ดิฉันเรียนรู้ที่จะวางใจในพระเจ้า
เล่าโดยเอลลา โทม
ครอบครัวของเราอาศัยอยู่ใกล้เมืองเล็ก ๆ ชื่อโอเตปา ทางใต้ของเอสโตเนีย ห่างจากพรมแดนรัสเซียประมาณ 60 กิโลเมตร. ในเดือนตุลาคม 1944 ไม่กี่เดือนหลังจากที่ดิฉันจบการศึกษาระดับมัธยม สงครามโลกครั้งที่ 2 ใกล้จะยุติลงแล้ว. ขณะที่กองทัพรัสเซียขับไล่พวกเยอรมันผ่านเอสโตเนีย พวกเรากับเพื่อนบ้านซึ่งมีทั้งหมดประมาณ 20 คน ได้ซ่อนตัวในป่าพร้อมกับสัตว์เลี้ยงในฟาร์มของเรา.
เป็นเวลาสองเดือนที่มีการทิ้งระเบิดไปทั่วทุกแห่ง ราวกับว่าเราติดอยู่กลางสมรภูมิ. เราจะนั่งอยู่ด้วยกัน และดิฉันจะอ่านคัมภีร์ไบเบิลบางตอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพระธรรมบทเพลงร้องทุกข์. นั่นเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ดิฉันได้อ่านคัมภีร์ไบเบิล. วันหนึ่งดิฉันปีนขึ้นไปบนเนินเขาสูง คุกเข่าลงแล้วอธิษฐานว่า “เมื่อสงครามยุติลง ข้าพเจ้าสัญญาว่าจะไปโบสถ์ทุกวันอาทิตย์.”
ไม่นานนักแนวรบก็เคลื่อนไปทางตะวันตก. ในที่สุด เมื่อเยอรมนียอมแพ้ในเดือนพฤษภาคม 1945 สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ยุติลงในยุโรป. ในช่วงนี้เอง ดิฉันทำตามที่สัญญาไว้กับพระเจ้าโดยไปโบสถ์ทุกอาทิตย์. แต่ทว่ามีเพียงผู้หญิงสูงอายุไม่กี่คนเท่านั้นที่ไปโบสถ์. ดิฉันรู้สึกอายที่จะไปที่นั่น. ถ้ามีแขกมาเยี่ยมที่บ้านเรา ดิฉันก็เอาคัมภีร์ไบเบิลไปซ่อนไว้ใต้โต๊ะ.
ไม่นานดิฉันก็ได้งานเป็นครูที่โรงเรียนใกล้บ้าน. พอถึงตอนนั้นรัฐบาลคอมมิวนิสต์ก็ยึดอำนาจและความคิดเรื่องไม่มีพระเจ้าก็กำลังแพร่หลาย. แต่ดิฉันไม่ยอมเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์. ดิฉันง่วนอยู่กับงานช่วยเหลือสังคมหลายอย่าง เช่น จัดงานเต้นรำแบบพื้นบ้านสำหรับเด็ก ๆ.
ได้รู้จักกับพยานฯ
เนื่องจากเด็ก ๆ จำเป็นต้องใช้ชุดเต้นรำ ดิฉันจึงไปหาเอมิลี ซานนามีส์ ซึ่งเป็นช่างเย็บผ้าฝีมือดี นั่นเป็นช่วงเดือนเมษายน 1945. ดิฉันไม่รู้ว่าเธอเป็นพยานพระยะโฮวา. เธอถามว่า “คุณคิดอย่างไรเรื่องสถานการณ์ในโลก?” เนื่องจากกำลังมีการประชุมเพื่อสันติภาพในนครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ดิฉันจึงตอบว่า “อีกไม่นานนักรัฐบาลชุดนี้จะสิ้นอำนาจ และฉันมั่นใจว่าการประชุมเพื่อสันติภาพครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อทำให้แน่ใจว่ารัฐบาลนี้จะสิ้นอำนาจจริง ๆ.”
