มดน้ำผึ้ง—ของอร่อยจากทะเลทราย
ยูมีนียา เพื่อนชาวอะบอริจินีของเราอยากบอกความลับของทะเลทรายเรื่องหนึ่งให้เรารู้. เธอพาเราออกไปยังป่าละเมาะอันแห้งแล้งทางเหนือของเมืองอะลิซสปริงส์ในภาคกลางของออสเตรเลีย และเพ่งมองบนพื้นทราย. ที่ใต้ต้นมุลกา ซึ่งเป็นอาเคเชียชนิดหนึ่ง เธอมองตามแมลงตัวน้อยซึ่งจะนำเราไปหาของอร่อย. มันคือมดน้ำผึ้ง.
เธอตั้งหน้าตั้งตาขุดพื้นทรายไปตามอุโมงค์ของมด. ไม่นาน หลุมที่เธอขุดก็ลึกกว่าหนึ่งเมตรและกว้างพอจะนั่งลงไปได้. เสียงเธอดังออกมาจากหลุมว่า “เราจะขุดหามดน้ำผึ้งฤดูไหนก็ได้ แต่ฤดูหนาวเป็นช่วงที่ดีที่สุด เพราะในฤดูร้อนอากาศจะร้อนเกินไป.” เรามองดูขณะที่เธอพิจารณาอุโมงค์มดด้วยความชำนาญ. เธออธิบายว่า “เราต้องรู้ว่าควรขุดไปตามอุโมงค์ไหน.”
ไม่ทันไร ยูมีนียาก็พบรังมด. ในรังมีมดน้ำผึ้งอย่างน้อย 20 ตัวซึ่งส่วนท้องของมันใหญ่พอ ๆ กับผลองุ่นเนื่องจากเต็มไปด้วยของเหลวสีส้ม. มดตัวน้อยเหล่านี้เกาะอยู่บนเพดานรังและห้อยส่วนท้องลงมา. มันเดินไปไหนไม่ได้เพราะท้องของมันใหญ่มาก. ภายในไม่กี่นาที ยูมีนียาเก็บมดได้มากกว่าหนึ่งร้อยตัวจากหลายโพรง. เธอบอกว่า “น้ำหวานจากมดพวกนี้เป็นอาหารที่หวานที่สุดซึ่งหาได้ในป่าของเรา.”
โถน้ำผึ้งที่มีชีวิต
มดน้ำผึ้งเป็นมดที่แปลกที่สุดชนิดหนึ่งในบรรดามดกว่า 10,000 ชนิด. ต่างจากผึ้งที่เก็บน้ำหวานไว้ในรวงผึ้ง มดน้ำผึ้งเก็บน้ำหวานในตัวของมดงานประเภทหนึ่ง. มดทั้งรังจะใช้น้ำหวานจาก “โถน้ำผึ้ง” ที่มีชีวิตนี้ในช่วงที่ขาดแคลนอาหาร.
ถ้าต้องการเก็บหรือนำอาหารไปใช้ มดจะใช้หนวดส่งสัญญาณที่ถูกต้องให้แก่มดเก็บน้ำหวาน. มดเก็บน้ำหวานจะอ้าปากเพื่อเปิด “โถน้ำผึ้ง.” ลิ้นพิเศษในกระเพาะจะควบคุมให้น้ำหวานไหลเข้าหรือไหลออก. ตลอดช่วงชีวิตซึ่งนานหลายเดือน ดูเหมือนมดเก็บน้ำหวานจะคายน้ำหวานออกมาจนหมดแล้วถูกเติมใหม่ได้หลายครั้ง.
ตามปกติ มดเก็บน้ำหวานจะเกาะอยู่กับที่ในรังใต้ดินที่ปลอดภัย ไม่ต้องเผชิญกับความแห้งแล้ง, ความร้อน, และสัตว์กินแมลง. ในโลกใต้ดินที่มืดมิด มันป้องกันตัวจากแบคทีเรียและเชื้อราโดยทาตัวของมันด้วยสารปฏิชีวนะจากต่อมพิเศษ.
“น้ำผึ้ง” มาจากไหน? ห่วงโซ่อาหารเริ่มจากน้ำเลี้ยงและน้ำหวานของต้นอาเคเชีย ซึ่งแมลงตัวเล็ก ๆ ที่เรียกว่าตัวเพลี้ยจะกินเข้าไป. มดงานจะรีดเอาน้ำหวานที่เป็นน้ำตาลส่วนเกินจากตัวเพลี้ยออกมา หรือไม่ก็เก็บน้ำหวานจากต้นไม้โดยตรง. สุดท้าย มดงานจะนำน้ำหวานที่รวบรวมมาได้ไปให้มดเก็บน้ำหวาน. แน่นอน เนื่องจากมดเก็บน้ำหวานมักจะอยู่นิ่ง ๆ มันจึงต้องการสารอาหารน้อยมาก และน้ำหวานส่วนใหญ่จะเข้าไปอยู่ใน “ที่เก็บน้ำผึ้ง”!
แต่นี่หมายความว่าเพลี้ยถูกเอาเปรียบไหม? ไม่เลย. ประการหนึ่ง มดไม่ได้เอาน้ำหวานไปจนหมด แต่เหลือไว้ให้มันพอใช้ด้วย. อีกประการหนึ่ง มดจะปกป้องเพลี้ยจากปรสิตและสัตว์ล่าเหยื่อ. ใช่แล้ว ทั้งมดและเพลี้ยต่างก็พึ่งพาอาศัยกันแบบที่ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์.
คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ไปดูมดซิ . . . จงพิจารณาทางทั้งหลายของมัน, และจงฉลาดขึ้น; มันไม่มีหัวหน้า, ผู้กำกับการ, หรือผู้ปกครอง. ถึงกระนั้นมันก็ยังสะสมอาหารไว้เมื่อฤดูร้อน, และรวบรวมเสบียงของมันไว้เมื่อฤดูเกี่ยวข้าว.” (สุภาษิต 6:6-8) ถ้อยคำดังกล่าวถูกต้องทีเดียว เพราะมดเป็นสัตว์ที่ร่วมมือกัน, ทำงานอย่างเป็นระเบียบ, และขยันจริง ๆ! และน่าทึ่งที่มดทะเลทรายจอมทรหดเหล่านี้สามารถผลิตของหวานที่อร่อยชื่นใจในสภาพแวดล้อมอันโหดร้ายเช่นนี้!
[ภาพหน้า 11]
ท้องของมดน้ำผึ้งใหญ่มากเนื่องจากเต็มไปด้วยน้ำหวาน
[ที่มาของภาพหน้า 11]
Pages 10, 11 top: M Gillam/photographersdirect.com; page 11: © Wayne Lynch/age fotostock