“จงเอาบรรดาส่วนสิบชักหนึ่งนั้นมาส่ำสมไว้ในคลัง”
“จงมาลองดูเราในเรื่องนี้ ดูทีหรือว่าเราจะเปิดบัญชรท้องฟ้า . . . ให้เจ้าหรือไม่.”—มาลาคี 3:10.
1. (ก) สมัยศตวรรษที่ห้าก่อนสากลศักราช พระยะโฮวาได้เชิญชวนไพร่พลของพระองค์กระทำอะไร? (ข) ในศตวรรษแรกแห่งสากลศักราช ผลเป็นประการใดเมื่อพระยะโฮวาเสด็จยังพระวิหารเพื่อการพิพากษา?
ในศตวรรษที่ห้าก่อนสากลศักราช ชนชาติยิศราเอลไม่ซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวา. พวกเขาขยักส่วนสิบชักหนึ่งไว้ทั้งได้นำสัตว์ที่ไม่เหมาะจะเป็นเครื่องบูชามาถวาย. อย่างไรก็ดี พระยะโฮวาได้ทรงสัญญาว่าถ้าพวกเขาจะให้ส่วนสิบชักหนึ่งครบถ้วนและนำเก็บไว้ในคลัง พระองค์จะเทพระพรประทานแก่เขาจนเกินความต้องการ. (มาลาคี 3:8-10) ประมาณ 500 ปีต่อมา พระเยซูตัวแทนของพระยะโฮวาฐานะทูตแห่งคำสัญญาไมตรีได้เสด็จมายังพระวิหารในกรุงยะรูซาเลมเพื่อพิพากษา. (มาลาคี 3:1) ชาติยิศราเอลโดยส่วนรวมแล้วปรากฏว่าบกพร่อง แต่บรรดาผู้ที่ได้กลับมาหาพระยะโฮวาต่างคนก็ได้รับพระพรอันอุดม. (มาลาคี 3:7) พวกเขาได้รับการเจิมเป็นบุตรฝ่ายวิญญาณของพระยะโฮวา, เป็นคนที่ถูกสร้างใหม่, เป็น “ยิศราเอลของพระเจ้า.”—ฆะลาเตีย 6:16, ฉบับแปลใหม่; โรม 3:25, 26.
2. คำตรัสที่มาลาคี 3:1-10 ถึงกำหนดบรรลุความสมจริงครั้งที่สองเมื่อไร และเราได้รับคำเชิญชวนให้ทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้?
2 ภายหลังเหตุการณ์นั้นเกือบ 1,900 ปี ในปี 1914 พระเยซูได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ราชอาณาจักรภาคสวรรค์ของพระเจ้า และคำตรัสโดยการดลบันดาลของพระเจ้าที่มาลาคี 3:1-10 ก็ถึงกำหนดสำเร็จสมจริงเป็นครั้งที่สอง. เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์อันน่าตื่นเต้นเช่นนี้ คริสเตียนสมัยนี้ได้รับคำเชิญชวนให้นำส่วนสิบชักหนึ่งครบจำนวนมาเก็บไว้ที่คลัง. หากเราทำตามคำเชิญชวน เราย่อมจะรับพระพรจนกระทั่งเกินความต้องการ.
3. ใครคือทูตที่เตรียมทางไว้ก่อนพระยะโฮวาเสด็จ (ก) ในศตวรรษที่หนึ่ง? (ข) ก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง?
3 เรื่องการเสด็จของพระยะโฮวายังพระวิหาร พระองค์ตรัสดังนี้: “นี่แน่ะ! เราจะส่งทูตของเราออกไป และเขาต้องแผ้วถางทางสำหรับเรา.” (มาลาคี 3:1, ล.ม.) เมื่อคำพยากรณ์ตอนนี้สำเร็จในศตวรรษแรก โยฮันผู้ให้บัพติสมาได้ไปยังชาวยิศราเอลประกาศการกลับใจจากบาป. (มาระโก 1:2, 3) มีการตระเตรียมงานไหมเกี่ยวกับการเสด็จยังพระวิหารครั้งที่สองของพระยะโฮวา? มีซิ. หลายสิบปีก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลได้ปรากฏตัวในฉากของโลก สั่งสอนหลักธรรมอันถูกต้องของคัมภีร์ไบเบิลล้วน ๆ และเปิดโปงคำสอนเท็จที่หลู่เกียรติพระเจ้า เช่น คำสอนเรื่องตรีเอกานุภาพและเรื่องไฟนรก. ชนเหล่านี้ยังได้เตือนด้วยว่าเวลากำหนดสำหรับคนต่างชาติจะสิ้นสุดในปี 1914. คนเป็นอันมากได้สนองตอบชนเหล่านี้ที่ถือความสว่างแห่งความจริง.—บทเพลงสรรเสริญ 43:3; มัดธาย 5:14, 16.
