ให้ “สันติสุขของพระเจ้า” ป้องกันรักษาหัวใจของท่าน
“ขอพระยะโฮวาทรงเงยพระพักตร์ไปยังท่าน และประทานความสงบสุขแก่ท่าน.”—อาฤธโม 6:26, ล.ม.
1. ไม่นานก่อนเปาโลเสียชีวิต ท่านได้เขียนถึงติโมเธียวด้วยเรื่องอะไร เปิดเผยถึงสิ่งใด?
ปีสากลศักราช 65 อัครสาวกเปาโลถูกคุมขังอยู่ที่กรุงโรม. แม้ว่าไม่นานหลังจากนั้นท่านจะถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหดด้วยน้ำมือเพชฌฆาตชาวโรมัน แต่เปาโลอยู่อย่างสงบสุข. เรื่องนี้เห็นได้ชัดจากถ้อยคำซึ่งท่านเขียนถึงติโมเธียวสหายผู้อ่อนวัยกว่า เมื่อท่านกล่าวอย่างนี้: “ข้าพเจ้าเข้าในการปล้ำสู้อย่างดีแล้ว ข้าพเจ้าวิ่งแข่งถึงที่สุดปลายทางแล้ว ข้าพเจ้าได้รักษาความเชื่อไว้แล้ว. ตั้งแต่นี้ไปมีมงกุฎแห่งความชอบธรรมเก็บไว้สำหรับข้าพเจ้า ซึ่งองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้พิพากษาอันชอบธรรมจะทรงประทานแก่ข้าพเจ้าในกาลวันนั้น.”—2 ติโมเธียว 4:7, 8.
2. อะไรได้คุ้มครองรักษาหัวใจของเปาโลตลอดชีวิตของท่านอันเต็มไปด้วยเหตุการณ์ต่าง ๆ จนกระทั่งถึงแก่ความตาย?
2 เปาโลสามารถสงบสติอารมณ์ได้อย่างไรขณะที่เผชิญความตาย? ทั้งนี้เพราะ “สันติสุขแห่งพระเจ้าที่เหนือกว่าความคิดทุกอย่าง” ได้ป้องกันรักษาหัวใจของท่าน. (ฟิลิปปอย 4:7, ล.ม.) สันติสุขอย่างนี้แหละได้ป้องกันรักษาท่านตลอดเวลาหลายปีที่ได้ปฏิบัติภารกิจเต็มมือ นับตั้งแต่ท่านเปลี่ยนศาสนาเป็นคริสเตียน. สันติสุขนี้เองเป็นพลังหนุนท่านผ่านพ้นภัยเหล่าร้ายที่กลุ้มรุม การถูกจับกุมคุมขัง การถูกเฆี่ยนถูกโบย และถูกหินขว้าง. สันติสุขอย่างนี้เป็นกำลังหนุนขณะที่ท่านต่อต้านพวกออกหากและอิทธิพลพวกส่งเสริมศาสนายูดาย. ทั้งเป็นกำลังเสริมท่านเมื่อต่อสู้กับกองกำลังของผีปีศาจอันไม่ประจักษ์แก่ตา. เห็นได้ชัดว่า สันติสุขของพระเจ้าได้ชูกำลังท่านจนถึงที่สุด.—2 โกรินโธ 10:4, 5; 11:21-27; เอเฟโซ 6:11, 12.
3. มีการยกคำถามอะไรขึ้นมาเกี่ยวด้วยสันติสุขแห่งพระเจ้า?
3 เปาโลประสบว่าสันติสุขอย่างนี้ช่างเป็นพลังที่เข้มแข็งเพียงไร! พวกเราสมัยนี้จะเรียนรู้ได้ไหมว่า สันติสุขที่ว่านี้คืออะไร? สันติสุขนั้นจะคุ้มครองหัวใจของเราและชูกำลังเราไหมขณะที่เรา “ปล้ำสู้อย่างดีอันเกี่ยวกับความเชื่อ” ในระหว่าง “วิกฤตกาลซึ่งยากที่จะรับมือได้” นี้?—1 ติโมเธียว 6:12; 2 ติโมเธียว 3:1, ล.ม.
