หนุ่มสาวถามว่า . . .
ทำไมฉันรักษามิตรภาพไว้ไม่ได้?
“ฉันกับเพื่อนมีความสนใจหลายอย่างเหมือนกันและทำกิจกรรมหลายอย่างร่วมกัน เราเพลิดเพลินกับการใช้เวลาอยู่ด้วยกัน. แต่ในทันใด มิตรภาพระหว่างเราทั้งสองเริ่มเย็นชา. นั่นทำให้ ฉันรู้สึกหดหู่ใจจริง ๆ.”—มาเรีย
ในที่สุดคุณหาเพื่อนได้ เป็นคนที่เข้าใจคุณและไม่วิพากษ์วิจารณ์คุณ. แต่แล้วโดยไม่คาดคิด มิตรภาพระหว่างคุณกับเขาเริ่มเสื่อมคลาย. คุณพยายามกู้คืนมา แต่ไม่สำเร็จ.
เพื่อนที่ภักดีนั้นมีค่าสุดจะประมาณได้. (สุภาษิต 18:24) และการเสียเพื่อนอาจจะเป็นประสบการณ์ที่เจ็บปวด. คัมภีร์ไบเบิลบอกเราว่า เมื่อโยบถูกมิตรสหายละทิ้ง ท่านคร่ำครวญว่า “ญาติของข้าและเพื่อนสนิทของข้าได้ละลืมข้าเสียแล้ว.” (โยบ 19:14, ฉบับแปลใหม่) คุณคงจะรู้สึกทุกข์ใจคล้าย ๆ กันถ้ามิตรภาพที่คุณมีเริ่มจะจืดจางไปเมื่อไม่นานมานี้. ดังหนุ่มแพทริกกล่าว “นั่นรู้สึกเหมือนกับว่าคนที่คุณรักตายจากไป.” แต่จะว่าอย่างไรถ้ามิตรภาพเกือบทุกรายที่คุณเคยมี ได้เสื่อมสลายไป?
มิตรภาพที่เปราะบาง
หนังสือวัยหนุ่มสาว (ภาษาอังกฤษ) เขียนโดย อีสต์วูด แอตวอเตอร์ ให้ข้อสังเกตว่า การเป็นเพื่อนระหว่างเด็กวัยรุ่น “มักจะเปลี่ยนง่าย ๆ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วอย่างไม่คาดคิด และมีความรู้สึกขมขื่นเมื่อเพื่อนตีจาก.” อะไรทำให้มิตรภาพในหมู่วัยรุ่นเปราะบางเช่นนั้น? เหตุผลข้อหนึ่งคือขณะที่คุณอายุมากขึ้น ความรู้สึกของคุณ, ทัศนะ, เป้าประสงค์ และความสนใจเริ่มเปลี่ยน. (เทียบกับ 1 โกรินโธ 13:11.) คุณอาจพบตัวเองกำลังล้ำหน้า—หรือล้าหลัง—เพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันกับคุณในบางด้าน.
ฉะนั้น เมื่อเพื่อนต่างก็โตเป็นผู้ใหญ่ บางครั้งพวกเขาเริ่มจะห่างเหินกัน—ไม่ใช่เพราะโกรธเคืองกัน แต่เนื่องจากเขามีเป้าหมาย, ความสนใจ, และค่านิยมต่างออกไป. นั่นอาจเป็นสิ่งดีที่สุดเสียด้วยซ้ำเมื่อสัมพันธภาพสิ้นสุดลง. ขณะที่คุณอายุมากขึ้นและเริ่มเอาจริงเอาจังมากขึ้นทางฝ่ายวิญญาณ คุณก็อาจตระหนักว่าเพื่อนในอดีตบางคนไม่ได้เป็นพลังกระตุ้นในทางที่ดี. (1 โกรินโธ 15:33) คุณอาทรพวกเขา แต่คุณไม่เพลิดเพลินกับการอยู่ในแวดวงของเขาอย่างที่ครั้งหนึ่งคุณเคยรู้สึก.
สิ่งที่เป็นพิษทำลายมิตรภาพ
แต่จะว่าอย่างไรหากคุณเสียเพื่อนอยู่เรื่อย ๆ—เสียสัมพันธภาพซึ่งคุณอยากรักษาไว้? พูดตรง ๆ ก็อาจหมายความว่า คุณมีลักษณะนิสัยบางอย่างที่บกพร่องซึ่งต้องเอาชนะ. ยกตัวอย่าง ความอิจฉาริษยา เป็นพิษภัยทำลายมิตรภาพ. สมมุติว่าคุณมีเพื่อนซึ่งร่ำรวยกว่า, มีพรสวรรค์มากกว่า, มีเสน่ห์ดึงดูดใจมากกว่า, หรือเป็นที่นิยมชมชอบมากกว่าคุณ. คุณรู้สึกไม่พอใจไหมที่เขาได้รับความสนใจเป็นพิเศษ? “ความอิจฉาริษยาคือความเปื่อยเน่าของกระดูก.” (สุภาษิต 14:30) คีนอน เด็กหนุ่มยอมรับว่า “ผมอิจฉาเพื่อนจริง ๆ เขามีคนนิยมชมชอบและเขามีของสารพัดอย่างซึ่งผมไม่มี และข้อนี้เองมีผลกระทบต่อมิตรภาพของเรา.”
