จงสวมตัวด้วยความอ่อนโยน!
“ในฐานะเป็นผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกสรร บริสุทธิ์และเป็นที่รัก จงสวมตัวท่านด้วยความเอ็นดูอย่างลึกซึ้ง, ความกรุณา, ใจถ่อม, ความอ่อนโยน และความอดกลั้นไว้นาน.”—โกโลซาย 3:12, ล.ม.
1-3. ที่โกโลซาย 3:12-14 อัครสาวกเปาโลพูดไว้อย่างไรเกี่ยวกับความอ่อนโยนและคุณลักษณะอื่น ๆ เยี่ยงพระเจ้า?
พระยะโฮวาทรงประทานเครื่องนุ่มห่มโดยนัยชนิดดีเยี่ยมแก่ไพร่พลของพระองค์. ที่จริง ทุกคนที่ปรารถนารับความโปรดปรานจากพระองค์ต้องสวมใส่เสื้อผ้าที่มีความอ่อนโยนเป็นเสมือนด้ายฟั่นที่แน่นหนา. คุณลักษณะอย่างนี้ทำให้รู้สึกอบอุ่นใจเพราะทำให้ความเครียดภายใต้สภาพบีบคั้นกดดันลดน้อยลง. อีกทั้งเป็นการป้องกันด้วย เพราะความอ่อนโยนจะปิดกั้นมิให้เกิดการวิวาททุ่มเถียงขึ้น.
2 อัครสาวกเปาโลได้กล่าวเตือนเพื่อนคริสเตียนผู้ถูกเจิมดังนี้: “ในฐานะเป็นผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกสรร บริสุทธิ์และเป็นที่รัก จงสวมตัวท่านด้วยความเอ็นดูอย่างลึกซึ้ง, ความกรุณา, ใจถ่อม, ความอ่อนโยน และความอดกลั้นไว้นาน.” (โกโลซาย 3:12, ล.ม.) กาลของคำภาษากรีกที่ได้รับการแปลว่า “จงสวมตัว” แสดงถึงการกระทำด้วยความรู้สึกเร่งรีบ. บรรดาผู้ถูกเจิมซึ่งถูกเลือกสรร, บริสุทธิ์, และเป็นที่รักของพระเจ้านั้นไม่ควรรอช้าที่จะสวมตัวด้วยคุณลักษณะต่าง ๆ ดังกล่าว เช่น ความอ่อนโยนเป็นต้น.
3 เปาโลกล่าวเพิ่มเติมว่า “จงทนต่อกันและกันอยู่เรื่อยไป และจงอภัยให้กันและกันอย่างใจกว้างถ้าแม้นผู้ใดมีสาเหตุจะบ่นว่าคนอื่น. พระยะโฮวาทรงให้อภัยท่านอย่างใจกว้างฉันใด ท่านทั้งหลายจงกระทำฉันนั้น. แต่นอกจากสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด จงสวมตัวท่านด้วยความรัก เพราะความรักเป็นเครื่องเชื่อมสามัคคีที่ดีพร้อม. (โกโลซาย 3:13, 14, ล.ม.) ความรัก ความอ่อนโยนและคุณลักษณะอื่น ๆ เยี่ยงพระเจ้าทำให้เป็นไปได้สำหรับพยานพระยะโฮวาจะ “อาศัยอยู่ด้วยกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน.”—บทเพลงสรรเสริญ 133:1-3.
ผู้บำรุงเลี้ยงที่อ่อนโยนเป็นที่ต้องการ
4. คริสเตียนแท้สวมใส่เสื้อผ้าโดยนัยซึ่งถักทอขึ้นด้วยคุณลักษณะอะไรบ้าง?
