บทสิบเก้า
จงกล่าวพระคำของพระเจ้าด้วยความกล้าหาญต่อ ๆ ไป
1. (ก) เหล่าสาวกของพระเยซูประกาศข่าวดีเรื่องอะไร แต่ชาวยิวบางคนมีปฏิกิริยาอย่างไร? (ข) เราอาจถามคำถามอะไรบ้าง?
เกือบ 2,000 ปีมาแล้ว พระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระเจ้าได้รับการเจิมเป็นกษัตริย์ในอนาคตเหนือแผ่นดินโลกทั้งสิ้น. พระเยซูถูกประหารเนื่องจากการยุยงของเหล่าศัตรูทางศาสนา แต่พระยะโฮวาทรงปลุกพระองค์ให้เป็นขึ้นจากตาย. โดยทางพระเยซู บัดนี้ชีวิตนิรันดร์จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้. อย่างไรก็ดี เมื่อเหล่าสาวกของพระเยซูประกาศข่าวดีนี้อย่างเปิดเผย การข่มเหงก็เกิดขึ้น. พวกเขาบางคนถูกจำคุก กระทั่งถูกเฆี่ยนและถูกสั่งให้เลิกพูดเรื่องพระเยซู. (กิจการ 4:1-3, 17; 5:17, 18, 40) พวกเขาจะทำอย่างไร? คุณจะทำประการใดในเรื่องนี้? คุณจะให้คำพยานอย่างกล้าหาญต่อไปไหม?
2. (ก) ข่าวอันน่าพิศวงอะไรที่ต้องได้รับการประกาศในสมัยเรา? (ข) ใครมีหน้าที่รับผิดชอบในการประกาศข่าวดี?
2 ในปี 1914 พระเยซูคริสต์ กษัตริย์แห่งราชอาณาจักรของพระเจ้า ได้ขึ้นครองราชย์ในสวรรค์เพื่อปกครอง ‘ในท่ามกลางศัตรูของพระองค์.’ (บทเพลงสรรเสริญ 110:2) ต่อมา ซาตานและพวกผีปิศาจบริวารของมันก็ถูกเหวี่ยงลงมายังแผ่นดินโลก. (วิวรณ์ 12:1-5, 7-12) สมัยสุดท้ายแห่งระบบชั่วในปัจจุบันได้เริ่มขึ้นแล้ว. เมื่อช่วงเวลานี้สิ้นสุดลง พระเจ้าจะทรงบดขยี้ระบบของซาตานทั้งสิ้น. (ดานิเอล 2:44; มัดธาย 24:21) บรรดาผู้รอดชีวิตมีความหวังที่จะมีชีวิตนิรันดร์บนแผ่นดินโลกซึ่งจะกลายเป็นอุทยาน. ถ้าคุณรับเอาข่าวดีนี้แล้ว คุณย่อมต้องการจะแบ่งปันข่าวดีแก่คนอื่น ๆ. (มัดธาย 24:14) แต่คุณจะคาดหมายการตอบรับอย่างไร?
3. (ก) ผู้คนตอบรับข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรอย่างไร? (ข) ปัญหาอะไรที่เราต้องเผชิญ?
3 เมื่อคุณประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร บางคนอาจตอบรับ แต่คนส่วนมากจะไม่แยแส. (มัดธาย 24:37-39) บางคนอาจเยาะเย้ยหรือต่อต้านคุณ. พระเยซูทรงเตือนว่าการต่อต้านอาจมาจากญาติ ๆ ของคุณเอง. (ลูกา 21:16-19) นอกจากนี้ การต่อต้านอาจมีขึ้น ณ ที่ทำงานหรือที่โรงเรียนของคุณ. ในบางส่วนของแผ่นดินโลก พยานพระยะโฮวาถึงกับถูกรัฐบาลสั่งห้าม. เมื่อเผชิญกับสภาพการณ์เช่นนั้น คุณจะกล่าวพระคำของพระเจ้าด้วยความกล้าหาญและ “ตั้งมั่นคงในความเชื่อ” ต่อไปไหม?—1 โกรินโธ 16:13.