เอมิลีบอกว่าการประชุมเพื่อสันติภาพครั้งนี้จะไม่แก้ปัญหาอย่างยั่งยืน และเธอขอเปิดคัมภีร์ไบเบิลให้ดิฉันดูว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น. ตอนนั้นดิฉันยังไม่พร้อมจะฟังหญิงวัยกลางคนซึ่งมีกิริยาท่าทางอ่อนโยนผู้นี้ เธอจึงถามดิฉันข้อหนึ่งว่า “คุณรู้ไหมว่าพระเจ้าประสงค์ให้อาดามกับฮาวาอยู่ที่ไหน?” เนื่องจากดิฉันตอบไม่ได้ เธอจึงบอกว่า “ลองไปถามคุณพ่อคุณดูนะ.”
เมื่อกลับถึงบ้าน ดิฉันถามคุณพ่อ. ท่านตอบไม่ได้และบอกว่าเราไม่จำเป็นต้องสนใจศึกษาคัมภีร์ไบเบิล แค่เราเชื่อก็พอแล้ว. เมื่อดิฉันกลับไปรับชุดเต้นรำ ดิฉันบอกเอมิลีว่าคุณพ่อตอบคำถามของเธอไม่ได้. เธอกับพี่สาวจึงเอาคัมภีร์ไบเบิลออกมาและอ่านคำสั่งของพระเจ้าที่มีต่ออาดามและฮาวา ซึ่งให้เขาดูแลรักษาสวนอุทยาน และให้อาศัยอยู่ที่นั่นอย่างมีความสุขตลอดไป. พวกเธอเปิดคัมภีร์ไบเบิลให้ดิฉันดูว่าพระเจ้าประสงค์ให้อาดามกับฮาวามีลูกหลานและขยายอุทยานออกไปทั่วโลก. ดิฉันรู้สึกตื่นเต้นเมื่อเห็นหลักฐานจากคัมภีร์ไบเบิล!—เยเนซิศ 1:28; 2:8, 9, 15; บทเพลงสรรเสริญ 37:29; ยะซายา 45:18; วิวรณ์ 21:3, 4.
การประชุมคริสเตียนครั้งแรกของดิฉัน
เนื่องจากในฤดูร้อนปีนั้นดิฉันต้องเข้ารับการอบรมหลักสูตรสำหรับครูเป็นเวลาสามเดือนที่เมืองตาร์ตู เอมิลีจึงให้ที่อยู่ของพยานฯ ในเมืองนั้นแก่ดิฉัน. เธอยังให้หนังสือการทรงสร้างแก่ดิฉันด้วย ซึ่งเสนอความจริงพื้นฐานในคัมภีร์ไบเบิลไว้อย่างชัดเจนและตราตรึงอยู่ในหัวใจของดิฉัน. ดังนั้น ในวันที่ 4 สิงหาคม 1945 ดิฉันไปตามที่อยู่ที่เธอให้มา.
เมื่อไม่มีใครเปิดประตู ดิฉันจึงเคาะประตูเสียงดังจนคนข้างบ้านเปิดประตูออกมาและให้ที่อยู่อีกแห่งหนึ่งแก่ดิฉัน นั่นคือบ้านเลขที่ 56 ถนนซาลเม. เมื่อไปถึงที่นั่น ดิฉันถามผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งกำลังปอกมันฝรั่งอยู่ในห้องว่า “มีการประชุมศาสนาที่นี่ใช่ไหมคะ?” เธอไล่ดิฉันออกไปด้วยความฉุนเฉียว และบอกว่าที่นี่ไม่ต้อนรับดิฉัน. แต่เนื่องจากดิฉันยังยืนกราน เธอจึงเชิญดิฉันขึ้นไปชั้นบนเพื่อร่วมกลุ่มการศึกษาพระคัมภีร์. ไม่นานก็มีการพักกลางวัน และดิฉันก็เตรียมตัวกลับ. แต่ผู้เข้าร่วมคนอื่น ๆ กระตุ้นให้ดิฉันอยู่ต่อ.