4. คำถามอะไรต้องได้รับการชี้ขาดลงไประหว่างวันขององค์พระผู้เป็นเจ้า?
4 ปี 1914 สิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลเรียกว่า “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า” ได้เริ่มต้น. (วิวรณ์ 1:10) เหตุการณ์ต่าง ๆ อันใหญ่โตจะต้องอุบัติขึ้นในช่วงวันนั้น รวมไปถึงการชี้ตัว “บ่าวสัตย์ซื่อและฉลาด” และการตั้งชนจำพวกนั้น “ให้ดูแลสิ่งของทั้งปวงของท่าน [ของของนาย].” (มัดธาย 24:45-47) ย้อนไปในปี 1914 คริสต์จักรต่าง ๆ นับพันได้อ้างตัวเป็นคริสเตียน. พระเยซูคริสต์ผู้เป็นนายจะรับรองกลุ่มไหนหรือคณะใดเป็นบ่าวสัตย์ซื่อและฉลาดของพระองค์? คำถามดังกล่าวต้องได้รับการชี้ขาดลงไปเมื่อพระยะโฮวาเสด็จมายังพระวิหาร.
เสด็จมายังวิหารฝ่ายวิญญาณ
5, 6. (ก) พระยะโฮวาได้เสด็จมายังพระวิหารหลังไหนเพื่อดำเนินการพิพากษา? (ข) คริสต์ศาสนจักรได้รับการพิพากษาอะไรจากพระยะโฮวา?
5 กระนั้น พระองค์ได้เสด็จมายังวิหารไหนล่ะ? เป็นที่ชัดแจ้งว่าไม่ใช่วิหารตามตัวอักษรในกรุงยะรูซาเลม. วิหารหลังสุดท้ายได้ถูกทำลายไปแล้วเมื่อปีสากลศักราช70. อย่างไรก็ตาม พระยะโฮวาทรงมีวิหารที่ยิ่งใหญ่กว่าวิหารที่กรุงยะรูซาเลมซึ่งเคยเป็นภาพเล็งถึง. เปาโลกล่าวถึงวิหารที่ใหญ่กว่าหลังนี้และชี้ให้เห็นด้วยว่าจริง ๆ แล้วใหญ่เพียงใด มีสถานบริสุทธิ์อยู่ในสรวงสวรรค์และลานวิหารบนแผ่นดินโลกนี้. (เฮ็บราย 9:11, 12, 24; 10:19, 20) พระยะโฮวาได้เสด็จยังวิหารฝ่ายวิญญาณหลังมโหฬารนี้แหละเพื่อดำเนินการพิพากษา.—เทียบกับวิวรณ์ 11:1; 15:8.
6 เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อไร? ตามพยานหลักฐานที่มีมากมาย เกิดขึ้นในปี 1918.a ผลเป็นอย่างไร? ส่วนคริสต์ศาสนจักร พระยะโฮวาทรงมองเห็นว่าเป็นองค์การหนึ่งซึ่งมือชุ่มโชกไปด้วยโลหิต, ระบบทางศาสนาเสื่อมทรามทำตัวเองเป็นแพศยากับโลกนี้, มีสัมพันธไมตรีกับคนร่ำรวยและกดขี่คนยากจน, สั่งสอนโดยการยึดถือหลักศาสนานอกรีตแทนการปฏิบัตินมัสการอย่างบริสุทธิ์สะอาด. (ยาโกโบ 1:27; 4:4) พระยะโฮวาได้ทรงเตือนโดยทางมาลาคีดังนี้: “เราจะเป็นพยานที่รวดเร็วที่กล่าวโทษนักวิทยาคม, พวกผิดประเวณี, ผู้ที่สบถเท็จ, ผู้ที่บีบบังคับลูกจ้างในเรื่องค่าจ้าง, และแม่ม่ายและลูกกำพร้าพ่อ.” (มาลาคี 3:5, ฉบับแปลใหม่) คริสต์ศาสนจักรได้ทำสิ่งเหล่านี้มาแล้วทุกอย่างและชั่วร้ายยิ่งกว่านั้นอีก. พอมาในปี 1919 เป็นที่รู้เห็นกันอย่างชัดเจนว่าพระยะโฮวาได้ปรับโทษให้คริสต์ศาสนจักรพินาศพร้อมกับส่วนอื่น ๆ ของบาบูโลนใหญ่ โครงร่างทั้งหมดแห่งศาสนาเท็จทั่วโลก. นับแต่นั้นเป็นต้นมา เหล่าผู้ชอบธรรมก็ได้ยินเสียงเรียกดังนี้: “ดูก่อนพวกพลเมืองของเรา, จงออกมาจากเมืองนั้นเถิด.”—วิวรณ์ 18:1, 4.
