มาเป็นเอกภาพโดยภาษาบริสุทธิ์
“เพราะตอนนั้น เราจะให้มีการเปลี่ยนเป็นภาษาบริสุทธิ์แก่ประชาชน เพื่อเขาทุกคนจะได้ร้องถึงพระนามของพระยะโฮวา เพื่อจะรับใช้พระองค์เคียงบ่าเคียงไหล่กัน.”—ซะฟันยา 3:9 ล.ม.
1. ผู้คนเคยได้ยินพระเจ้ายะโฮวาตรัสไหม?
ภาษาของพระเจ้ายะโฮวาเป็นภาษาบริสุทธิ์. แต่มนุษย์เคยได้ยินเสียงตรัสของพระองค์ไหม? แน่นอน! อุบัติการณ์ครั้งนั้นปรากฏขึ้นเมื่อพระเยซูคริสต์พระบุตรของพระองค์อยู่ในโลกสิบเก้าศตวรรษมาแล้ว. ดังเช่นคราวที่พระเยซูรับบัพติสมา มีคนได้ยินพระเจ้าตรัสว่า “ท่านนี้เป็นบุตรที่รักของเรา เราชอบใจท่านมาก.” (มัดธาย 3:13-17) นั่นคือคำกล่าวแสดงสัจธรรมบริสุทธิ์ ซึ่งพระเยซูและโยฮันผู้ให้บัพติสมาได้ยินเป็นภาษามนุษย์.
2. การอ้างอิงของอัครสาวกเปาโลถึง “ภาษาทูตสวรรค์” นั้นบ่งชี้ถึงอะไร?
2 หลายปีต่อมา เปาโลคริสเตียนอัครสาวกพูดถึง ‘ภาษามนุษย์ และภาษาทูตสวรรค์.’ (1 โกรินโธ 13:1) ข้อนี้ชี้ถึงอะไร? ก็แสดงให้รู้ว่าไม่มีเพียงภาษามนุษย์เท่านั้น แต่พวกกายวิญญาณก็มีภาษาและคำพูดเหมือนกัน! จริงอยู่ พระเจ้าและพวกทูตสวรรค์ไม่สื่อความหมายติดต่อระหว่างกันโดยการใช้สำเนียงหรือภาษาซึ่งมนุษย์เราฟังออกหรือจะเข้าใจได้. ทำไมเป็นเช่นนั้น? เพราะบรรยากาศอย่างที่หุ้มห่อโลกเป็นสิ่งจำเป็นต่อการกระจายคลื่นเสียงพูดเพื่อหูของมนุษย์จะได้ยินและเข้าใจ.
3. ภาษามนุษย์เริ่มต้นขึ้นมาอย่างไร?
3 ภาษามนุษย์เริ่มขึ้นมาอย่างไร? บางคนกล่าวว่ามนุษย์สมัยโบราณสื่อความหมายกันโดยส่งเสียงเหมือนหมูหรือด้วยเสียงคราง. หนังสือ เอโวลูชัน (ห้องสมุดไลฟ์เนเจอร์) ว่า “มนุษย์วานรเมื่อราว ๆ หนึ่งล้านปีมาแล้ว . . . คงส่งสำเนียงพูดได้เพียงไม่กี่คำ.” แต่นายลุดวิค เคอห์เลอร์ผู้เรียบเรียงพจนานุกรมที่มีชื่อบอกว่า “คำพูดของมนุษย์เป็นสิ่งลึกลับ เป็นของประทานจากพระเจ้า เป็นสิ่งมหัศจรรย์.” ถูกต้อง คำพูดของมนุษย์เป็นของประทานที่มาจากพระเจ้า เพราะพระเจ้าได้ประทานภาษาแก่อาดามมนุษย์คนแรก. ดูเหมือนภาษานี้ต่อมาถูกเรียกว่าภาษาฮีบรู มีการพูดภาษานี้ในท่ามกลางลูกหลานยิศราเอลเชื้อสายของ “อับรามชาติเฮ็บราย” บรรพชนผู้ซื่อสัตย์ซึ่งสืบเชื้อสายจากเซมบุตรของโนฮาที่ได้ต่อนาวา. (เยเนซิศ 11:10-26; 14:13; 17:3-6) เมื่อคำนึงถึงพระพรเชิงพยากรณ์ที่พระเจ้าทรงประทานแก่เซมแล้ว นับว่ามีเหตุผลจะสรุปได้ว่า ภาษาของเซมไม่ได้รับผลกระทบจากสิ่งซึ่งพระเจ้ายะโฮวาทรงกระทำอย่างอัศจรรย์เมื่อ 43 ศตวรรษมาแล้ว.—เยเนซิศ 9:26.
