จิตวิญญาณรอดอยู่หลังจากคนเราตายไหม?
“จิตวิญญาณ: ส่วนที่เป็นวิญญาณของมนุษย์ซึ่งถือว่ารอดอยู่หลังจากคนเราตาย และถือว่าสามารถรู้สึกได้ถึงความสุข หรือความทุกข์ยากของสภาพในอนาคต.” (เดอะ คอมแพ็คท์ เอดิชัน อ็อฟ ดิ อ็อกซฟอร์ด อิงลิช ดิกชันนารี) ศาสนาส่วนใหญ่เห็นพ้องกับคำจำกัดความนี้ไม่มากก็น้อย. นิว คาทอลิก เอ็นไซโคลพีเดีย ชี้แจงว่า “หลักคำสอนที่ว่าจิตวิญญาณมนุษย์เป็นอมตะและจะดำรงอยู่ต่อไปหลังจากความตายของมนุษย์นั้น . . . เป็นหลักสำคัญประการหนึ่งของปรัชญาและเทววิทยาของคริสเตียน.”
ดังนั้นแล้ว บางทีคงเป็นเรื่องที่ทำให้คุณประหลาดใจที่ทราบว่าความเชื่อที่เป็นหลักสำคัญนี้ มีสมุฏฐานมาจากปรัชญานอกรีต. นานก่อนการประสูติของพระเยซู เชื่อกันว่าจิตวิญญาณเป็นอะไรบางอย่างที่สัมผัสไม่ได้ซึ่งสามารถดำรงอยู่ต่างหากจากร่างกาย. ด้วยเหตุนี้จิตวิญญาณจึงรอดจากความตายของร่างกายได้ มีชีวิตอยู่ต่อไปในรูปของผี หรือวิญญาณ.
ชาวกรีกบรรยายถึงความเชื่อนี้ด้วยคำศัพท์ทางปรัชญา. ได้มีการอ้างถึงโซเครติส นักปราชญ์ชาวกรีกผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง ขณะที่พูดว่า “จิตวิญญาณ . . . ออกจากร่างกายอย่างบริสุทธิ์ มิได้ดึงเอาอะไรจากร่างกายนั้นไปด้วย . . . จากไปเข้าสู่ที่ซึ่งเป็นเหมือนตัวมันเอง เข้าสู่สภาพที่ประจักษ์ไม่ได้ของพระเจ้า เป็นอมตะ และฉลาด และเมื่อจิตวิญญาณนั้นมาถึงที่นั่น ก็มีความสุข พ้นจากความผิดพลาด ความโง่และความกลัว . . . และโรคร้ายอื่น ๆ ทั้งมวลของมนุษย์ และ . . . ดำรงชีวิตอยู่ในความจริงตลอดเวลาหลังจากนั้นร่วมกับพระเจ้าทั้งหลาย.”—แฟโด, 80, ดี. อี; 81, เอ.
ไม่ใช่คำสอนของพระคัมภีร์
ดังนั้นแล้ว เป็นไปอย่างไรที่ความเชื่อแบบนอกรีตในเรื่องสภาพอมตะของจิตวิญญาณนี้ ถูกนำมาสอนในคริสต์ศาสนจักรและศาสนายิว?
นิว คาทอลิก เอ็นไซโคลพีเดีย พูดน้อยเกินไปในเรื่องนั้นเมื่อบอกว่า “ความคิดที่ว่าจิตวิญญาณยังมีอยู่หลังจากตายนั้นไม่ใช่สิ่งซึ่งจะเห็นได้ง่าย ๆ ในพระคัมภีร์.” คงจะถูกต้องมากกว่าถ้าบอกว่าคำสอนเรื่องสภาพอมตะของจิตวิญญาณไม่ปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์เลย. เอ็นไซโคลพีเดียเล่มนั้นยอมรับว่า “ความคิดในเรื่องจิตวิญญาณมนุษย์ในพระคริสตธรรมเดิมนั้นไม่เหมือนกันกับในปรัชญากรีกและปรัชญาสมัยปัจจุบัน.”
ในพระคริสตธรรมเดิมอย่างที่เรียกกันนั้น คำภาษาฮีบรู เนʹเฟ็ช ซึ่งโดยทั่วไปได้รับการแปลว่า “จิตวิญญาณ” นั้นปรากฏอยู่ 754 ครั้ง. ในพระคริสตธรรมใหม่ตามที่เรียกกันนั้น คำภาษากรีก พซีเคʹ ซึ่งโดยทั่วไปได้รับการแปลว่า “จิตวิญญาณ” นั้นปรากฏอยู่ 102 ครั้ง. เมื่อเราตรวจสอบดูวิธีที่มีการใช้คำเหล่านี้ในพระคัมภีร์ ภาพที่น่าแปลกใจปรากฏออกมา.