7. พระเยซูได้ทรงรับรองผู้ใดเป็นบ่าวสัตย์ซื่อและฉลาดของพระองค์?
7 แล้วใครล่ะคือบ่าวสัตย์ซื่อและฉลาด? ในศตวรรษแรกชนชั้นบ่าวเริ่มด้วยกลุ่มเล็ก ๆ ที่ได้ตอบรับงานให้คำพยานของโยฮันผู้ให้บัพติสมาและของพระเยซู ผู้เป็นทูตแห่งคำสัญญาไมตรี. ในศตวรรษนี้มีไม่กี่พันคนซึ่งได้สนองตอบการเตรียมงานของนักศึกษาพระคัมภีร์ในช่วงหลายปีก่อนถึงปี 1914. ชนเหล่านี้ได้ทนรับการทดลองอันหนักหน่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แต่พวกเขาได้แสดงให้เห็นว่าหัวใจของเขาอยู่กับพระยะโฮวา.
งานชำระให้บริสุทธิ์
8, 9. ย้อนไปเมื่อปี 1918 บ่าวสัตย์ซื่อและฉลาดจำต้องได้รับการชำระในทางใด และเกี่ยวกับเรื่องนี้ พระยะโฮวาทรงทำคำสัญญาอะไรไว้?
8 อย่างไรก็ดี แม้แต่กลุ่มนี้ก็ต้องได้รับการชำระ. บางคนที่เคยสนิทกับพวกเขากลับกลายเป็นศัตรูของความเชื่อและต้องชำระสะสาง. (ฟิลิปปอย 3:18) บางคนไม่สมัครใจแบกความรับผิดชอบต่าง ๆ ที่รวมอยู่ในงานรับใช้พระยะโฮวาและได้ลอยห่างไป. (เฮ็บราย 2:1) นอกจากนั้น ยังมีกิจปฏิบัติที่รับมาจากบาบูโลนหลงเหลืออยู่ซึ่งต้องได้ขจัดออกไป. อนึ่ง ในรูปองค์การ บ่าวสัตย์ซื่อและและฉลาดก็ต้องรับการชำระเช่นกัน. การวางตัวเป็นกลางอย่างถูกต้องต่อโลกนี้พวกเขาต้องเรียนรู้และนำไปปฏิบัติ. และขณะที่โลกนับวันยิ่งเสื่อมทรามมากขึ้น พวกเขาจึงต้องเตรียมตัวพร้อมที่จะต่อสู้เพื่อขจัดความไม่สะอาดทางศีลธรรมและฝ่ายวิญญาณให้หมดไปจากประชาคมต่าง ๆ.—เทียบกับยูดา 3, 4.
9 ใช่แล้ว การชำระเป็นสิ่งจำเป็น แต่ด้วยความรัก พระยะโฮวาได้ทรงสัญญาไว้แล้วเกี่ยวด้วยพระเยซูผู้ประทับบนบัลลังก์ว่า “และพระองค์จะนั่งลงเหมือนช่างหลอมช่างถลุงเงิน. พระองค์จะถลุงลูกชายทั้งหลายของพวกเลวีดุจดังถลุงทองและเงิน เพื่อเขาทั้งหลายจะถวายเครื่องบูชาแก่พระยะโฮวาด้วยน้ำใสใจบริสุทธิ์.” (มาลาคี 3:3) เริ่มต้นในปี 1918 พระยะโฮวา โดยทางทูตแห่งคำสัญญาไมตรีองค์นี้จึงได้ทรงปฏิบัติตามคำสัญญาและได้ชำระไพร่พลของพระองค์.