4. นิมโรดคือใคร และซาตานพญามารได้ใช้ผู้นี้อย่างไร?
4 เวลานั้น “คนทั้งหลายทั่วโลกพูดภาษาเดียวกัน และมีศัพท์สำเนียงเดียวกัน.” (เยเนซิศ 11:1, ฉบับแปลใหม่) ชายผู้หนึ่งชื่อนิมโรดมีชีวิตอยู่ในสมัยนั้น “ได้สำแดงตนเป็นพรานผู้มีกำลังมากต่อต้านพระยะโฮวา.” (เยเนซิศ 10:8, 9, ล.ม.) ซาตานศัตรูสำคัญของมนุษยชาติซึ่งไม่เป็นที่ประจักษ์ได้ใช้นิมโรดโดยเฉพาะให้จัดตั้งองค์การของพญามารขึ้นทางโลกนี้. นิมโรดต้องการสร้างชื่อเสียงสำหรับตัวเอง และท่าทียโสเช่นนั้นขยายวงกว้างไปถึงพวกผู้ติดตามทั้งหลาย ซึ่งเริ่มดำเนินงานในโครงการก่อสร้างพิเศษที่แผ่นดินซีนาร. ดังปรากฏในเยเนซิศบท 11 ข้อ 4 พวกเขากล่าวว่า “มาเถิด ให้เราสร้างเมืองขึ้นและก่อหอสูงให้มียอดเทียมฟ้าเพื่อเราจะได้มีชื่อเสียงไว้ ไม่ต้องกระจัดกระจายไปทั่วโลก.” โครงการนั้นอันเป็นการขัดขืนคำสั่งของพระเจ้าที่ให้ “บรรจุแผ่นดินให้เต็ม” ได้ล้มเลิกไปเมื่อพระยะโฮวาทรงบันดาลภาษาของเหล่ากบฏนั้นสับสนยุ่งเหยิงไป. เรื่องนี้มีกล่าวในคัมภีร์ไบเบิลว่า “พระยะโฮวาจึงทรงบันดาลให้เขาพลัดพรากจากที่นั่นไปทั่วพื้นแผ่นดินโลก คนทั้งหลายก็เลิกการสร้างเมืองนั้นเสีย.” (เยเนซิศ 9:1; 11:2-9) เมืองนั้นชื่อบาเบล หรือบาบูโลน (หมายความว่า “ยุ่งเหยิง”) “เพราะว่าที่นั่นพระยะโฮวาทรงบันดาลให้ภาษาของเขาวุ่นวายไปทั้งโลก.”—ฉบับแปลไบอิงตัน.
5. (ก) อะไรได้รับการป้องกันไว้เมื่อพระเจ้าบันดาลให้เกิดความยุ่งเหยิงแก่ภาษาของมนุษย์? (ข) เราสามารถสรุปได้อย่างไรว่าด้วยภาษาของโนฮาและเซม?
