ครอบครัวช่วยได้อย่างไร?
“เริ่มแรกคนดื่มสุรา และแล้วสุราก็ดื่มสุรา และในที่สุดสุราดื่มคน.”—ภาษิตย่านตะวันออก.
คุณกำลังเดินอยู่บริเวณริมหนองน้ำ. โดยไม่ทันรู้ตัว บริเวณที่คุณเหยียบทรุดฮวบลง. อีกไม่กี่อึดใจคุณก็ตะเกียกตะกายอยู่ในทรายดูด. ยิ่งดิ้นก็ยิ่งจมลึกลงไป.
โรคพิษสุราเรื้อรังครอบคลุมทั้งครอบครัวในลักษณะคล้ายคลึงกัน. คู่สมรสผู้ร่วมเป็นทาสดิ้นรนใจจะขาดเพื่อเปลี่ยนผู้ติดสุราให้ได้. ด้วยมีความรักเป็นพลังผลักดัน เธอขู่เขา แต่เขาก็ยังดื่มต่อไป. เธอเอาเหล้าไปซ่อน เขาก็ซื้อมาอีก. เธอเอาเงินเขาไปซ่อน เขาก็ไปหยิบยืมจากเพื่อนฝูง. เธอพูดให้เขานึกถึงความรักต่อครอบครัว ต่อชีวิต ถึงกับต่อพระเจ้า—แต่ก็ไร้ผล. ยิ่งเธอดิ้นรนเท่าไร ทั้งครอบครัวก็ยิ่งจมลึกลงในปลักของน้ำเมา. เพื่อช่วยเหลือผู้ติดสุรา ก่อนอื่นสมาชิกในครอบครัวต้องเข้าใจลักษณะอาการของโรคพิษสุราเรื้อรัง. พวกเขาต้องรู้ว่าเหตุใด “วิธีแก้ไข” บางวิธีจึงแทบไม่มีทางจะได้ผลเลย และพวกเขาต้องเรียนรู้ว่าวิธีใดจะได้ผลจริง.
โรคพิษสุราเรื้อรังไม่ใช่แค่การเมาสุรา. มันเป็นความผิดปกติในการดื่มเรื้อรัง มีลักษณะถูกแอลกอฮอล์ครอบงำ และสูญเสียการบังคับตนที่จะไม่บริโภคสิ่งนั้น. ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่า โรคนี้รักษาให้หายไม่ได้ แต่โรคพิษสุราเรื้อรังสามารถยับยั้งได้ด้วยแผนกำหนดการงดเว้นตลอดชีวิต.—เปรียบเทียบมัดธาย 5:29.
ในลักษณะบางอย่าง สภาพการณ์อาจเทียบได้กับคนเป็นโรคเบาหวาน. ขณะที่เขาเปลี่ยนแปลงสภาพของตนไม่ได้ คนเป็นโรคเบาหวานอาจร่วมมือกับร่างกายโดยงดเว้นจากน้ำตาล. ในทำนองคล้ายคลึงกันผู้ติดสุราไม่สามารถเปลี่ยนผลสนองตอบของร่างกายจากการดื่มได้ แต่เขาสามารถ ประสานงานกับความผิดปกติของตัวเอง โดยงดแอลกอฮอล์อย่างเด็ดขาด.
อย่างไรก็ดี ที่ว่ามานี้พูดง่ายแต่ทำยาก. ผู้ติดสุรามองไม่เห็นปัญหาโดยการปฏิเสธ. เช่น ‘ผมไม่เลวขนาดนั้น.’ ‘ครอบครัวนั่นแหละ ทำให้ผมต้องดื่ม.’ ‘ถ้ามีหัวหน้างานแบบนั้น ใครบ้างจะไม่ดื่ม?’ การชักเหตุผลของเขามักจะฟังขึ้น จนทั้งครอบครัวอาจจะร่วมในขบวนการปฏิเสธ. ‘คุณพ่อก็ต้องคลายเครียดบ้างซิ.’ ‘คุณพ่อจำเป็นต้องดื่ม. ท่านต้องทนกับการบ่นจู้จี้ของแม่.’ พูดอะไรก็ได้แต่ไม่ยอมแพร่งพรายความลับของครอบครัวที่ว่า ‘คุณพ่อเป็นนักเสพสุราเรื้อรัง.’ ดร. ซูซาน ฟอร์เวิร์ดอธิบายว่า “นั่นคือทางเดียวที่สามารถอยู่ร่วมกันได้. เรื่องโกหก, แก้ตัว, และความลับ เป็นสิ่งธรรมดาเหมือนอากาศที่มีในบ้านนั้น.”
สมาชิกในครอบครัวไม่อาจจะฉุดผู้ติดสุราขึ้นจากหลุมทรายดูดได้จนกว่าพวกเขาฉุดตัวเองขึ้นมาเสียก่อน. บางคนอาจแย้งว่า ‘ผู้ติดสุราต่างหากที่ต้องการความช่วยเหลือไม่ใช่ฉัน!’ แต่ขอคิดดู อารมณ์และการกระทำของคุณเข้าไปผูกพันอยู่กับผู้เสพสุราเรื้อรังมากขนาดไหน? บ่อยแค่ไหนที่การกระทำของเขาทำให้คุณรู้สึกโกรธ, กังวล, สิ้นท่า, กลัว? กี่ครั้งที่คุณอยู่บ้านคอยดูแลผู้ติดสุราเมื่อคุณควรจะเข้าส่วนในกิจกรรมที่สำคัญยิ่งกว่า? เมื่อสมาชิกในครอบครัวที่ไม่ได้ติดสุราลงมือปรับปรุงชีวิตของตนเอง ผู้ติดสุราอาจติดตามก็ได้.
