บท 11
“ไม่เคยมีผู้ใดพูดเหมือนคนนั้น”
1, 2. (ก) ทำไมเจ้าหน้าที่ซึ่งถูกส่งไปจับพระเยซูจึงกลับมามือเปล่า? (ข) เพราะเหตุใดพระเยซูจึงเป็นครูที่โดดเด่น?
พวกฟาริซายพลุ่งพล่านด้วยความโกรธ. พระเยซูกำลังสอนเรื่องพระบิดาของพระองค์ในพระวิหาร. คนเหล่านั้นที่ฟังอยู่เกิดความขัดแย้งกัน; หลายคนแสดงความเชื่อในพระเยซู ขณะที่บางคนต้องการให้พระองค์ถูกจับกุม. เมื่อไม่สามารถระงับความโกรธได้ พวกผู้นำศาสนาได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปจับพระเยซู. แต่พวกเจ้าหน้าที่กลับมามือเปล่า. พวกปุโรหิตใหญ่และพวกฟาริซายต้องการคำอธิบายจึงถามว่า “ทำไมจึงไม่ได้พาเขามา?” เจ้าหน้าที่ตอบว่า “ไม่เคยมีผู้ใดพูดเหมือนคนนั้น.” พวกเขารู้สึกประทับใจในการสอนของพระเยซูจนไม่ต้องการจับพระองค์มา.a—โยฮัน 7:45, 46.
2 เจ้าหน้าที่เหล่านั้นไม่ใช่พวกเดียวที่รู้สึกประทับใจในการสอนของพระเยซู. ผู้คนชุมนุมกันเป็นจำนวนมากมายเพียงเพื่อจะฟังพระองค์สอน. (มาระโก 3:7, 9; 4:1; ลูกา 5:1-3) ทำไมพระเยซูจึงเป็นผู้สอนที่โดดเด่นเช่นนั้น? ดังที่เราได้เห็นในบท 8 พระองค์ทรงรักคำสอนต่าง ๆ ในพระคัมภีร์ที่พระองค์สอน และทรงรักผู้คนที่พระองค์สอน. นอกจากนี้ พระองค์ทรงเชี่ยวชาญจริง ๆ ในเรื่องวิธีสอน. ขอให้เราพิจารณาวิธีที่บังเกิดผลสามประการที่พระองค์ใช้และดูว่าเราจะเลียนแบบวิธีดังกล่าวได้อย่างไร.
ใช้วิธีสอนที่เรียบง่าย
3, 4. (ก) ทำไมพระเยซูใช้ภาษาง่าย ๆ ในการสอนของพระองค์? (ข) คำเทศน์บนภูเขาเป็นตัวอย่างเช่นไรที่แสดงว่าพระเยซูสอนอย่างเรียบง่าย?
3 คุณนึกภาพคำศัพท์จำนวนมากมายที่พระเยซูอาจใช้ได้ไหม? กระนั้น เมื่อพระองค์สอน พระองค์ไม่เคยตรัสสิ่งที่ยากเกินไปจนผู้ฟังไม่เข้าใจ พวกเขาหลายคน “ขาดการศึกษาและเป็นคนสามัญ.” (กิจการ 4:13, ฉบับแปลใหม่) พระองค์ทรงคำนึงถึงขีดจำกัดของพวกเขา ไม่เคยให้ข้อมูลแก่พวกเขามากเกินไป. (โยฮัน 16:12) คำตรัสของพระองค์เรียบง่าย แต่ก็ถ่ายทอดความจริงที่ลึกซึ้ง.
