หนังสือนี้อยู่รอดมาได้อย่างไร?
งานเขียนโบราณมีศัตรูตามธรรมชาติคือ ไฟ, ความชื้น, รา. คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้รับการยกเว้น จากสิ่งที่ก่อความเสียหายเหล่านั้น. บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับวิธีที่คัมภีร์ไบเบิลรอดพ้นการทำลายจาก กาลเวลาจนกลายเป็นหนังสือที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายที่สุดในโลกนั้นเป็นเรื่องที่โดดเด่น ท่ามกลางงานเขียนโบราณทั้งหลาย. ประวัติเกี่ยวกับเรื่องนี้สมควรสนใจเป็นพิเศษ.
เหล่าผู้จารึกคัมภีร์ไบเบิลไม่ได้สลักข้อความไว้บนหิน; และพวกเขาไม่ได้จารึกถ้อยคำเหล่านั้นบนแผ่นดินเหนียวที่ทนทาน. ตามหลักฐานที่ปรากฏ พวกเขาบันทึกถ้อยคำของตนไว้บนวัสดุที่เปื่อยสลายได้ เช่น พาไพรัส (ซึ่งทำจากพืชชื่อเดียวกันในอียิปต์) และแผ่นหนังสัตว์.
เกิดอะไรขึ้นกับบทจารึกดั้งเดิม? อาจเป็นได้ว่าบทจารึกเหล่านั้นเสื่อมสลายไปนานแล้วในอิสราเอลโบราณเป็นส่วนใหญ่. ผู้คงแก่เรียน ออสการ์ พาเรต อธิบายว่า “วัสดุที่ใช้เขียนทั้งสองอย่างนี้ [พาไพรัสและหนัง] มีทางได้รับความเสียหายพอ ๆ กันจากความชื้น, รา, และจากพวกตัวอ่อนของแมลงหลายชนิด. เราทราบจากประสบการณ์ประจำวันว่า ง่ายแค่ไหนที่กระดาษ และแม้กระทั่งแผ่นหนังที่เหนียวแน่น จะเปื่อยสลายในที่กลางแจ้งหรือในห้องที่ชื้น.”1
หากต้นฉบับไม่อยู่แล้ว ถ้อยคำของพวกผู้จารึกคัมภีร์ไบเบิลอยู่รอดมาถึงสมัยของเราได้อย่างไร?
ถูกรักษาไว้โดยผู้คัดลอกที่ละเอียดถี่ถ้วน
ไม่นานหลังจากต้นฉบับถูกจารึก ก็เริ่มมีการทำฉบับสำเนาขึ้นด้วยการคัดลอก. แท้จริงแล้ว การคัดลอกพระคัมภีร์ได้กลายเป็นงานหลักอย่างหนึ่งในอิสราเอลโบราณ. (เอษรา 7:6; บทเพลงสรรเสริญ 45:1) แต่ฉบับสำเนาก็ยังบันทึกบนวัสดุที่เปื่อยสลายได้เช่นกัน. ในที่สุดสำเนาเหล่านี้ก็ต้องมีฉบับสำเนาคัดด้วยมือฉบับอื่น ๆ มาแทน. เมื่อไม่มีต้นฉบับแล้ว ฉบับสำเนาในวันข้างหน้าก็ต้องอาศัยสำเนาเหล่านี้. การคัดสำเนาเหล่านี้เป็นกระบวนการที่ดำเนินเรื่อยมาหลายศตวรรษ. ความผิดพลาดของพวกผู้คัดลอกตลอดหลายศตวรรษได้เปลี่ยนแปลงข้อความในคัมภีร์ไบเบิลอย่างขนานใหญ่ไหม? หลักฐานบอกว่า ไม่.
