ออกแบบเพื่อให้อยู่ตลอดไป
ร่างกายของมนุษย์ได้รับการออกแบบอย่างน่ามหัศจรรย์. พัฒนาการและการเจริญเติบโตของร่างกายเป็นสิ่งน่าพิศวงโดยแท้. นักประพันธ์สมัยโบราณคนหนึ่งอุทานว่า “ข้าพเจ้าถูกสร้างอย่างน่าพิศวงในวิธีที่น่าเกรงขาม.” (บทเพลงสรรเสริญ 139:14, ล.ม.) โดยตระหนักเต็มที่ถึงความอัศจรรย์ของร่างกายมนุษย์ นักวิทยาศาสตร์สมัยปัจจุบันบางคนรู้สึกงงงวยกับการแก่ลงและการตาย. คุณล่ะ รู้สึกไหม?
สตีเวน ออสตาด นักชีววิทยาประจำมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด เขียนว่า “การแก่ลง เป็นสิ่งที่พวกเราเผชิญมาตลอด จนผมแปลกใจที่ไม่มีผู้คนมากกว่านี้สังเกตว่า มันเป็นความลึกลับทางชีววิทยาอันสำคัญ.” ข้อเท็จจริงที่ว่าทุกคนแก่ลง ๆ “ทำให้ [การแก่ลง] ดูเหมือนงงงวยน้อยกว่า” ออสตาด ตั้งข้อสังเกต. กระนั้น เมื่อคุณคิดถึงเรื่องนี้จริง ๆ การแก่ลงและการตายทำให้คุณเอะใจบ้างไหม?
เมื่อปีที่แล้ว ดร. เลียวนาร์ด เฮย์ฟลิก ได้ยอมรับความอัศจรรย์เรื่องชีวิตและการเติบโตของมนุษย์ไว้ในหนังสือของเขาชื่อ เราแก่ลงอย่างไรและเพราะเหตุใด โดยเขียนดังนี้: “หลังจากทำการอัศจรรย์ซึ่งนำพาพวกเราตั้งแต่ปฏิสนธิจนคลอดออกมา แล้วก็เติบโตถึงวัยแรกรุ่น และการเป็นผู้ใหญ่ ธรรมชาติกลับไม่เลือกที่จะคิดค้นสิ่งซึ่งดูเหมือนเป็นกลไกพื้นฐานที่ดูง่ายกว่า เพื่อจะธำรงกระบวนการอัศจรรย์ดังกล่าวให้คงอยู่ตลอดไป. การหยั่งเห็นถึงเรื่องนี้ ก่อความงุนงงให้กับนักชีววิทยาว่าด้วยความแก่ชรามาหลายสิบปีแล้ว.”
การแก่ลงและการตาย ทำให้คุณงุนงงเช่นกันไหม? กระบวนการนี้มีเป้าประสงค์อะไร? เฮย์ฟลิก ตั้งข้อสังเกตว่า “แทบทุกเหตุการณ์ทางชีววิทยา ตั้งแต่การปฏิสนธิจนถึงการเติบโตเต็มที่ ดูเหมือนเป็นไปอย่างมีจุดมุ่งหมาย แต่การแก่ลงกลับไม่เป็นเช่นนั้น. ไม่เป็นที่กระจ่างชัดว่าทำไมการแก่ลงควรจะเกิดขึ้น. ถึงแม้พวกเราได้เรียนรู้มากมายเกี่ยวกับชีววิทยาด้านการแก่ชรา . . . แต่เรายังคงต้องเผชิญหน้ากับผลอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จากการแก่ลงที่ไร้เป้าประสงค์ ซึ่งตามติดด้วยความตาย.”
เป็นไปได้ไหมที่พวกเราไม่ได้เกิดมาเพื่อจะแก่ลงและตาย แต่เพื่ออยู่ตลอดไปบนแผ่นดินโลก?
