พระธรรมเล่มที่ 43—โยฮัน
ผู้เขียน: อัครสาวกโยฮัน
สถานที่เขียน: เอเฟโซหรือบริเวณใกล้เคียง
เขียนเสร็จ: ประมาณปี 98 ส.ศ.
ครอบคลุมระยะเวลา: หลังจากคำนำ ปี ส.ศ. 29–33
1. ข้อคัมภีร์ต่าง ๆ แสดงให้เห็นอะไรเกี่ยวกับความใกล้ชิดของการคบหาระหว่างโยฮันกับพระเยซู?
บันทึกกิตติคุณของมัดธาย, มาระโก, และลูกาแพร่หลายเป็นเวลากว่า 30 ปีมาแล้วและเป็นสิ่งที่คริสเตียนในศตวรรษแรกถือว่าล้ำค่าในฐานะผลงานของคนที่ได้รับการดลใจโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์. ครั้นแล้ว เมื่อศตวรรษนั้นใกล้จะสิ้นสุดและจำนวนของคนที่เคยอยู่กับพระเยซูลดลง อาจเกิดคำถามขึ้นว่า ยังมีอะไรจะบอกอีกไหม? ยังมีใครอีกไหมที่อาจให้รายละเอียดอันทรงค่าเกี่ยวกับงานรับใช้ของพระเยซูจากความทรงจำของตนได้? ใช่ ยังมี. โยฮันผู้ชราได้รับการอวยพรเป็นพิเศษเมื่อร่วมงานกับพระเยซู. เห็นได้ชัดว่าท่านอยู่ในศิษย์กลุ่มแรกที่โยฮันผู้ให้บัพติสมาแนะนำให้รู้จักพระเมษโปดกของพระเจ้า และเป็นหนึ่งในสี่คนแรกที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเชิญให้ร่วมในงานเผยแพร่เต็มเวลากับพระองค์. (โย. 1:35-39; มโก. 1:16-20) ท่านร่วมงานใกล้ชิดกับพระเยซูเรื่อยมาตลอดงานรับใช้ของพระองค์และเป็นสาวกที่ “พระเยซูทรงรัก” ซึ่งได้เอนกายลงหน้าพระทรวงของพระเยซูในการฉลองปัศคามื้อสุดท้าย. (โย. 13:23; มัด. 17:1; มโก. 5:37; 14:33) ท่านอยู่ด้วย ณ การประหารอันน่าโทมนัสยิ่งนั้น ที่ซึ่งพระเยซูทรงมอบหมายท่านให้ดูแลมารดาทางเนื้อหนังของพระองค์ และท่านเองที่ได้วิ่งนำหน้าเปโตรขณะที่ท่านทั้งสองรีบไปที่อุโมงค์เพื่อตรวจสอบข่าวที่ว่าพระเยซูทรงคืนพระชนม์แล้ว.—โย. 19:26, 27; 20:2-4.
2. โดยวิธีใดที่โยฮันถูกเตรียมไว้พร้อมและได้รับการกระตุ้นให้เขียนกิตติคุณของท่าน และเพื่อจุดประสงค์อะไร?
2 โดยได้รับการขัดเกลาเกือบ 70 ปีในงานรับใช้อย่างขันแข็ง และโดยได้รับนิมิตต่าง ๆ รวมทั้งการไตร่ตรองในขณะถูกจำจองอย่างโดดเดี่ยวบนเกาะปัตโมสก่อนหน้านี้ไม่นาน โยฮันจึงถูกเตรียมไว้พร้อมเป็นอย่างดีเพื่อจะเขียนสิ่งต่าง ๆ ที่ท่านได้ทะนุถนอมไว้ในหัวใจเป็นเวลานาน. บัดนี้ พระวิญญาณบริสุทธิ์กระตุ้นจิตใจท่านให้รำลึกถึงคำตรัสมากมายเหล่านั้นซึ่งล้ำค่าและให้ชีวิต และเขียนไว้เป็นหนังสือเพื่อแต่ละคนที่อ่าน ‘จะได้เชื่อว่าพระเยซูคือพระคริสต์ พระบุตรของพระเจ้า และเนื่องจากมีความเชื่อ เขาก็จะได้ชีวิตโดยพระนามของพระเยซู.’—20:31, ล.ม.
3, 4. มีหลักฐานอะไรจากภายนอกและภายในที่แสดงว่า (ก) กิตติคุณเล่มนี้เป็นส่วนแห่งสารบบพระคัมภีร์ และ (ข) โยฮันเป็นผู้เขียน?
3 คริสเตียนในช่วงต้นศตวรรษที่สองยอมรับว่าโยฮันเป็นผู้เขียนบันทึกนี้และยังถือว่าบันทึกนี้เป็นส่วนแห่งสารบบพระคัมภีร์ที่มีขึ้นโดยการดลใจอย่างไม่มีข้อสงสัย. เคลเมนต์แห่งอะเล็กซานเดรีย, อิเรแนอุส, เทอร์ทูลเลียน, และออริเกนซึ่งล้วนแต่อยู่ในตอนปลายศตวรรษที่สองและตอนต้นศตวรรษที่สาม ต่างยืนยันว่าโยฮันเป็นผู้เขียน. ยิ่งกว่านั้น หลักฐานภายในมากมายที่ว่าโยฮันเป็นผู้เขียนก็พบได้ในพระธรรมนี้เอง. เห็นได้ชัดว่าผู้เขียนเป็นชาวยิวและคุ้นเคยดีกับขนบธรรมเนียมและดินแดนของชาวยิว. (2:6; 4:5; 5:2; 10:22, 23) เรื่องราวที่ละเอียดถี่ถ้วนบ่งชี้ว่าท่านไม่ได้เป็นเพียงอัครสาวกคนหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นหนึ่งในสามคนซึ่งเป็นคนวงใน คือเปโตร, ยาโกโบ, และโยฮัน ที่ได้ร่วมทางกับพระเยซูในโอกาสพิเศษต่าง ๆ. (มัด. 17:1; มโก. 5:37; 14:33) ในสามคนนี้ ตัดยาโกโบ (บุตรเซเบดาย) ออกไปได้เพราะท่านถูกเฮโรด อะฆะริปาที่ 1 สังหารเนื่องด้วยความเชื่อของท่านเมื่อประมาณปี ส.ศ. 44 นานก่อนที่มีการเขียนพระธรรมเล่มนี้. (กิจ. 12:2) เปโตรก็ตัดออกไปได้เพราะมีการกล่าวถึงท่านพร้อมกับผู้เขียนที่โยฮัน 21:20-24.
4 ในข้อท้าย ๆ นี้ มีการกล่าวถึงผู้เขียนว่าเป็นสาวกที่ “พระเยซูทรงรัก” มีการใช้ถ้อยคำนี้และถ้อยคำที่คล้ายคลึงกันหลายครั้งในบันทึก แม้ว่าไม่เคยกล่าวถึงชื่ออัครสาวกโยฮันเลยก็ตาม. ในที่นี้มีการยกคำตรัสของพระเยซูซึ่งกล่าวถึงท่านว่า “ถ้าเราประสงค์ให้เขายังคงอยู่ต่อไปจนกระทั่งเรามานั้น ก็จะเป็นธุระอะไรของเจ้าเล่า?” (โย. 21:20, 22, ล.ม.) คำตรัสนี้บ่งนัยว่าสาวกที่ถูกกล่าวถึงนั้นจะมีชีวิตยืนยาวกว่าเปโตรและอัครสาวกคนอื่น ๆ. ทั้งหมดนี้ตรงกับอัครสาวกโยฮัน. น่าสนใจที่ว่า หลังจากได้รับนิมิตในพระธรรมวิวรณ์เกี่ยวกับการเสด็จมาของพระเยซู โยฮันปิดท้ายคำพยากรณ์อันน่าทึ่งนั้นด้วยถ้อยคำว่า “อาเมน! เชิญเสด็จมาเถิด พระเยซูเจ้า.”—วิ. 22:20, ล.ม.
5. เชื่อกันว่าโยฮันเขียนกิตติคุณของท่านเมื่อไร?
