บท 86
เรื่องของบุตรที่หลงผิด
พระเยซูเพิ่งเล่าอุทาหรณ์แก่พวกฟาริซายเรื่องการเสาะหาจนพบแกะ และเงินหนึ่งบาทที่หายไป แล้วพระองค์ยกอุทาหรณ์อีกเรื่องหนึ่งขึ้นมา. เป็นเรื่องบิดาที่เปี่ยมด้วยความรัก และวิธีที่บิดาปฏิบัติต่อบุตรชายสองคน ซึ่งแต่ละคนมีข้อบกพร่อง.
ก่อนอื่นมีบุตรชายคนเล็กซึ่งเป็นตัวเอกของเรื่อง. บุตรคนนี้ขอมรดกอันเป็นส่วนของตนซึ่งบิดาจัดการแบ่งให้โดยไม่รั้งรอ. แล้วบุตรก็ออกจากบ้านไปใช้ชีวิตอย่างสำมะเลเทเมา. แต่ขอให้ตั้งใจฟังพระเยซูเล่าเรื่องนี้ และดูซิว่าคุณจะบอกได้ไหมว่าบุคคลที่กล่าวในอุทาหรณ์นั้นหมายถึงผู้ใด.
พระเยซูทรงเริ่มเรื่องดังนี้: “ชายคนหนึ่งมีบุตรชายสองคน. บุตรน้อยนั้นพูดกับบิดาว่า ‘บิดาเจ้าข้า ขอทรัพย์ที่เป็นส่วนของข้าพเจ้าเถิด.’ บิดาจึงแบ่งทรัพย์ให้แก่บุตรทั้งสองนั้น.” บุตรน้อยคนนี้จัดการอย่างไรกับทรัพย์ที่เขาได้รับ?
พระเยซูทรงชี้แจงว่า “ต่อมาไม่กี่วัน บุตรน้อยนั้นก็รวบรวมทรัพย์ทั้งหมดแล้วไปเที่ยวเมืองไกล และได้ผลาญทรัพย์ของตนที่นั่นด้วยการเป็นนักเลง.” อันที่จริง เขาหมดเงินไปด้วยการใช้ชีวิตอยู่กินกับหญิงโสเภณี. หลังจากนั้น ชีวิตเขาก็ตกอับตามการพรรณนาของพระเยซูที่ว่า:
“เมื่อเขาผลาญทรัพย์หมดแล้วก็เกิดกันดารอาหารยิ่งนักทั่วเมืองนั้น เขาก็มีความขัดสน. เขาจึงไปอาศัยอยู่กับชาวเมืองนั้นคนหนึ่ง และคนนั้นก็ใช้เขาไปเลี้ยงหมูที่ทุ่งนา. เขาใคร่จะได้อิ่มท้องด้วยฝักถั่วที่หมูกินนั้น แต่ไม่มีใครให้อะไรเขากิน.”
ช่างตกอับต่ำต้อยเพียงไรที่จำใจต้องกลายมาเป็นคนเลี้ยงหมู เนื่องจากหมูเป็นสัตว์ประเภทที่ระบุไว้ในพระบัญญัติว่าไม่สะอาด! แต่สิ่งที่ทรมานใจบุตรมากที่สุดคือความหิวแสบไส้ เขาหิวกระทั่งอยากกินอาหารที่เอาไว้เลี้ยงหมูเสียด้วยซ้ำ. เนื่องจากเขาได้รับความเดือดร้อนลำเค็ญถึงเพียงนั้น พระเยซูตรัสว่า “เขารู้สำนึกตัว.”
