บทสิบห้า
“ข้าพเจ้าจะนิ่งเสียก็ไม่ได้”
1. เหตุใดยิระมะยาห์และผู้พยากรณ์คนอื่น ๆ ของพระยะโฮวาจึงนิ่งเงียบอยู่ไม่ได้?
‘จงฟังคำพระยะโฮวา.’ ผู้คนได้ยินถ้อยคำดังกล่าวตามถนนและลานเมืองของกรุงเยรูซาเลมตั้งแต่ปี 647 ก่อนสากลศักราช. และผู้พยากรณ์ของพระเจ้าไม่ได้เลิกรา. แม้แต่ 40 ปีต่อมาตอนที่กรุงนั้นถูกทำลาย ท่านก็ยังกล่าวซ้ำคำเตือนนี้. (ยิระ. 2:4; 42:15) พระเจ้าผู้ทรงฤทธิ์ใหญ่ยิ่งได้ส่งผู้พยากรณ์ไปเพื่อให้แน่ใจว่าชาวยิวจะได้ยินคำตักเตือนของพระองค์แล้วกลับใจ. ดังแสดงไว้ในตอนต้นของหนังสือคู่มือเล่มนี้ ยิระมะยาห์เป็นผู้ที่โดดเด่นในบรรดาโฆษกของพระเจ้า. เมื่อทรงมอบหมายงานให้ยิระมะยาห์ พระเจ้าตรัสว่า “เจ้าจง . . . ลุกขึ้น, แลจงพูดแก่เขาทั้งปวงตามบรรดาที่เราสั่งให้เจ้าพูด, อย่าตกใจเพราะหน้าเขา.” (ยิระ. 1:17) งานนี้ต้องใช้ทั้งเวลาและแรงกาย. ยิระมะยาห์ต้องทุกข์กายทุกข์ใจ แต่ถึงแม้จะประสบความลำบากเช่นนั้น ท่านก็ยังถูกกระตุ้นให้ทำงานมอบหมายจนสำเร็จ. ท่านกล่าวว่า “ใจของข้าพเจ้ามีเสียงร้องออกในตัวข้าพเจ้า, ข้าพเจ้าจะนิ่งเสียก็ไม่ได้.”—ยิระ. 4:19
2, 3. (ก) สาวกของพระเยซูเลียนแบบยิระมะยาห์อย่างไร? (ข) เหตุใดคุณควรติดตามตัวอย่างของยิระมะยาห์?
2 วิธีที่ยิระมะยาห์ทำงานพยากรณ์นั้น วางแบบอย่างไว้สำหรับผู้รับใช้ของพระยะโฮวาในเวลาต่อมา. (ยโก. 5:10) ไม่นานหลังจากวันเพนเทคอสต์ ส.ศ. 33 ผู้มีอำนาจชาวยิวได้จับกุมอัครสาวกเปโตรกับโยฮัน แล้วสั่งเขาทั้งสองให้เลิกประกาศ. คุณก็ได้อ่านคำตอบของพวกเขาแล้วที่ว่า “พวกข้าพเจ้าจะหยุดพูดเรื่องที่ได้เห็นและได้ยินนั้นไม่ได้.” (กิจ. 4:19, 20) หลังจากข่มขู่ว่าจะจัดการกับเปโตรและโยฮันให้รุนแรงกว่าเดิมในคราวต่อไป ผู้มีอำนาจก็ได้ปล่อยตัวพวกเขาไป. คุณก็ทราบสิ่งที่เกิดขึ้น. ชายที่ซื่อสัตย์เหล่านี้จะไม่หยุดประกาศและก็ไม่ได้หยุดจริง ๆ.