5 แม้พระธรรมโยฮันเองไม่ให้ข้อมูลแน่ชัดเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่เชื่อกันโดยทั่วไปว่าโยฮันเขียนกิตติคุณของท่านหลังจากที่ท่านกลับจากถูกเนรเทศไปที่เกาะปัตโมส. (วิ. 1:9) จักรพรรดิเนอร์วาของโรม ซึ่งครองราชย์ปี ส.ศ. 96-98 ได้เรียกหลายคนซึ่งถูกเนรเทศในตอนปลายรัชกาลของโดมิเทียนจักรพรรดิองค์ก่อนให้กลับมา. หลังจากเขียนกิตติคุณของท่านเมื่อประมาณปี ส.ศ. 98 เชื่อกันว่าโยฮันสิ้นชีวิตอย่างสงบที่เมืองเอเฟโซในปีที่สามของจักรพรรดิทรายาน คือปี ส.ศ. 100.
6. หลักฐานอะไรบ่งชี้ว่ากิตติคุณของโยฮันเขียนนอกปาเลสไตน์ คือที่เมืองเอเฟโซหรือบริเวณใกล้เคียง?
6 เกี่ยวกับเมืองเอเฟโซหรือบริเวณใกล้เคียงซึ่งเป็นสถานที่เขียน ยูเซบิอุสนักประวัติศาสตร์ (ประมาณปี ส.ศ. 260-340) ยกคำพูดของอิเรแนอุสมากล่าวซึ่งมีความว่า “โยฮัน สาวกขององค์พระผู้เป็นเจ้า ซึ่งถึงกับเคยเอนกายบนพระทรวงของพระองค์ เป็นผู้เขียนกิตติคุณนี้เอง ขณะที่ท่านอาศัยอยู่ที่เอเฟโซในเอเชีย.”a ที่ว่าพระธรรมนี้ถูกเขียนภายนอกปาเลสไตน์นั้นได้รับการสนับสนุนโดยการอ้างอิงหลายครั้งถึงปรปักษ์ของพระเยซูด้วยคำทั่ว ๆ ไป เช่น “พวกยิว” แทนที่จะเป็น “พวกฟาริซาย,” “ปุโรหิตใหญ่,” และอื่น ๆ. (โย. 1:19; 12:9, ล.ม.) นอกจากนี้ ยังมีการอธิบายเกี่ยวกับทะเลแกลิลี (ฆาลิลาย) โดยใช้ชื่อโรมันอีกด้วย คือทะเลติเบเรีย. (6:1; 21:1) เพื่อประโยชน์ของผู้ที่ไม่ใช่ชาวยิว โยฮันให้คำอธิบายที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับเทศกาลต่าง ๆ ของชาวยิว. (6:4; 7:2; 11:55) ปัตโมส ที่ที่ท่านถูกเนรเทศไปนั้นอยู่ใกล้เมืองเอเฟโซ และความคุ้นเคยของท่านกับเมืองเอเฟโซรวมทั้งกับประชาคมอื่น ๆ ในเอเชียไมเนอร์มีบอกไว้ในพระธรรมวิวรณ์บท 2 และ 3.
7. พาไพรัส ไรแลนด์ส 457 มีความสำคัญอย่างไร?
7 ที่สนับสนุนความเชื่อถือได้ของกิตติคุณของโยฮันคือสำเนาต้นฉบับที่สำคัญซึ่งพบในศตวรรษที่ 20. หนึ่งในสำเนาต้นฉบับเหล่านั้นคือชิ้นส่วนกิตติคุณของโยฮันที่พบในอียิปต์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในเวลานี้ว่า พาไพรัส ไรแลนด์ส 457 (P52) ซึ่งมีโยฮัน 18:31-33, 37, 38 และได้รับการเก็บรักษาที่ห้องสมุดจอห์น ไรแลนด์ส ในเมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ.b เกี่ยวกับเรื่องที่พาไพรัสชิ้นนี้สนับสนุนคำเล่าสืบปากที่ว่าโยฮันเป็นผู้เขียนในตอนปลายศตวรรษแรกนั้น เซอร์เฟรเดอริก เคนยอน ผู้ล่วงลับกล่าวไว้ในหนังสือของเขาซึ่งมีชื่อว่าคัมภีร์ไบเบิลและความรู้สมัยใหม่ (ภาษาอังกฤษ) 1949 หน้า 21 ดังนี้: “แม้จะเป็นชิ้นส่วนเล็ก ๆ แต่ก็พอเพียงจะพิสูจน์ว่าสำเนาต้นฉบับของกิตติคุณนี้มีแพร่หลายประมาณช่วงคริสต์ศักราช 130-150. อาจเป็นในประเทศอียิปต์ซึ่งเป็นที่ที่ค้นพบชิ้นส่วนนี้ ซึ่งเวลานั้นอยู่ภายใต้การควบคุมของโรม. การให้เวลาแม้เพียงเล็กน้อยสำหรับการแพร่ผลงานชิ้นนี้จากแหล่งที่เขียนนั้นคงทำให้เวลาเรียบเรียงใกล้เคียงกับเวลาที่เล่าสืบปากกันมาคือในทศวรรษสุดท้ายของศตวรรษแรกถึงขนาดที่ไม่มีเหตุผลใด ๆ จะสงสัยความน่าเชื่อถือของคำเล่าสืบปากนั้น.”
8. (ก) อะไรที่นับว่าเด่นในเรื่องคำนำของกิตติคุณของโยฮัน? (ข) กิตติคุณนี้ให้ข้อพิสูจน์อะไรที่ว่างานสั่งสอนของพระเยซูกินเวลานานสามปีครึ่ง?
8 กิตติคุณของโยฮันโดดเด่นในเรื่องคำนำซึ่งเผยให้ทราบว่า พระวาทะผู้ซึ่ง “เมื่อเดิม . . . ได้อยู่กับพระเจ้า” นั้นเป็นผู้ซึ่งสรรพสิ่งได้เกิดขึ้นโดยพระองค์. (1:2, ล.ม.) หลังจากแจ้งให้ทราบถึงสัมพันธภาพอันล้ำค่าระหว่างพระบิดาและพระบุตรแล้ว โยฮันเริ่มพรรณนาอย่างชำนิชำนาญถึงการงานและคำบรรยายของพระเยซู โดยเฉพาะจากแง่ของความรักลึกซึ้งที่ผูกพันทุกสิ่งให้เป็นหนึ่งเดียวในการจัดเตรียมอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้า. บันทึกนี้อันเกี่ยวกับชีวิตของพระเยซูบนแผ่นดินโลกครอบคลุมช่วงปี ส.ศ. 29-33 และเป็นความละเอียดถี่ถ้วนที่กล่าวถึงปัศคาสี่ครั้งที่พระเยซูทรงเข้าร่วมระหว่างงานสั่งสอนของพระองค์ จึงให้ข้อพิสูจน์ข้อหนึ่งในหลาย ๆ ข้อว่างานสั่งสอนของพระองค์กินเวลานานสามปีครึ่ง. มีกล่าวถึงปัศคาสามในสี่ครั้งนั้นว่าเป็นปัศคา. (2:13; 6:4; 12:1; 13:1) มีการกล่าวถึงปัศคาครั้งหนึ่งว่าเป็น “เทศกาลหนึ่งของพวกยิว” แต่บริบทจัดให้การเลี้ยงนั้นอยู่ไม่นานหลังจากที่พระเยซูตรัสว่า “อีกสี่เดือนก็จะถึงฤดูเกี่ยวข้าว” จึงบ่งชี้ว่าเทศกาลนั้นคือปัศคา ซึ่งมีขึ้นประมาณต้นฤดูเกี่ยว.—4:35, ล.ม.; 5:1, ล.ม.c
9. อะไรแสดงว่ากิตติคุณของโยฮันให้รายละเอียดเพิ่มเติม และถึงกระนั้น กิตติคุณนี้เพิ่มรายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับงานเผยแพร่ของพระเยซูไหม?
9 ส่วนใหญ่แล้ว ข่าวดีที่ “เรียบเรียงโดยท่านโยฮัน” ให้รายละเอียดเพิ่มเติม; มี 92 เปอร์เซ็นต์เป็นเนื้อหาใหม่ซึ่งไม่มีในกิตติคุณอีกสามเล่ม. แต่กระนั้น โยฮันยังปิดท้ายด้วยถ้อยคำว่า “อันที่จริง มีอยู่อีกหลายสิ่งที่พระเยซูได้ทรงทำ ซึ่งถ้าจะเขียนให้ละเอียดครบถ้วนแล้ว ข้าพเจ้าคิดว่าโลกนี้คงไม่พอบรรจุม้วนหนังสือเหล่านั้นได้.”—21:25, ล.ม.
เนื้อเรื่องในโยฮัน
10. โยฮันกล่าวเช่นไรเกี่ยวกับ “พระวาทะ”?
