บทสิบเอ็ด
รักษาความสงบสุขในครอบครัวของคุณ
1. มีสภาพการณ์อะไรบ้างที่อาจก่อให้เกิดการแตกแยกในครอบครัว?
ความสุขย่อมมีแก่คนเหล่านั้นที่อยู่ในครอบครัวซึ่งมีความรัก, ความเข้าใจ, และสันติสุข. หวังว่าครอบครัวของคุณจะเป็นเช่นนั้น. น่าเศร้าใจ ครอบครัวจำนวนนับไม่ถ้วนไม่เป็นอย่างนั้นและแตกแยกเนื่องด้วยเหตุผลไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง. อะไรทำให้ครอบครัวแตกแยก? ในบทนี้เราจะพิจารณาสามสิ่ง. ในบางครอบครัว สมาชิกไม่ได้ถือศาสนาเดียวกันหมด. ส่วนครอบครัวอื่น ลูก ๆ อาจไม่ได้มีบิดามารดาแท้ ๆ คนเดียวกัน. และก็ยังมีครอบครัวอื่นอีกที่การดิ้นรนทำมาหาเลี้ยงชีพหรือความปรารถนาที่จะได้สิ่งฝ่ายวัตถุมากขึ้นดูเหมือนบีบบังคับให้สมาชิกครอบครัวต้องแยกจากกัน. กระนั้น สภาพการณ์ที่ทำให้ครอบครัวหนึ่งแตกแยกอาจไม่มีผลกระทบต่ออีกครอบครัวหนึ่ง. อะไรก่อให้เกิดความแตกต่างกัน?
2. บางคนเสาะหาการชี้นำในชีวิตครอบครัวจากที่ไหน แต่แหล่งดีที่สุดสำหรับการชี้นำเช่นนั้นคืออะไร?
2 ทัศนะเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง. หากคุณพยายามอย่างจริงใจที่จะเข้าใจทัศนะของอีกฝ่ายหนึ่ง คุณก็คงจะมีความสังเกตเข้าใจมากขึ้นถึงวิธีที่จะรักษาครอบครัวให้เป็นหนึ่งเดียว. ปัจจัยประการที่สองคือ แหล่งแห่งการชี้นำของคุณ. ผู้คนมากมายปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของเพื่อนร่วมงาน, เพื่อนบ้าน, นักเขียนคอลัมน์ประจำหนังสือพิมพ์, หรือข้อชี้แนะอื่น ๆ ของมนุษย์. อย่างไรก็ดี บางคนได้พบสิ่งที่พระคำของพระเจ้าบอกไว้เกี่ยวกับสภาพการณ์ของตน แล้วเขาได้นำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้. การทำเช่นนี้จะช่วยครอบครัวให้รักษาความสงบสุขในบ้านไว้ได้อย่างไร?—2 ติโมเธียว 3:16, 17.
หากสามีมีความเชื่อต่างกับคุณ
3. (ก) คำแนะนำของคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับการสมรสกับคนที่มีความเชื่อต่างกันนั้นคืออย่างไร? (ข) มีหลักการพื้นฐานอะไรบ้างที่ควรนำมาใช้หากฝ่ายหนึ่งมีความเชื่อและอีกฝ่ายหนึ่งไม่มีความเชื่อ?
3 คัมภีร์ไบเบิลแนะนำเราอย่างหนักแน่นไม่ให้สมรสกับคนที่มีความเชื่อทางศาสนาต่างกัน. (พระบัญญัติ 7:3, 4; 1 โกรินโธ 7:39) อย่างไรก็ดี อาจเป็นได้ที่คุณเรียนรู้ความจริงจากคัมภีร์ไบเบิลหลังจากที่คุณแต่งงานแล้ว แต่สามีของคุณไม่ได้เรียน. ถ้าเช่นนั้นจะว่าอย่างไร? แน่นอน คำปฏิญาณในการสมรสยังมีผลบังคับใช้อยู่. (1 โกรินโธ 7:10) คัมภีร์ไบเบิลเน้นความผูกพันถาวรของสายสมรสและสนับสนุนคนที่สมรสแล้วให้แก้ปัญหาของเขาแทนที่จะหนีปัญหาเหล่านั้น. (เอเฟโซ 5:28-31; ติโต 2:4, 5) แต่จะว่าอย่างไรหากสามีคัดค้านอย่างแข็งกร้าวต่อการที่คุณปฏิบัติศาสนาของคัมภีร์ไบเบิล? เขาอาจพยายามขัดขวางคุณไว้จากการเข้าร่วมการประชุมของประชาคม หรือเขาอาจพูดว่าไม่ต้องการให้ภรรยาของเขาไปตามบ้านเรือนเพื่อพูดเรื่องศาสนา. คุณจะทำประการใด?
4. ภรรยาจะแสดงการร่วมความรู้สึกได้ในทางใดถ้าหากสามีไม่ได้มีความเชื่อเหมือนเธอ?