10. ไพร่พลของพระเจ้าได้นำอะไรมาถวาย และพระยะโฮวาทรงเชิญชวนพวกเขาให้ทำประการใด?
10 พี่น้องของพระคริสต์ที่ได้รับการเจิมพร้อมด้วยชนฝูงใหญ่ซึ่งในเวลาต่อมาได้สมทบกับพวกเขาในงานรับใช้พระยะโฮวา ทุกคนต่างก็ได้ประโยชน์จากการที่พระยะโฮวาปฏิบัติเสมือนผู้ถลุงเงินและทอง. (วิวรณ์ 7:9, 14, 15) ในฐานะเป็นองค์การ พวกเขาได้มา, และยังมา, นำของเข้ามาถวายด้วยความชอบธรรม. และของที่พวกเขานำถวาย “เป็นที่ชอบพระทัยพระยะโฮวาเหมือนอย่างในกาลก่อน เหมือนเมื่อปีที่ล่วงพ้นมาแล้ว.” (มาลาคี 3:4) คนเหล่านี้ ซึ่งพระยะโฮวาได้เชิญชวนในเชิงพยากรณ์ดังนี้: “จงเอาบรรดาส่วนสิบชักหนึ่งนั้นมาส่ำสมไว้ในคลัง, เพื่อจะมีโภชนาหารไว้ในวิหารของเรา, และจงมาลองดูเราในเรื่องนี้ ดูทีหรือว่าเราจะเปิดบัญชรท้องฟ้าให้เจ้าและเทพรให้แก่เจ้าจนเกินความต้องการหรือไม่.”—มาลาคี 3:10.
ของถวายและส่วนสิบชักหนึ่ง
11. เหตุใดของถวายต่าง ๆ ตามระบบพระบัญญัติของโมเซนั้นจึงไม่จำเป็นอีกต่อไป?
11 สมัยมาลาคี สิ่งของที่ไพร่พลของพระเจ้าได้นำมาถวายและส่วนสิบชักหนึ่งเป็นสิ่งของตามตัวอักษรจริง ๆ เช่น เมล็ดพืช, ผลไม้, และสัตว์เลี้ยง. กระทั่งในสมัยพระเยซู ชาวยิศราเอลที่ซื่อสัตย์ก็ได้ถวายสิ่งของเหล่านั้น ณ พระวิหาร. อย่างไรก็ดี ภายหลังการวายพระชนม์ของพระเยซูการเช่นนั้นทั้งหมดได้เปลี่ยนไป. พระบัญญัติถูกยกเลิก รวมไปถึงข้อเรียกร้องให้นำของถวายที่กำหนดไว้เฉพาะและส่วนสิบชักหนึ่งด้วย. (เอเฟโซ 2:15) พระเยซูได้ทำให้ลักษณะการถวายเครื่องบูชาภายใต้พระบัญญัติเชิงพยากรณ์ถึงที่สำเร็จแล้ว. (เอเฟโซ 5:2; เฮ็บราย 10:1, 2, 10) เช่นนั้นแล้ว คริสเตียนจะนำของมาถวายและให้ส่วนสิบชักหนึ่งได้โดยวิธีใด?
12. คริสเตียนจัดของถวายและเครื่องบูชาฝ่ายวิญญาณชนิดใด?
12 สำหรับคริสเตียน ของถวายส่อลักษณะเด่นทีเดียวว่าเป็นในทางฝ่ายวิญญาณ. (เทียบกับฟิลิปปอย 2:17; 2 ติโมเธียว 4:6.) ยกตัวอย่าง เปาโลกล่าวถึงงานประกาศสั่งสอนเป็นการถวายเครื่องบูชา เมื่อท่านพูดว่า “โดยพระองค์นั้น จงให้เราถวายคำสรรเสริญแด่พระเจ้าเป็นเครื่องบูชาเสมอ กล่าวคือผลแห่งริมฝีปากที่ประกาศพระนามของพระองค์อย่างเปิดเผย.” ท่านได้ชี้ให้เห็นเครื่องบูชาอันเป็นสิ่งฝ่ายวิญญาณอีกชนิดหนึ่งในคำตักเตือนของท่านว่า “อย่าลืมการทำดีและการแบ่งปันสิ่งต่าง ๆ ให้คนอื่น ๆ ด้วยว่าพระเจ้าทรงชอบพระทัยด้วยเครื่องบูชาเช่นนั้น.” (เฮ็บราย 13:15, 16, ล.ม.) เมื่อบิดามารดาสนับสนุนบุตรของตนเข้าสู่งานไพโอเนียร์ อาจจะบอกได้ว่าเขาได้ถวายบุตรแด่พระยะโฮวา พอ ๆ กันกับยิพธาได้ถวายลูกสาวของเขาเสมือน “เป็นเครื่องบูชา [เผา] ถวาย” พระเจ้า ที่ทรงโปรดให้ท่านมีชัยชนะ.—วินิจฉัย 11:30, 31, 39.
