บท 2
คุณจะ “ใกล้ชิดกับพระเจ้า” ได้จริง ๆ ไหม?
1, 2. (ก) มีเรื่องอะไรที่หลายคนคิดว่าเป็นไปไม่ได้ แต่คัมภีร์ไบเบิลทำให้เรามั่นใจเรื่องนี้ยังไง? (ข) พระยะโฮวาเรียกอับราฮัมว่าอะไร และทำไม?
คุณจะรู้สึกยังไงถ้าผู้สร้างฟ้าและโลกพูดถึงคุณว่า “นี่เป็นเพื่อนของเรา”? สำหรับหลายคนแล้ว นั่นอาจฟังดูเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ที่จริงแล้ว มนุษย์จะเป็นเพื่อนกับพระยะโฮวาพระเจ้าได้ยังไง? แต่คัมภีร์ไบเบิลก็ทำให้เรามั่นใจว่าเราจะใกล้ชิดกับพระเจ้าได้จริง ๆ
2 อับราฮัมซึ่งมีชีวิตอยู่ในสมัยโบราณเป็นคนหนึ่งที่สนิทกับพระเจ้า พระยะโฮวาได้พูดถึงอับราฮัมว่าเป็น “เพื่อน” ของพระองค์ (อิสยาห์ 41:8) ถูกแล้ว พระยะโฮวาถือว่าอับราฮัมเป็นเพื่อนสนิทของพระองค์ อับราฮัมมีสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดแบบนั้นเพราะเขา “เชื่อในพระยะโฮวา” (ยากอบ 2:23) ทุกวันนี้ก็เหมือนกัน พระยะโฮวามองหาโอกาสที่จะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนเหล่านั้นที่รับใช้พระองค์ และ “แสดงความรักต่อพวกเขา” (เฉลยธรรมบัญญัติ 10:15) คัมภีร์ไบเบิลกระตุ้นให้เรา ‘เข้าไปใกล้ชิดกับพระเจ้า แล้วพระองค์จะเข้ามาใกล้ชิดกับเรา’ (ยากอบ 4:8) ถ้อยคำเหล่านี้เป็นทั้งคำเชิญและคำสัญญา
3. พระยะโฮวาเชิญให้เราทำอะไร และพระองค์ให้คำสัญญาอะไรด้วย?
3 พระยะโฮวาเชิญเราให้เข้าไปใกล้ชิดกับพระองค์ พระองค์พร้อมและเต็มใจจะเป็นเพื่อนกับเรา และพระองค์สัญญาว่าถ้าเราพยายามเข้าใกล้พระองค์ พระองค์ก็จะเข้ามาใกล้เราเหมือนกัน ดังนั้น เราจะมีสิทธิพิเศษที่ ‘ได้เป็นเพื่อนสนิทของพระยะโฮวา’ (สดุดี 25:14) เพื่อนสนิทเป็นคนที่เราจะบอกเรื่องส่วนตัวของเราให้เขาฟังได้
4. เพื่อนสนิทเป็นยังไง และพระยะโฮวาเป็นเพื่อนแบบนั้นยังไงกับคนที่ใกล้ชิดกับพระองค์?
4 คุณมีเพื่อนสนิทที่คุณสามารถพูดกับเขาได้ทุกเรื่องไหม? เพื่อนสนิทจะสนใจคุณจริง ๆ คุณไว้ใจเขาได้เพราะเขาทำให้เห็นว่าเขาเป็นคนซื่อสัตย์ ตอนที่คุณมีเรื่องดี ๆ แล้วเล่าให้เขาฟัง คุณก็รู้สึกมีความสุขมากขึ้น ตอนที่คุณเสียใจเขาก็ฟังอย่างเห็นอกเห็นใจ และเขาก็เข้าใจคุณเสมอถึงแม้คนอื่นจะไม่เข้าใจ นี่เลยทำให้คุณรู้สึกดีขึ้น คล้ายกัน เมื่อคุณใกล้ชิดกับพระเจ้า คุณก็มีเพื่อนที่พิเศษมากซึ่งมองว่าคุณมีค่า สนใจคุณจริง ๆ และเข้าใจคุณเสมอ (สดุดี 103:14; 1 เปโตร 5:7) คุณมั่นใจว่าคุณสามารถบอกพระองค์ได้ทุกเรื่องเพราะคุณรู้ว่าพระองค์ภักดีต่อคนที่ภักดี (สดุดี 18:25) เรามีสิทธิพิเศษที่จะเป็นเพื่อนกับพระเจ้าก็เพราะพระองค์ทำให้เรื่องนี้เป็นไปได้
พระยะโฮวาทำให้เราเป็นเพื่อนกับพระองค์ได้
5. พระยะโฮวาทำอะไรเพื่อเราจะใกล้ชิดกับพระองค์ได้?
