พระยะโฮวาคู่ควรกับคำสรรเสริญตลอดกาล
“ข้าพเจ้าจะถวายพระเกียรติพระองค์ตลอดวัน และข้าพเจ้าจะสรรเสริญพระนามของพระองค์ไม่มีเวลากำหนด แม้กระทั่งตลอดกาล.”—บทเพลงสรรเสริญ 145:2, ล.ม.
1. เหตุใดกษัตริย์ดาวิดทรงมีเหตุผลหลายอย่างสำหรับการสรรเสริญพระยะโฮวา?
ดาวิดผู้รับใช้ที่ภักดีของพระยะโฮวาได้ยกย่องสรรเสริญพระยะโฮวาเนื่องด้วยเหตุผลหลายประการ. กษัตริย์ชื่อเสียงโด่งดังองค์นี้แห่งยิศราเอลสมัยโบราณทรงทราบถึงความยิ่งใหญ่และความดีของพระยะโฮวา อีกทั้งตระหนักว่าอำนาจครอบครองของพระองค์นั้นมีอยู่ชั่วนิรันดร์. พระเจ้าองค์สูงสุดคู่ควรกับคำสรรเสริญเพราะพระองค์ทรงโปรดสรรพสิ่งที่มีชีวิตได้อิ่มตามความปรารถนาและพระองค์ทรงแผ่ความเมตตาแก่ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ด้วย.
2. (ก) การประพันธ์เพลงสรรเสริญบท 145 เป็นในรูปแบบใด? (ข) เราจะพิจารณาคำถามอะไรบ้าง?
2 ดาวิดได้ถวายคำสรรเสริญดังกล่าวแด่พระเจ้าในเพลงสรรเสริญบท 145. บทเพลงแบบโคลงกระทู้นี้แต่ละตอนขึ้นต้นตามลำดับอักษรฮีบรู ถึงแม้อักษรตัวหนึ่ง (นูน ) ตกไป. การแต่งโคลงกระทู้แบบนี้คงใช้เป็นเครื่องช่วยความจำ. เพลงสรรเสริญบท 145 เทิดเกียรติพระยะโฮวาดังถ้อยคำที่ว่า “ข้าพเจ้าจะถวายเกียรติยศพระองค์ตลอดวัน และจะสรรเสริญพระนามพระองค์ไม่มีเวลากำหนด แม้กระทั่งตลอดกาล.” (บทเพลงสรรเสริญ 145:2, ล.ม.) แต่เพลงสรรเสริญบทนี้กระทบกระเทือนเราอย่างไร? เป็นประโยชน์อย่างไรต่อสัมพันธภาพระหว่างเรากับพระเจ้า? เพื่อจะรู้คำตอบ ก่อนอื่นให้เราพิจารณาข้อ 1 ถึง 10.
ความยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวาเหลือที่จะรู้หมดได้
3. เหมือนกับดาวิด พวกเราจำต้องถวายอะไรแด่ ‘พระเจ้าผู้ทรงเป็นมหากษัตริย์ของเรา’ และทำไม?
3 ดาวิดเป็นกษัตริย์ แต่ท่านยอมรับว่าพระยะโฮวาทรงไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพเหนือท่าน โดยกล่าวดังนี้: “ข้าแต่พระเจ้าของข้าพเจ้า ผู้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ข้าพเจ้าจะยกย่องพระองค์และข้าพเจ้าจะถวายเกียรติแด่พระนามของพระองค์ไม่มีเวลากำหนด แม้กระทั่งตลอดกาล.” (บทเพลงสรรเสริญ 145:1, ล.ม.) ด้วยความนับถืออย่างสูงส่งทำนองเดียวกัน พยานพระยะโฮวาจึงได้เทิดทูนพระนามของพระเจ้าและสรรเสริญพระองค์ทั่วแผ่นดินโลก. ชีวิตของเราเปี่ยมด้วยความยินดีเมื่อเราร่วมในกิจกรรมดังกล่าว. เช่นเดียวกับดาวิด เราจำต้องเชื่อฟังและยอมอยู่ใต้อำนาจพระยะโฮวาผู้ทรงเป็น ‘พระเจ้าและพระมหากษัตริย์ของเรา.’ เพราะเหตุใด? พระองค์ทรงเป็น “พระมหากษัตริย์แห่งทุกยุค.” (วิวรณ์ 15:3, ล.ม.) ยิ่งกว่านั้น พระเยซูคริสต์ผู้ยิ่งใหญ่กว่าดาวิดได้ทรงราชย์ปกครองจากภูเขาซีโอนในสวรรค์มาตั้งแต่ปี 1914 ทำให้เรามีตัวอย่างที่ดีเลิศในเรื่องการยอมอยู่ใต้อำนาจพระยะโฮวา พระมหากษัตริย์ตลอดกาล.
4. เราจะ ‘ถวายเกียรติยศแด่พระนามพระเจ้า’ ได้อย่างไร?