10 คำนำ: การแนะนำ “พระวาทะ” (1:1-18). โยฮันกล่าวอย่างเรียบง่ายไพเราะว่า ในตอนเริ่มแรก “พระวาทะนั้นได้อยู่กับพระเจ้า” ชีวิตเกิดขึ้นโดยทางพระองค์, พระองค์ได้มาเป็น “ความสว่างของมนุษย์,” และโยฮัน (ผู้ให้บัพติสมา) เป็นพยานถึงพระองค์. (1:1, 4, ล.ม.) ความสว่างนั้นอยู่ในโลก แต่โลกไม่รู้จักพระองค์. ผู้ที่รับพระองค์ได้มาเป็นบุตรของพระเจ้า คือกำเนิดจากพระเจ้า. มีการประทานพระบัญญัติผ่านทางโมเซฉันใด “พระกรุณาอันไม่พึงได้รับและความจริงนั้นมาทางพระเยซูคริสต์” ฉันนั้น.—1:17, ล.ม.
11. โยฮันผู้ให้บัพติสมาระบุตัวพระเยซูว่าเป็นผู้ใด และศิษย์ของโยฮันยอมรับพระเยซูว่าเป็นผู้ใด?
11 การเสนอ “พระเมษโปดกของพระเจ้า” แก่มนุษย์ (1:19-51). โยฮันผู้ให้บัพติสมายอมรับว่าท่าน มิได้เป็นพระคริสต์ แต่บอกว่ามีผู้หนึ่งซึ่งมาภายหลังท่าน และท่านไม่คู่ควรจะแก้สายรัดฉลองพระบาทของพระองค์ผู้นั้น. วันต่อมา ขณะที่พระเยซูเสด็จมาหาท่าน โยฮันระบุตัวพระองค์ว่าเป็น “พระเมษโปดกของพระเจ้าซึ่งรับบาปของโลกไป.” (1:27, 29, ล.ม.) ถัดจากนั้น ท่านแนะนำศิษย์สองคนของท่านให้รู้จักพระเยซู และหนึ่งในสองคนนั้น คืออันดะเรอา จึงพาเปโตรพี่ชายของตนไปหาพระเยซู. ฟีลิปและนะธันเอลก็ยอมรับพระเยซูเช่นกันว่าเป็น ‘พระบุตรของพระเจ้า กษัตริย์ของชาติยิศราเอล.’—1:49, ล.ม.
12. (ก) การอัศจรรย์ครั้งแรกของพระเยซูคืออะไร? (ข) พระองค์ทรงทำอะไรเมื่อเสด็จขึ้นไปยังกรุงยะรูซาเลมเพื่อฉลองปัศคาครั้งแรกระหว่างงานรับใช้ของพระองค์?
12 การอัศจรรย์ของพระเยซูพิสูจน์ว่าพระองค์เป็น “ผู้บริสุทธิ์ของพระเจ้า” (2:1–6:71). พระเยซูทรงทำการอัศจรรย์ครั้งแรกที่บ้านคานาในแคว้นแกลิลีด้วยการเปลี่ยนน้ำเป็นเหล้าองุ่นอย่างดี ณ งานเลี้ยงสมรส. นี่เป็น “การเริ่มต้นหมายสำคัญของพระองค์ . . . และเหล่าสาวกของพระองค์จึงเชื่อในพระองค์.” (2:11, ล.ม.) พระเยซูเสด็จขึ้นไปยังกรุงยะรูซาเลมเพื่อฉลองปัศคา. เมื่อพบพ่อค้าเร่และคนรับแลกเงินในพระวิหาร พระองค์ทรงเอาแส้และขับไล่คนเหล่านั้นออกไปด้วยความร้อนใจจนเหล่าสาวกของพระองค์มองออกถึงความสำเร็จของคำพยากรณ์ที่ว่า “น้ำใจแรงกล้าเพื่อราชนิเวศของพระองค์จะเผาผลาญข้าพเจ้า.” (โย. 2:17, ล.ม.; เพลง. 69:9) พระองค์ทรงพยากรณ์ว่าพระวิหารแห่งพระกายของพระองค์เองจะถูกทำให้พังทลายและจะถูกสร้างขึ้นอีกในสามวัน.
13. (ก) พระเยซูทรงแสดงให้เห็นว่าอะไรคือสิ่งจำเป็นเพื่อได้รับชีวิต? (ข) โยฮันผู้ให้บัพติสมาพูดถึงตัวเองว่าเกี่ยวข้องกับพระเยซูอย่างไร?
13 นิโกเดโมที่หวาดกลัวมาหาพระเยซูตอนกลางคืน. เขายอมรับว่าพระเยซูถูกพระเจ้าส่งมา และพระเยซูทรงบอกเขาว่า คนเราต้องบังเกิดจากน้ำและพระวิญญาณเพื่อจะเข้าในราชอาณาจักรของพระเจ้า. การเชื่อในบุตรมนุษย์ผู้มาจากสวรรค์เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อจะได้ชีวิต. “เพราะว่าพระเจ้าทรงรักโลกมากถึงกับทรงประทานพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่สำแดงความเชื่อในพระองค์นั้นจะไม่ถูกทำลายแต่มีชีวิตนิรันดร์.” (โย. 3:16, ล.ม.) ความสว่างที่เข้ามาในโลกขัดแย้งกับความมืด พระเยซูทรงสรุปว่า “แต่ผู้ที่ทำสิ่งซึ่งเป็นความจริงย่อมมาถึงความสว่าง.” จากนั้น โยฮันผู้ให้บัพติสมาจึงทราบถึงการงานของพระเยซูในมณฑลยูดายและประกาศว่า ขณะที่ท่านเองไม่ใช่พระคริสต์ แต่ก็เป็น “สหายของเจ้าบ่าว . . . มีความชื่นชมยินดีเป็นอันมากเพราะเสียงของเจ้าบ่าวนั้น.” (3:21, 29, ล.ม.) บัดนี้ พระเยซูจะต้องทวีขึ้น และโยฮันจะต้องลดลง.
14. พระเยซูทรงอธิบายอะไรแก่หญิงชาวซะมาเรียที่เมืองซูคาร และอะไรเป็นผลจากการประกาศของพระองค์ที่นั่น?
14 พระเยซูทรงออกเดินทางไปแคว้นแกลิลีอีก. ระหว่างเดินทาง พระกายเต็มไปด้วยฝุ่นและ “ทรงเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทาง” พระองค์ทรงนั่งพักที่บ่อน้ำของยาโคบในเมืองซูคารขณะที่เหล่าสาวกของพระองค์เข้าไปซื้ออาหารในเมือง. (4:6, ล.ม.) ตอนนั้นเป็นเวลาเที่ยงวัน คือชั่วโมงที่หก. หญิงชาวซะมาเรียคนหนึ่งเข้ามาตักน้ำ และพระเยซูทรงขอน้ำดื่ม. จากนั้น แม้ว่าเหน็ดเหนื่อย แต่พระองค์ก็เริ่มตรัสกับเธอเกี่ยวด้วย “น้ำ” แท้ที่ให้ความสดชื่นอย่างแท้จริง ให้ชีวิตนิรันดร์แก่ผู้ที่นมัสการพระเจ้า “ด้วยวิญญาณและความจริง.” เหล่าสาวกของพระองค์กลับมาและเร่งเร้าให้พระองค์เสวยพระกระยาหาร พระองค์ทรงแถลงว่า “อาหารของเราคือการทำตามพระประสงค์ของพระองค์ผู้ทรงใช้เรามาและทำให้งานของพระองค์สำเร็จ.” พระองค์อยู่ในบริเวณนั้นอีกสองวัน ดังนั้น ชาวซะมาเรียหลายคนจึงมาเชื่อว่า “ชายผู้นี้แน่เป็นผู้ช่วยโลกให้รอด.” (4:24, 34, 42, ล.ม.) เมื่อเสด็จถึงบ้านคานาแห่งแคว้นแกลิลี พระเยซูทรงรักษาบุตรชายขุนนางโดยไม่ได้เสด็จไปข้างเตียงเขาด้วยซ้ำ.
15. มีการกล่าวหาพระเยซูอย่างไรบ้างในกรุงยะรูซาเลม แต่พระองค์ทรงตอบผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์พระองค์อย่างไร?
