‘พระยะโฮวาเป็นพระเจ้าของข้าพเจ้าข้าพเจ้าวางใจในพระองค์’
เล่าโดย วิลลี ดีล
“ทำไมลูกถึงอยากไปทำงานที่เบเธล?” คุณพ่อถามคำถามนี้ในฤดูใบไม้ผลิปี 1931 เมื่อผมบอกท่านถึงความตั้งใจของผมที่จะเริ่มรับใช้ที่เบเธล. คุณพ่อกับคุณแม่ของผมอาศัยอยู่ที่แคว้นซาร์ ท่านอยู่ในความจริงเป็นเวลาสิบปีหรือราว ๆ นั้น และท่านได้วางตัวอย่างที่ดีแก่พวกเราซึ่งเป็นลูกชายทั้งสามคน. ความจริงเป็นทุกสิ่งในชีวิตของท่าน และผมก็ต้องการให้ความจริงเป็นแนวทางแห่งชีวิตทั้งสิ้นของผมเช่นกัน.
แต่คุณพ่อกับคุณแม่ของผมเรียนรู้เรื่องพระยะโฮวาและพระทัยประสงค์ของพระองค์อย่างไร? เนื่องจากท่านไม่พอใจกับองค์การศาสนาที่ตั้งขึ้น ท่านได้แสวงหาความจริงนานมาแล้ว. ท่านได้ลองดูโบสถ์และนิกายต่าง ๆ หลายแห่ง และพบว่าแต่ละแห่งยังไม่ใช่แหล่งที่ถูกต้อง.
วันหนึ่งมีใบเชิญเหน็บอยู่ที่ประตูบ้านของเรา แจ้งถึงคำบรรยายพร้อมภาพประกอบและภาพยนตร์เกี่ยวกับพระประสงค์ของพระเจ้าที่เรียกว่า “ภาพยนตร์เรื่องการทรงสร้าง.” คุณพ่อต้องไปทำงานตอนที่จะมีการฉาย “ภาพยนตร์” แต่ท่านก็สนับสนุนให้คุณแม่ไปดู. ท่านพูดว่า “บางที อาจจะมีอะไรดี ๆ ก็ได้.” หลังจากดูภาพยนตร์ในคืนวันนั้น คุณแม่มีความกระตือรือร้นยิ่ง. คุณแม่พูดว่า “ในที่สุดฉันก็พบความจริง! คืนพรุ่งนี้ให้คุณไปดูด้วยตัวเอง. นี่เป็นความจริงที่เราแสวงหา.” ตอนนั้นเป็นปี 1921.
ในฐานะคริสเตียนผู้ถูกเจิม คุณพ่อคุณแม่ของผมรักษาความซื่อสัตย์จนท่านจากไป คุณพ่อเสียชีวิตปี 1944 หลังจากถูกกักขังโดยพวกนาซีหลายครั้ง และคุณแม่เสียชีวิตปี 1970. คุณแม่ก็เช่นกัน ถูกคุมขังเป็นเวลานานภายใต้การปกครองของพวกนาซี.
ตัวอย่างความกระตือรือร้นจากคุณพ่อคุณแม่ของผม
ก่อนท่านจะเสียชีวิต คุณพ่อคุณแม่เป็นคนที่ขยันขันแข็งในงานรับใช้อย่างยิ่ง. โดยเฉพาะคุณแม่จะกระตือรือร้นในการแจกมติต่าง ๆ ที่ออกในการประชุมภาคนับตั้งแต่ปี 1922 ถึงปี 1928. มติอันหนึ่งที่มีชื่อว่า เอเคลซิแอสติกส์ อินดิคเต็ด พิมพ์มติที่มีการรับรองในปี 1924 ซึ่งมีเนื้อหาเป็นการตำหนิอย่างรุนแรงต่อพวกนักเทศน์นักบวช. การแจกจ่ายมตินี้ต้องมีความกล้าหาญ. ผู้ประกาศจะตื่นแต่เช้าตอนตีสี่ แล้วจะเอาแผ่นพับสอดไว้ใต้ประตูบ้าน. แม้ผมจะอายุเพียง 12 ขวบ คุณพ่อคุณแม่ก็อนุญาตให้ผมมีส่วนร่วมด้วย. เรามักจะเริ่มงานตอนตีห้า ขี่จักรยานสามถึงสี่ชั่วโมงเพื่อจะไปยังเขตทำงานที่อยู่ไกลออกไป. เราซ่อนจักรยานในพุ่มไม้ และผมจะเฝ้าอยู่ขณะที่คนอื่นทำงานในหมู่บ้าน. พอตอนบ่ายเราก็ขี่จักรยานกลับบ้าน และตอนเย็นเราเดินอีกหนึ่งชั่วโมงเพื่อไปประชุม.