4 คริสเตียนแท้พยายามจะ ‘ประหารอวัยวะแห่งร่างกายของตนในเรื่องการล่วงประเวณี การโสโครก ราคะตัณหา ความปรารถนาที่ยังความเสียหายและความละโมบ’ และพวกเขาพยายามถอดทิ้งเสื้อผ้าเก่าซึ่งถักทอด้วยเส้นใยที่ประกอบด้วยโทโส ความโกรธเคือง ความชั่วเลวทราม คำพูดหยาบคายและลามก. (โกโลซาย 3:5-11) เขาเปลื้อง ‘บุคลิกลักษณะเก่า’ (ตามตัวอักษร “มนุษย์เก่า”) และสวมใส่ ‘บุคลิกลักษณะใหม่’ (หรือ “มนุษย์ใหม่”) เสื้อผ้าอาภรณ์ที่เหมาะสม. (เอเฟโซ 4:22-24) เสื้อผ้าชิ้นใหม่ของเขาซึ่งทอด้วยความเห็นใจ ความกรุณา ใจถ่อม ความอ่อนโยน และความอดกลั้นไว้นาน ช่วยเขาแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้และดำเนินชีวิตด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้า.—มัดธาย 5:9; 18:33; ลูกา 6:36; ฟิลิปปอย 4:2, 3.
5. มีอะไรเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของประชาคมคริสเตียนซึ่งก่อความยินดีในการที่เป็นส่วนของประชาคม?
5 ผู้ที่ถือกันว่าประสบความสำเร็จในโลกมักเป็นคนขาดความเห็นใจ หรือดุร้ายด้วยซ้ำ. (สุภาษิต 29:22) ต่างกันเสียจริงกับไพร่พลของพระยะโฮวาซึ่งทำให้รู้สึกอบอุ่นใจและสดชื่น! ประชาคมคริสเตียนมิได้บริหารงานอย่างบางคนบริหารธุรกิจ—อย่างมีประสิทธิภาพแต่กิริยาอาการดุดัน ซึ่งทำให้หลายคนไม่มีความสุข. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น การเป็นส่วนของประชาคมเป็นที่น่ายินดี. เหตุผลประการหนึ่งคือว่าจิตใจอ่อนโยนเป็นส่วนหนึ่งแห่งสติปัญญาซึ่งคริสเตียนโดยทั่วไปแสดงให้ประจักษ์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยบุคคลที่มีคุณวุฒิจะสอนเพื่อนร่วมความเชื่อ. ถูกแล้ว ความยินดีเป็นผลสืบเนื่องมาจากคำแนะนำและคำสั่งสอนจากผู้ปกครองที่รับการแต่งตั้ง ซึ่งสอนด้วย “ใจอ่อนโยนอันเป็นส่วนหนึ่งของสติปัญญา.”—ยาโกโบ 3:13, ล.ม.
6. ทำไมคริสเตียนผู้ปกครองต้องมีใจอ่อนโยน?
6 น้ำใจ หรือท่าทีที่ครอบงำไพร่พลของพระเจ้านั้นเรียกร้องให้ผู้ชายซึ่งได้รับความไว้วางใจให้ดูแลประชาคมเป็นคนมีใจอ่อนโยน มีเหตุผล และประกอบด้วยความเข้าใจ. (1 ติโมเธียว 3:1-3) ผู้รับใช้ทั้งหลายของพระยะโฮวาเป็นเหมือนแกะว่าง่าย ไม่ใช่อย่างแพะที่ดันทุรัง ล่อซึ่งเป็นสัตว์ดื้อ หรือสุนัขป่าที่จะกละ. (บทเพลงสรรเสริญ 32:9; ลูกา 10:3) เพราะเหตุที่พวกเขาเป็นเหมือนแกะ จึงจำเป็นต้องปฏิบัติต่อเขาอย่างอ่อนโยนและนิ่มนวล. (กิจการ 20:28, 29) ใช่แล้ว พระเจ้าทรงคาดหมายให้พวกผู้ปกครองเป็นคนอ่อนโยน กรุณา มีความรัก และมีความอดทนต่อฝูงแกะของพระองค์.—ยะเอศเคล 34:17-24.
7. ผู้ปกครองควรสอนคนอื่นหรือช่วยคนป่วยฝ่ายวิญญาณอย่างไร?