15 พระเยซูเสด็จขึ้นไปยังกรุงยะรูซาเลมอีกครั้งหนึ่งเพื่อฉลองเทศกาลของพวกยิว. พระองค์ทรงรักษาคนป่วยคนหนึ่งในวันซะบาโต และการนี้ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์มากมาย. พระเยซูทรงโต้ตอบว่า “พระบิดาของเราทรงทำงานเรื่อยมาถึงบัดนี้ และเราก็ทำงานเรื่อยไป.” (5:17, ล.ม.) ครั้นแล้ว พวกผู้นำชาวยิวอ้างว่า นอกจากทำผิดฐานละเมิดวันซะบาโตแล้ว พระเยซูยังได้หมิ่นประมาทพระเจ้าด้วยการทำตัวเท่าเทียมกับพระเจ้า. พระเยซูตรัสตอบว่า พระบุตรไม่อาจทำสิ่งใดโดยความริเริ่มของตนเองได้แม้สักสิ่งเดียว แต่ทำทุกสิ่งโดยขึ้นอยู่กับพระบิดา. พระองค์ทรงกล่าวถ้อยคำอันน่าอัศจรรย์ใจว่า “บรรดาผู้ซึ่งอยู่ในอุโมงค์รำลึกจะได้ยินสุรเสียงของพระองค์ และจะออกมา” สู่การกลับเป็นขึ้นจากตาย. แต่กับผู้ฟังที่ขาดความเชื่อนั้นพระเยซูตรัสว่า “เจ้าทั้งหลายจะเชื่ออย่างไรได้ในเมื่อเจ้ารับเกียรติยศจากกันและกัน และเจ้าทั้งหลายมิได้แสวงหาเกียรติยศซึ่งมาจากพระเจ้าองค์เดียว?”—5:28, 29, 44, ล.ม.
16. (ก) พระเยซูทรงสอนอะไรเกี่ยวกับอาหารและชีวิต? (ข) เปโตรพูดแสดงความเชื่อมั่นของพวกอัครสาวกอย่างไร?
16 เมื่อพระเยซูทรงเลี้ยงอาหารชาย 5,000 คนอย่างอัศจรรย์ด้วยขนมปังห้าก้อนและปลาเล็ก ๆ สองตัว ฝูงชนคิดจะจับพระองค์และตั้งเป็นกษัตริย์ แต่พระองค์เสด็จหนีไปยังภูเขา. ต่อมา พระองค์ทรงว่ากล่าวพวกเขาที่เสาะหา “อาหารที่จะเสื่อมสูญไป.” แทนที่จะทำเช่นนั้น พวกเขาควรหา “อาหารที่คงอยู่เพื่อชีวิตนิรันดร์.” พระองค์ทรงชี้ให้เห็นว่า การสำแดงความเชื่อในพระองค์ผู้เป็นพระบุตรคือการรับประทานขนมปังแห่งชีวิต และพระองค์ตรัสเพิ่มเติมว่า “ถ้าเจ้ามิได้กินเนื้อแห่งบุตรมนุษย์และดื่มโลหิตของพระองค์ เจ้าก็ไม่มีชีวิตในตัวเจ้า.” สาวกของพระองค์หลายคนรู้สึกขุ่นเคืองต่อคำตรัสนี้และจากพระองค์ไป. พระเยซูทรงถามอัครสาวก 12 คนว่า “เจ้าทั้งหลายไม่ต้องการจะไปด้วยใช่ไหม?” และเปโตรตอบว่า “พระองค์เจ้าข้า พวกข้าพเจ้าจะจากไปหาผู้ใดเล่า? พระองค์ทรงมีถ้อยคำแห่งชีวิตนิรันดร์; และข้าพเจ้าทั้งหลายก็ได้เชื่อและได้มาทราบแล้วว่าพระองค์เป็นองค์บริสุทธิ์ของพระเจ้า.” (6:27, 53, 67-69, ล.ม.) อย่างไรก็ตาม ด้วยทราบว่ายูดาจะทรยศพระองค์ พระเยซูจึงตรัสว่าคนหนึ่งในพวกเขาเป็นคนหมิ่นประมาท.
17. คำสั่งสอนของพระเยซูในพระวิหารในคราวเทศกาลตั้งทับอาศัยก่อผลอย่างไร?
17 “ความสว่าง” ขัดแย้งกับความมืด (7:1–12:50). พระเยซูเสด็จขึ้นไปยังกรุงยะรูซาเลมอย่างลับ ๆ และทรงปรากฏตัวเมื่อเทศกาลตั้งทับอาศัยดำเนินไปได้ครึ่งหนึ่งแล้ว ทรงสอนอย่างเปิดเผยในพระวิหาร. ประชาชนโต้เถียงกันว่าพระองค์เป็นพระคริสต์จริง ๆ หรือไม่. พระเยซูทรงบอกพวกเขาว่า “เรามิได้มาตามความริเริ่มของเราเอง แต่พระองค์ผู้ทรงใช้เรามานั้นมีอยู่จริง . . . และพระองค์นั้นได้ทรงใช้เรามา.” ในอีกโอกาสหนึ่ง พระองค์ทรงร้องบอกแก่ฝูงชนว่า “ถ้าผู้ใดกระหาย ให้ผู้นั้นมาหาเราและดื่ม.” พวกเจ้าหน้าที่ซึ่งถูกส่งไปจับพระเยซูกลับมามือเปล่า และรายงานต่อพวกปุโรหิตว่า “ไม่เคยมีผู้อื่นใดพูดเช่นนี้เลย.” ด้วยความเดือดดาล พวกฟาริซายตอบว่าไม่มีเจ้าหน้าที่ปกครองสักคนที่เชื่อ และไม่มีผู้พยากรณ์คนใดจะมาจากแกลิลี.—7:28, 29, 37, 46, ล.ม.
18. พวกยิวต่อต้านพระเยซูอย่างไร และพระองค์ทรงตอบอย่างไร?
18 ในการพูดอีกคราวหนึ่ง พระเยซูตรัสว่า “เราเป็นความสว่างของโลก.” สำหรับข้อกล่าวหาด้วยเจตนาร้ายว่าพระองค์เป็นพยานเท็จ, เป็นลูกนอกกฎหมาย, เป็นชาวซะมาเรียและมีผีเข้าสิงนั้น พระเยซูทรงตอบอย่างหนักแน่นว่า “ถ้าเราให้เกียรติศักดิ์แก่ตัวเราเอง เกียรติศักดิ์ของเราก็ไม่มีความหมาย. ผู้ทรงให้เกียรติศักดิ์แก่เรานั้นคือพระบิดาของเรา.” เมื่อพระองค์ทรงประกาศว่า “ก่อนอับราฮามเกิดมา เราก็เป็นอยู่แล้ว” พวกยิวพยายามอย่างไร้ผลเพื่อเอาชีวิตพระองค์อีก. (8:12, 54, 58, ล.ม.) ด้วยความข้องขัดใจ ต่อมาพวกเขาจึงซักถามชายคนที่พระเยซูทรงรักษาตาของเขาให้เห็นอีกด้วยการอัศจรรย์ แล้วพวกเขาได้ขับไล่ชายคนนั้นออกไป.
19. (ก) พระเยซูตรัสอย่างไรในเรื่องสัมพันธภาพของพระองค์กับพระบิดาและความใฝ่พระทัยที่พระองค์มีต่อฝูงแกะของพระองค์? (ข) พระองค์ทรงตอบพวกยิวอย่างไรเมื่อพวกเขาหมายจะทำร้ายพระองค์?
19 พระเยซูตรัสแก่พวกยิวอีก คราวนี้เกี่ยวกับผู้เลี้ยงแกะที่ดีซึ่งเรียกชื่อแกะของตนและยอมสละจิตวิญญาณของตนเพื่อแกะ “เพื่อเขาทั้งหลายจะได้ชีวิต . . . อย่างบริบูรณ์.” พระองค์ตรัสว่า “เรามีแกะอื่นซึ่งมิได้เป็นของคอกนี้; แกะเหล่านั้นเราจะต้องพามาด้วย และแกะเหล่านั้นจะฟังเสียงของเรา และจะรวมเป็นฝูงเดียวมีผู้เลี้ยงผู้เดียว.” (10:10, 16, ล.ม.) พระองค์ทรงบอกพวกยิวว่า ไม่มีใครสามารถชิงแกะไปจากพระหัตถ์พระบิดาของพระองค์ และพระองค์ตรัสว่าพระองค์กับพระบิดาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน. อีกครั้งหนึ่ง พวกเขาพยายามเอาหินขว้างพระองค์ให้ตาย. เมื่อทรงตอบข้อกล่าวหาเรื่องการหมิ่นประมาท พระองค์ทรงเตือนพวกเขาให้ระลึกว่า ในพระธรรมบทเพลงสรรเสริญมีการอ้างถึงผู้มีอำนาจบางคนบนแผ่นดินโลกว่าเป็น “พระเจ้า” ในขณะที่ทรงอ้างถึงพระองค์เองว่าเป็นพระบุตรของพระเจ้า. (เพลง. 82:6, ล.ม.) พระองค์ทรงกระตุ้นเตือนพวกเขาว่าอย่างน้อยก็ให้เชื่อในการงานของพระองค์.—โย. 10:34.