ขณะที่พรรณนาอุทาหรณ์ต่อไป พระเยซูทรงชี้แจงว่า “เขาจึงพูด [แก่ตัวเอง] ว่า ‘ลูกจ้างของบิดาเรามีมากก็ยังมีอาหารกินอิ่มและยังเหลืออีก ส่วนเราจะมาตายเสียที่นี่เพราะอดอาหาร! จำเราจะลุกขึ้นไปหาบิดาเรา และพูดกับท่านว่า “บิดาเจ้าข้า ข้าพเจ้าได้ผิดต่อสวรรค์และผิดต่อท่านด้วย. ข้าพเจ้าไม่สมควรจะได้ชื่อว่าเป็นลูกของท่าน. ขอท่านให้ข้าพเจ้าเป็นเหมือนลูกจ้างของท่านคนหนึ่งเถิด.”’ แล้วเขาก็ลุกขึ้นไปหาบิดาของตน.”
ตอนนี้พึงพิจารณาบางจุด: ถ้าบิดาบันดาลโทสะและตะโกนด่าเขาด้วยความโกรธขณะที่เขาออกจากบ้าน บุตรชายก็คงจะไม่มีกะจิตกะใจแน่วแน่ว่าเขาควรจะทำประการใด. เขาอาจตัดสินใจกลับก็จริง แล้วลองหางานที่อื่นในบ้านเกิดเมืองนอนของเขา เพื่อจะได้ไม่ต้องเผชิญหน้าบิดา. อย่างไรก็ดี เขาไม่ได้คิดเช่นนั้นเลย. เขาต้องการกลับไปที่บ้านบิดา!
ปรากฏชัดว่า บิดาในอุทาหรณ์ของพระเยซูหมายถึงพระยะโฮวาพระเจ้า พระบิดาองค์เปี่ยมด้วยความรักใคร่เมตตาซึ่งสถิตในสวรรค์. อนึ่ง คุณอาจเข้าใจด้วยว่าบุตรที่หลงหาย หรือบุตรสุรุ่ยสุร่ายคนนี้จะต้องหมายถึงคนบาปที่ขึ้นชื่อ. พวกฟาริซายซึ่งพระเยซูได้ตรัสตอบนั้นก็เคยติเตียนพระเยซูก่อนหน้านี้ว่า พระองค์ทรงรับประทานอาหารกับคนบาปจำพวกนี้ทีเดียว. แต่บุตรชายคนโตหมายถึงใคร?
เมื่อบุตรชายที่หลงผิดกลับมา
เมื่อบุตรที่หลงผิดหรือบุตรผู้สุรุ่ยสุร่ายในอุทาหรณ์ของพระเยซูได้กลับมายังบ้านของบิดา เขาได้รับการต้อนรับอย่างไร? โปรดฟังพระเยซูพรรณนาเรื่องนั้น:
“แต่เมื่อเขายังอยู่แต่ไกล บิดาแลเห็นเขาก็มีความเมตตา จึงวิ่งออกไปกอดคอจูบเขา [ด้วยความรักใคร่, ล.ม.].” เขาเป็นบิดาที่เปี่ยมด้วยความเมตตาและใจดีอะไรเช่นนี้ ช่างเป็นตัวอย่างแสดงถึงพระยะโฮวา พระบิดาของเราผู้ซึ่งสถิตในสวรรค์อย่างชัดแจ้งทีเดียว!
บิดาคงได้ข่าวคราวที่บุตรดำเนินชีวิตอย่างสำมะเลเทเมาแล้ว. แต่เขาก็ยินดีต้อนรับบุตรเข้าบ้านโดยไม่รอฟังคำชี้แจงในรายละเอียด. พระเยซูเองทรงมีน้ำใจต้อนรับเช่นกัน โดยที่พระองค์เป็นฝ่ายริเริ่มไปพบปะคนบาปและคนเก็บภาษี ซึ่งเป็นเหมือนบุตรผู้สุรุ่ยสุร่ายในอุทาหรณ์.