4 ยกตัวอย่าง คำเทศน์บนภูเขาตามที่บันทึกในมัดธาย 5:3–7:27. พระเยซูทรงให้คำแนะนำในคำเทศน์นี้อย่างที่กระตุ้นความคิด เข้าถึงแก่นของปัญหา. ไม่มีแนวคิดหรือวลีที่ซับซ้อน. ที่จริง แทบจะไม่มีสักคำเดียวที่แม้แต่เด็กเล็ก ๆ จะเข้าใจได้ยาก! ฉะนั้น ไม่น่าแปลกใจเมื่อพระเยซูจบคำเทศน์ของพระองค์ ฝูงชนซึ่งดูเหมือนจะรวมไปถึงชาวนา, คนเลี้ยงแกะ, และชาวประมงต่าง “ก็อัศจรรย์ใจในวิธีสอนของพระองค์.”—มัดธาย 7:28, ล.ม.
5. จงยกตัวอย่างถ้อยคำที่พระเยซูตรัสที่เรียบง่ายแต่มีความหมายลึกซึ้ง.
5 ในการสอน บ่อยครั้งพระเยซูใช้วลีสั้น ๆ ที่ง่ายและคำพูดที่มีความหมายจริง ๆ. ในยุคที่การฟังเป็นวิธีหลักในการรับความรู้ วิธีสอนของพระองค์จึงทำให้ความรู้ประทับอยู่ในจิตใจและหัวใจของผู้ฟังอย่างไม่มีวันลืม. ขอพิจารณาตัวอย่างบางวลี เช่น “อย่ากล่าวโทษเขา, เพื่อเขาจะไม่กล่าวโทษท่าน.” “คนปกติไม่ต้องการหมอ, แต่คนเจ็บต้องการหมอ.” “จิตต์ใจพร้อมแล้วก็จริง, แต่เนื้อหนังยังอ่อนกำลัง.” “ของของกายะซาจงถวายแก่กายะซา, และของของพระเจ้า จงถวายแก่พระเจ้า.” “การให้เป็นเหตุให้มีความสุขยิ่งกว่าการรับ.”b (มัดธาย 7:1; 9:12; 26:41; มาระโก 12:17; กิจการ 20:35) เกือบ 2,000 ปีหลังจากที่มีการกล่าวถ้อยคำเหล่านี้เป็นครั้งแรก ถ้อยคำดังกล่าวก็ยังคงเป็นที่น่าจดจำอยู่.
6, 7. (ก) เพื่อจะสอนอย่างเรียบง่าย ทำไมจึงสำคัญที่เราจะใช้ภาษาซึ่งไม่ซับซ้อน? (ข) เราจะหลีกเลี่ยงการให้ข้อมูลมากเกินไปแก่นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลได้อย่างไร?
6 เราจะสอนอย่างเรียบง่ายได้โดยวิธีใด? ข้อเรียกร้องสำคัญอย่างหนึ่งคือการที่เราใช้ภาษาที่ชัดเจนซึ่งคนส่วนใหญ่เข้าใจง่าย. คำสอนพื้นฐานในพระคำของพระเจ้าไม่ซับซ้อน. พระยะโฮวาได้ทรงเปิดเผยพระประสงค์ของพระองค์แก่บรรดาผู้ที่จริงใจและมีหัวใจถ่อม. (1 โกรินโธ 1:26-28) คำพูดที่ง่ายซึ่งเลือกอย่างรอบคอบสามารถถ่ายทอดความจริงแห่งพระคำของพระเจ้าได้อย่างบังเกิดผล.
