การเป็นผู้สูงอายุหมายถึงสิ่งใด?
“เป็นคนชราก็ไม่เลวนักเมื่อคุณยังมีโอกาสได้เป็น.”—มอริซ เชวาเลียร์.
กระบวนการแก่ชราในที่สุดย่อมกระทบทุกคน. เป็นสิ่งที่ไม่อาจหนีพ้นได้. มันเริ่มต้นโดยแทบจะไม่รู้ตัว—เจ็บที่นี่นิด, เหี่ยวย่นตรงนั้นหน่อย, และผมเริ่มหงอกประปราย—แต่ในที่สุดมันจะครอบงำคนเราไว้อย่างไม่ยอมปรานี. ไม่เคยมีมาก่อนเลยในประวัติศาสตร์ที่มีผู้คนมากเหลือเกิน ได้รับผลกระทบจากความชรา.
สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่จำนวนคนชราเพิ่มมากขึ้นก็คือความสำเร็จด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ในการควบคุมโรคภัยต่าง ๆ ที่ทำให้ถึงตาย. ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐ คนที่มีอายุเกิน 65 มีประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร และในญี่ปุ่นมีประมาณ 11 เปอร์เซ็นต์. ชาวอเมริกันซึ่งอายุเกิน 85 ปีได้เพิ่มจาก 700,000 คนในปี 1953 เป็น 2.1 ล้านคนในปี 1978. อันที่จริง ชาวอเมริกันประมาณ 50,000 คนและชาวแคนาดาราว 3,700 คนมีอายุถึงร้อยปีหรือกว่านั้น!
แม้ว่าผู้สูงอายุเหล่านี้จะใช้ชีวิตทำประโยชน์มากกว่าผู้สูงอายุในอดีตก็ตาม แต่ช่วงปลายของคนเราก็ได้รับความเสียหายอย่างเลี่ยงไม่พ้นจากการที่ความสามารถบางอย่างถดถอย. การได้ยิน, การมองเห็น, ความตึงปกติของกล้ามเนื้อ, และการเคลื่อนไหว ล้วนได้รับผลกระทบเมื่อคนเราอายุมากขึ้น. ผู้สูงอายุบางคนทนทุกข์อยู่กับความโดดเดี่ยวอ้างว้างและแม้แต่โรคชรา. คนอื่น ๆ รู้สึกว่าตนกำลังหมดเสน่ห์และรู้สึกซึมเศร้า.
บ่อยครั้งวิธีที่คนเราปรับตัวให้เข้ากับกระบวนการแก่ชรานั่นแหละเป็นตัวกำหนดว่าคนนั้นจะมีความสุขหรือไม่. เมื่อใครคนหนึ่งพูดว่า “ฉันแก่เกินกว่าจะทำสิ่งนั้นได้แล้ว” บางครั้งเจตคติ มากกว่าสภาพร่างกายอย่างหนึ่งอย่างใด ที่ปิดประตูกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งอาจทำได้.
เยาวชนผู้หนึ่งแสดงความหยั่งเห็นเข้าใจไม่น้อยเมื่อเขากล่าวว่า “คนชรา สำหรับผมแล้ว ดูเหมือนหมายถึงใครก็ตามที่ได้หยุดจากการใช้ชีวิตอย่างเต็มปริมาณ ใครก็ตามที่ไม่รักและสนุกกับชีวิตอีกต่อไป. ที่จริงไม่อาจกำหนดอายุสำหรับคำว่า ‘แก่’ เพราะวัยรุ่นบางคนก็ดูคล้ายคนแก่ ในขณะที่ผู้สูงอายุบางคนกลับดูอ่อนวัย.”
สูงอายุกระนั้นก็มีความสุขและพึงพอใจ
ในบางแง่มุม ชีวิตช่วงปลายสำหรับบางคนปรากฏว่าเปรียบเสมือนปีทองเลยทีเดียว. ผู้สูงอายุที่มีความสุขเหล่านี้ต่างมีอิสรภาพพ้นจากความกดดันและความคร่ำเคร่งของงานประจำ. สำหรับพวกเขาแล้ววัยชราหมายถึงเวลาที่มีมากขึ้นในการได้อยู่กับหลาน ๆ. พวกเขาตระหนักว่าความสุขของตนมิได้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่ผู้อื่นคิดเกี่ยวกับตัวเขา. พวกเขาอาจรู้สึกมีอิสระมากกว่าที่จะเผยความในใจ และพวกเขาอาจรู้สึกผ่อนคลายและอิ่มใจพอใจมากกว่าด้วย.