3 คุณเห็นไหมว่าคำพูดของเปโตรกับโยฮันที่บันทึกในกิจการ 4:20 นั้นสะท้อนถึงความมีใจแรงกล้าของยิระมะยาห์สักเพียงไร? ฐานะผู้รับใช้ของพระยะโฮวาพระเจ้าในสมัยสุดท้ายนี้ คุณตั้งใจแน่วแน่เช่นเดียวกันมิใช่หรือว่า ‘ฉันจะนิ่งเสียก็ไม่ได้’? ขอให้เราพิจารณาว่าจะรักษาความเข้มแข็งไว้เช่นเดียวกับยิระมะยาห์ได้โดยวิธีใดเพื่อจะประกาศข่าวดีต่อไปทั้ง ๆ ที่สภาพการณ์รอบตัวเราแย่ลงเรื่อย ๆ.
ประกาศต่อไปทั้ง ๆ ที่ผู้คนไม่แยแส
4. ทัศนคติเช่นไรมีอยู่ทั่วไปในเยรูซาเลมโบราณ?
4 คุณมั่นใจมิใช่หรือว่าคำสัญญาของพระเจ้าเกี่ยวกับอนาคตอันยอดเยี่ยมภายใต้การปกครองแห่งพระบุตรของพระองค์นั้นเป็นข่าวดีที่สุดเท่าที่ผู้คนจะได้ยิน? ถึงกระนั้น หลายคนในทุกวันนี้ได้แสดงความคิดเห็นเช่นเดียวกับชาวยิวบางคนที่บอกยิระมะยาห์ว่า “คำโอวาทที่ท่านได้บอกแก่พวกเราในนามแห่งพระยะโฮวานั้น, พวกเราจะไม่ฟังเอาแก่ท่าน.” (ยิระ. 29:19; 44:16) บ่อยครั้งยิระมะยาห์ได้ยินคำพูดที่แสดงความรู้สึกเช่นนั้น. ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาในทุกวันนี้ก็ได้ยินคำพูดแบบเดียวกัน เพราะผู้คนมากมายพูดว่า “ฉันไม่สนใจ.” ท่าทีไม่แยแสที่มีอยู่แพร่หลายอาจบั่นทอนความมีใจแรงกล้าของผู้ประกาศราชอาณาจักร. จะทำอะไรได้บ้างหากหลายคนในเขตงานของคุณไม่แยแส ซึ่งเป็นเหตุให้บางคนในประชาคม หรือแม้แต่ตัวคุณเองหมดความกระตือรือร้น?
5. (ก) ยิระมะยาห์มีปฏิกิริยาเช่นไรเมื่อผู้คนไม่แยแส? (ข) ทำไมคนเหล่านั้นที่ไม่แยแสต่อข่าวดีจึงอยู่ในอันตรายร้ายแรง?
5 ขอพิจารณาแนวคิดของยิระมะยาห์เมื่อเผชิญกับผู้คนส่วนใหญ่ในยูดาห์ที่ไม่แยแส. ช่วงต้น ๆ ที่ยิระมะยาห์ทำงาน พระยะโฮวาทรงให้ท่านเห็นภาพเกี่ยวกับการพิพากษาของพระองค์ที่กำลังจะมาถึง. (อ่านยิระมะยา 4:23-26 ) ตอนนั้นผู้พยากรณ์ผู้นี้เข้าใจได้ว่าชีวิตของคนจำนวนมากขึ้นอยู่กับการที่พวกเขาฟังข่าวสารที่ท่านประกาศแล้วก็ลงมือทำตามนั้น. ทุกวันนี้ ผู้คนอยู่ในสถานการณ์คล้ายกัน รวมทั้งคนเหล่านั้นในเขตของคุณด้วย. พระเยซูตรัสเกี่ยวกับ “วันนั้น” ที่พระเจ้าจะทรงพิพากษาโลกชั่วในทุกวันนี้ว่า “วันนั้นจะมาถึงทุกคนที่อยู่ทั่วพื้นแผ่นดินโลก. ฉะนั้น จงเฝ้าระวังและทูลวิงวอนอยู่เสมอเพื่อเจ้าทั้งหลายจะหนีพ้นสิ่งทั้งปวงนี้ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นและยืนอยู่ต่อหน้าบุตรมนุษย์ได้.” (ลูกา 21:34-36) จากคำตรัสของพระเยซู คุณลงความเห็นได้ว่าคนที่ปฏิเสธข่าวดีอยู่ในอันตรายร้ายแรง.