ไม่หมายพึ่งกำลังของตัวเอง
4. (ก) เพื่อพิสูจน์ตัวว่าเป็นผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระเจ้า อะไรเป็นข้อเรียกร้องขั้นพื้นฐาน? (ข) เหตุใดการประชุมของคริสเตียนจึงสำคัญมาก?
4 พื้นฐานของการเป็นผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวาคือการไว้วางใจในการจัดเตรียมของพระองค์. หนึ่งในการจัดเตรียมเหล่านี้คือการประชุมต่าง ๆ ประจำประชาคม. พระคัมภีร์กระตุ้นเรามิให้ละเลยการประชุมเหล่านั้น. (เฮ็บราย 10:23-25) ผู้ซึ่งยังคงเป็นพยานที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวาก็ได้บากบั่นที่จะเข้าร่วมประชุมกับเพื่อนผู้นมัสการเป็นประจำ. ณ การประชุมเหล่านี้ เราได้รับความรู้เกี่ยวกับพระคัมภีร์เพิ่มขึ้น. นอกจากนั้น ความหยั่งรู้ค่าต่อความจริงที่เรารู้จักดีอยู่แล้วจะเพิ่มพูนขึ้น และการรู้วิธีใช้ความจริงนั้นก็จะเฉียบแหลมขึ้นด้วย. เราถูกชักนำให้เข้ามาใกล้ชิดกับพี่น้องคริสเตียนมากยิ่งขึ้นในการนมัสการที่เป็นเอกภาพ และได้รับการเสริมกำลังเพื่อจะทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. พระวิญญาณของพระยะโฮวาให้การชี้นำผ่านทางประชาคม และโดยทางพระวิญญาณนั้นพระเยซูทรงอยู่ท่ามกลางพวกเรา.—มัดธาย 18:20; วิวรณ์ 3:6.
5. เมื่อถูกสั่งห้าม พยานพระยะโฮวาทำอย่างไรกับการประชุม?
5 คุณเข้าร่วมการประชุมทุกรายการเป็นประจำ และนำสิ่งที่ได้ยินจากการพิจารณานั้นไปใช้เป็นส่วนตัวไหม? บางครั้ง เมื่อพยานพระยะโฮวาถูกสั่งห้าม นับว่าจำเป็นที่จะจัดการประชุมเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ในบ้านส่วนตัว. สถานที่และเวลาอาจแตกต่างกัน และอาจไม่สะดวกเสมอไป การประชุมบางรายการอาจจัดขึ้นในตอนดึก. แต่ทั้ง ๆ ที่มีความไม่สะดวกหรือมีอันตราย เหล่าพี่น้องชายหญิงผู้ซื่อสัตย์ได้พยายามอย่างจริงจังที่จะเข้าร่วมการประชุมทุกรายการ.
6. เราจะแสดงโดยวิธีใดว่าเราไว้วางใจพระยะโฮวา และสิ่งนั้นจะช่วยเราให้พูดด้วยความกล้าหาญต่อ ๆ ไปอย่างไร?
6 ความไว้วางใจพระยะโฮวาเกิดขึ้นจากการเข้าเฝ้าพระองค์ด้วยคำอธิษฐานจากหัวใจเป็นประจำ โดยตระหนักว่า เราจำต้องได้รับความช่วยเหลือจากพระเจ้า. คุณทำอย่างนั้นไหม? พระเยซูทรงอธิษฐานครั้งแล้วครั้งเล่าระหว่างที่ทำงานรับใช้บนแผ่นดินโลก. (ลูกา 3:21; 6:12, 13; 22:39-44) และในคืนก่อนที่พระองค์จะถูกตรึง พระองค์ทรงกระตุ้นเหล่าสาวกของพระองค์ดังนี้: “จงเฝ้าระวังและอธิษฐานอยู่, เพื่อท่านจะไม่ได้เข้าในการทดลอง.” (มาระโก 14:38) ถ้าเราพบกับคนที่ไม่แยแสต่อข่าวสารเรื่องราชอาณาจักร เราอาจรู้สึกอยากหย่อนมือลงในการทำงานรับใช้. ถ้าผู้คนเยาะเย้ยเราหรือข่มเหงเรา เราอาจรู้สึกอยากหยุดพูดเพื่อเลี่ยงปัญหานั้น. แต่ถ้าเราอธิษฐานอย่างจริงจังขอพระวิญญาณของพระเจ้าช่วยเราให้ประกาศด้วยความกล้าหาญต่อ ๆ ไป เราจะได้รับการปกป้องมิให้ยอมแพ้ต่อการล่อใจนั้น.—ลูกา 11:13; เอเฟโซ 6:18-20.