วิธีที่สันติสุขกับพระเจ้าได้สูญสิ้นไป
4. ความหมายของคำ “สันติสุข” ในพระคัมภีร์มีอะไรบ้าง?
4 ในพระคัมภีร์ คำ “สันติสุข” หมายความได้หลายอย่าง. ต่อไปนี้มีบางคำซึ่งถูกจัดเรียงไว้ใน เดอะ นิว อินเตอร์เนชันแนล ดิกชันนารี อ็อฟ นิว เทสทาเมนต์ ธีโอโลจี ดังนี้: “ตลอดฉบับพันธสัญญาเดิม คำ [ชาลอห์มʹ] (สันติสุข) หมายถึงสวัสดิภาพในแง่ที่คลุมกว้างขวางมากที่สุด (วินิจ. 19:20); ความเจริญมั่งคั่ง (เพลง. 73:3), แม้เมื่ออ้างอิงถึงคนไม่มีพระเจ้า; สุขภาพด้านร่างกาย (ยซา. 57:18 [, 19]; เพลง. 38:3); ความอิ่มใจ . . . (เย. 15:15 ฯลฯ); ความสัมพันธ์อันดีระหว่างชนชาติและระหว่างผู้คน ( . . . วินิจ. 4:17; 1 โคร. 12;17, 18); ความรอด ( . . . ยิระ. 29:11; เทียบยิระ. 14:13).” สำคัญที่สุดได้แก่สันติสัมพันธ์กับพระยะโฮวา หากไม่มีสันติสัมพันธ์กับพระองค์ สันติสุขจากแหล่งอื่นก็จะอยู่ได้เพียงชั่วคราวเท่านั้นและมีจำกัด.—2 โกรินโธ 13:11.
5. สันติสุขซึ่งเคยมีตอนแรกเดิมท่ามกลางสรรพสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้นถูกรบกวนอย่างไร?
5 แต่เดิมที สรรพสิ่งทั้งมวลที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้นต่างก็อยู่อย่างสงบสุขบริบูรณ์กับพระยะโฮวา. ด้วยเหตุผลที่ดี พระเจ้าทรงประกาศว่า งานสร้างสรรค์ทุกอย่างของพระองค์นั้นดีนัก. อันที่จริง เหล่าเทวทูตทั้งหลายเมื่อแลเห็นก็ได้เปล่งเสียงร้องด้วยความปีติ. (เยเนซิศ 1:31; โยบ 38:4-7) น่าเสียดายจริง ๆ ที่สันติสุขทั่วเอกภพมีอยู่ได้ไม่นาน. สันติสุขล่มสลายโดยสิ้นเชิงเมื่อกายวิญญาณตนนั้นซึ่งรู้จักกันในเวลานี้ว่าซาตานได้ชักจูงสิ่งมีเชาวน์ปัญญาใหม่ล่าสุดในบรรดาการสร้างของพระเจ้า คือฮาวาให้ละเมิดพระบัญชาของพระองค์. อาดามสามีของฮาวาก็ได้ทำตามด้วย ครั้นมีผู้กบฏสามรายเช่นนี้ จึงเกิดการไม่ปรองดองขึ้นในเอกภพ.—เยเนซิศ 3:1-6.
6. การสูญเสียสันติสุขกับพระเจ้าส่งผลเช่นไรถึงมนุษยชาติ?
6 การสูญเสียสันติภาพกับพระเจ้าหมายถึงความหายนะสำหรับอาดามและฮาวา ซึ่งมาถึงขั้นนี้แล้วร่างกายของคนทั้งสองก็ค่อยเสื่อมโทรมลง และในที่สุดก็ตาย. แทนที่จะมีสันติสุขในอุทยาน อาดามต้องตรากตรำทำงานบนแผ่นดินที่ไม่ได้เตรียมไว้พร้อมข้างนอกสวนเอเดนเพื่อเลี้ยงครอบครัวของเขาที่ทวีจำนวนคนมากขึ้นเรื่อย ๆ. แทนที่ฮาวาจะได้เป็นมารดาอุ้มชูบุตรหลานที่เป็นเผ่าพันธุ์มนุษย์สมบูรณ์ด้วยความอิ่มอกอิ่มใจ แต่นางได้ให้กำเนิดบุตรหลานผู้ไม่สมบูรณ์ด้วยความเจ็บปวดและเป็นทุกข์. ครั้นสันติสุขกับพระเจ้าขาดไปแล้วเช่นนี้ก็เกิดความอิจฉาริษยาและความรุนแรงขึ้นท่ามกลางมวลมนุษย์. คายินได้ฆ่าเฮเบล น้องชายของตัวเองและพอมาถึงสมัยน้ำท่วมโลก ทั่วแผ่นดินก็เต็มไปด้วยความรุนแรง. (เยเนซิศ 3:7–4:16; 5:5; 6:11, 12) เมื่อบิดามารดาคู่แรกของเราตาย เป็นที่แน่นอนว่าเขาไม่ได้ล่วงลับไปด้วยความอิ่มใจ “โดยผาสุก” ดังอับราฮามได้ประสบเมื่อหลายร้อยปีต่อมา.—เยเนซิศ 15:15.