5 ถ้าพระยะโฮวาไม่ช่วยเรา เราก็ไม่มีทางที่จะใกล้ชิดกับพระองค์ได้เลย เพราะเราเป็นคนไม่สมบูรณ์แบบ (สดุดี 5:4) อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “แต่พระเจ้าหยิบยื่นความรักให้เรา โดยให้พระคริสต์มาตายแทนเราทั้ง ๆ ที่เรายังเป็นคนบาปอยู่” (โรม 5:8) พระยะโฮวาได้ส่งพระเยซูมาบนโลกเพื่อ “สละชีวิตเป็นค่าไถ่ให้คนมากมาย” (มัทธิว 20:28) เราใกล้ชิดกับพระเจ้าได้เพราะเรามีความเชื่อในค่าไถ่ และเพราะพระเจ้า “รักเราก่อน” พระองค์เลยทำให้เราเป็นเพื่อนกับพระองค์ได้—1 ยอห์น 4:19
6, 7. (ก) ทำไมพระยะโฮวาบอกให้เรารู้เกี่ยวกับพระองค์? (ข) พระยะโฮวาบอกให้เรารู้เกี่ยวกับพระองค์ยังไง?
6 นอกจากนั้น พระยะโฮวายังทำให้เราเป็นเพื่อนกับพระองค์ได้โดยบอกให้เรารู้เกี่ยวกับพระองค์ การที่เราจะสนิทกับใครสักคนได้เราก็ต้องรู้จักคนนั้นจริง ๆ เราต้องชอบนิสัยและความประพฤติของเขาด้วย ดังนั้น ถ้าพระยะโฮวาไม่เปิดเผยเกี่ยวกับพระองค์ เราก็ไม่มีทางที่จะรู้จักพระองค์ได้ แต่พระยะโฮวาอยากให้เรารู้จักพระองค์ (อิสยาห์ 45:19) พระยะโฮวาอยากให้ทุกคนเรียนรู้เกี่ยวกับพระองค์ รวมทั้งคนที่ดูเหมือนไม่มีค่าในสายตาของคนทั่วไป—มัทธิว 11:25
7 พระยะโฮวาบอกให้เรารู้เกี่ยวกับพระองค์ยังไง? สิ่งต่าง ๆ ที่พระองค์สร้างทำให้เรารู้จักคุณลักษณะบางอย่างของพระองค์ เช่น ฤทธิ์อำนาจยิ่งใหญ่ สติปัญญาล้ำลึก และความรักบริบูรณ์ของพระองค์ (โรม 1:20) พระยะโฮวาไม่ได้ใช้แค่สิ่งที่พระองค์สร้างเพื่อทำให้เรารู้จักพระองค์เท่านั้น แต่พระองค์ยังใช้คัมภีร์ไบเบิลเพื่อช่วยให้เรารู้จักพระองค์ด้วย
พระยะโฮวาบอกให้เรารู้อะไรเกี่ยวกับพระองค์ในคัมภีร์ไบเบิล
8. ทำไมถึงบอกได้ว่าคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลักฐานที่แสดงว่าพระยะโฮวารักเรา?
8 คัมภีร์ไบเบิลเป็นหลักฐานที่แสดงว่าพระยะโฮวารักเรา ในคัมภีร์ไบเบิล พระยะโฮวาบอกให้เรารู้เกี่ยวกับพระองค์ด้วยคำพูดที่เราเข้าใจได้ นี่แสดงว่าพระองค์รักเรา และอยากให้เรารู้จักและรักพระองค์ด้วย สิ่งที่เราอ่านในคัมภีร์ไบเบิลทำให้เราใกล้ชิดกับพระองค์ (สดุดี 1:1-3) ขอให้เราดูบางเรื่องที่พระยะโฮวาบอกให้เรารู้เกี่ยวกับพระองค์ในคัมภีร์ไบเบิลที่จะทำให้เรารู้สึกประทับใจ
9. มีข้อคัมภีร์ไหนบ้างที่บอกให้เรารู้เกี่ยวกับคุณลักษณะของพระเจ้า?
