การปล้นสะดมป่าดิบ
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีเขตเขียวมรกตกว้างไพศาลโอบรอบลูกโลกของเรา. ต้นไม้ทุกชนิดสานทอกันในบริเวณนี้ และมีแม่น้ำอันกว้างใหญ่เป็นริ้วประดับพื้นผิว.
แถบนี้เป็นอาณาจักรแห่งความงามและความหลากหลาย เฉกเช่นเรือนกระจกตามธรรมชาติขนาดมหึมา. ครึ่งหนึ่งของสัตว์, นก, และแมลงชนิดต่าง ๆ ในโลกอาศัยอยู่ที่นั่น. กระนั้น แม้จะเป็นภูมิภาคที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดบนโลก แต่มันก็เปราะบางเช่นกัน—เปราะบางกว่าที่ใคร ๆ เคยคาดคิด.
ป่าดิบชื้น ตามที่เราเรียกกันในปัจจุบัน ดูเหมือนมีขนาดมหึมา—และแทบจะไม่มีทางทำลายได้. แต่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น. ป่าดิบเริ่มอันตรธานไปจากหมู่เกาะแคริบเบียนเป็นแห่งแรก. ย้อนไปถึงปี 1671—สิบปีก่อนที่นกโดโดจะสูญพันธุ์—ไร่อ้อยได้กลืนป่าบนเกาะบาร์เบโดสจนเกลี้ยง.a เกาะอื่น ๆ ในภูมิภาคนั้นก็ประสบเหตุการณ์คล้ายคลึงกัน อันเป็นการส่อเค้าถึงแนวโน้มทั่วโลกที่ได้เร่งเร็วขึ้นในศตวรรษที่ 20 นี้.
ปัจจุบัน มีป่าดิบชื้นปกคลุมพื้นผิวโลกเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เมื่อเทียบกับ 12 เปอร์เซ็นต์เมื่อหนึ่งศตวรรษที่แล้ว. และทุกปีพื้นที่ป่าซึ่งใหญ่กว่าขนาดของประเทศอังกฤษ หรือเนื้อที่ 130,000 ตารางกิโลเมตร ถูกตัดโค่นหรือไม่ก็ถูกเผา. อัตราการทำลายอันน่าตกใจนี้ส่อทีท่าว่าจะส่งป่าดิบ—พร้อมด้วยสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่—ไปสู่ชะตากรรมอย่างเดียวกับนกโดโด. ฟิลิป เฟิร์นไซด์ นักสำรวจวิจัยป่าดิบในบราซิลเตือนว่า “ไม่อาจบอกชัดว่าป่าดิบจะอันตรธานปีไหนแน่ แต่ถ้าหากสิ่งต่าง ๆ ไม่เปลี่ยน ป่าดิบจะอันตรธานไป.” ไดอานา จีน ซกีโม รายงานในช่วงเดือนตุลาคมปีที่แล้วว่า “ข้อมูลในสัปดาห์หลัง ๆ ชี้ว่า การเผาป่าเพื่อทำการเพาะปลูกที่ดำเนินอยู่ในบราซิลปีนี้มากยิ่งเสียกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในอินโดนีเซีย ที่ซึ่งเมืองใหญ่ ๆ จมอยู่ภายใต้กลุ่มควันหนาทึบซึ่งแผ่กระจายไปยังประเทศอื่น ๆ. . . . การเผาป่าในแถบแอมะซอนก็เพิ่มมากกว่าปีที่แล้วถึง 28 เปอร์เซ็นต์ ตามข้อมูลจากดาวเทียม และตัวเลขการตัดไม้ทำลายป่าปี 1994 อันเป็นตัวเลขล่าสุดที่มีอยู่ แสดงให้เห็นว่ามีการเพิ่มขึ้น 34 เปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่ปี 1991.”
“ต้นไม้เติบโตในทะเลทราย”
เหตุใดป่าดิบซึ่งแทบจะอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์เมื่อศตวรรษที่แล้วกำลังถูกทำลายอย่างรวดเร็ว? ป่าไม้ในเขตอบอุ่นซึ่งปกคลุมพื้นผิวโลก 20 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้หดหายไปเท่าใดนักในช่วง 50 ปีที่แล้ว. อะไรทำให้ป่าดิบเปราะบางขนาดนี้? คำตอบอยู่ที่ลักษณะพิเศษไม่เหมือนใครของป่าดิบเอง.