7 ในฐานะที่เป็น “ทาสขององค์พระผู้เป็นเจ้า” ผู้ปกครอง “ต้องสุภาพต่อคนทั้งปวง มีคุณวุฒิที่จะสั่งสอน เหนี่ยวรั้งตัวไว้ภายใต้สภาพการณ์ที่ไม่ดี สั่งสอนคนที่มีแนวโน้มไม่ยินดีรับนั้นด้วยใจอ่อนโยน; บางทีพระเจ้าอาจจะโปรดให้เขากลับใจและมาถึงความรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับความจริง.” (2 ติโมเธียว 2:24, 25, ล.ม.) เมื่อคริสเตียนผู้บำรุงเลี้ยงพยายามช่วยผู้ป่วยฝ่ายวิญญาณ เขาควรแสดงความเห็นอกเห็นใจอย่างอ่อนละมุน เพราะแกะนั้นเป็นของพระเจ้า. ผู้ปกครองต้องไม่ปฏิบัติกับแกะเหมือนคนรับจ้างจะทำ แต่ต้องเป็นคนอ่อนโยนเหมือนพระเยซูคริสต์ผู้บำรุงเลี้ยงที่ดี.—โยฮัน 10:11-13.
8. เกิดอะไรขึ้นกับโมเซผู้มีใจอ่อนโยน และทำไมเป็นเช่นนั้น?
8 บางครั้งผู้ปกครองอาจรู้สึกว่ายากที่จะรักษาน้ำใจอ่อนโยนอยู่เรื่อยไป. “โมเซนั้นเป็นคนถ่อมจิตใจอ่อนยิ่งกว่าคนทั้งปวงที่อยู่บนแผ่นดิน.” (อาฤธโม 12:3) กระนั้น เมื่อพวกยิศราเอลขาดแคลนน้ำที่คาเดส พวกเขาได้ทะเลาะเถียงกันกับโมเซและตำหนิท่านที่นำเขาออกจากอียิปต์มายังป่าทุรกันดาร. ทั้งที่โมเซเองเคยสู้ทนเอากับหลายสิ่งหลายอย่างด้วยใจถ่อม ท่านด่วนพูดอย่างดุดันโดยขาดการไตร่ตรองให้รอบคอบ. ท่านและอาโรนได้ยืนอยู่ต่อหน้าฝูงชนและมุ่งชี้ชวนให้ความสนใจมาสู่ตัวเอง. โดยโมเซกล่าวดังนี้: “อ้ายพวกกบฏ เจ้าทั้งหลายจงฟังเถิด! เราจะเอาน้ำออกจากหินนี้ให้เจ้าทั้งหลายกินได้หรือ?” แล้วโมเซยกไม้เท้าขึ้นตีหินนั้นสองหน และพระเจ้าทรงให้มี “น้ำไหลพล่านออกมา” สำหรับคนทั้งปวงและฝูงสัตว์ของเขาได้กิน. พระยะโฮวาไม่พอพระทัยเพราะโมเซกับอาโรนมิได้ให้ความเคารพนับถือพระองค์ ดังนั้น โมเซจึงไม่ได้รับสิทธิพิเศษจะนำพวกยิศราเอลเข้าไปในแผ่นดินแห่งคำสัญญา.—อาฤธโม 20:1-13; พระบัญญัติ 32:50-52; บทเพลงสรรเสริญ 106:32, 33.
9. ความอ่อนโยนของผู้ปกครองอาจถูกทดสอบอย่างไร?
9 ความอ่อนโยนของคริสเตียนผู้ปกครองอาจได้รับการพิสูจน์ในหลายวิธีต่างกัน. อย่างเช่น เปาโลเตือนติโมเธียวไว้ว่า จะมีบางคน “อวดทะนงตน” และ “จิตใจเสื่อมด้วยการซักถามและการโต้เถียงกันเรื่องถ้อยคำ!” เปาโลพูดเพิ่มเติมว่า “จากสิ่งเหล่านี้จึงเกิดความอิจฉา, ความขัดเคือง, การพูดจาว่าร้าย, การสงสัยด้วยใจชั่ว, การโต้เถียงกันอย่างรุนแรงเรื่องหยุมหยิมระหว่างคนใจทราม และถูกตัดขาดจากความจริง.” ติโมเธียวซึ่งเป็นผู้ดูแลไม่ควรกระทำการใด ๆ อย่างเกรี้ยวกราด แต่ควร “หนีจากสิ่งเหล่านี้” และท่านต้อง “ติดตามความชอบธรรม ความเลื่อมใสในพระเจ้า, ความเชื่อ, ความรัก, ความอดทน, ความอ่อนโยน.”—1 ติโมเธียว 6:4, 5, 11, ล.ม.
