บทสิบแปด
พระยะโฮวาทรงสัญญาจะประทานบำเหน็จอันยอดเยี่ยมแก่ดานิเอล
1, 2. (ก) คุณลักษณะสำคัญอะไรที่นักวิ่งต้องมีเพื่อประสบความสำเร็จ? (ข) อัครสาวกเปาโลเปรียบเทียบวิถีชีวิตแห่งความซื่อสัตย์ในการรับใช้พระยะโฮวากับการวิ่งแข่งอย่างไร?
นักวิ่งคนหนึ่งโน้มตัวไปสู่เส้นชัย. เขาเกือบจะหมดแรงอยู่แล้ว แต่เมื่อเห็นเป้าหมายอยู่ตรงหน้า เขาจึงทุ่มเทพลังทั้งหมดที่มีอยู่ในสองสามก้าวสุดท้ายนั้น. กล้ามเนื้อทุกมัดเกร็งเต็มที่ ในที่สุดเขาก็เข้าเส้นชัย! ใบหน้าของเขาแสดงถึงความโล่งอกและความยินดีในชัยชนะ. ความอดทนจนถึงที่สุดให้ผลตอบแทน.
2 ในตอนท้ายของดานิเอลบท 12 เราพบว่าผู้พยากรณ์ซึ่งเป็นที่ทรงรักใกล้จะถึงเส้นชัยของ “การวิ่งแข่ง” ของท่าน ซึ่งก็คือชีวิตแห่งการรับใช้พระยะโฮวา. หลังจากอ้างถึงตัวอย่างของความเชื่อในหมู่ผู้รับใช้ก่อนยุคคริสเตียน อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “เช่นนั้นแล้ว เมื่อเรามีกลุ่มใหญ่แห่งพยานล้อมรอบเราเสมือนเมฆ จงให้เราปลดของหนักทุกอย่างและบาปที่เข้าติดพันเราโดยง่ายนั้น และการวิ่งแข่งซึ่งกำหนดไว้สำหรับพวกเรานั้น ให้เราวิ่งด้วยความอดทน ขณะที่เรามองเขม้นไปที่พระเยซู ผู้นำองค์เอกและผู้ปรับปรุงความเชื่อของเราให้สมบูรณ์ขึ้น. เพราะเห็นแก่ความยินดีซึ่งมีอยู่ตรงหน้า พระองค์ยอมทนหลักทรมาน ไม่คำนึงถึงความละอาย แล้วพระองค์ได้เสด็จนั่งเบื้องขวาราชบัลลังก์ของพระเจ้า.”—เฮ็บราย 12:1, 2, ล.ม.
3. (ก) อะไรกระตุ้นใจดานิเอลให้ “วิ่งด้วยความอดทน”? (ข) ทูตสวรรค์ของพระยะโฮวาได้บอกดานิเอลถึงสามสิ่งที่ต่างกันอะไร?
3 ดานิเอลอยู่ในท่ามกลาง “กลุ่มใหญ่แห่งพยาน” นั้นด้วย. ท่านเป็นผู้หนึ่งที่ “วิ่งด้วยความอดทน” อย่างแน่นอน และท่านถูกกระตุ้นใจให้ทำเช่นนั้นเพราะความรักอันลึกซึ้งต่อพระเจ้า. พระยะโฮวาได้ทรงเปิดเผยแก่ดานิเอลหลายเรื่องเกี่ยวกับอนาคตของรัฐบาลโลก แต่ตอนนี้พระองค์ทรงให้การหนุนกำลังใจนี้แก่ท่านโดยเฉพาะดังนี้: “ส่วนท่านเอง จงไปสู่ที่สุดปลาย; และท่านจะพักผ่อน แต่ท่านจะลุกขึ้นเพื่อจะได้ส่วนของท่านเมื่อสิ้นสุดวันเหล่านั้น.” (ดานิ. 12:13 ล.ม.) ทูตสวรรค์ของพระยะโฮวากำลังบอกดานิเอลถึงสามสิ่งที่ต่างกันคือ: (1) ดานิเอลจะต้อง “ไปสู่ที่สุดปลาย” (2) ท่านจะ “พักผ่อน” และ (3) ท่านจะ “ลุกขึ้น” อีกครั้งในอนาคต. ถ้อยคำเหล่านี้หนุนกำลังใจชนคริสเตียนในสมัยนี้ได้อย่างไรให้อดทนจนถึงเส้นชัยในการวิ่งแข่งเพื่อชีวิต?
“จงไปสู่ที่สุดปลาย”
4. ทูตสวรรค์ของพระยะโฮวาหมายความอย่างไรเมื่อท่านกล่าวว่า “จงไปสู่ที่สุดปลาย” และทำไมนั่นอาจเป็นข้อท้าทายสำหรับดานิเอล?
4 ทูตสวรรค์หมายความว่าอย่างไรเมื่อท่านบอกดานิเอลว่า “ส่วนท่านเอง จงไปสู่ที่สุดปลาย”? ที่สุดปลายของอะไร? เนื่องจากดานิเอลมีอายุเกือบ 100 ปีแล้ว เห็นได้ว่าทูตสวรรค์กล่าวถึงที่สุดปลายของชีวิตของท่าน ซึ่งคงใกล้เข้ามามากแล้ว.a ทูตสวรรค์กำลังกระตุ้นดานิเอลให้อดทนอย่างซื่อสัตย์จนถึงความตาย. แต่การทำเช่นนั้นอาจไม่ง่ายเสมอไป. ดานิเอลมีชีวิตอยู่จนเห็นบาบูโลนถูกโค่นและชาวยิวซึ่งถูกเนรเทศที่ยังเหลืออยู่กลับสู่ยูดาและยะรูซาเลม. เรื่องนี้ต้องทำให้ผู้พยากรณ์ที่ชราแล้วคนนี้มีความยินดีอย่างยิ่ง. กระนั้น ไม่มีบันทึกว่าท่านร่วมเดินทางไปด้วย. ท่านอาจชราและอ่อนแอเกินไปแล้วในเวลานั้น. หรือบางทีพระยะโฮวาอาจมีพระทัยประสงค์ให้ท่านอยู่ในบาบูโลนต่อไป. ไม่ว่าในกรณีใด ใคร ๆ ก็คงอดสงสัยไม่ได้ว่าดานิเอลจะรู้สึกอาลัยอาวรณ์หรือไม่เมื่อชนร่วมชาติของท่านจากไปสู่แผ่นดินยูดา.
