เอกภพเกิดเองหรือมีผู้สร้าง?
นักวิทยาศาสตร์หลายคนอึดอัดกับความคิดที่ว่า เอกภพถูกสร้างโดยพระผู้สร้างที่ทรงเชาวน์ปัญญา. ดังนั้น พวกเขาจึงอนุมานว่า เอกภพเกิดขึ้นเองโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง. แต่ไม่มีใครสามารถอธิบายว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร.
จริง ๆ แล้ว เป็นตามที่วารสารไซเยนติฟิก อเมริกัน รายงานไว้ในฉบับมกราคม 1999 ดังนี้: “ทฤษฎีการระเบิดใหญ่ไม่ได้อธิบายการกำเนิดเอกภพ.” วารสารดังกล่าวเสริมว่า “เพื่อจะอธิบายจุดกำเนิดของเอกภพจะต้องมีอีกทฤษฎีหนึ่งที่พูดถึงเวลาก่อนหน้านั้นอีก.”
แต่คุณคิดว่ามีเหตุผลไหมที่เอกภพจะสร้างตัวเองขึ้นมาโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง? นักฟิสิกส์ ชาลส์ เอช. ทาวนส์ ให้ข้อสังเกตว่า “เป็นความจริงที่เหล่านักฟิสิกส์หวังจะมองลึกเข้าไปเบื้องหลังของ ‘การระเบิดใหญ่’ และเป็นไปได้ที่จะอธิบายจุดกำเนิดของเอกภพ เช่น เกิดจากคลื่นที่ไม่สม่ำเสมอชนิดหนึ่ง เป็นต้น. แต่คลื่นที่ไม่สม่ำเสมอคืออะไรล่ะ และคลื่นนี้เริ่มขึ้นมาอย่างไร? ในแง่คิดของผม คำถามเรื่องต้นกำเนิดดูเหมือนจะค้างเติ่งอยู่เสมอโดยไม่ได้รับคำตอบถ้าเราตรวจสอบจากแง่มุมทางวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว.”
ปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าครั้งหนึ่งไม่มีเอกภพดำรงอยู่ และโดยวิธีใดวิธีหนึ่งมันได้กำเนิดขึ้นมา. สิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับกฎต่าง ๆ ของเอกภพจะช่วยให้เราเข้าใจวิธีที่เอกภพเกิดขึ้นมาได้ไหม?
“เหรียญเดียวมีสองด้าน”
เคยมีการใช้ถ้อยคำนี้พาดพิงถึงพลังงานและสสาร. วารสารไซเยนติฟิก อเมริกัน ให้ข้อสังเกตว่า “สสารเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของพลังงาน.” ความสัมพันธ์ระหว่างสสารและพลังงานนี้เห็นได้จากสูตรอันลือชื่อของไอน์สไตน์ที่ว่า E=mc2 (พลังงานเท่ากับมวลคูณด้วยความเร็วของแสงยกกำลังสอง). สมการนี้เผยให้เห็นว่ามวลหรือสสารอันน้อยนิดแฝงด้วยพลังงานอันเหลือเชื่อ. ทิโมที เฟอร์ริส ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัย ให้ข้อสังเกตว่า “สิ่งนี้ทำให้เข้าใจได้ว่าทำไมระเบิดลูกหนึ่งที่มีขนาดเท่าผลส้มสามารถทำลายเมืองใหญ่ให้ราพณาสูรได้.”
หากพิจารณาอีกด้านหนึ่งของเหรียญ ตามทฤษฎีของไอน์สไตน์แล้ว พลังงานสามารถเปลี่ยนเป็นสสารได้. ดังนั้น การก่อตัวของเอกภพที่เป็นสสารอาจจะเกี่ยวข้องกับสิ่งที่นักจักรวาลวิทยาคนหนึ่งเรียกว่า “การเปลี่ยนสภาพที่น่าพรั่นพรึงที่สุดของสสารและพลังงานที่เรามีสิทธิพิเศษได้เห็นแวบหนึ่ง.”
กระนั้น สสาร และพลังงานที่จำเป็นสำหรับ “การเปลี่ยน” ดังกล่าวมาจากไหน? วิทยาศาสตร์ไม่มีคำตอบที่น่าพอใจ. น่าสนใจ คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงพระเจ้าว่า “เนื่องด้วยพลังงานที่ใช้ปฏิบัติการอันล้นเหลือ ทั้งพระองค์ยังทรงพลังแข็งขัน จึงไม่มีสักดวงเดียวในพวกมัน [เทห์ฟากฟ้า] ขาดไป.” (ยะซายา 40:26, ล.ม.) ไม่ว่าพระเจ้าจะใช้วิธีใดก็ตามในการสร้างเอกภพ เห็นได้ชัดว่าพระองค์ทรงมีพลังงานและฤทธิ์อำนาจที่จำเป็นสำหรับสิ่งนั้น.
หลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนความเชื่อเรื่องผู้ทรงเชาวน์ปัญญาสูงสุดสร้างเอกภพของเราไหม? การพิจารณาวิธีที่เอกภพเริ่มต้นจะช่วยให้เราได้รับคำตอบ.
การเริ่มต้นอย่างมีระเบียบ
ลองคิดถึงสิ่งนี้: การเปลี่ยนสสารเป็นพลังงานโดยไม่มีการควบคุมในคราวที่ระเบิดนิวเคลียร์ถล่มญี่ปุ่นเมื่อปี 1945 ก่อให้เกิดความยุ่งเหยิง ดังที่เราได้เห็นระเบิดดังกล่าวทำลายฮิโรชิมาจนราพณาสูรและทำลายส่วนใหญ่ของนางาซากิ. แต่ตรงกันข้ามกับความยุ่งเหยิง เอกภพประสานสอดคล้องกันและสวยงาม! ขอให้พิจารณาแผ่นดินโลกอันมหัศจรรย์พร้อมด้วยชีวิตหลากหลายน่าทึ่งบนโลกนี้ด้วย. เห็นได้ชัดว่า สิ่งดังกล่าวไม่อาจเกิดขึ้นได้หากปราศจากการชี้นำและการควบคุมบางอย่างจากผู้ทรงเชาวน์ปัญญา!
วารสารนิวส์วีก ฉบับ 9 พฤศจิกายน 1998 ได้ทบทวนสิ่งบ่งนัยจากการค้นพบเกี่ยวด้วยการสร้างเอกภพ. วารสารนี้กล่าวว่าข้อเท็จจริง “ชี้ว่าสสารและการเคลื่อนไหวมีกำเนิดเหมือนที่เยเนซิศ [ในคัมภีร์ไบเบิล] บ่งบอกไว้ กล่าวคือ จากความว่างเปล่าด้วยการระเบิดครั้งมโหฬารของแสงและพลังงาน.” โปรดสังเกตเหตุผลต่าง ๆ ที่นิวส์วีก ให้ไว้ในการเปรียบเทียบตอนเริ่มต้นของเอกภพกับคำพรรณนาของคัมภีร์ไบเบิลเรื่องเหตุการณ์นั้น.
“แรงที่ปล่อยออกมาตั้งแต่แรก—จนถึงปัจจุบัน—พอดิบพอดีอย่างน่าสังเกต (น่าอัศจรรย์กระมัง?) กล่าวคือ ถ้าการระเบิดใหญ่มีความแรงน้อยลงนิดเดียว การขยายตัวของเอกภพก็จะช้าลง และในเวลาไม่นาน (ไม่กี่ล้านปีหรือไม่กี่นาที—ถึงอย่างไรก็ไม่นาน) จะหดกลับสู่จุดเดิม. ถ้าแรงระเบิดมากขึ้นเล็กน้อย เอกภพก็จะแตกกระจายเป็นฝุ่นก๊าซที่เบาบางเกินกว่าจะรวมตัวเป็นดาวต่าง ๆ ได้. โอกาสที่จะเกิดโดยบังเอิญ น้อยมากจนไม่อาจนึกภาพได้. อัตราส่วนของสสารและพลังงานต่อปริมาณอวกาศ ณ การระเบิดใหญ่จะผิดพลาดได้ไม่เกินประมาณเศษหนึ่งส่วนพันล้านล้านของ 1 เปอร์เซ็นต์ของจุดสมบูรณ์.”
นิวส์วีก ชี้ว่า ดูเหมือนว่ามี “ผู้ปรับตั้ง” เอกภพ โดยให้ข้อสังเกตดังนี้: “ลองปรับเพี้ยนไปเพียงเศษเสี้ยวเดียว (เศษหนึ่งส่วนพันล้านล้านของ 1 เปอร์เซ็นต์ที่เผื่อให้สำหรับความผิดพลาด, ดูวรรคก่อนหน้านี้) . . . และสิ่งที่ตามมาจะไม่ใช่แค่ความยุ่งเหยิงเท่านั้น แต่เป็นเอ็นโทรปี [ในความหมายที่สสารและพลังงานเสื่อมสภาพถึงจุดเอกภาวะแห่งความเฉื่อย] และน้ำแข็งตลอดกาล. ดังนั้น อะไร หรือใคร? คือผู้ปรับตั้งองค์ยิ่งใหญ่?”