เหล่าผู้คัดสำเนามืออาชีพทุ่มเทตัวเป็นอย่างมาก. พวกเขามีความเคารพอย่างลึกซึ้งต่อถ้อยคำที่ตนคัดลอก. นอกจากนี้ พวกเขาละเอียดถี่ถ้วน. คำภาษาฮีบรูที่มีการแปลว่า “ผู้คัดลอก” คือโซเฟอร์ ʹ ซึ่งพาดพิงถึงการนับและการบันทึก. เพื่อแสดงให้เห็นถึงความถูกต้องแม่นยำของพวกผู้คัดลอก ขอพิจารณาพวกมาโซเรต.a ผู้คงแก่เรียนโทมัส ฮาร์ตเวลล์ ฮอร์น ชี้แจงเกี่ยวกับพวกมาโซเรตว่า “พวกเขา ... ได้นับดูว่าตัวไหนเป็นอักขระตัวที่อยู่ตรงกลางของเพนทาทุก [พระธรรมห้าเล่มแรกของคัมภีร์ไบเบิล], อนุประโยคไหนอยู่ตรงกลางของพระธรรมแต่ละเล่ม, และอักขระ [ฮีบรู] แต่ละตัวปรากฏกี่ครั้งในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู.”3
ด้วยวิธีนี้ พวกผู้คัดลอกที่ชำนาญจึงใช้การตรวจสอบหลายวิธีให้เป็นประโยชน์. เพื่อหลีกเลี่ยงการตกหล่นแม้แต่อักขระเดียวจากข้อความในคัมภีร์ไบเบิล พวกเขาทำถึงขนาดที่นับไม่เพียงแต่คำ ที่คัดลอกเท่านั้น แต่นับอักขระ ด้วย. ขอพิจารณาการเอาใจใส่ด้วยความบากบั่นที่ต้องใช้ในงานนี้ก็แล้วกัน: ตามที่มีรายงาน พวกเขานับอักขระแต่ละตัวให้ครบ 815,140 ตัวในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู!4 ความเพียรพยายามเช่นนั้นทำให้แน่ใจในเรื่องระดับความถูกต้องแม่นยำอย่างสูงทีเดียว.
กระนั้น พวกผู้คัดลอกก็ใช่ว่าจะไม่ผิดพลาด. มีหลักฐานใด ๆ ไหมที่ว่า ทั้ง ๆ ที่มีการคัดลอกซ้ำแล้วซ้ำอีกหลายศตวรรษ ข้อความในคัมภีร์ไบเบิลก็อยู่รอดมาในรูปแบบที่ไว้ใจได้?
พื้นฐานอันแน่นหนาสำหรับความมั่นใจ
มีเหตุผลหนักแน่นที่จะเชื่อว่า คัมภีร์ไบเบิลตกทอดมาถึงสมัยของเราอย่างถูกต้องแม่นยำ. หลักฐานประกอบด้วยฉบับสำเนาซึ่งเขียนด้วยมือที่มีอยู่—ประมาณ 6,000 ฉบับของพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูครบชุดหรือบางส่วนและประมาณ 5,000 ฉบับของพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก. ในบรรดาฉบับสำเนาเหล่านี้ก็มีฉบับสำเนาพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูที่ค้นพบในปี 1947 ซึ่งเป็นตัวอย่างที่แสดงว่าการคัดสำเนาพระคัมภีร์ถูกต้องแม่นยำเพียงไร ซึ่งภายหลังต่อมามีการเรียกฉบับนี้ว่าเป็น “การค้นพบฉบับสำเนาอันยอดเยี่ยมที่สุดในสมัยปัจจุบัน.”5
ในตอนต้นปีนั้น ขณะกำลังเลี้ยงฝูงสัตว์ เด็กชาวเบดูอินได้ค้นพบถ้ำแห่งหนึ่งใกล้ทะเลตาย. ในถ้ำนั้นเขาได้พบไหดินเผาจำนวนหนึ่งซึ่งส่วนใหญ่ว่างเปล่า. แต่ในไหใบหนึ่งซึ่งถูกปิดสนิท เขาพบม้วนแผ่นหนังซึ่งบรรจงห่อไว้ด้วยผ้าป่านและบรรจุพระธรรมยะซายาทั้งเล่ม. ม้วนหนังสือที่เก็บรักษาอย่างดีแต่ก็มีร่องรอยของการสึกและการซ่อมแซมให้เห็น. เด็กเลี้ยงแกะคนนั้นไม่ได้ตระหนักสักนิดว่า ม้วนหนังสือโบราณที่เขาถืออยู่นั้นจะก่อความสนใจแก่ทั่วโลกในเวลาต่อมา.
