พระธรรมเล่มที่ 25—บทเพลงร้องทุกข์
ผู้เขียน: ยิระมะยา
สถานที่เขียน: ใกล้ยะรูซาเลม
เขียนเสร็จ: 607 ก.ส.ศ.
1. ทำไมพระธรรมบทเพลงร้องทุกข์มีชื่อที่เหมาะ?
พระธรรมเล่มนี้ของพระคัมภีร์ที่มีขึ้นโดยการดลใจมีชื่อที่เหมาะทีเดียว. พระธรรมนี้เป็นบทคร่ำครวญที่แสดงถึงความโศกเศร้าเหลือล้นต่อเหตุภัยพิบัติในประวัติแห่งชนชาติที่พระเจ้าทรงเลือกสรร คือการทำลายกรุงยะรูซาเลมในปี 607 ก.ส.ศ. โดยนะบูคัดเนซัรกษัตริย์แห่งบาบูโลน. พระธรรมนี้ถูกตั้งชื่อในภาษาฮีบรูตามคำขึ้นต้นพระธรรมนี้คือ เอห์คาห์ʹ! ซึ่งหมายความว่า “อย่างไรหนอ!” ผู้แปลฉบับแปลกรีกเซปตัวจินต์ เรียกพระธรรมนี้ว่า ทรีʹนอย ซึ่งหมายความว่า “เพลงคร่ำครวญ; เพลงโศก.” ทัลมุดของบาบูโลนใช้คำ คิโนทʹ ซึ่งหมายถึง “เพลงคร่ำครวญ; เพลงไว้อาลัย.” เจโรมซึ่งเขียนในภาษาลาตินเป็นผู้ให้ชื่อพระธรรมนี้ว่า ลาเมนทาทิโอเนส ซึ่งเป็นที่มาของชื่อในภาษาอังกฤษของพระธรรมนี้.
2. บทเพลงร้องทุกข์ถูกจัดกลุ่มและตำแหน่งไว้ในพระคัมภีร์อย่างไร?
2 ในคัมภีร์ไบเบิลฉบับภาษาอังกฤษ บทเพลงร้องทุกข์ถูกจัดให้อยู่หลังพระธรรมยิระมะยา แต่ในสารบบพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูมักจะพบพระธรรมนี้ในฮากิออกราฟา หรือพระธรรมต่าง ๆ ที่อยู่รวมกับเพลงไพเราะของกษัตริย์ซะโลโม, ประวัตินางรูธ, ท่านผู้ประกาศ, และเอศเธระ—เป็นกลุ่มพระธรรมเล็ก ๆ รู้จักกันในฐานะเป็นห้า เมกิลลอทʹ (ม้วน). ในคัมภีร์ไบเบิลภาษาฮีบรูบางฉบับในปัจจุบัน บทเพลงร้องทุกข์ถูกจัดไว้ระหว่างประวัตินางรูธหรือเอศเธระ กับท่านผู้ประกาศ แต่ในสำเนาโบราณกล่าวกันว่าพระธรรมนี้อยู่หลังยิระมะยา ดังปรากฏในคัมภีร์ไบเบิลของเราในทุกวันนี้.
3, 4. มีหลักฐานอะไรแสดงว่ายิระมะยาเป็นผู้เขียน?
3 พระธรรมนี้ไม่บอกชื่อผู้เขียน. แต่ก็แทบไม่มีข้อสงสัยว่ายิระมะยาเป็นผู้เขียน. ในฉบับแปลกรีกเซปตัวจินต์ พระธรรมนี้มีคำนำดังนี้: “และแล้วจึงเป็นไปดังนี้ หลังจากชาติยิศราเอลถูกนำไปเป็นเชลยและยะรูซาเลมร้างเปล่า ยิระมะยาจึงนั่งลงร่ำไห้คร่ำครวญด้วยเพลงร้องทุกข์ถึงยะรูซาเลมและกล่าวว่า.” เจโรมถือว่าข้อความนี้เป็นของปลอมและตัดข้อความดังกล่าวจากฉบับแปลของเขา. อย่างไรก็ตาม การสันนิษฐานว่ายิระมะยาเป็นผู้เขียนบทเพลงร้องทุกข์นั้นเป็นคำเล่าสืบปากที่ชาวยิวยอมรับและได้รับการยืนยันจากฉบับแปลซีรีแอกและฉบับแปลลาตินวัลเกต, ทาร์กุมของโจนาทาน, และทัลมุดของบาบูโลน, และอื่น ๆ อีก.