การแสดงความเป็นเจ้าของอาจเป็นลักษณะนิสัยอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นอันตรายในเชิงทำลาย. จะว่าอย่างไรหากคุณรู้มาว่าเพื่อนใช้เวลาขลุกอยู่กับคนอื่นมากขึ้น ๆ แต่กับคุณแล้วกลับน้อยลง ๆ? เด็กสาวคนหนึ่งยอมรับว่า “ฉันอิจฉาแม้กระทั่งถ้ามีคนอื่นมาพูดคุยกับเพื่อนฉันบางคน.” คุณอาจรู้สึกว่าการที่เพื่อนของคุณคบหากับคนอื่นนั้นเป็นการทรยศ.
การคาดหวังความสมบูรณ์พร้อมอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้มิตรภาพขาดสะบั้นได้เช่นกัน. ตัวอย่างเช่น คุณรู้มาว่าเพื่อนนินทาคุณ บางทีแพร่งพรายความลับเสียด้วยซ้ำ. (สุภาษิต 20:19) “ฉันจะไม่ไว้ใจเขาอีกเลย!” คุณโพล่งออกมาด้วยความโกรธ.
มิตรภาพคือการรับหรือการให้?
ถ้าความอิจฉา, การแสดงความเป็นเจ้าของ, หรือการคาดหวังความสมบูรณ์พร้อมเป็นเหตุให้มิตรภาพระหว่างคุณกับเพื่อนตึงเครียด ก็ลองถามตัวเองว่า ‘ฉันต้องการอะไรจากมิตรภาพ?’ คุณวาดมโนภาพไว้ไหมว่ามิตรภาพคือการมีใครสักคนพร้อมจะทำตามคำสั่งทุกเมื่อ แบบคนรับใช้ที่คอยปฏิบัติตามคำขอของคุณ? คุณแสวงหาเพื่อนเพื่อการมีชื่อเสียง, เพื่อจะเป็นที่นิยมชมชอบ, หรือเพื่อได้มาซึ่งผลประโยชน์ไหม? คุณคาดหมายไหมว่าเพื่อนจะต้องภักดีต่อคุณเพียงคนเดียว โดยแทบจะไม่ให้โอกาสคนอื่นเข้ามามีสัมพันธภาพด้วย? ถ้าเช่นนั้นแล้ว คุณจะต้องปรับทัศนะของคุณในเรื่องมิตรภาพ.
เราเรียนรู้จากคำสอนในคัมภีร์ไบเบิลว่า ความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นนั้นไม่ได้เกิดจากการรับ แต่มาจากการให้! ที่มัดธาย 7:12 พระเยซูคริสต์เองตรัสดังนี้: “เหตุฉะนั้นสิ่งสารพัตรซึ่งท่านปรารถนาให้มนุษย์ทำแก่ท่าน, จงกระทำอย่างนั้นแก่เขาเหมือนกัน.” เป็นธรรมดาอยู่เองที่จะคาดหมายบางสิ่งบางอย่างจากเพื่อน. หนังสือการเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างกัน (ภาษาอังกฤษ) ยอมรับว่า “เรามักจะคาดหมายเสมอว่าเพื่อนต้องเป็นคนซื่อสัตย์และจริงใจ, แสดงความรักใคร่, เผยความลับและปัญหาต่าง ๆ ของเขาให้เรารู้, ให้การช่วยเหลือยามที่เราต้องการ, ไว้ใจเรา และนอกจากนั้น . . . พร้อมที่จะแก้ปัญหาความไม่ลงรอยกัน.” อย่างไรก็ตาม เรื่องไม่ยุติเพียงแค่นี้. หนังสือนั้นกล่าวเพิ่มเติมว่า “เหล่านี้คือสิ่งซึ่งคนเราคาดหวังให้เพื่อนกระทำต่อเขา และก็คาดหวังจะกระทำต่อเพื่อนเป็นการตอบแทน.”—เราทำให้เป็นตัวเอน.