6. เหตุใดคุณควรประกาศต่อไป แม้แต่กับคนเหล่านั้นที่แทบจะไม่สนใจข่าวสารของคุณ?
6 อย่างไรก็ดี คนเหล่านั้นที่เปลี่ยนท่าทีจากการเป็นคนไม่แยแสมาเป็นผู้ซึ่งยอมฟังและตอบรับข่าวสารของพระยะโฮวาที่เราเสนอนั้น จะได้รับผลประโยชน์อันล้ำค่า. พระเจ้าทรงเปิดทางให้เรารอดพ้นจากพินาศกรรมแล้วเข้าสู่โลกใหม่ของพระองค์. ในบางแง่ นั่นคล้ายกันกับงานรับใช้ของยิระมะยาห์. พลเมืองยูดาห์สามารถรอดพ้นได้. (อ่านยิระมะยา 26:2, 3 ) เพื่อช่วยพวกเขา ยิระมะยาห์ใช้เวลาหลายสิบปีกระตุ้นผู้คนให้ ‘ฟังและหันกลับ’ ให้เอาใจใส่คำตรัสของพระเจ้าองค์เที่ยงแท้. เราไม่ทราบว่ามีสักกี่คนได้กลับใจและเปลี่ยนแปลงชีวิตเนื่องจากการประกาศของผู้พยากรณ์. แต่มีบางคนได้กลับใจ และก็มีหลายคนทำเช่นนั้นในสมัยของเรา. ขณะที่เราประกาศข่าวดีต่อไป บ่อยครั้งเราได้ยินว่าคนที่ตอนแรกไม่สนใจ แต่แล้วได้ตอบรับความจริง. (ดูกรอบ “คนที่ไม่แยแสอาจเปลี่ยนมาเป็นผู้สนใจ” หน้า 184) นั่นทำให้เรามีเหตุผลเพิ่มขึ้นอีกมิใช่หรือที่จะขันแข็งต่อไปในงานเผยแพร่ข่าวดีที่ช่วยชีวิต?
เหตุใดคุณตั้งใจที่จะประกาศข่าวดีทั้ง ๆ ที่ผู้คนไม่แยแส?
ผู้ต่อต้านไม่สามารถก่อความเสียหายถาวร
7. เหล่าศัตรูพยายามทำลายงานพยากรณ์ของยิระมะยาห์โดยวิธีใด?
7 สิ่งที่น่าสังเกตเกี่ยวกับงานรับใช้ของยิระมะยาห์คือ ผู้ต่อต้านพยายามหลายต่อหลายครั้งจะทำลายท่านและงานของท่าน. ผู้พยากรณ์เท็จโต้แย้งท่านต่อหน้าสาธารณชน. (ยิระ. 14:13-16) ขณะที่ยิระมะยาห์เดินไปตามถนนในเยรูซาเลม ผู้ที่ยืนดูก็ตะโกนด่าและเยาะเย้ยท่าน. (ยิระ. 15:10) ศัตรูบางคนได้คบคิดกันหาวิธีอื่นเพื่อจะทำให้ท่านหมดความน่าเชื่อถือ. (ยิระ. 18:18) คนอื่น ๆ ได้แพร่ข่าวลือหนาหูเพื่อทำให้คนที่มีหัวใจสุจริตเลิกฟังความจริงของพระเจ้าที่ยิระมะยาห์ได้ประกาศ. (ทุกข์. 3:61, 62) ยิระมะยาห์เลิกราไหม? ตรงกันข้าม ท่านประกาศต่อไป. ท่านทำเช่นนั้นได้อย่างไร?
8. ขณะที่ผู้ต่อต้านกดดันยิระมะยาห์มากขึ้น ท่านทำอย่างไร?