4 ดาวิดทรงกล่าวว่าท่านจะ ‘ถวายเกียรติแด่พระนามของพระเจ้า.’ สำหรับปุถุชนแล้วจะทำได้อย่างไร? การให้เกียรติบางคนหมายถึงการพูดถึงผู้นั้นในด้านดี. การถวายเกียรติแด่พระนามพระเจ้าบ่งชี้ว่าเรามีความรักอย่างแรงกล้าต่อพระองค์และต่อพระนามอันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์คือยะโฮวา. เราจะไม่พร่ำบ่นเรื่องพระเจ้า จะไม่หาข้อผิดพลาดเพื่อตำหนิพระองค์และไม่สงสัยความดีของพระองค์. เพียงแต่ถ้าเรามีทัศนะดังกล่าว ได้อุทิศตัวแด่พระยะโฮวา และธำรงไว้ซึ่งความซื่อสัตย์มั่นคงในฐานะเป็นพยานฯซึ่งรับบัพติสมาแล้ว เราสามารถจะกล่าวอย่างดาวิดได้ว่าเรา ‘จะถวายเกียรติแด่พระนามของพระองค์ตลอดกาล.’ ถ้าเราระวังรักษาตัวอยู่ในความรักของพระเจ้า เราจะได้รับชีวิตนิรันดร์เป็นรางวัล และดังนั้นเราจะสามารถถวายเกียรติพระยะโฮวาได้ตลอดไปเป็นนิตย์.—ยูดา 20, 21.
5. ความปรารถนาจะถวายเกียรติยศแด่พระยะโฮวา “ตลอดวัน” น่าจะมีผลกระทบเช่นไรต่อพวกเรา?
5 ถ้าเรารักผู้ที่ทรงประทานชีวิตแก่เราจริง ๆ เราจะกล่าวร่วมกับดาวิดว่า “ข้าพเจ้าจะถวายพระเกียรติพระองค์ตลอดวัน และข้าพเจ้าจะสรรเสริญพระนามของพระองค์ไม่มีเวลากำหนด แม้กระทั่งตลอดกาล.” (บทเพลงสรรเสริญ 145:2, ล.ม.) วันหนึ่ง ๆ คงจะแห้งแล้งเพียงไรถ้าเราไม่ได้ถวายเกียรติพระเจ้า! อย่าให้เราพะวงอยู่กับงานหรือกังวลเกินไปกับวัตถุปัจจัยจนกระทั่งเราไม่ได้เอ่ยถึงความดีของพระบิดาผู้สถิตในสวรรค์หรือไม่ได้ทูลอธิษฐานต่อพระองค์เป็นประจำวัน. พระเยซูทรงชี้เป็นนัยว่าเราน่าจะอธิษฐานทุก ๆ วันเป็นประจำเมื่อพระองค์ทรงกล่าวในคำอธิษฐานอันเป็นตัวอย่างดังนี้ “โปรดประทานอาหารประจำวันแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายตามความจำเป็นของแต่ละวัน.” (ลูกา 11:3, ล.ม.) หลายคนซึ่งทำงานรับใช้เต็มเวลาต่างก็สรรเสริญพระเจ้าทุกวัน ขณะที่เขาเข้าส่วนในงานรับใช้ของคริสเตียน. ไม่ว่าสภาพการณ์ของเราเป็นอย่างไร หัวใจของเราควรกระตุ้นเราที่จะสรรเสริญพระเจ้าไม่ทางใดก็ทางหนึ่งแต่ละวันไป. และลองคิดดูซิ! ในฐานะเป็นพยานที่อุทิศตัวแด่พระยะโฮวาพร้อมด้วยความหวังว่าจะได้ชีวิตนิรันดร์ เรามีความมุ่งหวังอย่างวิเศษทีเดียวเกี่ยวกับการสรรเสริญพระนามของพระองค์ตลอดกาล.—โยฮัน 17:3.
6. ทำไมพระยะโฮวาจึงทรง “สมควรได้รับการสรรเสริญอย่างยิ่ง”?
6 แน่นอน พวกเรามีเหตุผลจะสรรเสริญพระเจ้าได้ทั้งวัน เพราะดาวิดกล่าวเสริมดังนี้: “พระยะโฮวาเป็นองค์ยิ่งใหญ่และสมควรได้รับการสรรเสริญอย่างยิ่ง และความยิ่งใหญ่ของพระองค์นั้นเหลือที่จะรู้หมดได้.” (บทเพลงสรรเสริญ 145:3, ล.ม.) ความยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวาไม่มีใครทัดเทียมได้ และอำนาจปกครองของพระองค์สมบูรณ์พร้อม. กษัตริย์นะบูคัดเนซัรแห่งบาบูโลนจำต้องยอมรับดังนี้: “ไม่มีใครอาจยึดหน่วงพระหัตถ์ของพระองค์ไว้ได้ หรืออาจทูลถามพระองค์ว่า ‘พระองค์ทรงกระทำอะไรพระเจ้าค่ะ?’” (ดานิเอล 4:34, 35) พระยะโฮวา “เป็นที่เกรงขามยิ่งกว่าพระทั้งปวง.” (บทเพลงสรรเสริญ 96:4) ไม่แปลกที่พระองค์ “สมควรได้รับการสรรเสริญอย่างยิ่ง.” ไม่มีคำสรรเสริญใด ๆ จะเลอเลิศเกินไปเมื่อกล่าวยกย่องพระยะโฮวา! พระองค์คู่ควรกับคำสรรเสริญมากมายและตลอดกาล.