ขณะที่ดิฉันมองไปรอบ ๆ ในช่วงพักกลางวัน ดิฉันเห็นชายหนุ่มสองคน ซึ่งผอมและซีดเซียวกว่าปกติกำลังนั่งอยู่ใกล้หน้าต่าง. ต่อมาดิฉันได้รู้ว่าระหว่างสงคราม ชายสองคนนี้ซ่อนตัวอยู่ในที่ซ่อนต่าง ๆ เป็นเวลากว่าหนึ่งปีเพื่อจะไม่ถูกจับ.a ระหว่างการประชุมภาคบ่าย ฟรีดริก อัลต์เปเร ใช้คำว่า “อาร์มาเก็ดดอน” ในคำบรรยายเรื่องหนึ่ง. เนื่องจากดิฉันไม่รู้จักคำนี้ ตอนหลังดิฉันจึงถามเขา เขาจึงเปิดคัมภีร์ไบเบิลให้ดิฉันดูคำนี้. (วิวรณ์ 16:16) เมื่อเขาเห็นดิฉันแปลกใจ เขาก็ดูเหมือนจะแปลกใจเช่นกันที่ดิฉันไม่รู้จักคำนี้.
ดิฉันเริ่มเข้าใจว่าการประชุมนี้จัดขึ้นสำหรับพยานฯ ที่รู้จักและไว้ใจกันเท่านั้น. ต่อมาดิฉันได้มารู้อีกว่านี่เป็นการประชุมครั้งแรกของพวกเขาหลังสงคราม! นับแต่นั้นมา ดิฉันตระหนักดีถึงความจำเป็นต้องวางใจในพระเจ้า. (สุภาษิต 3:5, 6) หนึ่งปีต่อมา ในเดือนสิงหาคม 1946 เมื่ออายุได้ 20 ปี ดิฉันรับบัพติสมาซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งการอุทิศตัวแด่พระยะโฮวา พระเจ้าองค์เที่ยงแท้.
รับมือกับการต่อต้านจากครอบครัว
รัฐบาลบังคับให้โรงเรียนสอนแนวคิดเรื่องไม่มีพระเจ้า และเรื่องนี้เป็นการทดสอบสติรู้สึกผิดชอบของดิฉันที่ได้รับการฝึกฝนจากคัมภีร์ไบเบิล. ดิฉันอยากเปลี่ยนอาชีพ. เมื่อดิฉันเล่าเรื่องนี้ให้คุณแม่ฟัง ท่านเดือดดาลมากและกระชากผมของดิฉันจนหลุดออกมากระจุกหนึ่ง. ดิฉันจึงตัดสินใจว่าจะออกจากบ้าน. แต่คุณพ่อหนุนใจให้ดิฉันอดทน และบอกว่าท่านจะช่วยดิฉัน.
อันส์ น้องชายก็ช่วยคุณแม่ต่อต้านดิฉันด้วย. แต่วันหนึ่งเขาขอหนังสือของดิฉันไปอ่าน แล้วก็ชอบมาก. คุณแม่โกรธมาก. อันส์ถึงกับเริ่มพูดเรื่องพระเจ้าที่โรงเรียน แต่เมื่อถูกต่อต้าน เขาก็เลิกคบหากับพยานฯ. ไม่นานหลังจากนั้น เขาประสบอุบัติเหตุจากการกระโดดน้ำและได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ. เขานอนอยู่บนเปลหาม เป็นอัมพาต แต่ความคิดจิตใจของเขายังดีอยู่. เขาถามว่า “พระยะโฮวาจะให้อภัยผมไหม?” ดิฉันตอบว่า “ให้อภัยสิ.” ไม่กี่วันต่อมาอันส์ก็เสียชีวิต. เขามีอายุแค่ 17 ปี.
เดือนกันยายน 1947 ดิฉันออกจากงานที่โรงเรียน. คุณแม่ยังคงต่อต้านดิฉันอย่างรุนแรง. เมื่อท่านขนเสื้อผ้าทั้งหมดของดิฉันออกไปทิ้งนอกบ้าน ดิฉันจึงออกจากบ้านและสองพี่น้องซานนามีส์ก็รับดิฉันไปอยู่ด้วย. เมื่อพวกเธอกระตุ้นเตือนดิฉันว่าพระยะโฮวาไม่มีวันทอดทิ้งผู้รับใช้ของพระองค์ ดิฉันก็ได้รับกำลังใจมาก.