4 จงถามตัวเองว่า ‘ทำไมสามีของดิฉันรู้สึกอย่างนั้น?’ (สุภาษิต 16:20, 23) หากเขาไม่เข้าใจจริง ๆ ว่าคุณกำลังทำอะไรอยู่ เขาก็อาจเป็นห่วงคุณ. หรือเขาอาจอยู่ภายใต้ความกดดันจากญาติพี่น้อง เนื่องจากคุณไม่เข้าส่วนร่วมอีกต่อไปในธรรมเนียมบางอย่างที่สำคัญสำหรับพวกเขา. สามีคนหนึ่งบอกว่า “เมื่ออยู่คนเดียวในบ้าน ผมรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง.” ชายคนนี้รู้สึกว่า เขากำลังสูญเสียภรรยาให้กับศาสนาหนึ่งไป. กระนั้น ความหยิ่งทะนงกันเขาไว้ไม่ให้ยอมรับว่า เขารู้สึกเดียวดาย. สามีของคุณอาจต้องการคำรับรองว่า ความรักที่คุณมีต่อพระยะโฮวามิได้หมายความว่า ตอนนี้คุณรักสามีน้อยกว่าที่เคยรักในอดีต. จงทำให้แน่ใจที่จะให้เวลากับเขา.
5. ภรรยาซึ่งมีสามีที่ต่างความเชื่อต้องรักษาความสมดุลอะไร?
5 อย่างไรก็ดี ต้องคำนึงถึงสิ่งที่สำคัญกว่านั้นอีก เพื่อคุณจะจัดการกับสภาพการณ์นั้นอย่างสุขุม. พระคำของพระเจ้ากระตุ้นเตือนภรรยาว่า “จงยอมฟังสามีของตน ซึ่งเป็นการสมควรในองค์พระผู้เป็นเจ้า.” (โกโลซาย 3:18, ฉบับแปลใหม่) ดังนั้น พระคำของพระเจ้าเตือนให้ระวังน้ำใจของการเป็นเอกเทศ. นอกจากนี้ โดยกล่าวว่า “ซึ่งเป็นการสมควรในองค์พระผู้เป็นเจ้า” ข้อคัมภีร์นี้บ่งชี้ว่า การยอมอยู่ใต้อำนาจสามีควรคำนึงถึงการยอมอยู่ใต้อำนาจขององค์พระผู้เป็นเจ้าด้วย. ต้องมีความสมดุล.
6. ภรรยาคริสเตียนควรคำนึงถึงหลักการอะไรบ้าง?
6 สำหรับคริสเตียน การเข้าร่วมการประชุมของประชาคมและการให้คำพยานแก่คนอื่นเกี่ยวกับความเชื่อที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลนั้นเป็นลักษณะสำคัญของการนมัสการแท้และเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย. (โรม 10:9, 10, 14; เฮ็บราย 10:24, 25) ดังนั้นแล้ว คุณจะทำประการใด หากมนุษย์สั่งคุณโดยตรงไม่ให้ทำตามข้อเรียกร้องของพระเจ้าซึ่งมีการบอกชัดเจน? บรรดาอัครสาวกของพระเยซูคริสต์แถลงว่า “พวกข้าพเจ้าจำต้องเชื่อฟังพระเจ้าในฐานะเป็นผู้ครอบครองยิ่งกว่ามนุษย์.” (กิจการ 5:29, ล.ม.) ตัวอย่างของพวกเขาให้แบบอย่างซึ่งนำมาใช้ได้กับสภาพการณ์หลายอย่างในชีวิต. ความรักต่อพระยะโฮวาจะกระตุ้นคุณให้แสดงความเลื่อมใสต่อพระองค์ไหมซึ่งเป็นสิทธิอันชอบธรรมของพระองค์? ขณะเดียวกัน ความรักและความนับถือที่คุณมีต่อสามีจะเป็นเหตุให้คุณพยายามทำเช่นนี้ในวิธีที่เขาพอจะยอมรับได้ไหม?—มัดธาย 4:10; 1 โยฮัน 5:3.
7. ภรรยาคริสเตียนต้องมีความตั้งใจแน่วแน่อะไร?
7 พระเยซูทรงให้ข้อสังเกตว่าอาจจะไม่เป็นเช่นนี้เสมอไป. พระองค์ทรงเตือนว่า เนื่องจากการต่อต้านการนมัสการแท้ สมาชิกที่มีความเชื่อในบางครอบครัวจะรู้สึกว่าถูกตัดขาด ประหนึ่งมีดาบมาอยู่ระหว่างเขากับคนที่เหลือในครอบครัว. (มัดธาย 10:34-36) สตรีคนหนึ่งในญี่ปุ่นประสบสิ่งนี้. เธอถูกสามีต่อต้านมาเป็นเวลา 11 ปี. เขาปฏิบัติกับเธออย่างทารุณโหดร้าย และบ่อยครั้งปิดกุญแจให้เธออยู่นอกบ้าน. แต่เธอเพียรอดทน. เพื่อน ๆ ในประชาคมคริสเตียนได้ช่วยเหลือเธอ. เธออธิษฐานไม่หยุดหย่อนและได้รับการหนุนกำลังใจมากมายจาก 1 เปโตร 2:20. สตรีคริสเตียนผู้นี้มั่นใจว่า หากเธอยืนหยัดมั่นคง สักวันหนึ่งสามีจะร่วมกับเธอในการรับใช้พระยะโฮวา. และเขาก็ได้ทำเช่นนั้น.
