บท 26
พระเจ้าที่ “พร้อมจะให้อภัย”
1-3. (ก) อะไรเป็นเหมือนของหนักสำหรับดาวิด และอะไรช่วยให้เขามีกำลังใจ? (ข) ถ้าเราทำบาป อะไรเป็นเหมือนของหนักสำหรับเรา แต่พระยะโฮวารับรองกับเราว่ายังไง?
ดาวิดผู้เขียนหนังสือสดุดีบอกว่า “ความผิดท่วมหัวผมแล้ว มันเป็นเหมือนของหนักที่ผมแบกไม่ไหว ผมไม่มีความรู้สึกอะไรอีกและบอบช้ำไปหมด” (สดุดี 38:4, 8) ตอนที่ดาวิดทำบาป เขารู้สึกผิดและรู้สึกเหมือนกับว่ากำลังแบกของหนักไว้ แต่ก็มีบางอย่างที่ให้กำลังใจเขา เขาเข้าใจว่าถึงแม้พระยะโฮวาจะเกลียดการทำบาป แต่พระองค์ไม่ได้เกลียดคนที่ทำบาป ถ้าเขากลับใจจริง ๆ และเลิกทำผิด เขาก็มั่นใจได้ว่าพระยะโฮวาพร้อมจะให้อภัยเขา ดาวิดบอกว่า “พระยะโฮวา พระองค์ . . . พร้อมจะให้อภัย”—สดุดี 86:5
2 ถ้าเราทำบาป เราก็อาจรู้สึกผิดด้วยเหมือนกัน ที่จริงความรู้สึกนี้เป็นสิ่งที่ดีเพราะจะกระตุ้นให้เราพยายามแก้ไขสิ่งที่เราทำพลาดไป แต่ถ้าเราจมอยู่กับความรู้สึกผิดก็อาจเป็นอันตรายได้เพราะเราจะคิดว่าพระยะโฮวาไม่มีวันให้อภัยเราแม้ว่าเราจะกลับใจแล้วก็ตาม ถ้าเรา “จมอยู่กับความเศร้ามากเกินไป” ซาตานอาจพยายามทำให้เราเลิกรับใช้พระยะโฮวาเพราะเราคิดไปเองว่าเราไม่มีค่าหรือไม่ดีพอที่จะรับใช้พระองค์—2 โครินธ์ 2:5-11
3 แต่พระยะโฮวาคิดแบบนั้นจริง ๆ ไหม? ไม่เลย การให้อภัยเป็นวิธีหนึ่งที่พระยะโฮวาแสดงความรักที่ยิ่งใหญ่กับเรา พระองค์รับรองกับเราในคัมภีร์ไบเบิลว่าถ้าเรากลับใจจริง ๆ พระองค์ก็เต็มใจให้อภัยเรา (สุภาษิต 28:13) เพื่อจะมั่นใจในเรื่องนี้ ให้เรามาดูว่าทำไมพระยะโฮวาถึงให้อภัยและพระองค์ทำแบบนั้นยังไง
ทำไมพระยะโฮวาถึง “พร้อมจะให้อภัย” เรา?
4. พระยะโฮวารู้อะไรเกี่ยวกับตัวเรา และเรื่องนี้ทำให้พระองค์ปฏิบัติกับเรายังไง?
4 พระยะโฮวารู้ว่าเรามีขีดจำกัด สดุดี 103:14 บอกว่า “พระองค์รู้ดีว่าพวกเราถูกสร้างมาอย่างไร และไม่ลืมว่าพวกเราเป็นแค่ดิน” พระองค์ไม่ลืมว่าเราถูกสร้างมาจากดินและเราเป็นคนไม่สมบูรณ์แบบเลยมีแนวโน้มที่จะทำผิด คำพูดที่ว่าพระองค์รู้ว่า “พวกเราถูกสร้างมาอย่างไร” ทำให้เรานึกถึงตัวอย่างในคัมภีร์ไบเบิลที่เปรียบพระยะโฮวาเป็นเหมือนช่างปั้นหม้อและเราเป็นเหมือนภาชนะดินเหนียวที่พระองค์ปั้นขึ้นมา (เยเรมีย์ 18:2-6) พระยะโฮวารู้ว่าบาปทำให้เราอ่อนแอ และถึงแม้บางครั้งเราอาจไม่ได้ทำตามคำแนะนำของพระองค์ แต่พระองค์ก็ยังดีกับเราเสมอ
5. หนังสือโรมพูดถึงอำนาจของบาปยังไง?