7 เพื่อจะสอนอย่างเรียบง่าย เราต้องระวังที่จะหลีกเลี่ยงการให้ข้อมูลมากเกินไปแก่นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิล. ดังนั้น เมื่อนำการศึกษาพระคัมภีร์ เราไม่จำเป็นต้องอธิบายรายละเอียดทุกอย่าง อีกทั้งเราไม่จำเป็นต้องเร่งรีบให้จบเนื้อหาราวกับว่าการครอบคลุมเนื้อหาให้ได้มาก ๆ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด. แทนที่จะทำเช่นนั้น นับว่าฉลาดที่จะให้ความจำเป็นและความสามารถของนักศึกษาเป็นตัวกำหนดอัตราความเร็วในการศึกษา. เป้าหมายของเราคือช่วยนักศึกษาให้มาเป็นสาวกของพระคริสต์และนมัสการพระยะโฮวา. เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว เราต้องใช้เวลาเต็มที่ตามความจำเป็นเพื่อให้นักศึกษามีความเข้าใจกระจ่างชัดเกี่ยวกับสิ่งที่เขากำลังเรียนรู้. เฉพาะแต่เมื่อทำอย่างนี้ ความจริงในคัมภีร์ไบเบิลจึงจะเข้าถึงหัวใจนักศึกษาและกระตุ้นเขาให้นำสิ่งที่ได้เรียนรู้นั้นไปใช้.—โรม 12:2.
การใช้คำถามที่เหมาะ
8, 9. (ก) ทำไมพระเยซูใช้คำถาม? (ข) พระเยซูใช้คำถามอย่างไรเพื่อช่วยเปโตรลงความเห็นอย่างถูกต้องในเรื่องการเสียภาษีบำรุงพระวิหาร?
8 พระเยซูทรงโดดเด่นในเรื่องการใช้คำถาม แม้บางครั้งการบอกจุดสำคัญให้ผู้ฟังทราบไปเลยจะเสียเวลาน้อยกว่าก็ตาม. ถ้าเช่นนั้น ทำไมพระองค์จึงใช้คำถาม? บางครั้ง พระองค์ใช้คำถามที่เจาะลึกเพื่อเปิดโปงเจตนาที่ผิดของผู้ต่อต้านพระองค์ โดยวิธีนี้ทำให้พวกเขาเงียบเสียงลง. (มัดธาย 21:23-27; 22:41-46) อย่างไรก็ดี ในหลายกรณี พระองค์ทรงใช้คำถามเพื่อทำให้เหล่าสาวกเปิดเผยสิ่งที่อยู่ในใจของเขารวมทั้งเพื่อกระตุ้นและฝึกความคิดของพวกเขา. ดังนั้น พระองค์จึงใช้คำถามต่าง ๆ เช่น “ท่านทั้งหลายคิดเห็นอย่างไร?” และ “เจ้าเชื่อข้อนี้หรือ?” (มัดธาย 18:12; โยฮัน 11:26) โดยการใช้คำถามต่าง ๆ พระเยซูทรงเข้าถึงหัวใจของเหล่าสาวกและทำให้พวกเขาซาบซึ้งตรึงใจ. ขอพิจารณาตัวอย่างหนึ่ง.
9 ในโอกาสหนึ่ง คนเก็บภาษีประจำพระวิหารถามเปโตรว่า พระเยซูเสียภาษีบำรุงพระวิหารหรือไม่.c เปโตรตอบทันทีว่า “เสีย.” ต่อมา พระเยซูทรงหาเหตุผลกับเขาว่า “ซีโมนเอ๋ย, ท่านเห็นอย่างไร? กษัตริย์เคยเก็บส่วยและภาษีจากผู้ใด, จากโอรสหรือจากผู้อื่น?” เปโตรทูลตอบว่า “เคยเก็บจากผู้อื่น.” พระเยซูตรัสว่า “ถ้าเช่นนั้นโอรสก็ไม่ต้องเสีย.” (มัดธาย 17:24-27) จุดสำคัญของคำถามดังกล่าวกระจ่างชัดสำหรับเปโตรอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะเป็นที่รู้กันว่าบรรดาผู้ที่เป็นเชื้อพระวงศ์ของกษัตริย์ไม่ต้องเสียภาษี. ฉะนั้น ในฐานะพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระมหากษัตริย์ทางภาคสวรรค์ซึ่งได้รับการนมัสการ ณ พระวิหาร พระเยซูจึงไม่มีพันธะต้องเสียภาษี. สังเกตว่า แทนที่จะเพียงแต่บอกคำตอบที่ถูกต้องแก่เปโตร พระเยซูทรงใช้คำถามอย่างผ่อนหนักผ่อนเบาเพื่อช่วยเปโตรลงความเห็นอย่างถูกต้องและบางทีให้เขาเห็นความจำเป็นที่จะคิดอย่างรอบคอบมากขึ้นก่อนที่จะตอบคำถามในวันข้างหน้า.
