“ยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด จงมีความรักอันแรงกล้า”
“อวสานของสิ่งสารพัดใกล้เข้ามาแล้ว. . . . ยิ่งกว่าอะไรทั้งหมดจงมีความรักอันแรงกล้าต่อกันและกัน.”—1 เปโตร 4:7, 8, ล.ม.
พระเยซูทรงทราบว่าไม่กี่ชั่วโมงสุดท้ายที่ทรงอยู่กับเหล่าอัครสาวกของพระองค์เป็นช่วงเวลาอันมีค่า. พระองค์ทรงทราบถึงสิ่งที่รอพวกเขาอยู่ข้างหน้า. พวกเขามีงานมากมายที่ต้องทำให้สำเร็จ แต่พวกเขาจะถูกเกลียดชังและถูกข่มเหง ดังที่พระองค์ได้ประสบ. (โยฮัน 15:18-20) ในคืนสุดท้ายที่อยู่ด้วยกัน พระองค์ทรงเตือนพวกเขามากกว่าหนึ่งครั้งให้ระลึกถึงความจำเป็นที่จะ “รักกันและกัน.”—โยฮัน 13:34, 35; 15:12, 13, 17.
2 อัครสาวกเปโตรซึ่งอยู่ด้วยในคืนนั้นเข้าใจจุดสำคัญของข้อเตือนใจนี้. หลายปีต่อมา เมื่อเขียนจดหมายฉบับหนึ่งไม่นานก่อนความพินาศของกรุงเยรูซาเลม เปโตรได้เน้นถึงความสำคัญของความรัก. ท่านแนะนำคริสเตียนว่า “อวสานของสิ่งสารพัดใกล้เข้ามาแล้ว. . . . ยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด จงมีความรักอันแรงกล้าต่อกันและกัน.” (1 เปโตร 4:7, 8, ล.ม.) ถ้อยคำของเปโตรมีความหมายอย่างมากสำหรับคนเหล่านั้นที่มีชีวิตอยู่ใน “สมัยสุดท้าย” แห่งระบบปัจจุบันนี้. (2 ติโมเธียว 3:1, ล.ม.) “ความรักอันแรงกล้า” คืออะไร? เหตุใดนับว่าสำคัญที่เราจะมีความรักเช่นนั้นต่อคนอื่น? และเราจะแสดงให้เห็นได้อย่างไรว่าเรามีความรักดังกล่าว?
“ความรักอันแรงกล้า” คืออะไร?
3 หลายคนคิดว่าความรักเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นมาเอง. แต่เปโตรมิได้หมายถึงความรักแบบทั่ว ๆ ไป; ท่านกล่าวถึงความรักในรูปแบบที่สูงส่งที่สุด. คำ “ความรัก” ที่ใช้ใน 1 เปโตร 4:8 เป็นคำแปลของคำภาษากรีกอะกาเป. คำนั้นหมายถึงความรักแบบไม่เห็นแก่ตัวซึ่งได้รับการชี้นำหรือควบคุมโดยหลักการ. ตามที่หนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งกล่าวไว้ การแสดงความรักชนิดนี้สามารถสั่งให้ทำได้ เนื่องจากความรักแบบนี้ไม่ใช่ความรู้สึกทางอารมณ์เป็นประการสำคัญ แต่เป็นความตั้งใจแน่วแน่ที่ชักนำคนเราให้ปฏิบัติในแนวทางหนึ่ง ๆ. เนื่องจากเรามีแนวโน้มในทางที่เห็นแก่ตัวซึ่งได้รับสืบทอดมา เราจำเป็นต้องได้รับข้อเตือนใจให้แสดงความรักต่อกันและกัน และทำเช่นนั้นในวิธีที่หลักการของพระเจ้าชี้นำ.—เยเนซิศ 8:21; โรม 5:12.
4 นี่มิได้หมายความว่า เราควรรักกันและกันเพียงเพราะสำนึกในหน้าที่. อะกาเป ใช่ว่าขาดความอบอุ่นหรือความรู้สึก. เปโตรกล่าวว่าเราต้อง “มีความรักอันแรงกล้า ต่อกันและกัน.”a ถึงอย่างไรก็ตาม ความรักดังกล่าวต้องใช้ความพยายาม. เกี่ยวกับคำภาษากรีกที่ได้รับการแปลว่า “แรงกล้า” ผู้คงแก่เรียนคนหนึ่งกล่าวว่า “คำนี้พรรณนาภาพของนักกีฬาที่ใช้กล้ามเนื้อสุดแรงเกิดในช่วงสุดท้ายของการแข่งขัน.”