13. เหตุใดจึงไม่ได้มีการเรียกร้องคริสเตียนถวายส่วนสิบชักหนึ่งตามตัวอักษรจากรายได้ของเขา?
13 แต่เรื่องส่วนสิบชักหนึ่งล่ะ? คริสเตียนยังต้องกันรายได้ของตนจากส่วนสิบชักหนึ่งไหมและมอบให้แก่องค์การของพระยะโฮวา อย่างที่กระทำกันในโบสถ์บางแห่งในคริสต์ศาสนจักร? ไม่ต้อง นั้นไม่ใช่ข้อเรียกร้อง. ไม่มีคัมภีร์ข้อใดวางกฎเกณฑ์ดังกล่าวให้คริสเตียนปฏิบัติ. คราวที่เปาโลได้รวบรวมทรัพย์บริจาคเพื่อแจกทานแก่คนขัดสนในมณฑลยูดาย ท่านไม่ได้เอ่ยถึงการให้ตามอัตราโดยเฉพาะ. แต่ท่านกล่าวอย่างนี้: “ทุกคนจงให้ตามซึ่งเขาคิดหมายไว้ในใจ มิใช่ด้วยนึกเสียดาย เพราะว่าพระเจ้าทรงรักคนนั้นที่ให้ด้วยใจยินดี.” (2 โกรินโธ 9:7) เมื่อพูดถึงคนที่อยู่ในงานรับใช้พิเศษ เปาโลได้ชี้แจงว่าขณะที่บางคนสมควรรับการอุดหนุนจากส่วนทรัพย์บริจาค แต่ท่านพร้อมจะทำงานเลี้ยงตัวเอง. (กิจการ 18:3, 4; 1 โกรินโธ 9:13-15) ไม่มีการกำหนดส่วนสิบชักหนึ่งสำหรับวัตถุประสงค์นี้.
14. (ก) ทำไมการให้ส่วนสิบชักหนึ่งจึงไม่หมายถึงการให้ทั้งหมดที่เรามีแก่พระยะโฮวา? (ข) การให้ส่วนสิบชักหนึ่งนั้นเป็นเครื่องหมายแสดงถึงอะไร?
14 เป็นที่ชัดแจ้ง สำหรับคริสเตียนแล้ว ส่วนสิบชักหนึ่งนั้นเป็นนัย หรือใช้แทน บางสิ่ง. เนื่องจากเป็นหนึ่งส่วนสิบ และบ่อยครั้งพระคัมภีร์ใช้เลขสิบบอกนัยถึงความครบถ้วนทางแผ่นดินโลก เช่นนั้นแล้วส่วนสิบชักหนึ่งหมายถึงการให้ทั้งหมดทุกสิ่งแก่พระยะโฮวาไหม? หามิได้. เมื่อเราอุทิศตัวแด่พระยะโฮวาและทำเครื่องหมายการอุทิศนี้ด้วยการรับบัพติสมา นั้นเป็นเวลาที่เราให้ทุกสิ่งทั้งหมดของเราแด่พระองค์. นับจากการอุทิศตัวของเรา เราไม่มีอะไรเลยที่ไม่ได้เป็นของพระยะโฮวา. แต่พระยะโฮวาทรงอนุญาตให้แต่ละคนใช้สิ่งของอันเป็นทรัพยากรของตนได้. ฉะนั้น ส่วนสิบชักหนึ่งจึงใช้หมายถึงส่วนที่เป็นของเราซึ่งเรานำถวายพระยะโฮวา หรือนำไปใช้ในการรับใช้พระยะโฮวา เสมือนเครื่องแสดงความรักที่เรามีต่อพระองค์และแสดงการตระหนักในข้อเท็จจริงว่าเราเป็นของพระองค์. ส่วนสิบชักหนึ่งสมัยนี้ใช่ว่าต้องเป็นหนึ่งในสิบ. ในบางกรณี อาจหย่อนกว่าก็ได้. หรืออาจจะมากกว่าก็ได้. แต่ละคนย่อมถวายตามที่หัวใจของเขากระตุ้นและแล้วแต่สภาพแวดล้อมของแต่ละคนจะเอื้ออำนวย.