ต่อมา เด็กที่อายุน้อยกว่าผมเป็นคนเฝ้าจักรยาน และผมไปกับผู้ประกาศ. แต่ไม่มีใครคิดเรื่องการฝึกสอนผม. เขาเพียงแต่บอกชื่อถนนที่ผมจะต้องทำงาน! ด้วยหัวใจเต้นรัวผมค่อย ๆ ย่องไปยังบ้านหลังแรก หวังว่าคงไม่มีใครอยู่ในบ้าน. ผิดคาด ผู้ชายคนหนึ่งมาเปิดประตู. ผมพูดไม่ออก. ด้วยความประหม่าทำอะไรไม่ถูก ผมชี้ไปที่หนังสือซึ่งอยู่ในกระเป๋าของผม. เขาถามว่า “หนังสือนี้มาจากจัดจ์ รัทเธอร์ฟอร์ดใช่ไหม?” ผมตอบอย่างตะกุกตะกัก. เจ้าของบ้านถามว่า “นี่เป็นเล่มใหม่ที่ฉันยังไม่มีหรือเปล่า? “ใช่ครับ เป็นหนังสือใหม่” ผมกล่าวย้ำ. “ถ้าอย่างนั้น ฉันควรจะมีเล่มนี้. ราคาเท่าไรล่ะ?” เหตุการณ์นี้ทำให้ผมกล้าที่จะทำงานต่อ.
ในปี 1924 พวกผู้ใหญ่พูดกันมากเกี่ยวกับปี 1925. ครั้งหนึ่งเราเยี่ยมครอบครัวหนึ่งซึ่งศึกษาพระคัมภีร์ และผมได้ยินนักศึกษาคนหนึ่งถามว่า “ถ้าองค์พระผู้เป็นเจ้ารับเราไปยังสวรรค์ แล้วพวกลูก ๆ ของเราล่ะจะเป็นอย่างไร?” คุณแม่ซึ่งมีทัศนะในแง่บวกเสมอตอบว่า “พระผู้เป็นเจ้าคงจะทราบวิธีดูแลเด็ก ๆ เหล่านั้น.” ผมสนใจเรื่องนี้อย่างยิ่ง. ทั้งหมดนี้หมายความว่าอย่างไร? ปี 1925 มาถึงและก็ผ่านไป แต่ไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น. อย่างไรก็ดี ความกระตือรือร้นของคุณพ่อกับคุณแม่ไม่ได้ลดน้อยลงเลย.
คำแนะนำที่ฉลาดสุขุมของคุณพ่อ
สุดท้าย ในปี 1931 ผมบอกคุณพ่อถึงแผนการชีวิตที่ผมจะทำ. คุณพ่อตอบผมด้วยการถามว่า “ทำไมลูกถึงต้องการไปทำงานที่เบเธล?” ผมตอบว่า “เพราะว่าผมปรารถนาที่จะรับใช้พระยะโฮวา.” คุณพ่อกล่าวต่อไปว่า “ถ้าหากลูกได้รับเชิญให้ทำงานที่เบเธล ลูกเข้าใจไหมว่าพี่น้องไม่ใช่ทูตสวรรค์นะ? พวกเขาเป็นคนไม่สมบูรณ์และผิดพลาดได้. พ่อเกรงว่าเรื่องนี้อาจจะเป็นเหตุให้ลูกหนีออกมาและละทิ้งความเชื่อด้วยซ้ำไป. ขอให้ลูกคิดเรื่องนี้อย่างรอบคอบ.”