5 ถ้าเช่นนั้น ความรักของเราต้องไม่จำกัดอยู่เฉพาะแต่การทำสิ่งที่ง่าย ๆ หรือกับแค่ไม่กี่คนที่เราเลือกไว้เท่านั้น. ความรักแบบคริสเตียนเรียกร้องให้ “ตีแผ่” หัวใจของเรา ให้ความรักแผ่ออกไปแม้ว่าอาจเป็นเรื่องยากที่จะทำเช่นนั้น. (2 โกรินโธ 6:11-13) เห็นได้ชัด ความรักชนิดนี้คือสิ่งที่เราจำเป็นต้องปลูกฝังและพยายามพัฒนา เช่นเดียวกับนักกีฬาที่ต้องฝึกและพยายามปรับปรุงทักษะของเขา. นับว่าสำคัญที่เราจะมีความรักเช่นนั้นต่อกันและกัน. เพราะเหตุใด? อย่างน้อยมีเหตุผลสามประการ.
เหตุใดเราควรรักกันและกัน?
6 ประการแรก “เพราะว่าความรักเป็นมาจากพระเจ้า.” (1 โยฮัน 4:7) พระยะโฮวา ผู้ทรงเป็นแหล่งแห่งคุณลักษณะที่น่าชื่นชอบนี้ ทรงรักเราก่อน. อัครสาวกโยฮันกล่าวว่า “ในข้อนี้แหละความรักของพระเจ้าจึงได้ปรากฏเกี่ยวกับเราทั้งหลาย, คือว่าพระเจ้าได้ทรงใช้พระบุตรองค์เดียวของพระองค์เข้ามาในโลก, เพื่อเราทั้งหลายจะได้ชีวิตโดยพระบุตรนั้น.” (1 โยฮัน 4:9) พระบุตรของพระเจ้าถูก “ใช้” โดยให้มาเกิดเป็นมนุษย์, ทำงานรับใช้, และสิ้นพระชนม์บนหลักทรมาน—ทั้งหมดนี้ “เพื่อเราทั้งหลายจะได้ชีวิต.” เราควรตอบสนองการสำแดงความรักของพระเจ้าในขั้นสูงสุดนี้โดยวิธีใด? โยฮันกล่าวว่า “ถ้าพระเจ้าได้ทรงรักเราทั้งหลายเช่นนั้น. ก็ควรเราจะรักซึ่งกันและกันด้วย.” (1 โยฮัน 4:11) โปรดสังเกตที่โยฮันเขียนว่า “ถ้าพระเจ้าได้ทรงรักเราทั้งหลาย”—ไม่ใช่แค่คุณ แต่เราทั้งหลาย. จุดสำคัญเห็นได้ชัด นั่นคือ ถ้าพระเจ้าทรงรักเพื่อนร่วมนมัสการของเรา เราก็ควรรักพวกเขาด้วยเช่นกัน.
7 ประการที่สอง นับว่าสำคัญเป็นพิเศษที่เราจะรักกันและกันมากขึ้นในขณะนี้เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่พี่น้องของเราที่ขัดสนเนื่องจาก “อวสานของสิ่งสารพัดใกล้เข้ามาแล้ว.” (1 เปโตร 4:7, ล.ม.) เรากำลังมีชีวิตอยู่ใน “วิกฤตกาลซึ่งยากที่จะรับมือได้.” (2 ติโมเธียว 3:1, ล.ม.) สภาพการณ์ของโลก, ภัยธรรมชาติ, และการต่อต้านทำให้เราได้รับความยากลำบาก. เมื่อเผชิญความยากลำบาก เราจำเป็นต้องใกล้ชิดกันมากขึ้น. ความรักอันแรงกล้าจะผูกพันเราเข้าด้วยกันและกระตุ้นเราให้เอาใจใส่หรือ “เอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน.”—1 โกรินโธ 12:25, 26.