10. ติโตต้องเตือนประชาคมต่าง ๆ ด้วยเรื่องอะไร?
10 ถึงแม้พวกผู้ปกครองต้องเป็นคนอ่อนโยนก็ตาม แต่ก็ต้องมั่นคงหนักแน่นในสิ่งที่ถูกต้อง. ติโตเป็นอย่างนั้น โดยเตือนสติบุคคลเหล่านั้นซึ่งสมทบกับประชาคมที่เกาะเกรเตว่า “อย่าให้เขาพูดใส่ร้ายแก่คนใดเลย อย่าให้เป็นคนมักทะเลาะวิวาทกัน แต่ให้มีใจละมุนละม่อม [มีเหตุผล] สำแดงความสุภาพทุกอย่างแก่คนทั้งปวง.” (ติโต 3:1, 2) เพื่อแสดงให้เห็นว่าเหตุใดคริสเตียนควรอ่อนโยนต่อคนทั้งปวง ติโตจึงต้องมุ่งความสนใจไปที่พระยะโฮวาและชี้แจงว่าพระองค์สำแดงความเมตตารักใคร่มาแล้วมากปานใด. พระเจ้าทรงช่วยคนมีความเชื่อให้รอดมิใช่เพราะพวกเขาได้กระทำการอันชอบธรรม แต่เพราะความเมตตาของพระองค์โดยพระเยซูคริสต์ต่างหาก. ความอ่อนโยนและความอดกลั้นของพระยะโฮวาหมายถึงความรอดสำหรับพวกเราเช่นกัน. เหตุฉะนั้น คริสเตียนผู้ปกครองสมัยนี้ควรกระทำเหมือนติโต คือตักเตือนประชาคมทั้งหลายให้อ่อนน้อมเชื่อฟังพระเจ้า เลียนแบบพระองค์ด้วยการปฏิบัติกับผู้อื่นอย่างอ่อนโยน.—ติโต 3:3-7; 2 เปโตร 3:9, 15.
ความอ่อนโยนชี้นำผู้ให้คำแนะนำที่สุขุม
11. ตามฆะลาเตีย 6:1, 2 นั้น ควรให้คำแนะนำอย่างไร?
11 สมมุติแกะโดยนัยได้พลั้งผิดไปล่ะ? เปาโลกล่าวว่า “พี่น้องทั้งหลาย ถ้าแม้นผู้ใดก้าวพลาดไปประการใดก่อนที่เขารู้ตัว ท่านทั้งหลายผู้มีคุณวุฒิทางฝ่ายวิญญาณ จงพยายามปรับคนเช่นนั้นให้เข้าที่ด้วยน้ำใจอ่อนสุภาพ ขณะที่ท่านแต่ละคนเฝ้าระวังตนเอง เกรงว่าท่านอาจถูกล่อใจด้วย. “จงช่วยแบกภาระของกันและกันต่อไป ด้วยเหตุนี้ จึงบรรลุบัญญัติของพระคริสต์.” (ฆะลาเตีย 6:1, 2, ล.ม.) คำแนะนำจะบังเกิดผลมากยิ่งขึ้นถ้าแนะนำด้วยใจอ่อนโยน. แม้ในขณะที่ผู้ปกครองตั้งใจจะแนะนำคนซึ่งยังคงขุ่นแค้นอยู่ ผู้ปกครองควรควบคุมตัวเอง โดยตระหนักว่า “ลิ้นที่อ่อนหวานอาจกระทำให้กระดูกแตกได้.” (สุภาษิต 25:15) บางคนที่มีบุคลิกแข็งเหมือนกระดูกก็อาจจะอ่อนลงได้เมื่อได้ฟังคำพูดที่อ่อนโยน และอาจจะดับความแข็งกร้าวของเขาให้สงบลงได้.