9 คัมภีร์ไบเบิลบอกให้เรารู้เกี่ยวกับคุณลักษณะหลายอย่างของพระยะโฮวา ตัวอย่างเช่น “พระยะโฮวารักความยุติธรรม” (สดุดี 37:28) พระเจ้า “มีอำนาจล้นเหลือ” (โยบ 37:23) “พระยะโฮวาบอกว่า . . . ‘เราภักดีต่อเจ้า’” (เยเรมีย์ 3:12) “พระองค์มีสติปัญญา” (โยบ 9:4) พระองค์เป็น “พระเจ้าที่เมตตา สงสาร ไม่โกรธง่าย รักใครก็รักมั่นคง และรักษาคำพูดเสมอ” (อพยพ 34:6) “พระยะโฮวา พระองค์ดีจริง ๆ และพร้อมจะให้อภัย” (สดุดี 86:5) และเหมือนที่บอกไว้ในบทก่อน คุณลักษณะอย่างหนึ่งที่สำคัญที่สุดคือ “ความรัก” (1 ยอห์น 4:8) เมื่อเราคิดถึงคุณลักษณะที่น่าประทับใจเหล่านี้ของพระยะโฮวา เราก็อยากจะใกล้ชิดกับพระองค์มากขึ้น
10, 11. (ก) พระยะโฮวาให้มีตัวอย่างอะไรไว้ในคัมภีร์ไบเบิล และเพราะอะไร? (ข) ตัวอย่างอะไรในคัมภีร์ไบเบิลที่ทำให้เห็นว่าพระยะโฮวาใช้อำนาจของพระองค์เพื่อช่วยเรา?
10 นอกจากจะบอกให้เรารู้ว่าพระองค์มีคุณลักษณะอะไรบ้างในคัมภีร์ไบเบิล พระองค์ยังให้มีตัวอย่างที่ทำให้เราเห็นคุณลักษณะต่าง ๆ ของพระองค์ด้วย เรื่องราวเหล่านั้นช่วยให้เราเห็นแง่มุมต่าง ๆ เกี่ยวกับคุณลักษณะของพระองค์ชัดเจนมากขึ้น และยังช่วยเราให้สนิทกับพระองค์ด้วย ให้เรามาดูตัวอย่างหนึ่งด้วยกัน
คัมภีร์ไบเบิลช่วยให้เราใกล้ชิดกับพระยะโฮวา
11 คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าพระเจ้า “มีอำนาจที่ยิ่งใหญ่” (อิสยาห์ 40:26) เมื่อเราอ่านเรื่องราวที่พระยะโฮวาช่วยชาวอิสราเอลให้รอดผ่านทะเลแดงและหลังจากนั้นเลี้ยงดูพวกเขาในที่กันดารเป็นเวลา 40 ปี เราก็รู้สึกประทับใจวิธีที่พระองค์ใช้อำนาจของพระองค์ ลองนึกภาพน้ำทะเลที่ถูกแยกออก มีประชาชนทั้งหมดประมาณ 3,000,000 คนเดินข้ามพื้นทะเลแห้งตอนที่น้ำตั้งขึ้นเป็นกำแพงใหญ่ทั้งสองด้าน (อพยพ 14:21; 15:8) นอกจากนั้น คุณยังเห็นด้วยว่าพระเจ้าดูแลประชาชนของพระองค์ในที่กันดาร พระองค์ให้น้ำไหลออกมาจากหินและให้อาหารที่มีสีขาวและมีลักษณะคล้ายเมล็ดพืชปรากฏบนพื้นดิน (อพยพ 16:31; กันดารวิถี 20:11) ในเหตุการณ์เหล่านี้พระยะโฮวาไม่เพียงแค่บอกให้เรารู้ว่าพระองค์มีอำนาจ แต่ทำให้เราเห็นด้วยว่าพระองค์ใช้อำนาจนั้นเพื่อช่วยประชาชนของพระองค์ เราได้กำลังใจจริง ๆ ที่รู้ว่าพระเจ้าที่เราอธิษฐานถึงเป็นพระเจ้าที่มีอำนาจที่จะช่วยเรา และพระองค์ “เป็นที่หลบภัยและเป็นกำลังของพวกเรา พระองค์ช่วยเหลือพวกเราเสมอในเวลาทุกข์ลำบาก”—สดุดี 46:1
12. พระยะโฮวาช่วยเรายังไงให้ “มองเห็น” พระองค์ด้วยคำพูดที่เราเข้าใจได้?