ปรารถนาจะมีชีวิตอยู่
แน่นอนว่าคุณคงทราบดี แทบทุกคนคับข้องใจที่ต้องแก่ลงและตายไป. ที่จริง หลายคนกลัวโอกาสเช่นนั้น. นายแพทย์เชอร์วิน บี. นูแลนด์ เขียนไว้ในหนังสือของเขาชื่อ เราตายอย่างไร (ภาษาอังกฤษ) ดังนี้: “ไม่มีใครในพวกเราดูเหมือนมีความสามารถทางจิตวิทยา ที่ยอมรับความคิดเรื่องสภาวะความตายของตนเอง ในแง่ที่ว่าเป็นสภาพปราศจากความรู้สึกอย่างถาวร ที่ซึ่งไม่มีทั้งความว่างเปล่าหรือสุญญากาศ—ที่ซึ่งไม่มีอะไรเลย.” คุณรู้จักใครสักคนไหมที่ต้องการแก่, ต้องการเจ็บป่วย, และตาย?
กระนั้น ถ้าความชราและความตายเป็นเรื่องธรรมชาติ และเป็นส่วนสำคัญแห่งแบบแปลนหลัก เราก็น่าจะยินดีรับสภาพมิใช่หรือ? แต่เราไม่ยอมรับ. ทำไมล่ะ? คำตอบหาได้จากวิธีที่เราถูกสร้างขึ้นมา. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “[พระเจ้า] ทรงใส่กระทั่งนิรันดรกาลไว้ในจิตใจ [ของเรา].” (ท่านผู้ประกาศ 3:11, ฉบับแปลไบอิงตัน) เนื่องจากความปรารถนาในเรื่องอนาคตที่ไม่มีสิ้นสุดนี้เอง ผู้คนจึงเสาะหามาเป็นเวลานานเพื่อจะได้สิ่งที่เรียกกันว่า ยาอายุวัฒนะ. พวกเขาต้องการคงความหนุ่มแน่นตลอดไป. เรื่องนี้ก่อให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า เรามีศักยภาพสำหรับชีวิตที่ยืนนานกว่านี้ไหม?
ถูกออกแบบเพื่อให้ซ่อมแซมตัวเอง
นักชีววิทยา ออสตาด ได้เสนอทัศนะทั่ว ๆ ไปโดยเขียนไว้ในวารสาร ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ (ภาษาอังกฤษ) ดังนี้: “เรามีแนวโน้มที่จะคิดเกี่ยวกับตัวเองและสัตว์เดียรัจฉานอื่น ๆ ในวิธีเดียวกับที่เราคิดเกี่ยวกับเครื่องจักร นั่นคือ การเสื่อมสภาพเป็นสิ่งที่ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้.” แต่เรื่องนี้ไม่เป็นความจริง. “อินทรีย์ชีวภาพ (ระบบของสิ่งมีชีวิตทางชีววิทยา) มีความแตกต่างขั้นมูลฐานจากเครื่องจักร” ออสตาดกล่าว. “อินทรีย์ต่าง ๆ ซ่อมแซมตัวเอง เช่น บาดแผลหายเป็นปกติ, กระดูกเชื่อมสมานกัน, ความเจ็บป่วยผ่านพ้นไป.”
ด้วยเหตุนี้ คำถามที่น่าฉงนก็คือ ทำไมเราจึงแก่? ดังที่ออสตาดถามว่า “ถ้าเช่นนั้น ทำไม [อินทรีย์ชีวภาพ] จำต้องสึกหรออย่างเดียวกับเครื่องจักรล่ะ?” เนื่องจากเนื้อเยื้อของร่างกายทดแทนตัวเองได้ มันจะทำงานเช่นนั้นตลอดไปไม่ได้หรือ?
ในวารสาร ดิสคัฟเวอร์ เจเรด ไดมอนด์ นักชีววิทยาด้านวิวัฒนาการ ได้พิจารณาถึงวิสัยสามารถอันมหัศจรรย์แห่งอินทรียภาพทางร่างกายในการซ่อมแซมตัวเอง. เขาเขียนว่า “ตัวอย่างที่ประจักษ์ชัดที่สุดเรื่องการควบคุมความเสียหายอันเกี่ยวข้องกับร่างกายของเราก็คือ การหายเป็นปกติของบาดแผล ซึ่งเป็นการซ่อมแซมความเสียหายให้ผิวหนัง. สัตว์หลายชนิดสามารถบรรลุซึ่งผลสำเร็จอันน่าทึ่งยิ่งกว่าที่เราทำได้มากนัก เช่น จิ้งจกสามารถงอกหางที่ด้วนขึ้นมาอีก, ปลาดาวและปูผลิตแขนขาได้ใหม่, ปลิงทะเลสร้างลำไส้ได้อีก.”