12. น้ำใจอ่อนโยนช่วยผู้ให้คำแนะนำอย่างไร?
12 พระยะโฮวาทรงเป็นผู้สั่งสอนที่มีพระทัยอ่อนโยน และวิธีการสอนที่นุ่มนวลของพระองค์มีผลดีภายในประชาคม. โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นเช่นนั้นเมื่อพวกผู้ปกครองพิจารณาเห็นว่าจำเป็นต้องให้คำแนะนำแก่ผู้ที่พึงรับการช่วยฝ่ายวิญญาณ. สาวกยาโกโบเขียนดังนี้: “ใครบ้างในพวกท่านมีปัญญาและความเข้าใจ? จงให้ผู้นั้นสำแดงผลงานโดยการประพฤติที่ดีของเขาด้วยใจอ่อนโยนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสติปัญญานั้น.” ความอ่อนโยนเกิดจากความนับถือและความสำนึกบุญคุณต่อ “สติปัญญาจากเบื้องบน” ควบคู่กับการรับรู้ข้อจำกัดของตัวเองอย่างถ่อมใจ. น้ำใจอ่อนโยนและถ่อมจะป้องกันผู้ให้คำแนะนำพ้นจากการกล่าวถ้อยคำที่ยังผลเสียหายและจากการทำผิดพลาด และการจะรับเอาคำแนะนำของเขาก็ง่ายขึ้น.—ยาโกโบ 3:13, 17.
13. “ใจอ่อนโยนอันเป็นส่วนหนึ่งของสติปัญญา” มีผลกระทบเช่นไรต่อวิธีให้คำแนะนำ?
13 “ใจอ่อนโยนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสติปัญญา” นั้นจะไม่ให้โอกาสผู้แนะนำพูดเกรี้ยวกราดหรือพูดตรงเกินไปโดยขาดการไตร่ตรอง. กระนั้น ความเป็นห่วงเรื่องมิตรภาพหรือที่จะเป็นที่ชอบใจคนอื่นไม่ควรกระตุ้นผู้ปกครองให้พูดเพื่อเอาใจ แทนที่จะให้คำแนะนำอย่างอ่อนโยนตรงจุดที่อาศัยพระวจนะของพระเจ้า. (สุภาษิต 24:24-26; 28:23) คำแนะนำที่อำโนนได้รับจากลูกพี่ลูกน้องของตนสมตามความปรารถนา แต่คำแนะนำนี้ทำให้เขาเสียชีวิต. (2 ซามูเอล 13:1-19, 28, 29) ดังนั้น ผู้ปกครองสมัยนี้ต้องไม่ทำให้หลักการของคัมภีร์ไบเบิลหย่อนไปเพื่อความสบายใจของบางคน เพราะการทำเช่นนั้นอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตของเขา. เช่นเดียวกันกับเปาโล ผู้ปกครองต้องไม่ยับยั้งที่จะบอกให้คนอื่นรู้ถึง “เรื่องพระดำริทั้งสิ้นของพระเจ้า.” (กิจการ 20:26, 27; 2 ติโมเธียว 4:1-4) ผู้ให้คำแนะนำที่เป็นคริสเตียนอาวุโสแสดงความเกรงกลัวพระเจ้าและให้คำแนะนำอย่างเที่ยงธรรมด้วยใจอ่อนโยนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสติปัญญา.
14. เหตุใดผู้ปกครองควรระมัดระวังไม่ตัดสินใจแทนคนอื่นซึ่งคนอื่นน่าจะตัดสินใจเอง?