10. เราจะใช้คำถามอย่างบังเกิดผลได้โดยวิธีใดเมื่อประกาศตามบ้าน?
10 เราจะใช้คำถามอย่างบังเกิดผลในงานเผยแพร่ของเราได้โดยวิธีใด? เมื่อประกาศตามบ้าน เราอาจใช้คำถามเพื่อเร้าความสนใจ บางทีเปิดทางให้เราบอกข่าวดี. ตัวอย่างเช่น หากพบคนสูงอายุเราอาจยกคำถามขึ้นมาถามด้วยความนับถือว่า “โลกได้เปลี่ยนไปอย่างไรครับตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมาของคุณลุง?” หลังจากเปิดโอกาสให้ตอบแล้ว เราอาจถามว่า “คุณลุงคิดว่าอะไรจำเป็นเพื่อทำให้โลกนี้มีสภาพดีขึ้นเพื่อเราจะอยู่ได้?” (มัดธาย 6:9, 10) หากพบมารดาพร้อมกับลูกเล็ก ๆ เราก็อาจถามว่า “คุณเคยสงสัยไหมว่าโลกนี้จะเป็นอย่างไรเมื่อลูกของคุณโตขึ้น?” (บทเพลงสรรเสริญ 37:10, 11) โดยเป็นคนช่างสังเกตขณะที่เราเข้าไปถึงบ้านหลังหนึ่ง เราอาจสามารถเลือกคำถามที่ปรับให้เข้ากับความสนใจของเจ้าของบ้านได้.
11. เราจะใช้คำถามอย่างบังเกิดผลได้โดยวิธีใดเมื่อนำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล?
11 เราจะใช้คำถามอย่างบังเกิดผลได้โดยวิธีใดเมื่อนำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล? คำถามที่ไตร่ตรองมาอย่างรอบคอบอาจช่วยเราให้ดึงความรู้สึกออกมาจากหัวใจของนักศึกษา. (สุภาษิต 20:5) ตัวอย่างเช่น สมมุติว่าเรากำลังศึกษาบทที่มีชื่อว่า “การดำเนินชีวิตในแนวทางที่ทำให้พระเจ้าพอพระทัย” ในหนังสือคัมภีร์ไบเบิลสอนอะไรจริง ๆ?d บทนี้พิจารณาทัศนะของพระเจ้าในเรื่องต่าง ๆ เช่น การทำผิดศีลธรรมทางเพศ, การเมาเหล้า, และการโกหก. คำตอบของนักศึกษาอาจบ่งบอกว่าเขาเข้าใจสิ่ง ที่คัมภีร์ไบเบิลสอน แต่เขาเห็นด้วย กับสิ่งที่เขาเรียนรู้ไหม? เราอาจถามว่า “สำหรับคุณแล้ว ทัศนะของพระเจ้าในเรื่องดังกล่าวฟังดูมีเหตุผลไหม?” เราอาจถามด้วยว่า “คุณจะนำความรู้นี้ไปใช้ในชีวิตของคุณได้อย่างไร?” แต่จงคำนึงถึงความจำเป็นที่จะผ่อนหนักผ่อนเบา ให้ความนับถืออย่างสมควรต่อนักศึกษา. เราไม่ต้องการถามคำถามที่ทำให้เขาอึดอัดใจโดยไม่จำเป็น.—สุภาษิต 12:18.