8, 9. ภรรยาควรปฏิบัติอย่างไรเพื่อหลีกเลี่ยงการวางอุปสรรคโดยไม่จำเป็นไว้ตรงหน้าสามี?
8 มีหลายสิ่งซึ่งใช้ได้ผลที่คุณสามารถทำได้เพื่อจะโน้มน้าวเจตคติของคู่ชีวิตของคุณ. ตัวอย่างเช่น หากสามีคัดค้านศาสนาของคุณ ก็อย่าให้เขามีสาเหตุที่ฟังขึ้นในการบ่นเรื่องอื่น. จงดูแลบ้านช่องให้สะอาด. เอาใจใส่การปรากฏตัวของคุณ. จงแสดงความรักและความหยั่งรู้ค่าอย่างไม่อั้น. แทนที่จะวิจารณ์ จงเป็นคนเกื้อหนุน. แสดงให้เห็นว่าคุณหมายพึ่งเขาในตำแหน่งประมุข. อย่าแก้เผ็ดหากคุณรู้สึกว่าได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม. (1 เปโตร 2:21, 23) จงยอมให้กับความไม่สมบูรณ์ของมนุษย์ และหากเกิดการโต้เถียงขึ้น จงถ่อมใจเป็นฝ่ายขอโทษก่อน.—เอเฟโซ 4:26.
9 อย่าให้การเข้าร่วมประชุมของคุณเป็นสาเหตุให้อาหารที่เขาจะรับประทานนั้นล่าช้า. คุณอาจเลือกที่จะเข้าร่วมในงานเผยแพร่แบบคริสเตียนตอนที่สามีไม่อยู่บ้าน. เป็นการสุขุมที่ภรรยาคริสเตียนจะละเว้นจากการเผยแพร่ให้สามีเมื่อเขาไม่อยากฟัง. แทนที่จะทำเช่นนั้น เธอปฏิบัติตามคำแนะนำของอัครสาวกเปโตรที่ว่า “ท่านทั้งหลายที่เป็นภรรยา จงยอมอยู่ใต้อำนาจสามีของท่าน เพื่อว่า ถ้าคนใดไม่เชื่อฟังพระคำ แม้นไม่เอ่ยปาก เขาก็อาจถูกโน้มน้าวโดยการประพฤติของภรรยา เนื่องจากได้เห็นประจักษ์ถึงการประพฤติอันบริสุทธิ์ของท่านทั้งหลายพร้อมกับความนับถืออันสุดซึ้ง.” (1 เปโตร 3:1, 2, ล.ม.) ภรรยาคริสเตียนพยายามสำแดงผลแห่งพระวิญญาณของพระเจ้าให้เต็มที่ยิ่งขึ้น.—ฆะลาเตีย 5:22, 23.
เมื่อภรรยาไม่เป็นคริสเตียน
10. สามีที่มีความเชื่อควรปฏิบัติอย่างไรต่อภรรยาหากเธอมีความเชื่อต่างกับเขา?
10 จะว่าอย่างไรถ้าสามีเป็นคริสเตียนและภรรยาไม่ได้เป็น? คัมภีร์ไบเบิลให้การชี้นำสำหรับสถานการณ์เช่นนั้น. พระคัมภีร์บอกว่า “ถ้าพี่น้องคนใดมีภรรยาไม่เชื่อถือพระคริสต์, และนางพอใจอยู่กับสามี, อย่าให้สามีทิ้งนางนั้นเลย.” (1 โกรินโธ 7:12) พระคัมภีร์ยังตักเตือนสามีด้วยว่า “จงรักภรรยาของตน [“ต่อ ๆ ไป,” ล.ม.].”—โกโลซาย 3:19.
11. สามีจะแสดงความสังเกตเข้าใจและใช้ตำแหน่งประมุขอย่างผ่อนหนักผ่อนเบากับภรรยาได้อย่างไรหากเธอไม่ได้เป็นคริสเตียน?