14 ความอ่อนโยนควบคู่กับสติปัญญาจากเบื้องบนย่อมป้องกันผู้ปกครองที่จะไม่เรียกร้องอย่างไม่ปรานี. อนึ่ง เขาควรตระหนักว่าเป็นการไม่ฉลาดและไม่เหมาะสมที่เขาจะตัดสินใจในเรื่องใด ๆ ซึ่งอีกคนหนึ่งควรตัดสินใจด้วยตนเอง. ผู้ปกครองคงต้องรับผิดชอบสำหรับผลที่ตามมาหากเขาได้ตัดสินใจแทนผู้อื่น และถ้าผลร้ายใด ๆ เกิดขึ้น เขาคงจะรับคำตำหนิเช่นกัน. ผู้ปกครองอาจแนะให้ใส่ใจต่อสิ่งที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ไบเบิล แต่ถ้าไม่มีกฎในพระคัมภีร์เกี่ยวกับเรื่องนั้น คนนั้นต้องใช้วิจารณญาณและสติรู้สึกผิดชอบของตนเองตัดสินใจว่าตนควรทำหรือไม่ทำสิ่งใด. ดังเปาโลกล่าวว่า “ทุกคนต้องแบกภาระของตนเอง.” (ฆะลาเตีย 6:5; โรม 14:12) อย่างไรก็ตาม คนที่ติดต่อขอความช่วยเหลือก็อาจได้รับการช่วยในแนวที่จะตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง โดยผู้ปกครองตั้งคำถามเพื่อช่วยผู้นั้นหาเหตุผลโดยอาศัยข้อพระคัมภีร์ที่เกี่ยวโยงกับแนวทางต่าง ๆ อันเป็นลู่ทางให้เขาเลือกได้.
15. ควรทำประการใดหากผู้ปกครองเองไม่รู้คำตอบ?
15 ถ้าผู้ปกครองไม่รู้คำตอบ เขาก็ไม่ควรตอบเพียงเพื่อจะไม่เสียหน้า. ความอ่อนโยนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสติปัญญาคงจะทำให้เขาไม่อาศัยการคาดคะเนหรือบางทีให้คำตอบอย่างผิด ๆ ซึ่งภายหลังอาจก่อเหตุยุ่งยากขึ้นได้. มี “วาระนิ่งเงียบและวาระพูด.” (ท่านผู้ประกาศ 3:7, ฉบับแปลใหม่; เทียบกับสุภาษิต 21:23.) ผู้ปกครองควร “พูด” เฉพาะเมื่อเขารู้คำตอบหรือสืบค้นได้คำตอบที่ถูกต้องแล้วเท่านั้น. เป็นการดีที่จะไม่ตอบคำถามแบบคาดคะเน.—สุภาษิต 12:8; 17:27; 1 ติโมเธียว 1:3-7; 2 ติโมเธียว 2:14.
ประโยชน์ที่ได้จากการมีที่ปรึกษาหลายคน
16, 17. เหตุใดจึงนับว่าเหมาะสมที่ผู้ปกครองจะปรึกษาหารือกัน?
16 การอธิษฐานและการศึกษาจะช่วยพวกผู้ปกครองตอบคำถามและจัดการกับปัญหายุ่งยากได้ แต่ควรจดจำไว้ว่า “เมื่อมีที่ปรึกษาหลายคนก็ความมุ่งหมายสมบูรณ์.” (สุภาษิต 15:22) การหารือกับพวกผู้ปกครองหลาย ๆ คนก่อผลในเชิงที่ว่าได้สติปัญญาจากบุคคลหลายคนรวมกัน. (สุภาษิต 13:20) มิใช่ผู้ปกครองทุกคนมีประสบการณ์หรือความรู้ด้านพระคัมภีร์ทัดเทียมกัน. ดังนั้น ความอ่อนโยนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสติปัญญาจะกระตุ้นผู้ปกครองที่มีประสบการณ์น้อยกว่าหารือกับผู้ปกครองที่มีความรู้และมีประสบการณ์มากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจะต้องจัดการกับเรื่องสำคัญ.
17 เมื่อผู้ปกครองถูกเลือกให้ดำเนินการพิจารณาเรื่องสำคัญ เขาก็ยังอาจสืบหาการช่วยเหลือโดยไม่แพร่งพราย. เพื่อจะได้คนช่วยตัดสินความของชาวยิศราเอล โมเซเลือก “คนที่มีความสามารถจากพลไพร่ คือคนที่เกรงกลัวพระเจ้า ที่เป็นคนสัตย์ซื่อ เป็นคนเกลียดสินบน.” แม้นคนเหล่านั้นเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ แต่ก็ไม่มีความรู้และประสบการณ์มากเท่าเทียมโมเซ. ดังนั้น “ความใหญ่เขาได้นำไปเสนอต่อโมเซ แต่ความเล็กน้อยทุกเรื่องเขาได้ตัดสินใจเอง.” (เอ็กโซโด 18:13-27) ดังนั้น ถ้าจำเป็น ทุกวันนี้ผู้ปกครองที่จัดการกับเรื่องใหญ่ก็สมควรที่จะขวนขวายหาการช่วยเหลือจากผู้ดูแลที่มีประสบการณ์ แม้นพวกผู้ปกครองเองจะเป็นฝ่ายตัดสินขั้นสุดท้าย.