การใช้วิธีหาเหตุผลที่มีพลัง
12-14. (ก) พระเยซูใช้ความสามารถของพระองค์เพื่อหาเหตุผลในทางใดบ้าง? (ข) พระเยซูใช้เหตุผลที่มีพลังเช่นไรเมื่อพวกฟาริซายบอกว่าฤทธิ์อำนาจของพระองค์มาจากซาตาน?
12 ด้วยความคิดจิตใจอันดีเยี่ยมอย่างไม่มีที่ติ พระเยซูทรงชำนิชำนาญในการหาเหตุผลกับคนอื่น. บางครั้ง พระองค์ใช้การหาเหตุผลที่มีพลังเพื่อหักล้างข้อกล่าวหาเท็จของผู้ต่อต้านพระองค์. ในหลายกรณี พระองค์ใช้วิธีการหาเหตุผลที่โน้มน้าวใจเพื่อสอนบทเรียนอันทรงคุณค่าแก่เหล่าสาวก. ขอให้เราพิจารณาบางตัวอย่าง.
13 หลังจากพระเยซูได้รักษาชายคนหนึ่งที่มีผีสิงทั้งตาบอดและเป็นใบ้ให้หายแล้ว พวกฟาริซายกล่าวหาว่า “ผู้นี้ขับผีออกได้ก็เพราะใช้ฤทธิ์เบละซะบูล [ซาตาน] นายผีทั้งหลายนั้น.” พวกเขายอมรับว่าต้องมีฤทธิ์อำนาจเหนือมนุษย์เพื่อจะขับผีได้. อย่างไรก็ดี พวกเขาบอกว่าฤทธิ์อำนาจของพระเยซูมาจากซาตาน. นี่ไม่เพียงเป็นข้อกล่าวหาที่ผิดเท่านั้น แต่ยังไม่มีเหตุผลด้วย. โดยเปิดโปงความคิดที่ผิดพลาดของพวกเขา พระเยซูตรัสตอบว่า “แผ่นดินใด ๆ ซึ่งแตกแยกกันแล้วก็คงพินาศ เมืองใด ๆ เรือนใด ๆ ซึ่งแตกแยกกันแล้วจะยั่งยืนอยู่ไม่ได้ และถ้าซาตานขับซาตานออก, มันก็แก่งแย่งกันระหว่างมันเอง แล้วแผ่นดินของมันจะยั่งยืนอย่างไรได้?” (มัดธาย 12:22-26) ที่แท้แล้ว คำตรัสของพระเยซูก็เหมือนกับบอกว่า “ถ้าเราเป็นตัวแทนของซาตาน ลบล้างกิจการที่ซาตานได้ทำไว้ ถ้าอย่างนั้น ซาตานก็คงจะทำสิ่งที่ขัดกับจุดมุ่งหมายของตัวเองและมันจะล้มลงในไม่ช้า.” พวกเขาจะหักล้างการหาเหตุผลที่ทำให้มั่นใจเช่นนั้นได้อย่างไร?
14 พระเยซูยังหาเหตุผลกับพวกเขาไม่จบ. โดยทราบว่าสาวกบางคนของพวกฟาริซายเองได้ขับผีออก พระองค์ทรงถามคำถามที่ง่ายแต่มีพลังว่า “ถ้าเราเคยขับผีออกโดยเบละซะบูล, พวกพ้อง [หรือสาวก] ของท่านทั้งหลายเคยขับมันออกโดยฤทธิ์ของใครเล่า?” (มัดธาย 12:27) ความหมายของการอ้างเหตุผลของพระเยซูคือ ‘ถ้าเราขับผีออกโดยอำนาจของซาตานแล้ว ศิษย์ของท่านเองก็ต้องขับผีออกด้วยอำนาจของซาตานเช่นกัน.’ พวกฟาริซายจะพูดอะไรได้อีก? พวกเขาไม่มีวันจะยอมรับว่าพวกศิษย์ของตนกระทำกิจอยู่ใต้อำนาจของซาตาน. โดยวิธีนี้พระเยซูใช้การอ้างเหตุผลที่ผิดของพวกเขาเพื่อทำให้พวกเขาต้องฝืนใจลงความเห็นที่ทำให้ตัวเองอึดอัดใจทีเดียว. แค่การอ่านถึงวิธีที่พระเยซูหาเหตุผลกับพวกเขาก็เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมิใช่หรือ? แต่ขอให้คิดถึงฝูงชนที่ได้ยินพระเยซูโดยตรง การประทับของพระองค์ต่อหน้าพวกเขาและน้ำเสียงของพระองค์คงจะเพิ่มพลังให้แก่คำตรัสของพระองค์อย่างไม่ต้องสงสัย.