5. อะไรบ่งชี้ว่าดานิเอลได้อดทนจนถึงที่สุดปลาย?
5 ดานิเอลคงได้รับกำลังอย่างมากจากถ้อยคำที่กรุณาของทูตสวรรค์ที่ว่า “จงไปสู่ที่สุดปลาย.” เราอาจนึกถึงคำตรัสของพระเยซูคริสต์ประมาณหกศตวรรษต่อมาที่ว่า “ผู้ใดที่ได้อดทนจนถึงที่สุดผู้นั้นจะได้รับการช่วยให้รอด.” (มัดธาย 24:13, ล.ม.) ไม่ต้องสงสัยว่าดานิเอลเป็นเช่นนั้นจริง ๆ. ท่านอดทนจนถึงที่สุดปลาย วิ่งอย่างซื่อสัตย์ในการวิ่งแข่งเพื่อชีวิตจนถึงเส้นชัยเลยทีเดียว. นั่นอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ท่านได้รับการกล่าวถึงด้วยความโปรดปรานในเวลาต่อมาในพระคำของพระเจ้า. (เฮ็บราย 11:32, 33) อะไรช่วยดานิเอลให้อดทนจนถึงที่สุดปลาย? ประวัติบันทึกเกี่ยวกับชีวิตของท่านช่วยให้เราพบคำตอบ.
อดทนในฐานะเป็นนักศึกษาพระคำของพระเจ้า
6. เรารู้ได้อย่างไรว่าดานิเอลเป็นนักศึกษาพระคำของพระเจ้าที่ขยัน?
6 สำหรับดานิเอล การอดทนจนถึงที่สุดปลายเกี่ยวข้องกับการศึกษาและใคร่ครวญอย่างลึกซึ้งถึงคำสัญญาอันน่าตื่นเต้นของพระเจ้า. เรารู้ว่าดานิเอลเป็นนักศึกษาพระคำของพระเจ้าที่ทุ่มเทตัวเอง. ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว ท่านจะรู้ได้อย่างไรว่าคำสัญญาของพระยะโฮวาที่ให้ไว้กับยิระมะยานั้นบอกว่าการเนรเทศจะยาวนาน 70 ปี? ดานิเอลเองเขียนว่า “ข้าพเจ้า . . . ได้ดูในหนังสือพบจำนวนปี.” (ดานิเอล 9:2, ฉบับแปลใหม่; ยิระมะยา 25:11, 12) ไม่ต้องสงสัย ดานิเอลค้นดูในพระธรรมต่าง ๆ ของพระคำของพระเจ้าที่มีอยู่ในตอนนั้น. ข้อเขียนของโมเซ, ดาวิด, ซะโลโม, ยะซายา, ยิระมะยา, ยะเอศเคล—ไม่ว่าอะไรที่ท่านจะหาได้—ทำให้ดานิเอลเพลิดเพลินกับการอ่านและการคิดรำพึงได้เป็นเวลาหลายชั่วโมงอย่างแน่นอน.
7. เมื่อเราเทียบสมัยของเรากับสมัยของดานิเอล เรามีข้อได้เปรียบอะไรในการศึกษาพระคำของพระเจ้า?
7 การศึกษาพระคำของพระเจ้าและการฝังตัวในพระคำนั้นเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อเราจะปลูกฝังความอดทนในสมัยนี้. (โรม 15:4-6; 1 ติโมเธียว 4:15) และเรามีคัมภีร์ไบเบิลครบชุด ซึ่งรวมถึงข้อเขียนที่บันทึกว่าคำพยากรณ์บางข้อของดานิเอลสำเร็จเป็นจริงอย่างไรในศตวรรษต่อ ๆ มา. นอกจากนั้น พวกเราได้รับพระพรที่มีชีวิตอยู่ใน “เวลาอวสาน” ที่บอกไว้ล่วงหน้าในดานิเอล 12:4 (ล.ม.). ในสมัยของเรา ผู้ถูกเจิมได้รับพระพรให้มีความหยั่งเห็นเข้าใจฝ่ายวิญญาณ จึงส่องแสงราวกับดวงประทีปแห่งความจริงในโลกอันมืดมนนี้. ผลก็คือ คำพยากรณ์ที่มีความหมายล้ำลึกหลายข้อในพระธรรมดานิเอล ซึ่งมีบางข้อที่ทำให้ท่านฉงน กลับมีความหมายมากมายสำหรับเราในทุกวันนี้. ดังนั้น ขอให้เราศึกษาพระคำของพระเจ้าต่อไปทุก ๆ วัน อย่าดูเบาสิ่งเหล่านี้. การทำเช่นนี้จะช่วยให้เราอดทน.
ดานิเอลพากเพียรในการอธิษฐาน
8. ดานิเอลวางตัวอย่างอะไรในเรื่องการอธิษฐาน?
8 การอธิษฐานก็ช่วยดานิเอลให้อดทนจนถึงที่สุดปลายด้วย. ทุก ๆ วันท่านเข้าเฝ้าพระยะโฮวาพระเจ้าและทูลพระองค์อย่างเปิดเผยด้วยหัวใจที่เปี่ยมด้วยความเชื่อและความมั่นใจ. ท่านรู้ว่าพระยะโฮวาทรงเป็น “ผู้สดับคำอธิษฐาน.” (บทเพลงสรรเสริญ 65:2; เทียบกับเฮ็บราย 11:6.) เมื่อหัวใจของดานิเอลเพียบลงด้วยความทุกข์เนื่องจากแนวทางที่กบฏของพวกยิศราเอล ท่านระบายความรู้สึกต่อพระยะโฮวา. (ดานิเอล 9:4-19) แม้แต่เมื่อดาระยาศออกกฤษฎีกาให้อธิษฐานทูลขอต่อตัวดาระยาศเองเท่านั้นเป็นเวลา 30 วัน ดานิเอลก็ไม่ยอมให้สิ่งนั้นมาทำให้ท่านหยุดจากการอธิษฐานถึงพระยะโฮวาพระเจ้า. (ดานิเอล 6:10) เราซาบซึ้งใจมิใช่หรือที่เห็นชายชราผู้ซื่อสัตย์ไม่หวั่นเกรงที่จะถูกโยนลงในบ่อสิงโตแทนที่จะสละสิทธิพิเศษแห่งการอธิษฐาน? ไม่มีข้อสงสัยว่าดานิเอลไปสู่ที่สุดปลายของท่าน โดยอธิษฐานถึงพระยะโฮวาทุกวัน.