20. (ก) ต่อจากนั้นพระเยซูทรงทำการอัศจรรย์อันโดดเด่นอะไร? (ข) การนี้นำไปสู่อะไร?
20 มีข่าวมาจากบ้านเบธาเนียใกล้กรุงยะรูซาเลมว่าลาซะโรน้องชายของมาเรียกับมาธาป่วย. พอถึงเวลาที่พระเยซูเสด็จถึงที่นั่น ลาซะโรตายและอยู่ในอุโมงค์ฝังศพสี่วันแล้ว. พระเยซูทรงทำการอัศจรรย์อันยิ่งใหญ่ด้วยการทำให้ลาซะโรเป็นขึ้นจากตายอันเป็นเหตุให้หลายคนเชื่อถือพระเยซู. เรื่องนี้ทำให้มีการประชุมพิเศษของศาลซันเฮดริน ที่ซึ่งมหาปุโรหิตกายะฟาถูกบีบให้พยากรณ์ว่าพระเยซูถูกกำหนดให้ตายเพื่อชาติ. ขณะที่พวกปุโรหิตใหญ่และพวกฟาริซายปรึกษากันเพื่อจะฆ่าพระองค์ พระเยซูงดปรากฏตัวในที่สาธารณะชั่วคราว.
21. (ก) ประชาชนและพวกฟาริซายมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อการที่พระเยซูเสด็จเข้าไปในกรุงยะรูซาเลม? (ข) พระเยซูทรงเล่าอุทาหรณ์เรื่องอะไรเกี่ยวกับการสิ้นพระชนม์ของพระองค์และวัตถุประสงค์ของการนั้น และพระองค์ทรงกระตุ้นผู้ที่ฟังพระองค์ให้ทำอะไร?
21 หกวันก่อนปัศคา พระเยซูเสด็จไปบ้านเบธาเนียอีกครั้งหนึ่งระหว่างเดินทางไปกรุงยะรูซาเลม และครอบครัวลาซะโรต้อนรับพระองค์. ครั้นแล้ว หลังจากวันซะบาโต ในวันที่ 9 เดือนไนซาน พระองค์ทรงลูกลาเข้าไปในกรุงยะรูซาเลมท่ามกลางเสียงโห่ร้องของฝูงชน และพวกฟาริซายพูดกันว่า “เจ้าไปไม่ถึงไหนเลย. ดูเถิด! ทั้งโลกตามเขาไปแล้ว.” โดยอุทาหรณ์เรื่องเมล็ดข้าวสาลี พระเยซูทรงแจ้งว่าพระองค์ต้องถูกปลูกในความตายเพื่อบังเกิดผลเป็นชีวิตถาวร. พระองค์ทรงขอให้พระบิดาทำให้พระนามของพระบิดาได้รับเกียรติ และมีพระสุรเสียงจากฟ้าสวรรค์ว่า “เราได้ทำให้พระนามนั้นได้รับเกียรติแล้ว และยังจะทำให้พระนามนั้นได้รับเกียรติอีก.” พระเยซูทรงกระตุ้นผู้ที่ฟังพระองค์ให้หลีกเลี่ยงความมืดและเดินในความสว่าง ใช่แล้ว ให้มาเป็น “ลูกแห่งความสว่าง.” เมื่ออำนาจแห่งความมืดแผ่คลุมพระองค์ พระองค์ทรงย้ำให้ประชาชนไว้วางใจพระองค์ในฐานะเป็น ‘ความสว่างที่ได้เข้ามาในโลก.’—12:19, 28, 36, 46, ล.ม.
22. พระเยซูทรงวางแบบอย่างอะไรในตอนเลี้ยงฉลองปัศคา และพระองค์ทรงให้พระบัญญัติใหม่อะไร?
22 คำแนะนำในคราวอำลาที่พระเยซูทรงให้แก่อัครสาวกที่ซื่อสัตย์ (13:1–16:33). ขณะที่อาหารมื้อเย็นแห่งการฉลองปัศคากับอัครสาวก 12 คนกำลังดำเนินอยู่ พระเยซูทรงลุกขึ้นและถอดฉลองพระองค์ชั้นนอกออก ทรงหยิบผ้าเช็ดตัวและอ่างล้างเท้า แล้วทรงเริ่มล้างเท้าเหล่าสาวก. เปโตรคัดค้าน แต่พระเยซูทรงบอกท่านว่าท่านก็ต้องรับการล้างเท้าเช่นกัน. พระเยซูทรงเตือนเหล่าสาวกให้ติดตามแบบอย่างแห่งความถ่อมใจของพระองค์ เพราะ “ทาสไม่ใหญ่กว่านาย.” พระองค์ตรัสถึงผู้ทรยศแล้วทรงให้ยูดาออกไป. หลังจากยูดาออกไปแล้ว พระเยซูเริ่มตรัสกับอัครสาวกคนอื่น ๆ เป็นการส่วนตัว. “เราให้บัญญัติใหม่ไว้แก่เจ้าทั้งหลาย คือว่าให้เจ้าทั้งหลายรักซึ่งกันและกัน; เรารักเจ้าทั้งหลายมาแล้วอย่างไร เจ้าจงรักกันและกันอย่างนั้นด้วย. โดยเหตุนี้คนทั้งปวงจะรู้ว่าเจ้าทั้งหลายเป็นสาวกของเรา ถ้าเจ้ามีความรักระหว่างพวกเจ้าเอง.”—13:16, 34, 35, ล.ม.
23. เพื่อเป็นการปลอบประโลม พระเยซูทรงกล่าวถึงความหวังอะไรและผู้ช่วยอะไรที่ทรงสัญญาไว้?
23 พระเยซูตรัสถ้อยคำปลอบโยนอันดีเยี่ยมแก่เหล่าสาวกของพระองค์ในเวลาวิกฤตินี้. พวกเขาต้องสำแดงความเชื่อในพระเจ้าและในพระองค์ด้วย. ในพระนิเวศของพระบิดามีที่อยู่หลายแห่ง และพระองค์จะเสด็จมาอีกและรับพวกเขาไปอยู่กับพระองค์ที่พระนิเวศ. พระเยซูตรัสว่า “เราเป็นทางนั้น เป็นความจริงและเป็นชีวิต. ไม่มีผู้ใดไปถึงพระบิดาเว้นแต่จะไปทางเรา.” พระองค์ทรงบอกเหล่าสาวกของพระองค์อย่างปลอบประโลมว่า โดยการสำแดงความเชื่อ พวกเขาจะทำงานที่ใหญ่กว่าพระองค์ และพระองค์จะทรงประทานไม่ว่าสิ่งใดที่พวกเขาทูลขอในพระนามของพระองค์ เพื่อว่าพระบิดาของพระองค์จะได้รับเกียรติ. พระองค์ทรงสัญญาจะประทานผู้ช่วยอีกผู้หนึ่งแก่พวกเขา นั่นคือ “พระวิญญาณแห่งความจริง” ซึ่งจะสอนพวกเขาทุกสิ่งและทำให้พวกเขาระลึกถึงทุกสิ่งที่พระองค์ทรงบอกพวกเขาไว้. พวกเขาควรปีติยินดีที่พระเยซูจะเสด็จไปหาพระบิดาของพระองค์ เพราะพระเยซูตรัสว่า “พระบิดาเป็นใหญ่กว่าเรา.”—14:6, 17, 28, ล.ม.
24. พระเยซูทรงพรรณนาสัมพันธภาพของเหล่าอัครสาวกกับพระองค์เองและพระบิดาว่าอย่างไร พร้อมด้วยพระพรอะไรบ้างสำหรับพวกเขา?