ที่เยเนซิศ 2:7 เราอ่านว่าพระเจ้าทรงระบายลมแห่งชีวิตเข้าทางจมูกของอาดาม แล้วอาดาม “จึงเกิดเป็น จิตวิญญาณ [ฮีบรู, เนʹเฟ็ช] ที่มีชีวิตอยู่.” โปรดสังเกต: อาดามไม่ได้รับ จิตวิญญาณที่มีชีวิตอยู่ เขาเกิดเป็น จิตวิญญาณ. กล่าวอีกนัยหนึ่ง อาดามที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ ๆ เป็น จิตวิญญาณ! ไม่น่าประหลาดใจที่ นิว คาทอลิก เอ็นไซโคลพีเดีย สรุปว่า “จิตวิญญาณในพระคัมภีร์เดิมหมายถึงไม่ใช่ส่วนประกอบของมนุษย์ หากแต่หมายถึงคนเราทั้งตัว—มนุษย์ในฐานะเป็นคนที่มีชีวิต.”
ข้อคัมภีร์อื่น ๆ ยืนยันเรื่องนี้. ตัวอย่างเช่น เลวีติโก 7:20 กล่าวพาดพิงถึง “ผู้ใด [ภาษาฮีบรู เนʹเฟ็ช, จิตวิญญาณ] กินเนื้อสัตว์ที่บูชาสำหรับโมทนาพระคุณ.” เลวีติโก 23:30 แจ้งว่า “ผู้ใด [ภาษาฮีบรู เนʹเฟ็ช, จิตวิญญาณ] จะกระทำการ.” สุภาษิต 25:25 บอกว่า “น้ำเย็นให้คน [ภาษาฮีบรู เนʹเฟ็ช, จิตวิญญาณ] กระหายชื่นใจฉันใด ข่าวดีที่มาจากเมืองไกลก็เป็นเช่นนั้นดุจกัน.” และบทเพลงสรรเสริญ 105:18 บอกเราว่า “เขาได้กระทำเท้าของผู้นั้นให้ระบมไปด้วยตรวน ท่าน [ภาษาฮีบรู เนʹเฟ็ช, จิตวิญญาณ] ติดตรวนเหล็กอยู่.” เอาละ อะไรกันที่สามารถรับประทานเนื้อสัตว์ ทำงาน ได้รับความสดชื่นด้วยน้ำ และเอาใส่ตรวนเหล็กได้? เป็นส่วนวิญญาณที่แยกต่างหากของมนุษย์ไหม? หรือว่าเป็นตัวมนุษย์นั้นเอง? คำตอบปรากฏชัด.
เป็นที่น่าสนใจ ไม่ใช่มนุษย์เท่านั้นที่เป็นจิตวิญญาณ. เยเนซิศ 1:20 บอกเราว่าในช่วงแห่งการทรงสร้างช่วงหนึ่งนั้น พระเจ้าตรัสว่า “ให้ฝูงสัตว์ [ภาษาฮีบรู เนʹเฟ็ช, จิตวิญญาณ] ที่มีชีวิตเกิดพืชพันธุ์ทวีขึ้นบริบูรณ์ในน้ำ.” ถูกแล้ว แม้แต่ปลาก็เป็นจิตวิญญาณด้วยซ้ำ! ในช่วงการสร้างอีกช่วงหนึ่ง พระเจ้าทรงชี้แจงว่า “สัตว์ใช้ สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์ป่า” เป็นจิตวิญญาณ.—เยเนซิศ 1:24, ล.ม.; เปรียบเทียบเลวีติโก 11:10, 46; 24:18; อาฤธโม 31:28; โยบ 41:21; ยะเอศเคล 47:9 ซึ่งในแต่ละข้อมีคำเนʹเฟ็ช ในต้นฉบับภาษาฮีบรู.
เพราะฉะนั้น “จิตวิญญาณ” ในพระคัมภีร์มิได้พาดพิงถึงวิญญาณอันเป็นเงาที่ดำรงอยู่ซึ่งออกจากร่างกายหลังจากตาย. จิตวิญญาณหมายถึงบุคคล หรือสัตว์ หรือชีวิตที่คนหรือสัตว์มีอยู่นั้น.