5 เหตุการณ์อันน่าอัศจรรย์เช่นนั้น—การบันดาลให้ภาษาเดียวของมนุษย์สับสนไปนั้น—ได้นำไปสู่การทวีพงศ์พันธุ์มนุษย์ให้เต็มแผ่นดินโลกดังที่พระเจ้าได้รับสั่งแก่โนฮา และยังเป็นการสกัดแผนใด ๆ ที่ซาตานอาจใช้มนุษย์ซึ่งทรยศต่อต้านองค์บรมมหิศรแห่งฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลกให้จัดตั้งการร่วมการนมัสการที่เป็นมลทินสำหรับตัวมันเอง. จริงทีเดียว โดยการปฏิบัติศาสนาเท็จไม่ว่าในรูปแบบใด ผู้คนตกเป็นเหยื่อของซาตานและคนเหล่านี้ต่างก็ปฏิบัติผีปีศาจเมื่อเขาสร้างเทพธิดาขึ้นมาและตั้งชื่อพระเหล่านั้นให้แปลกแตกต่างกันไปตามภาษาของเขา แล้วทำการบูชากราบไหว้. (1 โกรินโธ 10:20) แต่ปฏิบัติการของพระเจ้าองค์เที่ยงแท้องค์เดียว ณ หอบาเบลได้ป้องกันการจัดตั้งศาสนาเทียมเท็จให้เป็นหนึ่งเดียวเพื่อบูชานมัสการพญามารอย่างที่มันใคร่จะได้. แน่ละ โนฮาผู้ชอบธรรมกับเซมบุตรชายของท่านมิได้เข้าไปปะปนกับความโกลาหลเช่นนั้นในแผ่นดินซีนาร. ฉะนั้น จึงพอสรุปได้อย่างมีเหตุผลว่า ภาษาของเขายังคงเป็นภาษาเดิมซึ่งอับราม (หรืออับราฮาม) ผู้ซื่อสัตย์เคยพูด—ภาษานี้แหละที่พระเจ้าตรัสสนทนากับมนุษย์อาดามในสวนเอเดน.
6. ในวันเพ็นเตคอสเตปีสากลศักราช 33 พระยะโฮวาทรงแสดงโดยวิธีใดว่า พระองค์ประทานความสามารถแก่มนุษย์ที่จะพูดภาษาใด ๆ ก็ได้?
6 พระยะโฮวาผู้ซึ่งบันดาลภาษาแรกเดิมของมนุษย์ให้สับสนไป พระองค์ทรงสามารถให้มนุษย์มีสมรรถนะจะพูดได้หลายภาษาเช่นเดียวกัน. พิจารณาสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำในวันเพ็นเตคอสเตปีสากลศักราช 33 นั่นปะไร! ตามบันทึกที่พระธรรมกิจการ 2:1-11 แสดงว่าขณะนั้นสาวกของพระเยซูคริสต์ประมาณ 120 คนประชุมกันอยู่ในห้องชั้นบนแห่งหนึ่ง ณ กรุงยะรูซาเลม. (กิจการ 1:13, 15) ทันใดนั้น มีเสียงดังจากฟ้า “เหมือนเสียงพายุกล้าสนั่น.” “เปลวไฟสัณฐานเหมือนลิ้น” ปรากฏแก่เขาและกระจายไปทั่ว. ตอนนั้นเองสาวกทั้งหลาย “ประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ จึงตั้งต้นพูดภาษาต่าง ๆ ตามที่พระวิญญาณทรงโปรดให้พูด.” โดยการใช้ภาษาต่าง ๆ ที่พระเจ้าประทาน พวกเขาจึงพูดถึง “การอิทธิฤทธิ์ของพระเจ้า.” และนับว่าเป็นสิ่งน่าอัศจรรย์เพียงไรเมื่อคนยิวและคนต่างชาติที่เปลี่ยนใจมาเชื่อถือซึ่งพูดภาษาต่าง ๆ กัน ที่มาจากแคว้นแดนไกลเช่นจากเมโสโปตาเมีย อียิปต์ ลิเบีย และโรม ทุกคนเข้าใจข่าวสารที่ให้ชีวิต!
ภาษาที่พระเจ้าประทานในสมัยนี้
7. คงจะคาดหมายอะไรได้ถ้าทั้งโลกพูดและเข้าใจภาษาเดียว?