24 พระเยซูตรัสถึงพระองค์เองว่าเป็นเถาองุ่นแท้และพระบิดาของพระองค์เป็นผู้ดูแลรักษา. พระองค์ทรงกระตุ้นพวกเขาให้ร่วมสามัคคีกับพระองค์เสมอไป โดยตรัสว่า “พระบิดาของเราได้รับเกียรติด้วยสิ่งนี้ คือที่เจ้าทั้งหลายเกิดผลมากอยู่เสมอ และพิสูจน์ตัวว่าเป็นสาวกของเรา.” (15:8, ล.ม.) และความยินดีของพวกเขาจะบริบูรณ์ได้อย่างไร? โดยการรักซึ่งกันและกันเหมือนอย่างที่พระองค์ทรงรักพวกเขา. พระองค์ทรงเรียกพวกเขาว่ามิตร. ช่างเป็นสัมพันธภาพอันล้ำค่าจริง ๆ! โลกจะชังพวกเขาเหมือนที่ได้ชังพระองค์ และโลกจะกดขี่ข่มเหงพวกเขา แต่พระเยซูจะทรงส่งผู้ช่วยมาเป็นพยานถึงพระองค์และชี้นำเหล่าสาวกของพระองค์เข้าสู่ความจริงทุกอย่าง. ความเศร้าโศกของพวกเขาในเวลานี้จะกลายเป็นความชื่นชมยินดีเมื่อพระองค์พบพวกเขาอีก และจะไม่มีผู้ใดพรากความชื่นชมยินดีไปจากพวกเขา. คำตรัสของพระองค์ให้การปลอบโยนดังนี้: “พระบิดาเองมีความรักใคร่ต่อเจ้าทั้งหลาย เพราะเจ้าได้แสดงความรักใคร่ต่อเราและได้เชื่อว่าเรามาฐานะผู้แทนพระบิดา.” ใช่แล้ว พวกเขาจะถูกทำให้กระจัดกระจายไป แต่พระเยซูตรัสว่า “เราได้บอกสิ่งเหล่านี้แก่เจ้าทั้งหลายเพื่อเจ้าจะมีสันติสุขโดยเรา. ในโลกนี้เจ้ามีความทุกข์ลำบาก แต่จงกล้าหาญเถิด! เราชนะโลกแล้ว.”—16:27, 33, ล.ม.
25. (ก) พระเยซูทรงทูลอะไรในคำอธิษฐานถึงพระบิดาของพระองค์? (ข) พระองค์ทรงขออะไรเกี่ยวกับพระองค์เอง, เหล่าสาวกของพระองค์, และคนที่จะสำแดงความเชื่อโดยถ้อยคำของเหล่าสาวก?
25 คำอธิษฐานของพระเยซูเผื่อเหล่าสาวก (17:1-26). ในคำอธิษฐาน พระเยซูทรงทูลพระบิดาว่า “นี่แหละหมายถึงชีวิตนิรันดร์ คือการที่เขารับเอาความรู้ต่อ ๆ ไปเกี่ยวกับพระองค์ ผู้เป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว และเกี่ยวกับผู้ที่พระองค์ทรงใช้มา คือพระเยซูคริสต์.” เมื่อเสร็จงานมอบหมายของพระองค์บนแผ่นดินโลกแล้ว บัดนี้พระเยซูทูลขอให้ได้รับเกียรติเคียงข้างพระบิดาของพระองค์พร้อมด้วยสง่าราศีซึ่งพระองค์เคยมีก่อนที่มีโลก. พระองค์ได้ทรงทำให้พระนามของพระบิดาเป็นที่ประจักษ์แจ้งแก่เหล่าสาวกของพระองค์ และทรงขอให้พระบิดาพิทักษ์พวกเขา “เพื่อเห็นแก่พระนามของพระองค์เอง.” พระเยซูทูลขอพระบิดา มิใช่ให้เอาพวกเขาไปจากโลก แต่ให้รักษาพวกเขาให้พ้นจากคนชั่วและทำให้พวกเขาบริสุทธิ์ด้วยพระคำแห่งความจริงของพระองค์. พระเยซูทรงแผ่คำอธิษฐานของพระองค์รวมถึงทุกคนซึ่งจะสำแดงความเชื่อโดยการฟังถ้อยคำของสาวกเหล่านี้ “เพื่อเขาทุกคนจะได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดังที่พระองค์คือพระบิดาร่วมสามัคคีกับข้าพเจ้า และข้าพเจ้าร่วมสามัคคีกับพระองค์ เพื่อเขาจะได้ร่วมสามัคคีกับพระองค์และข้าพเจ้าด้วย เพื่อโลกจะเชื่อว่าพระองค์ได้ทรงใช้ข้าพเจ้ามา.” พระองค์ทรงขอให้คนเหล่านี้มีส่วนร่วมกับพระองค์ในสง่าราศีทางภาคสวรรค์ของพระองค์ เพราะพระองค์ทรงทำให้พระนามของพระบิดาเป็นที่รู้จักแก่เขาทั้งหลาย เพื่อความรักของพระองค์อยู่ในเขาทั้งหลาย.—17:3, 11, 21, ล.ม.
26. บันทึกนี้บอกอะไรเกี่ยวกับการจับกุมและการสอบสวนพระเยซู?
26 พระคริสต์ถูกพิจารณาคดีและถูกตรึง (18:1–19:42). ครั้นแล้วพระเยซูและเหล่าสาวกของพระองค์ไปยังสวนแห่งหนึ่งซึ่งอยู่อีกฟากของหุบเขาฆิดโรน. ที่นี่เองที่ยูดาปรากฏตัวพร้อมกับกองทหารและทรยศต่อพระเยซูซึ่งทรงยอมจำนนแต่โดยดี. แต่เปโตรใช้ดาบปกป้องพระองค์และถูกตำหนิว่า “ถ้วยซึ่งพระบิดาทรงประทานแก่เรา ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม เราจะไม่ดื่มหรือ?” (18:11, ล.ม.) จากนั้นพระเยซูถูกมัดนำไปหาอันนาศ พ่อตาของมหาปุโรหิตกายะฟา. โยฮันกับเปโตรติดตามไปอย่างใกล้ชิด และโยฮันหาทางให้ตนเองกับเปโตรเข้าไปในลานบ้านของมหาปุโรหิต ที่ซึ่งเปโตรปฏิเสธว่าไม่รู้จักพระคริสต์สามครั้ง. พระเยซูถูกอันนาศสอบปากคำก่อน แล้วถูกนำตัวไปอยู่ต่อหน้ากายะฟา. หลังจากนั้น พระเยซูถูกนำตัวไปอยู่ต่อหน้าปีลาต ผู้สำเร็จราชการชาวโรมัน โดยมีพวกยิวตะโกนเรียกร้องให้ลงโทษประหาร.
27. (ก) ปีลาตยกคำถามอะไรบ้างขึ้นมาเกี่ยวกับฐานะกษัตริย์และอำนาจ และพระเยซูทรงตอบอย่างไร? (ข) พวกยิวอยู่ฝ่ายใดในเรื่องตำแหน่งกษัตริย์?
27 สำหรับคำถามของปีลาตที่ว่า “ท่านเป็นกษัตริย์หรือ?” พระเยซูตรัสตอบว่า “ท่านเองว่าเราเป็นกษัตริย์. เพราะเหตุนี้เราจึงเกิดมา และเพราะเหตุนี้เราได้เข้ามาในโลก เพื่อเราจะให้คำพยานถึงความจริง.” (18:37, ล.ม.) ปีลาตซึ่งหาหลักฐานที่แท้จริงเพื่อพิสูจน์ความผิดของพระเยซูไม่ได้จึงเสนอให้ปล่อยพระองค์ เนื่องจากเป็นธรรมเนียมที่จะปล่อยนักโทษคนใดคนหนึ่งในวันปัศคา แต่พวกยิวเรียกร้องให้ปล่อยโจรที่ชื่อบาระบาแทน. ปีลาตให้นำพระเยซูไปโบย และเขาพยายามจะปล่อยพระองค์อีก แต่พวกยิวร้องว่า “เอาไปตอกบนหลักเสีย! เอาไปตอกบนหลักเสีย! . . . เพราะเขาได้ตั้งตัวเป็นพระบุตรของพระเจ้า.” เมื่อปีลาตบอกพระเยซูว่าเขามีอำนาจจะตรึงพระองค์ พระเยซูตรัสตอบว่า “ท่านจะไม่มีอำนาจเหนือเราเลยนอกจากจะทรงมอบให้แก่ท่านจากเบื้องบน.” พวกยิวตะโกนขึ้นอีกว่า “เอาออกไป! เอาออกไป! จงเอาเขาไปตอกบนหลักเสีย! . . . พวกเราไม่มีกษัตริย์เว้นแต่ซีซาร์.” ถึงตอนนี้ปีลาตจึงมอบพระองค์ให้พาไปตรึงเสีย.—19:6, 7, 11, 15, ล.ม.