12 ถึงแม้พระยะโฮวาเป็นกายทิพย์ แต่พระองค์ก็ช่วยเราให้รู้จักพระองค์ เราเป็นมนุษย์ เราเลยไม่สามารถมองเห็นพระยะโฮวาและสิ่งที่อยู่ในสวรรค์ได้ ถ้าพระยะโฮวาอธิบายเกี่ยวกับพระองค์ด้วยภาษาของทูตสวรรค์ก็คงจะเหมือนกับการพยายามอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับรูปร่างหน้าตาของเรากับคนที่ตาบอดมาแต่เกิด แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ด้วยความกรุณาพระยะโฮวาช่วยเราให้ “มองเห็น” พระองค์ด้วยคำพูดที่เราเข้าใจได้ บางครั้ง พระองค์ใช้ตัวอย่างเปรียบเทียบโดยเปรียบพระองค์กับสิ่งต่าง ๆ ที่เรารู้จัก พระองค์ถึงกับอธิบายว่าพระองค์มีลักษณะบางอย่างเหมือนมนุษย์a
13. อิสยาห์ 40:11 อธิบายเกี่ยวกับพระยะโฮวาว่ายังไง และเรื่องนี้ทำให้คุณรู้สึกยังไง?
13 ขอให้สังเกตคำอธิบายเกี่ยวกับพระยะโฮวาที่อยู่ในอิสยาห์ 40:11 ที่ว่า “พระเจ้าจะใส่ใจดูแลแกะของพระองค์เหมือนผู้เลี้ยงแกะ พระองค์จะรวบรวมลูกแกะมาไว้ในอ้อมกอดของพระองค์ จะอุ้มพวกมันไว้แนบอก” ในข้อนี้มีการเปรียบพระยะโฮวาเป็นผู้เลี้ยงแกะซึ่งอุ้มลูกแกะขึ้นมาไว้ใน “อ้อมกอด” นี่ทำให้เราเห็นถึงความสามารถของพระเจ้าที่จะปกป้องและช่วยเหลือประชาชนของพระองค์ รวมถึงคนที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษด้วย เราจะรู้สึกปลอดภัยในอ้อมกอดที่อบอุ่นของพระองค์ เพราะถ้าเราภักดีต่อพระองค์ พระองค์ก็จะไม่ทิ้งเราเลย (โรม 8:38, 39) ผู้เลี้ยงแกะองค์ยิ่งใหญ่กอดลูกแกะไว้ “แนบอก” คำพูดนี้ทำให้คิดถึงเสื้อคลุมหลวม ๆ ซึ่งบางครั้งผู้เลี้ยงแกะจะใช้ห่อตัวลูกแกะที่เพิ่งเกิดใหม่ ดังนั้น เรามั่นใจได้ว่าพระยะโฮวาจะทะนุถนอมและดูแลเราอย่างดี นี่เลยทำให้เราอยากใกล้ชิดกับพระองค์มากขึ้น
‘ลูกของพระเจ้าอยากบอกให้รู้เกี่ยวกับพ่อ’
14. อะไรเป็นวิธีดีที่สุดที่พระยะโฮวาบอกให้เรารู้เกี่ยวกับพระองค์?
14 ในคัมภีร์ไบเบิล พระยะโฮวาบอกเกี่ยวกับพระองค์อย่างชัดเจนโดยทางพระเยซูลูกที่รักของพระองค์ นอกจากพระเยซูแล้วไม่มีใครสามารถเลียนแบบความคิดและอธิบายความรู้สึกของพระเจ้าได้ดีกว่าท่าน เพราะอะไร? เพราะท่านเป็นผู้แรกที่ถูกสร้างก่อนทุกสิ่งและอยู่บนสวรรค์กับพ่อของท่านนานก่อนที่จะมีทูตสวรรค์และทุกสิ่งในเอกภพ (โคโลสี 1:15) พระเยซูรู้จักพระยะโฮวาดีที่สุด ดังนั้น ท่านเลยบอกได้ว่า “ไม่มีใครรู้จักลูกของพระเจ้านอกจากพระเจ้าผู้เป็นพ่อ และไม่มีใครรู้จักพระเจ้าผู้เป็นพ่อนอกจากลูกของพระองค์และคนที่ท่านอยากบอกให้รู้” (ลูกา 10:22) ตอนที่พระเยซูอยู่บนโลก ท่านบอกให้รู้เกี่ยวกับพ่อของท่านใน 2 วิธี
15, 16. มี 2 วิธีอะไรที่พระเยซูบอกให้เรารู้เกี่ยวกับพ่อของท่าน?