เกิดอะไรขึ้นหลังจากตาย?
ดังนั้นแล้ว ปรากฏชัดว่าพระคัมภีร์ไม่เห็นด้วยกับความคิดแบบนอกรีตที่ว่ามนุษย์มีจิตวิญญาณอมตะ. คุณคิดว่าใครสอนความจริงในเรื่องนี้? นักปรัชญานอกรีตชาวกรีก หรือว่าประชาชนแห่งคำสัญญาไมตรีของพระเจ้าเอง? แน่ทีเดียว ประชาชนของพระเจ้านั่นเอง ที่พระองค์ประทานพระวจนะด้วยการดลบันดาลจากพระองค์.
อย่างไรก็ดี ยังคงมีปัญหาอยู่ เกิดอะไรขึ้นกับจิตวิญญาณหลังจากคนเราตาย? เนื่องจากจิตวิญญาณคือบุคคล ปรากฏชัดว่า จิตวิญญาณตายเมื่อบุคคลนั้นตาย. กล่าวอีกนัยหนึ่ง บุคคลที่ตายแล้วคือจิตวิญญาณที่ตายแล้ว. ข้อคัมภีร์จำนวนมากยืนยันเรื่องนี้. ยะเอศเคล 18:4 บอกว่า “จิตวิญญาณที่ได้ทำบาป จิตวิญญาณนั้นจะตาย.” เราอ่านที่วินิจฉัย 16:30 ว่า “ซิมโซนพูดว่า ‘ให้เรา [จิตวิญญาณของเรา, ล.ม.] ตายกับพวกฟะลิศตีมเถิด.’” ข้อคัมภีร์อื่น ๆ แสดงว่าจิตวิญญาณจะถูกตัดขาดได้ (เยเนซิศ 17:14, ล.ม.) ประหารด้วยคมดาบ (ยะโฮซูอะ 10:37, ล.ม.) ทำให้อึดอัด (โยบ 7:15, ล.ม.) และจมน้ำตาย (โยนา 2:5, ล.ม.). จิตวิญญาณที่ตายแล้ว ก็คือบุคคลที่ตายแล้ว.—เลวีติโก 19:28; 21:1, 11.
ดังนั้นแล้ว สภาพของจิตวิญญาณที่ตายแล้วนั้นเป็นเช่นไร? กล่าวง่าย ๆ แล้ว ความตายคือสิ่งตรงข้ามกับชีวิต. ประสาทสัมผัสทั้งสิ้นของเราเชื่อมโยงกับร่างกายเนื้อหนังของเรา. สมรรถนะของเราในการเห็นได้ยินและคิดนั้นขึ้นอยู่กับการปฏิบัติงานอย่างเหมาะสมของตา หู และสมองของเรา. ถ้าปราศจากตาเราก็มองไม่เห็น. ปราศจากหูเราก็ไม่ได้ยิน. ถ้าไม่มีสมองเราก็ทำอะไรไม่ได้. เมื่อคนเราตาย อวัยวะของร่างกายเหล่านี้ทั้งหมดก็เลิกปฏิบัติงาน. เราเลิกดำรงอยู่.
ประสานกันกับเรื่องนี้ ท่านผู้ประกาศ 9:5, 10 บอกว่า “คนตายแล้วก็ไม่รู้อะไรเลย . . . ไม่มีการงานหรือโครงการณ์ หรือความรู้หรือสติปัญญาในเมืองผี [ภาษาฮีบรู เชโอล, หลุมฝังศพ] ที่เจ้าจะไปนั้น.” บทเพลงสรรเสริญ 146:3, 4 แถลงคล้าย ๆ กันว่า “ท่านทั้งหลายอย่าวางใจในพวกเจ้านาย หรือในเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่ช่วยให้รอดไม่ได้. เมื่อลมหายใจ [วิญญาณ, ล.ม.] เขาขาด เขาก็กลับคืนเป็นดินอีก และในวันนั้นทีเดียวความคิดของเขาก็ศูนย์หายไป.” ดังนั้นเมื่อคน [จิตวิญญาณ] ตาย เขาเลิกดำรงอยู่.