การทดลองในเอสโตเนียช่วงหลังสงคราม
สองพี่น้องซานนามีส์ให้ดิฉันทำงานกับพวกเธอโดยเย็บผ้าให้ครอบครัวที่อาศัยในฟาร์มต่าง ๆ. เราสามารถบอกเล่าความจริงจากคัมภีร์ไบเบิลให้คนเหล่านี้ได้บ่อย ๆ. ช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีความสุขมาก เพราะดิฉันไม่เพียงได้เรียนรู้การเย็บผ้า แต่ยังมีประสบการณ์มากขึ้นในงานเผยแพร่แบบคริสเตียนด้วย. นอกจากการเย็บผ้าแล้ว ดิฉันยังได้งานเป็นครูสอนพิเศษวิชาคณิตศาสตร์. อย่างไรก็ตาม ในปี 1948 พวกเจ้าหน้าที่เริ่มจับกุมพยานฯ.
ในเดือนตุลาคมปีต่อมา บังเอิญวันนั้นดิฉันทำงานอยู่ในฟาร์มแห่งหนึ่ง มีคนมาบอกดิฉันว่าพวกเจ้าหน้าที่ไปที่บ้านของสองพี่น้องซานนามีส์เพื่อจับดิฉัน. เมื่อดิฉันหนีไปซ่อนตัวที่ฟาร์มของบราเดอร์ฮูโก ซูซี ดิฉันจึงได้ทราบว่าเขาเพิ่งถูกจับไป. ผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งดิฉันเคยเย็บผ้าให้ชวนดิฉันไปอยู่กับเธอ. ต่อมา ดิฉันย้ายไปตามฟาร์มต่าง ๆ ทำงานเย็บผ้าและยังคงทำงานประกาศต่อไป.
พอเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว คณะกรรมการตำรวจลับแห่งโซเวียต (เคจีบี) ก็พบตัวดิฉันจนได้ที่เมืองตาร์ตู ในบ้านของหญิงสาวคนหนึ่งที่ชื่อลินดา เมตติก ซึ่งเป็นพยานฯ ที่กระตือรือร้นอีกคนหนึ่งและมีอายุมากกว่าดิฉันไม่กี่ปี. พวกเขาจับกุมดิฉันและส่งตัวดิฉันไปสอบสวน. ดิฉันถูกบังคับให้ถอดเสื้อผ้าออกทั้งหมดโดยมีตำรวจหนุ่มยืนจ้องอยู่ ซึ่งดิฉันถือเป็นการเหยียดหยามอย่างมาก. แต่หลังจากดิฉันอธิษฐานต่อพระยะโฮวา สันติสุขและความสงบใจก็เกิดขึ้นในใจดิฉัน.
ต่อจากนั้น ดิฉันถูกขังในห้องเล็ก ๆ ซึ่งไม่มีแม้แต่ที่ให้นอนด้วยซ้ำ. ดิฉันถูกนำตัวออกมาเฉพาะเมื่อมีการสอบสวน. เจ้าหน้าที่บอกว่า “เราไม่ได้ขอให้แกปฏิเสธว่าไม่มีพระเจ้า. แค่ขอให้หยุดประกาศเรื่องโง่ ๆ พวกนี้เท่านั้น! แกอาจจะมีอนาคตที่ดีกว่านี้ก็ได้.” และพวกเขาก็จะขู่ว่า “แกอยากจะมีชีวิตอยู่ต่อไปไหม? หรืออยากจะตายกับพระเจ้าของแกในทุ่งไซบีเรีย?”
เป็นเวลาสามวัน พวกเขาไม่ให้ดิฉันนอนหลับเลยระหว่างที่ถูกสอบสวนครั้งแล้วครั้งเล่า. การคิดรำพึงถึงหลักการในคัมภีร์ไบเบิลช่วยดิฉันให้อดทนได้. ในที่สุด ผู้สอบสวนคนหนึ่งก็ขอดิฉันให้ลงชื่อในเอกสารที่บอกว่าดิฉันจะหยุดประกาศ. ดิฉันตอบว่า “ดิฉันคิดใคร่ครวญเรื่องนี้ดีแล้ว ดิฉันยอมอยู่ในคุกและมีสัมพันธภาพที่ดีกับพระเจ้าดีกว่าที่จะเป็นอิสระแต่ทำให้พระองค์ไม่พอพระทัย.” ตอนนั้นผู้สอบสวนตะโกนว่า “ทำไมถึงโง่อย่างนี้! พวกแกทุกคนจะถูกจับและถูกส่งไปไซบีเรีย!”