18. เมื่อดำเนินการตัดสินความ อะไรเป็นปัจจัยชี้ขาดเพื่อแน่ใจได้ว่าการตัดสินนั้นเที่ยงธรรม?
18 มิชนาของชาวยิวกล่าวว่าผู้พิพากษาความในหมู่บ้านของชาวยิศราเอลมีจำนวนต่างกันตามความหนักเบาของคดี. นับว่าเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงที่มีหลายคนประกอบเป็นกลุ่มผู้ปรึกษาให้คำแนะนำ ถึงแม้ว่าจำนวนเพียงอย่างเดียวไม่รับประกันความถูกต้อง เพราะผู้คนจำนวนมากอาจตัดสินผิดก็ได้. (เอ็กโซโด 23:2) ปัจจัยที่ชี้ขาดซึ่งรับรองการตัดสินถูกต้องนั้นได้แก่คัมภีร์ไบเบิลและพระวิญญาณของพระเจ้า. สติปัญญาและความอ่อนโยนจะกระตุ้นคริสเตียนยอมรับสิ่งเหล่านี้.
ให้คำพยานด้วยความอ่อนโยน
19. ความอ่อนโยนช่วยไพร่พลของพระยะโฮวาอย่างไรเมื่อให้คำพยานแก่คนอื่น?
19 อนึ่ง ความอ่อนโยนช่วยผู้รับใช้ของพระยะโฮวาให้คำพยานแก่ผู้คนนิสัยต่าง ๆ กัน (1 โกรินโธ 9:22, 23) เนื่องจากพระเยซูสั่งสอนด้วยพระทัยอ่อนโยน คนใจถ่อมไม่รู้สึกกลัวพระองค์ อย่างที่เขาเคยกลัวผู้นำศาสนาที่เกรี้ยวกราด. (มัดธาย 9:36) แน่ละ วิธีการต่าง ๆ อันอ่อนโยนของพระองค์ดึงดูดใจ “แกะ” ไม่ใช่พวก “แพะ” ที่ชั่วร้าย. (มัดธาย 25:31-46; โยฮัน 3:16-21) แม้นพระเยซูใช้คำพูดรุนแรงเมื่อเกี่ยวข้องกับพวกหน้าซื่อใจคดซึ่งเปรียบเหมือนแพะ พยานพระยะโฮวาต้องอ่อนโยนเมื่อประกาศข่าวการพิพากษาของพระเจ้าสมัยนี้ เนื่องจากพวกเขาไม่มีความหยั่งเห็นเข้าใจและไม่มีอำนาจเหมือนพระเยซู. (มัดธาย 23:13-36) ขณะเขาได้ฟังข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรที่ได้รับการประกาศอย่างอ่อนโยน ‘คนทั้งหลายที่ทรงเลือกไว้แล้วเพื่อจะได้ชีวิตนิรันดร์ก็เข้ามาเชื่อถือ’ เช่นเดียวกับพวกที่ว่าง่ายเหมือนแกะได้ยินพระเยซู.”—กิจการ 13:48.
20. นักศึกษาพระคัมภีร์ได้รับประโยชน์อย่างไรเมื่อเขาได้รับการสอนด้วยใจอ่อนโยน?