จากคำสอนนอกรีตมาเป็นหลักคำสอนของคริสต์จักร
บางคนอาจถามว่า ‘แต่พระคริสตธรรมใหม่ไม่ได้สอนเรื่องสภาพอมตะของจิตวิญญาณหรอกหรือ?’ เปล่าเลยทีเดียว. นิว คาทอลิก เอ็นไซโคลพีเดีย ยอมรับว่า “พระคริสตธรรมใหม่ยังคงยึดมั่นอยู่กับความเข้าใจในเรื่องความตายของพระคริสตธรรมเดิมนี้อยู่.” กล่าวอีกนัยหนึ่ง “พระคริสตธรรมใหม่” สอนว่าจิตวิญญาณตาย. พระเยซูคริสต์ทรงแสดงให้เห็นว่า พระองค์หาได้เชื่อว่าจิตวิญญาณเป็นอมตะไม่. พระองค์ตรัสถามว่า “ในวันซะบาโตควรจะทำการดีหรือ ๆ ควรจะทำการชั่ว จะช่วยชีวิต [ภาษาฮีบรู พซีเคʹ, จิตวิญญาณ] หรือ ๆ จะผลาญชีวิต [ภาษาฮีบรู พซีเคʹ, จิตวิญญาณ] เสียดี?” (มาระโก 3:4) คริสเตียนอัครสาวกเปาโลได้รับรองทัศนะเรื่องจิตวิญญาณใน “พระคริสตธรรมเดิม” เช่นเดียวกันโดยยกเยเนซิศ 2:7 ขึ้นมากล่าว: “มีคำเขียนไว้แล้วว่า ‘มนุษย์คนแรกคืออาดามเกิดเป็นจิตวิญญาณที่มีชีวิตอยู่.’”—1 โกรินโธ 15:45, ล.ม.
ดังนั้นแล้ว ความคิดแบบพลาโตกลายมาเป็นหลักคำสอนของคริสต์จักรได้อย่างไร? เอ็นไซโคลพีเดีย อ็อฟ รีลิจัน แอนด์ เอธิคส์ โดยเจมส์ เฮสติงส์ ชี้แจงว่า “เมื่อกิตติคุณของคริสเตียนแพร่กระจายผ่านทางประตูธรรมศาลาของพวกยิวเข้าสู่สังเวียนประลองฝีมือของจักรวรรดิโรมัน ความคิดในเรื่องจิตวิญญาณตามหลักเดิมของชาวฮีบรูนั้นได้ย้ายเข้าสู่สิ่งแวดล้อมของความคิดแบบกรีก โดยมีผลกระทบไม่น้อยในขั้นตอนของการปรับให้เข้ากัน.” ผู้สอนคริสต์จักรได้พยายามที่จะทำให้ข่าวสารของเขา “พอจะเข้าใจได้สำหรับโลกที่คิดแบบกรีก” โดยการใช้ “คำศัพท์และความคิดที่กำหนดขึ้นในจิตวิทยาของกรีก.” นักเทววิทยาชาวยิวได้เริ่มต้นแสดงออกเช่นกันถึง “อิทธิพลอันแข็งแกร่งของปรัชญาพลาโต” ในบทประพันธ์ของเขา.—เอ็นไซโคลพีเดีย จูดาอิกา.
ด้วยเหตุนี้ คำสอนของพระคัมภีร์ในเรื่องจิตวิญญาณจึงถูกทิ้งไป แล้วมีการเอาหลักคำสอนที่เป็นแบบนอกรีตอย่างเห็นได้ชัดเข้ามาแทน. ไม่มีทางจะแก้ตัวได้เลยว่า การกระทำเช่นนั้นทำให้ศาสนาคริสเตียนมีแรงโน้มน้าวมากขึ้นแก่มวลชน. เมื่อประกาศในกรุงเอเธนส์ ศูนย์กลางแห่งวัฒนธรรมกรีกทีเดียว อัครสาวกเปาโลมิได้สอนคำสอนของพลาโตในเรื่องจิตวิญญาณ. ตรงกันข้าม ท่านประกาศหลักคำสอนของคริสเตียนในเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตายถึงแม้ว่าผู้ฟังของท่านหลายคนที่เป็นชาวกรีกรู้สึกว่ายากที่จะยอมรับเรื่องที่ท่านพูดนั้น.—กิจการ 17:22-32.