ผมตกใจมากที่ได้ยินเรื่องเช่นนั้น แต่หลังจากชั่งดูเรื่องราวต่าง ๆ อยู่หลายวัน ผมยังคงมีความปรารถนาเช่นเดิมที่จะสมัครทำงานที่เบเธล. คุณพ่อพูดว่า “บอกพ่ออีกครั้งว่าทำไมลูกจึงอยากไป.” ผมตอบซ้ำอีกว่า “เพราะผมต้องการรับใช้พระยะโฮวา.” “ลูกพ่อ อย่าลืมเหตุผลข้อนี้. ถ้าหากได้รับเชิญ จงจำเหตุผล ที่ลูกไปไว้. เมื่อเห็นข้อผิดพลาด อย่ากังวลมากจนเกินไป. หรือแม้แต่มีคนปฏิบัติกับลูกอย่างไม่สมควร ก็อย่าวิ่งหนี. ต้องไม่ลืมว่าทำไมลูกจึงมาอยู่ที่เบเธล—เพราะลูกต้องการรับใช้พระยะโฮวา! ขอเพียงเอาใจใส่ทำงานของลูกไปและวางใจในพระองค์.”
ดังนั้น ตอนบ่ายของวันที่ 17 พฤศจิกายน ปี 1931 ผมได้มาถึงเบเธลที่กรุงเบอร์น สวิตเซอร์แลนด์. ผมร่วมพักในห้องกับคนอื่นอีกสามคนและทำงานในแผนกพิมพ์ เรียนวิธีใช้เครื่องขนาดเล็กซึ่งป้อนกระดาษด้วยมือ. หนึ่งในงานชิ้นแรกที่ผมได้รับมอบหมายให้พิมพ์เป็นวารสารหอสังเกตการณ์ ในภาษาโรมาเนีย.
ข่าวสารที่มาจากสวรรค์!
ในปี 1933 สมาคมพิมพ์หนังสือเล่มเล็กเรื่อง เดอะ ไครสิส ซึ่งรวมเอาคำบรรยายทางวิทยุสามเรื่อที่บราเดอร์รัทเธอร์ฟอร์ดกล่าวในสหรัฐ. บราเดอร์ฮาร์เบค ผู้รับใช้สาขา แจ้งแก่ครอบครัวเบเธลในช่วงอาหารเช้าวันหนึ่งว่าจะมีการแจกจ่ายหนังสือเล่มเล็กนี้ในวิธีพิเศษ. จะมีการทิ้งใบปลิวโฆษณาจากเครื่องบินเล็กที่เช่ามาซึ่งจะบินอยู่เหนือกรุงเบอร์น ขณะที่ผู้ประกาศจะยืนตามถนนเสนอหนังสือเล่มเล็กแก่ประชาชน. เขาถามว่า “พี่น้องหนุ่ม ๆ ใครที่พร้อมจะขึ้นไปกับเครื่องบินบ้าง? ขอให้บอกชื่อมาเดี๋ยวนี้เลย.” ผมสมัคร และต่อมาบราเดอร์ฮาร์เบคก็ประกาศว่าผมได้รับเลือก.
ในวันสำคัญนั้น เราขับรถไปที่สนามบินพร้อมกับกล่องใบปลิวหลายใบ. ผมนั่งรัดเข็มขัดอยู่หลังนักบินและกองใบปลิวไว้บนที่นั่งข้าง ๆ ผม. คำแนะนำชัดเจนที่ให้แก่ผมคือว่า ม้วนใบปลิวให้เต็มกำมือครั้งละหนึ่งร้อยใบ แล้วขว้างออกไปทางหน้าต่างด้านหนึ่งขว้างไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้. หากไม่ระวังจะทำให้ใบปลิวไปติดอยู่ที่ส่วนหางของเครื่องบินและสร้างปัญหาได้. แต่ทุกสิ่งก็ดำเนินไปด้วยดี. ต่อมาพี่น้องหลายคนพูดกันว่านั่นเป็นภาพที่น่าตื่นเต้นจริง ๆ ที่เห็นข่าวสารลงมาจากสวรรค์จริง ๆ. งานนี้ได้ผลตามที่มุ่งหวังไว้ และมีการจำหน่ายหนังสือเล่มเล็กหลายเล่ม แม้ว่าบางคนจะโทรศัพท์มาต่อว่าว่าแปลงดอกไม้ของพวกเขาเกลื่อนไปด้วยใบปลิวก็ตาม.
