จงรักษาตัวให้พ้นจากการบูชารูปเคารพทุกชนิด
“วิหารของพระเจ้ามีข้อตกลงอะไรกับรูปเคารพ?”—2 โกรินโธ 6:16.
1. พลับพลาประชุมและพระวิหารของชาติยิศราเอลเป็นภาพเล็งถึงอะไร?
พระยะโฮวาทรงมีพระวิหาร ซึ่งไม่บรรจุรูปเคารพ. วิหารนี้มีสัญลักษณ์แสดงถึงโดยพลับพลาประชุมของชาติยิศราเอลที่โมเซได้สร้าง และวิหารที่ต่อมาได้มีการสร้างขึ้นในกรุงยะรูซาเลม. โครงสร้างเหล่านั้นเล็งถึง “พลับพลาแท้” วิหารฝ่ายวิญญาณที่ใหญ่ยิ่งของพระยะโฮวา. (เฮ็บราย 8:1-5) วิหารนั้นเป็นการจัดเตรียมเพื่อการเข้าเฝ้านมัสการพระเจ้า โดยอาศัยเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซูคริสต์เป็นหลัก.—เฮ็บราย 9:2-10, 23.
2. ใครกลายมาเป็นเสาในพระวิหารฝ่ายวิญญาณที่ใหญ่ยิ่งของพระเจ้า และชนฝูงใหญ่อยู่ในฐานะเช่นไร?
2 คริสเตียนผู้ถูกเจิมแต่ละคนได้มาเป็น “เสาในพระวิหารแห่งพระเจ้า” ทรงโปรดให้มีนิวาสสถานในสวรรค์. ส่วน “ชนฝูงใหญ่” แห่งผู้นมัสการพระยะโฮวาอีกกลุ่มหนึ่ง “ถวายการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์” แด่พระเจ้า ณ ที่ซึ่งลานพระวิหารที่เฮโรดได้บูรณะขึ้นใหม่สำหรับคนต่างชาติที่กรุงยะรูซาเลมนั้นเป็นภาพเล็งถึง. เนื่องด้วยความเชื่อศรัทธาในเครื่องบูชาของพระเยซู พวกเขาจึงอยู่ในฐานะชอบธรรมอันทำให้ได้รับการคุ้มครองผ่านพ้น “ความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่.”—วิวรณ์ 3:12; 7:9-15, ล.ม.
3, 4. ประชาคมคริสเตียนผู้ถูกเจิมที่อยู่ในโลกเปรียบเสมือนอะไร และประชาคมนี้ต้องปราศจากมลทินอะไร?
3 ประชาคมคริสเตียนผู้ถูกเจิมบนแผ่นดินโลกเปรียบเสมือนวิหารปลอดรูปเคารพอีกหลังหนึ่ง. อัครสาวกเปาโลกล่าวแก่บรรดาผู้ที่ ‘ถูกประทับตราด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์’ ว่า เขา “ถูกประดิษฐานขึ้นบนรากของอัครสาวกและพวกศาสดาพยากรณ์, และพระเยซูคริสต์เองทรงเป็นหัวมุม. ในพระองค์นั้นทุกส่วนของโครงร่างจึงต่อติดสนิทกันขึ้นกลายเป็นโบสถ์ [พระวิหาร, ล.ม.] อันบริสุทธิ์ในองค์พระผู้เป็นเจ้า [สำหรับพระยะโฮวา, ล.ม.]. และในพระองค์นั้นท่านทั้งหลายกำลังจะถูกก่อขึ้นด้วยกันให้เป็นที่สถิตของพระเจ้าฝ่ายพระวิญญาณด้วย.” (เอเฟโซ 1:13; 2:20-22) ชนที่ถูกประทับตรา 144,000 คนเหล่านี้เป็น “ดุจหินอันมีชีวิตอยู่กำลังถูกก่อขึ้นเป็นราชสำนักฝ่ายวิญญาณเพื่อจุดมุ่งหมายในการเป็นคณะปุโรหิตบริสุทธิ์.”—1 เปโตร 2:5, ล.ม.; วิวรณ์ 7:4; 14:1.