เกี่ยวกับฟันทดแทน ไดมอนด์กล่าวว่า “มนุษย์ผลิตฟันสองชุด, ช้างหกชุด, และปลาฉลามผลิตชุดฟันได้เรื่อย ๆ ตลอดชั่วชีวิต.” แล้วเขาได้อธิบายว่า “การทดแทนตามปกติสม่ำเสมอ ดำเนินอยู่เช่นกันในระดับที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น. เซลล์เยื่อบุผิวลำไส้ของเรามีการทดแทนหนึ่งครั้งในทุก ๆ สองหรือสามวัน, เยื่อบุผิวกระเพาะปัสสาวะมีการทดแทนทุก ๆ สองเดือนต่อครั้ง, และเซลล์เม็ดเลือดแดงของเรามีการทดแทนหนึ่งครั้งในทุก ๆ สี่เดือน.
“ณ ระดับโมเลกุล โมเลกุลของโปรตีนของเรามีการหมุนเวียนสับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง ตามอัตราเฉพาะของโปรตีนแต่ละอย่าง ด้วยเหตุนี้ จึงช่วยเราหลีกเลี่ยงไม่ต้องสะสมโมเลกุลที่เสื่อมสภาพ. ฉะนั้น ถ้าคุณเปรียบเทียบรูปร่างหน้าตาคนรักของคุณในวันนี้กับเมื่อเดือนที่แล้ว เขาหรือเธออาจจะดูเหมือนเดิม แต่โมเลกุลเฉพาะหลายโมเลกุลที่ก่อตัวเป็นร่างกายของคนรักของคุณนั้นไม่ใช่ของเดิม.”
เซลล์ส่วนใหญ่ในร่างกายมีการทดแทนเป็นระยะ ๆ โดยเซลล์ที่เกิดใหม่. แต่เซลล์บางอย่าง เช่น นิวรอนในสมอง อาจจะไม่มีการแทนที่เลย. อย่างไรก็ตาม เฮย์ฟลิก อธิบายว่า “ถ้าเซลล์ได้รับการแทนที่ใน ทุก ส่วน มันก็ไม่ใช่เซลล์เดิมอีก. นิวรอนที่คุณมีมาแต่กำเนิด อาจดูเหมือนเป็นเซลล์เดียวกับในปัจจุบัน แต่ในความเป็นจริง หลายโมเลกุลที่ประกอบเป็นนิวรอนตอนที่คุณเกิดนั้น . . . อาจถูกแทนที่ด้วยโมเลกุลใหม่แล้ว. ดังนั้น เซลล์ที่ไม่มีการแบ่งตัว ในที่สุดก็อาจจะไม่ใช่เซลล์เดียวกับที่คุณมีตั้งแต่เกิด!” ทั้งนี้เป็นเพราะองค์ประกอบของเซลล์ถูกเปลี่ยนทดแทน. ฉะนั้น การทดแทนสารวัตถุต่าง ๆ ของร่างกาย โดยทฤษฎีแล้ว สามารถรักษาเราให้มีชีวิตตลอดไป!
ขอนึกถึงคำพูดของ ดร. เฮย์ฟลิก ที่ว่า “ความอัศจรรย์ในการนำพาพวกเราตั้งแต่ปฏิสนธิจนคลอดออกมา.” สิ่งเหล่านั้นมีอะไรบ้าง? ขณะที่เราตรวจสอบเรื่องดังกล่าวพอสังเขป ขอให้พิจารณาความเป็นไปได้ของการใช้ที่เขาเรียกว่า “สิ่งซึ่งดูเหมือนเป็นกลไกพื้นฐานที่ดูง่ายกว่า เพื่อจะธำรงระบบอัศจรรย์ดังกล่าวให้คงอยู่ตลอดไป.”