15-17. จงเล่าตัวอย่างหนึ่งเกี่ยวกับวิธีที่พระเยซูทรงใช้แนวการหาเหตุผลที่ว่า “มากยิ่งกว่านั้นสักเท่าใด” เพื่อสอนแง่มุมต่าง ๆ ที่ทำให้หัวใจอบอุ่นเกี่ยวกับบุคลิกภาพแห่งพระบิดาของพระองค์.
15 พระเยซูยังใช้การหาเหตุผลที่ถูกต้องและโน้มน้าวใจเพื่อสอนแง่มุมต่าง ๆ ที่ดีและที่ทำให้หัวใจอบอุ่นเกี่ยวกับบุคลิกภาพแห่งพระบิดาของพระองค์. พระองค์ทรงทำเช่นนั้นบ่อยครั้งโดยการใช้แนวการหาเหตุผลที่ว่า “มากยิ่งกว่านั้นสักเท่าใด”—ซึ่งช่วยผู้ที่ฟังพระองค์ให้ก้าวหน้าขึ้นไปอีกจากความจริงที่คุ้นเคยแล้วไปสู่ความเชื่อมั่นยิ่งขึ้น. โดยการเทียบให้เห็นความแตกต่าง การหาเหตุผลวิธีนี้สามารถทำให้เกิดความประทับใจอย่างลึกซึ้ง. ขอเราพิจารณาสักสองตัวอย่าง.
16 เมื่อตอบเหล่าสาวกที่ทูลขอพระองค์ให้สอนพวกเขาถึงวิธีอธิษฐาน พระเยซูทรงพรรณนาถึงความเต็มใจของบิดาซึ่งเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์ที่จะ “ให้ของดี” แก่บุตรของตน. ต่อจากนั้น พระองค์ทรงสรุปว่า “เหตุฉะนั้นถ้าท่านเองผู้เป็นคนบาปยังรู้จักให้ของดีแก่บุตรของตน, ยิ่งกว่านั้นสักเท่าใด พระบิดาผู้อยู่ในสวรรค์จะประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์แก่คนทั้งปวงที่ขอจากพระองค์.” (ลูกา 11:1-13) พระเยซูแสดงให้เห็นจุดสำคัญโดยการเทียบให้เห็นความแตกต่าง. หากบิดาที่เป็นมนุษย์ผิดบาปเอาใจใส่ต่อความจำเป็นของบุตร ยิ่งกว่านั้นสักเท่าใดพระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์ ซึ่งเป็นองค์สมบูรณ์และชอบธรรมในทุกวิถีทาง จะประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์แก่ผู้นมัสการที่ภักดีซึ่งเข้าเฝ้าพระองค์ด้วยความถ่อมใจในการอธิษฐาน!