15 วิธีแรก คำสอนของพระเยซูช่วยเราให้รู้จักพ่อของท่าน พระเยซูพูดถึงพระยะโฮวาด้วยคำพูดที่น่าประทับใจ ตัวอย่างเช่น เพื่ออธิบายว่าพระยะโฮวาแสดงความเมตตาและความรักต่อคนบาปที่กลับใจและมาหาพระองค์ ท่านเปรียบเทียบพระยะโฮวาเป็นเหมือนกับพ่อที่ให้อภัยลูกที่หลงหาย ตอนที่เห็นลูกกลับมาพ่อรู้สึกดีใจมากจนถึงกับวิ่งเข้าไปหาทั้งกอดและจูบลูก (ลูกา 15:11-24) นอกจากนั้น พระเยซูยังพูดถึงพระยะโฮวาว่าเป็นพระเจ้าที่ “ชักนำ” คนที่มีหัวใจดีเพราะพระองค์รักพวกเขา (ยอห์น 6:44) พระองค์ถึงกับรู้ว่าเมื่อไหร่นกกระจอกตัวเล็ก ๆ ตัวหนึ่งจะตกลงถึงดิน พระเยซูบอกว่า “อย่ากลัวเลย เพราะคุณมีค่ามากกว่านกกระจอกหลายตัวรวมกันด้วยซ้ำ” (มัทธิว 10:29, 31) นี่ทำให้เราอยากใกล้ชิดกับพระยะโฮวาพระเจ้าที่ห่วงใยเราจริง ๆ
16 วิธีที่สอง ตัวอย่างของพระเยซูแสดงให้เราเห็นว่าพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าแบบไหน พระเยซูเลียนแบบพ่อของท่านได้อย่างสมบูรณ์แบบจนท่านพูดได้ว่า “คนที่ได้เห็นผมก็ได้เห็นพระเจ้าผู้เป็นพ่อด้วย” (ยอห์น 14:9) ดังนั้น เมื่อเราอ่านในคัมภีร์ไบเบิลว่าพระเยซูรู้สึกและปฏิบัติกับคนอื่นยังไงก็เหมือนกับว่าเราได้เห็นพระยะโฮวา นี่เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่พระยะโฮวาช่วยให้เราเห็นว่าพระองค์เป็นพระเจ้าแบบไหนจริง ๆ เพราะอะไร?
17. ขอให้ยกตัวอย่างว่าพระยะโฮวาทำอะไรเพื่อช่วยให้เราเข้าใจว่าพระองค์เป็นพระเจ้าแบบไหน?
17 ตัวอย่างเช่น ถ้ามีคนขอให้คุณอธิบายว่าความกรุณาคืออะไร คุณก็อาจพยายามอธิบายด้วยคำพูด แต่ถ้าคุณสามารถพูดถึงใครสักคนที่แสดงความกรุณาจริง ๆ และบอกว่า “เขาเป็นคนที่มีความกรุณา” นั่นจะทำให้ความหมายของ “ความกรุณา” ชัดเจนและเข้าใจง่ายขึ้น พระยะโฮวาก็ทำแบบนั้นเพื่อช่วยให้เราเข้าใจว่าพระองค์เป็นพระเจ้าแบบไหน นอกจากจะอธิบายเกี่ยวกับพระองค์ด้วยคำพูดแล้ว พระองค์ยังอธิบายโดยใช้ตัวอย่างของพระเยซูลูกของพระองค์ด้วย เช่น ในหนังสือข่าวดี 4 เล่มซึ่งมีเรื่องราวของพระเยซู เราเห็นคุณลักษณะต่าง ๆ ของพระเจ้าได้จากสิ่งที่พระเยซูทำ และเหมือนกับพระยะโฮวากำลังบอกว่า “เราเป็นอย่างนั้นแหละ” แล้วคัมภีร์ไบเบิลบอกให้เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับพระเยซูตอนที่ท่านอยู่บนโลก?
