เราหนีรอดจากลาวาที่ไหลทะลักอย่างน่าสะพรึงกลัว!
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในคองโก (กินชาซา)
วันนั้นคือวันอังคารที่ 15 มกราคม 2002 วันที่ทุกอย่างดูเป็นปกติในแอฟริกากลาง. ผมกับเพื่อนที่เป็นพยานพระยะโฮวาอีกคนหนึ่งเดินทางมาถึงเมืองโกมา ในเขตคีวู ประเทศคองโก (กินชาซา) เพื่อพบกับพวกพยานฯ ในแถบทะเลสาบใหญ่.
ไม่มีอะไรต้องเป็นห่วงหรือ?
แม้ว่าภูเขาไฟนีอีรากองโก (สูง 3,470 เมตร) อยู่ห่างจากเมืองโกมา 19 กิโลเมตร แต่อาการของมันทำให้เราสนใจ.a เราได้ยินเสียงมันคำรามและเรายังเห็นควันพุ่งขึ้นจากปากปล่องด้วย. สำหรับคนท้องถิ่น นี่ถือเป็นเรื่องปกติสำหรับช่วงเวลานี้ของปี และพวกเขาไม่กังวล.
ในช่วงบ่าย เราเข้าร่วมการประชุมกับประชาคมของพยานพระยะโฮวาสองประชาคม. เรายังรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนของพื้นดินและได้ยินเสียงครืน ๆ. ดูเหมือนไม่มีใครกังวลกับเรื่องนี้. เจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นยืนยันกับชาวเมืองว่าไม่มีสาเหตุใดที่ต้องตื่นตระหนก. แม้ว่านักวิทยาภูเขาไฟชาวคองโกคนหนึ่งได้ทำนายมาหลายเดือนแล้วว่าภูเขาไฟจะระเบิด แต่ไม่มีใครเชื่อเขา. เพื่อนคนหนึ่งพูดเล่น ๆ ว่า “เย็นนี้ท้องฟ้าจะเป็นสีแดงเพราะภูเขาไฟปะทุ.”
“เราต้องหนีเดี๋ยวนี้!”
เมื่อกลับมาถึงที่พัก มีคนบอกเราอย่างไม่ลังเลว่า “เราต้องหนีเดี๋ยวนี้!” สถานการณ์น่ากลัวมาก. เมืองนี้ตกอยู่ในอันตรายใหญ่หลวง. สิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนไปเร็วอะไรเช่นนี้! ก่อนหน้านี้ เรายังพูดคุยถึงเรื่องความคาดหวังที่จะใช้เมืองโกมาเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมให้คำพยาน. แต่พอถึงตอนเย็น มีคนบอกให้เราหนีออกไปจากเมืองนี้ เหมือนกับว่ามันกำลังจะพินาศ!
ขณะที่จวนจะค่ำ ท้องฟ้าก็เปลี่ยนเป็นสีแดง ซึ่งก็มีเหตุผลสมควร! กระแสลาวาที่ทะลักออกมาจากภูเขาไฟนีอีรากองโกกำลังไหลบ่ามาทางเมืองนี้. ภูเขาลูกนี้ดูคล้ายกับหม้อขนาดมหึมาที่กำลังเดือดและสิ่งที่อยู่ในนั้นก็ปะทุออกมา ลาวาเหลวที่ร้อนระอุทำลายทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้า. เราไม่เคยเก็บกระเป๋าเสื้อผ้าเร็วขนาดนั้นมาก่อน! ตอนนั้นเกือบ 19:00 น. แล้ว.