ที่จริง อัครสาวกเปาโลเตือนให้ระวังการเอาสัจธรรมที่อาศัยพระคัมภีร์เป็นหลักมารวมกันกับลัทธินอกรีตเมื่อท่านกล่าวว่า “ความสว่างจะเข้าสนิทกันกับความมืดได้อย่างไร? พระคริสต์กับเบลิอาลจะมีเสียงเข้ากันอย่างไรได้?” (2 โกรินโธ 6:14, 15) ไม่อาจมีข้อสงสัยได้ว่า ในการยอมรับให้คำสอนนอกรีตกลายเป็นหลักสำคัญประการหนึ่งของปรัชญาและเทววิทยาของตนนั้น คริสต์ศาสนจักรได้นำความเสื่อมเสียพระเกียรติมาสู่พระเจ้าเอง!
ความหวังสำหรับคนตาย
ผู้คนมีอิสระที่จะเชื่อสิ่งที่พวกเขาเลือกเอา. ถึงกระนั้น ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลักคำสอนเรื่องสภาพอมตะของจิตวิญญาณนั้นไม่ตรงกับหลักพระคัมภีร์. ดังนั้นแล้ว มนุษย์ไม่มีความหวังในเรื่องชีวิตหลังจากตายกระนั้นหรือ?
หลังจากโยบได้ถามคำถามที่ว่า “[มนุษย์] จะมีชีวิตอีกหรือ?” แล้ว ท่านให้คำตอบที่ได้รับการดลบันดาลต่อไป. ท่านกล่าวว่า “พระองค์ [พระยะโฮวา] จะทรงเรียก และข้าพระองค์จะทูลตอบพระองค์. พระองค์จะทรงอาลัยอาวรณ์พระหัตถกิจของพระองค์.” (โยบ 14:14, 15, ฉบับแปลใหม่) ถูกแล้ว พระคัมภีร์เสนอความหวังเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตายให้สำหรับบรรดาคนเหล่านั้นที่อยู่ในความทรงจำของพระเจ้า. พระองค์ทรงอาลัยอาวรณ์ในการที่จะนำผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ อย่างเช่นโยบกลับคืนสู่ชีวิต! พระเยซูคริสต์ทรงรับรองความเป็นจริงของความหวังนี้ โดยตรัสว่า “อย่าประหลาดใจในข้อนี้ เพราะเวลาจะมาเมื่อบรรดาผู้ซึ่งอยู่ในอุโมงค์รำลึกจะได้ยินสุรเสียงของพระองค์ และจะออกมา ผู้ที่ได้กระทำการดีจะเป็นขึ้นมาสู่ชีวิต ผู้ที่ได้กระทำการชั่วก็จะเป็นขึ้นมาสู่การพิพากษา.”—โยฮัน 5:28, 29, ล.ม.
เมื่อถึงเวลาที่คำพยากรณ์นั้นสำเร็จสมจริง ยะซายา 25:8 สัญญาว่า พระเจ้า “ทรงกลืนความตายเสียเป็นนิตย์.” ทั้งนี้หมายถึงโลกซึ่งพระธรรมวิวรณ์ 21:4 บอกว่า “ความตายจะไม่มีต่อไป.” คุณอยากจะมีชีวิตอยู่ในโลกที่ไม่มีงานศพ หรือศาลาทำพิธีฝังศพ ไม่มีศิลาจารึกบนหลุมฝังศพ หรือสุสาน ไม่มีน้ำตาแห่งความโศกเศร้าอีกต่อไป นอกจากน้ำตาแห่งความปีติยินดีเท่านั้นไหม?
จริงอยู่ คุณอาจได้รับการอบรมมาให้เชื่อในหลักคำสอนเรื่องจิตวิญญาณอมตะ. แต่โดยการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล คุณอาจพัฒนาความเชื่อในคำสัญญาที่ปลดปล่อยให้เป็นอิสระของพระคัมภีร์ได้.a คุณจะเรียนรู้ได้ถึงสิ่งที่คุณต้องทำเพื่อได้รับมรดกตามคำสัญญาของพระคัมภีร์ ไม่ใช่การรอดอยู่ต่อไปฐานะเป็นจิตวิญญาณอมตะ แต่ได้รับ “ชีวิตนิรันดร์” ในอุทยานบนแผ่นดินโลก.—โยฮัน 17:3; ลูกา 23:43.
[เชิงอรรถ]
a หากคุณอยากทำเช่นนั้น โปรดรู้สึกเป็นอิสระที่จะเขียนถึงผู้พิมพ์โฆษณาวารสารนี้ หรือติดต่อที่หอประชุมแห่งคณะพยานพระยะโฮวาในท้องถิ่น.