นอกจากนั้น บุคคลดังกล่าวอาจมองเลยความต้องการของตนเองและพบความยินดีในการอาสาช่วยเหลือผู้ที่มีความจำเป็น. พวกเขาช่วยเหลือคนตาบอดโดยอ่านหนังสือให้ฟัง, พาลูกกำพร้าเดินทางไปด้วยกัน, หรือช่วยคนทุพพลภาพให้มีความรู้สึกพอใจตนเองมากขึ้น. คนอื่น ๆ เรียนรู้ทักษะใหม่และทำสิ่งต่าง ๆ ที่ตนไม่สามารถทำได้ในขณะที่ต้องเลี้ยงลูกหรือหาเลี้ยงชีพ. แกรนด์มา โมเสส จิตรกรชาวอเมริกันผู้เลื่องชื่อได้เริ่มต้นอาชีพวาดภาพของเธอเมื่ออายุใกล้ 80 ปีและวาดภาพเสร็จสมบูรณ์ถึง 25 ภาพในช่วงที่อายุเลย 100 ปีแล้ว!
แน่นอน คนเราไม่จำเป็นต้องทำสิ่งแปลกพิสดารเพื่อจะได้รับความยินดี. ณ วัย 86 ปี นักแสดงละครเวทีหญิงผู้มีชื่อก้องโลกได้ให้ข้อคิดว่า “ดิฉันกำลังเพลิดเพลินกับชีวิตมากที่สุด ขณะนี้! ป่านนี้น่ะหรือ? คุณอาจจะสงสัย. ข้อดีของการอยู่ ณ จุดนี้ของชีวิตก็คือดิฉันไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง—แต่ละครั้งไม่มากกว่าสองสามวัน. ดิฉันเพลิดเพลินกับวันนี้ เท่านั้น.” เธอเสริมอีกว่า “เพื่อจะมีความรู้สึกดี ๆ กับตัวเอง, กับชีวิตคุณ, คุณไม่จำเป็นต้องทำตัวให้โด่งดังหรือทำเงินเป็นล้าน ๆ.”
ข้อดีอีกประการหนึ่งของการอยู่ในวัยสูงอายุได้แก่สติปัญญาและประสบการณ์ซึ่งมักจะมาด้วยกันกับอายุ. คุณหยั่งรู้ค่าทรัพยากรเหล่านี้ไหม? สตรีผู้หนึ่งซึ่งรู้สึกเช่นนั้นกล่าวว่า “ดิฉันหยั่งรู้ค่าสติปัญญาที่ได้รับตลอดช่วงเวลาหลายปี. การเรียนรู้ว่าอะไรสำคัญจริง ๆ ได้ช่วยดิฉันให้รับมือกับปัญหาต่าง ๆ ในชีวิต. ที่จริง ผู้หญิงที่อ่อนวัยกว่าหลายคนเข้าหาดิฉันเพื่อขอคำแนะนำ. พวกเธอมักจะพูดในตอนท้ายว่า ‘ฉันดีใจมากค่ะที่ได้คุยกับคุณ. ฉันไม่เคยคิดในแง่นี้มาก่อนเลย.’ ดิฉันจะไม่ยอมแลกประสบการณ์นั้นกับอะไรทั้งสิ้น. ดิฉันรู้สึกดีใจจริง ๆ ที่สามารถให้การช่วยเหลือได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่ผู้ที่อ่อนวัยกว่า.”
ทัศนะต่อผู้สูงอายุ
สมัยหนึ่งผู้สูงอายุเคยเป็นที่นับถืออย่างสูง และคำแนะนำของพวกเขาก็ได้รับการปฏิบัติตาม. ในหลายดินแดนสิ่งนี้ได้เปลี่ยนไป. ทุกวันนี้ผู้สูงอายุมักถูกละเลยและได้รับการปฏิบัติอย่างโหดร้ายด้วยซ้ำ. นับเป็นเรื่องน่าเศร้า เนื่องจากผู้สูงอายุเป็นแหล่งแห่งทรัพยากรอันอุดมในด้านสติปัญญาและประสบการณ์ซึ่งผู้ที่อ่อนวัยกว่าสามารถขุดเจาะออกมาใช้เพื่อประโยชน์ของตนได้. แน่นอน สิ่งนี้มิได้ให้สิทธิ์แก่ผู้ที่สูงวัยกว่าเข้าแทรกแซงชีวิตของผู้อื่น.