อลัน ไลต์แมน นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ยอมรับว่า นักวิทยาศาสตร์ “รู้สึกพิศวงที่เอกภพถูกสร้างในสภาพที่มีระเบียบอย่างสูงส่งเช่นนี้.” เขาเสริมว่า “ทฤษฎีใด ๆ ที่อธิบายจักรวาลได้อย่างประสบผลสำเร็จ สมควรอย่างยิ่งที่จะไขปริศนาเอ็นโทรปีนี้” ที่ว่า เหตุใดเอกภพจึงไม่ยุ่งเหยิง.
เหตุใดจึงมักจะไม่เชื่อ
คุณจะเห็นด้วยไหมที่ว่า “สภาพที่มีระเบียบอย่างสูงส่ง” ชี้ว่ามีผู้จัดระเบียบ? ส่วนใหญ่คงเห็นด้วย. แต่ผู้ที่มีความคิดแบบอเทวนิยมมักจะไม่ยอมรับเรื่องนี้. เพราะเหตุใด? เพราะความเชื่อ! ดังที่ศาสตราจารย์เฟอร์ริสเขียนว่า “ต้องยอมรับว่า อเทวนิยมก็คือความเชื่ออย่างหนึ่งเช่นเดียวกับความเชื่ออื่น ๆ.” และเขาอ้างว่า คงจะดีกว่า “ถ้าเราตัดพระเจ้าออกไปจากจักรวาลวิทยาโดยสิ้นเชิง.”
นั่นเป็นสิ่งที่หลายคนทำ—แต่ด้วยความยากลำบาก. ยกตัวอย่าง หลังจากสังเกตหลายสิ่งที่อาจถือได้ว่าเป็นหลักฐานของการออกแบบในเอกภพ จอร์จ กรีนสไตน์ ศาสตราจารย์ทางดาราศาสตร์ได้เขียนว่า “ผมมีความมั่นใจว่า ‘การประจวบเหมาะ’ เช่นว่าไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยบังเอิญ.” ถึงกระนั้น กรีนสไตน์ก็ยืนยันว่า “พระเจ้าไม่ใช่คำอธิบาย.” ด้วยเหตุนี้ นักวิทยาศาสตร์บางคนจึงยอมสละความมีเหตุผลที่ดีเพื่อรักษาไว้ซึ่งความเชื่อทางวิทยาศาสตร์ที่สืบทอดมาแต่ดั้งเดิม.
อย่างไรก็ตาม เป็นที่ยอมรับกันว่า “ความเชื่อ” ของเฟรด ฮอยล์ ซึ่งเป็นนักฟิสิกส์ผู้มีชื่อเสียง เป็นอันต้องสั่นคลอนในช่วงชีวิตต่อมาของเขา. ในทศวรรษ 1980 เขาสารภาพว่า “การตีความข้อเท็จจริงตามสามัญสำนึกชี้ว่า ผู้ทรงเชาวน์ปัญญาเหนือมนุษย์เข้ามาแทรกแซงทางฟิสิกส์รวมทั้งเคมีและชีววิทยา และไม่มีพลังที่ไร้ความคิดจิตใจใด ๆ มีค่าคู่ควรแก่การเอ่ยถึงในธรรมชาติ. ตัวเลขที่เราคำนวณจากข้อเท็จจริงต่าง ๆ สำหรับผมแล้วดูเหมือนท่วมท้นล้นหลามจนต้องลงความเห็นอย่างนี้โดยแทบไม่มีข้อสงสัย.”
น่าสนใจ ตอนที่ยุคแห่งการสำรวจทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่กำลังจะเริ่มขึ้น เซอร์ไอแซ็ก นิวตัน ลงความเห็นคล้ายคลึงกัน. เขาได้รับการกระตุ้นจากการค้นพบของเขาให้เขียนว่า “ระบบที่สวยงามยิ่งนี้ซึ่งประกอบด้วยดวงอาทิตย์, ดาวเคราะห์, และดาวหาง จะทำงานได้ก็ต่อเมื่อพระเจ้าผู้ทรงเชาวน์ปัญญาและฤทธิ์อำนาจทรงมุ่งประสงค์และควบคุมเท่านั้น.”
ขอพิจารณาผลพวงอย่างหนึ่งที่ได้จากการค้นพบกฎแห่งการเคลื่อนที่ของนิวตันและโยฮันเนส เคปเลอร์.