8 ประการที่สาม เราต้องรักกันและกันเพราะเราไม่ต้องการให้ “มารมีโอกาส” ฉวยประโยชน์จากเรา. (เอเฟโซ 4:27) ซาตานคอยจ้องจะใช้ความไม่สมบูรณ์ของเพื่อนร่วมความเชื่อ—ความอ่อนแอ, ข้อบกพร่อง, และความผิดพลาดของเขา—มาทำให้เราสะดุด. คำพูดที่ไม่ยั้งคิดหรือการกระทำที่ไม่กรุณาเป็นเหตุให้เราถอนตัวจากประชาคมไหม? (สุภาษิต 12:18) จะไม่เป็นเช่นนั้นแน่ ๆ หากเรามีความรักอันแรงกล้าต่อกันและกัน! ความรักดังกล่าวช่วยเราให้รักษาสันติสุขและรับใช้พระเจ้าอย่างเป็นเอกภาพ.—ซะฟันยา 3:9.
วิธีพิสูจน์ให้เห็นว่าคุณรักคนอื่น
9 การแสดงความรักต้องเริ่มต้นที่บ้าน. พระเยซูตรัสว่าจะระบุตัวสาวกแท้ของพระองค์ได้โดยความรักที่พวกเขามีต่อกันและกัน. (โยฮัน 13:34, 35) ความรักต้องปรากฏชัดไม่เพียงในประชาคม แต่ในครอบครัวด้วย—ระหว่างคู่สมรสและระหว่างบิดามารดากับบุตร. การรู้สึก รักสมาชิกในครอบครัวยังไม่พอ; เราต้องแสดง ความรักนั้นในแบบที่เสริมสร้างกัน.
10 คู่สมรสจะแสดงความรักต่อกันได้อย่างไร? สามีซึ่งรักภรรยาอย่างแท้จริงย่อมทำให้เธอรู้ทั้งโดยคำพูดและการกระทำ—ต่อหน้าธารกำนัลหรือในที่ลับตาคน—ว่าเขารักเธอมาก. เขานับถือศักดิ์ศรีของเธอและคำนึงถึงความคิด, ทัศนะ, และความรู้สึกของเธอ. (1 เปโตร 3:7) เขาจัดให้สวัสดิภาพของเธอมาก่อนของตนเอง และเขาทำทุกสิ่งเท่าที่ทำได้เพื่อเอาใจใส่ดูแลความจำเป็นของเธอด้านวัตถุ, ด้านวิญญาณ, และด้านอารมณ์. (เอเฟโซ 5:25, 28) ภรรยาซึ่งรักสามีของเธออย่างแท้จริงจะ “ยำเกรง” หรือให้ความนับถือสุดซึ้งต่อสามีถึงแม้บางครั้งเขาไม่ได้ทำตามที่เธอคาดหมายก็ตาม. (เอเฟโซ 5:22, 33) เธอเกื้อหนุนสามีและยอมอยู่ใต้อำนาจเขา ไม่เรียกร้องเอาอย่างไม่มีเหตุผล แต่ร่วมมือกับเขาในการมุ่งความสนใจไปสู่เรื่องทางฝ่ายวิญญาณเสมอ.—เยเนซิศ 2:18; มัดธาย 6:33.
11 บิดามารดาทั้งหลาย คุณจะแสดงความรักต่อบุตรของคุณได้โดยวิธีใด? ความเต็มใจของคุณที่จะทำงานหนักเพื่อจัดหาด้านวัตถุให้พวกเขาเป็นหลักฐานแสดงถึงความรักของคุณ. (1 ติโมเธียว 5:8) แต่เด็ก ๆ จำเป็นต้องมีไม่เพียงแค่อาหาร, เครื่องนุ่งห่ม, และที่อยู่อาศัย. เพื่อเขาจะเติบโตขึ้นเป็นผู้ที่รักและรับใช้พระเจ้าองค์เที่ยงแท้ เขาจำเป็นต้องได้รับการอบรมทางฝ่ายวิญญาณ. (สุภาษิต 22:6) นั่นหมายถึงการจัดตารางเวลาเพื่อครอบครัวจะศึกษาคัมภีร์ไบเบิล, มีส่วนร่วมในงานเผยแพร่, และเข้าร่วมการประชุมคริสเตียน. (พระบัญญัติ 6:4-7) การทำกิจกรรมดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอเรียกร้องให้มีการเสียสละมิใช่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยที่วิกฤตินี้. ความห่วงใยและความพยายามของคุณที่จะเอาใจใส่ดูแลความจำเป็นทางฝ่ายวิญญาณของบุตรเป็นการแสดงความรัก เพราะโดยวิธีนี้คุณแสดงว่าคุณคำนึงถึงสวัสดิภาพถาวรของเขาอย่างแท้จริง.—โยฮัน 17:3.