จริงอยู่ บิดาผู้มีความเข้าใจ ในอุทาหรณ์ของพระเยซูนั้นย่อมรู้เค้าอยู่บ้างว่าบุตรของตนได้สำนึกผิดด้วยการสังเกตสีหน้าอันเศร้าหมองและอาการเดินคอตกกลับบ้าน. แต่เนื่องด้วยบิดาเริ่มแสดงความรักใคร่ จึงง่ายขึ้นที่บุตรจะสารภาพความผิดต่อบิดา ดังที่พระเยซูเล่าว่า “ฝ่ายบุตรนั้นจึงกล่าวแก่บิดาว่า ‘บิดาเจ้าข้า ข้าพเจ้าได้ผิดต่อสวรรค์และต่อท่าน. ข้าพเจ้าไม่สมควรจะได้ชื่อว่าเป็นลูกของท่านต่อไป. ขอโปรดตั้งข้าพเจ้าเป็นลูกจ้างคนหนึ่งของท่านเถิด.’”
ขณะที่บุตรพูดยังไม่ทันขาดคำ บิดาเริ่มออกคำสั่งแก่บ่าวของตนว่า “จงรีบไปเอาเสื้ออย่างดีที่สุดมาสวมให้เขา และเอาแหวนมาสวมนิ้วมือกับเอารองเท้ามาสวมให้เขา. จงเอาลูกวัวอ้วนพีมาฆ่าเลี้ยงกันเพื่อความรื่นเริงยินดีเถิด เพราะว่าลูกของเราคนนี้ตายแล้วแต่กลับเป็นอีก หายไปแล้วแต่ได้พบกันอีก.” และเขาทั้งหลาย “ต่างก็มีความโสมนัสยินดี.”
ระหว่างนั้น “บุตรคนใหญ่” ของบิดาคนนั้น “อยู่ในทุ่งนา.” คุณจะบอกได้ไหมว่า บุตรคนนี้เล็งถึงใคร เมื่อฟังเรื่องนี้จนจบ. พระเยซูทรงเล่าเรื่องบุตรคนโตว่า “เมื่อเขากลับมาใกล้ตึกแล้วก็ได้ยินเสียงมโหรีและเต้นรำ. เขาจึงเรียกบ่าวคนหนึ่งมาถามว่าเขาทำอะไรกัน. บ่าวนั้นจึงตอบว่า ‘น้องของท่านกลับมาแล้ว และบิดาได้ให้ฆ่าลูกวัวอ้วนพี เพราะได้ลูกกลับมาโดยสวัสดิภาพ.’ ฝ่ายพี่ชายก็โกรธไม่ยอมเข้าบ้าน. บิดาจึงออกมาชักชวนเขา. แต่เขาตอบบิดาว่า ‘ดูเถอะ ข้าพเจ้าได้ปรนนิบัติท่านกี่ปีมาแล้ว และมิได้ละเมิดคำสั่งสอนของท่านสักข้อหนึ่งเลย แต่แม้เพียงลูกแพะสักตัวหนึ่งท่านก็ยังไม่เคยให้ข้าพเจ้า เพื่อจะเลี้ยงกันเป็นที่ยินดีกับเพื่อนฝูงของข้าพเจ้า. แต่เมื่อลูกคนนี้ของท่านผู้ได้ผลาญทรัพย์สิ่งของของท่านโดยคบหญิงคนชั่วมาแล้ว ท่านยังได้ฆ่าลูกวัวอ้วนพีเลี้ยงเขา.’”
ใครเป็นเหมือนบุตรคนโตนี้ที่กล่าวตำหนิพระองค์เมื่อทรงเมตตาและเอาใจใสคนบาป? พวกอาลักษณ์และฟาริซายเหล่านั้นมิใช่หรือ? เนื่องจากเขาพากันติเตียนพระเยซูเพราะพระองค์ยินดีต้อนรับคนบาปนั้นเองจึงมีอุทาหรณ์เรื่องนี้ขึ้นมา บุตรคนโตในอุทาหรณ์ต้องหมายถึงพวกเขาชัด ๆ.