9. ทำไมเราไม่ควรดูเบาสิทธิพิเศษแห่งการอธิษฐาน?
9 การอธิษฐานเป็นเรื่องง่าย ๆ. เราสามารถอธิษฐานได้แทบทุกที่, ทุกเวลา, ออกเสียงหรือเงียบ ๆ. กระนั้น เราไม่ควรดูเบาสิทธิพิเศษอันล้ำค่านี้เลย. คัมภีร์ไบเบิลเชื่อมโยงการอธิษฐานกับความอดทน, ความเพียรพยายาม, และการตื่นตัวฝ่ายวิญญาณ. (ลูกา 18:1; โรม 12:12; เอเฟโซ 6:18; โกโลซาย 4:2) เป็นเรื่องน่าทึ่งมิใช่หรือที่เรามีช่องทางที่จะติดต่อได้อย่างสะดวกและเปิดอยู่เสมอกับผู้ยิ่งใหญ่สูงสุดแห่งเอกภพ? และพระองค์ทรงสดับ! ขอระลึกถึงโอกาสที่ดานิเอลอธิษฐาน และพระยะโฮวาทรงตอบโดยส่งทูตสวรรค์มา. ทูตสวรรค์มาถึงตอนที่ดานิเอลยังอธิษฐานไม่เสร็จ! (ดานิเอล 9:20, 21) ยุคของเราอาจไม่ใช่ยุคที่มีทูตสวรรค์มาหา แต่พระยะโฮวาไม่ทรงเปลี่ยนแปลง. (มาลาคี 3:6) พระองค์ทรงฟังคำอธิษฐานของดานิเอลอย่างไร พระองค์ก็จะทรงฟังคำอธิษฐานของเราด้วย. และขณะที่เราอธิษฐาน เราจะถูกนำเข้ามาใกล้ชิดกับพระยะโฮวามากขึ้น เป็นการสร้างสายสัมพันธ์ที่จะช่วยให้เราอดทนจนถึงที่สุดปลาย ดังที่ดานิเอลได้ทำ.
อดทนในฐานะเป็นครูแห่งพระคำของพระเจ้า
10. ทำไมการสอนความจริงแห่งพระคำของพระเจ้าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับดานิเอล?
10 ดานิเอลต้อง “ไปสู่ที่สุดปลาย” ในอีกความหมายหนึ่ง. ท่านต้องอดทนฐานะเป็นครูแห่งความจริง. ท่านไม่เคยลืมว่าท่านเป็นหนึ่งในชนชาติที่ถูกเลือกสรรซึ่งพระคัมภีร์กล่าวถึงดังนี้: “พระยะโฮวาตรัสว่า, ‘เจ้าทั้งหลายเป็นพยานของเรา, และเป็นผู้รับใช้ของเราที่เราได้เลือกสรรไว้.’” (ยะซายา 43:10) ดานิเอลทำทุกสิ่งที่ท่านทำได้เพื่อปฏิบัติภารกิจนี้ให้สำเร็จลุล่วง. เป็นไปได้ว่า งานของท่านรวมถึงการสอนชนร่วมชาติของท่านเองซึ่งถูกเนรเทศไปยังบาบูโลน. เราแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของท่านกับชาวยิวคนอื่น ๆ ยกเว้นความสัมพันธ์ของท่านกับชายสามคนซึ่งมีการอ้างถึงว่าเป็น ‘สหายของท่าน’—ฮะนันยา, มิซาเอล, และอะซาระยา. (ดานิเอล 1:7; 2:13, 17, 18) แน่นอนว่า มิตรภาพอันใกล้ชิดของพวกเขามีส่วนอย่างมากที่ช่วยให้พวกเขาแต่ละคนอดทนได้. (สุภาษิต 17:17) เนื่องจากได้รับพระพรจากพระยะโฮวาด้วยความหยั่งเห็นเข้าใจเป็นพิเศษ ดานิเอลจึงมีหลายสิ่งที่จะสอนเพื่อนของท่าน. (ดานิเอล 1:17) แต่ท่านมีงานสอนอย่างอื่นที่จะต้องทำเช่นกัน.
11. (ก) งานของดานิเอลพิเศษกว่างานของคนอื่นอย่างไร? (ข) ดานิเอลบังเกิดผลแค่ไหนในการทำงานมอบหมายที่ไม่ธรรมดาของท่าน?
11 ดานิเอลมีงานให้คำพยานแก่ผู้มีตำแหน่งสูงชาวต่างชาติ มากกว่าผู้พยากรณ์อื่นใด. แม้บ่อยครั้งท่านต้องประกาศข่าวสารที่คนไม่ชอบฟัง แต่ท่านก็ไม่ได้ปฏิบัติกับผู้ปกครองเหล่านั้นราวกับว่าพวกเขาน่ารังเกียจหรือด้อยกว่าท่านในบางแง่. ท่านพูดกับพวกเขาด้วยความนับถือและอย่างมีศิลปะ. มีบางคน—เช่นพวกเจ้าเมืองขี้อิจฉาและชอบคิดอุบาย—ที่ต้องการทำลายดานิเอล. กระนั้น ผู้มีตำแหน่งสูงคนอื่น ๆ นับถือท่าน. เนื่องจากพระยะโฮวาทรงช่วยให้ดานิเอลสามารถอธิบายข้อลึกลับต่าง ๆ ที่ทำให้กษัตริย์และนักปราชญ์ฉงน ผู้พยากรณ์คนนี้จึงได้รับตำแหน่งที่สูงมาก. (ดานิเอล 2:47, 48; 5:29) จริงอยู่ ขณะที่ท่านอายุมากขึ้น ท่านไม่กระปรี้กระเปร่าเหมือนตอนท่านเป็นหนุ่ม. แต่แน่นอน ท่านไปสู่ที่สุดปลายของท่านโดยหาทุกทางที่จะรับใช้เป็นพยานของพระเจ้าที่ท่านรักด้วยความซื่อสัตย์.