4 นักวิจารณ์บางคนพยายามพิสูจน์ว่ายิระมะยาไม่ได้เขียนบทเพลงร้องทุกข์. กระนั้น อรรถาธิบายคัมภีร์ไบเบิลอันศักดิ์สิทธิ์ (ภาษาอังกฤษ) มีกล่าวอ้างเป็นหลักฐานแสดงว่ายิระมะยาเป็นผู้เขียน ความว่า “คำบรรยายอย่างชัดเจนเกี่ยวกับยะรูซาเลมในบท 2 และ 4 ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นการพรรณนาของประจักษ์พยาน; เช่นเดียวกับความรู้สึกสงสารอย่างแรงกล้าและแนวร้อยกรองเชิงพยากรณ์ตลอดทั้งเรื่อง รวมทั้งลีลาการเขียน, สำนวน, และแนวคิด ล้วนเป็นลักษณะของยิระมะยา.”a มีสำนวนที่คล้ายกันหลายตอนในบทเพลงร้องทุกข์กับพระธรรมยิระมะยา เช่น สำนวนเกี่ยวกับความโศกเศร้าแสนสาหัสจน “น้ำตาไหล” (ทุกข์. 1:16; 2:11; 3:48, 49; ยิระ. 9:1; 13:17; 14:17) และสำนวนเกี่ยวกับความรู้สึกสะอิดสะเอียนต่อพวกผู้พยากรณ์และปุโรหิตเนื่องด้วยการอสัตย์อธรรมของพวกเขา. (ทุกข์. 2:14; 4:13, 14; ยิระ. 2:34; 5:30, 31; 14:13, 14) ข้อความในยิระมะยา 8:18-22 และ 14:17, 18 แสดงว่ายิระมะยามีความสามารถมากในการเขียนด้วยลีลาของบทเพลงร้องทุกข์.
5. เพราะเหตุใดเราจึงทราบเวลาที่เขียน?
5 เป็นที่เห็นพ้องกันโดยทั่วไปว่าเวลาที่เขียนคือไม่นานหลังจากยะรูซาเลมแตกในปี 607 ก.ส.ศ. ความสยดสยองของการล้อมและการเผากรุงยังคงชัดเจนในจิตใจของยิระมะยา และความรู้สึกเป็นทุกข์สาหัสของท่านมีการแสดงออกมาอย่างชัดเจน. ผู้ให้อรรถาธิบายคนหนึ่งกล่าวว่า ไม่มีการใช้ลักษณะความเศร้าโศกแบบเดียวอย่างเต็มขนาดในตอนใดตอนหนึ่ง แต่มีการใช้แต่ละลักษณะซ้ำแล้วซ้ำอีกในบทร้อยกรองหลายตอน. เขากล่าวอีกว่า “ความคิดที่สับสนวุ่นวายเช่นนี้ . . . เป็นหลักฐานหนักแน่นที่สุดอย่างหนึ่งว่า พระธรรมนี้อยู่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์และอารมณ์ความรู้สึกที่พระธรรมนี้ตั้งใจจะถ่ายทอด.”b
6. แบบและโครงสร้างของบทเพลงร้องทุกข์มีอะไรที่น่าสนใจ?
6 โครงสร้างของบทเพลงร้องทุกข์เป็นสิ่งที่ผู้คงแก่เรียนด้านคัมภีร์ไบเบิลสนใจอย่างยิ่ง. มีทั้งหมดห้าบท ซึ่งก็คือกลอนห้าบท. สี่บทแรกเป็นแบบอะครอสติก ซึ่งแต่ละบาท (ข้อ) จะเริ่มด้วยอักขระฮีบรูหนึ่งใน 22 ตัวเรียงลำดับกันไป. ส่วนบทที่สามมี 66 บาท ดังนั้น 3 บาทติดต่อกันจะเริ่มด้วยอักขระตัวเดียวกันก่อนจะใช้อักขระถัดไป. ส่วนกลอนบทที่ห้าไม่ใช่แบบอะครอสติกแม้ว่ามี 22 บาทก็ตาม.
7. ยิระมะยาแสดงความโศกเศร้าต่ออะไร แต่ยังมีความหวังอะไร?