5 พระยะโฮวาเข้าใจว่าบาปมีอำนาจมากขนาดไหน คัมภีร์ไบเบิลอธิบายว่าบาปมีอำนาจควบคุมเราและทำให้เราตายได้ ในหนังสือโรมอัครสาวกเปาโลบอกว่า เราอยู่ “ใต้อำนาจของบาป” เหมือนทหารที่อยู่ใต้อำนาจผู้บังคับบัญชา (โรม 3:9) บาป “มีอำนาจ” ปกครองเหมือนกษัตริย์ (โรม 5:21) บาป “อยู่ใน” ตัวเรา (โรม 7:17, 20) เราอยู่ใต้ “กฎของบาป” ที่พยายามควบคุมทุกอย่างที่เราทำ (โรม 7:23, 25) เห็นชัดว่าบาปในตัวเรามีอำนาจมากจริง ๆ—โรม 7:21, 24
6, 7. (ก) พระยะโฮวารู้สึกยังไงกับคนที่กลับใจและอยากได้รับการอภัยจากพระองค์? (ข) ทำไมถึงผิดที่จะคิดเอาเองว่าพระเจ้าจะให้อภัยความผิดของเราเสมอ?
6 พระยะโฮวารู้ว่าถึงแม้เราจะพยายามมากแค่ไหน แต่ก็เป็นไปไม่ได้ที่เราจะเชื่อฟังพระองค์ร้อยเปอร์เซ็นต์ พระองค์รับรองกับเราว่าถ้าเรากลับใจจริง ๆ และขอให้พระองค์ให้อภัย พระองค์ก็จะทำอย่างนั้น สดุดี 51:17 บอกว่า “เครื่องบูชาที่พระเจ้าพอใจคือหัวใจที่สำนึกผิด พระองค์จะไม่ดูถูกใจที่แตกสลายเลย” พระยะโฮวาจะไม่มีวันปฏิเสธหรือดูถูกคนที่หัวใจ “แตกสลาย” เพราะเขารู้สึกผิด
7 นี่ไม่ได้หมายความว่าเราจะเอาความเมตตาของพระเจ้ามาเป็นข้ออ้างที่จะทำผิด พระยะโฮวาไม่ได้มองข้ามความผิดที่เราทำ ความเมตตาของพระองค์มีขีดจำกัด พระองค์จะไม่มีทางให้อภัยคนที่ตั้งใจทำผิดและไม่กลับใจ (ฮีบรู 10:26) แต่ถ้าเขากลับใจ พระองค์ก็พร้อมจะให้อภัย ตอนนี้ให้เรามาดูตัวอย่างเปรียบเทียบในคัมภีร์ไบเบิลที่ช่วยให้เราเข้าใจความรักที่ยิ่งใหญ่ของพระเจ้า
พระยะโฮวาให้อภัยมากขนาดไหน?
8. จากสดุดี 32:5 พระยะโฮวาทำอะไรเมื่อพระองค์ยกโทษให้เรา และนี่ทำให้เรารู้สึกยังไง?
8 หลังจากดาวิดกลับใจแล้ว เขาบอกว่า “ในที่สุด ผมก็สารภาพบาปต่อพระองค์ ผมไม่ปกปิดความผิดของผม . . . และพระองค์ก็ยกโทษให้ผม” (สดุดี 32:5) คำภาษาฮีบรูที่แปลว่า “ยกโทษ” หมายถึง “ยกขึ้น” หรือ “เอาไป” ดังนั้น ข้อนี้หมายถึงการเอา “ความผิดหรือบาป” ไป ดาวิดรู้สึกเหมือนกับว่าพระยะโฮวายกเอาบาปของเขาไป เรื่องนี้คงช่วยให้เขารู้สึกดีขึ้น (สดุดี 32:3) เราก็มั่นใจได้เต็มที่ว่าพระเจ้าจะยกโทษให้เราโดยทางค่าไถ่ของพระเยซู—มัทธิว 20:28
9. พระยะโฮวาให้อภัยความผิดของเรามากแค่ไหน?