หลายพันคนหนีไปบนถนน
ขณะที่เรารีบหนีกันอยู่นั้น ถนนที่เป็นทางออกจากเมืองโกมาก็เต็มไปด้วยฝูงชนที่ต่างหนีเอาชีวิตรอด. คนส่วนใหญ่เดินและแบกข้าวของส่วนตัวที่พอจะหยิบคว้าเอาไปได้. หลายคนเทินของบนศีรษะ. บางคนก็เบียดไปกับรถที่มีคนแน่น. ทุกคนมุ่งไปที่ชายแดนประเทศรวันดาซึ่งอยู่ใกล้ ๆ. อย่างไรก็ตาม ภูเขาไฟไม่ได้ถูกจำกัดด้วยขอบเขตใด ๆ ที่มนุษย์กำหนดขึ้น. ไม่มีกองทัพใดสามารถขัดขวางมันได้! เราเห็นทหารวิ่งหนีเอาชีวิตรอดเพราะกลัวลาวาเช่นกัน. แทบเป็นไปไม่ได้ที่รถยนต์จะวิ่งไปบนถนน. เราต้องเดินต่อไป. เราอยู่ท่ามกลางฝูงชน 300,000 คนที่พยายามดิ้นรนหนีภูเขาไฟที่ปะทุอย่างรุนแรง คนเหล่านี้มีทั้งผู้ชาย, ผู้หญิง, เด็ก, และทารก. แผ่นดินใต้ฝ่าเท้าของเราก็ยังคงส่งเสียงดังครืน ๆ และสั่นสะเทือน.
ทุกคนต่างก็หนีเอาชีวิตรอด. ผมกับเพื่อนที่เป็นคนต่างถิ่นจากเมืองใหญ่ซึ่งอยู่ท่ามกลางคนเหล่านั้น ได้หนีไปพร้อมกับเพื่อนพยานฯ หลายคนซึ่งคอยดูแลเรา. การมีพวกเขาอยู่ข้าง ๆ และความห่วงใยของพวกเขาทำให้เราซาบซึ้งใจมาก และช่วยให้เรารู้สึกปลอดภัยในสถานการณ์ที่ตึงเครียดและเจ็บปวดเช่นนี้. ผู้คนหนีไปพร้อมกับสิ่งที่สามารถขนไปได้ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า, หม้อกะทะ, อาหารเล็ก ๆ น้อย ๆ. ในฝูงชนกลุ่มใหญ่นี้ ผู้คนต่างก็ผลักและดันกัน. บางคนถูกรถยนต์ที่พยายามขับฝ่าไปชน ทำให้สิ่งของที่เขามีเหลืออยู่เล็กน้อยหลุดมือและถูกเหยียบย่ำ. คนที่สะดุดล้มก็ยิ่งอันตราย. ความตึงเครียดมีสูง. ทุกคนล้วนหวาดกลัว. เราพยายามไปให้ถึงเมืองกิเซนยี ซึ่งอยู่ห่างไปไม่กี่กิโลเมตรในประเทศรวันดา. เราจำต้องเดินต่อไปเนื่องจากสถานการณ์บังคับ.
คืนที่ปลอดภัย
เราไปถึงโรงแรมแห่งหนึ่ง แต่แน่นอนว่าไม่มีห้องพักเหลือแล้ว. เราต้องนั่งพักรอบ ๆ โต๊ะในสวน. เรามาถึงที่นี่หลังจากเดินอย่างเหนื่อยล้าถึงสามชั่วโมงครึ่ง. เราดีใจที่ยังมีชีวิตอยู่และพ้นจากอันตรายแล้วและอยู่กับพี่น้องคริสเตียนซึ่งเดินทางมากับเรา. น่าดีใจที่ในหมู่พยานฯ ไม่มีใครเสียชีวิต.
เห็นได้ชัดว่าเราต้องนอนกลางแจ้ง. จากที่ที่ปลอดภัยซึ่งอยู่ห่างไกลนี้ เราสามารถมองดูท้องฟ้าสีแดงจัดซึ่งอยู่เหนือเมืองโกมา. จริง ๆ แล้วมันน่าประทับใจและสวยมาก! แสงยามเช้าค่อย ๆ สาดส่องลงมา. เสียงคำรามและการสั่นสะเทือนยังคงมีอยู่ตลอดคืน. เมื่อหวนคิดถึงเหตุการณ์อันยากลำบากเมื่อวานนี้ เรารู้สึกสงสารหลายพันครอบครัวที่ต้องหนีพร้อมกับลูกเด็กเล็กแดง.