บันทึกเกี่ยวกับการให้คำพยานอย่างกล้าหาญ
7. (ก) เหตุใดบันทึกในพระธรรมกิจการจึงน่าสนใจเป็นพิเศษสำหรับเรา? (ข) จงตอบคำถามท้ายวรรคนี้ โดยเน้นว่าข้อมูลนี้เป็นประโยชน์ต่อเราอย่างไร.
7 บันทึกที่มีในพระธรรมกิจการนับว่าน่าสนใจเป็นพิเศษสำหรับเราทุกคน. บันทึกนั้นบอกเราถึงวิธีที่เหล่าอัครสาวกและสาวกรุ่นแรก ๆ ซึ่งเป็นคนที่มีความรู้สึกเหมือนพวกเรา เอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ และพิสูจน์ตัวว่าเป็นพยานที่กล้าหาญและซื่อสัตย์ของพระยะโฮวา. ให้เราตรวจดูบันทึกส่วนนั้นพร้อมด้วยคำถามและข้อคัมภีร์ที่กำกับไว้. ขณะที่เราทำเช่นนั้น จงพิจารณาว่าตัวคุณเองอาจได้รับประโยชน์อย่างไรจากสิ่งที่คุณกำลังอ่าน.
พวกอัครสาวกเป็นคนมีการศึกษาสูงไหม? โดยแท้แล้วพวกเขาแต่ละคนเป็นคนกล้าหาญ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นอย่างนั้นไหม? (โยฮัน 18:17, 25-27; 20:19; กิจการ 4:13)
อะไรช่วยให้เปโตรพูดอย่างกล้าหาญต่อหน้าศาลยิวซึ่งได้ตัดสินลงโทษพระบุตรของพระเจ้า? (มัดธาย 10:19, 20; กิจการ 4:8)
เหล่าอัครสาวกทำอะไรระหว่างหลายสัปดาห์ก่อนที่พวกเขาจะถูกนำตัวมายังศาลซันเฮดริน? (กิจการ 1:14; 2:1, 42)
เมื่อผู้มีอำนาจปกครองสั่งพวกอัครสาวกให้เลิกประกาศในพระนามของพระเยซู เปโตรและโยฮันตอบอย่างไร? (กิจการ 4:19, 20)
หลังจากถูกปล่อยตัวแล้ว พวกอัครสาวกได้แสวงหาความช่วยเหลือจากใครอีก? พวกเขาอธิษฐานขอให้การข่มเหงยุติลงไหมหรือเขาขออะไร? (กิจการ 4:24-31)
พระยะโฮวาทรงจัดเตรียมความช่วยเหลือโดยวิธีใดเมื่อเหล่าผู้ต่อต้านพยายามทำให้งานประกาศยุติลง? (กิจการ 5:17-20)
พวกอัครสาวกแสดงให้เห็นอย่างไรว่าพวกเขาเข้าใจเหตุผลที่เขาได้รับการช่วยให้รอด? (กิจการ 5:21, 41, 42)
แม้แต่เมื่อสาวกหลายคนกระจัดกระจายกันไปเนื่องจากการข่มเหง พวกเขายังทำอะไรต่อไป? (กิจการ 8:3, 4; 11:19-21)
8. งานรับใช้ของเหล่าสาวกรุ่นแรกก่อผลอันน่าตื่นเต้นเช่นไร และเราเข้ามามีส่วนร่วมอย่างไร?