ขอบคุณสำหรับสิทธิพิเศษในงานรับใช้ทุกอย่าง
ผมขอบคุณพระยะโฮวาทุกวันสำหรับความยินดีและความพอใจในงานรับใช้ที่เบเธล. ในประชาคม ผมได้รับมอบหมายให้มาเปิดประตูหอประชุม พร้อมทั้งจัดเก้าอี้ให้เป็นระเบียบ และเตรียมน้ำแก้วหนึ่งไว้ที่โต๊ะสำหรับผู้บรรยาย. ผมถือว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ทำงานนี้.
ที่เบเธล ในที่สุดผมก็ได้พิมพ์วารสาร เดอะ โกลเดน เอจ (ปัจจุบันคือตื่นเถิด) เป็นภาษาโปแลนด์โดยใช้เครื่องพิมพ์แบบแท่นนอนขนาดใหญ่. ในปี 1934 เราเริ่มใช้เครื่องเล่นจานเสียง และผมมีส่วนช่วยในการประดิษฐ์เครื่องเหล่านั้น. ผมรู้สึกยินดีมากจริง ๆ ในการไปตามบ้านพร้อมจานเสียงคำบรรยายจากคัมภีร์ไบเบิล. เจ้าของบ้านส่วนมากสนใจอยากรู้จักเจ้าเครื่องเล่นอันใหม่ขนาดกระเป๋าหิ้วนี้ และทั้งครอบครัวมักจะมาฟังด้วยกัน แล้วก็จากไปทีละคน. เมื่อทั้งครอบครัวไปหมดแล้ว ผมก็จะไปบ้านถัดไป.
ทำงานต่อไปในยามสงคราม
หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 แคว้นซาร์บ้านเกิดของผมถูกแยกออกจากเยอรมนีและอยู่ภายใต้การปกครองที่มีสันนิบาตชาติคอยดูแลอยู่. ดังนั้น แคว้นซาร์จึงพิมพ์บัตรประชาชนของตนขึ้นใช้เอง. ในปี 1935 มีการให้ประชาชนลงมติว่าพวกเขาต้องการรวมเข้ากับเยอรมนีหรือไม่. ผมถือโอกาสนี้ไปเยี่ยมครอบครัว เพราะรู้ว่าไม่อาจทำเช่นนั้นได้หากแคว้นซาร์ตกอยู่ใต้การครอบครองของนาซี. และเป็นอย่างนั้นจริงเพราะว่าหลังจากนั้นเป็นเวลาหลายปี ผมไม่ได้ข่าวคราวจากบิดามารดาหรือพี่น้องเลย.
แม้ว่าไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับสงครามโลกครั้งที่สองโดยตรง สวิตเซอร์แลนด์กลายเป็นประเทศที่อยู่โดดเดี่ยวอย่างสิ้นเชิง เมื่อเยอรมนีครอบครองประเทศเพื่อนบ้านประเทศแล้วประเทศเล่า. เราเคยพิมพ์หนังสือสำหรับยุโรปทุกประเทศยกเว้นเยอรมนี แต่ตอนนี้ไม่สามารถส่งหนังสือต่าง ๆ ตามที่สั่งได้. บราเดอร์ซูร์เกอร์ซึ่งเป็นผู้รับใช้สาขาในเวลานั้นบอกเราว่า เราแทบจะไม่มีเงินเหลือเลย และเขาสนับสนุนให้เราหางานภายนอกเบเธลทำจนกว่าสิ่งต่าง ๆ จะคืนสู่สภาพปกติ. อย่างไรก็ดี ผมได้รับอนุญาตให้อยู่ที่เบเธลต่อไป เพราะมีงานพิมพ์บ้างเล็กน้อยสำหรับพี่น้องในท้องถิ่นราวพันคนหรือกว่านั้น.