อาร์โนลด์ นิวแมน กล่าวในหนังสือป่าดิบชื้น (ภาษาอังกฤษ) ของเขาว่า ป่าดิบได้รับการพรรณนาอย่างเหมาะเจาะว่าเป็น “ต้นไม้ที่เติบโตในทะเลทราย.” เขาอธิบายว่า ในบางพื้นที่แถบลุ่มน้ำแอมะซอนและในบอร์เนียว “ป่าไม้กว้างใหญ่อยู่ได้อย่างน่าประหลาดในพื้นที่ที่เกือบจะเป็นผืนทรายสีขาวล้วน ๆ ด้วยซ้ำ.” แม้ป่าดิบส่วนใหญ่อาจจะไม่เติบโตบนผืนทราย แต่เกือบจะทั้งหมดเติบโตบนดินที่ด้อยคุณภาพเอามาก ๆ และแทบจะไม่มีหน้าดินเลย. แม้ว่าหน้าดินในป่าไม้เขตอบอุ่นอาจลึกสองเมตรแต่ในป่าดิบมีน้อยมากที่จะเกินห้าเซนติเมตร. เป็นไปได้อย่างไรที่พืชพรรณอันเขียวชอุ่มพุ่มไสวที่สุดบนแผ่นดินโลกเจริญงอกงามในสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายเช่นนี้?
นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบคำตอบของปริศนานี้ในทศวรรษ 1960 และ 1970. พวกเขาพบว่าป่าไม้นั้นเลี้ยงตัวเองได้จริง ๆ โดยไม่ต้องพึ่งใคร. สารอาหารส่วนใหญ่ที่พืชต้องการก็ได้จากใบไม้กิ่งไม้ที่ทับถมกันซึ่งปกคลุมอยู่เหนือพื้นป่าและ—เนื่องจากความร้อนและความชื้นที่มีอยู่ตลอดเวลา—จึงถูกย่อยสลายอย่างรวดเร็วโดยปลวก, รา, และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ. ไม่มีอะไรเสียไปโดยเปล่าประโยชน์; ทุกสิ่งมีการหมุนเวียนกลับมาใช้อีก. โดยการคายน้ำและการระเหยจากยอดไม้ ป่าดิบทำให้น้ำฝนที่มันได้รับเวียนกลับสู่บรรยากาศถึง 75 เปอร์เซ็นต์ทีเดียว. จากนั้น เมฆที่ก่อตัวจากกรรมวิธีนี้ก็ให้น้ำกับป่าอีกครั้ง.
แต่ระบบอันยอดเยี่ยมนี้ก็มีจุดอ่อน. ถ้ามันได้รับความเสียหายมากเกินไป มันจะซ่อมแซมตัวเองไม่ได้. หากตัดโค่นป่าดิบบริเวณเล็ก ๆ ภายในไม่กี่ปีมันจะฟื้นตัวเองได้; แต่ถ้าตัดต้นไม้จนเตียนเป็นบริเวณกว้าง มันอาจจะไม่มีวันคืนสู่สภาพเดิมอีกเลย. ฝนที่ตกหนักจะชะล้างสารอาหารออกไป และแสงอาทิตย์ที่แผดกล้าจะเผาชั้นบาง ๆ ของหน้าดินจนในที่สุดจะมีแต่หญ้าหยาบ ๆ เท่านั้นที่สามารถเติบโตได้.
ที่ดิน, ไม้แปรรูป, และแฮมเบอร์เกอร์
สำหรับประเทศกำลังพัฒนาซึ่งขาดแคลนที่ดินเพื่อการเกษตร ป่าไม้อันกว้างใหญ่ที่ยังไม่มีใครเข้าไปกล้ำกรายดูเหมือนเหมาะสำหรับการแสวงประโยชน์. วิธีแก้ “ง่าย ๆ” ก็คือ สนับสนุนชาวไร่ชาวนาที่ยากจน ไม่มีที่ทำกิน ให้หักร้างถางป่าบางส่วนและปักหลักเขตจับจอง—ออกจะคล้ายกับการตั้งถิ่นฐานของพวกอพยพย้ายถิ่นชาวยุโรปในแถบตะวันตกของอเมริกา. แต่ผลที่ได้รับคือความบอบช้ำแก่ทั้งป่าไม้และชาวไร่ชาวนา.