8 อาวุธสำคัญที่ช่วยยิระมะยาห์ให้รับมือกับการต่อต้านทั้งหมดคือความไว้วางใจในพระยะโฮวา. ในตอนเริ่มต้นงานรับใช้ของยิระมะยาห์ พระเจ้าได้ตรัสว่าจะค้ำจุนและปกป้องท่าน. (อ่านยิระมะยา 1:18, 19 ) ยิระมะยาห์แสดงความเชื่อในคำสัญญานั้น และพระยะโฮวาไม่ทำให้ท่านผิดหวัง. ขณะที่ผู้ต่อต้านกดดันท่านและลองใช้มาตรการที่รุนแรงมากขึ้น ท่านก็ยิ่งมีความองอาจกล้าหาญและความอดทนมากขึ้น. ขอสังเกตว่าคุณลักษณะเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อท่านอย่างไร.
9, 10. เหตุการณ์อะไรบ้างในชีวิตยิระมะยาห์ที่น่าจะสนับสนุนคุณให้กล้าหาญ?
9 ครั้งหนึ่ง พวกปุโรหิตและผู้พยากรณ์ที่กบฏขัดขืนได้พาตัวยิระมะยาห์มาอยู่ต่อหน้าพวกเจ้านายของยูดาห์เพื่อให้สั่งประหารชีวิตท่าน. การข่มขู่ของพวกเขาทำให้ยิระมะยาห์กลัวจนไม่สามารถทำอะไรได้ไหม? ไม่เลย. ท่านสามารถพิสูจน์ได้อย่างหนักแน่นว่าข้อกล่าวหาของคนออกหากเหล่านั้นเป็นเรื่องเท็จ ท่านจึงได้รับการไว้ชีวิต.—อ่านยิระมะยา 26:11-16; ลูกา 21:12-15
10 อย่าลืมว่าหลังจากฟังข่าวสารที่สำคัญซึ่งผู้พยากรณ์ได้ประกาศแล้ว เจ้าหน้าที่ประจำพระวิหารชื่อปัศฮูรได้เอาท่านใส่ขื่อไว้. ปัศฮูรคงต้องลงความเห็นว่าการทำเช่นนี้จะสอนบทเรียนให้ยิระมะยาห์และตอนนี้ท่านคงจะนิ่งเงียบ. วันรุ่งขึ้น ปัศฮูรจึงปล่อยท่านไป. แต่ยิระมะยาห์ซึ่งคงเจ็บปวดแน่ ๆ เนื่องจากถูกทรมาน ได้พูดกับปัศฮูรโดยตรงและประกาศการพิพากษาของพระยะโฮวาต่อเขา. แม้แต่การทรมานก็มิได้ทำให้ยิระมะยาห์เงียบเสียง! (ยิระ. 20:1-6) ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? ยิระมะยาห์เองบอกเราว่า “พระยะโฮวาได้อยู่ด้วยข้าพเจ้าเป็นเหมือนอย่างผู้มีฤทธิ์อันพิลึกพึงกลัว, เหตุฉะนี้จำพวกที่ข่มเหงข้าพเจ้าจะต้องสะดุดกะเดื่อง, แลเขาทั้งปวงจะไม่ชนะ.” (ยิระ. 20:11) แม้แต่เมื่อเผชิญกับผู้ต่อต้านที่ร้ายกาจ ยิระมะยาห์ก็มิได้หวาดหวั่น. ความไว้วางใจของท่านในพระยะโฮวามีรากฐานมั่นคง และคุณจะไว้วางใจแบบเดียวกันได้ด้วย.
11, 12. (ก) ยิระมะยาห์ใช้สามัญสำนึกอย่างไรเมื่อฮะนันยาต่อต้านท่าน? (ข) เราจะได้รับประโยชน์อะไรหาก “รู้จักอดกลั้นในสภาพการณ์ที่ไม่ดี”?