จู่ ๆ ก็ถูกปล่อยตัวเป็นอิสระ
น่าแปลกใจ ก่อนเที่ยงคืนเล็กน้อย ผู้สอบสวนบอกดิฉันให้เก็บข้าวของและไปเสีย. เนื่องจากดิฉันรู้ว่าจะมีคนสะกดรอยตามดิฉัน ดิฉันจึงไม่ได้ไปที่บ้านของเพื่อนคริสเตียน เนื่องจากนั่นเท่ากับเป็นการทรยศพวกเขา. ขณะที่ดิฉันเดินไปตามถนน ผู้ชายสามคนตามดิฉันมาจริง ๆ. ดิฉันอธิษฐานขอให้พระยะโฮวาทรงนำ จากนั้นก็เดินเลี้ยวเข้าไปในถนนมืด ๆ และรีบวิ่งเข้าไปในสวนแห่งหนึ่ง. ดิฉันนอนลงบนพื้นและโกยใบไม้ปิดคลุมตัวไว้. ดิฉันได้ยินเสียงผู้ชายพวกนั้นเดินเหยียบใบไม้ดังกรอบแกรบและเห็นแสงจากไฟฉายของพวกเขา.
หลายชั่วโมงผ่านไป และกระดูกของดิฉันชาไปเนื่องจากความหนาวเย็น. ในที่สุด ดิฉันก็เดินออกมาตามถนนที่ปูด้วยหินโดยถือรองเท้าไว้เพื่อจะไม่ทำให้เกิดเสียง. ดิฉันออกไปจากเมืองและเดินตามท้องร่องข้างถนนหลวง. เมื่อรถยนต์วิ่งผ่านมา ดิฉันก็หมอบลง. พอตีห้า ดิฉันไปถึงบ้านของยูรีกับมีตา โทเมล ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเมืองตาร์ตู.
มีตา รีบเปิดห้องอบไอน้ำให้ดิฉันเพื่อจะช่วยให้ร่างกายอุ่นขึ้น. วันรุ่งขึ้นเธอไปที่เมืองตาร์ตูและติดต่อกับลินดา เมตติก. ลินดากระตุ้นดิฉันว่า “ให้เราเริ่มออกประกาศเดี๋ยวนี้ และประกาศข่าวดีไปให้ทั่วเอสโตเนียเลย.” หลังจากที่ดิฉันเปลี่ยนโฉมใหม่โดยเปลี่ยนทรงผม, แต่งหน้าเล็กน้อย, และใส่แว่นตา เราก็เริ่มงานประกาศกัน. ในช่วงหลายเดือนจากนั้น เราขี่จักรยานไปไกลมาก. ตลอดทางเราหนุนกำลังใจเพื่อนร่วมความเชื่อที่อยู่ในฟาร์มต่าง ๆ.
พยานฯ จัดเตรียมการประชุมใหญ่ในวันที่ 24 กรกฎาคม 1950 ในโรงนาขนาดใหญ่ของนักศึกษาพระคัมภีร์คนหนึ่งใกล้เมืองโอเตปา. เมื่อเรารู้ว่าพวกเคจีบีสืบทราบเรื่องแผนการที่เราจะประชุมกัน เราสามารถเตือนพยานฯ ส่วนใหญ่ซึ่งกำลังเดินทางมาให้รู้. มีการจัดเตรียมสถานที่อีกแห่งหนึ่งในวันถัดไป และมีคนประมาณ 115 คนเข้าร่วมประชุม. แต่ละคนกลับบ้านด้วยความยินดีและตั้งใจแน่วแน่ยิ่งกว่าแต่ก่อนที่จะซื่อสัตย์ภักดีแม้เผชิญการทดลอง.b
หลังจากนั้น ดิฉันกับลินดาก็ทำงานประกาศและหนุนกำลังใจเพื่อนคริสเตียนต่อ ๆ ไป. ต่อมาในปีนั้น เราทำงานเก็บมันฝรั่งและแบ่งปันข่าวสารราชอาณาจักรกับคนที่ทำงานกับเราได้. เจ้าของไร่ถึงกับหยุดงานและฟังเราเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง แล้วพูดว่า “เราไม่ค่อยได้ยินข่าวดีแบบนี้กันเลย!”