7 เนื่องจากพระเจ้าสามารถบันดาลให้มนุษย์พูดภาษาต่าง ๆ กันได้อย่างน่าอัศจรรย์ จะยิ่งน่าพิศวงมิใช่หรือถ้าพระองค์จะบันดาลให้มีเพียงภาษาเดียวพูดและเข้าใจกันทั่วโลก? การเช่นนั้นย่อมส่งเสริมความเข้าใจซึ่งกันและกันได้มากขึ้นภายในครอบครัวมนุษย์. ดังที่ เดอะ เวิลด์ บุค เอ็นไซโคลพีเดีย ชี้แจงดังนี้ “ถ้ามนุษย์ทั้งผองพูดภาษาเดียวกัน สายสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมและเศรษฐกิจคงจะใกล้ชิดกันมากขึ้น และสัมพันธไมตรีระหว่างชาติต่าง ๆ ย่อมจะดีขึ้น.” แต่ตลอดหลายปีที่ผ่านมามีการเสนออย่างน้อยให้ 600 ภาษาเป็นภาษาสากล. จากจำนวนนี้ภาษาเอสเปอรานโทมีบทบาทสำคัญที่สุด เพราะว่าผู้คนเรียนภาษานี้มีประมาณ 10,000,000 คน นับตั้งแต่เริ่มคิดขึ้นใช้เมื่อปีสากลศักราช 1887. กระนั้น ความพยายามของมนุษย์ที่จะรวมมนุษยชาติเป็นเอกภาพโดยการใช้ภาษาสากลยังไม่เคยบรรลุผล. ที่จริง ปัญหามากมายก่อให้เกิดการแบ่งแยกในโลกนี้ขณะที่ ‘คนชั่วยิ่วกำเริบมากขึ้นทุกที.’—2 ติโมเธียว 3:13.
8. แม้นว่าภาษาสากลจะเป็นที่รับรองกันทั่วโลกสมัยนี้ แต่อะไรจะยังคงมีอยู่ และเพราะเหตุใด?
8 พูดกันในแง่ศาสนาแล้วมีความวุ่นวายสับสนอย่างยิ่ง. แต่เราน่าจะคาดหมายเรื่องนี้มิใช่หรือ เนื่องจากพระธรรมวิวรณ์ให้ฉายาจักรภพของศาสนาเท็จว่า “บาบูโลนใหญ่”? (วิวรณ์ 18:2) ใช่แล้ว เพราะ “บาบูโลน” หมายความว่า “ยุ่งเหยิง.” ถึงแม้หากว่าภาษาที่มนุษย์คิดขึ้นเองหรือภาษาทั่วไปเช่นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมันหรือภาษารัสเซียจะถูกรับเข้ามาเป็นภาษาสากลของโลกสมัยนี้ก็ตาม การขาดแคลนเอกภาพทางด้านศาสนาและด้านอื่น ๆ ก็ยังคงมีอยู่. เพราะเหตุใด? เพราะ “โลกทั้งสิ้นทอดตัวจมอยู่ในมารร้าย” ได้แก่ซาตานพญามาร. (1 โยฮัน 5:19) มันเป็นตัวเอ้ในด้านการเห็นแก่ตัว และมันใฝ่ฝันอยากให้มนุษย์ทั้งสิ้นกราบไหว้บูชามัน เหมือนที่มันทำในสมัยนิมโรดและหอบาเบล. ภาษาสากลซึ่งพูดโดยมนุษย์ผู้ผิดบาปคงจะเปิดช่องให้ซาตานได้โอกาสจัดตั้งระบบรวมการนมัสการมารอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้กระมัง! แต่พระยะโฮวาจะไม่ปล่อยให้เป็นเช่นนั้น ที่จริง ในไม่ช้าพระองค์จะทรงกำจัดศาสนาเท็จทั้งสิ้นซึ่งได้การบันดาลใจจากพญามาร.
9. ขณะนี้ประชาชนจากทุกชาติทุกเผ่ากำลังถูกรวบรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยวิธีใด?
9 ถึงกระนั้น ความจริงอันน่าทึ่งคือเวลานี้คนดีจากทุกชาติทุกเผ่ากำลังถูกรวบรวมให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันอยู่ทีเดียว. ทั้งนี้เป็นไปตามเงื่อนไขของพระเจ้าและเพื่อประโยชน์แห่งการนมัสการพระองค์. ทุกวันนี้ พระเจ้าทรงจัดให้มีช่องทางเพื่อมนุษย์ทั้งหลายจะเรียนและพูดภาษาบริสุทธิ์ภาษาเดียวได้บนแผ่นดินโลก. และเป็นภาษาสากลอย่างแท้จริง. ตามจริงแล้ว ปัจจุบันนี้พระเจ้ายะโฮวากำลังสอนภาษาบริสุทธิ์แก่ประชาชนมากมายจากทุกชาติแห่งแผ่นดินโลก. ข้อนี้เป็นความสำเร็จสมจริงตามคำสัญญาเชิงพยากรณ์ซึ่งพระเจ้าตรัสผ่านซะฟันยาผู้พยากรณ์และซึ่งเป็นพยานของพระองค์ดังนี้: “เพราะตอนนั้น เราจะให้มีการเปลี่ยนเป็นภาษาบริสุทธิ์ [ตามตัวอักษร “ริมฝีปากสะอาด”] แก่ประชาชน เพื่อเขาทุกคนจะได้ร้องถึงพระนามของพระยะโฮวา เพื่อจะรับใช้พระองค์เคียงบ่าเคียงไหล่กัน.” (ซะฟันยา 3:9, ล.ม.) ภาษาบริสุทธิ์นี้คืออะไร?