11 เป็นประโยชน์ที่พึงจำไว้ว่ายิระมะยาห์ไม่ใช่คนคลั่งศาสนา. ท่านใช้สามัญสำนึกเมื่อเผชิญกับผู้ต่อต้าน. ท่านรู้ว่าเมื่อไรที่ควรลาจากไป. ตัวอย่างเช่น ขอพิจารณาประสบการณ์ของท่านกับฮะนันยา. หลังจากผู้พยากรณ์เท็จคนนี้ได้โต้แย้งคำพยากรณ์ของพระยะโฮวาต่อหน้าธารกำนัล ยิระมะยาห์ได้แก้ไขเขาและอธิบายวิธีระบุตัวผู้พยากรณ์แท้. ยิระมะยาห์ได้ใส่แอกไม้เพื่อเป็นเครื่องแสดงถึงการมาอยู่ภายใต้แอกของบาบิโลน ฮะนันยาใช้ความรุนแรงและหักแอกนั้นเสีย. ใครจะรู้ได้ว่าฮะนันยาจะทำอะไรต่อไป? ดังนั้น ยิระมะยาห์ได้ทำอย่างไร? เราอ่านว่า “ยิระมะยาผู้ทำนายก็ไปเสีย.” ใช่แล้ว ยิระมะยาห์ออกไปจากที่นั่น. ต่อมา ท่านได้กลับไปหาฮะนันยาตามพระบัญชาของพระยะโฮวา แล้วบอกให้เขาทราบถึงสิ่งที่พระองค์จะทำให้เกิดขึ้น คือที่ชาวยิวจะตกเป็นทาสของกษัตริย์บาบิโลน และฮะนันยาจะต้องตาย.—ยิระ. 28:1-17
12 เห็นได้ชัดจากเรื่องราวนี้ที่มีขึ้นโดยการดลใจว่า เมื่อเราไปประกาศ เราควรมีความกล้าหาญควบคู่กับวิจารณญาณที่ดี. หากเจ้าของบ้านคนหนึ่งไม่ยอมฟังเหตุผลตามหลักพระคัมภีร์ที่เรายกขึ้นมาและรู้สึกโกรธ ถึงกับขู่ว่าจะทำร้าย เราจะขอตัวอย่างสุภาพแล้วไปบ้านอื่น. ไม่จำเป็นต้องโต้เถียงกับใคร ๆ อย่างเผ็ดร้อนเกี่ยวกับข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร. โดยที่เรา “รู้จักอดกลั้นในสภาพการณ์ที่ไม่ดี” เราเปิดทางไว้เพื่อจะช่วยเจ้าของบ้านคนนั้นในเวลาที่เหมาะกว่า.—อ่าน 2 ติโมเธียว 2:23-25; สุภา. 17:14
เหตุใดการวางใจพระยะโฮวาจึงสำคัญจริง ๆ ขณะที่เราประกาศข่าวดี? ทำไมเราควรกล้าหาญแต่ก็มีวิจารณญาณที่ดีเสมอ?
“อย่ากลัวหน้าเขา”
13. ทำไมพระยะโฮวาจึงตรัสกับยิระมะยาห์ว่า “อย่ากลัวหน้าเขา” และเหตุใดเราควรพิจารณาเรื่องนี้?
13 ผู้นมัสการแท้ได้รับผลกระทบจากสภาพการณ์ที่น่ากลัวซึ่งมีอยู่ดาษดื่นก่อนการทำลายเยรูซาเลมในปี 607 ก่อน ส.ศ. คุณจึงเข้าใจได้ถึงเหตุผลที่พระเจ้าได้ตรัสกับยิระมะยาห์ว่า “อย่ากลัวหน้าเขา.” (ยิระ. 1:8; ทุกข์. 3:57) และพระยะโฮวาทรงให้ท่านแจ้งข่าวสารที่หนุนกำลังใจอย่างเดียวกันนั้นแก่ประชาชนคนอื่น ๆ ของพระองค์. (อ่านยิระมะยา 46:27 ) เราจะเรียนอะไรได้จากเรื่องนี้? ในสมัยอวสานที่เต็มด้วยอันตรายนี้ บางครั้งเราอาจรู้สึกกลัว. ในช่วงแบบนั้น เราจะยอมฟังพระยะโฮวาผู้ซึ่งประหนึ่งกำลังบอกเราว่า “อย่ากลัวเลย” ไหม? ตอนต้นของหนังสือคู่มือเล่มนี้ เราได้พิจารณาวิธีที่พระเจ้าทรงค้ำจุนยิระมะยาห์ระหว่างช่วงเวลาที่น่ากลัวมาก. ขอให้เราทบทวนสั้น ๆ ถึงสิ่งที่ได้เกิดขึ้น เพื่อเราจะได้บทเรียนจากเรื่องนั้น.