เซลล์
ผู้ใหญ่คนหนึ่ง ๆ ประกอบด้วยเซลล์ประมาณ 100 ล้านล้าน เซลล์ ซึ่งแต่ละเซลล์ซับซ้อนเกินกว่าจะเข้าใจได้. เพื่อแสดงภาพความสลับซับซ้อนนี้ วารสาร นิวส์วีก ได้เปรียบเทียบเซลล์ ๆ หนึ่งกับเมืองที่มีกำแพงล้อมรอบ. วารสารนั้นกล่าวว่า “โรงไฟฟ้าก่อกำเนิดพลังงานให้แก่เซลล์. โรงงานต่าง ๆ ผลิตโปรตีน หน่วยสำคัญยิ่งของการค้าเคมีภัณฑ์. ระบบขนส่งอันซับซ้อนนำเคมีภัณฑ์เฉพาะอย่าง จากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่งภายในเซลล์ และเลยออกไปข้างนอก. ทหารยามประจำด่านตรวจคอยดูแลควบคุมตลาดส่งออกและนำเข้า และเฝ้าสังเกตโลกภายนอก เพื่อดูสัญญาณอันตราย. กองทหารชีวภาพที่มีวินัยอย่างดี อยู่พร้อมที่จะจับกุมผู้บุกรุก. รัฐบาลกลางด้านพันธุกรรม คอยรักษาความสงบเรียบร้อย.”
ลองพิจารณาดูว่าตัวคุณ—ซึ่งมีราว ๆ 100 ล้านล้านเซลล์—เป็นมาได้อย่างไร. คุณเริ่มต้นจากเซลล์ ๆ เดียว ซึ่งก่อตัวขึ้นเมื่ออสุจิของบิดาผสมกับเซลล์ไข่ของมารดาคุณ. ณ การผสมรวมตัวนั้น แบบแปลนได้ถูกร่างขึ้นภายในดีเอ็นเอ (คำย่อของ deoxyribonucleic acid) ของเซลล์ที่เพิ่งก่อตัวใหม่นี้ เพื่อผลิตสิ่งซึ่งในที่สุดได้กลายมาเป็นตัวคุณ—มนุษย์ที่ใหม่เอี่ยมสิ้นเชิงและไม่เหมือนใคร. คำสั่งภายในดีเอ็นเอ “หากเขียนออกมา” กล่าวกันว่า “จะบรรจุเต็มหนังสือขนาด 600 หน้าถึงหนึ่งพันเล่ม.”
ต่อมา เซลล์แรกนั้นก็เริ่มแบ่งตัวเป็นสองเซลล์ จากสองเป็นสี่, จากสี่เป็นแปด, และทวีคูณไปเรื่อย ๆ. ในที่สุด หลังจากราว ๆ 270 วัน—ระหว่างช่วงเวลานี้ เซลล์หลายชนิดต่าง ๆ กัน นับพัน ๆ ล้านเซลล์ได้พัฒนาขึ้นในตัวมารดาเพื่อก่อตัวเป็นทารก—คุณก็ถือกำเนิดขึ้นมา. ดูราวกับว่าเซลล์ตัวแรกมีห้องขนาดมหึมาที่เต็มไปด้วยหนังสือบรรจุคำสั่งที่ละเอียด ว่าด้วยวิธีการสร้างตัวคุณ. แต่ข้อเท็จจริงอันน่าประหลาดพอ ๆ กันก็คือ คำสั่งซับซ้อนเหล่านี้ถูกส่งผ่านไปยังเซลล์ที่เกิดภายหลังทุกเซลล์. ใช่แล้ว น่าอัศจรรย์ใจที่แต่ละเซลล์ในร่างกายของคุณมีข้อมูลเดียวกันกับที่บรรจุอยู่ในไข่ซึ่งผสมแล้ว!
ขอพิจารณาเรื่องนี้เช่นกัน. เนื่องจากแต่ละเซลล์มีข้อมูลในการผลิตเซลล์ชนิดต่าง ๆ เมื่อถึงเวลาอย่างเช่น การสร้างเซลล์หัวใจ ข้อมูลคำสั่งสำหรับการสร้างเซลล์อื่น ๆ ถูกยับยั้งอย่างไร? ดูเหมือนว่า เซลล์ทำหน้าที่คล้ายกับผู้รับเหมางาน ซึ่งมีตู้เก็บพิมพ์เขียวครบชุดสำหรับการสร้างทารก โดยจะเลือกพิมพ์เขียวสำหรับสร้างเซลล์หัวใจจากลิ้นชักของมัน. อีกเซลล์หนึ่งจะเลือกพิมพ์เขียวที่ต่างออกไป ซึ่งมีคำสั่งสำหรับการสร้างเซลล์ประสาท ส่วนอีกเซลล์หนึ่งก็จะใช้พิมพ์เขียวสำหรับการสร้างเซลล์ตับ และเซลล์อื่น ๆ ก็เป็นในทำนองนี้. แน่นอนว่า ความสามารถที่ยังหาคำอธิบายไม่ได้นี้ ในเรื่องที่เซลล์หนึ่งเลือกคำสั่งที่จำเป็นต้องใช้ เพื่อผลิตเซลล์ชนิดใดชนิดหนึ่งโดยเฉพาะและในเวลาเดียวกันก็ยับยั้งคำสั่งอื่น ๆ ทั้งหมดนั้น เป็นหนึ่งในความหลากหลายของ “ความอัศจรรย์ในการนำพาพวกเราตั้งแต่ปฏิสนธิจนคลอดออกมา.”