ดิฉันกับลินดากลับไปที่เมืองตาร์ตู แล้วเราได้รู้ว่ามีพยานฯ ถูกจับกุมมากขึ้น รวมทั้งคุณแม่ของลินดาด้วย. ตอนนี้เพื่อนของเราส่วนใหญ่ถูกจับ รวมทั้งสองพี่น้องซานนามีส์. เนื่องจากเรารู้ว่าพวกเคจีบีกำลังตามหาเรา เราจึงหาจักรยานสองคันและประกาศนอกเมืองตาร์ตูต่อไป. คืนหนึ่ง พวกเคจีบีพบดิฉันที่บ้านของอัลมา วาร์ดจา ซึ่งเป็นพยานฯ ที่เพิ่งรับบัพติสมาใหม่. เมื่อตรวจหนังสือเดินทางของดิฉัน เคจีบีคนหนึ่งก็ร้องออกมาว่า “เอลลา! เราตามหาคุณจนทั่วเลย!” นั่นคือวันที่ 27 ธันวาคม 1950.
ถูกจำคุกแล้วถูกส่งไปไซบีเรีย
ดิฉันกับอัลมาเก็บข้าวของเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วยความสงบ แล้วเราก็กินอาหารกัน. เจ้าหน้าที่เคจีบีแปลกใจมากและพูดว่า “พวกคุณไม่ร้องไห้ด้วยซ้ำ. คุณเอาแต่นั่งกินอาหารกันเฉย ๆ.” เราตอบว่า “เรากำลังจะไปทำงานมอบหมายใหม่ของเรา และเราไม่รู้ว่าจะได้กินอาหารอีกเมื่อไร.” ดิฉันเอาผ้าห่มไปด้วย ซึ่งต่อมาดิฉันเอามาทำถุงเท้าและถุงมือเพื่อช่วยให้อบอุ่น. หลังจากถูกจำคุกหลายเดือน ในเดือนสิงหาคม 1951 ดิฉันกับพยานฯ คนอื่น ๆ ในเอสโตเนียก็ถูกเนรเทศ.c
จากเอสโตเนียเราถูกส่งขึ้นรถไฟไปยังเมืองเลนินกราด (ปัจจุบันคือเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก) รัสเซีย และจากที่นั่นเราเดินทางต่อไปยังค่ายแรงงานที่มีชื่อฉาวโฉ่ในเมืองวอร์กูตา สาธารณรัฐโกมี ซึ่งอยู่เหนือเส้นอาร์กติกเซอร์เคิล. มีพยานฯ สามคนอยู่ในกลุ่มของเรา. ดิฉันเคยเรียนภาษารัสเซียในโรงเรียนและได้ฝึกใช้ภาษานี้นับตั้งแต่ดิฉันถูกจับ. ดิฉันจึงพูดภาษารัสเซียได้คล่องแคล่วเมื่อเรามาถึงค่าย.
ในเมืองวอร์กูตา เราพบหญิงสาวชาวยูเครนคนหนึ่งซึ่งเข้ามาเป็นพยานฯ ขณะอยู่ในค่ายกักกันของนาซีที่โปแลนด์. ในปี 1945 หญิงสาวคนนี้กับพยานฯ อีก 14 คนถูกนำตัวไปลงเรือลำที่พวกเยอรมันตั้งใจจะจมในทะเลบอลติก. อย่างไรก็ตาม เรือลำนั้นเดินทางไปถึงเดนมาร์กอย่างปลอดภัย. ต่อมา หลังจากเธอกลับไปรัสเซีย เธอถูกจับเนื่องจากทำงานประกาศ และถูกส่งไปยังวอร์กูตา และที่นั่นเองเธอเป็นแหล่งแห่งกำลังใจสำหรับพวกเรา.