14, 15. (ก) ยิระมะยาห์ตกอยู่ในสถานการณ์อันตรายเช่นไร? (ข) พระยะโฮวาทรงทำตามคำสัญญาโดยวิธีใดเพื่อจะปกป้องยิระมะยาห์ไว้?
14 ขณะที่บาบิโลนล้อมเยรูซาเลมนานขึ้น ชาวเมืองก็ประสบความอดอยาก. ในไม่ช้าหลายคนก็ไม่มีอาหารกิน. (ยิระ. 37:21) การขาดแคลนอาหารก็ลำบากพออยู่แล้ว ยิระมะยาห์ยังต้องมาติดอยู่ในที่ซึ่งอาจกลายเป็นหลุมศพของท่าน. พวกเจ้านายแห่งยูดาห์ได้กดดันกษัตริย์ซิดคียาที่มีใจโลเลให้ยอมทำตามความประสงค์ของพวกเขาที่ให้ประหารยิระมะยาห์. ต่อจากนั้นพวกเขาได้ให้เอาตัวยิระมะยาห์ทิ้งลงในบ่อเก็บน้ำที่ลึก. ในนั้นไม่มีน้ำ มีแต่โคลนเต็มไปหมด. ขณะที่ยิระมะยาห์เริ่มจมลงในโคลน ท่านไม่เห็นทางที่จะช่วยตัวเองให้รอดได้. หากคุณอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น คุณจะไม่รู้สึกกลัวบ้างหรือ?—ยิระ. 38:4-6
15 ถึงแม้เป็นคนธรรมดาเหมือนเรา ยิระมะยาห์ได้วางใจในคำตรัสของพระยะโฮวาที่ว่าพระองค์จะไม่มีวันละทิ้งท่าน. (อ่านยิระมะยา 15:20, 21) พระยะโฮวาทรงประทานบำเหน็จที่ท่านวางใจเช่นนั้นไหม? เราทราบว่าพระองค์ทรงประทานบำเหน็จให้ท่านจริง ๆ. พระเจ้าทรงกระตุ้นเอเบ็ดเมเล็กให้ขัดขืนพวกเจ้านายและช่วยชีวิตยิระมะยาห์ไว้. เอเบ็ดเมเล็กได้รับอนุญาตจากกษัตริย์ให้ดึงผู้พยากรณ์ขึ้นมาจากบ่อเก็บน้ำ ช่วยท่านมิให้จมโคลนตาย.—ยิระ. 38:7-13
16. พระยะโฮวาทรงช่วยชีวิตผู้ภักดีของพระองค์ให้พ้นจากอันตรายอะไรบ้าง?