12. (ก) กิจกรรมการสอนอะไรที่เราฐานะเป็นคริสเตียนเข้าส่วนร่วมในสมัยนี้? (ข) เราจะทำตามคำแนะนำของเปาโลได้อย่างไรที่ให้ “ดำเนินการกับคนภายนอกด้วยใช้สติปัญญา” ?
12 ในประชาคมคริสเตียนในสมัยนี้ เราอาจพบเพื่อนผู้ซื่อสัตย์ซึ่งจะช่วยเราให้อดทน ดังเช่นดานิเอลและเพื่อนสามคนของท่านที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน. เราสอนกันและกันด้วย และ “หนุนใจซึ่งกันและกัน.” (โรม 1:11, 12) เหมือนดานิเอล เรามีภารกิจที่ต้องให้คำพยานแก่ผู้ที่ไม่เชื่อ. (มัดธาย 24:14; 28:19, 20) เราจึงต้องฝึกฝนให้ชำนาญเพื่อจะ “ใช้คำแห่งความจริงอย่างถูกต้อง” เมื่อเราพูดกับผู้คนเรื่องพระยะโฮวา. (2 ติโมเธียว 2:15, ล.ม.) และจะเป็นประโยชน์ถ้าเราจะเชื่อฟังคำแนะนำของอัครสาวกเปาโลที่ว่า “จงดำเนินการกับคนภายนอกด้วยใช้สติปัญญา.” (โกโลซาย 4:5) สติปัญญาเช่นนี้รวมถึงทัศนะที่สมดุลต่อคนที่ไม่เชื่อเหมือนเรา. เราไม่ดูถูกคนเช่นนั้น โดยถือว่าตัวเองเหนือกว่า. (1 เปโตร 3:15) แต่เราหาทางดึงดูดพวกเขาให้เข้ามาในความจริง โดยใช้พระคำของพระเจ้าอย่างผ่อนหนักผ่อนเบาและด้วยความชำนาญเพื่อที่จะเข้าถึงหัวใจพวกเขา. เมื่อเราประสบความสำเร็จในการเข้าถึงบางคน เราจะมีความยินดีมากสักเพียงไร! ความยินดีเช่นนั้นช่วยเราให้อดทนจนถึงที่สุดปลายอย่างแน่นอน ดังเช่นท่านดานิเอล.
“ท่านจะพักผ่อน”
13, 14. ทำไมการรู้ว่าจะต้องตายเป็นสิ่งน่าสยดสยองสำหรับชาวบาบูโลนหลายคน และทัศนะของดานิเอลแตกต่างไปอย่างไร?
13 ถัดจากนั้น ทูตสวรรค์ให้คำรับรองกับดานิเอลว่า “ท่านจะพักผ่อน.” (ดานิเอล 12:13 ล.ม.) ถ้อยคำเหล่านี้มีความหมายอะไร? ดานิเอลรู้ว่าความตายรออยู่ข้างหน้าท่าน. ความตายเป็นจุดจบที่เลี่ยงไม่พ้นสำหรับมนุษย์ทุกคน ตั้งแต่สมัยของอาดามจนถึงสมัยของเรา. คัมภีร์ไบเบิลเรียกความตายอย่างเหมาะเจาะว่า “ศัตรู.” (1 โกรินโธ 15:26) อย่างไรก็ตาม สำหรับดานิเอลแล้ว การที่รู้ว่าจะต้องตายนั้นหมายถึงอะไรบางอย่างที่แตกต่างไปจากความเข้าใจของชาวบาบูโลนที่อยู่รอบ ๆ ท่าน. สำหรับคนพวกนั้นซึ่งจมปลักอยู่กับการนมัสการอันซับซ้อนแก่เทพเจ้าเทียมเท็จประมาณ 4,000 องค์ ความตายเป็นเรื่องน่าสยดสยองอย่างยิ่ง. พวกเขาเชื่อว่าหลังจากตาย คนที่ได้ดำเนินชีวิตอย่างไม่มีความสุขหรือผู้ที่ถูกฆ่าจะกลายเป็นวิญญาณที่อาฆาตซึ่งมาหลอกหลอนผู้ที่ยังมีชีวิต. ชาวบาบูโลนยังเชื่อเรื่องโลกแห่งความตายที่น่าสยดสยอง มีสัตว์ประหลาดที่น่ากลัวในร่างมนุษย์และร่างสัตว์.
14 สำหรับดานิเอล ความตายไม่ได้หมายถึงสิ่งเหล่านี้เลย. หลายร้อยปีก่อนสมัยของดานิเอล กษัตริย์ซะโลโมได้รับการดลใจให้กล่าวว่า “ส่วนคนตาย เขาไม่รับรู้อะไรเลย.” (ท่านผู้ประกาศ 9:5, ล.ม.) และผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญร้องเพลงเกี่ยวกับคนที่ตายว่า “เมื่อลมหายใจเขาขาด, เขาก็กลับคืนเป็นดินอีก; และในวันนั้นทีเดียวความคิดของเขาก็ศูนย์หายไป.” (บทเพลงสรรเสริญ 146:4) ดังนั้น ดานิเอลรู้ว่าถ้อยคำที่ทูตสวรรค์กล่าวแก่ท่านจะเป็นจริง. ความตายหมายถึงการพักผ่อน. ไม่มีความคิด, ไม่มีความเสียใจอย่างขมขื่น, ไม่มีการทรมาน—และแน่นอน ไม่มีสัตว์ประหลาด. พระเยซูคริสต์ทรงอธิบายเรื่องนี้คล้าย ๆ กันเมื่อลาซะโรเสียชีวิต. พระองค์ตรัสว่า “ลาซะโรสหายของเราไปพักผ่อน.”—โยฮัน 11:11, ล.ม.