7. อะไรเป็นข้อพิสูจน์ว่า ‘ความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าเหลือที่จะรู้ได้หมด’?
7 พระยะโฮวาทรง “ความยิ่งใหญ่เหลือที่จะรู้หมดได้.” ไม่ว่ากายฝ่ายวิญญาณของพระองค์จะใหญ่เพียงใดก็ตาม ความยิ่งใหญ่ของพระองค์อยู่ที่ว่าพระองค์เป็นพระเจ้าชนิดใด. เราเห็นได้จากสรรพสิ่งที่พระองค์ได้ทรงสร้างสรรค์ซึ่งมหัศจรรย์เกินที่เราจะเข้าใจได้ และตัวเราเองก็ “ถูกสร้างอย่างน่าพิศวง.” (บทเพลงสรรเสริญ 139:14, ล.ม.; โยบ 9:10; 37:5) ยิ่งกว่านั้น วิธีที่พระองค์ทรงประพฤติช่างยอดเยี่ยมเพียงไร! พระองค์ทรงรักษาคำสัญญาอย่างซื่อตรงและด้วยความรักพระองค์ได้ทรงเปิดเผยพระทัยประสงค์ให้มนุษย์ทราบ. กระนั้น เราจะไม่มีวันรู้ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับพระเจ้า. ตลอดชั่วกาลนานเราจะสามารถเพิ่มพูนความรู้ที่เกี่ยวข้องกับพระองค์ การสร้างสรรค์ และพระประสงค์ของพระองค์ได้.—โรม 11:33-36.
ยกย่องราชกิจของพระยะโฮวา
8. (ก) “คนชั่วอายุเรียงลำดับตามกันมา” ได้ยกย่องชมเชยราชกิจของพระยะโฮวาโดยวิธีใด? (ข) ถ้าเราสอนบุตรหลานให้รู้จักราชกิจและการอิทธิฤทธิ์ของพระยะโฮวา พวกเขาคงจะมองการนมัสการพระองค์ด้วยท่าทีอย่างไร? (ค) ในฐานะที่เป็น “คนชั่วอายุหนึ่ง” ที่เบิกบานยินดี ชนที่เหลือผู้ถูกเจิมได้ทำอะไรไปบ้าง?
8 อาจกล่าวคำสรรเสริญได้อย่างมากมายเกี่ยวด้วยพระเจ้าของเราซึ่งความยิ่งใหญ่ของพระองค์เหลือที่เราจะรู้หมดได้ ดาวิดจึงรู้สึกเร้าใจที่จะกล่าวว่า “คนชั่วอายุเรียงลำดับตามกันมาจะยกย่องชมเชยราชกิจของพระองค์ และพวกเขาจะเล่าถึงการอิทธิฤทธิ์ของพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 145:4, ล.ม.) ชั่วอายุของมนุษย์อันสืบเนื่องต่อกันมาเป็นลำดับนั้นต่างก็ยกย่องราชกิจของพระยะโฮวาและพูดถึงอิทธิฤทธิ์ของพระองค์. ช่างเป็นสิทธิพิเศษอะไรเช่นนี้ที่จะบอกเล่าแก่ผู้ที่เรานำการศึกษาพระคัมภีร์ถึงสิ่งเหล่านี้! ตัวอย่างเช่น เราสามารถบอกเขาว่า พระเจ้าได้ทรงสร้างสารพัดสิ่งทั้งปวง. (เยเนซิศ 1:1–2:25; วิวรณ์ 4:11) เราสามารถพูดถึงราชกิจของพระองค์คราวที่พระองค์ทรงช่วยพวกยิศราเอลพ้นจากการเป็นทาสของชาติอียิปต์ ทรงช่วยชาวยิศราเอลตีทำลายชาวคะนะอันชาติศัตรูจนสูญสิ้น ทรงช่วยชีวิตชาวยิวพ้นจากการถูกฆ่าล้างชาติในแผ่นดินเปอร์เซียโบราณ และอื่น ๆ อีกมาก. (เอ็กโซโด 13:8-10; ผู้วินิจฉัย 4:15; เอศเธระ 9:15-17) และเรารู้สึกว่าอยากเล่าให้ลูกของเราฟังมิใช่หรือถึงเรื่องราชกิจและสิ่งต่าง ๆ ที่พระองค์ทรงกระทำ? ถ้าเราได้สอนความรู้เหล่านี้แก่บุตรของเราและเขาเห็นว่าเราปฏิบัติพระเจ้าด้วยความร่าเริงยินดี บุตรของเราก็คงจะมองการนมัสการพระองค์ว่าเป็นความปีติยินดี และเขาจะเติบโตขึ้นพร้อมกับมี ‘ความโสมนัสยินดีแห่งพระยะโฮวาเป็นกำลังของตน.’ (นะเฮมยา 8:10; บทเพลงสรรเสริญ 78:1-4) ชนที่เหลือจำพวกผู้ถูกเจิมประกอบกันเป็น “ชั่วอายุ” หนึ่งแห่งพยานพระยะโฮวาซึ่งมีความปีติยินดีและยกย่องราชกิจของพระยะโฮวาแก่ “ชนฝูงใหญ่” อันเป็นส่วนหนึ่งของคนในชั่วอายุหนึ่ง ซึ่งจะอยู่บนแผ่นดินโลกในสภาพเป็นอุทยาน.—วิวรณ์ 7:9.