น่ายินดี ในบางวัฒนธรรมผู้สูงอายุยังคงได้รับความนับถือตามที่ควรจะได้รับ. ตัวอย่างเช่น ในญี่ปุ่นและประเทศแถบแอฟริกาส่วนใหญ่ บ่อยครั้งผู้สูงอายุยังคงเป็นแกนของหน่วยครอบครัวและเผ่า. ในสาธารณรัฐอับคาส, จอร์เจีย ของอดีตสหภาพโซเวียต ที่ซึ่งผู้คนโดยทั่วไปมีอายุยืนเกินร้อยปี ผู้อายุยืนเหล่านี้จะได้รับความนับถือจากคนรุ่นเยาว์กว่า. คำพูดของคนสูงอายุมักจะได้รับการมองเสมือนหนึ่งกฎหมายภายในครอบครัว.
เมื่อผู้ที่อ่อนวัยกว่าขุดเอาทรัพยากรทางสติปัญญาเหล่านี้ออกมา หน่วยครอบครัวนั้นก็ได้รับประโยชน์. อาจจะเกิดสัมพันธภาพพิเศษระหว่างปู่ย่าตายายกับหลาน ๆ ได้. โดยความสมานสัมพันธ์ของคนสองวัยนี้แหละที่เด็ก ๆ มักจะเรียนรู้ความอดทน, ความเห็นอกเห็นใจ, ความร่วมรู้สึก, และความนับถือต่อบุพการีของตน. เมื่อพวกเขาขาดการติดต่อสัมพันธ์ลักษณะนี้ไป ผลกระทบในทางเสียหายก็อาจเกิดกับผู้อ่อนวัยได้.
พวกเขาอยากได้การปฏิบัติเช่นไร?
ผู้สูงอายุต้องการได้รับความนับถือ. พวกเขาต้องการตัดสินใจและมีความรู้สึกว่าตนได้ดูแลชีวิตของตัวเอง. แม้ว่าความสามารถต่าง ๆ ด้านร่างกายของพวกเขาจะร่วงโรยไปตามวัย แต่ผู้ที่รักษาจิตใจให้กระปรี้กระเปร่าอยู่เสมอบ่อยครั้งยังคงมีความคิดที่เฉียบแหลม. จริงอยู่ พวกเขาอาจจะหัวไม่ไวเหมือนตอนเป็นหนุ่มเป็นสาวหรือเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ไม่รวดเร็วเหมือนอย่างเคย. แต่พวกเขาก็ไม่ควรถูกกันออกนอกทางและยึดแย่งเอาบทบาทในวงครอบครัวไป หรือไม่ควรที่ผู้อื่นจะเข้าไปทำงานต่าง ๆ แทนซึ่งผู้สูงอายุอยากจะทำเอง. สิ่งนี้จะทำให้พวกเขาข้องขัดใจและท้อใจ อีกทั้งทำให้รู้สึกว่าตนไม่มีความสามารถพอและถึงกับไร้ค่าด้วยซ้ำ.
สำหรับผู้สูงอายุแล้วกิจกรรมที่ก่อเกิดผลเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง; ช่วยให้พวกเขารู้สึกว่าตนเองมีค่า. น่าสังเกต เหล่าผู้ที่มีอายุเกินร้อยปีในสาธารณรัฐอับคาส มักจะมีงานประจำวันให้ทำมากมาย เช่นงานในไร่, การเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่, งานซักรีด, การทำความสะอาดบ้าน, และการดูแลเด็กเล็ก—ทั้งหมดนี้มีส่วนทำให้อายุของพวกเขายืนยาวอย่างไม่ต้องสงสัย. ที่จริง เมื่อผู้สูงอายุได้ทำงานที่มีความหมาย พวกเขาจะรุ่งเรืองเฟื่องฟู. เพราะเหตุใด? เพราะพวกเขามีจุดมุ่งหมายในชีวิต.
แม้เมื่อผู้สูงอายุหย่อนสมรรถภาพเนื่องจากโรคเส้นเลือดสมองหรือโรคอื่น ๆ บางอย่าง พวกเขาก็ยังต้องการการปฏิบัติอย่างสมเกียรติ. พวกเขาไม่ชอบที่จะถูกกล่าวถึงในเชิงดูแคลนหรือถูกดุเหมือนเด็ก. หากเขาพูดไม่ได้ เขาก็อาจฟังได้ตามปกติ และความรู้สึกของพวกเขาย่อมอ่อนไหวเป็นธรรมดา. บางครั้ง เนื่องจากการใช้ยารักษามากไป พวกเขาอาจดูเหมือนเป็นโรคชราซึ่งที่จริงแล้วไม่ได้เป็น. ดังนั้นความร่วมรู้สึกจะเป็นกุญแจสำคัญยิ่งกว่าสิ่งอื่นใดในการดูแลพวกเขาอย่างเหมาะสม.