18. พระเยซูแสดงให้เห็นยังไงว่าท่านมีอำนาจ ความยุติธรรม และสติปัญญา?
18 พระเยซูแสดงคุณลักษณะสำคัญ 4 อย่างของพระเจ้าได้อย่างดีเยี่ยม พระเยซูมีอำนาจเหนือโรคภัยต่าง ๆ ความอดอยาก และความตายด้วย แต่ท่านก็ไม่เห็นแก่ตัวและใช้อำนาจในทางที่ผิด ท่านไม่เคยใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของตัวเองหรือเพื่อทำร้ายคนอื่น (มัทธิว 4:2-4) ท่านรักความยุติธรรม ท่านรู้สึกโกรธเมื่อเห็นพวกพ่อค้าที่โลภขูดรีดประชาชน (มัทธิว 21:12, 13) ท่านปฏิบัติกับคนยากจนและคนที่ถูกเหยียบย่ำอย่างไม่ลำเอียงและช่วยให้พวกเขา “สดชื่น” (มัทธิว 11:4, 5, 28-30) ไม่มีใครสอนด้วยสติปัญญาเหมือนกับพระเยซูผู้ที่ “ยิ่งใหญ่กว่าโซโลมอน” (มัทธิว 12:42) แต่พระเยซูไม่เคยโอ้อวดสติปัญญาของท่าน คำสอนของท่านเข้าถึงใจ เพราะคำสอนของท่านชัดเจน ง่าย และใช้ได้จริง
19, 20. (ก) พระเยซูเป็นตัวอย่างที่ดียังไงในการแสดงความรัก? (ข) เราควรจำอะไรไว้เสมอตอนที่อ่านและคิดใคร่ครวญตัวอย่างของพระเยซู?
19 พระเยซูเป็นตัวอย่างที่ดีในการแสดงความรัก ตลอดเวลาที่ทำงานรับใช้ท่านแสดงความรักในหลายวิธี ตัวอย่างเช่น ท่านรู้สึกสงสารเมื่อเห็นคนอื่นทนทุกข์ หลายครั้งความรู้สึกนั้นกระตุ้นท่านให้ช่วยพวกเขา (มัทธิว 14:14) ถึงแม้ท่านจะรักษาคนป่วยและเลี้ยงอาหารคนที่กำลังหิว แต่ท่านก็ช่วยเหลือพวกเขาในวิธีที่สำคัญกว่านั้นอีก ท่านสอนพวกเขาให้รู้จัก ยอมรับ และรักความจริงเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าที่จะทำให้มนุษย์ได้รับพร (มาระโก 6:34; ลูกา 4:43) นอกจากนั้น พระเยซูยังแสดงความรักที่ยิ่งใหญ่ที่สุดโดยเต็มใจสละชีวิตของท่านเพื่อเรา—ยอห์น 15:13
20 พระเยซูเป็นคนอบอุ่นและเห็นอกเห็นใจก็เลยไม่แปลกที่คนอื่น ๆ อยากจะเข้ามาใกล้ท่าน (มาระโก 10:13-16) แต่ตอนที่อ่านและคิดใคร่ครวญตัวอย่างของพระเยซู ขอให้เราจำไว้เสมอว่าพระเยซูกำลังช่วยเราให้เห็นว่าพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าแบบไหน—ฮีบรู 1:3
หนังสือเล่มนี้จะช่วยเรายังไง
21, 22. เราต้องทำยังไงเพื่อจะใกล้ชิดกับพระยะโฮวามากขึ้น และหนังสือเล่มนี้จะช่วยเราให้ทำแบบนั้นได้ยังไง?