9. ขณะที่เราคิดรำพึงเรื่องพระราชกิจและการอิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ ของพระเจ้าเช่นนั้น เราย่อมแน่ใจได้ในสิ่งใด?
9 ขณะที่พวกเราคิดรำพึงถึงราชกิจและการอิทธิฤทธิ์ของพระเจ้า เรายิ่งมั่นใจมากขึ้นในข้อที่ว่า “ด้วยพระยะโฮวาทรงเห็นแก่พระนามอันเลิศของพระองค์คงจะไม่ละทิ้งพลไพร่ของพระองค์.” (1 ซามูเอล 12:22; บทเพลงสรรเสริญ 94:14) เมื่อเราเผชิญความยากลำบาก ความเดือดร้อนและการข่มเหง เราสามารถสงบใจได้และมั่นใจว่า “สันติสุขแห่งพระเจ้า” จะป้องกันรักษาหัวใจและความสามารถในการคิดของเรา.” (ฟิลิปปอย 4:6, 7) ฉะนั้น เป็นสิ่งเหมาะสมเพียงไรที่เราพึงบอกเล่าให้คนอื่นฟังเกี่ยวกับเรื่องพระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์ ผู้ทรงเปี่ยมด้วยความรักและสามารถคุ้มครองชีวิตได้!
10. “พระราชกิจอันประหลาดล้ำ” ของพระยะโฮวารวมถึงอะไร และเราได้ประโยชน์อย่างไรจากการคิดรำพึงถึงเรื่องเหล่านี้?
10 เราควรใช้เวลาคิดรำพึงถึงสง่าราศีและราชกิจของพระองค์ เพราะดาวิดได้กล่าวเสริมดังนี้ “ความสง่าราศีรุ่งโรจน์แห่งเกียรติภูมิของพระองค์และพระราชกิจอันประหลาดล้ำของพระองค์นั้น ข้าพเจ้าจะสนใจเอาเป็นธุระ.” (บทเพลงสรรเสริญ 145:5, ล.ม.) เกียรติภูมิของพระเจ้านั้นน่าครั่นคร้ามและหาไหนไม่เทียบเท่า. (โยบ 37:22; บทเพลงสรรเสริญ 148:13) ด้วยเหตุนี้ ดาวิดจึงได้สนใจเกียรติภูมิอันรุ่งโรจน์ด้วยสง่าราศีของพระยะโฮวา. อนึ่ง ผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญยังได้เอาเป็นธุระเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ “ราชกิจอันประหลาดล้ำ” ของพระเจ้า. สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้รวมไปถึงการสำแดงความยุติธรรมของพระเจ้าด้วยการทำลายคนบาปและพิทักษ์คนที่เลื่อมใสในพระเจ้า ดังในคราวน้ำท่วมโลก. (เยเนซิศ 7:20-24; 2 เปโตร 2:9) การตริตรองถึงเรื่องดังกล่าวจะกระชับความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพระยะโฮวาให้แน่นแฟ้น และทำให้เราสามารถบอกคนอื่นถึงเกียรติภูมิและราชกิจอันล้ำเลิศของพระองค์. ระหว่าง 40 วันในป่า พระเยซูได้รับกำลังเข้มแข็งเพื่อต้านทานการทดลองโดยการคิดรำพึงในสิ่งต่าง ๆ ซึ่งได้เปิดเผยให้พระองค์ทราบโดยที่สวรรค์ได้เปิดออก. (มัดธาย 3:13–4:11) หลังจากนั้นพระเยซูทรงสนทนากับผู้คนเกี่ยวกับเกียรติภูมิและพระราชกิจอันประหลาดล้ำของพระยะโฮวา.