9 ดาวิดใช้อีกตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เราเห็นภาพชัดว่าพระยะโฮวาให้อภัยเรามากขนาดไหน เขาบอกว่า “ทิศตะวันออกไกลจากทิศตะวันตกมากเท่าไร พระองค์ก็ทิ้งความผิดของพวกเราไปไกลมากเท่านั้น” (สดุดี 103:12) แล้วทิศตะวันออกไกลจากทิศตะวันตกมากแค่ไหน? สองทิศนี้อยู่ไกลกันมากจนเรานึกไม่ออกและจะไม่มีวันมาบรรจบกันได้เลย นักวิชาการคนหนึ่งบอกว่าข้อความนี้หมายถึง “ระยะทางที่ไกลกันมากจนเราไม่มีทางนึกออกได้” พระยะโฮวาดลใจให้ดาวิดเขียนแบบนี้เพื่อช่วยให้เราเข้าใจว่า เมื่อพระองค์ให้อภัย พระองค์ก็เอาความผิดของเราไปไกลมากจริง ๆ
10. เมื่อพระยะโฮวาให้อภัยบาปเราแล้ว ทำไมเราไม่ต้องรู้สึกผิดไปตลอดชีวิต?
10 คุณเคยพยายามซักเสื้อผ้าสีขาวที่มีรอยเปื้อนไหม? ถึงแม้ว่าคุณจะพยายามมากแค่ไหนแต่รอยเปื้อนนั้นก็ยังอยู่ ขอให้สังเกตว่าพระยะโฮวาบอกว่าพระองค์ให้อภัยเรายังไง “ถึงบาปของพวกเจ้าจะแดงก่ำ เราจะทำให้ขาวเหมือนหิมะ ถึงบาปของพวกเจ้าจะเป็นเหมือนผ้าสีแดงเข้ม เราก็จะทำให้ขาวเหมือนขนแกะ” (อิสยาห์ 1:18) คำว่า “แดงก่ำ” หมายถึงสีแดงสดa ส่วน “สีแดงเข้ม” เป็นสีที่มักจะใช้ย้อมผ้า (นาฮูม 2:3) เราไม่มีวันลบรอยเปื้อนของบาปได้ด้วยตัวเอง แต่พระยะโฮวาสามารถเอาบาปที่เป็นเหมือนสีแดงสดและสีแดงเข้มนั้นออกไปได้ แล้วทำให้ขาวเหมือนหิมะหรือขนแกะ ดังนั้น เมื่อพระยะโฮวาให้อภัยบาปเราแล้ว เราก็ไม่ต้องรู้สึกผิดไปตลอดชีวิต
11. การที่พระยะโฮวาเหวี่ยงบาปของเราไปข้างหลังหมายถึงอะไร?
11 หลังจากเฮเซคียาห์หายป่วย เขาแต่งเพลงขอบคุณพระยะโฮวา เขาบอกกับพระยะโฮวาว่า “พระองค์ได้เหวี่ยงบาปทั้งหมดของผมไปข้างหลังพระองค์” (อิสยาห์ 38:17) ในข้อนี้เฮเซคียาห์พูดเหมือนกับว่าพระยะโฮวาเอาบาปของเขาเหวี่ยงไปข้างหลัง พระองค์เลยมองไม่เห็นและไม่คิดถึงบาปนั้นอีกต่อไป พจนานุกรมอธิบายคัมภีร์ไบเบิลเล่มหนึ่งบอกว่าข้อนี้อาจแปลได้ว่า “พระองค์ทำเหมือนกับว่า [บาปของผม] ไม่ได้เกิดขึ้น” เรื่องนี้ให้กำลังใจเราจริง ๆ
12. ผู้พยากรณ์มีคาห์ช่วยให้เราเข้าใจยังไงว่าเมื่อพระยะโฮวาให้อภัยแล้ว พระองค์ก็โยนความผิดของเราทิ้งไป?