17 พระเยซูทรงใช้การหาเหตุผลคล้ายกันเมื่อให้คำแนะนำที่สุขุมในเรื่องการรับมือกับความกระวนกระวาย. พระองค์ตรัสว่า “จงพิจารณาดูฝูงกา. มันมิได้หว่านมิได้เกี่ยวและมิได้มียุ้งฉาง แต่พระเจ้ายังทรงเลี้ยงมันไว้. ท่านทั้งหลายประเสริฐกว่าฝูงนกมากเท่าใด. จงดูดอกไม้. มันงอกขึ้นอย่างไร. มันไม่ทำงาน มันไม่ปั่นด้ายเหนื่อย . . . แม้ว่าพระเจ้าทรงตกแต่งหญ้าที่ทุ่งนาอย่างนั้น, ซึ่งเป็นอยู่วันนี้และรุ่งขึ้นต้องทิ้งในเตาไฟ โอผู้ที่มีความเชื่อน้อย, พระองค์จะทรงตกแต่งพวกท่านมากยิ่งกว่านั้นสักเท่าใด?” (ลูกา 12:24, 27, 28) หากพระยะโฮวาทรงใฝ่พระทัยฝูงนกและดอกไม้ พระองค์จะใฝ่พระทัยมนุษย์ผู้ซึ่งรักและนมัสการพระองค์มากยิ่งกว่านั้นสักเท่าใด! โดยการหาเหตุผลเช่นนั้น พระเยซูทรงเข้าถึงหัวใจผู้ฟังอย่างไม่ต้องสงสัย.
18, 19. เราอาจหาเหตุผลอย่างไรกับคนที่บอกว่าเขาไม่เชื่อในพระเจ้าที่เขามองไม่เห็น?
18 ในงานเผยแพร่ของเรา เราต้องการใช้การหาเหตุผลที่ถูกต้องเพื่อหักล้างความเชื่อที่ผิด. เราต้องการที่จะใช้การหาเหตุผลที่โน้มน้าวใจด้วยเพื่อสอนความจริงในแง่บวกเกี่ยวกับพระยะโฮวา. (กิจการ 19:8; 28:23, 24) เราต้องเรียนที่จะใช้การหาเหตุผลแบบซับซ้อนไหม? ไม่เลย. บทเรียนที่เราเรียนจากพระเยซูคือ การอ้างเหตุผลที่สมเหตุสมผลซึ่งเสนอในวิธีง่าย ๆ นั้นบังเกิดผลมากที่สุด.
19 ตัวอย่างเช่น เราจะตอบอย่างไรถ้ามีคนบอกว่าเขาไม่เชื่อในพระเจ้าที่เขามองไม่เห็น? เราอาจหาเหตุผลโดยอาศัยกฎธรรมชาติว่าด้วยเหตุและผล. เมื่อเราสังเกตเห็นผลอย่างหนึ่ง เรารู้ว่าต้องมีเหตุ. เราอาจพูดว่า “ถ้าคุณอยู่ในที่ห่างไกลจากผู้คนและบังเอิญพบบ้านหลังหนึ่งที่สร้างไว้อย่างดีพร้อมทั้งมีอาหารเก็บไว้ (ผล) คุณคงยอมรับทันทีมิใช่หรือว่ามีคน (เหตุ) ที่สร้างบ้านนั้นขึ้นมา? ดังนั้น เมื่อเราเห็นการออกแบบที่ชัดแจ้งซึ่งถูกสร้างไว้ในธรรมชาติและอาหารที่มีอยู่อย่างอุดมใน ‘ตู้เก็บอาหาร’ ของแผ่นดินโลก (ผล) ก็สมเหตุสมผลมิใช่หรือที่จะลงความเห็นว่ามีผู้หนึ่ง (เหตุ) ได้ทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเช่นกัน? คัมภีร์ไบเบิลเองหาเหตุผลทำนองนี้: ‘ตึกทุกหลังคงมีผู้สร้าง แต่ว่าผู้ทรงสร้างสรรพสิ่งทั้งปวงก็คือพระเจ้า.’” (เฮ็บราย 3:4) แน่นอน ไม่ว่าการหาเหตุผลของเราน่าเชื่อถือเพียงไร ก็ใช่ว่าทุกคนจะเชื่อ.—2 เธซะโลนิเก 3:2.