11. (ก) ทำไมชาวเมืองยะริโฮจึงเกิดความตระหนกตกใจ? (ข) พยานพระยะโฮวาบอกกล่าวเรื่อง “สิ่งที่น่าสะพรึงกลัว” และ “ความยิ่งใหญ่” ของพระเจ้าด้วยน้ำใจแบบไหน?
11 เมื่อเราพูดถึงเกียรติภูมิและราชกิจต่าง ๆ ของพระเจ้า เรากระตุ้นผู้ฟังให้บอกเล่าเรื่องเหล่านั้น. ดาวิดตรัสดังนี้: “และพวกเขาจะบอกเล่าถึงพลานุภาพแห่งราชกิจอันน่าเกรงขามของพระองค์; และข้าพเจ้าจะประกาศความยิ่งใหญ่ของพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ. 145:6, ล.ม.) ราฮาบเล่าเรื่องความตกใจกลัวซึ่งบังเกิดแก่ชาวเมืองยะริโฮเมื่อเขาได้ข่าวเกี่ยวกับการที่พระยะโฮวาช่วยชีวิตชนชาติยิศราเอลที่ทะเลแดง และที่พระองค์ทรงช่วยพวกเขาปราบกษัตริย์ชาติอะโมรีสององค์จนได้ชัยชนะ. คงได้มีการเล่าลือกันมากถึง “สิ่งอันน่าเกรงขาม” เช่นนั้นในเมืองยะริโฮ. (ยะโฮซูอะ 2:9-11) และแน่นอน “ความทุกข์ลำบากใหญ่” ซึ่งจวนจะมาถึงย่อมเป็นสิ่งน่าสะพรึงกลัว. (มัดธาย 24:21) แต่สิ่งที่เป็นเหตุให้ผู้คนซึ่งห่างเหินไปจากพระเจ้าตกใจกลับทำให้ผู้มีหัวใจเป็นธรรมเกิดความ “เกรงกลัวพระยะโฮวา” คือเป็นความครั่นคร้ามเกรงขามในทางที่เป็นประโยชน์. (สุภาษิต 1:7) ด้วยน้ำใจที่เปี่ยมด้วยความเคารพยำเกรงอย่างสูง พยานพระยะโฮวาจึงบอกเล่าการสำแดงฤทธิ์อำนาจของพระเจ้า. เรื่องสำคัญที่ผู้ถูกเจิมสนทนากับเพื่อนร่วมงานทางแผ่นดินโลกได้แก่เรื่องผู้ยิ่งใหญ่ทรงดำเนินงานได้อย่างวิเศษพิสดารนั่นเอง! แม้กระทั่งการกดขี่ข่มเหงก็ไม่สามารถยับยั้งเขาไม่ให้บอกเรื่องเหล่านี้แก่ผู้อื่น รวมทั้งเรื่อง “ความยิ่งใหญ่” ของพระยะโฮวาด้วย.—กิจการ 4:18-31; 5:29.
จงสรรเสริญพระยะโฮวาเพราะคุณความดีของพระองค์
12. ความดีของพระยะโฮวาทำให้เราต้อง “พร่ำลือ” อย่างไร?
12 พระเจ้าสมควรได้รับคำสรรเสริญไม่เพียงแต่เพราะพระองค์ทรงความยิ่งใหญ่แต่เพราะพระองค์ทรงคุณความดีและชอบธรรม. ฉะนั้นดาวิดได้ตรัสว่า “พวกเขาจะพร่ำลือถึงคุณความดีอันอุดมมากมายของพระองค์ และพวกเขาจะเปล่งเสียงร้องด้วยความยินดี เนื่องด้วยความชอบธรรมของพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 145:7, ล.ม.) คุณความดีของพระยะโฮวานั้นมากมายเหลือเกินจนเรา “พร่ำลือ” บอกเล่าเรื่องนี้อย่างชื่นชมยินดี. คำฮีบรูให้แนวคิดว่าเหมือนน้ำไหลพล่านจากบ่อน้ำพุ. ดังนั้น ขอให้เราพร่ำกล่าวสรรเสริญพระเจ้าด้วยความขอบคุณ เหมือนธารน้ำเชี่ยว. (สุภาษิต 18:4) ชาติยิศราเอลประสบความเสียหายฝ่ายวิญญาณอย่างรุนแรงเมื่อเขาละลืมคุณความดีของพระยะโฮวา. (บทเพลงสรรเสริญ 106:13-43) แต่แทนที่จะเป็นอย่างนั้น จงให้หัวใจของเราล้นปรี่ด้วยความกตัญญูที่ผู้อื่นจะสำนึกและกลับใจหลังจากเขาเรียนรู้ว่าพระยะโฮวาทรงกระทำดีมากสักเพียงไรต่อเหล่าพยานที่ได้อุทิศตัวแด่พระองค์.—โรม 2:4.