11 หากภรรยาของคุณมีความเชื่อต่างจากคุณ จงระวังเป็นพิเศษที่จะแสดงความนับถือต่อภรรยาและคำนึงถึงความรู้สึกของเธอ. ในฐานะเป็นผู้ใหญ่ เธอสมควรได้รับเสรีภาพในระดับหนึ่งที่จะปฏิบัติความเชื่อของเธอทางศาสนา ถึงแม้คุณไม่เห็นด้วยกับความเชื่อนั้น. ครั้งแรกที่คุณพูดคุยกับเธอเรื่องความเชื่อของคุณ อย่าคาดหมายให้เธอทิ้งความเชื่อที่ยึดถือมานานเพื่อจะรับเอาสิ่งใหม่. แทนที่จะพูดทันทีทันใดว่า ธรรมเนียมที่เธอกับครอบครัวของเธอยึดมั่นมาเป็นเวลานานนั้นไม่ถูก จงหาเหตุผลกับเธอจากพระคัมภีร์ด้วยความเพียรอดทน. อาจเป็นได้ที่เธอรู้สึกว่าถูกละเลยหากคุณอุทิศเวลาจำนวนมากให้กับกิจกรรมของประชาคม. เธออาจต่อต้านความพยายามของคุณที่จะรับใช้พระยะโฮวา กระนั้น สิ่งหลักอาจเป็นเพียงว่า “ดิฉันต้องการเวลาของคุณมากขึ้น!” จงอดทน. โดยที่คุณคำนึงถึงเธอด้วยความรัก ในที่สุด เธออาจได้รับการช่วยให้รับเอาการนมัสการแท้.—โกโลซาย 3:12-14; 1 เปโตร 3:8, 9.
การอบรมบุตร
12. ถึงแม้ว่าสามีและภรรยามีความเชื่อที่ต่างกัน ควรนำหลักการในพระคัมภีร์มาใช้อย่างไรในการอบรมลูก?
12 ในครอบครัวที่ไม่เป็นหนึ่งเดียวในการนมัสการ บางครั้งการสั่งสอนบุตรในด้านศาสนากลายเป็นปัญหา. ควรนำหลักการในพระคัมภีร์มาใช้อย่างไร? คัมภีร์ไบเบิลมอบหมายหน้าที่รับผิดชอบในการสั่งสอนบุตรให้บิดาเป็นอันดับแรก แต่มารดาก็มีบทบาทสำคัญด้วย. (สุภาษิต 1:8; เทียบกับเยเนซิศ 18:19; พระบัญญัติ 11:18, 19.) ถึงแม้ผู้เป็นบิดาไม่ยอมรับตำแหน่งประมุขของพระคริสต์ เขาก็ยังเป็นประมุขของครอบครัว.
13, 14. หากสามีห้ามภรรยาพาลูกไปยังการประชุมคริสเตียนหรือศึกษากับเขา เธออาจทำประการใด?
13 บิดาที่ไม่มีความเชื่อบางคนไม่คัดค้านถ้ามารดาสั่งสอนบุตรในเรื่องศาสนา. ส่วนบิดาคนอื่น ๆ คัดค้าน. จะว่าอย่างไรหากสามีไม่ยอมให้คุณพาลูก ๆ ไปยังการประชุมของประชาคม หรือถึงกับห้ามคุณศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับพวกเขาที่บ้านด้วยซ้ำ? ตอนนี้คุณต้องทำให้พันธะหน้าที่หลายอย่างสมดุลกัน—ไม่ว่าจะเป็นพันธะหน้าที่ต่อพระยะโฮวาพระเจ้า, ต่อประมุขที่เป็นสามีของคุณ, และต่อลูก ๆ ที่รักของคุณ. คุณจะทำให้พันธะหน้าที่เหล่านี้ประสานกันได้อย่างไร?
14 แน่นอนคุณจะอธิษฐานเกี่ยวกับเรื่องนั้น. (ฟิลิปปอย 4:6, 7; 1 โยฮัน 5:14) แต่ในที่สุด คุณเป็นคนที่ต้องตัดสินใจว่าจะยึดแนวทางใด. หากคุณดำเนินต่อไปด้วยความผ่อนหนักผ่อนเบา โดยทำให้สามีของคุณเข้าใจว่า คุณไม่ได้ท้าทายตำแหน่งประมุขของเขา ในที่สุดการต่อต้านของเขาอาจลดน้อยลง. ถึงแม้สามีห้ามคุณพาลูกไปยังการประชุมหรือศึกษาคัมภีร์ไบเบิลอย่างเป็นทางการกับพวกเขา คุณก็ยังคงสามารถสอนเขาได้. โดยการสนทนากันทุกวันและตัวอย่างที่ดีของคุณ พยายามปลูกฝังความรักต่อพระยะโฮวาระดับหนึ่งเข้าไว้ในตัวเขา, ตลอดจนความเชื่อในพระคำของพระองค์, ความนับถือต่อบิดามารดา—ซึ่งรวมทั้งผู้เป็นบิดาของเขาด้วย—ความห่วงใยด้วยความรักต่อคนอื่น, และความหยั่งรู้ค่าต่อนิสัยเอาจริงเอาจังในการทำงาน. ในที่สุด ผู้เป็นบิดาอาจสังเกตผลดีและอาจหยั่งรู้คุณค่าความพยายามของคุณ.—สุภาษิต 23:24.