ป่าดิบอันเขียวขจีอาจทำให้เกิดความรู้สึกว่า ไม่ว่าอะไรก็จะเจริญงอกงามที่นั่นได้. แต่ครั้นต้นไม้ถูกตัดโค่น ภาพลวงตาแห่งความอุดมสมบูรณ์ที่ไร้ขอบเขตก็หายวับไปในไม่ช้า. วิกตอเรีย หญิงชาวแอฟริกาซึ่งทำการเพาะปลูกบนที่ดินผืนเล็ก ๆ ซึ่งครอบครัวของเธอเข้าไปจับจองในป่าเมื่อไม่นานมานี้พรรณนาถึงปัญหาดังกล่าว.
“บิดาของสามีดิฉันเพิ่งจะถางและเผาป่าผืนเล็ก ๆ นี้เพื่อดิฉันจะปลูกถั่วลิสง, มันสำปะหลัง, และกล้วยได้. ปีนี้ดิฉันคงจะเก็บเกี่ยวพืชผลได้อย่างงาม แต่พอผ่านไปสองสามปี ดินก็จะเสื่อมคุณภาพ และเราจะต้องหักร้างถางป่าอีกผืนหนึ่ง. มันเป็นงานหนัก แต่ก็เป็นทางเดียวที่เราจะอยู่รอดได้.”
มีเกษตรกรอย่างน้อย 200 ล้านคนที่ถางและเผาป่าเพื่อทำการเพาะปลูกเหมือนอย่างวิกตอเรียและครอบครัวของเธอ! และ 60 เปอร์เซ็นต์ของการทำลายป่าดิบทั้งหมดในแต่ละปีมีสาเหตุมาจากพวกเขา. ถึงแม้พวกทำไร่เลื่อนลอยดังกล่าวจะชอบรูปแบบการทำไร่ที่ง่ายกว่านี้ แต่พวกเขาไม่มีทางเลือก. ด้วยเหตุที่จะต้องเผชิญกับการดิ้นรนเพื่ออยู่รอดในแต่ละวัน ทำให้พวกเขารู้สึกว่าการอนุรักษ์ป่าดิบเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยที่พวกเขาไม่อาจทำได้.
ขณะที่เกษตรกรส่วนใหญ่หักร้างถางป่าเพื่อทำการเพาะปลูก แต่คนอื่น ๆ ถางป่าเพื่อทำทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์. ในป่าดิบแถบอเมริกากลางและอเมริกาใต้ การทำฟาร์มปศุสัตว์เป็นสาเหตุใหญ่อีกประการหนึ่งของการตัดไม้ทำลายป่า. เนื้อซึ่งได้จากปศุสัตว์นี้มักไปจบลงที่อเมริกาเหนือ ที่ที่ร้านอาหารฟาสต์ฟูดซึ่งมีสาขาทั่วประเทศมีความต้องการอย่างมากที่จะได้เนื้อราคาถูกมาทำแฮมเบอร์เกอร์.
อย่างไรก็ดี เจ้าของฟาร์มก็ประสบปัญหาอย่างเดียวกับเกษตรกรรายย่อยต่าง ๆ. ทุ่งหญ้าที่งอกงามขึ้นมาท่ามกลางเถ้าถ่านของป่าดิบสามารถเลี้ยงปศุสัตว์ได้แทบจะไม่เกินห้าปี. การแปลงป่าดิบเป็นแฮมเบอร์เกอร์อาจจะทำกำไรให้บางคน แต่ต้องจัดว่านี่เป็นหนึ่งในวิธีที่สิ้นเปลืองมากที่สุดในการผลิตอาหารเท่าที่มนุษย์เคยคิดค้นขึ้นมา.b
การคุกคามหลัก ๆ อีกประการหนึ่งต่อป่าดิบมาจากการทำไม้. ใช่ว่าการทำไม้จะทำลายป่าดิบเสมอไป. บางบริษัทตัดไม้พาณิชย์ไม่กี่ชนิดในวิธีซึ่งป่าจะฟื้นตัวได้ในเวลาไม่นาน. แต่สองในสามของป่าเนื้อที่ 45,000 ตารางกิโลเมตรซึ่งบริษัทแปรรูปไม้แสวงประโยชน์ในแต่ละปีนั้น ถูกตัดไปมากเหลือเกินจนมีเพียง 1 ใน 5 ของต้นไม้ในป่าที่ไม่ได้รับความเสียหาย.