วิธีที่การบินอวกาศเป็นไปได้
ในช่วงต้น ๆ ศตวรรษที่ 17 เคปเลอร์ได้อธิบายกฎต่าง ๆ ว่าด้วยการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ และสารานุกรม เดอะ เวิลด์ บุ๊ก ให้ข้อสังเกตว่า กฎดังกล่าว “ถูกนำมาใช้กำหนดวงโคจรของดาวเทียมและใช้วางแผนการบินของยานอวกาศ.” ในปี 1687 นิวตันได้ตีพิมพ์กฎต่าง ๆ ว่าด้วยการเคลื่อนที่ซึ่งเป็นกฎที่มีชื่อเสียงของเขา และสารานุกรมนี้กล่าวว่า กฎเหล่านี้ “เช่นเดียวกับกฎของเคปเลอร์ กลายเป็นพื้นฐานสำคัญในการวางแผนการบินอวกาศ.” เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?
เพราะโดยการใช้กฎดังกล่าว มนุษย์สามารถบอกได้ด้วยการคำนวณทางคณิตศาสตร์ว่าเทหวัตถุหนึ่ง ๆ จะอยู่ที่ใดในอวกาศ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง. การคำนวณเช่นนี้ทำได้ก็เพราะเทห์ฟากฟ้ารวมทั้งดวงจันทร์และโลกเคลื่อนที่อย่างเสมอต้นเสมอปลายจนสามารถบอกล่วงหน้าได้เสมอ. เพื่อเป็นตัวอย่าง ดวงจันทร์โคจรรอบโลกด้วยความเร็วเฉลี่ย 3,700 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยโคจรแต่ละรอบใช้เวลาเกือบ ๆ หนึ่งเดือนซึ่งสามารถบอกล่วงหน้าได้อย่างน่าทึ่ง. โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์แต่ละปีด้วยความเร็ว 107,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งสามารถบอกล่วงหน้าได้เช่นเดียวกัน.
ด้วยเหตุนี้ เมื่อนำร่องการบินไปดวงจันทร์ มนุษย์บนโลกจึงกำหนดให้ยานของตนมุ่งไปยังจุดเป้าหมายจุดหนึ่งในอวกาศซึ่งอยู่ข้างหน้าหลายหมื่นกิโลเมตรจากดวงจันทร์ที่กำลังโคจรอยู่. จากการคำนวณหลากหลายวิธี พวกเขารู้แน่นอนว่าดวงจันทร์จะต้องอยู่จุดใด ณ เวลาที่กำหนดไว้ล่วงหน้า. และถ้ายานอวกาศได้รับการชี้ทางอย่างถูกต้องอีกทั้งได้รับพลังงานอย่างเหมาะสม ยานก็จะไปถึงจุดนั้นพอดี ทำให้การลงจอดบนดวงจันทร์เป็นไปได้.
อะไรทำให้การเคลื่อนที่ของเทห์ฟากฟ้าแม่นยำจนสามารถบอกล่วงหน้าได้เช่นนี้? จอห์น เกล็น นักบินอวกาศชาวอเมริกันคนแรกที่โคจรรอบโลก อุทานเกี่ยวกับความเป็นระเบียบในเอกภพว่า “สิ่งนี้เกิดขึ้นเองได้ไหม? . . . ผมไม่อาจเชื่อได้.” แล้วเขาเสริมว่า “อำนาจบางอย่างจัดสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดเข้าไว้ในวงโคจรและคอยดูแลให้มันอยู่ที่นั่น.”
ดร. เวิร์นเฮอร์ ฟอน บราวน์ นักวิทยาศาสตร์ทางอวกาศ ได้กล่าวด้วยความพรั่นพรึงในกฎต่าง ๆ ที่ควบคุมเอกภพ ดังนี้: “การบินอวกาศที่มีมนุษย์ขึ้นไปด้วย . . . เป็นแค่การเปิดประตูเล็ก ๆ ให้เรามองดูความกว้างใหญ่ไพศาลอันน่าพรั่นพรึงของอวกาศ. การที่เรามองดูความลึกลับซับซ้อนของเอกภพผ่านทางรูเล็ก ๆ นี้มีแต่จะยืนยันความเชื่อของเราที่ว่ามีผู้สร้างเอกภพ.”
พี. เอ. เอ็ม. ดิแรก นักฟิสิกส์ผู้มีชื่อเสียงซึ่งเคยเป็นศาสตราจารย์ทางคณิตศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เห็นด้วยดังนี้: “บางทีเราอาจพรรณนาสถานการณ์นี้โดยกล่าวว่า พระเจ้าเป็นยอดนักคณิตศาสตร์ และพระองค์ทรงใช้หลักคณิตศาสตร์ชั้นสูงยิ่งในการสร้างเอกภพ.”