15. วันตายจะดีกว่าวันเกิดได้อย่างไร?
15 ขอพิจารณาอีกเหตุผลหนึ่งที่ดานิเอลไม่มีความกลัวแม้รู้ว่าจะต้องตาย. พระคำของพระเจ้ากล่าวว่า “ชื่อเสียงหอมก็ดีกว่าน้ำมันหอมอย่างวิเศษ; และวันตายก็ดีกว่าวันเกิดของคนผู้หนึ่ง.” (ท่านผู้ประกาศ 7:1) วันตาย ซึ่งเป็นเวลาแห่งความเศร้าโศก จะดีกว่าวันที่มีเด็กเกิดซึ่งมีความยินดีได้อย่างไร? จุดสำคัญอยู่ที่คำว่า “ชื่อเสียง.” “น้ำมันหอม” อาจมีราคาแพงลิบลิ่ว. มาเรียพี่สาวของลาซะโรเคยชโลมพระบาทพระเยซูด้วยน้ำมันหอมที่มีราคาเกือบเท่ากับค่าจ้างหนึ่งปี! (โยฮัน 12:1-7) เพียงแค่ชื่อจะมีค่ามากถึงขนาดนั้นได้อย่างไร? ที่ท่านผู้ประกาศ 7:1 ฉบับแปลกรีกเซปตัวจินต์ แปลว่า “ชื่อดี.” ไม่ใช่เพียงชื่อเท่านั้น แต่สิ่งที่ชื่อนั้นหมายถึงต่างหากที่มีค่ามาก. ตอนที่เขาเกิดมา ไม่มีชื่อเสียง, ไม่มีบันทึกของการงานที่ดี, ไม่มีความทรงจำอันมีค่าเกี่ยวกับบุคลิกภาพและคุณลักษณะของผู้ที่ใช้ชื่อนั้น. แต่ ณ จุดจบของชีวิต ชื่อมีความหมายในสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด. และถ้านั่นเป็นชื่อที่ดีในทัศนะของพระเจ้าแล้วล่ะก็ ชื่อนั้นจะมีค่ายิ่งกว่าทรัพย์สมบัติฝ่ายวัตถุใด ๆ มากนัก.
16. (ก) ดานิเอลมุ่งมั่นเพื่อจะสร้างชื่อเสียงที่ดีกับพระเจ้าอย่างไร? (ข) ทำไมดานิเอลสามารถไปพักผ่อนด้วยความมั่นใจเต็มที่ว่าท่านได้สร้างชื่อเสียงที่ดีกับพระยะโฮวาสำเร็จแล้ว?
16 ตลอดชีวิตของดานิเอล ท่านทำทุกสิ่งที่สามารถทำได้เพื่อสร้างชื่อเสียงที่ดีกับพระเจ้า และพระยะโฮวาไม่ทรงมองข้ามสิ่งที่ท่านได้ทำ. พระองค์ทรงทอดพระเนตรดานิเอลและพิจารณาหัวใจของท่าน. พระเจ้าได้ทรงปฏิบัติต่อกษัตริย์ดาวิดอย่างเดียวกัน ผู้ซึ่งร้องเพลงว่า “ข้าแต่พระยะโฮวา, พระองค์ทรงพิจารณาและทรงทราบข้าพเจ้าแล้ว. ซึ่งข้าพเจ้านั่งลงหรือลุกขึ้นนั้นพระองค์ทรงทราบหมด; และความคิดของข้าพเจ้าพระองค์ทรงทราบแต่ไกล.” (บทเพลงสรรเสริญ 139:1, 2) จริงอยู่ ดานิเอลไม่สมบูรณ์. ท่านเป็นลูกหลานของอาดามผู้ผิดบาปและเป็นสมาชิกของชนชาติที่ผิดบาป. (โรม 3:23) แต่ดานิเอลกลับใจจากความบาปของท่านและพยายามอยู่เสมอที่จะดำเนินกับพระเจ้าของท่านในแนวทางที่ซื่อตรง. ผู้พยากรณ์ผู้ซื่อสัตย์จึงสามารถมั่นใจได้ว่าพระยะโฮวาจะทรงให้อภัยบาปของท่านและจะไม่ทรงขุ่นเคืองท่านเพราะบาปนั้นเลย. (บทเพลงสรรเสริญ 103:10-14; ยะซายา 1:18) พระยะโฮวาทรงเลือกจะจดจำการงานที่ดีของผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์. (เฮ็บราย 6:10) ด้วยเหตุนี้ ทูตสวรรค์ของพระยะโฮวาจึงเรียกดานิเอลสองครั้งว่า “คนที่ทรงโปรดปรานยิ่งนัก.” (ดานิเอล 10:11, 19) นี่หมายความว่าดานิเอลเป็นผู้ที่พระเจ้าทรงรัก. ดานิเอลสามารถไปพักผ่อนพร้อมกับความอิ่มใจ โดยรู้ว่าท่านได้สร้างชื่อเสียงที่ดีกับพระยะโฮวา.
17. ทำไมเป็นเรื่องเร่งด่วนที่เราจะสร้างชื่อเสียงที่ดีกับพระยะโฮวาในสมัยนี้?
17 เราแต่ละคนน่าจะถามว่า ‘ฉันได้สร้างชื่อเสียงที่ดีกับพระยะโฮวาไหม?’ เรามีชีวิตอยู่ในยุคที่วุ่นวาย. ไม่ใช่ความคิดที่ผิดปกติแต่เป็นไปตามความจริงที่จะยอมรับว่าความตายอาจเกิดกับเราคนใดและเมื่อไรก็ได้. (ท่านผู้ประกาศ 9:11) ดังนั้น เป็นสิ่งสำคัญเพียงไรที่เราแต่ละคนจะตั้งใจแน่วแน่ในการสร้างชื่อเสียงที่ดีกับพระเจ้าในตอนนี้ โดยไม่รีรอ. หากเราทำเช่นนั้น เราไม่จำเป็นต้องกลัวความตาย. มันเป็นเพียงการพักผ่อนธรรมดา—เหมือนการนอนหลับ. และเช่นเดียวกับการนอนหลับ จะมีการตื่นขึ้นตามมา!