ภาษาบริสุทธิ์ถูกนิยามไว้
10. ภาษาบริสุทธิ์คืออะไร?
10 ภาษาบริสุทธิ์คือสัจธรรมของพระเจ้าซึ่งพบได้ในคัมภีร์ไบเบิลพระวจนะของพระองค์. โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นสัจธรรมเกี่ยวกับราชอาณาจักรของพระเจ้า อันจะนำสันติภาพและพระพรนานาประการมาสู่มนุษย์. ภาษาบริสุทธิ์ขจัดข้อผิดพลาดด้านศาสนาและการนมัสการเท็จเสียสิ้น. ภาษาบริสุทธิ์นำทุกคนที่พูดภาษาบริสุทธิ์นี้เข้ามาเป็นเอกภาพเพื่อการนมัสการอันบริสุทธิ์, สะอาด และเป็นคุณประโยชน์ของพระยะโฮวาพระเจ้าองค์เที่ยงแท้ผู้ทรงพระชนม์อยู่. เวลานี้มากกว่า 3,000 ภาษาเป็นอุปสรรคต่อความเข้าใจ และศาสนาเท็จนับร้อย ๆ ทำให้มนุษย์สับสน. ดังนั้น พวกเราปีติยินดีเสียนี่กระไรที่พระเจ้าทรงโปรดให้มีการเปลี่ยนเป็นภาษาบริสุทธิ์แสนจะวิเศษเช่นนี้แก่ประชาชน!
11. ภาษาบริสุทธิ์ยังผลประการใดแก่ชนทุกชาติทุกเผ่า?
11 ใช่แล้ว ประชาชนจากทุกชาติทุกเผ่ากำลังเรียนรู้ภาษาบริสุทธิ์นี้เป็นอย่างดี. เนื่องจากเป็นภาษาเดียวเท่านั้นในโลกซึ่งบริสุทธิ์ในแง่ฝ่ายวิญญาณ ภาษาบริสุทธิ์จึงเป็นพลังเข้มแข็งที่ก่อให้เกิดความสามัคคี. ภาษาบริสุทธิ์ช่วยทุกคนที่พูดภาษานี้ “ร้องถึงพระนามของพระยะโฮวา เพื่อจะรับใช้พระองค์เคียงบ่าเคียงไหล่กัน” หรือตามตัวอักษรก็คือ “ด้วยบ่าเดียว.” เพราะเหตุนั้น พวกเขาปฏิบัติพระเจ้า “เป็นเอกฉันท์.” (ฉบับแปล เดอะ นิว อิงลิช ไบเบิล) “เป็นน้ำหนึ่งใจเดียว และบ่าเดียวที่เป็นเอกฉันท์.” (ดิ แอมพลิไฟด์ ไบเบิล) คัมภีร์ภาษาไทยฉบับแปลใหม่อ่านดังนี้: “เออ ในคราวนั้น เรา [พระเจ้ายะโฮวา] จะเปลี่ยนริมฝีปากของชนชาติทั้งหลายให้เป็นริมฝีปากบริสุทธิ์ เพื่อว่าทุกคนจะร้องทูลออกพระนามพระเจ้า และปรนนิบัติพระองค์เป็นใจเดียวกัน.” การร่วมมือทำงานรับใช้พระเจ้าโดยคนทั่วโลกที่พูดภาษาต่าง ๆ กันเช่นนั้นมีอยู่ก็แต่ในท่ามกลางพยานพระยะโฮวาเท่านั้น. เวลานี้ ผู้ประกาศแห่งราชอาณาจักรมีมากกว่าสี่ล้านคนใน 212 ประเทศกำลังประกาศข่าวดีด้วยภาษาต่าง ๆ มากมาย. กระนั้น พยานพระยะโฮวา “พูดจาปรองดองกัน” และ “สามัคคีกันมีน้ำใจอย่างเดียวกันและมีความคิดในแนวเดียวกัน.” (1 โกรินโธ 1:10) ที่เป็นดังนี้เพราะพวกเขาไม่ว่าอยู่ที่ไหนในโลก พยานพระยะโฮวาทุกคนต่างก็พูดภาษาบริสุทธิ์ภาษาเดียวเพื่อเป็นคำสรรเสริญและถวายเกียรติแด่พระบิดาของพวกเขาผู้สถิตในสวรรค์.