28. เกิดอะไรขึ้นที่โกลโกธา และมีคำพยากรณ์อะไรบ้างสำเร็จเป็นจริงที่นั่น?
28 พระเยซูถูกนำตัว “ไปยังที่ซึ่งเรียกกันว่า ‘กะโหลกศีรษะ’ ซึ่งในภาษาฮีบรูเรียกว่าโกลโกทา” และถูกตรึงอยู่ระหว่างคนอีกสองคน. ปีลาตให้ติดข้อความเหนือพระเศียรพระองค์ว่า “เยซูชาวนาซาเร็ธกษัตริย์ของพวกยิว” โดยเขียนเป็นภาษาฮีบรู, ภาษาลาติน, และภาษากรีก เพื่อให้ทุกคนเห็นและเข้าใจ. (19:17, 19, ล.ม.) พระเยซูทรงฝากโยฮันให้ดูแลมารดาของพระองค์ และหลังจากทรงรับเหล้าองุ่นเปรี้ยวบ้างเล็กน้อยจึงทรงร้องว่า “สำเร็จแล้ว!” แล้วพระองค์ทรงก้มพระเศียรและสิ้นพระชนม์. (19:30) ในความสำเร็จเป็นจริงตามคำพยากรณ์ต่าง ๆ พวกทหารที่ประหารพระองค์จับฉลากเอาเสื้อผ้าของพระองค์, ไม่ได้ทำให้ขาพระองค์หัก, และใช้หอกแทงสีข้างพระองค์. (โย. 19:24, 32-37, ล.ม.; เพลง. 22:18; 34:20; 22:17; ซคา. 12:10) หลังจากนั้น โยเซฟแห่งบ้านอริมาธายกับนิโกเดโมเตรียมพระศพเพื่อจะฝังและวางพระศพไว้ในอุโมงค์ฝังศพใหม่ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียง.
29. (ก) พระเยซูซึ่งคืนพระชนม์ทรงปรากฏตัวแก่เหล่าสาวกในคราวใดบ้าง? (ข) พระเยซูเน้นจุดใดบ้างในคำตรัสช่วงท้าย ๆ กับเปโตร?
29 การปรากฏตัวของพระคริสต์ซึ่งคืนพระชนม์ (20:1–21:25). หลักฐานมากมายของโยฮันเกี่ยวกับพระคริสต์จบลงด้วยเรื่องการคืนพระชนม์ซึ่งทำให้มีความสุข. มาเรีย มัฆดาลาพบว่าอุโมงค์นั้นว่างเปล่า ส่วนเปโตรกับสาวกอีกคนหนึ่ง (โยฮัน) วิ่งไปที่นั่นแต่เห็นมีแค่ผ้าพันกับผ้าคลุมพระเศียรเหลืออยู่. มาเรียซึ่งยังคงอยู่ใกล้อุโมงค์นั้นพูดกับทูตสวรรค์สององค์ และท้ายที่สุดกับผู้ซึ่งเธอคิดว่าเป็นคนเฝ้าสวน. เมื่อชายคนนั้นตอบว่า “มาเรีย!” เธอจำพระองค์ได้ทันทีว่าเป็นพระเยซู. ถัดจากนั้น พระเยซูทรงสำแดงพระองค์แก่เหล่าสาวกในห้องที่ปิดประตูใส่กุญแจไว้ และพระองค์ทรงบอกพวกเขาเรื่องอำนาจที่พวกเขาจะได้รับโดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์. หลังจากนั้น โธมาซึ่งไม่ได้อยู่ด้วยไม่ยอมเชื่อ แต่แปดวันต่อมา พระเยซูทรงปรากฏตัวอีกครั้งหนึ่งและให้ข้อพิสูจน์แก่เขา ซึ่งโธมาร้องว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้าและพระเจ้าของข้าพเจ้า!” (20:16, 28, ล.ม.) หลายวันต่อมา พระเยซูทรงพบกับเหล่าสาวกของพระองค์อีกที่ทะเลติเบเรีย; พระองค์ทรงทำให้พวกเขาจับปลาได้โดยการอัศจรรย์และเสวยพระกระยาหารเช้ากับพวกเขา. พระองค์ตรัสถามเปโตรถึงสามครั้งว่ารักพระองค์หรือไม่. เมื่อเปโตรยืนยันว่าท่านรักพระองค์ พระเยซูตรัสอย่างตรงไปตรงมาว่า “จงเลี้ยงลูกแกะของเราเถิด,” “จงเลี้ยงแกะเล็ก ๆ ของเราเถิด,” “จงเลี้ยงดูแกะเล็ก ๆ ของเราเถิด.” แล้วพระองค์ทรงบอกล่วงหน้าว่า เปโตรจะถวายเกียรติแด่พระเจ้าด้วยการตายแบบใด. เปโตรทูลถามเกี่ยวกับโยฮัน และพระเยซูตรัสว่า “ถ้าเราประสงค์ให้เขายังคงอยู่ต่อไปจนกระทั่งเรามานั้น ก็จะเป็นธุระอะไรของเจ้าเล่า?”—21:15-17, 22, ล.ม.
เหตุที่เป็นประโยชน์
30. โยฮันเน้นคุณลักษณะของความรักเป็นพิเศษอย่างไร?
30 ข่าวดี “ที่เรียบเรียงโดยท่านโยฮัน” ซึ่งทรงพลังด้วยถ้อยคำที่ตรงไปตรงมา สร้างความเชื่อมั่นด้วยคำพรรณนาอย่างอบอุ่นและใกล้ชิดเกี่ยวกับพระวาทะผู้ซึ่งได้มาเป็นพระคริสต์ ทำให้เราได้เห็นพระบุตรผู้ได้รับการเจิมองค์นี้ของพระเจ้าอย่างใกล้ชิดทั้งด้วยคำพูดและการกระทำ. แม้ลีลาการเขียนและคำศัพท์ของโยฮันจะเป็นแบบเรียบง่าย ดังที่มีการพูดถึงท่านว่า “เป็นผู้มีความรู้น้อย และมิได้เล่าเรียนมาก” แต่การใช้ถ้อยคำของท่านก็มีพลังมาก. (กิจ. 4:13) กิตติคุณของท่านเด่นอย่างยิ่งในการเผยให้ทราบถึงความรักอันแน่นแฟ้นระหว่างพระบิดาและพระบุตร รวมทั้งสายสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยความสุขและความรักซึ่งจะพบได้เมื่อร่วมสามัคคีกับพระองค์ทั้งสอง. ท่านโยฮันใช้คำว่า “รัก” และ “ความรัก” บ่อยกว่ากิตติคุณอีกสามเล่มรวมกัน.
31. มีการเน้นสัมพันธภาพอะไรตลอดกิตติคุณที่เรียบเรียงโดยโยฮัน และสัมพันธภาพนี้บรรลุการแสดงออกถึงจุดสุดยอดอย่างไร?
31 ในตอนต้น สัมพันธภาพระหว่างพระวาทะและพระเจ้าพระบิดาช่างวิเศษจริง ๆ! โดยการจัดการของพระเจ้า “พระวาทะจึงได้กลายเป็นเนื้อหนัง และทรงอยู่ท่ามกลางพวกเรา และเราได้เห็นสง่าราศีของพระองค์ คือสง่าราศีซึ่งเป็นของพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวจากพระบิดา; และพระองค์บริบูรณ์ไปด้วยพระกรุณาอันไม่พึงได้รับและความจริง.” (โย. 1:14, ล.ม.) จากนั้น ตลอดบันทึกของโยฮัน พระเยซูทรงเน้นสัมพันธภาพของพระองค์ในฐานะผู้อยู่ใต้อำนาจที่เชื่อฟังโดยปราศจากข้อสงสัยต่อพระทัยประสงค์ของพระบิดา. (4:34; 5:19, 30; 7:16; 10:29, 30; 11:41, 42; 12:27, 49, 50; 14:10) การแสดงออกของพระองค์เกี่ยวกับสัมพันธภาพอันใกล้ชิดนี้บรรลุจุดสุดยอดอันรุ่งโรจน์ในคำอธิษฐานที่กระตุ้นใจซึ่งบันทึกในโยฮันบท 17 คราวที่พระเยซูทรงรายงานต่อพระบิดาว่า พระองค์ได้ทำงานที่พระบิดาทรงมอบหมายให้ทำที่แผ่นดินโลกสำเร็จแล้วและตรัสอีกว่า “บัดนี้ พระบิดาเจ้าข้า ขอทรงโปรดให้ข้าพเจ้าได้รับเกียรติเคียงข้างพระองค์ ซึ่งข้าพเจ้าเคยมีเคียงข้างพระองค์ก่อนที่มีโลก.”—17:5, ล.ม.