13. การปรากฏให้เห็นซึ่งความยุติธรรมและความชอบธรรมของพระเจ้าเช่นนั้นน่าจะมีผลกระทบพวกเราอย่างไร?
13 ขอให้การสำแดงซึ่งความยุติธรรมและความชอบธรรมของพระเจ้านั้นกระตุ้นพวกเราให้เปล่งเสียงด้วยความชื่นชมยินดี. ถ้าเรามีความรู้สึกอย่างนี้ เราจะไม่เพียงแสวงราชอาณาจักรของพระเจ้าก่อนสิ่งอื่น แต่จะแสวงความชอบธรรมของพระองค์ด้วย. เราคงอยากให้การประพฤติของเรานำมาซึ่งคำสรรเสริญแด่พระยะโฮวาตลอดเวลา. แน่นอน เราจะประกาศข่าวราชอาณาจักรเป็นประจำ พร้อมกับมีงานที่พึงทำมากมายในการรับใช้พระเจ้า. ถ้อยคำซึ่งเรากล่าวสรรเสริญพระยะโฮวาจะไม่มีวันถูกฝังไว้ในสุสานแห่งความเงียบ.—มัดธาย 6:33; 1 โกรินโธ 15:58; เฮ็บราย 10:23.
พระยะโฮวาทรงเปี่ยมด้วยความเมตตา
14. มีพยานหลักฐานอะไรแสดงว่า “พระยะโฮวาทรงประกอบด้วยพระเมตตากรุณา”?
14 โดยกล่าวเพิ่มในเรื่องคุณลักษณะของพระเจ้าซึ่งคู่ควรกับคำสรรเสริญกษัตริย์ดาวิดตรัสดังนี้: “พระยะโฮวาทรงประกอบด้วยพระเมตตากรุณา ทรงกริ้วช้าและมีความกรุณารักใคร่ใหญ่หลวง.” (บทเพลงสรรเสริญ 145:8, ล.ม.) พระเจ้าทรงเต็มไปด้วยพระกรุณาโดยที่พระองค์ทรงเปี่ยมด้วยความดีและมีพระทัยกว้าง. (มัดธาย 19:17; ยาโกโบ 1:5) พระองค์ทรงกระทำการดีกระทั่งต่อบรรดาผู้คนที่ไม่ได้รับใช้พระองค์เสียด้วยซ้ำ. (กิจการ 14:14-17) นอกจากนั้น พระยะโฮวาทรงมีพระทัยเมตตา รักใคร่สงสาร “ทรงระลึกว่าเราเป็นผงคลีดิน.” พระองค์หาได้เหยียดหยามคนชอกช้ำหรือดำเนินการอย่างสาสมกับการผิดของเราไม่ แต่ทรงเมตตามากยิ่งกว่าบิดาที่เป็นมนุษย์รักบุตรของตน. (บทเพลงสรรเสริญ 51:17; 103:10-14) ด้วยการแสดงความเมตตาครั้งยิ่งใหญ่ พระองค์ทรงส่งพระบุตรที่รักให้วายพระชนม์แทนเรา เพื่อเราจะได้คืนดีกับพระเจ้า และจะได้ลิ้มรสความกรุณาของพระองค์อย่างแท้จริง!—โรม 5:6-11.
15. ทำไมจึงอาจกล่าวได้ว่าพระเจ้ายะโฮวา “ทรงกริ้วช้า” และมี “ความรักใคร่ใหญ่หลวง”?
15 พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์ไม่ทรงกริ้วง่าย ๆ. พระองค์ไม่ทรงบันดาลโทสะอย่างไร้เหตุผล. อนึ่ง พระยะโฮวาทรงมี “ความกรุณารักใคร่ใหญ่หลวง.” คำฮีบรูตอนนี้หมายถึงความกรุณาสืบเนื่องจากความรักและซึ่งแนบสนิทกับสิ่งอันเป็นที่หมาย และเป็นเช่นนี้จนกระทั่งบรรลุจุดมุ่งหมายที่เล็งไว้. คำหนึ่งที่ใช้แทนกันได้คือ “ความรักที่ซื่อสัตย์.” ความกรุณารักใคร่ของพระเจ้าหรือความรักที่ซื่อสัตย์ได้แสดงให้ประจักษ์ด้วยการกระทำเพื่อช่วยให้หลุดพ้น การพิทักษ์ การคุ้มครอง การช่วยให้พ้นความทุกข์ยากเดือดร้อน และการหลุดพ้นจากบาปโดยค่าไถ่. (บทเพลงสรรเสริญ 6:4; 25:7; 31:16, 21; 40:11; 61:7; 119:88, 159; 143:12; โยฮัน 3:16) การที่พระยะโฮวาไม่ให้สงครามอาร์มาเก็ดดอนเกิดขึ้นภายหลัง ‘สงครามในสวรรค์’ ก็เปิดโอกาสให้ผู้คนจำนวนมากประสบความรอด ทั้งนี้เป็นการแสดงความกรุณารักใคร่อย่างใหญ่หลวงของพระเจ้า.—วิวรณ์ 12:7-12; 2 เปโตร 3:15.