จงเรียนภาษาบริสุทธิ์เสียแต่บัดนี้!
12, 13. (ก) เหตุใดคุณน่าจะเอาเป็นธุระในเรื่องการพูดภาษาบริสุทธิ์? (ข) เหตุใดถ้อยคำที่ซะฟันยา 3:8, 9 มีความสำคัญอย่างยิ่งในทุกวันนี้?
12 ทำไมคุณควรเอาใจใส่เรื่องการพูดภาษาบริสุทธิ์? ประการหนึ่ง เพราะชีวิตของคุณขึ้นอยู่กับการเรียนและการพูดภาษานี้. ไม่นานก่อนพระเจ้าทรงให้คำสัญญาจะ “ให้มีการเปลี่ยนเป็นภาษาบริสุทธิ์” พระองค์ทรงเตือนว่า “‘จงคอยท่าเรา’ เป็นคำตรัสของพระยะโฮวา ‘จนถึงวันที่เราจะลุกขึ้นตีชิง เพราะการตัดสินความของเราคือที่จะรวบรวมนานาชาติ ที่เราจะรวบรวมอาณาจักรทั้งหลายเพื่อจะกล่าวโทษเขาและหลั่งความพิโรธอันร้อนแรงของเราลงเหนือเขา; เพราะโดยไฟแห่งความกระตือรือร้นของเรา แผ่นดินโลกทั้งสิ้นจะถูกผลาญเสียสิ้น.’”—ซะฟันยา 3:8, ล.ม.
13 ถ้อยคำเหล่านี้ของยะโฮวาองค์บรมมหิศรได้ตรัสไว้ครั้งแรกประมาณสองพันหกร้อยปีมาแล้วในแผ่นดินยูดา อันมียะรูซาเลมเป็นนครหลวง. แต่คำตรัสนี้ใช้หมายถึงสมัยปัจจุบันโดยเฉพาะ เนื่องจากยะรูซาเลมเล็งถึงคริสต์ศาสนจักร. และสมัยของเรา นับตั้งแต่ราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ของพระเจ้าได้รับการสถาปนาขึ้นในปี 1914 เป็นวันแห่งพระยะโฮวาเพื่อการรวบรวมนานาประชาชาติและรวบรวมอาณาจักรทั้งหลาย. พระองค์ทรงรวบรวมทุกประเทศชาติเข้ามาเพื่อการพิจารณาของพระองค์โดยวิธีการประกาศให้คำพยานอย่างกว้างขวาง. ผลสืบเนื่องจากการนี้ได้ทำให้นานาประเทศและอาณาจักรทั้งหลายตั้งใจต่อต้านพระประสงค์ของพระองค์. แต่ด้วยพระทัยเมตตา พระเจ้ายะโฮวาทรงช่วยสงเคราะห์ให้ผู้คนจากนานาชาติเหล่านั้นร่วมกันเข้ามาเป็นเอกภาพด้วยการพูดภาษาบริสุทธิ์. ด้วยภาษาบริสุทธิ์นี้แหละ ทุกคนที่แสวงหาชีวิตในโลกใหม่ตามคำสัญญาของพระองค์จะปรนนิบัติพระองค์โดยพร้อมเพรียงกัน ก่อนนานาชาติทั้งปวงจะถูกเผาผลาญด้วยไฟแห่งความพิโรธกล้าของพระเจ้า ณ “สงครามในวันใหญ่แห่งพระเจ้าองค์ทรงฤทธิ์” ซึ่งมักจะเรียกว่าอาร์มาเก็ดดอน. (วิวรณ์ 16:14, 16; 2 เปโตร 3:13) ด้วยความปีติยินดี บรรดาผู้พูดภาษาบริสุทธิ์และโดยความเชื่อได้ร้องถึงพระนามของยะโฮวาฐานะเป็นผู้นมัสการแท้ที่มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันก็จะได้รับการคุ้มครองในระหว่างที่มีความดุเดือดรุนแรงจากความหายนะที่เกิดขึ้นกับโลก. พระเจ้าจะทรงนำพวกเขาเข้าสู่โลกใหม่อย่างปลอดภัย ซึ่งที่นั่นภาษาบริสุทธิ์ภาษาเดียวจะอยู่กับริมฝีปากของมนุษยชาติทั้งมวลในที่สุด.