15. หน้าที่รับผิดชอบของบิดาผู้มีความเชื่อในการอบรมบุตรคืออะไร?
15 หากคุณเป็นสามีที่มีความเชื่อและภรรยาไม่มีความเชื่อ คุณต้องแบกหน้าที่รับผิดชอบในการอบรมบุตรของคุณ “ด้วยการตีสอนและการปรับความคิดจิตใจตามหลักการของพระยะโฮวา.” (เอเฟโซ 6:4, ล.ม.) แน่นอน ขณะที่ทำเช่นนั้น คุณควรเป็นคนกรุณา, แสดงความรัก, และมีเหตุผลในการปฏิบัติกับภรรยา.
หากคุณนับถือศาสนาต่างจากบิดามารดา
16, 17. ลูกต้องจดจำหลักการอะไรบ้างในคัมภีร์ไบเบิลหากเขารับเอาความเชื่อที่ต่างจากบิดามารดา?
16 ไม่ใช่เรื่องผิดปกติอีกต่อไปที่แม้แต่เด็กซึ่งเป็นผู้เยาว์จะรับเอาทัศนะทางศาสนาที่ต่างจากของบิดามารดา. คุณได้ทำเช่นนั้นไหม? ถ้าเช่นนั้น คัมภีร์ไบเบิลมีคำแนะนำสำหรับคุณ.
17 พระคำของพระเจ้ากล่าวว่า “จงเชื่อฟังบิดามารดาของตนร่วมสามัคคีกันกับองค์พระผู้เป็นเจ้า เพราะว่าการนี้ชอบธรรม: ‘จงให้เกียรติบิดาและมารดาของตน.’” (เอเฟโซ 6:1, 2, ล.ม.) นั่นเกี่ยวข้องกับความนับถืออย่างเหมาะสมต่อบิดามารดา. อย่างไรก็ดี ขณะที่การเชื่อฟังบิดามารดาเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ควรทำเช่นนั้นโดยไม่คำนึงถึงพระเจ้าเที่ยงแท้. เมื่อเด็กโตพอที่จะเริ่มทำการตัดสินใจแล้ว เขาจะแบกความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นระดับหนึ่งสำหรับการกระทำของเขา. เป็นเช่นนี้ไม่เฉพาะกับเรื่องกฎหมายทางโลกเท่านั้น แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับกฎหมายของพระเจ้าด้วย. คัมภีร์ไบเบิลแถลงว่า “เราทั้งหลายทุกคนต้องให้การด้วยตัวเองแก่พระเจ้า.”—โรม 14:12.
18, 19. หากลูกนับถือศาสนาที่ต่างจากบิดามารดา เขาจะช่วยบิดามารดาให้เข้าใจความเชื่อของเขาได้ดีขึ้นอย่างไร?
18 หากความเชื่อของคุณทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในชีวิตคุณ จงพยายามเข้าใจแง่คิดของบิดามารดาคุณ. ท่านคงจะชอบใจ ถ้าผลจากการที่คุณเรียนรู้และนำคำสอนในคัมภีร์ไบเบิลมาใช้ ทำให้คุณกลายเป็นคนมีความนับถือมากขึ้น, เชื่อฟังมากขึ้น, เอาเป็นธุระมากขึ้นในสิ่งที่ท่านเรียกร้องจากคุณ. อย่างไรก็ดี หากความเชื่อใหม่ของคุณยังทำให้คุณปฏิเสธความเชื่อถือและธรรมเนียมที่ท่านยึดมั่นเป็นส่วนตัวแล้ว ท่านอาจรู้สึกว่าคุณกำลังปฏิเสธมรดกที่ท่านหมายมั่นจะให้คุณ. ท่านอาจเป็นห่วงสวัสดิภาพของคุณด้วย หากสิ่งที่คุณทำอยู่นั้นไม่เป็นที่นิยมชมชอบในชุมชน หรือว่าถ้าเรื่องนั้นทำให้คุณหันเหไปจากการติดตามสิ่งที่ท่านรู้สึกว่าอาจช่วยคุณให้มั่งคั่งทางด้านวัตถุ. ความหยิ่งทะนงอาจเป็นอุปสรรคด้วย. ท่านอาจรู้สึกว่า คุณกำลังบอกในทำนองว่า คุณเป็นฝ่ายถูกและท่านเป็นฝ่ายผิด.