“ท่านจะลุกขึ้น”
18, 19. (ก) ทูตสวรรค์หมายความว่าอะไรเมื่อท่านบอกล่วงหน้าว่าดานิเอลจะ “ลุกขึ้น” ในอนาคต? (ข) เหตุใดดานิเอลจึงคุ้นเคยกับความหวังเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตาย?
18 พระธรรมดานิเอลจบลงด้วยคำสัญญาที่งดงามที่สุดข้อหนึ่งของพระเจ้าเท่าที่เคยสัญญากับมนุษย์. ทูตสวรรค์ของพระยะโฮวาบอกดานิเอลว่า “ท่านจะลุกขึ้นเพื่อจะได้ส่วนของท่านเมื่อสิ้นสุดวันเหล่านั้น.” ทูตสวรรค์หมายความว่าอย่างไร? เนื่องจากการ “พักผ่อน” ที่ท่านพึ่งกล่าวถึงคือความตาย คำสัญญาที่ดานิเอลจะ “ลุกขึ้น” ในเวลาต่อมาจึงหมายถึงเพียงสิ่งเดียวเท่านั้น คือการกลับเป็นขึ้นจากตาย!b ที่จริง ผู้คงแก่เรียนบางคนยืนยันว่า ดานิเอลบท 12 มีการอ้างถึงการกลับเป็นขึ้นจากตายอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรกในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู. (ดานิเอล 12:2) กระนั้น พวกเขาผิดในประเด็นนี้. ดานิเอลคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับความหวังเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตาย.
19 เพื่อเป็นตัวอย่าง ไม่ต้องสงสัยว่าดานิเอลรู้จักถ้อยคำเหล่านี้ที่ยะซายาได้บันทึกสองศตวรรษก่อนหน้านั้นที่ว่า “แต่คนของพระองค์ที่ตายแล้ว, จะกลับเป็น, ศพทั้งหลายของพวกข้าพเจ้านั้นจะกลับฟื้นขึ้น, ท่านทั้งหลายที่ยังจมอยู่ในผงคลีดินนั้นจะตื่นขึ้นร้องเพลงด้วยความชื่นชมยินดี; เพราะ . . . แผ่นดินโลกจะปล่อยคนตายให้คืนชีพ.” (ยะซายา 26:19) นานก่อนหน้านั้น เอลียาและอะลีซาได้รับอำนาจจากพระยะโฮวาให้สำแดงการปลุกให้เป็นขึ้นจากตายจริง ๆ. (1 กษัตริย์ 17:17-24; 2 กษัตริย์ 4:32-37) แม้แต่ก่อนหน้านั้น นางฮันนา มารดาของผู้พยากรณ์ซามูเอล ยอมรับว่าพระยะโฮวาทรงสามารถปลุกคนตายจากเชโอล คือหลุมฝังศพ. (1 ซามูเอล 2:6) ก่อนหน้านั้นอีก โยบผู้ซื่อสัตย์พรรณนาความหวังของท่านเองด้วยถ้อยคำเหล่านี้: “ถ้ามนุษย์ตายแล้วจะเป็นขึ้นมาอีกหรือ? ถ้าเป็นได้ข้าฯสมัครใจคอยตลอดเวลากำหนด, จนกว่าจะทรงปล่อยข้าฯออกมา. พระองค์จะทรงเรียก, และข้าฯจะทูลตอบ, และพระองค์จะทรงพอพระทัยในหัตถกรรมของพระองค์.”—โยบ 14:14, 15.
20, 21. (ก) ดานิเอลจะมีส่วนอย่างแน่นอนในการกลับเป็นขึ้นจากตายแบบไหน? (ข) การกลับเป็นขึ้นจากตายในอุทยานคงจะเกิดขึ้นในวิธีใด?
20 เหมือนท่านโยบ ดานิเอลมีเหตุผลที่จะมั่นใจว่าพระยะโฮวาทรงปรารถนาอย่างแท้จริงที่จะนำท่านกลับคืนสู่ชีวิตสักวันหนึ่งในอนาคต. กระนั้น คงต้องเป็นการปลอบประโลมใจอย่างยิ่งที่ได้ยินกายวิญญาณผู้มีฤทธิ์มากยืนยันความหวังนั้น. ถูกแล้ว ดานิเอลจะลุกขึ้นใน “การกลับเป็นขึ้นจากตายของเหล่าผู้ชอบธรรม” ซึ่งจะอุบัติขึ้นในรัชสมัยพันปีของพระคริสต์. (ลูกา 14:14, ล.ม.) เหตุการณ์นั้นจะเป็นไปอย่างไรสำหรับดานิเอล? พระคำของพระเจ้าบอกเราหลายประการเกี่ยวกับเรื่องนี้.
21 พระยะโฮวา “มิใช่พระเจ้าแห่งความยุ่งเหยิง แต่เป็นพระเจ้าแห่งสันติสุข.” (1 โกรินโธ 14:33, ล.ม.) ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดว่า การกลับเป็นขึ้นจากตายในอุทยานจะเกิดขึ้นอย่างเป็นระเบียบ. บางทีเวลาอาจผ่านไปสักระยะหนึ่งหลังจากอาร์มาเก็ดดอน. (วิวรณ์ 16:14, 16) ร่องรอยทุกอย่างแห่งระบบเก่าจะถูกขจัดออกไปแล้ว และแน่นอนว่าจะได้มีการเตรียมการเพื่อต้อนรับผู้ตาย. สำหรับลำดับของผู้ตายที่จะกลับคืนมา คัมภีร์ไบเบิลบอกดังนี้: “ทุกคนจะเป็นไปตามตำแหน่งของเขา.” (1 โกรินโธ 15:23, ล.ม.) ดูเหมือนว่าเมื่อ “ทั้งคนชอบธรรมและคนที่ไม่ชอบธรรมจะเป็นขึ้นมาจากความตาย” คนชอบธรรมจะเป็นขึ้นมาก่อน. (กิจการ 24:15) โดยวิธีนี้ ผู้ซื่อสัตย์ในยุคโบราณ เช่นดานิเอล จะสามารถช่วยบริหารการงานทางแผ่นดินโลก รวมทั้งการสั่งสอน “คนที่ไม่ชอบธรรม” หลายพันล้านคนซึ่งเป็นขึ้นมาจากตาย.—บทเพลงสรรเสริญ 45:16.