12 ในคำสัญญาเรื่องการฟื้นฟู ผู้พยากรณ์มีคาห์มั่นใจว่าพระยะโฮวาจะให้อภัยประชาชนของพระองค์ที่กลับใจ เขาเขียนว่า “ไม่มีพระเจ้าองค์ไหนเหมือนพระองค์ . . . มองข้ามความผิดของประชาชนของพระองค์ที่ยังเหลืออยู่ . . . พระองค์จะเอาบาปที่พวกเราทำทั้งหมดโยนลงทะเล” (มีคาห์ 7:18, 19) ลองคิดดูว่าคนที่มีชีวิตอยู่ในสมัยคัมภีร์ไบเบิลเข้าใจข้อนี้ยังไง เป็นไปได้ไหมที่จะเอาสิ่งที่โยน “ลงทะเล” กลับขึ้นมา? เป็นไปไม่ได้ ดังนั้น คำพูดของมีคาห์แสดงว่าเมื่อพระยะโฮวาให้อภัย พระองค์ก็โยนความผิดของเราทิ้งไป
13. ที่พระเยซูพูดว่า “ขอพระองค์ยกโทษให้พวกเรา” หมายความว่ายังไง?
13 พระเยซูใช้ตัวอย่างเรื่องเจ้าหนี้กับลูกหนี้เพื่อช่วยให้เห็นว่าพระยะโฮวาให้อภัยเรายังไง ท่านสอนเราให้อธิษฐานว่า “ขอพระองค์ยกโทษให้พวกเรา” (มัทธิว 6:12) จากข้อนี้พระเยซูเปรียบบาปเหมือนกับหนี้ (ลูกา 11:4) เมื่อเราทำบาป เราก็เป็น “ลูกหนี้” ของพระยะโฮวา พจนานุกรมอธิบายคัมภีร์ไบเบิลเล่มหนึ่งบอกว่า คำภาษากรีกที่แปลว่า “ยกโทษ” หมายถึง “ปล่อยไป ยกเลิกหนี้โดยไม่ทวง” ดังนั้น เมื่อพระยะโฮวาให้อภัย พระองค์ก็ยกหนี้ที่เราติดพระองค์ไว้ พระยะโฮวาจะไม่ทวงหนี้ที่พระองค์ยกให้เรา นี่เป็นเรื่องที่ให้กำลังใจจริง ๆ สำหรับคนที่กลับใจ—สดุดี 32:1, 2
14. คำพูดที่ว่า “เพื่อบาปของพวกคุณจะถูกลบล้าง” ช่วยเราให้เข้าใจการให้อภัยของพระยะโฮวามากขึ้นยังไง?
14 ที่กิจการ 3:19 ทำให้เราเข้าใจการให้อภัยของพระยะโฮวามากขึ้น ที่นั่นบอกว่า “ดังนั้น ให้กลับใจและเปลี่ยนแปลงชีวิตใหม่ เพื่อบาปของพวกคุณจะถูกลบล้าง” ในภาษาเดิมคำว่า “ลบล้าง” อาจหมายถึง ‘เช็ดออก ยกเลิกหรือทำลาย’ นักวิชาการด้านคัมภีร์ไบเบิลบางคนบอกว่า คำนี้ทำให้นึกถึงการลบสิ่งที่เขียนด้วยมือ หมึกที่ใช้กันทั่วไปในสมัยนั้นทำจากส่วนผสมที่มีผงถ่าน กาวยางไม้ และน้ำ หลังจากที่เขียนด้วยหมึกชนิดนี้และทิ้งไว้ไม่นาน ผู้เขียนก็สามารถใช้ฟองน้ำเปียกเช็ดข้อความที่เขียนไว้นั้นออกไปได้ นี่เป็นการเปรียบเทียบที่ทำให้เราเข้าใจว่าพระยะโฮวาเมตตาจริง ๆ ถ้าพระองค์ให้อภัยบาปของเราแล้ว ก็เหมือนกับพระองค์เอาฟองน้ำมาเช็ดบาปของเราออกไป
15. พระยะโฮวาอยากให้เรามั่นใจในเรื่องอะไร?