7 บทเพลงร้องทุกข์แสดงออกซึ่งความโศกเศร้าอันท่วมท้นต่อการล้อม, การยึด, และการทำลายกรุงยะรูซาเลมโดยนะบูคัดเนซัร และไม่มีวรรณกรรมใดจะเทียบได้ในด้านการพรรณนาที่เห็นภาพชัดและการแสดงความรู้สึกเวทนา. ผู้เขียนแสดงออกซึ่งความโทมนัสอย่างลึกซึ้งต่อการร้างเปล่า, ความทุกข์, และความสับสนที่ท่านเห็น. ความอดอยาก, ดาบ, และสิ่งน่าสยดสยองอื่น ๆ ได้ก่อความทุกข์สาหัสแก่กรุงนี้—ทั้งหมดนั้นเป็นการลงโทษโดยตรงจากพระเจ้าเนื่องด้วยบาปของพลเมือง, พวกผู้พยากรณ์, และปุโรหิต. อย่างไรก็ตาม ความหวังและความเชื่อในพระยะโฮวายังคงอยู่ และคำอธิษฐานขอการฟื้นฟูจึงได้มุ่งไปยังพระองค์.
เนื้อเรื่องในบทเพลงร้องทุกข์
8. ความร้างเปล่าอะไรที่มีพรรณนาไว้ในกลอนบทแรก แต่ยะรูซาเลมที่เปรียบเหมือนบุคคลกล่าวถึงตัวเองอย่างไร?
8 “กรุงที่แต่ก่อนคับคั่งด้วยพลเมือง, บัดนี้มาอ้างว้างอยู่ได้อย่างไรหนอ?” กลอนบทแรกขึ้นต้นถ้อยคำคร่ำครวญอย่างนี้. บุตรีแห่งซีโอนเคยเป็นเจ้าหญิง แต่พวกคนรักได้ทิ้งนางไปและพลเมืองก็ถูกเนรเทศ. ประตูเมืองถูกละไว้ให้ร้างเปล่า. พระยะโฮวาได้ลงโทษนางเนื่องด้วยการล่วงละเมิดมากมาย. นางสูญเสียความรุ่งโรจน์งดงาม. เหล่าศัตรูหัวเราะเยาะที่นางล่มจม. นางตกต่ำลงด้วยอาการน่าฉงนและไม่มีผู้ปลอบโยน พลเมืองที่ยังเหลืออยู่ต่างก็หิวโหย. นาง (ยะรูซาเลมที่ถูกเปรียบเหมือนบุคคล) ถามว่า “มีความทุกข์ใดบ้างไหมอันเหมือนความทุกข์ที่เขาได้ทำกับข้าพเจ้า.” นางได้ยื่นแขนออกไปและพูดว่า “พระยะโฮวาทรงกระทำถูก [“ชอบธรรม,” ล.ม.] แล้ว, เพราะว่าข้าพเจ้าได้ขัดขืนบัญญัติของพระองค์.” (1:1, 12, 18) นางทูลขอพระยะโฮวาให้ก่อภัยพิบัติแก่เหล่าศัตรูที่ลิงโลดยินดี เช่นเดียวกับที่พระองค์ได้ทรงทำแก่นาง.
9. (ก) ภัยพิบัติที่เกิดแก่กรุงยะรูซาเลมมาจากใคร? (ข) ยิระมะยากล่าวอย่างไรถึงการเย้ยหยันมากมายที่มีต่อนางและสภาพการณ์อันสยดสยองในกรุงนี้?
9 “พระยะโฮวาช่างคลุมบุตรีชาวซีโอนเสียด้วยเมฆในยามกริ้วได้อย่างไรกัน?” (2:1) กลอนบทที่สองแสดงว่าพระยะโฮวาเองได้ทรงโยนความงดงามของยิศราเอลลงถึงพื้นดิน. พระองค์ได้ทำให้การฉลองเทศกาลและซะบาโตถูกลืมและทรงพังแท่นบูชาและสถานศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์. ช่างเป็นภาพที่น่าสังเวชจริง ๆ ในยะรูซาเลม! ยิระมะยาร้องออกมาว่า “นัยน์ตาของข้าพเจ้าก็ทรุดโทรมเพราะหลั่งน้ำตา, จิตต์ใจ [“ตับ,” ล.ม.] ของข้าพเจ้าก็ระบมบอบช้ำแทบอาเจียนเป็นโลหิตตกลงดิน, เพราะความพินาศแห่งบุตรีของพลเมืองข้าพเจ้า.” (2:11) ท่านจะเปรียบบุตรีแห่งยะรูซาเลมกับอะไร? ท่านจะปลอบโยนบุตรีแห่งซีโอนอย่างไร? เหล่าผู้พยากรณ์ของกรุงนั้นปรากฏว่าไร้ค่าและไม่น่าพอใจ. ตอนนี้ผู้ที่ผ่านไปมาหัวเราะเยาะนาง กล่าวว่า “นี่หรือคือกรุงที่คนทั้งปวงได้ขนานนามว่างามหมดจด, ว่าเป็นความชื่นชมยินดีของคนทั่วทั้งโลก?” (2:15) พวกศัตรูของนางทำปากแสยะและเป่าปากอีกทั้งขบเขี้ยวเคี้ยวฟันพูดว่า ‘นี่แหละคือวันที่เราคอยท่าจะเขมือบนาง.’ เด็ก ๆ ในกรุงนี้เป็นลมเพราะความอดอยากและพวกผู้หญิงได้กินลูกของตน. ศพเกลื่อนเต็มถนน. “พอถึงวันที่พระองค์ [“พระยะโฮวา,” ล.ม.] ทรงพระพิโรธก็ไม่มีสักคนหนึ่งหนีเอาตัวรอดได้หรือคงเหลือตกค้างรอดตายอยู่.”—2:16, 22.