พึงสังเกตวิธีที่พระเยซูเองทรงปฏิบัติต่อคนที่อยู่ใกล้ชิดพระองค์. พระองค์ตรัสแก่เหล่าสาวกดังนี้: “เราไม่เรียกท่านทั้งหลายว่าบ่าวแล้ว เพราะบ่าวไม่รู้ว่านายทำอะไร แต่เราเรียกท่านว่ามิตรสหาย.” ทว่า มิตรภาพระหว่างพระเยซูกับสาวกของพระองค์ขึ้นอยู่กับสิ่งที่พวกเขาสามารถกระทำเพื่อพระองค์ไหม? ตรงกันข้าม. พระองค์ตรัสว่า “ความรักใหญ่กว่านี้ไม่มี, คือว่าซึ่งผู้หนึ่งผู้ใดจะสละชีวิตของตัวเพื่อมิตรสหายของตน.” (โยฮัน 15:13,15) ใช่ พื้นฐานแท้สำหรับมิตรภาพได้แก่ความรักอย่างที่มีการเสียสละ! เมื่อความรักเป็นรากฐาน สัมพันธภาพนั้นจะยังคงอยู่แม้มีการทะเลาะเบาะแว้งและปัญหาต่าง ๆ.
เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น
ยกตัวอย่าง สมมุติว่าเพื่อนของคุณร่ำรวยกว่า, มีสติปัญญาปราดเปรื่องกว่า, หรือมีความสามารถพิเศษมากกว่าคุณ. ความรักอย่างไม่เห็นแก่ตัวจะช่วยให้คุณร่วมความชื่นชมยินดีกับเพื่อนของคุณ. ที่แท้แล้ว คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ความรักไม่อิจฉา.”—1 โกรินโธ 13:4.
หรือหากว่าเพื่อนของคุณพูดหรือทำอะไรให้คุณเจ็บใจ. นั่นหมายความว่ามิตรภาพระหว่างคุณกับเพื่อนจะจบลงแค่นั้นหรือ? ไม่เสมอไป. อัครสาวกเปาโลเคยรู้สึกผิดหวังมากเมื่อมาระโกสหายของท่านได้ทิ้งท่านไประหว่างการเดินทางเผยแพร่. ท่านผิดหวังถึงกับไม่ยอมให้มาระโกร่วมเดินทางกับท่านในรอบถัดไป! เปาโลได้โต้ตอบอย่างรุนแรงเสียด้วยซ้ำกับบาระนาบา ลูกพี่ลูกน้องของมาระโก เกี่ยวกับเรื่องนี้. แต่ต่อมาอีกหลายปี เปาโลพูดถึงมาระโกอย่างรักใคร่ ท่านยังได้ชวนมาระโกไปโรมเพื่อปรนนิบัติท่านด้วยซ้ำ. ปรากฏว่าบุคคลทั้งสองได้จัดการกับข้อผิดพ้องหมองใจจนเป็นที่เรียบร้อย.—กิจการ 15:37-39; 2 ติโมเธียว 4:11.
ทำไมไม่ลองใช้วิธีเดียวกันเมื่อเกิดปัญหาขึ้นกับมิตรภาพระหว่างคุณกับเพื่อน? อย่าปล่อยให้เป็นเรื่องก่อความขุ่นใจต่อกัน. (เอเฟโซ 4:26) ก่อนด่วนสรุปเรื่อง หรือตั้งข้อกล่าวหาด้วยความโมโห จงตั้งใจฟังว่าเพื่อนมีอะไรจะพูด. (สุภาษิต 18:13; 25:8,9) บางทีอาจเป็นความเข้าใจผิดบางประการ. แต่จะว่าอย่างไรถ้าเพื่อนของคุณผิดจริงเนื่องจากไม่ได้ใช้วิจารณญาณที่ดี? อย่าลืมว่าเพื่อนของคุณก็เป็นปุถุชนคนหนึ่ง. (บทเพลงสรรเสริญ 51:5; 1 โยฮัน 1:10) และพวกเราทุกคนล้วนผิดพลาดทางคำพูดและการกระทำซึ่งในเวลาต่อมาเรารู้สึกเสียใจ.—เทียบกับท่านผู้ประกาศ 7:21,22.
แม้เป็นดังกล่าว คุณก็อาจพูดออกมาตรง ๆ ว่าที่เพื่อนได้ทำไปนั้นเป็นการทำร้ายจิตใจของคุณมากเพียงใด. ทั้งนี้อาจกระตุ้นเพื่อนให้ขอโทษคุณด้วยความจริงใจก็ได้. เนื่องจากความรัก “ไม่ช่างจดจำความผิด” บางทีคุณอาจเลิกครุ่นคิดเรื่องนั้น. (1 โกรินโธ 13:5) เมื่อมองย้อนไปถึงมิตรภาพที่แตกสลายรายหนึ่ง หนุ่มคีนอน เล่าว่า “ถ้าผมได้เริ่มทุกอย่างอีกครั้งหนึ่ง ผมจะไม่คาดหวังความสมบูรณ์พร้อมจากมิตรภาพของเรา. ผมคงจะตั้งใจฟังมากขึ้นและสนับสนุนเขา และคงจะไม่ขยายข้อบกพร่องของเขา. เวลานี้ผมเข้าใจแล้วว่าสิ่งที่ทำให้มิตรภาพบรรลุผล ก็คือการฝ่าฟันให้ผ่านการทดสอบและข้อท้าทายต่าง ๆ.”