15 ตัวอย่างเหล่านี้ทำให้เราเห็นชัดว่าพระยะโฮวาพร้อมจะให้อภัยบาปของเราและพระองค์ก็อยากให้เรามั่นใจในเรื่องนี้ ถ้าพระองค์เห็นว่าเรากลับใจจริง ๆ เราไม่ต้องกลัวว่าพระองค์จะลงโทษเราเพราะความผิดที่เราเคยทำนั้นอีก คัมภีร์ไบเบิลยังมีแง่มุมอื่นอีกที่ทำให้เราเห็นว่าพระยะโฮวาเมตตาพวกเรามากจริง ๆ ถ้าพระองค์ให้อภัยเราแล้ว พระองค์ก็จะลืมบาปของพวกเราด้วย
พระยะโฮวาอยากให้เรารู้ว่าพระองค์ “พร้อมจะให้อภัย”
‘เราจะไม่จดจำความผิดของพวกเขาอีกเลย’
16, 17. เมื่อคัมภีร์ไบเบิลบอกว่าพระยะโฮวาไม่จดจำความผิดของเรานั่นหมายความว่ายังไง? ขออธิบาย
16 พระยะโฮวาสัญญากับคนที่อยู่ใต้สัญญาใหม่ว่า “เราจะยกโทษให้พวกเขาและจะไม่จดจำความผิดของพวกเขาอีกเลย” (เยเรมีย์ 31:34) นี่หมายความว่าเมื่อพระยะโฮวาให้อภัยแล้วพระองค์จะจำความผิดที่เราเคยทำไม่ได้เลยไหม? ไม่ใช่แน่ ๆ คัมภีร์ไบเบิลพูดถึงความผิดของหลายคนที่พระยะโฮวาให้อภัยรวมทั้งดาวิดด้วย (2 ซามูเอล 11:1-17; 12:13) เห็นชัดว่าพระยะโฮวาจำได้ว่าพวกเขาทำความผิดอะไรบ้าง ในคัมภีร์ไบเบิลเราได้อ่านว่าพวกเขาทำผิดอะไร ได้เห็นว่าพวกเขากลับใจยังไง และพระเจ้าให้อภัยพวกเขายังไง พระยะโฮวาให้เขียนเรื่องทั้งหมดนี้ไว้เพื่อประโยชน์ของเรา (โรม 15:4) ถ้าอย่างนั้น ที่คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าพระยะโฮวาไม่ “จดจำ” ความผิดของคนที่พระองค์ให้อภัยหมายความว่ายังไง?
17 พจนานุกรมอธิบายคัมภีร์ไบเบิลเล่มหนึ่งบอกว่าในภาษาฮีบรูคำว่า “จดจำ” มีความหมายมากกว่าแค่ไม่ลืมสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ยังหมายถึงการทำบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องนั้นด้วย ดังนั้น ในความหมายนี้คำว่า “จดจำ” ความผิดก็รวมถึงการลงโทษคนที่ทำผิดด้วย (โฮเชยา 9:9) แต่เมื่อพระยะโฮวาบอกว่า ‘เราจะไม่จดจำความผิดของพวกเขาอีกเลย’ พระองค์ก็ทำให้มั่นใจว่าเมื่อพระองค์ให้อภัยคนทำผิดที่กลับใจแล้ว พระองค์ก็จะไม่เอาเรื่องนั้นมาลงโทษเขาอีก (เอเสเคียล 18:21, 22) เห็นชัดว่าเมื่อพระยะโฮวาลืมความผิดของเราแล้ว พระองค์จะไม่นึกถึงความผิดของเราและจะไม่เอาเรื่องนั้นมาลงโทษซ้ำแล้วซ้ำอีก เราได้กำลังใจมากที่ได้รู้ว่าถ้าพระยะโฮวาให้อภัยเราแล้ว พระองค์ก็จะลืมเรื่องนั้นแน่นอน
พระยะโฮวาปกป้องเราจากผลเสียของบาปที่เราทำไหม?
