จะเป็นแม่ม่าย
ยอห์นที่มีอีกชื่อหนึ่งว่ามาระโก: เป็นสาวกคนหนึ่งของพระเยซู เป็น “ลูกพี่ลูกน้องของบาร์นาบัส” (คส 4:10) และเป็นผู้เขียนหนังสือข่าวดีของมาระโก (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ชื่อหนังสือมาระโก) ชื่อยอห์นตรงกับชื่อภาษาฮีบรูเยโฮฮานัน หรือโยฮานัน ซึ่งหมายความว่า “พระยะโฮวาแสดงความโปรดปราน, พระยะโฮวากรุณา” ที่ กจ 13:5, 13 เรียกสาวกคนนี้ว่ายอห์น แต่ในข้อนี้และที่ กจ 12:25; 15:37 เรียกเขาว่ายอห์นซึ่งมีอีกชื่อหนึ่งว่ามาระโก โดยมาระโกเป็นนามสกุลโรมันของยอห์น ส่วนในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกข้ออื่น ๆ เรียกเขาว่ามาระโก—คส 4:10; 2ทธ 4:11; ฟม 24; 1ปต 5:13
ทูตสวรรค์ประจำตัวเปโตร: คำว่า “ทูตสวรรค์” ทั้งในภาษาฮีบรูและภาษากรีกมีความหมายว่า “ผู้ส่งข่าว” (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 1:51) คนที่พูดถึง “ทูตสวรรค์ประจำตัวเปโตร” อาจคิดว่าผู้ที่ยืนอยู่ที่ประตูคือทูตสวรรค์ผู้ส่งข่าวซึ่งเป็นตัวแทนเปโตร ดูเหมือนชาวยิวบางคนเชื่อว่าผู้รับใช้ของพระเจ้าแต่ละคนมีทูตสวรรค์ประจำตัวเหมือนเป็นทูตที่คอยปกป้อง แต่พระคัมภีร์ไม่ได้บอกชัด ๆ ว่ามีการปกป้องคุ้มครองแบบนี้ สาวกของพระเยซูรู้ว่าตลอดประวัติศาสตร์ทูตสวรรค์ได้ช่วยเหลือประชาชนของพระเจ้าเป็นส่วนตัว เช่น ยาโคบบอกว่า “ทูตสวรรค์มาช่วยพ่อให้พ้นจากภัยพิบัติทั้งหมด” (ปฐก 48:16) และพระเยซูก็เคยพูดถึงพวกสาวกว่า “ทูตสวรรค์ที่ดูแลพวกเขาก็อยู่ต่อหน้าพ่อของผมในสวรรค์ตลอดเวลา” นี่แสดงให้เห็นว่าพวกทูตสวรรค์สนใจสาวกของพระเยซูแต่ละคนจริง ๆ (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 18:10) คนที่อยู่ในบ้านมารีย์คงไม่ได้คิดว่าเปโตรจะมาในร่างกายแบบทูตสวรรค์เหมือนกับว่าเขาได้ตายไปแล้ว เพราะพวกเขารู้ว่าพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูบอกไว้อย่างไรเกี่ยวกับคนตาย—ปญจ 9:5, 10
พระยะโฮวา: สำเนาพระคัมภีร์ภาษากรีกส่วนใหญ่จะใช้คำว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า” (ฮอ คูริออส) แต่ก็มีเหตุผลที่ดีหลายอย่างที่จะเชื่อว่าในต้นฉบับเคยมีชื่อของพระเจ้าอยู่ในข้อนี้และต่อมาถูกแทนที่ด้วยตำแหน่งองค์พระผู้เป็นเจ้า ดังนั้น พระคัมภีร์ฉบับนี้จึงใช้ชื่อพระยะโฮวาในข้อนี้
ยากอบ: น่าจะหมายถึงยากอบที่เป็นน้องชายต่างพ่อของพระเยซู เขาอาจเป็นน้องชายคนถัดจากพระเยซู เพราะมีการพูดถึงเขาเป็นชื่อแรกในจำนวนลูกชาย 4 คนของโยเซฟและมารีย์คือ ยากอบ โยเซฟ ซีโมน และยูดาส (มธ 13:55; มก 6:3; ยน 7:5) ยากอบอยู่ในเหตุการณ์ในวันเพ็นเทคอสต์ปี ค.ศ. 33 ซึ่งตอนนั้นมีชาวยิวหลายพันคนมาจากหลายประเทศ พวกเขาตอบรับข่าวดีและรับบัพติศมา (กจ 1:14; 2:1, 41) ในข้อคัมภีร์นี้ เปโตรบอกให้สาวก ‘ไปบอกเรื่องนี้กับยากอบ’ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตอนนั้นยากอบนำหน้าในประชาคมเยรูซาเล็ม ดูเหมือนว่าเขาเป็นคนเดียวกับยากอบที่พูดถึงใน กจ 15:13; 21:18; 1คร 15:7; กท 1:19 (ที่นั่นเรียกเขาว่า “น้องชายของผู้เป็นนาย”) 2:9, 12 และเป็นคนเดียวกับที่เขียนหนังสือยากอบในคัมภีร์ไบเบิล—ยก 1:1; ยด 1
ผู้ดูแลวัง: แปลตรงตัวว่า “ผู้ดูแลห้องนอนของกษัตริย์” ดูเหมือนนี่เป็นตำแหน่งที่ได้รับความนับถืออย่างสูง ผู้ดูแลวังได้รับความไว้วางใจให้ดูแลวังและเรื่องส่วนตัวของกษัตริย์
ทูตสวรรค์ของพระยะโฮวา: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 5:19
คำสอนของพระยะโฮวา: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 8:25
ช่วยเหลือ: หรือ “งานรับใช้บรรเทาทุกข์”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 11:29