12 นับว่าสำคัญที่บิดามารดาจะแสดงความรักโดยการเอาใจใส่ความจำเป็นด้านอารมณ์ของบุตรด้วย. เด็ก ๆ เป็นผู้ที่เปราะบาง; หัวใจที่อ่อนไหวของเขาต้องการความมั่นใจในความรักของคุณ. บอกให้เขารู้ว่าคุณรักเขา และแสดงความรักแก่เขามาก ๆ เพราะการแสดงออกเช่นนั้นทำให้เด็กมั่นใจว่าเขาเป็นคนน่ารักและมีค่า. ให้คำชมเชยเขาอย่างอบอุ่นจริงใจ เพราะนั่นทำให้เขารู้ว่าคุณเห็นและหยั่งรู้ค่าความพยายามของเขา. ตีสอนเขาด้วยความรัก เพราะการแก้ไขเช่นนั้นสื่อให้เขารู้ว่าคุณเป็นห่วงว่าเขาจะเป็นคนชนิดใด. (เอเฟโซ 6:4) การแสดงความรักที่ดีงามเช่นนั้นทั้งหมดช่วยทำให้ครอบครัวมีความสุขและผูกพันกันอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะอยู่พร้อมมากกว่าในการต้านทานความกดดันของสมัยสุดท้ายนี้.
13 ความรักกระตุ้นเราให้มองข้ามข้อบกพร่องของคนอื่น. อย่าลืมว่า ตอนที่เปโตรเตือนผู้อ่านให้ “มีความรักอันแรงกล้าต่อกันและกัน” เปโตรให้เหตุผลถึงความสำคัญของเรื่องนี้ว่า “เพราะความรักปกปิดความผิดไว้มากมาย.” (1 เปโตร 4:8, ล.ม.) การ “ปกปิด” ความผิดมิได้หมายถึงการปิดบังความผิดที่ร้ายแรงไว้. เหมาะสมที่จะรายงานเรื่องดังกล่าวแก่ผู้ที่รับผิดชอบในประชาคมเพื่อจะจัดการเรื่องนี้. (เลวีติโก 5:1; สุภาษิต 29:24) คงจะเป็นการขาดความรักอย่างยิ่ง—และไม่เป็นไปตามหลักพระคัมภีร์—ที่จะปล่อยให้ผู้ที่กระทำผิดอย่างโจ่งแจ้งทำให้ผู้บริสุทธิ์เสียหายหรือตกเป็นเหยื่อของเขาต่อไป.—1 โกรินโธ 5:9-13.
14 ในกรณีส่วนใหญ่ ความผิดพลาดและข้อบกพร่องของเพื่อนร่วมความเชื่อเป็นเรื่องเล็กน้อย. เราทุกคนล้วนพลาดพลั้งในคำพูดหรือการกระทำเป็นครั้งคราว ซึ่งทำให้คนอื่นผิดหวังหรือกระทั่งเจ็บใจด้วยซ้ำ. (ยาโกโบ 3:2) เราควรรีบประจานข้อบกพร่องของคนอื่นไหม? การกระทำดังกล่าวมีแต่จะทำให้เกิดความขัดแย้งกันในประชาคม. (เอเฟโซ 4:1-3) หากเราถูกควบคุมโดยความรัก เราจะไม่ “พูดซ้ำซาก” ในข้อบกพร่องของเพื่อนร่วมนมัสการ. (สุภาษิต 10:12; 17:9) ปูนฉาบและสีปกปิดพื้นผิวที่ไม่ราบเรียบของกำแพงฉันใด ความรักก็ปกปิดความไม่สมบูรณ์ของคนอื่นฉันนั้น.—สุภาษิต 17:9.