18. การให้อภัยหมายความว่าคนทำผิดที่กลับใจจะไม่ต้องรับผลจากการทำผิดของเขาไหม?
18 การที่พระยะโฮวาพร้อมจะให้อภัยหมายความว่าคนทำผิดที่กลับใจจะไม่ต้องรับผลจากการทำผิดของเขาไหม? ไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าเราทำผิดเราก็จะได้รับผลเสียแน่ ๆ เปาโลบอกว่า “ใครหว่านอะไรไปก็ต้องเก็บเกี่ยวผลจากสิ่งนั้น” (กาลาเทีย 6:7) หลังจากที่พระยะโฮวาให้อภัยเราแล้ว เราอาจต้องเจอปัญหาหลายอย่างที่เกิดจากสิ่งที่เราทำ แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าพระองค์ทำให้เราเจอกับปัญหา เมื่อผู้รับใช้ของพระยะโฮวาเจอความยากลำบากในชีวิต เขาไม่ควรคิดว่า ‘นี่เป็นเพราะพระยะโฮวาลงโทษฉันเพราะความผิดที่เคยทำในอดีตแน่ ๆ’ (ยากอบ 1:13) เราต้องไม่ลืมว่าพระยะโฮวาจะไม่ปกป้องเราจากผลเสียทุกอย่างที่เกิดจากการทำผิดของเรา เราอาจต้องเจอกับผลเสียที่น่าเศร้า เช่น การหย่าร้าง ตั้งท้องโดยไม่ได้ตั้งใจ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การไม่ได้รับความไว้ใจหรือความนับถือ ขอจำไว้ว่าถึงพระยะโฮวาให้อภัยดาวิดตอนที่เขาทำผิดกับบัทเชบาและฆ่าอุรีอาห์ แต่พระยะโฮวาก็ไม่ได้ปกป้องดาวิดจากผลเสียหายร้ายแรงที่ตามมา—2 ซามูเอล 12:9-12
19-21. (ก) กฎหมายที่เขียนไว้ในเลวีนิติ 6:1-7 เป็นประโยชน์ยังไงกับทั้งผู้เสียหายและคนที่ทำผิด? (ข) ถ้ามีคนได้รับผลกระทบจากการทำผิดของเรา พระยะโฮวาจะพอใจเมื่อเราพยายามทำอะไร?
19 ความผิดที่เราทำอาจส่งผลเสียกับคนอื่นด้วย ตัวอย่างเช่น ในเลวีนิติบท 6 กฎหมายของโมเสสพูดถึงคนหนึ่งที่ขโมยหรือฉ้อโกงทรัพย์สินของคนอื่น แต่เขายืนยันและถึงกับสาบานว่าไม่ได้ทำผิด เพราะไม่มีพยานรู้เห็นการทำผิดของเขา เขาเลยไม่ถูกลงโทษ แต่ทีหลังเขารู้สึกไม่สบายใจ เขาเลยสารภาพว่าทำผิดจริง เพื่อจะได้รับการอภัยจากพระเจ้า เขาต้องทำ 3 อย่างคือ คืนสิ่งที่เขาขโมยมา จ่ายค่าปรับให้ผู้เสียหาย 20 เปอร์เซ็นต์จากของที่ขโมยไป และเอาแกะตัวผู้ตัวหนึ่งถวายเป็นเครื่องบูชาไถ่ความผิด ในกฎหมายนั้นบอกว่า “ปุโรหิตจะไถ่บาปให้เขาต่อหน้าพระยะโฮวา แล้วเขาจะได้รับการอภัยบาป”—เลวีนิติ 6:1-7