16. โดยวิธีใดพระยะโฮวาทรงพิสูจน์ว่าพระองค์ “ทรงดีต่อทุกคน”?
16 เมื่อคำนึงถึงความเมตตาของพระเจ้า จึงอาจกล่าวได้ว่าพระองค์ทรงมีพระทัยเผื่อแผ่. ดาวิดทรงแถลงว่า “พระยะโฮวาทรงดีต่อทุกคน และพระเมตตาของพระองค์มีอยู่เหนือพระราชกิจทั้งสิ้นของพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 145:9, ล.ม.) ใช่แล้ว พระเจ้าทรงสำแดงพระคุณต่อชาวยิศราเอล. ที่แท้แล้ว “พระองค์ทรงบันดาลให้ดวงอาทิตย์ขึ้นส่องสว่างแก่คนดีและคนชั่ว และให้ฝนตกแก่คนชอบธรรมและคนอธรรม.” (มัดธาย 5:43-45) ณ สวนเอเดน พระยะโฮวาทรงสัญญาว่าจะมี “พงศ์พันธุ์” ซึ่งจะเป็นพระพร. ในเวลาต่อมาพระองค์ตรัสแก่อับราฮามว่า “และโดยทางพงศ์พันธุ์ของเจ้า ทุกชาติแห่งแผ่นดินโลกจะทำให้ตนเองได้พระพรเป็นแน่.” (เยเนซิศ 3:15; 22:18, ล.ม.) และคุณความดีของพระเจ้าใหญ่หลวงใน “สมัยสุดท้าย” นี้ ซึ่งใคร ๆ ก็สามารถ ‘มาดื่มน้ำแห่งชีวิตโดยไม่เสียค่า.’ (ดานิเอล 12:4; วิวรณ์ 22:17) พระยะโฮวาทรงเต็มพระทัยแสดงความดีแก่บรรดามนุษย์ที่มีเชาวน์ปัญญาและความดีของพระองค์น่าจะดึงดูดพวกเราเข้าใกล้ชิดพระองค์มากขึ้น.
17. “พระเมตตาของพระองค์มีอยู่เหนือราชกิจทั้งสิ้นของพระองค์” นั้นเป็นในแง่ใด?
17 “พระเมตตาของพระองค์มีอยู่เหนือพระราชกิจทั้งสิ้นของพระองค์” ซึ่งก็หมายความว่าพระองค์จัดเตรียมสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์และสัตว์ทั้งมวลอย่างพอเพียง. พระองค์ “ทรงประทานอาหารแก่สรรพสัตว์.” (บทเพลงสรรเสริญ 136:25; 147:9) พระเจ้าไม่ได้ให้เกียรติคนรวยและดูหมิ่นคนที่ถูกเหยียบย่ำ หรือยกย่องคนยโสแล้วเหยียดหยามคนใจถ่อม เทิดทูนคนโง่แล้วดูถูกคนมีปัญญา. มนุษย์ที่ผิดบาปมักจะแสดงท่าทีดังกล่าว แต่พระบิดาของเราในสวรรค์ผู้ซึ่งมีพระทัยเมตตาไม่เป็นเช่นนั้น. (บทเพลงสรรเสริญ 102:17; ซะฟันยา 3:11, 12; ท่านผู้ประกาศ 10:5-7) และความเมตตา ความดี ความกรุณารักใคร่ของพระเจ้านั้นมากมายใหญ่หลวงจริง ๆ ในการจัดทางให้มนุษย์มีโอกาสได้ความรอดโดยเครื่องบูชาไถ่ของพระบุตรที่รักองค์เดียวของพระองค์!—1 โยฮัน 4:9, 10.
บรรดาผู้ภักดีถวายเกียรติแด่พระยะโฮวา
18. (ก) ราชกิจต่าง ๆ ของพระเจ้า “สรรเสริญ” พระองค์โดยวิธีใด? (ข) เราควรรู้สึกอยากสรรเสริญพระยะโฮวาเมื่อไร?