7. (ก) พระเจ้าได้ตรัสพยากรณ์ถึงสิ่งใดอันเป็นการชี้ถึงการกอบกู้สันติสุขบริบูรณ์? (ข) ซาตานศัตรูของพระเจ้าได้กลายเป็นผู้มีอิทธิพลมากน้อยเพียงใด?
7 หลังจากอาดามกับฮาวาสูญเสียสันติสุขแล้ว เราได้พบคำพูดครั้งแรกในพระคัมภีร์ว่าด้วยความเป็นศัตรูกัน. พระเจ้าตรัสแก่อาดามว่า “เราจะบันดาลให้เจ้ากับหญิงนี้ทั้งเผ่าพันธุ์ของเจ้ากับเผ่าพันธุ์ของเราเป็นศัตรูกัน. เผ่าพันธุ์ของหญิงจะทำหัวของเจ้าให้ฟกช้ำ และเจ้าจะทำให้ส้นเท้าของเขาฟกช้ำ.” (เยเนซิศ 3:15) ครั้นวันเวลาผ่านไป แรงชักจูงของซาตานยิ่งทวีขึ้นถึงขีดที่อัครสาวกโยฮันสามารถพูดได้ว่า “โลกทั้งสิ้นทอดตัวจมอยู่ในมารร้าย.” (1 โยฮัน 5:19) โลกที่ซาตานครอบงำอยู่จะมีสันติสุขกับพระเจ้าไม่ได้อย่างแน่นอน. เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงเหมาะสมที่สาวกยาโกโบได้เตือนคริสเตียนดังนี้: “ท่านไม่รู้หรือว่าการเป็นมิตรกับโลกก็เป็นศัตรูต่อพระเจ้า?”—ยาโกโบ 4:4.
อยู่อย่างสงบสุขท่ามกลางโลกที่เป็นศัตรู
8, 9. หลังจากอาดามทำบาปแล้ว มนุษย์อาจจะมีสันติสุขกับพระเจ้าได้อย่างไร?
8 ย้อนหลังไปในสวนเอเดน เมื่อพระเจ้าตรัสคำว่า “ศัตรู” เป็นครั้งแรก พระองค์ยังได้ตรัสไว้ล่วงหน้าถึงวิธีที่สันติสุขครบถ้วนจะถูกนำกลับคืนมาสู่โลกซึ่งพระเจ้าได้สร้างขึ้น. พงศ์พันธุ์ผู้หญิงของพระเจ้าตามที่สัญญาไว้จะทำให้หัวของผู้ทำลายสันติสุขแต่แรกเดิมนั้นฟกช้ำ. จากสมัยสวนเอเดนเรื่อยมา บรรดาผู้เชื่อคำสัญญานั้นประสบความสัมพันธ์อันสงบสุขกับพระเจ้า. สำหรับอับราฮาม ความสัมพันธ์ชนิดนี้นำไปสู่ความเป็นมิตรภาพ.—2 โครนิกา 20:7; ยาโกโบ 2:23.