20 กฎหมายนี้แสดงให้เห็นความเมตตาของพระเจ้าและเป็นประโยชน์กับผู้เสียหายและคนที่ทำผิดด้วย ผู้เสียหายจะได้รับทรัพย์สินของเขากลับคืนมา ส่วนคนที่ทำผิดจะรู้สึกสบายใจถ้าเขายอมรับความผิดและทำสิ่งที่ถูกต้อง เพราะถ้าเขาไม่ทำอย่างนั้น พระเจ้าก็จะไม่ยกโทษให้เขา
21 แม้เราไม่ได้อยู่ใต้กฎหมายของโมเสส แต่กฎหมายนี้ช่วยเราให้เข้าใจความคิดของพระยะโฮวามากขึ้นและรู้ว่าพระองค์พร้อมจะให้อภัยคนแบบไหน (โคโลสี 2:13, 14) ถ้ามีคนได้รับผลกระทบจากการทำผิดของเรา พระยะโฮวาจะพอใจเมื่อเราพยายามทำทุกอย่างเพื่อแก้ไขความผิดนั้น (มัทธิว 5:23, 24) นี่อาจรวมถึงการยอมรับว่าเราทำผิดและขอคนนั้นยกโทษให้เรา จากนั้นเราสามารถขอให้พระยะโฮวาให้อภัยเราโดยทางค่าไถ่ของพระเยซู ถ้าเราทำอย่างนั้นเราก็มั่นใจได้ว่าพระยะโฮวาจะให้อภัยเราแน่นอน—ฮีบรู 10:21, 22
22. เมื่อพระยะโฮวาให้อภัยเราแล้ว พระองค์ก็จะทำอะไรด้วย?
22 เหมือนกับพ่อที่รักลูก เมื่อพระยะโฮวาให้อภัยเรา พระองค์ก็จะสั่งสอนเราด้วย (สุภาษิต 3:11, 12) คริสเตียนที่ทำผิดแล้วกลับใจอาจไม่ได้ทำหน้าที่ต่าง ๆ อีกต่อไป เช่น เป็นผู้ดูแล ผู้ช่วยงานรับใช้ หรือผู้รับใช้เต็มเวลา เขาอาจเสียใจที่ต้องสูญเสียสิทธิพิเศษในการรับใช้พระยะโฮวา แต่การตีสอนนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าพระยะโฮวาไม่ให้อภัยเขา ขอจำไว้ว่าพระยะโฮวาสั่งสอนเราก็เพราะพระองค์รักเรา เราจะได้รับประโยชน์แน่นอนถ้าเรายอมรับการสั่งสอนจากพระยะโฮวา—ฮีบรู 12:5-11
23. ทำไมเราไม่ควรคิดเอาเองว่าพระยะโฮวาจะไม่มีวันให้อภัยเรา และทำไมเราควรเลียนแบบพระองค์และให้อภัยคนอื่น?
23 เราได้กำลังใจจริง ๆ ที่รู้ว่าพระเจ้า “พร้อมจะให้อภัย” ถึงแม้เราอาจทำผิดพลาด เราไม่ควรคิดเอาเองว่าพระยะโฮวาจะไม่มีวันให้อภัยเรา ถ้าเรากลับใจจริง ๆ พยายามทำสิ่งที่ถูกต้อง และอธิษฐานขอพระยะโฮวาให้อภัยโดยทางค่าไถ่ของพระเยซู เราก็มั่นใจได้เต็มที่ว่าพระยะโฮวาจะให้อภัยเรา (1 ยอห์น 1:9) ให้เราเลียนแบบพระยะโฮวาในการให้อภัยคนอื่นด้วย อย่าลืมว่าพระยะโฮวาไม่เคยทำผิดพลาด พระองค์รักและพร้อมจะให้อภัยเราเสมอ เรื่องนี้ควรกระตุ้นเราให้พยายามทำดีที่สุดที่จะให้อภัยคนอื่น
a นักวิชาการคนหนึ่งบอกว่าสีแดงสด “เป็นสีที่ไม่ตกและติดแน่น เป็นสีที่ซักไม่ออกและถึงจะตากแดดตากฝน สีก็ไม่ซีด”