กระนั้น ยังมีมากกว่านี้. เพื่อเป็นตัวอย่าง เซลล์ต่าง ๆ ของหัวใจจำเป็นต้องได้รับการกระตุ้นเพื่อจะหดตัวอย่างมีจังหวะ. ด้วยเหตุนี้ ระบบที่ซับซ้อนภายในหัวใจจึงถูกสร้างขึ้นสำหรับก่อกำเนิดแรงดลไฟฟ้า เพื่อทำให้หัวใจเต้นในอัตราเหมาะสมต่อการค้ำจุนร่างกายในกิจกรรมนั้น ๆ ซึ่งร่างกายกระทำอยู่. เป็นการออกแบบที่น่าอัศจรรย์อย่างแท้จริง! ไม่แปลกที่แพทย์ต่าง ๆ พูดถึงหัวใจว่า “มีประสิทธิภาพยิ่งกว่าเครื่องจักรใด ๆ ทุกชนิดที่มนุษย์ได้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมา.”
สมอง
สิ่งที่น่าอัศจรรย์ใจเข้าไปอีกก็คือ พัฒนาการของสมอง—ส่วนหนึ่งที่ลึกลับซับซ้อนที่สุดแห่งความอัศจรรย์ในตัวมนุษย์. สามสัปดาห์หลังจากปฏิสนธิ เซลล์สมองก็เริ่มก่อตัวขึ้น. ในที่สุด เซลล์ประสาทประมาณ 100,000 ล้านเซลล์ซึ่งเรียกว่า นิวรอน—มากพอ ๆ กับจำนวนดวงดาวในกาแล็กซีทางช้างเผือก—ก็บรรจุแน่นอยู่ในสมองของมนุษย์.
วารสาร ไทม์ รายงานว่า “แต่ละเซลล์เหล่านี้ได้รับข้อมูลข่าวสารจากนิวรอนอื่น ๆ ในสมองประมาณ 10,000 นิวรอน และส่งข้อมูลข่าวสารให้นิวรอนอื่น ๆ อีกหนึ่งพันนิวรอน.” โดยกล่าวถึงโอกาสของการเชื่อมต่อที่เป็นไปได้นี้ เจรัลด์ เอเดลแมน นักวิทยาศาสตร์ด้านระบบประสาท ได้กล่าวว่า “สมองปริมาณเท่าหัวไม้ขีดไฟ บรรจุด้วยการเชื่อมต่อประมาณหนึ่งพันล้านจุด โดยสามารถเชื่อมต่อกันหลากหลายวิถีทางซึ่งการเชื่อมต่อนี้สามารถพรรณนาได้เพียงอย่างเดียวว่าลึกล้ำมหาศาลไม่รู้จบ—จำนวนพอ ๆ กับเลขสิบตามด้วยศูนย์นับล้าน ๆ ตัว.”
สิ่งนี้ทำให้สมองมีวิสัยสามารถแอบแฝงอะไรบ้าง? นักดาราศาสตร์ คาร์ล เซกัน กล่าวว่า สมองของมนุษย์สามารถเก็บข้อมูลซึ่ง “จะบรรจุในหนังสือได้ราว ๆ ยี่สิบล้านเล่ม มากเท่ากับห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดในโลก.” นักประพันธ์ จอร์จ เลียวนาร์ด ไปไกลกว่านั้นอีก โดยอุทานว่า “ที่จริง บางทีตอนนี้เราสามารถเสนอข้อสมมุติฐานอันไม่น่าเชื่อข้อหนึ่ง นั่นคือ: วิสัยสามารถเชิงสร้างสรรค์ขั้นสูงสุดของสมองอาจแทบไม่มีสิ้นสุด.”