15 ความรักจะกระตุ้นเราให้ช่วยเหลือคนเหล่านั้นที่ต้องการความช่วยเหลือจริง ๆ. ขณะที่สภาพการณ์ในสมัยสุดท้ายแย่ลงเรื่อย ๆ อาจมีบางช่วงที่เพื่อนร่วมความเชื่อของเราจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือทางด้านวัตถุหรือด้านร่างกาย. (1 โยฮัน 3:17, 18) ตัวอย่างเช่น มีสมาชิกคนใดในประชาคมของเราประสบความยุ่งยากอย่างหนักด้านการเงินหรือตกงานไหม? ถ้าเช่นนั้น บางทีเราอาจเสนอความช่วยเหลือทางด้านวัตถุบางอย่าง เท่าที่สภาพการณ์ของเราอำนวยให้. (สุภาษิต 3:27, 28; ยาโกโบ 2:14-17) บ้านของแม่ม่ายสูงอายุจำเป็นต้องได้รับการซ่อมแซมไหม? บางทีเราอาจริเริ่มอย่างเหมาะสมที่จะช่วยทำงานบางอย่างได้.—ยาโกโบ 1:27.
16 การที่เราแสดงความรักต่อคนอื่นใช่ว่าจะจำกัดอยู่แค่คนเหล่านั้นซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับเรา. บางครั้งเราอาจได้ยินรายงานข่าวเกี่ยวกับผู้รับใช้ของพระเจ้าในดินแดนอื่นซึ่งประสบกับพายุร้ายแรง, แผ่นดินไหว, หรือความไม่สงบในบ้านเมือง. พวกเขาอาจต้องการได้รับอาหาร, เครื่องนุ่งห่ม, และสิ่งของเครื่องใช้อื่น ๆ อย่างยิ่ง. การที่พวกเขาอยู่ในเชื้อชาติหรือเผ่าพันธุ์อื่นไม่ใช่เรื่องสำคัญ. เรา “มีความรักต่อสังคมพี่น้องทั้งสิ้น.” (1 เปโตร 2:17, ล.ม.) ดังนั้น เช่นเดียวกับประชาคมในศตวรรษแรก เรากระตือรือร้นที่จะสนับสนุนงานบรรเทาทุกข์ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือ. (กิจการ 11:27-30; โรม 15:26) เมื่อเราแสดงความรักด้วยวิธีทั้งหมดนี้ เราจะผูกพันกันอย่างแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในสมัยสุดท้าย.—โกโลซาย 3:14.
17 ความรักกระตุ้นเราให้แบ่งปันข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าแก่คนอื่น. ขอพิจารณาตัวอย่างของพระเยซู. เหตุใดพระองค์ทรงประกาศและสั่งสอน? พระองค์ “ทรงพระกรุณา [“รู้สึกสงสาร,” ล.ม.]” ฝูงชน เนื่องจากสภาพฝ่ายวิญญาณที่ย่ำแย่ของพวกเขา. (มาระโก 6:34) พวกเขาถูกละเลยและถูกชักนำให้หลงโดยผู้เลี้ยงจอมปลอมด้านศาสนา ผู้ซึ่งน่าจะได้สอนความจริงฝ่ายวิญญาณให้พวกเขาและทำให้พวกเขามีความหวัง. ดังนั้น เนื่องจากได้รับการกระตุ้นจากความรักที่ลึกซึ้งด้วยใจจริงและความเมตตาสงสาร พระเยซูทรงปลอบโยนประชาชนด้วย “ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า.”—ลูกา 4:16-21, 43, ล.ม.
18 ทุกวันนี้ก็เช่นกัน ผู้คนมากมายถูกละเลยและถูกชักนำให้หลงในด้านวิญญาณและปราศจากความหวัง. เช่นเดียวกับพระเยซู หากเราพยายามตื่นตัวและไวต่อความจำเป็นทางฝ่ายวิญญาณของคนเหล่านั้นซึ่งยังไม่รู้จักพระเจ้าเที่ยงแท้ เราก็จะได้รับการกระตุ้นจากความรักและความเมตตาสงสารให้แบ่งปันข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าแก่พวกเขา. (มัดธาย 6:9, 10; 24:14) เมื่อคำนึงถึงเวลาที่เหลืออยู่เพียงน้อยนิด ไม่เคยมีช่วงใดที่เร่งด่วนกว่านี้อีกแล้วที่จะประกาศข่าวสารซึ่งช่วยชีวิตนี้.—1 ติโมเธียว 4:16.