10. ยิระมะยากล่าวถึงคุณลักษณะอะไรบ้างของพระเจ้าซึ่งเป็นพื้นฐานแห่งความหวัง?
10 กลอนบทที่สามมีหกสิบหกบาท (ข้อ) เน้นความหวังของซีโอนในเรื่องพระเมตตาจากพระเจ้า. ท่านผู้พยากรณ์ใช้คำอุปมาหลายเรื่องแสดงว่าพระยะโฮวาคือผู้ทำให้เกิดการตกเป็นเชลยและการร้างเปล่า. ในสภาพการณ์ที่ขมขื่น ผู้เขียนทูลขอพระเจ้าให้จดจำความทุกข์ของท่าน และท่านแสดงความเชื่อในความรักกรุณาและความเมตตาของพระยะโฮวา. สามบาทติดกันมีคำว่า “ดี” (ล.ม.) และแสดงถึงความสมควรของการรอคอยความรอดจากพระยะโฮวา. (3:25-27) พระยะโฮวาทรงทำให้เกิดความเศร้าโศก กระนั้น พระองค์จะแสดงความเมตตาด้วย. แต่ในตอนนี้ แม้จะมีการสารภาพเรื่องการขืนอำนาจ พระยะโฮวาก็ไม่ทรงยกโทษ; พระองค์ปิดกั้นคำอธิษฐานของไพร่พลของพระองค์และทำให้เขาเป็นเหมือน “หยากเยื่อและขยะมูลฝอย.” (3:45) ด้วยน้ำตาแห่งความขมขื่น ผู้พยากรณ์เล่าว่าศัตรูล่าท่านเหมือนล่านก. อย่างไรก็ตาม พระยะโฮวาเสด็จมาใกล้ท่านในบ่อและตรัสว่า “ไม่ต้องกลัว.” ท่านทูลขอพระยะโฮวาให้ทรงตอบคำหมิ่นประมาทของศัตรูดังนี้: “พระองค์คงจะได้ไล่ส่งเขาไปด้วยความพิโรธ, และทำลายล้างเขาให้สิ้นสูญไปไม่มีเหลืออยู่ภายใต้ท้องฟ้าของพระยะโฮวา.”—3:57, 66.
11. พระพิโรธอันร้อนแรงของพระยะโฮวาถูกเทลงบนซีโอนโดยวิธีใด และเพราะเหตุใด?