19 เพราะฉะนั้น เร็วเท่าที่เป็นไปได้ จงพยายามจัดแจงให้บิดามารดาของคุณพบกับผู้ปกครองบางคนหรือพยานฯ ที่อาวุโสคนอื่นจากประชาคมท้องถิ่น. จงสนับสนุนบิดามารดาของคุณให้ไปหอประชุมเพื่อมาฟังกับหูในเรื่องที่มีการพิจารณาและเพื่อมาเห็นกับตาว่าพยานพระยะโฮวาเป็นคนชนิดใด. ในที่สุด ท่าทีของบิดามารดาคุณอาจอ่อนลงก็ได้. แม้แต่เมื่อบิดามารดาต่อต้านอย่างแข็งกร้าว, ทำลายสรรพหนังสือเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล, และห้ามลูกเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนก็ตาม ตามปกติแล้วมีโอกาสต่าง ๆ ที่จะอ่านได้ในที่อื่น, พูดคุยกับเพื่อนคริสเตียน, และให้คำพยานอีกทั้งช่วยคนอื่นเมื่อสบโอกาส. คุณสามารถอธิษฐานถึงพระยะโฮวาได้ด้วย. เยาวชนบางคนต้องรอจนกระทั่งเขาโตพอที่จะใช้ชีวิตอยู่นอกบ้านก่อนที่เขาจะทำได้มากขึ้น. อย่างไรก็ดี ไม่ว่าสภาพการณ์ที่บ้านจะเป็นอย่างไรก็ตาม อย่าลืม “ให้เกียรติบิดาและมารดาของตน.” จงทำส่วนของคุณเพื่อส่งเสริมสันติสุขในบ้าน. (โรม 12:17, 18) ยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด จงติดตามสันติสุขกับพระเจ้า.
ข้อท้าทายในการเป็นพ่อเลี้ยงหรือแม่เลี้ยง
20. เด็กอาจมีความรู้สึกอย่างไรหากบิดาหรือมารดาเป็นพ่อเลี้ยงหรือแม่เลี้ยง?
20 ในหลายครอบครัว สภาพการณ์ที่เป็นข้อท้าทายมากที่สุดไม่ใช่เรื่องศาสนา แต่เป็นปัญหาเรื่องพ่อเลี้ยงหรือแม่เลี้ยง. หลายครอบครัวในทุกวันนี้รวมเอาเด็กที่เกิดจากคู่สมรสเดิมของบิดาหรือมารดาหรือของทั้งสองฝ่าย. ในครอบครัวดังกล่าว ลูกอาจเกิดความอิจฉาริษยาและความขุ่นเคือง หรือบางทีมีความขัดแย้งเรื่องความจงรักภักดีต่อฝ่ายต่าง ๆ. ผลก็คือ เขาอาจไม่สนใจไยดีต่อความพยายามอย่างจริงใจของพ่อเลี้ยงหรือแม่เลี้ยงที่จะเป็นบิดาหรือมารดาที่ดี. อะไรจะช่วยได้เพื่อทำให้ครอบครัวที่มีพ่อเลี้ยงหรือแม่เลี้ยงประสบผลสำเร็จ?
21. ทั้ง ๆ ที่มีสภาพการณ์พิเศษเฉพาะ ทำไมพ่อเลี้ยงหรือแม่เลี้ยงควรหมายพึ่งหลักการที่พบในคัมภีร์ไบเบิลเพื่อได้ความช่วยเหลือ?
21 ขอให้ตระหนักว่า แม้จะมีสภาพการณ์พิเศษเฉพาะ หลักการในคัมภีร์ไบเบิลที่ก่อให้เกิดความสำเร็จในครอบครัวอื่นก็นำมาใช้ในครอบครัวแบบนี้ได้เช่นกัน. การละเลยหลักการเหล่านั้นอาจดูเหมือนบรรเทาปัญหาไปชั่วระยะหนึ่ง ทว่าคงจะนำไปสู่ความปวดร้าวใจในภายหลัง. (บทเพลงสรรเสริญ 127:1; สุภาษิต 29:15) จงปลูกฝังสติปัญญาและการสังเกตเข้าใจ—สติปัญญาในการนำหลักการของพระเจ้ามาใช้โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ระยะยาว และการสังเกตเข้าใจเพื่อจะมองออกว่า ทำไมสมาชิกในครอบครัวจึงพูดและทำอย่างนั้น. มีความจำเป็นในการร่วมความรู้สึกด้วย.—สุภาษิต 16:21; 24:3; 1 เปโตร 3:8.
22. ทำไมอาจพบว่ายากสำหรับเด็กที่จะยอมรับพ่อเลี้ยงหรือแม่เลี้ยง?