ความช่วยเหลือมาถึงอย่างรวดเร็ว
พยานฯ จากกรุงคิกาลี เมืองหลวงของรวันดา มาสมทบกับเราตอนเที่ยงวันศุกร์ที่ 18 มกราคม. คณะกรรมการบรรเทาทุกข์ซึ่งตั้งขึ้นโดยพี่น้องชายจากเมืองโกมาและเมืองกิเซนยีนั้นก็เริ่มปฏิบัติงาน. เป้าหมายแรกคือจัดที่พักให้ผู้ลี้ภัยที่เป็นพยานฯ ในหอประชุมราชอาณาจักรหกหลังซึ่งอยู่ในบริเวณนั้น. งานนี้เสร็จในวันนั้นเอง. มีการติดป้ายเป็นภาษาฝรั่งเศสและสวาฮิลีตามข้างถนน เพื่อบอกทางไปหอประชุมในท้องถิ่น ที่ซึ่งผู้ลี้ภัยจะได้รับความช่วยเหลือและการปลอบโยน. ในวันเดียวกันนั้น สิ่งจำเป็นพื้นฐานหนักสามตันก็ไปถึงหอประชุมต่าง ๆ ที่พยานฯ พักอยู่. วันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันเสาร์ รถบรรทุกที่ขนอาหาร, ผ้าห่ม, ผ้าพลาสติก, สบู่, และยาจากกรุงคิกาลีก็มาถึง.
ความกังวลเพิ่มขึ้น
ตอนนั้นมีความกังวลกันมาก. จะเอาใจใส่ความจำเป็นของผู้คนทั้งหมดเหล่านี้ได้อย่างไร? ภูเขาไฟจะเป็นอย่างไร? เมื่อไรการปะทุจะยุติลง? เมืองโกมาถูกทำลายมากน้อยแค่ไหน? ข่าวที่แพร่สะพัดไปทั่วและการสั่นสะเทือนของพื้นดินที่มีอย่างต่อเนื่องไม่ได้ทำให้มีความหวังเลย. ผู้เชี่ยวชาญกลัวกันว่าก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในระดับที่เป็นอันตรายจะปนเปื้อนในบรรยากาศ. นอกจากนี้ ยังมีความวิตกว่าน้ำในทะเลสาบคีวูจะปนเปื้อนเนื่องจากปฏิกิริยาทางเคมี.
ภายในเวลา 48 ชั่วโมงหลังการปะทุ ข่าวที่ไม่สู้ดีนักก็แพร่ออกไป. จากนั้น ตอนบ่ายวันเสาร์เราก็ได้ข่าวว่ามีคนประมาณ 10,000 คน ซึ่งรวมถึงพยานฯ 8 คนพร้อมกับเด็กคนหนึ่ง ติดอยู่ในวงล้อมของลาวา ซึ่งบางช่วงลึกถึงสองเมตร. อากาศก็เต็มไปด้วยก๊าซพิษ. เรากลัวว่าพวกเขาจะได้รับอันตรายถึงชีวิต. สถานการณ์ดูสิ้นหวัง. แม้แต่มหาวิหารแห่งเมืองโกมาก็ถูกธารลาวาที่ไร้ความปรานีทำลายจนแทบไม่มีอะไรเหลือ. ไม่มีใครในตอนนั้นคิดว่าโกมาจะฟื้นจากเถ้าถ่านได้.
ข่าวที่ให้กำลังใจบางเรื่อง
วันอาทิตย์เวลา 9:00 น. เราได้รับโทรศัพท์จากพี่น้องชายคนหนึ่งที่ติดอยู่ในวงล้อมของลาวา. เขาบอกเราว่าสถานการณ์กำลังเปลี่ยนไป. สิ่งต่าง ๆ กำลังดีขึ้น. มีฝนตกลงมาและลาวาก็เริ่มเย็นตัว อากาศก็กำลังดีขึ้น. แม้ว่าลาวายังคงร้อนและอันตราย แต่ผู้คนก็เริ่มเดินข้ามลาวาไปยังพื้นที่ที่ปลอดภัยกว่าแล้ว. เมืองไม่ได้ถูกทำลายจนหมด.