แต่จะว่าอย่างไรถ้าเพื่อนของคุณไม่ใช้เวลาคลุกคลีกับคุณมากเหมือนแต่ก่อนหรือมากเท่าที่คุณต้องการ? อาจเป็นไปได้ไหมว่าคุณกลายเป็นคนที่เรียกร้องเวลาและความสนใจจากเพื่อนของคุณมากเกินไป? ข้อนี้อาจทำให้สัมพันธภาพชะงักงัน. บุคคลผู้บรรลุซึ่งสัมพันธภาพอันน่าพอใจย่อมให้สิทธิเสรีแก่กันและกันตามสมควร. (เทียบกับสุภาษิต 25:17.) เขาให้โอกาสเพื่อนที่จะสนุกเพลิดเพลินกับผู้อื่น! ตามจริงแล้ว คัมภีร์ไบเบิลสนับสนุนคริสเตียนให้ ‘เปิดกว้าง’ สำหรับมิตรภาพ. (2 โกรินโธ 6:13, ล.ม.) ฉะนั้น เมื่อเพื่อนกระทำเช่นนี้ จึงไม่น่าจะมองว่าเขาไม่ซื่อสัตย์ภักดี.
อันที่จริง ถึงอย่างไรการพึ่งพาอาศัยเฉพาะคนหนึ่งคนใดมากเกินไปก็ใช่ว่าจะเป็นความคิดที่ดี. (บทเพลงสรรเสริญ 146:3) นับว่าสุขุมที่จะพัฒนามิตรภาพกับบางคนนอกเหนือจากกลุ่มคนรุ่นราวคราวเดียวกันกับคุณ อาทิ คุณพ่อคุณแม่ของคุณ, ผู้ปกครองประชาคม, และผู้ใหญ่คนอื่นที่ให้ความใส่ใจ รับผิดชอบ. อันนา เล่าด้วยความพึงพอใจว่า “คุณแม่เป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของฉัน. ฉันพูดคุยกับท่านได้ทุกเรื่องไม่ว่าเรื่องใด.”
คุณจะมีมิตรภาพที่ยั่งยืนได้!
คำกล่าวในคัมภีร์ไบเบิลที่ 1 เปโตร 3:8 (ล.ม.) ว่าดังนี้: “ในที่สุด ท่านทั้งหลายทุกคน จงมีความคิดจิตใจอย่างเดียวกัน, แสดงความเห็นอกเห็นใจ, มีความรักใคร่ฉันพี่น้อง, ความเมตตารักใคร่อันอ่อนละมุน, จิตใจถ่อม.” ใช่ จงแสดงความกรุณา, ความเมตตารักใคร่, ความซื่อสัตย์ภักดีทางศีลธรรม, และความเอื้ออาทรผู้อื่นอย่างแท้จริง แล้วคุณจะดึงดูดใจเพื่อน ๆ ได้ตลอดเวลา! ต้องยอมรับว่า เพื่อจะได้มิตรภาพที่ยั่งยืนก็ต้องใช้ความพยายามและตั้งใจแน่วแน่. แต่บำเหน็จที่ได้รับก็มีค่าคุ้มกับความพยายาม.
น่าสนใจ คัมภีร์ไบเบิลบอกเรื่องราวของดาวิดกับโยนาธาน. คนทั้งสองมีมิตรภาพที่โดดเด่น. (1 ซามูเอล 18:1) เขาสามารถเอาชนะความอิจฉาริษยาเล็ก ๆ น้อย ๆ และลักษณะนิสัยที่บกพร่องได้. ที่เป็นไปได้ก็เพราะทั้งดาวิดและโยนาธานได้จัดเอามิตรภาพกับพระยะโฮวาพระเจ้าและความซื่อสัตย์ภักดีต่อพระองค์ไว้เหนือสิ่งอื่นทั้งมวล. จงทำเช่นเดียวกัน และคุณจะไม่ประสบความยุ่งยากในการรักษามิตรภาพกับคนที่เกรงกลัวพระเจ้า!
[รูปภาพหน้า 26]
มิตรภาพมักจะแตกร้าวเมื่อคนเรารู้สึกว่าเป็นการไม่ภักดีที่เขาเอาคนอื่นเป็นเพื่อน