เรายังได้พบกับผู้หญิงอีกสองคน ซึ่งถามเราด้วยภาษายูเครนว่า “มีใครที่นี่เป็นพยานของพระยะโฮวาบ้าง?” เรารู้ทันทีว่าพวกเขาเป็นพี่น้องคริสเตียนของเรา! พวกเขาหนุนกำลังใจและดูแลเรา. นักโทษคนอื่น ๆ พูดกันว่า ราวกับมีครอบครัวที่คอยต้อนรับพวกเราอยู่เมื่อไปถึง.
ย้ายไปค่ายมอร์โดเวีย
ในเดือนธันวาคม 1951 ผลการตรวจร่างกายพบว่าดิฉันเป็นโรคไทรอยด์ ดิฉันจึงถูกย้ายไปอยู่ที่เรือนจำขนาดใหญ่ในมอร์โดเวีย ซึ่งอยู่ไกลออกไปหนึ่งพันห้าร้อยกิโลเมตรทางตะวันตกเฉียงใต้ และอยู่ห่างจากกรุงมอสโกประมาณ 400 กิโลเมตรทางตะวันออกเฉียงใต้. ในช่วงหลังจากนั้น ดิฉันได้พบพยานฯ ชาวเยอรมัน, ฮังการี, โปแลนด์, และยูเครนในค่ายผู้ต้องขังหญิงที่ดิฉันถูกคุมขัง. ดิฉันยังพบกับไมมู ซึ่งเป็นนักโทษทางการเมืองจากเอสโตเนียอีกด้วย.
เมื่ออยู่ในเรือนจำที่เอสโตเนีย ไมมูให้กำเนิดลูกคนหนึ่ง แล้วผู้คุมที่ใจดีนำลูกของเธอไปให้คุณแม่ของไมมู. ที่เรือนจำมอร์โดเวีย เราศึกษาพระคัมภีร์กับไมมู และเธอก็ยอมรับสิ่งที่เธอได้เรียนรู้. เธอยังเขียนจดหมายไปถึงคุณแม่ ซึ่งก็ยอมรับความจริงในคัมภีร์ไบเบิลและสอนคาริน ลูกสาวตัวน้อยของไมมูด้วย. หกปีต่อมา ไมมูถูกปล่อยตัวจากเรือนจำและได้ไปอยู่กับลูกของเธออีก. เมื่อคารินโตขึ้น เธอก็แต่งงานกับเพื่อนพยานฯ คนหนึ่ง. ทั้งสองรับใช้ด้วยกันในช่วง 11 ปีที่ผ่านมาในสำนักงานสาขาของพยานพระยะโฮวาที่กรุงทาลลินน์ เอสโตเนีย.
เรือนจำแห่งหนึ่งในค่ายขนาดใหญ่ที่มอร์โดเวียมีส่วนที่เรียกว่ากรงขัง. มันเป็นโรงที่พักเล็ก ๆ ซึ่งมีทหารเฝ้าอยู่อย่างใกล้ชิดภายในกำแพงสูง. พยานฯ คนอื่น ๆ อีกหกคนกับดิฉันถูกส่งตัวไปที่นั่นเนื่องจากกิจกรรมคริสเตียนของเรา. แต่แม้จะอยู่ที่นั่น เราก็ทำสำเนาหอสังเกตการณ์ ฉบับจิ๋วที่เขียนด้วยมือและลักลอบส่งไปให้คนอื่นในค่ายใกล้เคียง. วิธีหนึ่งที่เราใช้คือเจาะก้อนสบู่ให้เป็นโพรงข้างใน แล้วใส่บทความลงไป จากนั้นก็ปิดรูก้อนสบู่นั้น.
ช่วงหลายปีที่ดิฉันอยู่ในค่ายมอร์โดเวีย ดิฉันสามารถช่วยคนให้มาเป็นผู้รับใช้พระเจ้าได้มากกว่าสิบคน. ในที่สุด วันที่ 4 พฤษภาคม 1956 เจ้าหน้าที่บอกดิฉันว่า “ตอนนี้คุณมีอิสระที่จะไปไหนก็ได้และมีอิสระที่จะเชื่อในพระยะโฮวาพระเจ้าของคุณแล้ว.” ภายในเดือนนั้นเอง ดิฉันเดินทางกลับเอสโตเนีย.