ฉะนั้น เราไม่น่าจะแปลกใจกับคำแถลงต่าง ๆ ต่อไปนี้: เจมส์ วัตสัน นักชีววิทยาทางโมเลกุล ผู้ร่วมค้นพบโครงสร้างทางกายภาพของดีเอ็นเอ กล่าวว่า “สมองคือสิ่งสลับซับซ้อนที่สุดในเอกภพ ซึ่งเราได้ค้นพบมาจนกระทั่งบัดนี้.” ริชาร์ด เรสแต็ก ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา ซึ่งไม่ค่อยพอใจนักที่เอาสมองไปเปรียบเทียบกับคอมพิวเตอร์ ได้กล่าวว่า “ความโดดเด่นไม่เหมือนใครของสมองเกิดจากข้อเท็จจริงที่ว่า ทุกหนแห่งในเอกภพเท่าที่เรารู้จัก ไม่มีอะไรคล้ายคลึงสมองแม้แต่น้อย.”
ตามประมาณการหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์ด้านเซลล์ประสาทกล่าวว่าระหว่างอายุขัยปัจจุบันของเรา พวกเราใช้ศักยภาพแห่งพลังสมองของเราเพียงส่วนน้อยนิดราว ๆ 1/10,000 หรือ 1/100 ของ 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น. ลองคิดดูสิ. เป็นเรื่องมีเหตุมีผลไหมที่เราจะได้รับสมองพร้อมด้วยความเป็นไปได้อันน่ามหัศจรรย์เช่นนั้น แต่แล้วไม่มีโอกาสได้ใช้อย่างเต็มพิกัด? ไม่มีเหตุผลหรอกหรือ ที่มนุษย์พร้อมด้วยวิสัยสามารถในการเรียนรู้ไม่สิ้นสุด แท้จริงแล้วถูกออกแบบให้มีชีวิตตลอดไป?
หากเป็นเช่นนั้นจริง ทำไมเราจึงแก่ลง? มีอะไรผิดพลาดไปหรือ? เหตุใดหลังจากอายุประมาณ 70 หรือ 80 ปีเราจึงตาย ทั้ง ๆ ที่เห็นได้ชัดว่าร่างกายของเรา ถูกออกแบบมาเพื่อคงอยู่ตลอดไป?
[แผนภูมิหน้า 7]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
เซลล์—การออกแบบที่น่าอัศจรรย์
เยื่อหุ้มเซลล์
เปลือกหุ้มที่คอยดูแลควบคุมสิ่งที่เข้าและออกเซลล์
นิวเคลียส
หุ้มด้วยเยื่อสองชั้น เป็นศูนย์ควบคุมคอยชี้นำกิจกรรมของเซลล์
ไรโบโซม
โครงสร้าง ซึ่งกรดอะมิโนประกอบขึ้นเป็นโปรตีน
โครโมโซม
บรรจุไว้ด้วยดีเอ็นเอของเซลล์ ซึ่งเป็นแบบแปลนหลักทางพันธุกรรม
นิวคลีโอลัส
ที่ซึ่งไรโบโซมถูกประกอบขึ้น
เอ็นโดพลาสมิก เรติคิวลัม
แผ่นเยื่อ ทำหน้าที่เก็บและส่งโปรตีนซึ่งผลิตโดยไรโบโซมที่ติดอยู่กับแผ่นเยื่อนั้น (ไรโบโซมบางตัวลอยเป็นอิสระในเซลล์)
ไมโทคอนเดรีย
ศูนย์การผลิต เอทีพี ซึ่งเป็นโมเลกุลที่ให้พลังงานแก่เซลล์
กอลกิ บอดี
กลุ่มถุงเยื่อแบน ๆ ซึ่งห่อบรรจุและจ่ายโปรตีนที่เซลล์ผลิตขึ้น
เซ็นทริโอลส์
รายเรียงอยู่ใกล้ ๆ นิวเคลียส และเป็นส่วนสำคัญในการสืบพันธุ์ของเซลล์