ครอบครัวเบเธลจะไม่มีวันลืมวันที่ 5 กรกฎาคม ปี 1940. ทันทีหลังอาหารเที่ยงรถบรรทุกทหารเคลื่อนเข้ามา. พวกทหารกระโดดลงมาและพรวดพราดเข้ามาในเบเธล. เราได้รับคำสั่งให้ยืนอยู่นิ่ง ๆ และพวกเราแต่ละคนถูกทหารถือปืนคุมตัว. เราถูกต้อนให้เข้าไปในโรงอาหารขณะเดียวกันก็มีการค้นอาคารที่เหลือทุกห้อง. ทางการสงสัยเราว่าเป็นคนยุยงให้คนอื่นปฏิเสธการเป็นทหาร แต่เขาหาหลักฐานไม่พบ.
ระหว่างปีที่มีสงคราม ผมเป็นผู้ดูแลผู้เป็นประธานในประชาคมสองแห่งที่ทูนและที่ฟรูทีเก็น. นี่หมายความว่าตารางเวลาในวันสุดสัปดาห์ของผมแน่นมาก. ทุกวันเสาร์ทันทีหลังอาหารเที่ยง ผมจะขี่จักรยานระยะทาง 50 กิโลเมตรไปฟรูทีเก็นซึ่งผมจะนำการศึกษาวารสารหอสังเกตการณ์ ในตอนเย็น. ตอนเช้าของวันอาทิตย์ผมจะทำงานประกาศร่วมกับผู้ประกาศ. จากนั้นตอนบ่าย ผมออกจากที่นั่นไปที่อินเตอร์ลาเคนเพื่อนำการศึกษาหนังสือประจำประชาคมและตอนเย็นนั้นก็จะไปศึกษาพระคัมภีร์ให้กับครอบครัวหนึ่งที่สปีตซ์. และก่อนที่จะสิ้นสุดวันนั้น ผมไปนำการศึกษาวารสารหอสังเกตการณ์ ที่ทูน.
ยามดึกของคืนนั้น เมื่อเสร็จสิ้นกิจกรรมทั้งหมดของผม ผมร้องเพลงและผิวปากด้วยความสุขใจพอใจอย่างยิ่งขณะที่ขี่จักรยานกลับไปที่เบอร์น. รถยนต์ไม่ค่อยมีในเวลานั้นและนาน ๆ จะเห็นสักคันหนึ่ง. ภูมิประเทศที่เป็นเนินเขาซึ่งมืดดุจคลุมด้วยผ้าสีดำเนื่องจากนโยบายปิดไฟในยามสงครามนั้นสงบเงียบ ปราศจากสิ่งรบกวน และบางครั้งก็มีแสงจันทร์ส่องลงมา. วันในช่วงสุดสัปดาห์เหล่านั้นช่างเพิ่มพูนความสุขแก่ชีวิตของผมและช่วยเสริมพละกำลังผมกลับคืนมาจริง ๆ!
การเยี่ยมซึ่งยังผลที่ไม่ได้คาดหมาย
ในฤดูใบไม้ร่วงปี 1945 บราเดอร์นอร์มาเยี่ยมพวกเรา. วันหนึ่งท่านเข้ามาในโรงงานขณะที่ผมยืนอยู่ที่แท่นพิมพ์โรตารี. ท่านร้องเรียกว่า “ลงมาข้างล่างหน่อย! คุณอยากเข้าโรงเรียนกีเลียดไหม?” ผมสะดุ้งตกใจ. ผมตอบว่า “ถ้าท่านคิดว่าผมมีความสามารถพอ ผมก็ยินดีครับ.” มีจดหมายเชิญส่งมาถึงบราเดอร์เฟรด โบรีส, ซิสเตอร์อลิส เบอร์เนอร์ และถึงผมในฤดูใบไม้ผลิของปี 1946. แต่เนื่องจากเกิดในแคว้นซาร์ ผมจึงไม่มีสัญชาติ ดังนั้น ผมจึงต้องยื่นขอวีซ่าพิเศษจากกรุงวอชิงตัน ดี. ซี. สหรัฐอเมริกา.