20 มีผลดีเมื่อให้คำพยานและสั่งสอนผู้อื่นด้วยความอ่อนโยนรวมทั้งใช้หลักเหตุผล หลักการของคัมภีร์ไบเบิลและความจริง. เปโตรเขียนไว้ดังนี้: “จงจัดให้พระคริสต์เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้บริสุทธิ์ เตรียมพร้อมเสมอที่จะโต้ตอบต่อหน้าทุกคนซึ่งเรียกเหตุผลจากท่านสำหรับความหวังของท่าน แต่จงทำเช่นนี้พร้อมด้วยอารมณ์อ่อนโยนและความนับถือสุดซึ้ง.” (1 เปโตร 3:15, ล.ม.) นักศึกษาที่รับการสอนอย่างอ่อนละมุนสามารถจดจ่ออยู่กับบทเรียน แทนที่จะไขว้เขวหรืออาจถึงกับสะดุดเพราะกิริยาที่เกรี้ยวกราดและชอบโต้เถียง. เช่นเดียวกับเปาโล ผู้ประกาศทั้งหลายที่สั่งสอนด้วยใจอ่อนโยนก็สามารถกล่าวได้ว่า “เรามิได้ให้เขามีเหตุสะดุดในสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย เพื่อมิให้การที่เรารับใช้ปฏิบัตินั้นเป็นที่เขาจะติเตียนได้.” (2 โกรินโธ 6:3) แม้แต่ผู้ขัดขวางบางครั้งก็ตอบสนองอย่างน่าพอใจต่อผู้ที่สั่งสอนด้วยความอ่อนโยน.
ทุกคนต้องเป็นคนอ่อนโยน
21, 22. ใจอ่อนโยนเป็นคุณประโยชน์อย่างไรแก่ไพร่พลทั้งหลายของพระยะโฮวา?
21 ความอ่อนโยนของคริสเตียนจะไม่เป็นเพียงสิ่งฉาบหน้าเพื่อให้ประทับใจคนเหล่านั้นที่อยู่นอกองค์การของพระเจ้า. คุณลักษณะแบบนี้เป็นสิ่งสำคัญเหมือนกันต่อความสัมพันธ์ในท่ามกลางไพร่พลของพระเจ้า. (โกโลซาย 3:12-14; 1 เปโตร 4:8) ประชาคมต่าง ๆ ได้รับการเสริมสร้างฝ่ายวิญญาณเมื่อคณะผู้ปกครองรวมทั้งผู้รับใช้ที่อ่อนโยนซึ่งรับการแต่งตั้งได้ทำงานประสานกัน. การแสดงความอ่อนโยนและคุณลักษณะอื่นเยี่ยงพระเจ้าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกคนท่ามกลางไพร่พลของพระยะโฮวา เพราะว่ามี “บัญญัติอันเดียวกัน” สำหรับทุกคน.—เอ็กโซโด 12:49; เลวีติโก 24:22.
22 ความอ่อนโยนเอื้อต่อความสงบและความสุขแห่งพลไพร่ของพระเจ้า. ดังนั้น ความอ่อนโยนจึงควรเป็นส่วนประกอบเป็นเส้นใยที่มีคุณภาพถักทอเครื่องนุ่งห่มซึ่งคริสเตียนทุกคนสวมใส่อยู่ที่บ้าน ในประชาคมและ ณ ที่อื่น ๆ. ใช่แล้ว ผู้รับใช้ทุกคนของพระยะโฮวาจำต้องสวมตัวด้วยความอ่อนโยน.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ เหตุใดคริสเตียนผู้ปกครองจึงต้องเป็นคนอ่อนโยน?
▫ ความอ่อนโยนปกป้องผู้ให้คำแนะนำที่มีปัญญาอย่างไร?
▫ คุณค่าของการมีผู้ให้คำแนะนำมากหลายนั้นคืออะไร?
▫ ทำไมจึงเป็นประโยชน์ที่จะให้คำพยานด้วยความอ่อนโยน?
[รูปภาพหน้า 17]
ไพร่พลของพระยะโฮวาเปรียบเหมือนแกะและจำต้องได้รับการปฏิบัติด้วยความอ่อนโยน
[ที่มาของภาพ]
Garo Nalbandian
[รูปภาพหน้า 19]
ความอ่อนโยนส่งเสริมไพร่พลของพระยะโฮวาในการให้คำพยานแก่ผู้คนซึ่งมีอุปนิสัยใจคอต่างกัน