21 ในคัมภีร์ไบเบิลพระยะโฮวาบอกเกี่ยวกับพระองค์อย่างชัดเจน นี่ทำให้เรามั่นใจว่าพระองค์อยากให้เราสนิทกับพระองค์ แต่พระยะโฮวาไม่ได้บังคับเราให้มาเป็นเพื่อนกับพระองค์ เราสามารถเลือกได้เองว่าอยากจะใกล้ชิดกับพระองค์ “ตอนที่พระองค์ยังอยู่ใกล้ ๆ” ไหม (อิสยาห์ 55:6) เพื่อจะใกล้ชิดกับพระยะโฮวามากขึ้นเราต้องเรียนรู้เกี่ยวกับคุณลักษณะและแนวทางของพระองค์ หนังสือเล่มนี้จะช่วยเราได้แน่นอน
22 เราจะเห็นว่ามีการแบ่งหนังสือเล่มนี้เป็นตอน ๆ ตามคุณลักษณะสำคัญ 4 อย่างของพระยะโฮวาคือ อำนาจ ความยุติธรรม สติปัญญา และความรัก แต่ละตอนเริ่มด้วยการพูดถึงคุณลักษณะนั้นแบบคร่าว ๆ บทต่อ ๆ ไปในตอนนั้นจะพูดถึงวิธีที่พระยะโฮวาแสดงคุณลักษณะนั้นในแง่มุมต่าง ๆ ในแต่ละตอนจะมีบทหนึ่งที่ช่วยให้เราเห็นวิธีที่พระเยซูแสดงคุณลักษณะนั้น นอกจากนั้น จะมีบทหนึ่งที่ช่วยให้เห็นว่าเราจะเลียนแบบคุณลักษณะนั้นได้ยังไง
23, 24. (ก) ขออธิบายจุดประสงค์ของกรอบ “คำถามสำหรับคิดใคร่ครวญ” (ข) การคิดใคร่ครวญช่วยเราให้ใกล้ชิดกับพระเจ้ามากขึ้นได้ยังไง?
23 จากบทนี้เป็นต้นไปจะมีกรอบที่ชื่อว่า “คำถามสำหรับคิดใคร่ครวญ” ตัวอย่างเช่น กรอบในหน้า 24 มีข้อคัมภีร์และคำถามต่าง ๆ เพื่อช่วยคุณให้คิดลึกซึ้งมากขึ้นเกี่ยวกับสิ่งที่ได้เรียนในบทนั้น คุณจะใช้กรอบเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ได้ยังไง? ขอให้ดูข้อคัมภีร์แต่ละข้อที่มีการอ้างถึงและอ่านข้อเหล่านั้นอย่างละเอียด แล้วคิดใคร่ครวญเกี่ยวกับคำถามที่ให้ไว้ คุณอาจต้องค้นคว้าบ้าง หลังจากนั้นให้ถามตัวเองเพิ่มเติมว่า ‘เรื่องนี้บอกให้ฉันรู้อะไรเกี่ยวกับพระยะโฮวา? เรื่องนี้มีผลกับชีวิตของฉันยังไง? ฉันจะเอาเรื่องนี้ไปช่วยคนอื่นได้ยังไง?’
24 การคิดใคร่ครวญจะช่วยเราใกล้ชิดกับพระยะโฮวามากขึ้น เพราะอะไร? เพราะการคิดใคร่ครวญมีผลดีกับตัวเรา (สดุดี 19:14) ถ้าเราทำอย่างนั้น ความรู้เกี่ยวกับพระเจ้าก็จะเข้าถึงหัวใจเรา ซึ่งมีผลกับความคิด ความรู้สึก และการกระทำของเรา ความรักที่เรามีต่อพระเจ้าก็จะลึกซึ้งมากขึ้น และจะกระตุ้นให้เราทำสิ่งที่พระองค์พอใจเพราะพระองค์เป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของเรา (1 ยอห์น 5:3) เพื่อเราจะสนิทกับพระยะโฮวามากขึ้นได้ เราต้องเรียนรู้คุณลักษณะและแนวทางของพระองค์ ตอนนี้ให้เรามาเรียนรู้เกี่ยวกับความบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาและทำไมคุณลักษณะนี้ถึงกระตุ้นให้เราอยากใกล้ชิดกับพระองค์มากขึ้น
a ตัวอย่างเช่น คัมภีร์ไบเบิลพูดถึงหน้า ตา หู จมูก ปาก มือ และเท้าของพระเจ้า (สดุดี 18:15; 27:8; 44:3; อิสยาห์ 60:13; มัทธิว 4:4; 1 เปโตร 3:12) เราไม่ควรคิดว่าคำพูดเปรียบเทียบเหล่านั้นมีความหมายตามตัวอักษร เหมือนกับที่เราจะไม่คิดว่าที่คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าพระยะโฮวาเป็น “หิน” หรือ “โล่” นั้นมีความหมายตามตัวอักษรจริง ๆ—เฉลยธรรมบัญญัติ 32:4; สดุดี 84:11