อะไรที่สำคัญถึงขนาดนั้นเกี่ยวกับฉบับสำเนาม้วนนี้โดยเฉพาะ? ในปี 1947 ฉบับสำเนาพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูครบชุดฉบับเก่าที่สุดที่มีอยู่นั้นมีอายุตั้งแต่ประมาณศตวรรษที่สิบ ส.ศ. แต่ม้วนหนังสือที่พบนี้มีอายุย้อนไปถึงศตวรรษที่ 2 ก.ส.ศ.b—นานกว่าถึงหนึ่งพันกว่าปี.c พวกผู้คงแก่เรียนต่างสนใจเป็นอย่างยิ่งที่จะตรวจสอบว่าม้วนหนังสือนี้เป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับสำเนาต้นฉบับที่ทำขึ้นหลังจากนั้นนานมากทีเดียว.
ในงานวิจัยหนึ่ง พวกผู้คงแก่เรียนได้เทียบยะซายาบท 53 ในม้วนหนังสือแห่งทะเลตายกับสำเนาต้นฉบับมาโซเรตที่ทำขึ้นหนึ่งพันปีให้หลัง. หนังสือคำแนะนำทั่วไปสำหรับคัมภีร์ไบเบิล (ภาษาอังกฤษ) ชี้แจงผลการวิจัยนี้ว่า “จาก 166 คำในยะซายาบท 53 มีแค่สิบเจ็ดอักขระที่น่าสงสัย. สิบในสิบเจ็ดอักขระนี้เป็นแค่การสะกด ซึ่งไม่มีผลต่อความหมาย. อีกสี่อักขระเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบการเขียนเล็กน้อย เช่น คำสันธาน. อีกสามอักขระนั้นรวมกันแล้วเป็นคำว่า ‘ความสว่าง’ ซึ่งมีการเพิ่มเข้าในข้อ 11 และไม่ส่งผลกระทบต่อความหมายมากเท่าไร. ... ดังนั้น ในหนึ่งบทซึ่งมี 166 คำ มีแค่หนึ่งคำ (สามอักขระ) ที่น่าสงสัย หลังจากหนึ่งพันปีแห่งการตกทอด—และคำนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงความหมายของข้อความนั้นในประการสำคัญแต่อย่างใด.”7
ศาสตราจารย์มิลลาร์ เบอร์โรวส์ ผู้ซึ่งทำงานเกี่ยวกับม้วนหนังสือนี้เป็นปี ๆ โดยวิเคราะห์เนื้อหาของม้วนหนังสือเหล่านั้น ได้มาถึงข้อสรุปคล้ายกันที่ว่า “ข้อแตกต่างหลายประการระหว่าง ... ม้วนหนังสือยะซายากับสำเนาต้นฉบับมาโซเรตนั้นสามารถอธิบายได้ว่าเป็นความผิดพลาดในการคัดลอก. นอกจากนี้ โดยทั่วไปก็มีความสอดคล้องกันอย่างน่าทึ่งกับข้อความที่พบในฉบับสำเนาของยุคกลาง. ความตรงกันดังกล่าวในฉบับสำเนาที่เก่าแก่กว่ามากเช่นนั้นให้พยานหลักฐานที่ทำให้มีความมั่นใจยิ่งขึ้นต่อความถูกต้องแม่นยำโดยทั่วไปของข้อความที่ตกทอดกันมา.”8