15, 16. มีอะไรนับรวมอยู่ในส่วนสิบชักหนึ่งของเราทางฝ่ายวิญญาณ?
15 อะไรนับรวมอยู่ในส่วนสิบชักหนึ่งฝ่ายวิญญาณนั้น? ประการหนึ่งคือ เรามอบเวลาและกำลังความสามารถของเราแด่พระยะโฮวา. เวลาที่เราใช้ ณ การประชุมวาระต่าง ๆ, การเข้าร่วมประชุมหมวด และประชุมภาค การออกประกาศในเขตทำงาน ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ได้ถวายแด่พระยะโฮวา—อยู่ในส่วนสิบชักหนึ่งของเรา. เวลาและกำลังที่เราใช้ไปในการเยี่ยมคนป่วยและช่วยผู้อื่น—นี้ก็เช่นกันรวมอยู่ในส่วนสิบชักหนึ่งของเรา. ทำนองเดียวกัน การช่วยสร้างหอประชุมและการบำรุงรักษาและทำความสะอาดหอประชุมก็อยู่ในส่วนสิบชักหนึ่งด้วย.
16 อนึ่ง การให้ของเราเกี่ยวด้วยส่วนสิบชักหนึ่งรวมไปถึงการบริจาคเงิน. เมื่อองค์การของพระยะโฮวาเจริญเพิ่มพูนอย่างน่าประหลาดในปีหลัง ๆ นี้ ภาระด้านการเงินก็เพิ่มขึ้นตาม ๆ กัน. จำเป็นต้องมีหอประชุมใหม่ พร้อมกับสถานที่ตั้งสำนักงานสาขาแห่งใหม่ อีกทั้งหอประชุมสำหรับจัดการประชุมหมวด พร้อมกับการบำรุงรักษาตัวอาคารที่มีอยู่แล้ว. ค่าใช้จ่ายสำหรับคนเหล่านั้นซึ่งทำตัวพร้อมสำหรับงานพิเศษ—บ่อยครั้งด้วยการเสียสละอย่างใหญ่หลวงเพื่อจะทำได้—เป็นการท้าทายอันใหญ่หลวงอีกด้วย. ในปี 1991 เฉพาะค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนมิชชันนารี, ผู้ดูแลเดินทาง, และไพโอเนียร์พิเศษ เมื่อรวมแล้วก็มากกว่า 1,000 ล้านบาท ทั้งนี้ได้มาจากการบริจาคด้วยความสมัครใจทั้งสิ้น.
17. เราควรให้สิ่งใดเป็นการถวายส่วนสิบชักหนึ่งฝ่ายวิญญาณของเรา?
17 ทีนี้เราควรให้อะไรซึ่งเป็นเสมือนส่วนสิบชักหนึ่งของเราทางฝ่ายวิญญาณ? พระยะโฮวาหาได้กำหนดอัตราไม่. กระนั้น การสำนึกถึงการอุทิศตัว, ความรักแท้ต่อพระยะโฮวาและต่อพี่น้องทั้งหลาย, เช่นเดียวกับการสำนึกถึงความเร่งด่วนเมื่อเห็นแล้วว่าอีกหลายคนต้องได้รับการช่วยชีวิต กระตุ้นเราให้นำถวายส่วนสิบชักหนึ่งฝ่ายวิญญาณอย่างเต็มที่. เรามีความรู้สึกอยากรับใช้พระยะโฮวามากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้. ถ้าเรามัวแต่ตระหนี่ตัวเองหรือคิดเสียดายไม่ใช้ตัวเองหรือทรัพยากรที่เรามีอยู่ก็เท่ากับเป็นการโกงพระเจ้าชัด ๆ.—เทียบกับลูกา 21:1-4.
ได้รับพระพรมากจนไม่ขาดสิ่งใด
18, 19. ไพร่พลของพระยะโฮวาได้รับพระพรอย่างไรเพราะเหตุที่เขาได้นำส่วนสิบชักหนึ่งอย่างครบถ้วนมาถวาย?