20, 21. (ก) เราจะใช้แนวการหาเหตุผลที่ว่า “มากยิ่งกว่านั้นสักเท่าใด” เพื่อเน้นคุณลักษณะและแนวทางต่าง ๆ ของพระยะโฮวาได้โดยวิธีใด? (ข) เราจะพิจารณาอะไรในบทถัดไป?
20 ในการสอนของเรา ไม่ว่าในการเผยแพร่ตามบ้านหรือในประชาคม เรายังสามารถใช้แนวการหาเหตุผลที่ว่า “มากยิ่งกว่านั้นสักเท่าใด” เพื่อเน้นคุณลักษณะและแนวทางของพระยะโฮวา. ตัวอย่างเช่น เพื่อแสดงว่าหลักคำสอนเรื่องการทรมานตลอดกาลในไฟนรกเป็นการหลู่พระเกียรติพระยะโฮวาอย่างแท้จริง เราอาจพูดว่า “มีบิดาผู้เปี่ยมด้วยความรักคนใดหรือจะลงโทษลูกของตนโดยการจับมือลูกแหย่ไฟ? แนวคิดเรื่องไฟนรกคงต้องเป็นที่น่ารังเกียจมากยิ่งกว่านั้นสักเท่าใดสำหรับพระบิดาทางภาคสวรรค์ของเราองค์เปี่ยมด้วยความรัก! (ยิระมะยา 7:31) เพื่อทำให้เพื่อนร่วมความเชื่อที่ซึมเศร้ามั่นใจในความรักที่พระยะโฮวามีต่อเขา เราอาจพูดว่า “หากพระยะโฮวาทรงถือว่าแม้แต่นกกระจอกกระจ้อยร่อยตัวเดียวมีค่า พระองค์คงต้องใฝ่พระทัยและรักผู้นมัสการพระองค์แต่ละคนบนแผ่นดินโลก รวมทั้งตัวคุณด้วยมากยิ่งกว่านั้นสักเท่าใด!” (มัดธาย 10:29-31) การหาเหตุผลเช่นนั้นสามารถช่วยเราให้เข้าถึงหัวใจคนอื่นได้.
21 หลังจากพิจารณาวิธีสอนเพียงสามประการที่พระเยซูทรงใช้แล้ว เราจึงเข้าใจได้ง่าย ๆ ว่า เจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ได้จับพระองค์ไปนั้นมิได้พูดเกินความจริงเมื่อพวกเขาบอกว่า “ไม่เคยมีผู้ใดพูดเหมือนคนนั้น.” ในบทถัดไป เราจะพิจารณาวิธีสอนซึ่งบางทีทำให้พระเยซูเป็นที่รู้จักกันดีที่สุด นั่นคือการใช้อุทาหรณ์.
a พวกเจ้าหน้าที่ดูเหมือนจะเป็นตัวแทนของศาลซันเฮดรินและอยู่ใต้อำนาจของพวกปุโรหิตใหญ่.
b ถ้อยคำสุดท้ายนี้ที่พบในกิจการ 20:35 ยกขึ้นมากล่าวโดยอัครสาวกเปาโลเท่านั้น. ท่านอาจได้รับถ้อยคำดังกล่าวโดยทางวาจา (ถ้าไม่ใช่จากคนที่ได้ยินพระเยซูตรัส ก็จากพระเยซูผู้คืนพระชนม์แล้ว) หรือโดยการเปิดเผยจากพระเจ้า.
c มีข้อเรียกร้องให้ชาวยิวจ่ายภาษีบำรุงพระวิหารประจำปีเป็นจำนวนสองแดร็กมา ประมาณค่าจ้างแรงงานสองวัน. แหล่งอ้างอิงหนึ่งกล่าวว่า “ภาษีนี้ส่วนใหญ่ใช้เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับเครื่องบูชาเผาประจำวันและเครื่องบูชาทั้งหมดโดยทั่วไปที่ทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน.”
d จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.”