เนื่องจากผู้สูงอายุอาจถูกกักตัวอยู่แต่ในบ้าน พวกเขาจึงต้องการรับรู้ว่าตนไม่ได้ถูกลืม. พวกเขาหยั่งรู้ค่าผู้มาเยี่ยม. น่าเศร้าเพียงไรหากสมาชิกในประชาคมคริสเตียนละเลยการเยี่ยมหรือการโทรศัพท์หาสมาชิกผู้สูงวัยที่หย่อนสมรรถภาพผู้ซึ่งในอดีตอาจมีส่วนอย่างโดดเด่นในการแผ่ขยายงานราชอาณาจักร! อันที่จริง การเยี่ยมหรือการโทรศัพท์ดังกล่าวเรียกร้องเวลาและความพยายามเพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับผลประโยชน์อันใหญ่หลวงที่อาจเกิดกับผู้สูงอายุ!
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าผู้อื่นจะปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างไร สิ่งที่สำคัญคือ ผู้สูงอายุมองตนเองอย่างไร. ดังที่สตรีวัย 75 ปีผู้หนึ่งกล่าวว่า “สิ่งที่ช่วยให้ดิฉันดำเนินชีวิตต่อไปได้จริง ๆ ก็คือการมีอะไร ๆ ทำอยู่เสมอ. ดิฉันไม่อาจจะทำสิ่งใดได้สำเร็จถ้าดิฉันไม่มีการวางแผนและเป้าหมาย. แน่นอน ดิฉันมีปัญหาด้านร่างกาย. แต่คนส่วนใหญ่ในวัยเดียวกับดิฉันก็มีเช่นกัน.”
พวกผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงการเป็นคนขี้บ่นร่ำไปและการไม่ร่วมมือ. สิ่งนี้อาจไม่ง่ายเมื่อคนเรากำลังทนทุกข์. “แม้ผมจะมีปัญหาด้านร่างกาย” ชายสูงอายุผู้หนึ่งกล่าว “อาการป่วยของผมก็ไม่ได้บั่นทอนความยินดีในการดำรงชีวิต. ผมคิดว่าเจตคติเป็นสิ่งสำคัญเหนืออื่นใด. ประสบการณ์จากการดำเนินชีวิตตลอดหลายปีมานี้ทำให้ชีวิตผมอุดมด้วยคุณค่า. และผมรู้สึกว่ากุญแจสำคัญของการคงความหนุ่มอยู่เสมอก็คือการคบหากับคนที่อ่อนวัย. พวกเขาได้ประโยชน์จากสติปัญญาของผม และผมก็ไขเอาพลังงานจากพวกเขา. ดูสิ ในใจผมยังหนุ่มแน่น.”
อาจทำอะไรได้บ้าง?
หากคุณเป็นคนอ่อนวัย คุณจำต้องปรับปรุงทัศนะต่อผู้สูงอายุและปรับปรุงการปฏิบัติต่อคนชราไหม? หรือหากคุณเป็นผู้สูงอายุ ทำไมไม่ถามตัวเองด้วยคำถามในกรอบสี่เหลี่ยมในหน้านี้ดูล่ะ? มีอะไรไหมที่อาจทำได้เพื่อปรับปรุงสถานการณ์ของคุณให้ดีขึ้น?
หากคุณตอบคำถามทั้งหมดในกรอบนั้นว่าใช่ คุณแทบจะไม่ขาดเพื่อน ไม่ว่าจะสูงอายุหรืออ่อนวัย. เป็นธรรมดาอยู่เองที่คนอื่นอยากจะอยู่ใกล้ ๆ คุณ. เหนือสิ่งอื่นใด คุณจะเพลิดเพลินพอใจกับตัวเองและพบว่าชีวิต ไม่ว่าในวัยไหน อาจเป็นที่น่าสนใจและอิ่มใจได้ทั้งนั้น.
[รูปภาพหน้า 16]
การตรวจสอบตัวเอง สำหรับผู้สูงอายุ
▫ ฉันมองไปยังอนาคตด้วยความหวังไหม?
▫ ฉันยังคงใฝ่รู้และกระหายที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ไหม?
▫ ฉันพยายามคงไว้ซึ่งความกระปรี้กระเปร่าเท่าที่เป็นไปได้ไหม?
▫ ฉันดำเนินชีวิตเป็นวัน ๆ ไปและทำการปรับที่จำเป็นไหม?
▫ ฉันเป็นคนเบิกบานและเป็นที่หนุนกำลังใจผู้คนรอบข้างไหม?
▫ ฉันพยายามรักษาอารมณ์ขันไว้เสมอไหม?
▫ พูดง่าย ๆ—ฉันกำลังสูงวัยอย่างสง่างามไหม?
[รูปภาพหน้า 15]
คุณไปเยี่ยมผู้สูงอายุบ้างไหม?