11 “นี่อย่างไรหนอทองคำจึงมีสีสลัว!” (4:1) กลอนบทที่สี่คร่ำครวญถึงสง่าราศีที่เสื่อมลงของพระวิหารของพระยะโฮวา ซึ่งหินของพระวิหารถูกทิ้งเกลื่อนถนน. บุตราที่ล้ำค่าแห่งซีโอนได้กลายเป็นสิ่งที่ด้อยค่าเหมือนไหดินเผา. ไม่มีน้ำหรือขนมปัง และผู้ที่ถูกเลี้ยงดูด้วยความหรูหรา “ต้องมาสวมกอดกองมูลสัตว์.” (4:5) การลงโทษนี้หนักยิ่งกว่าการลงโทษเนื่องด้วยบาปของโซโดม. พวกนาษารีษที่ครั้งหนึ่งเคย “ขาวบริสุทธิ์กว่าหิมะ, และขาวสะอาดกว่าน้ำนม” ก็กลับ “ดำเสียยิ่งกว่าถ่าน” และทุกคนล้วนแต่ซูบผอมไป. (4:7, 8) ถ้าถูกฆ่าด้วยดาบก็ดีกว่าตายเพราะความอดอยากในเวลาที่พวกผู้หญิงต้มลูก ๆ ของตน! พระยะโฮวาทรงเทพระพิโรธอันร้อนแรง. สิ่งไม่น่าเชื่อได้เกิดขึ้น—ปรปักษ์ได้เข้ามาในประตูกรุงยะรูซาเลม! และเพราะเหตุใด? “เป็นเพราะความผิดบาปของพวกศาสดาพยากรณ์แห่งกรุงซีโอน, และเพราะการอสัตย์อธรรมของพวกปุโรหิตของกรุงนั้น” ซึ่งได้ทำให้เลือดของคนชอบธรรมตก. (4:13) พระพักตร์ของพระยะโฮวาไม่ได้หันไปยังพวกเขา. อย่างไรก็ตาม ความผิดแห่งบุตรีของซีโอนได้มาถึงที่สุด และนางจะไม่ถูกนำไปเป็นเชลยอีก. โอบุตรีแห่งอะโดม บัดนี้เป็นคราวของเจ้าที่จะดื่มจากถ้วยอันขมขื่นของพระยะโฮวา!
12. คำทูลขอร้องด้วยความถ่อมใจอะไรที่มีกล่าวไว้ในกลอนบทที่ห้า?
12 กลอนบทที่ห้าขึ้นต้นด้วยคำทูลขอร้องพระยะโฮวาให้ระลึกถึงประชาชนที่กำพร้าของพระองค์. มีการให้ภาพเหล่าผู้อาศัยในยะรูซาเลมว่าเป็นผู้กล่าวถ้อยคำนั้น. บรรพบุรุษของพวกเขานั่นแหละที่ได้ทำบาปและเป็นความผิดของเขาเหล่านั้นที่ประชาชนต้องทนเอา. พวกที่เป็นแค่คนรับใช้ปกครองพวกเขา และเขาต้องถูกทรมานด้วยความเจ็บแปลบจากความหิว. ความยินดีในหัวใจพวกเขาหายไป การเต้นรำเปลี่ยนเป็นการคร่ำครวญ. พวกเขาป่วยทางใจ. พวกเขาได้ยอมรับพระยะโฮวาด้วยความถ่อมใจดังนี้: “พระยะโฮวา, พระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่เป็นนิจ, พระที่นั่งของพระองค์ดำรงอยู่ชั่วฟ้านิรันดร์.” พวกเขาร้องทูลว่า “ขอได้ทรงช่วยเอาพวกข้าพเจ้าให้ได้กลับคืนไปสู่พระองค์เถิด, แล้วพวกข้าพเจ้าจะได้หันเข้าหาพระองค์ได้, ขอได้ทรงโปรดชุบเลี้ยงชีวิตของพวกข้าพเจ้าไว้ใหม่, ให้เหมือนเมื่อครั้งอดีตกาลเถิด. แต่ถ้าพระองค์ได้สลัดทิ้งพวกข้าพเจ้าเสียอย่างจริงจัง, ก็แปลว่าพระองค์ได้ทรงกริ้วพวกข้าพเจ้าอย่างเกรี้ยวกราดแล้ว.”—5:19-22.
เหตุที่เป็นประโยชน์
13. บทเพลงร้องทุกข์แสดงความมั่นใจอะไร กระนั้น เหตุใดบทเพลงร้องทุกข์จึงเป็นประโยชน์เมื่อแสดงถึงวิธีที่พระเจ้าลงโทษอย่างหนัก?