18 ตั้งแต่ปี 1919 ไพร่พลของพระยะโฮวาได้สนองตอบอย่างไม่นึกเสียดายด้วยการสละเวลา, กำลังเรี่ยวแรง, และทรัพยากรทางด้านการเงินของพวกเขาแก่ความจำเป็นต่าง ๆ ในด้านงานประกาศ. อันที่จริง พวกเขาได้นำส่วนสิบชักหนึ่งเต็มอัตรามาเก็บไว้ในคลัง. ผลที่ตามมาคือ พระยะโฮวาได้ปฏิบัติตามคำสัญญาของพระองค์และได้ทรงเทพระพรมากมายจนไม่ขาดสิ่งใด. ข้อนี้เห็นได้ชัดที่สุดจากการเติบโตในด้านจำนวนคน. จากจำนวนเหล่าผู้ถูกเจิมเพียงไม่กี่พันคนที่ทำการรับใช้พระยะโฮวาเมื่อพระองค์ได้เสด็จยังพระวิหารในปี 1918 พวกเขาเจริญเติบโตขึ้น กระทั่งเวลานี้ จำนวนผู้ถูกเจิมพร้อมกับแกะอื่นซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานได้เพิ่มเป็นสี่ล้านกว่าคนอยู่ในดินแดนต่าง ๆ 211 ประเทศ. (ยะซายา 60:22) นอกจากนั้น ชนเหล่านี้ได้รับพระพรที่พวกเขาเติบโตอย่างต่อเนื่องในด้านความเข้าใจเรื่องความจริง. ถ้อยคำเชิงพยากรณ์ก็เป็นที่รู้แจ้งแน่ชัดยิ่งขึ้นแก่พวกเขา. ความเชื่อมั่นของเขาต่อความคืบหน้าแห่งพระประสงค์ของพระเจ้าได้รับการเสริมอย่างแข็งแรงไม่สั่นคลอน. (2 เปโตร 1:19) พวกเขาเป็นไพร่พลที่ “ได้รับการสั่งสอนจากพระยะโฮวา” โดยแท้.—ยะซายา 54:13.
19 พระยะโฮวาตรัสล่วงหน้าโดยทางมาลาคีว่าด้วยพระพรขั้นต่อไปดังนี้: “ในครั้งนั้นคนทั้งหลายที่ได้กลัวเกรงพระยะโฮวาก็ได้พลอยพูดเช่นนั้นด้วย, และพระยะโฮวาได้ทรงสดับ; แล้วจึงมีหนังสือบันทึกความจำ, มีนามคนทั้งหลายที่ได้ยำเกรงพระยะโฮวา, และที่ได้ระลึกถึงพระนามของพระองค์นั้นบันทึกลงต่อพระพักตร์พระองค์.” (มาลาคี 3:16) จากบรรดาองค์การทั้งหลายซึ่งได้อ้างตนเป็นคริสเตียน ก็มีพยานพระยะโฮวาเท่านั้นที่ทั้งระลึกถึงพระนามของพระองค์และประกาศพระนามนี้ท่ามกลางนานาชาติ. (บทเพลงสรรเสริญ 34:3) พวกเขาเป็นสุขปานใดเมื่อมีคำรับรองให้แน่ใจได้ว่าพระยะโฮวาทรงระลึกถึงความซื่อสัตย์ภักดีของเขา.
20, 21. (ก) คริสเตียนแท้ชื่นชมกับสัมพันธภาพอะไรที่เป็นพระพร? (ข) ในเรื่องหลักการคริสเตียนนั้น ความแตกต่างอะไรที่กระจ่างชัดมากขึ้นทุกที?
20 ชนที่เหลือผู้ถูกเจิมเป็นไพร่พลพิเศษของพระยะโฮวา และชนฝูงใหญ่ที่เข้ามาสมทบกับเขาจึงต่างก็ได้รับพระพรนานาประการแห่งการนมัสการแท้ด้วยกันกับเขา. (ซะคาระยา 8:23) พระยะโฮวาทรงสัญญาผ่านทางมาลาคีดังนี้: “พระยะโฮวาจอมพลโยธาตรัสว่า ‘ในวันที่เราจะเก็บรวบรวมสมบัติของเราไว้นั้น, เขาทั้งหลายจะเป็นคนของเรา, และเราจะเมตตาเขาเหมือนอย่างพ่อได้เมตตาลูก, ลูกคนที่ได้ปฏิบัติพ่อนั้น.’” (มาลาคี 3:17) นับเป็นพระพรเสียนี่กระไรที่พระยะโฮวาทรงระลึกถึงเขาด้วยพระทัยอ่อนโยน!