ขณะที่คนอื่น ๆ ไปทันเวลา ผมต้องรอคำตอบขอวีซ่า. ขณะที่โรงเรียนกิเลียดเริ่มสอนในวันที่ 4 กันยายน ผมยังอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ และความหวังของผมค่อย ๆ เลือนรางลง. ต่อมาเจ้าหน้าที่กงสุลของสหรัฐโทรศัพท์มาแจ้งว่าหนังสือวีซ่าของผมส่งมาถึงแล้ว. ผมจัดแจงเตรียมแผนการเดินทางทันทีและในที่สุดก็จองที่ได้บนเรือลำเลียงพลซึ่งแล่นจากเมืองมาร์เซลส์ไปนิวยอร์ก. เป็นประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นอะไรเช่นนี้! เรือแอทอส 2 มีผู้โดยสารแน่นไปหมด. ผมถูกจัดแบ่งให้นอนบนเก้าอี้ยาวในห้องที่เปิดโล่ง. พอเดินทางมาได้สองวัน การระเบิดขึ้นที่ห้องเครื่องทำให้เรือหยุดอยู่กับที่. ผู้โดยสารและลูกเรือเช่นกันรู้สึกไม่สบายใจ กลัวว่าจะอับปางลง. เหตุการณ์นี้ทำให้ผมได้โอกาสดีอย่างยิ่งในการให้คำพยานเกี่ยวกับความหวังเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตาย.
ใช้เวลาไปสองวันในการซ่อมเรือ หลังจากนั้นเราเดินทางต่อไปโดยมีการลดความเร็วลง. ต่อจากนั้นอีก 18 วันเราก็เดินทางมาถึงนิวยอร์ก แต่ถูกกักอยู่บนเรือเพราะพนักงานท่าเรือนัดหยุดงาน. ภายหลังที่มีการเจรจากัน สุดท้ายเราก็ออกจากเรือได้. ผมได้โทรเลขถึงสมาคมเกี่ยวกับสภาพการณ์ที่เกิดขึ้น และขณะที่ผมออกจากด่านศุลการและกองตรวจคนเข้าเมือง ผู้ชายคนหนึ่งถามว่า “คุณชื่อดีลใช่ไหมครับ?” เขาเป็นผู้ช่วยคนหนึ่งของบราเดอร์นอร์ และเขาพาผมขึ้นรถไฟในคืนนั้นไปที่อิทากาซึ่งอยู่ใกล้กับโรงเรียนกิเลียด ผมไปถึงเวลาแปดโมงกว่าเล็กน้อยในตอนเช้ารุ่งขึ้น. น่าตื่นเต้นเพียงไรที่ผมไปที่นั่นในที่สุด และสามารถเข้าร่วมชั้นเรียนแรกของโรงเรียนกิเลียดที่มีนักเรียนมาจากหลายชาติ!
อดทนทั้งที่มีความยุ่งยากต่าง ๆ
วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 1947 เป็นวันสำเร็จการศึกษาของนักเรียนกิเลียดชั้นที่แปด และแต่ละคนมีความตื่นเต้นสูง. เราจะถูกส่งไปที่ไหน? “เครื่องวัดเขต” ของผมตกอยู่ที่โรงพิมพ์ใหม่ของสมาคมในวิสบาเดน เยอรมนี. (บทเพลงสรรเสริญ 16:6) ผมกลับไปที่เบอร์นเพื่อขอใบอนุญาตที่จำเป็น แต่กองกำลังของสหรัฐที่ยึดครองอยู่ในเยอรมนีอนุญาตให้เข้าเฉพาะแต่คนที่เคยอาศัยอยู่ที่นั่นก่อนเกิดสงคราม. เนื่องจากผมไม่อยู่ที่นั่นก่อนเกิดสงคราม ผมจำต้องได้รับการมอบหมายใหม่จากสำนักงานใหญ่ที่บรุคลิน. ปรากฏว่าผมได้รับงานเดินหมวดในสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งผมตอบรับด้วยความวางใจในพระยะโฮวาอย่างเต็มที่. แต่ขณะที่รอคอยการมอบหมายนี้อยู่นั้น วันหนึ่งผมถูกขอให้พาพี่น้องหญิงสามคนที่มาเยี่ยมชมสำนักเบเธล. หนึ่งในกลุ่มนั้นเป็นไพโอเนียร์ชื่อมาร์เท เมฮ์ล.