16 แม้แต่เมื่อยิระมะยาห์กลับมาอยู่บนพื้นดินแห้งแล้ว ท่านก็ยังไม่พ้นอันตราย. เอเบ็ดเมเล็กได้ทูลอ้อนวอนกษัตริย์เพื่อยิระมะยาห์ว่า “ยิระมะยาแทบจะถึงตายด้วยความอดอยากในที่เขาต้องจำอยู่นั้น, เพราะไม่มีขนมในเมืองนี้อีกแล้ว.” (ยิระ. 38:9) ในเยรูซาเลมอาหารขาดแคลนจนถึงกับผู้คนต้องหันไปกินเนื้อมนุษย์. แต่พระยะโฮวาทรงเข้าแทรกแซงอีกครั้งหนึ่งเพื่อช่วยชีวิตผู้พยากรณ์ของพระองค์. และยิระมะยาห์ได้บอกเอเบ็ดเมเล็กว่าพระยะโฮวาให้คำรับรองที่จะปกป้องเขา. (ยิระ. 39:16-18) ยิระมะยาห์ไม่ลืมคำรับรองของพระเจ้าที่ว่า “เราอยู่ด้วยเจ้าเพื่อจะช่วยเจ้าให้พ้นได้.” (ยิระ. 1:8) โดยที่พระเจ้าผู้ทรงฤทธิ์ใหญ่ยิ่งคุ้มครองชายที่ภักดีสองคนนี้ไว้ ไม่ว่าศัตรูที่เป็นมนุษย์หรือความอดอยากก็ไม่อาจทำให้เขาเสียชีวิตได้. ทั้งสองคนรอดตายจากเมืองที่กำลังจะพินาศนั้น. บทเรียนคืออะไร? พระยะโฮวาทรงสัญญาเรื่องการปกป้อง และก็ทรงทำตามคำสัญญานั้น.—ยิระ. 40:1-4
17. เหตุใดคุณควรแสดงความเชื่อในคำสัญญาของพระยะโฮวาที่จะปกป้องผู้รับใช้ของพระองค์?
17 ความสำเร็จเป็นจริงแห่งคำพยากรณ์ของพระเยซูเกี่ยวกับช่วงสุดท้ายของยุคกำลังไปถึงจุดสุดยอดอย่างไม่หยุดยั้ง. ในอนาคตอันใกล้ จะเกิด “สัญญาณบอกเหตุที่ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาว ทั้งจะเกิดความทุกข์ร้อนอย่างหนักแก่ชาติทั้งหลายบนแผ่นดินโลก พวกเขาจะไม่รู้ทางออก . . . ผู้คนจะสลบไปเพราะความกลัวและคอยท่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นบนแผ่นดินโลก.” (ลูกา 21:25, 26) เราต้องคอยดูว่าสัญญาณดังกล่าวจะมีมาในรูปแบบใดและทำให้คนมากมายหวาดกลัวเช่นไร. แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น คุณไม่ต้องสงสัยในพระปรีชาสามารถและความปรารถนาของพระยะโฮวาที่จะช่วยประชาชนของพระองค์ให้รอด. อย่างไรก็ดี คนที่ไม่ได้รับความพอพระทัยจากพระองค์จะได้รับผลที่แตกต่างทีเดียว. (อ่านยิระมะยา 8:20; 14:9 ) ถึงแม้ดูเหมือนว่าผู้รับใช้ของพระองค์อยู่ในสภาพสิ้นหวังประหนึ่งอยู่ในก้นบ่อเก็บน้ำที่เปียกชื้นและมืด พระองค์สามารถช่วยชีวิตพวกเขาได้! ถ้อยคำที่พระเจ้าตรัสแก่เอเบ็ดเมเล็กจะนำมาใช้ได้กับประชาชนของพระองค์ที่ว่า “ ‘เราจะให้เจ้ามีทางรอด เจ้าจะไม่ตายด้วยคมดาบ เจ้าจะได้รอดชีวิตเพราะเจ้าไว้วางใจเรา’ เรายะโฮวาบอกไว้อย่างนี้.”—ยิระ. 39:18, ล.ม.
ถ้อยคำที่เขียนไว้สำหรับคุณ
18. (ก) ถ้อยคำอะไรได้ทำให้ชีวิตยิระมะยาห์เปลี่ยนไป? (ข) พระบัญชาของพระเจ้าที่ยิระมะยา 1:7 มีความหมายเช่นไรสำหรับคุณ?