14. โดยทางซะฟันยา พระเจ้าทรงแจ้งอย่างไรว่าการผ่านพ้นอวสานแห่งระบบนี้จำต้องมีการลงมือปฏิบัติให้ทันท่วงที?
14 พระยะโฮวาทรงทำให้ประจักษ์แจ้งผ่านซะฟันยาผู้พยากรณ์ของพระองค์ว่า บรรดาผู้ที่หวังจะรอดชีวิตผ่านอวสานแห่งระบบชั่วสมัยปัจจุบันจำต้องลงมือปฏิบัติให้ทันท่วงที. ตามที่กล่าวในซะฟันยา 2:1-3 (ล.ม.) พระเจ้าตรัสดังนี้: “โอประชาชนที่ไร้ความอาย จงรวมตัวกันเข้ามา ถูกแล้ว จงชุมนุมกันเถิด. ก่อนพระราชกฤษฎีกาก่อให้เกิดสิ่งใด ก่อนวันนั้นล่วงไปดุจแกลบ ก่อนที่พระพิโรธอันแรงกล้าของพระยะโฮวาตกแก่เจ้าทั้งหลาย ก่อนวันแห่งพระพิโรธของพระยะโฮวามาถึงเจ้า จงแสวงหาพระยะโฮวา เจ้าทั้งหลายที่มีใจถ่อมบนแผ่นดินโลก ผู้ได้ปฏิบัติตามคำตัดสินของพระองค์เอง. จงแสวงหาความชอบธรรม แสวงหาความถ่อมใจ. ชะรอยเจ้าอาจถูกกำบังไว้ในวันแห่งความพิโรธของพระยะโฮวา.”
15. (ก) อะไรคือความสำเร็จสมจริงครั้งแรกของคำพยากรณ์ในซะฟันยา 2:1-3? (ข) ใครบ้างรอดชีวิตเมื่อพระเจ้าสำเร็จโทษแผ่นดินยูดา และการรอดชีวิตนั้นเทียบได้กับอะไรในสมัยนี้?
15 ถ้อยคำเหล่านี้สำเร็จสมจริงครั้งแรกกับแผ่นดินยูดา และยะรูซาเลมสมัยโบราณ. ผู้คนที่ผิดบาปแห่งยูดาไม่ยินดีตอบรับคำวิงวอนของพระเจ้า ดังเห็นได้จากการสำเร็จโทษของพระองค์โดยมือของชาวบาบูโลนในปี 607 ก่อนสากลศักราช. เหมือนชาติยูดา “ประชาชนที่ไร้ความอาย” จำเพาะพระเจ้าเป็นฉันใด คริสต์ศาสนจักรก็เป็น “ประชาชน” ที่ไร้ยางอายจำเพาะพระยะโฮวาฉันนั้น. อย่างไรก็ดี มีชาวยูดาบางคนและคนอื่นบ้างได้รอดชีวิตเนื่องด้วยเชื่อฟังพระคำของพระเจ้า ยิระมะยาผู้พยากรณ์ที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวาก็เป็นคนหนึ่งในจำนวนนั้น. ผู้รอดชีวิตนอกนั้นได้แก่เอเบ็ดเมเล็กชาวเอธิโอเปียและบุตรหลานของยะโฮนาดาบ. (ยิระมะยา 35:18, 19; 39:11, 12, 16–18) ทุกวันนี้ก็คล้ายกัน “ชนฝูงใหญ่” ซึ่งเป็น “แกะอื่น” ของพระเยซูที่ถูกรวบรวมออกมาจากชาติต่าง ๆ จะรอดชีวิตผ่านอาร์มาเก็ดดอนเข้าสู่โลกใหม่ของพระเจ้า. (วิวรณ์ 7:9; โยฮัน 10:14-16) เฉพาะคนเหล่านั้นที่เรียนและพูดภาษาบริสุทธิ์เท่านั้นจะเป็นผู้ที่รอดชีวิตด้วยความปีติยินดี.