นอกจากนี้ยังมี “พยานหลักฐานที่ทำให้มีความมั่นใจยิ่งขึ้น” เกี่ยวกับการคัดสำเนาพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก. ตัวอย่างเช่น การค้นพบโคเดกซ์ ไซนายติคุสในศตวรรษที่ 19 ฉบับสำเนาที่เขียนบนแผ่นหนังซึ่งมีอายุย้อนไปถึงศตวรรษที่สี่ ส.ศ. ได้ช่วยยืนยันความถูกต้องแม่นยำของฉบับสำเนาของพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกที่ทำขึ้นหลายศตวรรษหลังจากนั้น. ชิ้นส่วนพาไพรัสของกิตติคุณที่โยฮันเรียบเรียงซึ่งมีการค้นพบในเขตเมืองไฟยุม ประเทศอียิปต์ มีอายุอยู่ในช่วงห้าสิบปีแรกของศตวรรษที่สอง ส.ศ. ไม่ถึง 50 ปีหลังจากมีการเขียนต้นฉบับ. พาไพรัสนี้ถูกเก็บรักษาไว้เป็นร้อย ๆ ปีในทรายแห้ง. ข้อความในพาไพรัสนี้ตรงกับที่พบในฉบับสำเนาหลังจากนั้นอีกนานมากทีเดียว.9
ดังนั้น หลักฐานจึงยืนยันว่า แท้จริงแล้วพวกผู้คัดลอกทำได้ถูกต้องแม่นยำมาก. กระนั้นก็ตาม พวกเขาก็ทำผิดพลาดอยู่บ้าง. ไม่มีฉบับสำเนาใดที่ไร้ข้อผิดพลาด—รวมทั้งม้วนหนังสือแห่งทะเลตายของพระธรรมยะซายาด้วย. ถึงกระนั้น พวกผู้คงแก่เรียนก็สามารถตรวจพบและแก้ไขส่วนที่แตกต่างจากต้นฉบับได้.
การแก้ไขความผิดพลาดของผู้คัดลอก
สมมุติว่าขอให้ 100 คนคัดสำเนาเอกสารยาว ๆ ฉบับหนึ่ง. ไม่ต้องสงสัยว่า อย่างน้อยผู้คัดสำเนาบางคนคงต้องคัดผิดพลาดบ้าง. แต่พวกเขาคงไม่คัดผิดในที่เดียวกัน หมด. ถ้าคุณได้เอาสำเนาทั้งหมด 100 ฉบับมาและเปรียบเทียบสำเนาเหล่านั้นอย่างละเอียดถี่ถ้วน คุณคงสามารถแยกแยะข้อผิดพลาดและระบุข้อความที่แน่ชัดของเอกสารต้นฉบับ ถึงแม้คุณไม่เคยเห็นเอกสารนั้นก็ตาม.
ในทำนองคล้ายกัน ผู้คัดสำเนาคัมภีร์ไบเบิลไม่ได้คัดผิดในที่เดียวกันทั้งหมด. เนื่องจากเวลานี้มีฉบับสำเนาคัมภีร์ไบเบิลเป็นพัน ๆ ฉบับสำหรับการวิเคราะห์เปรียบเทียบ พวกผู้คงแก่เรียนด้านข้อความในคัมภีร์ไบเบิลจึงสามารถแยกแยะข้อผิดพลาด, รู้แน่ชัดถึงข้อความต้นฉบับ, และบันทึกการแก้ไขตามที่จำเป็น. ผลเนื่องจากการวิจัยอย่างถี่ถ้วนเช่นนั้นก็คือ พวกผู้คงแก่เรียนด้านข้อความในคัมภีร์ไบเบิลได้ทำฉบับสำเนาต้นแบบในภาษาดั้งเดิมขึ้น. ฉบับที่แก้ไขแล้วเหล่านี้ของข้อความภาษาฮีบรูและภาษากรีกใช้คำที่ได้รับการเห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่ว่าเป็นถ้อยคำดั้งเดิม ซึ่งบ่อยครั้งในเชิงอรรถมีการให้รายการคำที่แตกต่างกันหรือถ้อยความที่ใช้แทนกันซึ่งอาจมีอยู่ในฉบับสำเนาบางฉบับ. ฉบับต่าง ๆ ที่แก้ไขแล้วโดยพวกผู้คงแก่เรียนด้านข้อความคือสิ่งที่พวกผู้แปลคัมภีร์ไบเบิลใช้เพื่อแปลคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาสมัยใหม่.