เดือนพฤษภาคมของปี 1949 ผมแจ้งให้สาขาที่เบอร์นทราบว่าผมวางแผนจะแต่งงานกับมาร์เทและบอกว่าเรามีความปรารถนาที่จะอยู่ในงานรับใช้เต็มเวลาต่อ. การสนองตอบเป็นอย่างไร? ไม่มีสิทธิพิเศษอื่นนอกจากการเป็นไพโอเนียร์ประจำ. เราเริ่มงานที่บีล หลังจากที่เราแต่งงานกันในเดือนมิถุนายน 1949. ผมไม่ได้รับอนุญาตให้บรรยาย ทั้งไม่สามารถช่วยหาที่พักสำหรับตัวแทนที่มาประชุมขณะที่การประชุมใหญ่ใกล้เข้ามา แม้ว่าผู้ดูแลหมวดได้เสนอแนะเราสำหรับสิทธิพิเศษนี้. พี่น้องหลายคนไม่ทักทายเรา ปฏิบัติกับเราเสมือนคนที่ถูกตัดสัมพันธ์ ทั้ง ๆ ที่เราเป็นไพโอเนียร์.
อย่างไรก็ตาม เรารู้ว่าการสมรสไม่ผิดหลักพระคัมภีร์ ดังนั้น เราหมายพึ่งพระเจ้าด้วยการอธิษฐานและฝากความวางใจไว้กับพระยะโฮวา. ที่จริงแล้ว การปฏิบัติแบบนี้ไม่ได้สะท้อนทัศนะของสมาคม. นี่เป็นเพียงแต่ผลจากการนำคำแนะนำจากองค์การไปใช้อย่างผิด ๆ.
บราเดอร์นอร์กลับมาอีก
ในปี 1951 บราเดอร์นอร์กลับมาเยี่ยมเราที่สวิตเซอร์แลนด์อีก. หลังจากท่านกล่าวคำบรรยายมีการแจ้งให้ผมทราบว่าท่านต้องการคุยกับผม. แม้จะหวั่นใจอยู่บ้าง ผมรู้สึกมีความสุขที่ท่านยินดีจะพบผม. ท่านถามว่าเราเต็มใจที่จะรับการมอบหมายในบ้านพักมิชชันนารีที่สมาคมตั้งใจจะเปิดที่เจนีวาไหม? เราดีใจเป็นธรรมดา แม้ว่าเราเสียใจไม่น้อยที่ต้องจากบีลไป. วันรุ่งขึ้นมีคำร้องขอเพิ่มเติมจากบราเดอร์นอร์มาถึงเรา. เราเต็มใจที่จะกลับมารับงานเดินหมวดอีกไหมเนื่องจากมีความจำเป็นที่จะเอาใจใส่งานด้านนี้เพิ่มขึ้นในสวิตเซอร์แลนด์? เราตอบตกลงทันที. ผมมีทัศนะที่จะรับข้อเสนอเสมอไม่ว่าการมอบหมายจะเป็นอย่างไหนก็ตาม.
การปฏิบัติงานเดินหมวดของเราในภาคตะวันออกของสวิตเซอร์แลนด์ได้รับพระพรอย่างยิ่ง. เราเดินทางไปมาระหว่างประชาคมต่าง ๆ ด้วยรถไฟ ถือข้าวของทั้งหมดที่เรามีอยู่ในกระเป๋าเดินทางสองใบ. พี่น้องมักจะขี่จักรยานมาพบเราที่สถานีรถไฟ เพราะสมัยนั้นมีน้อยคนจะมีรถยนต์. หลายปีต่อมาพี่น้องคนหนึ่งให้รถยนต์คันหนึ่งแก่เราไว้ใช้งาน ซึ่งทำให้งานรับใช้ของเราค่อนข้างจะง่ายขึ้น.