22 หากคุณเป็นพ่อเลี้ยงหรือแม่เลี้ยง คุณอาจจำได้ว่า ตอนเป็นเพื่อนของครอบครัวนี้ เด็ก ๆ อาจยินดีต้อนรับคุณ. แต่เมื่อคุณมาเป็นพ่อเลี้ยงหรือแม่เลี้ยง ท่าทีของเขาอาจเปลี่ยนไป. เนื่องจากยังไม่ลืมบิดาหรือมารดาแท้ ๆ ซึ่งไม่ได้อยู่กับพวกเขาอีกต่อไป เด็กอาจต่อสู้กับความขัดแย้งในเรื่องความภักดี อาจจะรู้สึกว่าคุณต้องการช่วงชิงความรักใคร่ที่เขามีต่อบิดาหรือมารดาที่ไม่อยู่นั้น. บางครั้ง เขาอาจเตือนคุณตรง ๆ ว่า คุณไม่ใช่พ่อของเขา หรือแม่ของเขา. คำพูดเช่นนั้นคงบาดใจ. กระนั้น “อย่าให้ใจของเจ้าโกรธเร็ว.” (ท่านผู้ประกาศ 7:9) การสังเกตเข้าใจและความร่วมรู้สึกเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อจะรับมือกับอารมณ์ความรู้สึกของเด็ก.
23. อาจดำเนินการตีสอนอย่างไรในครอบครัวที่มีลูกเลี้ยง?
23 คุณลักษณะเหล่านั้นเป็นสิ่งสำคัญยิ่งเมื่อคนเราดำเนินการตีสอน. การตีสอนอย่างเสมอต้นเสมอปลายนับว่าจำเป็นยิ่ง. (สุภาษิต 6:20; 13:1) และเนื่องจากเด็กใช่ว่าจะเหมือนกันหมด การตีสอนอาจต่างกันไปในแต่ละราย. พ่อเลี้ยงหรือแม่เลี้ยงบางคนพบว่า อย่างน้อยที่สุดในตอนเริ่มต้น อาจเป็นการดีกว่าสำหรับบิดาหรือมารดาแท้ ๆ จะจัดการเรื่องนี้. แต่นับว่าสำคัญที่บิดามารดาทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันในการตีสอนและสนับสนุนเรื่องนั้น ไม่เข้าข้างลูกที่เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของตัวเองมากกว่าลูกเลี้ยง. (สุภาษิต 24:23) การเชื่อฟังเป็นสิ่งสำคัญ แต่จำเป็นต้องยอมให้กับความไม่สมบูรณ์. อย่าทำเลยเถิด. จงตีสอนด้วยความรัก.—โกโลซาย 3:21.
24. อะไรสามารถช่วยสกัดกั้นปัญหาด้านศีลธรรมระหว่างสมาชิกที่เป็นเพศตรงข้ามในครอบครัวที่มีพ่อเลี้ยงหรือแม่เลี้ยง?
24 การสนทนากันในครอบครัวอาจช่วยได้มากในการป้องกันความยุ่งยาก. การทำเช่นนี้อาจช่วยครอบครัวให้จัดเรื่องสำคัญที่สุดเป็นจุดรวมในชีวิตเสมอ. (เทียบกับฟิลิปปอย 1:9-11.) การสนทนานั้นยังช่วยแต่ละคนให้เห็นวิธีที่เขาสามารถมีส่วนส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายของครอบครัว. นอกจากนี้ การสนทนาในครอบครัวแบบตรงไปตรงมาอาจสกัดกั้นปัญหาทางศีลธรรม. เด็กผู้หญิงต้องเข้าใจวิธีที่จะแต่งกายและปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมเมื่อพ่อเลี้ยงหรือพี่ชายน้องชายต่างบิดามารดาอยู่ใกล้ ๆ และเด็กผู้ชายต้องได้รับคำแนะนำเรื่องความประพฤติที่เหมาะสมต่อแม่เลี้ยงและพี่สาวน้องสาวต่างบิดามารดาหากมี.—1 เธซะโลนิเก 4:3-8.
25. คุณลักษณะอะไรบ้างอาจช่วยรักษาความสงบสุขในครอบครัวที่มีพ่อเลี้ยงหรือแม่เลี้ยง?
25 เมื่อเผชิญข้อท้าทายเป็นพิเศษในการเป็นพ่อเลี้ยงหรือแม่เลี้ยง จงอดทน. ต้องใช้เวลาเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ใหม่. การได้รับความรักและความนับถือจากเด็กซึ่งคุณไม่มีความผูกพันทางสายเลือดอาจเป็นงานที่ยากมาก. แต่นั่นมีทางเป็นไปได้. หัวใจที่สุขุมและมีความสังเกตเข้าใจ ควบคู่กับความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะทำให้พระยะโฮวาพอพระทัย เป็นเคล็ดลับสู่สันติสุขในครอบครัวที่มีพ่อเลี้ยงหรือแม่เลี้ยง. (สุภาษิต 16:20) คุณลักษณะดังกล่าวอาจช่วยคุณรับมือกับสภาพการณ์อื่น ๆ ได้ด้วย.
การติดตามด้านวัตถุทำให้ครอบครัวของคุณแตกแยกไหม?
26. ปัญหาและเจตคติเกี่ยวกับสิ่งฝ่ายวัตถุอาจทำให้ครอบครัวแตกแยกได้ในทางใดบ้าง?