พระเยซูทรงรวบอุทาหรณ์ให้จบลงด้วยคำพูดวิงวอนของบิดาต่อบุตรคนโตว่า “ลูกเอ๋ย เจ้าอยู่กับเราเสมอ และสิ่งของทั้งหมดของเราก็เป็นของของเจ้า แต่สมควรที่เราจะได้ชื่นชมยินดี เพราะน้องของเจ้าคนนี้ตายแล้วแต่กลับเป็นขึ้นอีก หายไปแต่ได้พบกันอีก.”
ดังนั้น พระเยซูได้ละเรื่องของบุตรคนโตไว้แค่นั้น ไม่บอกว่าบุตรคนโตจะทำอะไรต่อไป. ที่จริง ในเวลาต่อมา ภายหลังพระเยซูวายพระชนม์และฟื้นคืนพระชนม์แล้ว “พวกปุโรหิตเป็นอันมากก็ได้เชื่อฟังในศาสนา” บางทีอาจจะมีบางคนที่เคยถูกนับอยู่ในจำพวก “บุตรคนโต” ตามที่พระเยซูทรงกล่าวในอุทาหรณ์นี้.
แต่ในสมัยปัจจุบันบุตรทั้งสองเล็งถึงใคร? คงต้องได้แก่คนเหล่านั้นที่มาเรียนรู้ และเข้าใจพระประสงค์ของพระยะโฮวามากพอจนมีพื้นฐานที่จะร่วมสัมพันธภาพกับพระองค์. บุตรคนโตเล็งถึงสมาชิกบางคนแห่ง “แกะฝูงน้อย” หรือ “ประชาคมบุตรหัวปีซึ่งได้ลงทะเบียนไว้ในสวรรค์.” คนเหล่านี้เคยมีทัศนคติคล้าย ๆ บุตรคนโต. พวกเขาไม่เต็มใจต้อนรับกลุ่มชนที่จะอยู่ทางแผ่นดินโลก “แกะอีกฝูงหนึ่ง” ซึ่งเขาคิดว่าคนเหล่านี้ได้รับการเอาใจใส่มากเกินไป.
ส่วนบุตรผู้สุรุ่ยสุร่ายนั้นเป็นภาพเล็งถึงคนเหล่านั้นในพลไพร่ของพระเจ้าที่ออกไปหาความสนุกสนานเพลิดเพลินซึ่งโลกเสนอให้. แต่เมื่อถึงเวลา คนเหล่านี้กลับมาอย่างคนรู้สำนึกผิดและได้เข้ามาทำงานอีกอย่างเอาจริงเอาจังเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า. ที่จริง พระบิดาทรงเปี่ยมด้วยความรักและความเมตตามากเพียงไรต่อคนเหล่านั้นซึ่งยอมรับในเรื่องความจำเป็นที่ตนจำต้องได้รับการให้อภัยและกลับมาหาพระองค์! ลูกา 15:11-32; เลวีติโก 11:7, 8; กิจการ 6:7; ลูกา 12:32; เฮ็บราย 12:23; โยฮัน 10:16.
▪ พระเยซูทรงยกอุทาหรณ์เรื่องนี้ขึ้นมากล่าวกับใคร และเพราะเหตุใด?
▪ ใครเป็นตัวเอกในเรื่องนี้ และเกิดอะไรขึ้นกับเขา?
▪ บิดาและบุตรชายคนเล็กหมายถึงใครในสมัยพระเยซู?
▪ พระเยซูทรงกระทำอย่างเดียวกันอย่างไรกับบิดาผู้มีความเมตตาสงสารในอุทาหรณ์ที่พระองค์ได้นำขึ้นมาเล่า?
▪ ทัศนะของบุตรคนโตเป็นเช่นไรในเรื่องการยินดีต้อนรับน้องชาย และพวกฟาริซายประพฤติเหมือนบุตรคนโตอย่างไร?
▪ อุทาหรณ์ของพระเยซูเล็งถึงอะไรในสมัยของเรา?