18 พระเจ้าสมควรได้รับคำสรรเสริญจากทุกด้าน. ดังที่กษัตริย์ดาวิดกล่าวว่า “ข้าแต่พระยะโฮวา พระราชกิจทั้งสิ้นจะสรรเสริญพระองค์ และเหล่าผู้จงรักภักดีของพระองค์จะถวายเกียรติยศแด่พระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 145:10, ล.ม.) ราชกิจของพระเจ้าในด้านการสร้างสรรค์ “สรรเสริญ” พระองค์ เช่นเดียวกันกับบ้านที่ได้รับการสร้างอย่างดีก็ทำให้ผู้สร้างบ้านมีชื่อเสียง และแจกันใบงามบ่งบอกว่าช่างปั้นมีฝีมือ. (เทียบกับเฮ็บราย 3:4; ยะซายา 29:16; 64:8.) ผลงานต่าง ๆ ของพระยะโฮวาในเชิงสร้างสรรค์ช่างประหลาดล้ำเลิศจริง ๆ จนทำให้บรรดาทูตสวรรค์และมวลมนุษย์สรรเสริญพระองค์. ทูตสวรรค์ในฐานะบุตรของพระเจ้าพากันโห่ร้องด้วยความยินดีเมื่อพระองค์วางรากแผ่นดินโลก. (โยบ 38:4-7) ดาวิดตรัสว่า ‘ฟ้าสวรรค์ประกาศพระรัศมีของพระเจ้าและนภาลัยแสดงพระหัตถกิจของพระองค์.’ (บทเพลงสรรเสริญ 19:1-6) เราคงจะยกย่องพระยะโฮวาอย่างเหมาะสมเมื่อเห็นนกอินทรีบินฉวัดเฉวียนกลางหาวหรือเมื่อเห็นละมั่งกระโจนข้ามเนินเขาอันเขียวขจี. (โยบ 39:26; บทเพลงไพเราะของซะโลโม 2:17) การสรรเสริญเหมาะกับกาลเวลาตอนที่เราเก็บเกี่ยวพืชผลหรือรับประทานอาหารกับเพื่อน. (บทเพลงสรรเสริญ 72:16; สุภาษิต 15:17) ร่างกายของเราที่ถูกออกแบบอย่างน่าพิศวงก็อาจกระตุ้นเราให้กล่าวคำยกย่องสรรเสริญพระเจ้าเช่นกัน.—บทเพลงสรรเสริญ 139:14-16.
19. ใครคือ “ผู้ภักดี” และบุคคลเหล่านี้ทำอะไร?
19 เวลานี้ “ผู้ภักดี” ที่รับการเจิมด้วยพระวิญญาณของพระยะโฮวาซึ่งยังอยู่ในโลกได้ถวายเกียรติยศแด่พระองค์. พวกเขาพูดถึงพระองค์ล้วนแต่สิ่งดี ๆ ทั้งนั้นและตั้งใจคอยเวลาเมื่อพระทัยประสงค์ของพระองค์จะสำเร็จบนแผ่นดินโลกเหมือนที่สำเร็จแล้วในสวรรค์. (มัดธาย 6:9, 10) ขณะที่ผู้ถูกเจิมเหล่านี้บอกประชาชนเรื่องพระหัตถกิจอันน่าพิศวงของพระเจ้า ชนฝูงใหญ่ที่แสดงอาการตอบรับยิ่งทวีจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ. ด้วยความร้อนรน พวกเขาร่วมงานไปพร้อม ๆ กับชนผู้ภักดีที่ถูกเจิมในฐานะผู้ประกาศข่าวราชอาณาจักร. ความรู้สึกขอบคุณกระตุ้นคุณให้เข้าส่วนในงานนี้ไหมซึ่งจะยังคำสรรเสริญแด่พระเจ้า?
20. (ก) พระนามของพระยะโฮวาจะเป็นที่เคารพสักการะโดยวิธีใด? (ข) เกี่ยวกับเพลงสรรเสริญบท 145 มีคำถามอะไรที่ยังจะต้องพิจารณากันต่อไป?
20 ในฐานะเป็นพยานพระยะโฮวา พวกเราก็เหมือนดาวิดในการสรรเสริญพระเจ้า. สำหรับพวกเราการเทิดทูนพระนามบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาให้เป็นที่นับถือและการสรรเสริญพระนามเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง. เพราะเหตุที่ราชอาณาจักรของพระเจ้าจะทำให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันศักดิ์สิทธิ์ หลักคำสอนของคัมภีร์ไบเบิลเรื่องราชอาณาจักรจึงเป็นลักษณะเด่นของข่าวดีที่เรากำลังประกาศอยู่. เพลงสรรเสริญบท 145 ให้ความสว่างฝ่ายวิญญาณเกี่ยวกับเรื่องนี้ไหม? การพิจารณาของเราในส่วนที่เหลือของเพลงสรรเสริญบทนี้จะเปิดเผยเรื่องอะไร? จะพิสูจน์ในทางใดอีกว่าพระยะโฮวาสมควรได้รับการสรรเสริญตลอดกาลนาน?
คุณมีความเห็นอย่างไร?
▫ เราจะสามารถถวายเกียรติยศแด่พระนามพระยะโฮวาได้โดยวิธีใด?
▫ พระราชกิจของพระเจ้าซึ่งคู่ควรกับคำยกย่องนั้นมีอะไรบ้าง?
▫ เราจะทำประการใดถ้าเราหยั่งรู้ค่าความดีของพระเจ้า?
▫ พระเมตตาคุณของพระเจ้าได้ปรากฏให้เห็นในทางใด?