9 ในสมัยโมเซ พระยะโฮวาก่อตั้งลูกหลานยิศราเอล เหลนของอับราฮามขึ้นเป็นชาติหนึ่ง. พระองค์ทรงเสนอสันติสุขของพระองค์แก่ชนชาตินี้ ดังทราบได้จากคำอวยพรของอาโรนมหาปุโรหิตที่แถลงต่อคนเหล่านั้นว่า “ขอพระยะโฮวาทรงอวยพรท่านและพิทักษ์ท่าน. ขอพระยะโฮวาทรงเงยพระพักตร์ไปยังท่านและประทานความสงบสุขแก่ท่าน.” (อาฤธโม 6:24-26, ล.ม.) ความสงบสุขที่พระยะโฮวาประทานย่อมนำมาซึ่งบำเหน็จอันบริบูรณ์ แต่การเสนอนั้นมีเงื่อนไข.
10, 11. สำหรับชาติยิศราเอลนั้น การมีสันติสุขกับพระเจ้าอาศัยเงื่อนไขอะไร และจะยังผลประการใด?
10 พระยะโฮวาทรงรับสั่งแก่ชนชาตินี้ว่า “ถ้าเจ้าดำเนินตามข้อปรนนิบัติและรักษาบทบัญญัติทั้งหลายของเราและทำตาม เราจะให้ฝนตกในวสันตฤดูแก่เจ้า และแผ่นดินจะเกิดพืชพันธุ์ ต้นไม้ทั้งปวงในไร่สวนจะเกิดผล. เราจะให้มีความสุขในแผ่นดิน และเจ้าทั้งหลายจะนอนลง จะไม่มีสิ่งใดที่ให้เจ้าทั้งหลายกลัว เราจะกำจัดไล่สัตว์ทั้งปวงจากแผ่นดิน และเราจะไม่ให้ข้าศึกเข้ามาในแผ่นดินของเจ้าเลย. เราจะดำเนินในท่ามกลางเจ้าทั้งหลาย จะเป็นพระเจ้าของเจ้าและเจ้าทั้งหลายจะเป็นไพร่พลของเรา.” (เลวีติโก 26:3, 4, 6, 12) ชาติยิศราเอลจะอยู่ด้วยความสงบสุขเนื่องจากเขาจะปลอดภัยไม่ต้องกลัวศัตรู อุดมสมบูรณ์ด้วยสินทรัพย์และมีสัมพันธภาพอันแน่นแฟ้นกับพระยะโฮวา. แต่ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับการยึดมั่นในพระบัญญัติของพระยะโฮวา.—บทเพลงสรรเสริญ 119:165.
11 ตลอดสมัยประวัติศาสตร์ของชาตินี้ ชาวยิศราเอลซึ่งโดยความซื่อสัตย์ได้พยายามรักษาพระบัญญัติของพระยะโฮวามีสันติสุขกับพระองค์ และด้วยเหตุนี้เขาจึงได้รับพระพรหลายอย่างมากมาย. สมัยรัชกาลกษัตริย์ซะโลโม สภาพสันติระหว่างชาตินี้กับพระเจ้าได้ยังความเจริญมั่นคั่งมาสู่พลเมือง และอยู่สงบไม่มีการทำศึกสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านของยิศราเอล. เมื่อพรรณนาถึงกาลสมัยนั้น พระคัมภีร์ระบุว่า “ชาวยูดาและยิศราเอลนั้นก็ได้อาศัยอยู่โดยความผาสุก ทุกคนก็อยู่ใต้เถาองุ่น และใต้ต้นมะเดื่อเทศของตน ตั้งแต่เมืองดานจนถึงเมืองบะเอละซาบาตลอดพระชนม์แห่งกษัตริย์ซะโลโม.” (1 กษัตริย์ 4:25) ถึงแม้ได้เกิดการทำศึกสงครามกับชาติใกล้เคียง ชาวยิศราเอลที่ซื่อสัตย์ก็ยังคงมีสันติสุขซึ่งนับว่าสำคัญจริง ๆ คือสันติสุขกับพระเจ้า. ด้วยเหตุนี้ กษัตริย์ดาวิด นักรบที่เก่งกล้าได้จารึกไว้ว่า “ข้าพเจ้าจะทอดกายลงนอนหลับในความสงบสุข โอ้พระยะโฮวา พระองค์เท่านั้นที่ทรงบันดาลให้ข้าพเจ้าอยู่ในความปลอดภัย.”—บทเพลงสรรเสริญ 4:8.