เลิกโทษตัวเอง. ผู้ติดสุราอาจจะอ้างว่า ‘ถ้าคุณปฏิบัติต่อผมให้ดีกว่านี้ ผมคงไม่ต้องดื่ม.’ โทบี ไรซ์ ดรูส์ผู้ให้คำปรึกษาบอกว่า “ผู้ติดสุราจำต้องให้คุณเชื่อเช่นนั้นอยู่เรื่อยไป เพื่อเขาจะได้โยนภาระรับผิดชอบในการติดสุราของเขาให้แก่คุณ.” อย่าหลงเชื่อข้อนี้. ผู้ติดสุราตกเป็นทาสไม่เฉพาะแอลกอฮอล์แต่ยังพึ่งอาศัยผู้คนซึ่งจะทำให้การปฏิเสธของเขามีน้ำหนัก. ฉะนั้น สมาชิกในครอบครัวอาจจะส่งเสริมการดื่มของผู้ติดแอลกอฮอล์ให้ยืนยาวต่อไปโดยไม่รู้ตัวก็ได้.
สุภาษิตในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับการโกรธ อาจนำมาใช้ได้พอ ๆ กันกับผู้ติดแอลกอฮอล์ที่ว่า “ให้เขารับผลลัพธ์. ถ้าคุณช่วยเขาพ้นความยุ่งยากครั้งหนึ่ง คุณก็ต้องทำเช่นนั้นอีก.” (สุภาษิต 19:19, ทูเดส์ อิงก์ลิช เวอร์ชัน) ถูกแล้ว ให้คนติดสุราโทรศัพท์ขอลาหยุดต่อหัวหน้าที่ทำงานเอง ถ่อกายไปนอนเอง ชำระสิ่งเลอะเทอะของตนเอง. ถ้าครอบครัวทำสิ่งเหล่านี้ให้เขา ก็เท่ากับช่วยให้เขาดื่มแอลกอฮอล์จนตาย.
ขอความช่วยเหลือ. นับว่ายากและบางทีเป็นไปไม่ได้เลยที่สมาชิกในครอบครัวจะหลุดออกจากทรายดูดได้ด้วยตัวเอง. คุณต้องการการสนับสนุน. จงอาศัยเพื่อนให้มาก ผู้ซึ่งจะไม่สนับสนุนการปฏิเสธของผู้ติดสุราและไม่ปล่อยให้คุณจมปลักอยู่อย่างนั้น.
ถ้าผู้ติดสุราตกลงจะรับความช่วยเหลือ ก็เป็นเหตุให้เกิดความปีติยินดีอย่างใหญ่หลวง. แต่ก็เป็นเพียงขั้นเริ่มต้นของขั้นตอนการฟื้นตัวเท่านั้น. การเป็นทาสทางร่างกายต่อแอลกอฮอล์ย่อมหยุดยั้งได้ในเวลาเพียงไม่กี่วันโดยการถอนพิษ แต่การเป็นทาสทางจิตใจควบคุมได้ยากกว่ามาก.
[กรอบหน้า 5]
ลักษณะเฉพาะของผู้ติดสุรา
การหมกมุ่น: ผู้ติดสุรากระวนกระวายอยากให้เวลาดื่มมาถึงโดยเร็ว. เมื่อเขาไม่ได้ดื่ม แอลกอฮอล์ เขาก็คิดถึง แอลกอฮอล์.
สูญเสียการบังคับตน: การดื่มของเขาบ่อยครั้งต่างไปจากที่คิดไว้ ไม่ว่าเขาจะตั้งใจมั่นคงสักเพียงไร.
วางกฎเข้ม: นโยบายบังคับตัวเอง (“ผมไม่ดื่มคนเดียว” “ไม่ดื่มในเวลาทำงาน” และอื่น ๆ) เป็นแต่เพียงการอำพราง กฎเกณฑ์ที่แท้จริงของผู้ติดแอลกอฮอล์คือ: “อย่าให้อะไรเข้ามาขัดจังหวะการดื่มของผม.”
ความทนทาน: ความสามารถพิเศษที่ดื่มเหล้าได้ปริมาณมาก ๆ โดยไม่เมาแอ๋มิใช่สิ่งที่ดี—บ่อยครั้งคืออาการต้น ๆ ของโรคพิษสุราเรื้อรัง.
ผลพวงทางลบ: นิสัยปกติไม่ก่อความเสียหายแก่ครอบครัว, อาชีพ, และสุขภาพทางกาย. แต่โรคพิษสุราเรื้อรังก่อความเสีย.—สุภาษิต 23:29-35.
การปฏิเสธ: ผู้ติดสุรา อำพรางความผิด ทำให้ดูเป็นเรื่องเล็ก และแก้ตัวเรื่องพฤติกรรมของเขา.