18 “เจ้าจะต้องไปถึงบรรดาคนที่เราจะใช้ให้ไปนั้น, และสิ่งอันใดที่เราจะสั่งเจ้า ๆ จะต้องพูดสิ่งนั้นให้เขา.” (ยิระ. 1:7) ชีวิตยิระมะยาห์ไม่เหมือนเดิมนับตั้งแต่ท่านได้ฟังพระบัญชาดังกล่าวจากพระเจ้า. ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ท่านหมกมุ่นในการประกาศ “คำของพระยะโฮวา.” วลีดังกล่าวปรากฏหลายครั้งในหนังสือยิระมะยาตั้งแต่ต้นจนจบ. ในบทสุดท้าย ยิระมะยาห์พรรณนาการยึดกรุงเยรูซาเลมและการเนรเทศซิดคียากษัตริย์องค์สุดท้าย. ใช่แล้ว ยิระมะยาห์สอนและกระตุ้นเตือนผู้คนในยูดาห์ต่อไปให้เชื่อฟังพระยะโฮวาจนกระทั่งเห็นได้ชัดว่าท่านทำงานที่ได้รับมอบหมายสำเร็จ.
19, 20. (ก) เหตุใดการรับใช้ของยิระมะยาห์จึงเป็นแบบอย่างสำหรับคุณ? (ข) งานประกาศช่วยเราอย่างไรให้ประสบความยินดีและความพอใจ? (ค) การพิจารณาหนังสือยิระมะยาและบทเพลงร้องทุกข์มีผลกระทบอย่างไรต่อคุณ?
19 มีความคล้ายคลึงกันหลายอย่างระหว่างงานมอบหมายของยิระมะยาห์กับงานเผยแพร่ของพยานพระยะโฮวาในทุกวันนี้. เช่นเดียวกับท่าน คุณรับใช้พระเจ้าองค์เที่ยงแท้ระหว่างช่วงเวลาแห่งการพิพากษา. คุณมีหน้าที่รับผิดชอบอื่น ๆ ที่ต้องใช้เวลาและพละกำลังอยู่บ้าง แต่การประกาศข่าวดีก็เป็นงานสำคัญที่สุดเท่าที่คุณจะทำได้ในยุคนี้. โดยงานประกาศนี้ คุณยกย่องเชิดชูพระนามอันใหญ่ยิ่งของพระเจ้ารวมทั้งยอมรับสิทธิและอำนาจโดยเด็ดขาดของพระองค์ฐานะองค์บรมมหิศรแห่งเอกภพ. (อ่านบทเพลงร้องทุกข์ของยิระมะยา 5:19 ) คุณยังแสดงความรักที่โดดเด่นต่อเพื่อนบ้านโดยช่วยเขาให้รู้จักพระเจ้าองค์เที่ยงแท้และข้อเรียกร้องของพระองค์เพื่อจะได้ชีวิต.—ยิระ. 25:3-6
20 ยิระมะยาห์กล่าวเกี่ยวกับงานที่พระยะโฮวาทรงมอบให้ท่านทำว่า “คำโอวาทของพระองค์เป็นที่ให้เกิดความอภิรมย์ยินดีในใจข้าพเจ้า, เพราะข้าพเจ้าเรียกชื่อด้วยนามของพระองค์, โอ้พระยะโฮวาพระเจ้าของพลโยธาทั้งหลาย.” (ยิระ. 15:16) ความยินดีและความพอใจเช่นนั้นมีอยู่ตรงหน้าทุกคนในปัจจุบันซึ่งหัวใจของเขากระตุ้นให้พูดแทนพระเจ้าองค์เที่ยงแท้. ดังนั้น คุณจึงมีเหตุผลที่ดีที่จะประกาศข่าวสารของพระยะโฮวาต่อไป เช่นเดียวกับยิระมะยาห์.
ตัวอย่างของยิระมะยาห์กับเอเบ็ดเมเล็กจะช่วยคุณอย่างไรให้เป็นคนกล้าหาญ? คุณลักษณะอะไรของยิระมะยาห์ที่คุณต้องการเลียนแบบขณะที่ทำงานประกาศ?