พื้นฐานที่ดีกว่าสำหรับสันติสุข
12. ในที่สุดชาติยิศราเอลปฏิเสธที่จะมีสันติสุขกับพระเจ้าอย่างไร?
12 ในที่สุด พงศ์พันธุ์ที่จะนำสันติสุขบริบูรณ์กลับคืนมาอีกก็ปรากฏโฉมเป็นพระเยซู และในคราวประสูติกาลของพระองค์ ทูตสวรรค์ได้ร้องเพลงว่า “รัศมีภาพจงมีแก่พระเจ้าในที่สูงสุด และบนแผ่นดินโลกจงมีความสุขสงบสำราญท่ามกลางมนุษย์ทั้งปวงซึ่งพระองค์ทรงรักใคร่นั้น.” (ลูกา 2:14) พระเยซูได้บังเกิดในประเทศยิศราเอล แต่ทั้งที่ชาตินี้อยู่ภายใต้คำสัญญาไมตรีของพระเจ้า โดยส่วนรวมแล้วเขาได้ปฏิเสธพระเยซูและได้มอบพระองค์ไว้ในมือชาวโรมันให้ประหารพระองค์เสีย. ไม่นานก่อนพระเยซูถูกปลงพระชนม์ พระองค์ทรงกันแสงสงสารกรุงนั้นว่า “โอ้ถ้าเจ้าคือเจ้าเองได้รู้ในกาลวันนี้ว่าสิ่งอะไรจะให้ความสุข แต่เดี๋ยวนี้สิ่งนั้นยังซ่อนไว้จากตาของเจ้าแล้ว.” (ลูกา 19:42; โยฮัน 1:11) เพราะการปฏิเสธพระเยซู ชาติยิศราเอลจึงได้สูญเสียสันติสุขกับพระเจ้าโดยสิ้นเชิง.
13. พระยะโฮวาจัดให้มีวิถีทางใหม่อะไรขึ้นเพื่อว่ามนุษย์จะประสบสันติสุขกับพระองค์?
13 อย่างไรก็ดี การเช่นนั้นไม่ได้ขัดขวางจุดมุ่งหมายของพระเจ้า. พระเยซูได้รับการปลุกคืนพระชนม์ แล้วพระองค์ทรงเสนอคุณค่าชีวิตสมบูรณ์ของพระองค์เป็นค่าไถ่สำหรับมนุษย์ทั้งหลายที่มีหัวใจเป็นธรรม. (เฮ็บราย 9:11-14) เครื่องบูชาของพระคริสต์จึงกลายเป็นแนวทางใหม่และดีกว่าสำหรับมนุษย์—ทั้งยิศราเอลโดยกำเนิดและคนต่างชาติ—จะประสบสันติสุขกับพระเจ้า. เปาโลพูดไว้ในจดหมายที่เขียนไปถึงคริสเตียน ณ กรุงโรมว่า “เมื่อเราทั้งหลายยังเป็นศัตรูเราได้กลับเป็นไมตรีกันกับพระเจ้าโดยความตายแห่งพระบุตรของพระเจ้า.” (โรม 5:10) ในศตวรรษแรก บรรดาผู้แสวงสันติสุขแนวนี้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อจะเป็นบุตรของพระเจ้าพระบิดาของเขา และเขาเป็นสมาชิกแห่งชนชาติฝ่ายวิญญาณเรียกว่า “ยิศราเอลของพระเจ้า.”—ฆะลาเตีย 6:16; โยฮัน 1:12, 13; 2 โกรินโธ 1:21, 22; 1 เปโตร 2:9.
14, 15. จงพรรณนา “สันติสุขแห่งพระเจ้า” และอธิบายว่าสันติสุขนี้คุ้มครองคริสเตียนอย่างไรกระทั่งในยามที่เขาเป็นเป้าของซาตานตัวปรปักษ์นั้น.
14 ยิศราเอลฝ่ายวิญญาณชาติใหม่นี้กลายเป็นเป้าที่ซาตานและโลกของมันมุ่งต่อต้าน. (โยฮัน 17:14) อย่างไรก็ตาม พวกเขาจะมี “สันติสขุจากพระเจ้าพระบิดาและพระคริสต์เยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา.” (2 ติโมเธียว 1:2, ล.ม.) พระเยซูตรัสกับคนเหล่านี้ว่า “เราได้บอกสิ่งเหล่านี้แก่เจ้าทั้งหลาย เพื่อเจ้าจะมีสันติสุขโดยเรา ในโลกนี้เจ้ามีความทุกข์ลำบาก แต่จงกล้าหาญเถิด! เราชนะโลกแล้ว.”—โยฮัน 16:33, ล.ม.