8 งานประกาศข่าวดีมิได้ไร้ผล. สาวกประมาณ 3,000 คนได้รับบัพติสมา ณ วันเพนเตคอสเตปี ส.ศ. 33. “ผู้เชื่อถือในองค์พระผู้เป็นเจ้าทวีขึ้นเรื่อย ๆ มีจำนวนมากทั้งชายและหญิง.” (กิจการ 2:41; กิจการ 4:4; 5:14, ล.ม.) ต่อมา แม้กระทั่งผู้ข่มเหงไพร่พลของพระเจ้า คือเซาโลแห่งเมืองทาร์ซัส (ตาระโซ) ก็ยังได้เข้ามาเป็นคริสเตียนและเริ่มให้คำพยานถึงความจริงอย่างกล้าหาญ. ท่านได้เป็นที่รู้จักกันในฐานะอัครสาวกเปาโล. (ฆะลาเตีย 1:22-24) งานซึ่งได้เริ่มขึ้นในศตวรรษแรกมิได้ยุติลง. งานนั้นเพิ่มทวีขึ้นในสมัยสุดท้ายและได้แผ่ไปถึงทุกส่วนของแผ่นดินโลก. เรามีสิทธิพิเศษในการมีส่วนร่วมในงานนี้ และขณะที่เราทำเช่นนั้น เราก็สามารถเรียนจากพยานผู้ภักดีที่รับใช้อยู่ก่อนเราซึ่งได้วางตัวอย่างไว้.
9. (ก) เปาโลใช้โอกาสใดบ้างเพื่อให้คำพยาน? (ข) คุณเผยแพร่ข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรแก่ผู้อื่นโดยวิธีใดบ้าง?
9 เมื่อเปาโลเรียนรู้ความจริงเรื่องพระเยซูคริสต์ ท่านได้ทำอะไร? “โดยไม่รอช้าท่านเริ่มประกาศเรื่องพระเยซู . . . ว่าท่านผู้นี้เป็นบุตรของพระเจ้า.” (กิจการ 9:20, ล.ม.) ท่านหยั่งรู้ค่าพระกรุณาคุณอันไม่พึงได้รับของพระเจ้าที่มีต่อท่าน และตระหนักว่าทุกคนจำเป็นต้องได้รับข่าวดีเช่นที่ท่านได้รับอยู่. เปาโลเป็นชาวยิว และตามธรรมเนียมสมัยนั้น ท่านจึงไปให้คำพยานที่ธรรมศาลา. นอกจากนั้น ท่านได้ประกาศตามบ้านเรือนและหาเหตุผลกับผู้คนในตลาด. และท่านเต็มใจจะย้ายไปยังเขตใหม่เพื่อประกาศข่าวดี.—กิจการ 17:17; 20:20; โรม 15:23, 24.
10. (ก) เปาโลแสดงอย่างไรว่าถึงแม้ท่านกล้าหาญ แต่ท่านก็ใช้ความสังเกตเข้าใจในวิธีที่ท่านให้คำพยานด้วย? (ข) เราอาจจะสะท้อนคุณลักษณะของเปาโลอย่างไรเมื่อให้คำพยานแก่ญาติพี่น้อง, เพื่อนร่วมงาน หรือเพื่อนนักเรียน?
10 เปาโลกล้าหาญแต่ก็มีความสังเกตเข้าใจ ดังที่เราควรมีด้วย. ท่านวิงวอนชาวยิวโดยอาศัยคำสัญญาที่พระเจ้าทรงทำไว้กับบรรพบุรุษของพวกเขา. ท่านพูดกับชาวกรีกโดยอาศัยสิ่งต่าง ๆ ซึ่งพวกเขาคุ้นเคย. บางครั้ง ท่านใช้ประสบการณ์ของตัวเองที่ได้เรียนรู้ความจริงเป็นแนวในการให้คำพยาน. ท่านกล่าวว่า “ข้าพเจ้าทำทุกสิ่งเพื่อเห็นแก่ข่าวดี เพื่อข้าพเจ้าจะเป็นผู้มีส่วนร่วมในข่าวดีกับคนอื่น ๆ.”—1 โกรินโธ 9:20-23, ล.ม.; กิจการ 22:3-21.
11. (ก) เปาโลทำอย่างไรเพื่อจะไม่ต้องเผชิญหน้ากับผู้ต่อต้านครั้งแล้วครั้งเล่า? (ข) เราอาจเลียนแบบอย่างของเปาโลด้วยความสุขุมรอบคอบเมื่อไร และอย่างไร? (ค) กำลังที่ทำให้เราพูดด้วยความกล้าหาญต่อ ๆ ไปนั้นมาจากไหน?