13 พระธรรมบทเพลงร้องทุกข์แสดงถึงความมั่นใจเต็มเปี่ยมที่ยิระมะยามีต่อพระเจ้า. ด้วยความโทมนัสอันล้ำลึกและความพ่ายแพ้ยับเยิน อีกทั้งความหมดหวังอย่างสิ้นเชิงในเรื่องการปลอบประโลมไม่ว่าจากแหล่งใดของมนุษย์ ท่านผู้พยากรณ์คอยท่าความรอดจากพระหัตถ์ของพระยะโฮวา พระเจ้าองค์ยิ่งใหญ่แห่งเอกภพ. บทเพลงร้องทุกข์ควรกระตุ้นใจผู้นมัสการแท้ทุกคนให้เชื่อฟังและซื่อสัตย์มั่นคง ในขณะเดียวกันก็ให้คำเตือนอันน่ากลัวอันเกี่ยวข้องกับผู้ที่มองข้ามพระนามอันยิ่งใหญ่และสิ่งที่พระนามนั้นหมายถึง. ประวัติศาสตร์ไม่ได้แสดงถึงเมืองที่พินาศเมืองอื่นใดซึ่งมีคนคร่ำครวญด้วยถ้อยคำที่น่าเวทนาและน่าสะเทือนใจอย่างนี้. นับว่าเป็นประโยชน์อย่างแน่นอนในการพรรณนาถึงการที่พระเจ้าทรงลงโทษอย่างหนักแก่คนที่ยังคงขืนอำนาจ, คอแข็ง, และไม่กลับใจ.
14. คำเตือนและคำพยากรณ์อะไรบ้างของพระเจ้าซึ่งบทเพลงร้องทุกข์แสดงให้เห็นว่าได้สำเร็จเป็นจริง และพระธรรมนี้เกี่ยวโยงอย่างไรกับพระธรรมอื่น ๆ ที่มีขึ้นโดยการดลใจ?
14 บทเพลงร้องทุกข์ยังเป็นประโยชน์อีกด้วยในการแสดงถึงความสำเร็จเป็นจริงแห่งคำเตือนและคำพยากรณ์หลายตอนจากพระเจ้า. (ทุกข์. 1:2—ยิระ. 30:14; ทุกข์. 2:15—ยิระ. 18:16; ทุกข์. 2:17—เลวี. 26:17; ทุกข์. 2:20–บัญ. 28:53) นอกจากนี้ ขอสังเกตว่าบทเพลงร้องทุกข์ยังให้พยานหลักฐานที่ชัดเจนสำหรับความสำเร็จเป็นจริงของพระบัญญัติ 28:63-65 ด้วย. ยิ่งกว่านั้น พระธรรมนี้ยังมีข้ออ้างอิงหลายตอนถึงส่วนอื่น ๆ ของพระคัมภีร์บริสุทธิ์. (ทุกข์. 2:15—เพลง. 48:2; ทุกข์. 3:24—เพลง. 119:57) ดานิเอล 9:5-14 สนับสนุนบทเพลงร้องทุกข์ 1:5 และ 3:42 โดยแสดงให้เห็นว่าภัยพิบัติเกิดขึ้นเนื่องจากการล่วงละเมิดของพลเมืองเอง.
15. บทเพลงร้องทุกข์ชี้ไปถึง ‘วันใหม่’ อะไร?
15 สภาพเศร้าโศกของยะรูซาเลมช่างน่าทุกข์ใจจริง ๆ! กระนั้นก็ตาม บทเพลงร้องทุกข์แสดงความมั่นใจว่าพระยะโฮวาจะทรงสำแดงความรักกรุณาและความเมตตา และพระองค์จะทรงระลึกถึงซีโอนและนำนางกลับมา. (ทุกข์. 3:31, 32; 4:22) พระธรรมนี้กล่าวถึงความหวังใน ‘วันใหม่’ เหมือนวันเวลาเมื่อนานมาแล้วคราวที่กษัตริย์ดาวิดและซะโลโมครองราชย์ในกรุงยะรูซาเลม. สัญญาไมตรีของพระยะโฮวากับดาวิดเรื่องราชอาณาจักรถาวรยังคงอยู่! “ความเมตตาแห่งพระยะโฮวาว่ามีไม่ขาดตอน. ความเมตตากรุณานั้นมีมาใหม่ทุก ๆ เช้า.” และพระเมตตานั้นจะมีต่อ ๆ ไปแก่ผู้ที่รักพระยะโฮวาจนกระทั่ง ภายใต้การครอบครองที่ชอบธรรมของราชอาณาจักรของพระองค์ สรรพสิ่งที่มีชีวิตจะเปล่งเสียงด้วยความขอบพระคุณว่า “พระยะโฮวาทรงถือหุ้นร่วมกับข้าพเจ้า.”—5:21; 3:22-24.
[เชิงอรรถ]
a ปี 1952 เรียบเรียงโดย เจ. อาร์. ดัมเมโลว์ หน้า 483.
b การค้นคว้าพระธรรมบทเพลงร้องทุกข์ (ภาษาอังกฤษ) 1954 นอร์มัน เค. ก็อตต์วัลด์ หน้า 31.