นี่เป็นข่าวดีเรื่องแรกตั้งแต่ความหายนะเริ่มต้น. ภูเขาไฟดูเหมือนจะสงบลงบ้าง. ผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่นั้นมีความคิดเห็นที่ขัดแย้งกัน. เราสามารถติดต่อกับเมืองบูคาวูที่อยู่ใกล้ ๆ กันนั้น ซึ่งตั้งอยู่อีกฝั่งหนึ่งของทะเลสาบคีวู. เราได้มารู้ว่าพยานฯ ห้าครอบครัวรวมทั้งเด็กสามคนที่พลัดกับบิดามารดาไปถึงเมืองบูคาวูโดยทางเรือ. พยานฯ ในเมืองนั้นจะดูแลพวกเขา.
เรากลับได้!
วันจันทร์ที่ 21 มกราคม เราสามารถหนุนกำลังใจและปลอบใจผู้ประสบภัยซึ่งอยู่ในเมืองกิเซนยี รวมทั้งตรวจดูว่าพวกเขามีความจำเป็นอะไรบ้าง. เราพบว่าพี่น้องซึ่งได้ที่พักชั่วคราวในหอประชุมหกหลังก็ได้รับการจัดระเบียบ. เราสามารถนับจำนวนพยานฯ ที่แน่นอนซึ่งหนีออกมาได้ นั่นคือ 1,800 คนรวมทั้งเด็ก ๆ.
แล้วอนาคตจะเป็นอย่างไร? เจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นวางแผนจะตั้งค่ายผู้ลี้ภัยขึ้นอย่างรวดเร็ว. อย่างไรก็ตาม บางคนยังมีความทรงจำที่ไม่ดีเกี่ยวกับค่ายลี้ภัยซึ่งตั้งขึ้นหลังจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในปี 1994. เราตัดสินใจจะกลับไปเมืองโกมา และเราไปถึงเมืองนั้นตอนใกล้เที่ยง. เมืองนั้นถูกทำลายไปราว ๆ 25 เปอร์เซ็นต์. เราสามารถเดินบนลาวาที่ตอนนี้แข็งตัวแล้วซึ่งได้ไหลไปตามถนนในเมือง. ลาวายังอุ่น ๆ อยู่ และก๊าซที่เล็ดลอดออกมาก็ฟุ้งกระจายอยู่ในบรรยากาศ. หลายคนตัดสินใจกลับไปที่เมืองนั้น.
เวลา 13:00 น. เราประชุมกับผู้ปกครอง 33 คนในหอประชุมของประชาคมโกมากลาง. ความเห็นเป็นเอกฉันท์: พวกเขาตัดสินใจกลับโกมา. พวกเขากล่าวว่า “นี่คือที่ที่เราคุ้นเคย.” แล้วโอกาสที่ภูเขาไฟจะปะทุขึ้นมาอีกล่ะ? คำตอบคือ “เราชินกับมันแล้ว.” พวกเขากลัวว่าถ้าไม่รีบกลับไป ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นของเขาจะถูกขโมยไปหมด. วันถัดมาครอบครัวพยานฯ ทั้งหมดซึ่งหนีออกไปก็กลับมายังโกมา. คนส่วนใหญ่ในจำนวน 300,000 คนที่หนีข้ามชายแดนไปก็กลับมายังเมืองที่ได้รับความเสียหายนี้ด้วย.