15 นี้แหละคือสันติสุขซึ่งมีส่วนช่วยเปาโลและเพื่อนคริสเตียนที่ร่วมงานกับท่านให้อดทนสู้ความยากลำบากนานาประการที่เขาได้เผชิญ. สันติสุขนี้สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์อันสงบเยือกเย็นปรองดองกับพระเจ้า ซึ่งเป็นไปได้โดยเครื่องบูชาของพระคริสต์. ผู้เปี่ยมด้วยสันติสุขอย่างนี้ย่อมมีใจสงบเยือกเย็นเมื่อเขารู้ว่าพระยะโฮวาทรงใฝ่พระทัย. เด็กซุกตัวอยู่ในอ้อมแขนอันอบอุ่นของบิดาคงมีความรู้สึกสงบสุขทำนองเดียวกัน เป็นความแน่ใจอย่างไม่ต้องสงสัยว่าเขามีผู้ที่คอยเฝ้าดูแลเอาใจใส่เขา. เปาโลพูดให้กำลังใจชาวฟิลิปปอยดังนี้: “อย่ากระวนกระวายด้วยสิ่งใด แต่ในทุกสิ่งจงทูลของต่อพระเจ้าโดยการอธิษฐานและการวิงวอนพร้อมด้วยการขอบพระคุณ แล้วสันติสุขแห่งพระเจ้าที่เหนือกว่าความคิดทุกอย่างจะป้องกันรักษาหัวใจและความสามารถในการคิดของท่านไว้ในพระเยซูคริสต์.”—ฟิลิปปอย 4:6, 7, ล.ม.
16. สันติสุขกับพระเจ้าส่งผลกระทบอย่างไรต่อสัมพันธภาพท่ามกลางคริสเตียนสมัยศตวรรษแรก?
16 ผลประการหนึ่งที่ตามมาเมื่อมนุษยชาติขาดสันติสุขแห่งพระเจ้าก็คือการเกลียดชังและไม่ปรองดองกัน. สำหรับคริสเตียนศตวรรษแรก การได้รับสันติสุขที่มาจากพระเจ้ามีผลตรงกันข้าม: พวกเขามีความสงบสุขและเป็นเอกภาพในระหว่างพวกเขา เปาโลกล่าวว่า “สันติสุขผูกมัดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว.” (เอเฟโซ 4:3) คริสเตียนเหล่านั้น ‘เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและอยู่ด้วยกันอย่างสันติ และพระเจ้าแห่งความรักและสันติสุขสถิตอยู่กับพวกเขา.’ ยิ่งกว่านั้น พวกเขาได้ “ประกาศข่าวความสุข” ซึ่งในด้านความสำคัญแล้วคือข่าวดีเกี่ยวด้วยความรอดสำหรับ ‘ลูกแห่งความสุข’ ผู้ตอบสนองข่าวดี.—2 โกรินโธ 13:11; กิจการ 10:36; ลูกา 10:5, 6.
คำสัญญาไมตรีสันติภาพ
17. พระเจ้าทรงตั้งอะไรขึ้นไว้กับไพร่พลของพระองค์สมัยนี้?