21 ที่จริง ความแตกต่างกันระหว่างคริสเตียนแท้กับคริสเตียนเท็จปรากฏเด่นชัดมากขึ้นทุกที. ขณะที่ไพร่พลของพระยะโฮวาพยายามธำรงไว้ซึ่งมาตรฐานของพระองค์ คริสต์ศาสนจักรกลับจมลึกลงในปลักอันแสนสกปรกแห่งโลกนี้. คำตรัสของพระยะโฮวาได้รับการพิสูจน์เป็นจริงอย่างแน่นอนที่ว่า “และเจ้าทั้งหลายก็จะเห็นความแตกต่างระหว่างคนชอบธรรมและคนชั่ว, ระหว่างคนปรนนิบัติพระยะโฮวาและคนไม่ปรนนิบัติพระยะโฮวา.”—มาลาคี 3:18.
22. เราสามารถแน่ใจได้ว่าจะได้พระพรอะไรบ้าง หากเรานำส่วนสิบชักหนึ่งครบถ้วนมาถวาย?
22 อีกไม่นาน วันคิดบัญชีจะมีมาถึงคริสเตียนเท็จ. “พระยะโฮวาจอมพลโยธาตรัสว่า ‘นี่แน่ะ! วันซึ่งจะมีการเผาให้ไหม้ดุจเผาในเตาไฟก็จะมาถึง, บรรดาคนจองหองทั้งหลายและมวลคนชั่วทั้งปวงจะเป็นเหมือนดังแกลบ. และวันที่มาถึงนั้นก็จะเกิดการไหม้พวกเขาทั้งมวล.’” (มาลาคี 4:1) ไพร่พลของพระยะโฮวารู้ว่าในเวลานั้นพระองค์จะทรงพิทักษ์พวกตนให้พ้นภัย เหมือนคราวที่พระองค์ได้ทรงคุ้มครองชนชาติของพระองค์ทางฝ่ายวิญญาณในปีสากลศักราช 70. (มาลาคี 4:2) พวกเขาเป็นสุขเพียงใดเมื่อมีคำรับรองดังกล่าว! ฉะนั้น กระทั่งถึงเวลานั้น ให้พวกเราแต่ละคนแสดงความหยั่งรู้ค่าและความรักต่อพระยะโฮวาโดยนำส่วนสิบชักหนึ่งเต็มที่มาส่ำสมไว้ในคลัง. ครั้นแล้ว เราย่อมมั่นใจได้ว่าพระองค์จะทรงอวยพรพวกเราไม่ขาด กระทั่งไม่มีความขาดแคลนอีก.
[เชิงอรรถ]
a เพื่อจะได้รายละเอียดมากขึ้น โปรดดูวารสาร หอสังเกตการณ์ ฉบับวันที่ 15 มิถุนายน 1987 หน้า 17-25.
คุณจะอธิบายได้ไหม?
▫ ในยุคปัจจุบัน พระยะโฮวาได้เสด็จยังพระวิหารพร้อมด้วยทูตแห่งคำสัญญาไมตรีเมื่อไร?
▫ ใครคือบ่าวสัตย์ซื่อและฉลาด และชนเหล่านี้ต้องรับการชำระอย่างไรภายหลังปี 1918?
▫ คริสเตียนแท้ได้ถวายของถวายฝ่ายวิญญาณชนิดใดแก่พระยะโฮวา?
▫ ส่วนสิบชักหนึ่งที่คริสเตียนได้รับคำเชิญชวนให้นำมาถวายพระยะโฮวานั้นได้แก่อะไร?
▫ โดยการถวายส่วนสิบชักหนึ่งฝ่ายวิญญาณ ไพร่พลของพระเจ้าได้รับพระพรอะไร?
[รูปภาพหน้า 15]
ส่วนสิบชักหนึ่งของเราทางฝ่ายวิญญาณรวมเอาการเสนอแรงกายและโภคทรัพย์สร้างหอประชุม
[รูปภาพหน้า 16]
เพราะเหตุที่พระยะโฮวาได้ทรงอวยพรไพร่พลของพระองค์จึงจำเป็นต้องทำการก่อสร้างมากมาย รวมทั้งหอประชุมสำหรับการประชุมประจำประชาคมและสำหรับการประชุมหมวด”