11 เมื่อการต่อต้านทำให้ดูเหมือนว่าถ้าเปาโลไปประกาศในพื้นที่อื่นสักระยะหนึ่งจะดีกว่า ท่านก็ได้ทำเช่นนั้นแทนที่จะเผชิญหน้ากับพวกผู้ต่อต้านครั้งแล้วครั้งเล่า. (กิจการ 14:5-7; 18:5-7; โรม 12:18) แต่ท่านไม่เคยรู้สึกละอายเพราะข่าวดี. (โรม 1:16) แม้ว่าเปาโลรู้สึกไม่ชอบการกระทำของพวกผู้ต่อต้านที่ดูหมิ่นเหยียดหยาม และถึงกับใช้ความรุนแรง แต่ท่าน “ได้รวบรวมความกล้าโดยพึ่งในพระเจ้าของเรา” เพื่อประกาศต่อ ๆ ไป. ท่านกล่าวว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงยืนอยู่ใกล้ข้าพเจ้าและทรงเติมกำลังแก่ข้าพเจ้า เพื่อการประกาศจะสำเร็จครบถ้วนโดยทางข้าพเจ้า.” (1 เธซะโลนิเก 2:2, ล.ม.; 2 ติโมเธียว 4:17, ล.ม.) พระเยซู ผู้เป็นประมุขของประชาคมคริสเตียน ยังคงประทานกำลังที่จำเป็นแก่เราเพื่อจะทำการงานที่พระองค์ทรงบอกไว้ล่วงหน้าสำหรับสมัยของเรา.—มาระโก 13:10.
12. อะไรเป็นหลักฐานที่แสดงถึงความกล้าหาญของคริสเตียน และอะไรเป็นพื้นฐานสำหรับความกล้าหาญเช่นนั้น?
12 เรามีเหตุผลทุกประการที่จะพูดถึงพระคำของพระเจ้าต่อ ๆ ไปด้วยความกล้าหาญ เช่นเดียวกับที่พระเยซูและผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์คนอื่น ๆ ของพระเจ้าได้ทำในศตวรรษแรก. ทั้งนี้มิได้หมายถึงการกระทำอย่างที่ขาดการคำนึงถึงผู้อื่น หรือพยายามจะยัดเยียดข่าวสารแก่ผู้ที่ไม่ต้องการรับฟัง. แต่เราจะไม่เลิกราเพราะผู้คนไม่แยแส หรือหยุดพูดเพราะการต่อต้าน. เช่นเดียวกับพระเยซู เราชี้ถึงราชอาณาจักรของพระเจ้าว่าเป็นรัฐบาลที่มีสิทธิอันชอบธรรมเหนือแผ่นดินโลกทั้งสิ้น. เราพูดด้วยความมั่นใจเนื่องจากเราเป็นตัวแทนของพระยะโฮวาองค์บรมมหิศรแห่งเอกภพ และเนื่องจากข่าวสารที่เราประกาศก็มิได้มาจากเราแต่มาจากพระองค์. และความรักที่เรามีต่อพระยะโฮวาควรเป็นพลังอันเข้มแข็งที่สุดที่กระตุ้นเราให้สรรเสริญพระองค์.—ฟิลิปปอย 1:27, 28; 1 เธซะโลนิเก 2:13.
การอภิปรายทบทวน
• เหตุใดจึงนับว่าสำคัญที่จะบอกข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรแก่ทุกคนเท่าที่เป็นไปได้ แต่เราอาจคาดหมายปฏิกิริยาเช่นไร?
• เราจะแสดงอย่างไรว่าเราไม่ได้พึ่งอาศัยกำลังของเราเองเพื่อจะรับใช้พระยะโฮวา?
• บทเรียนอันมีค่าอะไรที่เราเรียนจากพระธรรมกิจการ?
[ภาพหน้า 173]
เช่นเดียวกับในอดีต เหล่าผู้รับใช้ของพระยะโฮวาในปัจจุบันกล่าวพระคำของพระเจ้าด้วยความกล้าหาญ