16. คนเราจำต้องทำประการใดเพื่อจะถูกกำบังไว้ได้ใน “วันแห่งความพิโรธของพระยะโฮวา”?
16 เคยเป็นพระราชบัญญัติของพระยะโฮวามาแล้วว่าแผ่นดินยูดากับนครยะรูซาเลมสมควรถูกทำลายให้สิ้นฉันใด คริสต์ศาสนจักรต้องพินาศฉันนั้น. ที่จริง ความพินาศจวนจะเกิดขึ้นกับศาสนาเท็จทั้งหมดอยู่ทีเดียว และพวกที่ต้องการรอดชีวิตจำต้องลงมือปฏิบัติให้ทันท่วงที. พวกเขาจำต้องทำอย่างนั้น “ก่อนวันนั้นล่วงไปดุจแกลบ” เหมือนเมล็ดข้าวที่โปรยขึ้นในอากาศ ณ ลานนวดเพื่อให้แรงลมพัดข้าวลีบกระจายไปอย่างรวดเร็ว. ที่จะรับการช่วยให้พ้นพระพิโรธของพระเจ้า เราต้องพูดภาษาบริสุทธิ์และรับฟังคำเตือนของพระเจ้าก่อนวันแห่งความพิโรธอันแรงกล้าของพระยะโฮวาจะมาถึงพวกเรา. ในสมัยของซะฟันยาและทุกวันนี้ด้วย คนใจถ่อมแสวงหาพระเจ้ายะโฮวาและแสวงความชอบธรรมและความถ่อมใจ. การที่เราแสวงหาพระยะโฮวาหมายความว่าเรารักพระองค์อย่างสุดหัวใจ สุดจิตวิญญาณ สุดจิตใจ สุดกำลังของเรา. (มาระโก 12:29, 30) “ชะรอย [คนที่กระทำอย่างนั้น] อาจถูกกำบังไว้ในวันแห่งความพิโรธของพระยะโฮวา.” ทว่าทำไมคำพยากรณ์ใช้คำ “ชะรอย”? เพราะว่าความรอดนั้นขึ้นอยู่กับความซื่อสัตย์และความอดทน. (มัดธาย 24:13) ผู้ที่ยอมทำตามมาตรฐานอันชอบธรรมของพระเจ้าและพูดภาษาบริสุทธิ์อยู่เสมอจะถูกกำบังไว้ในวันพิโรธของพระยะโฮวา.
17. มีคำถามอะไรเหลือไว้ให้เราพิจารณา?
17 เนื่องจากวันแห่งความพิโรธของพระยะโฮวาใกล้เข้ามาทุกที และความรอดย่อมขึ้นอยู่กับการเรียนและใช้ภาษาบริสุทธิ์ ฉะนั้น บัดนี้ถึงเวลาที่จะหมกมุ่นในการศึกษาและพูดภาษานี้อย่างจริงจัง. แต่คนเราจะเรียนภาษาบริสุทธิ์นี้ได้อย่างไร? ครั้นคุณพูดภาษานี้แล้วจะได้รับประโยชน์อย่างไร?
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ ภาษาพูดของมนุษย์เริ่มขึ้นอย่างไร?
▫ ภาษาบริสุทธิ์คืออะไร?
▫ เหตุใดคำกล่าวที่ซะฟันยา 3:8, 9 มีความสำคัญอย่างยิ่งในเวลานี้?
▫ เราต้องทำประการใดเพื่อจะถูกกำบังไว้ “ในวันแห่งความพิโรธของพระยะโฮวา”?
[รูปภาพหน้า 10]
ที่บาเบล พระเจ้าทรงบันดาลให้มนุษย์กระจัดกระจายไปโดยทำให้ภาษาของเขาสับสน