17 สมัยนี้จะประสบสันติสุขดังกล่าวได้ไหม? ได้แน่นอน. ตั้งแต่การสถาปนาราชอาณาจักรของพระเจ้าภายใต้พระเยซูผู้ซึ่งได้รับสง่าราศีในปีสากลศักราช 1914 พระยะโฮวาได้ทรงรวบรวมชนที่เหลือแห่งยิศราเอลของพระเจ้าออกจากโลกนี้ แล้วทรงตั้งพันธสัญญาสันติภาพกับเขา. เหตุฉะนั้น พระองค์ได้กระทำให้สำเร็จตามคำสัญญาของพระองค์ผ่านผู้พยากรณ์ยะเอศเคลที่ว่า “เราจะทำพันธสัญญาสันติภาพกับเขา จะเป็นพันธสัญญานิรันดรแก่เขา. และเราจะอวยพรเขา และให้เขาทวีขึ้น และเราจะวางสถานนมัสการของเราไว้ท่ามกลางเขาเป็นนิตย์.” (ยะเอศเคล 37:26, ฉบับแปลใหม่) พระยะโฮวาได้กระทำคำสัญญาไมตรีนี้กับคริสเตียนผู้ถูกเจิมซึ่ง เหมือนพี่น้องของเขาสมัยศตวรรษแรก แสดงความเชื่อในเครื่องบูชาของพระเยซู. เนื่องจากถูกชำระปราศจากภาวะมลพิษฝ่ายวิญญาณแล้ว เขาจึงได้อุทิศตัวแด่พระบิดาทางภาคสวรรค์ และมุ่งมั่นปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็โดยการเป็นกองหน้าในงานประกาศเผยแพร่ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าที่ได้สถาปนาขึ้นแล้ว.—มัดธาย 24:14.
18. บางคนท่ามกลางชนชาติต่าง ๆ ได้ตอบสนองอย่างไรเมื่อเขาเห็นว่าพระนามของพระเจ้าอยู่กับยิศราเอลของพระเจ้า?
18 คำพยากรณ์ยังกล่าวต่อไปว่า “พระวิหารของเราจะอยู่ด้วยเขาทั้งหลายและเราจะเป็นพระเจ้าของเขา เขาจะเป็นพลไพร่ของเรา. และพวกนานาประเทศจะได้รู้ว่าเราคือยะโฮวา ผู้กระทำพวกยิศราเอลให้บริสุทธิ์.” (ยะเอศเคล 37:27, 28) ประสานกันกับข้อนี้ ผู้คนนับหลายแสนหลายล้านจาก “นานาประเทศ” ได้มารู้จักพระนามพระยะโฮวาอยู่กับยิศราเอลของพระเจ้า. (ซะคาระยา 8:23) พวกเขาได้ออกมาจากทุกประเทศทุกชาติมารับใช้พระยะโฮวาร่วมกันกับชนชาติฝ่ายวิญญาณนั้น คนเหล่านี้ประกอบกันเป็น “ชนฝูงใหญ่” ดังมีภาพแสดงไว้ที่พระธรรมวิวรณ์. ด้วยการ “ชำระเสื้อยาวของเขาและทำให้ขาวในพระโลหิตของพระเมษโปดก” พวกเขาจึงจะรอดชีวิตผ่านความทุกข์ลำบากใหญ่เข้าสู่โลกใหม่ที่สงบสุข.—วิวรณ์ 7:9, 14, ล.ม.
19. เวลานี้ไพร่พลของพระเจ้าชื่นชมกับสันติสุขชนิดไหน?
19 รวมกัน ยิศราเอลของพระเจ้าและชนฝูงใหญ่ต่างก็มีสันติสุขฝ่ายวิญญาณซึ่งเทียบได้กับความสงบสุขในหมู่ชาวยิศราเอลสมัยกษัตริย์ซะโลโม. เกี่ยวกับพลเมืองเหล่านี้มีคาได้พยากรณ์ว่า “เขาจะเอาดาบของเขาตีเป็นผาลไถนา และเอาหอกตีเป็นขอสำหรับลิดแขนง. ประเทศต่อประเทศจะไม่ยกดาบขึ้นต่อสู้กัน และเขาจะไม่ศึกษายุทธศาสตร์อีกต่อไป. ต่างคนก็จะนั่งอยู่ใต้ซุ้มเถาองุ่นและใต้ต้นมะเดื่อเทศของตน และจะไม่มีอะไรมาทำให้เขาสะดุ้งกลัว.” (มีคา 4:3, 4; ยะซายา 2:2-4) ลงรอยกันกับข้อนี้ พวกเขาหันหลังให้การสู้รบ โดยนัยแล้วเขาตีดาบเป็นผาลไถนาและตีหอกเป็นขอสำหรับลิดกิ่งไม้. ด้วยเหตุนี้ เขาจึงมีความสัมพันธ์ฉันพี่น้อง อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขในสังคมระหว่างชาติ โดยไม่ถือเชื้อชาติ ภาษา เผ่าพันธุ์ หรือพื้นเพทางสังคมของเขา. และเขาต่างก็ชื่นชมในความแน่นอนที่ว่าเขาได้รับการคุ้มครองดูแลจากพระยะโฮวา. ‘ไม่มีอะไรทำให้เขาสะดุ้งกลัว.’ จริงทีเดียว ‘พระยะโฮวาทรงประทานกำลังแก่ไพร่พลของพระองค์ พระยะโฮวาทรงอวยพรไพร่พลของพระองค์ให้มีสันติสุข.’—บทเพลงสรรเสริญ 29:11.