22. คำถามอะไรบ้างที่ดานิเอลคงจะอยากได้คำตอบแน่ ๆ?
22 ก่อนที่ดานิเอลจะพร้อมรับหน้าที่รับผิดชอบแบบนั้น ท่านจะต้องมีคำถามบางอย่างแน่ ๆ. ถ้าจะว่าไป ท่านได้กล่าวเกี่ยวกับคำพยากรณ์อันลึกล้ำที่ได้มอบให้ท่านว่า “ข้าพเจ้าได้ยิน, แต่ไม่อาจเข้าใจ.” (ดานิเอล 12:8, ล.ม.) ท่านจะตื่นเต้นสักเพียงไรที่จะเข้าใจข้อลึกลับเหล่านี้ของพระเจ้าในที่สุด! ท่านคงต้องการจะรู้เรื่องทุกอย่างเกี่ยวกับพระมาซีฮาแน่ ๆ. ดานิเอลจะเรียนรู้ด้วยความตื่นตาตื่นใจเกี่ยวกับการดำเนินไปของมหาอำนาจโลกต่าง ๆ จากสมัยของท่านมาจนถึงสมัยของเรา, เกี่ยวกับการระบุตัว “เหล่าผู้บริสุทธิ์แห่งพระเจ้าผู้สูงสุด” ที่ซื่อสัตย์ ซึ่งเพียรอดทนแม้ว่าจะมีการข่มเหงใน “เวลาอวสาน,” และเกี่ยวกับการทำลายอาณาจักรทุกอาณาจักรของมนุษย์ครั้งสุดท้ายโดยราชอาณาจักรมาซีฮาของพระเจ้า.—ดานิเอล 2:44; 7:22; 12:4, ล.ม.
ส่วนของดานิเอลในอุทยาน—และส่วนของคุณ!
23, 24. (ก) โลกที่ดานิเอลจะอยู่เมื่อถูกปลุกให้เป็นขึ้นจากตายจะแตกต่างจากโลกที่ท่านเคยรู้จักอย่างไร? (ข) ดานิเอลจะมีที่ของท่านในอุทยานไหม และเรารู้ได้อย่างไร?
23 ดานิเอลคงจะต้องการรู้เรื่องโลกรอบ ๆ ตัวท่านในตอนนั้น—โลกที่แตกต่างจากสมัยของท่านอย่างมาก. ร่องรอยใด ๆ ของสงครามและการกดขี่ที่ทำความเสียหายแก่โลกที่ท่านรู้จัก จะไม่หลงเหลืออยู่เลย. จะไม่มีความทุกข์, ไม่มีความเจ็บป่วย, ไม่มีความตาย. (ยะซายา 25:8; 33:24) แต่จะมีอาหารอุดมสมบูรณ์, ที่อยู่อาศัยมากมาย, และงานที่ทำให้อิ่มอกอิ่มใจสำหรับทุกคน. (บทเพลงสรรเสริญ 72:16; ยะซายา 65:21, 22) มนุษยชาติจะเป็นครอบครัวเดียวที่เป็นเอกภาพและมีความสุข.
24 ดานิเอลจะมีที่สำหรับตัวท่านในโลกเช่นว่านั้นแน่นอน. ทูตสวรรค์บอกท่านว่า “ท่านจะลุกขึ้นเพื่อจะได้ส่วนของท่าน.” คำภาษาฮีบรูที่ได้รับการแปลที่นี่ว่า “ส่วน” เป็นคำเดียวกับที่ใช้สำหรับที่ดินผืนหนึ่งตามตัวอักษร.c ดานิเอลอาจคุ้นเคยกับคำพยากรณ์ของยะเอศเคลเรื่องการจัดสรรแผ่นดินยิศราเอลที่ได้รับการฟื้นฟูแล้ว. (ยะเอศเคล 47:13–48:35) ในความสำเร็จเป็นจริงในอุทยาน คำพยากรณ์ของยะเอศเคลบอกเป็นนัยเรื่องอะไร? ก็เรื่องที่ว่า ไพร่พลของพระเจ้าจะมีที่ของตนในอุทยาน แม้แต่ที่ดินเองก็จะได้รับการจัดสรรในแบบที่เป็นระเบียบและยุติธรรม. แน่นอน ส่วนของดานิเอลในอุทยานจะเกี่ยวข้องไม่เพียงแต่เรื่องที่ดินเท่านั้น แต่ยังจะรวมถึงบทบาทของท่านในพระประสงค์ของพระเจ้าในที่นั่นด้วย. บำเหน็จที่ได้ทรงสัญญาไว้กับดานิเอลได้รับการรับรองแล้ว.
25. (ก) ความหวังของชีวิตในอุทยานซึ่งดึงดูดใจคุณมีอะไรบ้าง? (ข) ทำไมอาจกล่าวได้ว่ามนุษย์เหมาะสมกับอุทยาน?