หนึ่งสัปดาห์ต่อมา
เมืองนี้พลุกพล่านไปด้วยกิจกรรมต่าง ๆ อีกครั้งหนึ่ง. เห็นได้ชัดว่ามันจะไม่กลายเป็นเมืองร้าง. ไม่นานงานปรับระดับลาวาก็เริ่มขึ้น ซึ่งพอจะทำให้เมืองที่ถูกแยกเป็นสองส่วนเชื่อมต่อกันได้อีกครั้ง. ทุกสิ่งที่ขวางทางลาวาถูกทำลาย. ศูนย์กลางทางธุรกิจและฝ่ายบริหารถูกทำลาย. มีการกะประมาณว่าหนึ่งในสามของลานวิ่งในสนามบินถูกทำลาย.
การนับอย่างถี่ถ้วนแสดงว่าพยานฯ 180 ครอบครัวอยู่ในหมู่ผู้ที่สูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างและไร้ที่อยู่. คณะกรรมการบรรเทาทุกข์เตรียมการเพื่อช่วยเหลือผู้ชาย, ผู้หญิง, และเด็กประมาณ 5,000 คนให้ได้รับส่วนแบ่งอาหารประจำวัน. ผ้าใบพลาสติกที่พยานฯ ในเบลเยียม, ฝรั่งเศส, และสวิสเซอร์แลนด์บริจาคให้นั้นถูกใช้ทำที่พักชั่วคราวสำหรับคนไร้ที่อยู่ รวมทั้งเป็นสถานที่ประชุมสำหรับประชาคมที่หอประชุมได้รับความเสียหายอย่างหนักหรือถูกทำลายด้วย. พยานฯ ซึ่งไร้ที่อยู่บางครอบครัวจะอยู่กับพยานฯ ที่บ้านไม่ได้รับความเสียหาย ส่วนคนอื่นจะอยู่ในที่พักชั่วคราว.
วันศุกร์ที่ 25 มกราคม ประมาณสิบวันหลังจากคืนที่น่าหวาดกลัวนั้น มี 1,846 คนเข้าร่วมการประชุมซึ่งจัดขึ้นที่สนามของโรงเรียนในเมืองโกมาเพื่อฟังถ้อยคำที่หนุนกำลังใจจากพระคัมภีร์. พี่น้องกล่าวขอบคุณหลายต่อหลายครั้งสำหรับการหนุนกำลังใจรวมทั้งความช่วยเหลือในภาคปฏิบัติที่พระยะโฮวาทรงประทานให้ผ่านทางองค์การของพระองค์. พวกเราซึ่งเป็นผู้มาเยือนรู้สึกถูกกระตุ้นใจในความกล้าหาญและความเชื่อที่เข้มแข็งของพี่น้องเหล่านี้แม้ว่าจะประสบความหายนะ. ท่ามกลางความทุกข์เช่นนี้ น่ายินดีเพียงไรที่ได้เป็นส่วนของสังคมพี่น้องที่เป็นเอกภาพในการนมัสการพระเจ้าเที่ยงแท้ พระยะโฮวา ผู้เป็นแหล่งแห่งการปลอบโยนตลอดกาล!—บทเพลงสรรเสริญ 133:1; 2 โกรินโธ 1:3-7.
[เชิงอรรถ]
a ในภาษาสวาฮิลี ภูเขาไฟลูกนี้รู้จักกันว่า มูลีมา ยา โมโต หมายความว่า “ภูเขาแห่งไฟ.”
[แผนที่หน้า 22, 23]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
เส้นที่มีลูกศรแสดงถึงทิศทางการไหลของลาวา
คองโก (กินชาซา)
ภูเขาไฟ นีอีรากองโก
↓ ↓ ↓
สนามบินโกมา ↓ ↓
↓ โกมา
↓ ↓
ทะเลสาบคีวู
รวันดา
[ภาพหน้า 23]
ลาวาหลอมเหลวทำให้ประชาชนนับแสนคนต้องหนีออกไปจากเมืองโกมา
[ที่มาของภาพหน้า 23]
AP Photo/Sayyid Azim
[ภาพหน้า 24, 25]
ภายในหนึ่งสัปดาห์ พยานฯ ก็จัดการประชุมคริสเตียน