20, 21. (ก) เหตุใดเราจึงต้องพากเพียรเพื่อรักษาสันติสุขที่เรามีกับพระเจ้าให้คงอยู่? (ข) เราอาจกล่าวได้อย่างไรเกี่ยวกับความพยายามของซาตานที่จะทำลายสันติสุขแห่งไพร่พลของพระเจ้า?
20 อย่างไรก็ตาม เหมือนในศตวรรษแรก สันติสุขแห่งผู้รับใช้ของพระเจ้าทำให้ซาตานจ้องเล่นงาน. ครั้นมันถูกขับออกจากสวรรค์ภายหลังการสถาปนาราชอาณาจักรของพระเจ้าในปี 1914 ตั้งแต่นั้นมาซาตานได้ทำสงครามกับ “พงศ์พันธุ์ของผู้หญิงที่เหลืออยู่นั้น.” (วิวรณ์ 12:17) แม้ในสมัยของเปาโล ท่านได้เตือนไว้ว่า “เรามีการปล้ำสู้ ไม่ใช่กับเลือดและเนื้อแต่ . . . ต่อสู้กับอำนาจวิญญาณชั่วในสวรรค์สถาน.” (เอเฟโซ 6:21) เนื่องจากเวลานี้ซาตานถูกจำกัดที่อยู่เฉพาะบริเวณแผ่นดินโลกเท่านั้น คำเตือนดังกล่าวจึงเป็นการเร่งด่วน.
21 ซาตานได้ใช้กลอุบายทุกอย่าง เพื่อทำลายสันติสุขแห่งไพร่พลของพระเจ้า แต่มันทำไม่สำเร็จ. ย้อนไปในปี 1919 ตอนนั้นบรรดาผู้ที่พยายามปฏิบัติพระเจ้าด้วยความซื่อสัตย์ยังมีไม่ถึง 10,000 คน. เวลานี้มีมากกว่าสี่ล้านคนที่ชนะโลกโดยความเชื่อของเขา. (1 โยฮัน 5:4) สำหรับคนเหล่านี้ สันติสุขกับพระเจ้าและสันติสุขในท่ามกลางพวกเขาเองมีอยู่จริง แม้ขณะเขาอดทนต่อความเป็นศัตรูแห่งซาตานและพงศ์พันธุ์ของมัน. แต่เมื่อคำนึงถึงความเป็นศัตรูกับซาตานเช่นนี้ และตริตรองความไม่สมบูรณ์ของตัวเรา และยุคนี้ที่เรามีชีวิตอยู่อันเป็น “วิกฤตกาลซึ่งยากจะรับมือได้” เราต้องอุตส่าห์พากเพียรรักษาสันติสุขที่เรามีให้คงอยู่ต่อไป. (2 ติโมเธียว 3:1) ในบทความต่อไปเราจะพิจารณาว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับอะไร.
คุณจะอธิบายได้ไหม?
▫ ทำไมมนุษย์สูญเสียสันติสุขที่เคยมีกับพระเจ้าแต่เดิมที?
▫ สำหรับชาติยิศราเอล สันติสุขกับพระเจ้าอาศัยเงื่อนไขอะไร?
▫ สมัยนี้สันติสุขกับพระเจ้าอาศัยหลักเกณฑ์อะไร?
▫ “สันติสุขแห่งพระเจ้า” ซึ่งคุ้มครองหัวใจของเรานั้นได้แก่อะไร?
▫ เรายังจะได้รับพระพรอะไรมากยิ่งขึ้นถ้าเรามีสันติสุขกับพระเจ้า?