“อวสานของสิ่งสารพัดใกล้เข้ามาแล้ว”
19 จำไว้ว่า เปโตรขึ้นต้นคำแนะนำของท่านที่ให้รักกันและกันด้วยถ้อยคำที่ว่า “อวสานของสิ่งสารพัดใกล้เข้ามาแล้ว.” (1 เปโตร 4:7, ล.ม.) ในไม่ช้า โลกใหม่อันชอบธรรมของพระเจ้าจะเข้ามาแทนที่โลกชั่วนี้. (2 เปโตร 3:13) ดังนั้น ทุกวันนี้ไม่ใช่เวลาที่จะพึงพอใจกับสภาพของตนเอง. พระเยซูทรงเตือนเราว่า “จงระวังตัวให้ดี, เกลือว่าใจของท่านจะล้นไปด้วยอาการดื่มเหล้าองุ่นมากและด้วยการเมา, และด้วยคิดกังวลถึงชีวิตนี้, แล้วเวลานั้นจะมาถึงท่านดุจบ่วงแร้วเมื่อท่านไม่ทันคิด.”—ลูกา 21:34, 35.
20 ถ้าอย่างนั้น ขอให้เราพยายามอย่างเต็มที่ที่จะ “เฝ้าระวังอยู่เสมอ” โดยตื่นตัวเพื่อจะรู้ว่าเราอยู่ตรงไหนในกระแสเวลา. (มัดธาย 24:42) ขอให้เราระวังการล่อใจใด ๆ ของซาตานซึ่งอาจทำให้เราเขวไป. ขอเราอย่ายอมให้โลกที่เย็นชาและขาดความรักนี้ยับยั้งเราไว้มิให้แสดงความรักต่อคนอื่น. สำคัญยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด ขอให้เราเข้าใกล้พระยะโฮวา พระเจ้าองค์เที่ยงแท้มากขึ้น ซึ่งอีกไม่ช้าราชอาณาจักรมาซีฮาจะทำให้พระประสงค์อันรุ่งโรจน์ของพระองค์ต่อแผ่นดินโลกนี้สำเร็จ.—วิวรณ์ 21:4, 5.
[เชิงอรรถ]
a ที่ 1 เปโตร 4:8 คัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลอื่น ๆ กล่าวว่า เราต้องรักกันและกัน “อย่างจริงใจ,” “อย่างลึกซึ้ง,” หรือ “อย่างจริงจัง.”
คำถามสำหรับการศึกษา
• พระเยซูทรงให้คำแนะนำอะไรแก่เหล่าสาวกก่อนจะจากพวกเขาไป และอะไรแสดงว่าเปโตรเข้าใจจุดสำคัญนั้น? (วรรค 1-2)
• “ความรักอันแรงกล้า” คืออะไร? (วรรค 3-5)
• เหตุใดเราควรรักกันและกัน? (วรรค 6-8)
• คุณจะแสดงให้เห็นได้อย่างไรว่าคุณรักคนอื่น? (วรรค 9-18)
• เหตุใดตอนนี้ไม่ใช่เวลาที่จะพึงพอใจกับสภาพของตนเอง และเราควรตั้งใจที่จะทำอะไร? (วรรค 19-20)
[ภาพหน้า 29]
ครอบครัวที่ผูกพันกันอย่างใกล้ชิดจะอยู่พร้อมมากกว่าในการต้านทานความกดดันของสมัยสุดท้ายนี้
[ภาพหน้า 30]
ความรักกระตุ้นเราให้ช่วยเหลือคนเหล่านั้นที่ต้องการความช่วยเหลือจริง ๆ
[ภาพหน้า 31]
การแบ่งปันข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าแก่คนอื่นเป็นการกระทำที่แสดงถึงความรัก