25 แต่ส่วนของคุณเป็นอย่างไร? คำสัญญาเดียวกันสามารถใช้กับคุณได้. พระยะโฮวาทรงประสงค์ให้มนุษย์ที่ซื่อสัตย์ “ลุกขึ้น” รับเอาส่วนของพวกเขา คือมีที่ของตนในอุทยาน. คิดดูสิ! เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นแน่ ๆ ที่จะได้พบดานิเอลเป็นส่วนตัว พร้อมกับชายและหญิงผู้ซื่อสัตย์คนอื่น ๆ ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล. ครั้นแล้วจะมีคนอื่น ๆ นับไม่ถ้วนเป็นขึ้นจากความตายซึ่งต้องการคำแนะนำเพื่อจะรู้จักและรักพระยะโฮวาพระเจ้า. ลองนึกภาพตัวคุณเองกำลังเอาใจใส่ดูแลบ้านทางแผ่นดินโลกของเราและช่วยเปลี่ยนบ้านนี้ให้เป็นอุทยานที่มีความสวยงามหลากหลายไร้ขีดจำกัดและคงอยู่ตลอดไป. ลองคิดถึงการได้รับการสอนจากพระยะโฮวา เรียนรู้วิธีที่จะมีชีวิตในแนวทางที่พระองค์ทรงตั้งพระทัยไว้สำหรับมนุษยชาติ. (ยะซายา 11:9; โยฮัน 6:45) ใช่แล้ว มีที่สำหรับคุณในอุทยาน. แม้ว่าอุทยานอาจเป็นเรื่องแปลกสำหรับบางคนในสมัยนี้ ขอจำไว้ว่าเมื่อเดิมพระยะโฮวาทรงออกแบบมนุษยชาติให้อาศัยอยู่ในที่เช่นนั้น. (เยเนซิศ 2:7-9) ในแง่นั้น อุทยานก็คือที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติสำหรับผู้คนหลายพันล้านคนบนแผ่นดินโลก. นี่เป็นที่ที่เหมาะสมกับพวกเขา. การได้มาอยู่ในอุทยานก็เหมือนได้กลับบ้าน.
26. พระยะโฮวาทรงยอมรับอย่างไรว่าการรอคอยอวสานของระบบนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเรา?
26 หัวใจของเราเปี่ยมล้นด้วยความหยั่งรู้ค่าเมื่อเราคิดถึงสิ่งเหล่านี้มิใช่หรือ? คุณปรารถนาจะอยู่ที่นั่นมิใช่หรือ? ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่พยานพระยะโฮวาอยากรู้เหลือเกินว่าเมื่อไรอวสานของระบบนี้จะมาถึง! การรอคอยไม่ใช่เรื่องง่าย. พระยะโฮวาทรงยอมรับเรื่องนั้น เพราะพระองค์กระตุ้นพวกเราว่า “จงคอยท่า” อวสาน “ถึงแม้นิมิตจะเนิ่นช้า.” พระองค์ทรงหมายความว่า มันอาจดูเหมือนเนิ่นช้าในความคิดของเรา เพราะในข้อคัมภีร์เดียวกัน เราได้รับคำรับรองว่า “จะไม่ล่าช้าเลย.” (ฮะบาฆูค 2:3, ล.ม.; เทียบกับสุภาษิต 13:12.) ใช่แล้ว อวสานจะมาถึงตามเวลากำหนด.
27. คุณต้องทำอะไรเพื่อจะยืนอยู่ต่อพระพักตร์พระเจ้าตลอดชั่วกัลปาวสาน?
27 คุณควรทำอะไรขณะที่อวสานใกล้เข้ามา? จงอดทนอย่างซื่อสัตย์. เหมือนผู้พยากรณ์ดานิเอลซึ่งเป็นผู้ที่พระยะโฮวาทรงรัก. จงขยันศึกษาพระคำของพระเจ้า. อธิษฐานอย่างมีใจแรงกล้า. คบหาสมาคมกับเพื่อนร่วมความเชื่อด้วยความรัก. กระตือรือร้นในการสอนความจริงแก่คนอื่น. ขณะที่อวสานของระบบชั่วนี้ใกล้เข้ามาทุก ๆ วัน จงตั้งใจแน่วแน่ที่จะเป็นผู้รับใช้ที่ภักดีของพระผู้ใหญ่ยิ่งสูงสุดและสนับสนุนพระคำของพระองค์อย่างภักดี. ในทุกวิถีทาง จงเอาใจใส่คำพยากรณ์ของดานิเอล! และขอพระยะโฮวาพระผู้เป็นเจ้าองค์บรมมหิศรทรงบันดาลให้คุณได้รับสิทธิพิเศษแห่งการยืนอยู่ต่อพระพักตร์พระองค์ด้วยความชื่นชมยินดีตลอดชั่วกัลปาวสาน!
[เชิงอรรถ]
a ดานิเอลถูกเนรเทศไปอยู่บาบูโลนในปี 617 ก.ส.ศ. คงเป็นตอนวัยรุ่น. ท่านได้รับนิมิตนี้ในปีที่สามแห่งรัชกาลของไซรัส หรือปี 536 ก.ส.ศ.—ดานิเอล 10:1.
b ตามที่มีกล่าวในพจนานุกรมฮีบรูและอังกฤษของบราวน์-ไดรเวอร์-บริกส์ คำภาษาฮีบรูที่ได้รับการแปลว่า “ลุก” ที่ใช้ที่นี่หมายถึง “การคืนชีพหลังจากตาย.”
c คำภาษาฮีบรูนี้เกี่ยวพันกับคำที่แปลว่า “ก้อนกรวด” เนื่องจากเคยมีการใช้หินก้อนเล็ก ๆ ในการจับฉลาก. บางครั้งมีการจัดสรรที่ดินในวิธีนี้. (อาฤธโม 26:55, 56) คู่มือเกี่ยวกับพระธรรมดานิเอล (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า ที่นี่คำนี้หมายถึง “สิ่งที่จัดไว้ต่างหาก (โดยพระเจ้า) สำหรับคนใดคนหนึ่ง.”
คุณได้เรียนรู้อะไร?
• อะไรได้ช่วยดานิเอลให้อดทนจนถึงที่สุดปลาย?
• ทำไมการที่รู้ว่าจะต้องตายจึงไม่น่าสยดสยองสำหรับดานิเอล?
• คำสัญญาของทูตสวรรค์ที่ว่าดานิเอล “จะลุกขึ้นเพื่อจะได้ส่วนของท่าน” จะสำเร็จเป็นจริงอย่างไร?
• คุณได้รับประโยชน์อย่างไรเป็นส่วนตัวจากการเอาใจใส่คำพยากรณ์ของดานิเอล?
[ภาพเต็มหน้า 307]
[รูปภาพหน้า 318]
เหมือนดานิเอล คุณเอาใจใส่พระคำเชิงพยากรณ์ของพระเจ้าไหม?