26 ปัญหาและเจตคติเกี่ยวกับสิ่งฝ่ายวัตถุอาจทำให้ครอบครัวแตกแยกในหลายทาง. น่าเศร้าใจ บางครอบครัวแตกแยกกันเนื่องจากการโต้เถียงในเรื่องเงินและความปรารถนาจะร่ำรวย—หรืออย่างน้อยที่สุดก็รวยขึ้นอีกสักหน่อย. การแตกแยกอาจเกิดขึ้นเมื่อทั้งสองฝ่ายทำงานอาชีพและปลูกฝังเจตคติแบบ “เงินฉัน, เงินคุณ.” ถึงแม้หลีกเลี่ยงการโต้เถียง เมื่อทั้งคู่ทำงาน เขาอาจพบว่า ตัวเองมีตารางเวลาซึ่งเหลือเวลาให้กันและกันไม่มากนัก. แนวโน้มที่กำลังเพิ่มขึ้นในโลกคือ บิดาอยู่ห่างจากครอบครัวเป็นระยะเวลานาน—เป็นเดือนหรือเป็นปีด้วยซ้ำ—เพื่อจะหาเงินได้มากกว่าที่เขาสามารถหาได้เมื่ออยู่ที่บ้าน. นี่อาจนำไปสู่ปัญหาร้ายแรงทีเดียว.
27. มีหลักการอะไรบ้างที่สามารถช่วยครอบครัวที่อยู่ภายใต้ความกดดันด้านการเงิน?
27 ไม่อาจจะวางกฎเกณฑ์เพื่อจัดการกับสถานการณ์เหล่านี้ได้ เนื่องจากแต่ละครอบครัวต้องรับมือกับความกดดันและความจำเป็นที่ต่างกัน. กระนั้น คำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิลสามารถช่วยได้. ตัวอย่างเช่น สุภาษิต 13:10 (ล.ม.) ชี้แจงว่า บางครั้งอาจหลีกเลี่ยงการโต้เถียงที่ไม่จำเป็นได้โดย “ปรึกษาหารือกัน.” นี่พาดพิงถึงไม่เพียงการบอกทัศนะของเราเองเท่านั้น แต่แสวงหาคำแนะนำและสอบถามดูว่าอีกฝ่ายหนึ่งมีทัศนะเช่นไรด้วย. นอกจากนี้ การวางแผนงบประมาณอย่างที่ตรงกับสภาพจริงอาจช่วยทำให้ความพยายามของครอบครัวเป็นหนึ่งเดียว. บางครั้งนับว่าจำเป็น—บางทีชั่วระยะหนึ่ง—ที่ทั้งคู่ต้องทำงานนอกบ้านเพื่อเอาใจใส่ดูแลค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีลูกหรือผู้อื่นที่อยู่ในอุปการะ. เมื่อเป็นเช่นนี้ สามีอาจทำให้ภรรยามั่นใจว่า เขายังคงมีเวลาให้เธออยู่. เขาพร้อมกับลูก ๆ สามารถช่วยเหลือด้วยความรักเกี่ยวกับงานบางอย่างที่ตามปกติแล้วเธออาจจัดการตามลำพัง.—ฟิลิปปอย 2:1-4.
28. ข้อเตือนใจอะไรบ้าง หากนำมาปฏิบัติแล้ว จะช่วยครอบครัวให้ดำเนินไปสู่เอกภาพได้?
28 อย่างไรก็ดี โปรดจำไว้เสมอว่า ถึงแม้เงินเป็นสิ่งจำเป็นในระบบนี้ก็ตาม มันไม่ได้นำความสุขมาให้. เงินไม่ได้ให้ชีวิตอย่างแน่นอน. (ท่านผู้ประกาศ 7:12) ที่จริง การเน้นมากเกินไปในสิ่งฝ่ายวัตถุอาจก่อความเสียหายด้านวิญญาณและด้านศีลธรรมได้. (1 ติโมเธียว 6:9-12) ดีกว่ามากสักเพียงไรที่จะแสวงหาราชอาณาจักรของพระเจ้าและความชอบธรรมของพระองค์ก่อน พร้อมกับมั่นใจว่าพระองค์จะอวยพระพรความพยายามของเราที่จะได้มาซึ่งสิ่งจำเป็นในชีวิต! (มัดธาย 6:25-33; เฮ็บราย 13:5) โดยการให้ผลประโยชน์ฝ่ายวิญญาณอยู่ในอันดับแรกเสมอ และโดยการติดตามสันติสุขกับพระเจ้าก่อนสิ่งอื่นใดทั้งหมด คุณอาจประสบว่า ครอบครัวของคุณ ถึงแม้อาจจะแตกแยกเนื่องจากสภาพแวดล้อมบางอย่างก็ตาม จะเป็นครอบครัวที่เป็นหนึ่งเดียวอย่างแท้จริงในแนวทางสำคัญที่สุด.