เกือบ 50 ปีที่กลับมาอยู่บ้าน
ดิฉันไม่มีงานทำ, ไม่มีเงิน, และไม่มีบ้าน. แต่ภายในไม่กี่วันหลังจากมาถึงเอสโตเนีย ดิฉันพบกับผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งสนใจคำสอนของคัมภีร์ไบเบิล. เธอยอมให้ดิฉันอาศัยอยู่กับเธอและสามีในแฟลตขนาดห้องเดียวของเธอ. ดิฉันยืมเงินมาซื้อไหมพรมแล้วถักเสื้อสเวตเตอร์ จากนั้นเอาไปขายในตลาด. ต่อมา มีคนเสนองานให้ดิฉันทำที่โรงพยาบาลโรคมะเร็งที่เมืองตาร์ตู ที่ซึ่งดิฉันทำงานหลายอย่างในช่วงเจ็ดปีต่อมา. ในระหว่างนั้น เลมบิต โทม ก็กลับจากการถูกเนรเทศที่ไซบีเรียเช่นกัน และในเดือนพฤศจิกายน 1957 เราก็แต่งงานกัน.
พวกเคจีบียังคงติดตามเราเสมอ และเราถูกรังควานบ่อย ๆ เนื่องจากงานประกาศของเรายังถูกสั่งห้าม. กระนั้น เราก็ทำเท่าที่ทำได้ในการแบ่งปันความเชื่อของเรา. เลมบิต เล่าเรื่องราวชีวิตของเขาในตื่นเถิด! (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 22 กุมภาพันธ์ 1999. ในช่วงปลายทศวรรษ 1950 และตลอดทศวรรษ 1960 และ 1970 พยานฯ ที่ถูกเนรเทศก็ทยอยกันกลับบ้าน. พอถึงปลายทศวรรษ 1980 เราก็มีพยานฯ มากกว่า 700 คนที่เอสโตเนีย. ในปี 1991 กิจกรรมคริสเตียนของเราได้รับการยอมรับตามกฎหมาย และตั้งแต่นั้นมาเราก็มีพยานฯ เพิ่มขึ้นจนมีจำนวนกว่า 4,100 คนที่เอสโตเนีย!
บัดนี้เป็นเวลากว่า 60 ปีแล้วตั้งแต่ดิฉันเข้าร่วมการประชุมลับครั้งแรกของพยานฯ ในเอสโตเนียหลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2. ตั้งแต่นั้นมา ดิฉันตั้งใจแน่วแน่จะเชื่อฟังคำกระตุ้นเตือนของคัมภีร์ไบเบิลที่ว่า “จงวางใจในพระยะโฮวาและประพฤติการดี.” ดิฉันได้เรียนรู้ว่า การทำอย่างนี้ยังผลให้ได้รับ “ตามที่ใจปรารถนานั้น.”—บทเพลงสรรเสริญ 37:3, 4.
[เชิงอรรถ]
a ในสองคนนี้ คนหนึ่งคือเลมบิต โทม ซึ่งชีวประวัติของเขาลงพิมพ์ในตื่นเถิด! (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 22 กุมภาพันธ์ 1999.
b ดูตื่นเถิด! (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 22 กุมภาพันธ์ 1999 หน้า 12-13 สำหรับรายละเอียดของการประชุมใหญ่ครั้งนี้.
c แต่พยานฯ ส่วนใหญ่ในเอสโตเนียถูกเนรเทศช่วงต้นเดือนเมษายน 1951. ดูตื่นเถิด! (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 22 เมษายน 2001 หน้า 6-8 และวีดิทัศน์ซื่อสัตย์ภายใต้การทดลอง—พยานพระยะโฮวาในสหภาพโซเวียต (ภาษาอังกฤษ).
[คำโปรยหน้า 23]
“ให้เราเริ่มออกประกาศเดี๋ยวนี้ และประกาศข่าวดีไปให้ทั่วเอสโตเนียเลย.”—ลินดา เมตติก
[ภาพหน้า 24]
กับพยานฯ อีกเก้าคนในเรือนจำมอร์โดเวีย
[ภาพหน้า 24]
ปัจจุบันกับเลมบิต สามีของดิฉัน