32. โดยคำตรัสอะไรที่พระเยซูทรงเผยให้เห็นสัมพันธภาพของพระองค์กับเหล่าสาวกของพระองค์ และที่ว่าพระองค์เป็นช่องทางเดียวซึ่งพระพรแห่งชีวิตมีมาถึงมนุษยชาติ?
32 จะว่าอย่างไรในเรื่องสัมพันธภาพของพระเยซูกับพวกสาวก? บทบาทของพระเยซูในฐานะเป็นช่องทางเดียวที่พระพรของพระเจ้ามีการแผ่มายังคนเหล่านี้และมนุษยชาติทั้งมวลได้รับการเน้นโดยตลอด. (14:13, 14; 15:16; 16:23, 24) มีการพาดพิงถึงพระองค์ในฐานะ “พระเมษโปดกของพระเจ้า,” “อาหารแห่งชีวิต,” “ความสว่างของโลก,” “ผู้เลี้ยงแกะที่ดี,” “การกลับเป็นขึ้นจากตายและเป็นชีวิต,” “เป็นทางนั้น เป็นความจริงและเป็นชีวิต,” และ “เถาองุ่นแท้.” (1:29, ล.ม.; 6:35, ล.ม.; 8:12, ล.ม.; 10:11, ล.ม.; 11:25, ล.ม.; 14:6, ล.ม.; 15:1, ล.ม.) ด้วยอุทาหรณ์เรื่อง “เถาองุ่นแท้” นี้เองที่พระเยซูเผยให้เห็นเอกภาพอันวิเศษที่มีอยู่ไม่เพียงระหว่างพระองค์กับเหล่าสาวกแท้เท่านั้น แต่กับพระบิดาด้วย. โดยการบังเกิดผลมาก พวกเขาจะถวายเกียรติแด่พระบิดา. พระเยซูแนะนำว่า “พระบิดาได้ทรงรักเราและเรารักเจ้าทั้งหลายฉันใด จงตั้งมั่นอยู่ในความรักของเราต่อไปฉันนั้น.”—15:9, ล.ม.
33. วัตถุประสงค์อะไรแห่งงานรับใช้ของพระองค์ที่พระเยซูทรงกล่าวในคำอธิษฐาน?
33 จากนั้น พระองค์อธิษฐานต่อพระยะโฮวาอย่างเร่าร้อนจริง ๆ เพื่อว่าผู้เป็นที่รักเหล่านี้รวมทั้ง ‘คนที่เชื่อในพระองค์โดยถ้อยคำของเขา’ จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระบิดาและพระองค์เอง ได้รับการทำให้บริสุทธิ์ด้วยถ้อยคำแห่งความจริง! ที่จริง วัตถุประสงค์ทั้งสิ้นแห่งงานรับใช้ของพระเยซูมีการแสดงออกอย่างยอดเยี่ยมในตอนท้ายคำอธิษฐานของพระองค์ถึงพระบิดา ที่ว่า “ข้าพเจ้าได้ทำให้พวกเขารู้จักพระนามของพระองค์ และจะทำให้เขารู้อีก เพื่อความรักที่พระองค์ได้ทรงรักข้าพเจ้านั้นจะมีอยู่ในเขาและข้าพเจ้าจะร่วมสามัคคีกับเขา.”—17:20, 26, ล.ม.
34. พระเยซูทรงให้คำแนะนำอะไรที่เป็นประโยชน์ซึ่งเกี่ยวกับการเอาชนะโลก?
34 แม้ว่าพระเยซูกำลังจะจากพวกสาวกของพระองค์ในโลกไป แต่พระองค์ก็ไม่ได้ทรงทิ้งเขาไว้โดยปราศจากผู้ช่วย คือ “พระวิญญาณแห่งความจริง.” ยิ่งกว่านั้น พระองค์ทรงให้คำแนะนำที่เหมาะกับเวลาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของพวกเขากับโลก โดยเผยให้พวกเขาเห็นวิธีเอาชนะในฐานะ “ลูกแห่งความสว่าง.” (14:16, 17; 3:19-21; 12:36) พระเยซูตรัสว่า “ถ้าเจ้าทั้งหลายตั้งมั่นคงอยู่ในคำของเรา เจ้าก็เป็นสาวกแท้ของเรา และเจ้าทั้งหลายจะรู้จักความจริง และความจริงจะทำให้เจ้าเป็นอิสระ.” ในทางตรงข้าม พระองค์ตรัสแก่ลูกแห่งความมืดว่า “เจ้าทั้งหลายมาจากพญามารซึ่งเป็นพ่อของเจ้าและเจ้าประสงค์จะทำตามความปรารถนาแห่งพ่อของเจ้า. . . . มันมิได้ตั้งมั่นอยู่ในความจริง เพราะว่าความจริงมิได้มีอยู่ในตัวมัน.” ดังนั้น ให้เราตั้งใจแน่วแน่จะยืนหยัดมั่นคงในความจริงเสมอ ถูกแล้ว เพื่อ “นมัสการพระบิดาด้วยวิญญาณและความจริง” และได้รับกำลังจากคำตรัสของพระเยซูที่ว่า “จงกล้าหาญเถิด! เราชนะโลกแล้ว.”—8:31, 32, 44, ล.ม.; 4:23, ล.ม.; 16:33, ล.ม.
35. (ก) พระเยซูทรงให้คำพยานอะไรเกี่ยวกับราชอาณาจักรของพระเจ้า? (ข) เหตุใดกิตติคุณของโยฮันเป็นเหตุให้มีความสุขและความรู้สึกขอบคุณ?
35 นอกจากนั้น เรื่องทั้งหมดนี้มีความเกี่ยวข้องกับราชอาณาจักรของพระเจ้าด้วย. พระเยซูทรงยืนยันเมื่อถูกสอบสวนดังนี้: “ราชอาณาจักรของเรามิได้เป็นส่วนของโลกนี้. ถ้าราชอาณาจักรของเราเป็นส่วนของโลกนี้ บริวารของเราคงได้ต่อสู้เพื่อมิให้เราถูกมอบไว้กับพวกยิว. แต่ว่า ราชอาณาจักรของเรามิได้มาจากแหล่งนี้.” จากนั้น เมื่อตอบคำถามของปีลาต พระเยซูตรัสว่า “ท่านเองว่าเราเป็นกษัตริย์. เพราะเหตุนี้เราจึงเกิดมา และเพราะเหตุนี้เราได้เข้ามาในโลก เพื่อเราจะให้คำพยานถึงความจริง. ทุกคนที่อยู่ฝ่ายความจริงฟังเสียงของเรา.” (18:36, 37, ล.ม.) แท้จริง ความสุขย่อมมีแก่ผู้ที่รับฟังและผู้ที่ “บังเกิดใหม่” เพื่อเข้าสู่ “ราชอาณาจักรของพระเจ้า” ร่วมสามัคคีกับพระมหากษัตริย์. ความสุขมีแก่ “แกะอื่น” ซึ่งฟังเสียงของกษัตริย์ผู้เลี้ยงแกะองค์นี้และได้รับชีวิต. แท้จริงแล้ว มีสาเหตุให้เรารู้สึกขอบคุณต่อการจัดเตรียมให้มีกิตติคุณของโยฮัน เพราะมีเขียนไว้ว่า “เพื่อท่านทั้งหลายจะได้เชื่อว่าพระเยซูคือพระคริสต์ พระบุตรของพระเจ้า และเนื่องจากมีความเชื่อ ท่านก็จะได้ชีวิตโดยพระนามของพระองค์.”—3:3, 5, ล.ม.; 10:16, ล.ม.; 20:31, ล.ม.
[เชิงอรรถ]
a ประวัติคริสตจักร (ภาษาอังกฤษ) ยูเซบิอุส เล่ม 5 บทที่ 8 วรรค 4.
b การหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 1 หน้า 323.
c การหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 2 หน้า 57-58.