ดังนั้น เมื่อคุณอ่านคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลสมัยใหม่ ก็มีเหตุผลเพียงพอที่จะมั่นใจว่า ข้อความในภาษาฮีบรูและภาษากรีกที่ใช้ในการแปลฉบับแปลนั้นสะท้อนถึงถ้อยคำของผู้จารึกคัมภีร์ไบเบิลดั้งเดิมด้วยความถูกต้องแม่นยำอย่างน่าทึ่ง.d บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับวิธีที่คัมภีร์ไบเบิลอยู่รอดมาเป็นพัน ๆ ปีแห่งการคัดสำเนาด้วยมือซ้ำแล้วซ้ำอีกเป็นเรื่องที่โดดเด่นอย่างแท้จริง. ฉะนั้น เซอร์ เฟรดริก เคนยอน ซึ่งเป็นหัวหน้าภัณฑารักษ์แห่งพิพิธภัณฑสถานบริติช มิวเซียมมานาน จึงกล่าวได้ดังนี้: “กล่าวอย่างหนักแน่นได้เลยว่า ในสาระสำคัญแล้ว ข้อความในคัมภีร์ไบเบิลจริงแท้แน่นอน ... แต่ไม่อาจกล่าวเช่นนี้ได้เลยกับหนังสือโบราณอื่นใดในโลก.”10
[เชิงอรรถ]
a พวกมาโซเรต (หมายความว่า “ผู้เชี่ยวชาญด้านขนบประเพณี”) คือพวกผู้คัดลอกพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูซึ่งมีชีวิตอยู่ระหว่างศตวรรษที่หกถึงศตวรรษที่สิบแห่งสากลศักราช. มีการเรียกฉบับสำเนาต่าง ๆ ที่พวกเขาทำขึ้นว่าเป็นสำเนาต้นฉบับมาโซเรต.2
b ก.ส.ศ. หมายถึง “ก่อนสากลศักราช,” ส.ศ. หมายถึง “สากลศักราช,” ซึ่งมักเรียกกันว่า คริสต์ศักราช เขียนย่อว่า ค.ศ. หรือ เอ.ดี. ย่อจาก อันโน โดมินิ ซึ่งหมายความว่า “ในปีแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้า.”
c การวิพากษ์ข้อความในคัมภีร์ไบเบิลภาคภาษาฮีบรู (ภาษาอังกฤษ) โดยเอมานูเอล โทฟ กล่าวว่า “ด้วยการใช้คาร์บอน 14 ตรวจสอบ 1 QIsaa [ม้วนหนังสือแห่งทะเลตายของพระธรรมยะซายา] บัดนี้ถูกระบุว่ามีอายุอยู่ระหว่างปี 202 ถึง 107 ก.ส.ศ. (ช่วงเวลาตามการวิจัยอักขระโบราณคือ 125-100 ก.ส.ศ.) ... วิธีการวิจัยอักขระโบราณดังกล่าวนั้นซึ่งมีการปรับปรุงในช่วงปีหลัง ๆ นี้ และทำให้มีโอกาสระบุวันเวลาที่แม่นยำโดยอาศัยการเปรียบเทียบรูปทรงและตำแหน่งของอักขระกับแหล่งข้อมูลภายนอก เช่น เหรียญและคำจารึกที่มีการระบุวันเวลาไว้ ได้กลายเป็นวิธีการที่ค่อนข้างเชื่อถือได้.”6
d แน่นอน ผู้แปลแต่ละคนอาจเคร่งครัดหรือผ่อนผันบ้างในการยึดกับข้อความดั้งเดิมในภาษาฮีบรูและภาษากรีก.
[ภาพหน้า 8]
คัมภีร์ไบเบิลได้รับการรักษาไว้โดยพวกผู้คัดสำเนาที่ชำนาญ
[ภาพหน้า 9]
ม้วนหนังสือแห่งทะเลตายของพระธรรมยะซายา (ที่เห็นเป็นฉบับสำเนา) ตรงกันแทบทุกอย่างกับสำเนาต้นฉบับมาโซเรตที่ทำขึ้นหลังจากนั้นหนึ่งพันปี