นักพฤกษศาสตร์ มานูเอล ฟิดัลโก พูดอย่างทอดถอนใจดังนี้: “ผมตะลึงเมื่อเห็นป่าไม้อันงดงามถูกฉีกเป็นชิ้น ๆ ด้วยการตัดไม้ที่ไม่มีการควบคุม. แม้จะเป็นความจริงที่ว่า พืชและต้นไม้ชนิดอื่น ๆ อาจจะเติบโตในบริเวณที่เหี้ยนเตียนได้ แต่ต้นไม้ที่ขึ้นใหม่นี้เป็นป่าชั้นสอง—ซึ่งด้อยกว่ามากในเรื่องจำนวนชนิด. จะต้องใช้เวลาหลายร้อยปีหรือกระทั่งหลายพันปีด้วยซ้ำกว่าป่าเดิมจะคืนสู่สภาพปกติได้.”
บริษัทที่ทำไม้ยังเร่งการทำลายป่าในวิธีอื่นอีก. เจ้าของฟาร์มปศุสัตว์และเกษตรกรที่ทำไร่เลื่อนลอยส่วนใหญ่จะรุกเข้าป่าโดยถนนที่คนตัดไม้ทำเข้าไป. บางครั้งเศษไม้ที่คนตัดไม้ละไว้เบื้องหลังกลายเป็นเชื้อกระพือไฟป่า ซึ่งทำลายป่ามากกว่าที่พวกตัดไม้ตัดไปเสียอีก. ในบอร์เนียว ไฟป่าเพียงคราวเดียวผลาญป่าถึง 7.5 ล้านไร่ในปี 1983.
กำลังทำอะไรกันบ้างเพื่อปกป้องป่าไม้?
เมื่อเผชิญการคุกคามเหล่านี้ จึงมีการดำเนินงานบางอย่างเพื่ออนุรักษ์ป่าไม้ที่ยังเหลืออยู่. แต่ภารกิจนี้ใหญ่หลวงนัก. วนอุทยานแห่งชาติสามารถปกป้องป่าดิบแค่กระผีก แต่การล่าสัตว์, การทำไม้, และการตัดไม้เผาป่าเพื่อทำการเกษตรยังคงดำเนินต่อไปภายในอาณาบริเวณของวนอุทยานหลายแห่ง. ประเทศกำลังพัฒนาก็มีเงินเพียงน้อยนิดเพื่อใช้ในการดูแลวนอุทยาน.
รัฐบาลที่ขาดแคลนเงินทุนอย่างหนักก็ถูกชักจูงอย่างง่ายดายโดยบรรษัทข้ามชาติให้ขายสัมปทานป่าไม้ ซึ่งในบางราย นั่นเป็นหนึ่งในทรัพย์สินไม่กี่อย่างที่ประเทศมีอยู่เพื่อใช้หนี้ต่างชาติ. และเกษตรกรนับล้านคนที่ทำไร่เลื่อนลอยก็ไม่มีที่ที่จะไป นอกจากบุกรุกป่าดิบลึกเข้าไปเรื่อย ๆ.
ในโลกที่ถูกรุมเร้าด้วยปัญหามากมายหลายอย่าง การอนุรักษ์ป่าดิบเป็นสิ่งสำคัญจริง ๆ ไหม? เราจะต้องสูญเสียอะไรบ้างถ้าป่าดิบอันตรธานไป?
[เชิงอรรถ]
a นกโดโดเป็นนกขนาดใหญ่, ตัวหนัก, บินไม่ได้ ซึ่งสูญพันธุ์ไปแล้วเมื่อปี 1681.
b เนื่องจากการประท้วงที่มีแพร่หลาย ร้านอาหารฟาสต์ฟูดบางแห่งจึงหยุดนำเข้าเนื้อราคาถูกจากประเทศในเขตร้อน.