ใครคือนักคณิตศาสตร์ชั้นยอดผู้มีเชาวน์ปัญญาสูงสุดนี้ซึ่งเป็นที่มาของสิ่งทรงสร้างอันมหัศจรรย์?
ใครคือผู้สร้าง?
หากเราเดินทางไปยังแถบถิ่นที่เราไม่คุ้นเคย และอยู่ ๆ ก็พบเรือนพักร้อนที่สวยงามหลังหนึ่งแวดล้อมด้วยสนามหญ้าที่ตัดแต่งเรียบร้อยและสวนพฤกษชาติงามวิจิตร เราคงไม่สรุปว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นเอง. นั่นเป็นการลงความเห็นที่ไร้เหตุผลอย่างสิ้นเชิง. ประจักษ์ชัดว่าจะต้องเป็นผลงานของช่างก่อสร้างฝีมือเยี่ยมและคนแต่งสวนที่ชำนาญ.
ทำนองเดียวกัน เอกภพอันกว้างใหญ่ของเราซึ่งสลับซับซ้อนยิ่งกว่ามากนัก ต้องมีพระผู้สร้างอย่างแน่นอน. ผู้นั้นได้ระบุพระองค์เองไว้ในคัมภีร์ไบเบิลด้วยพระนามนี้: “เราคือยะโฮวา, นามนี้เป็นนามของเรา.” (ยะซายา 42:8) บุคคลที่หยั่งรู้ค่าหัตถกิจของพระเจ้าอุทานดังบันทึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิลว่า “พระยะโฮวาเจ้าข้า พระเจ้าของพวกข้าพเจ้า พระองค์คู่ควรจะได้รับสง่าราศีและเกียรติยศและฤทธิ์เดช เพราะพระองค์ได้ทรงสร้างสิ่งทั้งปวง และเนื่องด้วยพระทัยประสงค์ของพระองค์สิ่งเหล่านั้นจึงได้ดำรงอยู่และถูกสร้างขึ้น.”—วิวรณ์ 4:11, ล.ม.
นอกจากเปิดเผยให้มนุษย์รู้จักพระนามเฉพาะที่พระองค์ทรงตั้งเองแล้ว ในคัมภีร์ไบเบิล พระยะโฮวายังทรงเปิดเผยวัตถุประสงค์ของพระองค์เรื่องการเตรียมแผ่นดินโลกให้เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์อีกด้วย. และพระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระเจ้าเองก็ทรงรับรองว่าพระคำของพระเจ้าเป็นที่วางใจได้ เมื่อตรัสว่า “พระคำของพระองค์เป็นความจริง.”—โยฮัน 17:17, ล.ม.
ไม่นานมานี้ วารสารวิทยาศาสตร์ฉบับหนึ่งให้ข้อสังเกตว่า “ไม่เหมือนคนทุกชั่วอายุที่ผ่านมา เรารู้ว่าเรามาอยู่ที่นี่ได้อย่างไร. แต่ เช่นเดียวกับคนทุกชั่วอายุที่ผ่านมา เรายังไม่รู้ว่าทำไมจึงมาอยู่ที่นี่.” กระนั้น คำตอบสำหรับคำถามที่ว่าทำไม? มีอยู่ในพระคำของพระเจ้า. โปรดพิจารณาคำตอบในบทความถัดไป.
[รูปภาพหน้า 6]
ในคราวที่ระเบิดปรมาณูถล่มฮิโรชิมา สสารน้อยนิดปล่อยพลังงานมหาศาล
[ที่มาของภาพ]
Hiroshima Peace and Culture Foundation from material returned by the United States Armed Forces Institute of Pathology
USAF photo
[รูปภาพหน้า 7]
พลังงานเปลี่ยนเป็นกาแล็กซีที่มีระบบระเบียบอย่างน่าอัศจรรย์
[ที่มาของภาพ]
Courtesy of Anglo-Australian Observatory, photograph by David Malin
[รูปภาพหน้า 8, 9]
กฎอะไรทำให้การลงบนดวงจันทร์เป็นไปได้?
[รูปภาพหน้า 9]
“อำนาจบางอย่างจัดสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดเข้าไว้ในวงโคจรและคอยดูแลให้มันอยู่ที่นั่น.”—จอห์น เกล็น
[ที่มาของภาพ]
NASA photo