เรื่องใหม่ ๆ ที่ทำให้ประหลาดใจ
ช่างน่าตื่นเต้นอะไรเช่นนี้ที่ผมกับภรรยาได้รับเชิญให้เข้าชั้นเรียนที่ 40 ของโรงเรียนกิเลียดในปี 1964 เป็นชั้นสุดท้ายที่เรียนครอบคลุมเนื้อหาอย่างกว้างขวาง หลักสูตรนานสิบเดือน ซึ่งตอนนี้ย่นย่อลงเหลือเพียงแปดเดือน. มาร์เทต้องเรียนภาษาอังกฤษโดยเร็ว แต่เธอก็ทำได้อย่างน่าชมเชย. มีการคาดการณ์ต่าง ๆ นานาว่าเราจะถูกส่งไปที่ใด. ทัศนะของผมคือว่า ‘ไม่ว่าจะได้รับมอบหมายไปที่ใดผมก็ยินดี ตราบเท่าที่ไม่ได้ทำงานหลังโต๊ะเขียนหนังสือ!’
แต่สิ่งนั้นก็เกิดขึ้นจริง ๆ! วันที่ 13 กันยายน 1965 ซึ่งเป็นวันสำเร็จการศึกษา ผมได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแลสาขาของสวิตเซอร์แลนด์. การอยู่ในเบเธลเป็นประสบการณ์ชนิดใหม่สำหรับมาร์เท. สำหรับผม นั่นหมายความว่าเป็นการกลับไปยัง “บ้านของพระเจ้า” ไม่ใช่ไปที่โรงพิมพ์ซึ่งผมเคยทำงานตั้งแต่ปี 1931-1946 แต่ไปทำงานที่สำนักงาน. มีสิ่งใหม่ ๆ หลายอย่างที่ผมต้องเรียน แต่ด้วยความช่วยเหลือจากพระยะโฮวาผมสามารถทำเช่นนั้นได้.
เมื่อมองย้อนหลัง
ตลอด 60 ปีของงานรับใช้เต็มเวลา ผมวางใจในพระยะโฮวาอย่างเต็มที่ ดังคำที่พ่อบอกแก่ผมทีเดียว. และพระยะโฮวาทรงหลั่งพระพรลงมามากมายหลายรูปแบบ. มาร์เทเป็นแหล่งแห่งการหนุนกำลังใจอย่างมากในเวลาที่ผมรู้สึกผิดหวัง หรือเมื่องานมอบหมายดูจะท่วมท้น ที่จริงเธอเป็นคู่เคียงที่ภักดีและวางใจในพระยะโฮวาอย่างเต็มที่.
ขอคำสรรเสริญจงมีแด่พระยะโฮวาสำหรับสิทธิพิเศษในการรับใช้มากมายที่ผมได้รับ! ผมยังคงรับใช้ฐานะเป็นผู้ประสานงานคณะกรรมการสาขาในทูน และหลายครั้งที่ผมเดินทางในฐานะผู้ดูแลโซน. ไม่ว่าผมจะถูกขอให้ทำอะไรก็ตาม ผมมักจะคอยหาการทรงนำจากพระยะโฮวาเสมอ. ถึงแม้ข้อผิดพลาดและความผิดของผมจะมีมากมาย ผมเชื่อมั่นว่าโดยทางพระคริสต์พระยะโฮวาทรงยกโทษให้ผม. ขอให้ผมเป็นที่พอพระทัยของพระองค์เรื่อยไป. และขอพระองค์ทรงชี้นำทางเดินของผม เนื่องจากผมคอยพึ่งพาพระองค์ตลอดไป ในฐานะเป็น “พระเจ้าของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าวางใจในพระองค์.”—บทเพลงสรรเสริญ 91:2.
[รูปภาพของวิลลีและมาร์เท ดีล หน้า 25]