4 เนื่องจากรองปุโรหิตเหล่านี้ “เป็นตึกที่พระองค์ทรงสร้าง” พระเจ้าจึงไม่ปล่อยให้วิหารนี้เป็นมลทิน. (1 โกรินโธ 3:9, 16, 17) เปาโลกล่าวเตือนดังนี้: “อย่าเข้าเทียมแอกกับคนไม่มีความเชื่อ. เพราะความชอบธรรมจะเป็นมิตรอย่างไรกับการละเลยกฎหมาย? หรือความสว่างมีหุ้นส่วนอะไรกับความมืด? นอกจากนั้น พระคริสต์กับเบลิอาลจะประสานกันได้อย่างไร? หรือบุคคลซื่อสัตย์จะมีส่วนอะไรกับคนไม่มีความเชื่อ? และวิหารของพระเจ้ามีข้อตกลงอะไรกับรูปเคารพ?” คริสเตียนผู้ถูกเจิมซึ่งมี “พระยะโฮวาผู้ทรงฤทธิ์ทุกประการ” เป็นพระเจ้าของเขาจึงต้องรักษาตัวให้พ้นจากรูปเคารพ. (2 โกรินโธ 6:14-18, ล.ม.) คนเหล่านั้นในกลุ่มชนฝูงใหญ่ก็ต้องหลีกเลี่ยงการบูชารูปเคารพทุกชนิดเช่นกัน.
5. เนื่องจากตระหนักว่าพระยะโฮวาสมควรได้รับความเสื่อมใสโดยเฉพาะ คริสเตียนแท้พึงทำประการใด?
5 รูปแบบการบูชารูปเคารพมีทั้งการกระทำอย่างโจ่งแจ้งและในลักษณะแฝงเร้น. อันที่จริง การบูชารูปเคารพใช่ว่าจำกัดอยู่แค่การนมัสการเทพเจ้าและพระแม่เจ้าทั้งหลายเท่านั้น. การบูชารูปเคารพคือการบูชานมัสการสิ่งหนึ่งสิ่งใดหรือบุคคลใด ๆ นอกเหนือจากพระยะโฮวา. ในฐานะที่ทรงพระบรมเดชานุภาพในเอกภพ พระองค์ย่อมทรงไว้ซึ่งสิทธิสมบูรณ์ที่จะเรียกร้องความเลื่อมใสศรัทธาโดยเฉพาะ. (พระบัญญัติ 4:24) เพราะตระหนักในเรื่องนี้ คริสเตียนแท้จึงเชื่อฟังการเตือนสติจากคัมภีร์ไบเบิลที่ให้รักษาตัวพ้นจากบูชารูปเคารพทั้งปวง. (1 โกรินโธ 10:7) จงให้เราพิจารณารูปแบบการไหว้รูปเคารพบางอย่างซึ่งผู้รับใช้ของพระยะโฮวาพึงหลีกเว้น.
การบูชารูปเคารพภายในคริสต์ศาสนจักรมีภาพแสดงล่วงหน้า
6. ในนิมิตยะเอศเคลได้เห็นสิ่งน่ารังเกียจอะไรบ้าง?
6 ขณะพลัดถิ่นไปอยู่ในบาบูโลนปี 612 ก่อนสากลศักราช ผู้พยากรณ์ยะเอศเคลเห็นนิมิตเผยภาพสิ่งน่ารังเกียจต่าง ๆ ซึ่งชาวยิวที่ออกหากได้ปฏิบัติอยู่ ณ พระวิหารของพระยะโฮวาในกรุงยะรูซาเลม. ยะเอศเคลเห็น “รูปยั่วความหึงหวง.” ท่านได้เห็นผู้เฒ่าผู้แก่ถวายเครื่องหอมภายในวิหาร. พวกผู้หญิงร้องไห้ระงมอยู่เพื่อพระเท็จ. และชาย 25 คนไหว้ดวงอาทิตย์. การกระทำอันเป็นการออกหากเช่นนี้แสดงถึงสิ่งใด?
7, 8. “รูปยั่วความหึงหวง” อาจเป็นอะไร และเหตุใดรูปนี้ได้เร้าพระยะโฮวาให้บังเกิดความหวงแหน?
7 สิ่งน่ารังเกียจต่าง ๆ ดังกล่าวตามที่ยะเอศเคลเห็นในนิมิตนั้นแสดงภาพล่วงหน้าการบูชารูปเคารพภายในคริสต์ศาสนจักร. ยกตัวอย่าง ท่านกล่าวดังนี้: “นี่แน่ะ, ด้านเหนือที่ประตูเข้าไปแท่นนั้น, มีรูปของความหึงส์หวงอยู่นั่น. และพระองค์ [พระยะโฮวา] ตรัสแก่ข้าพเจ้าว่า ‘บุตรมนุษย์เอ๋ย, ท่านเห็นหรือที่เขาทั้งหลายกระทำอยู่, คือการชั่วลามกทั้งหลายอันใหญ่ที่เรือนยิศราเอลกระทำอยู่ในที่นี้, เพื่อจะให้เราไปไกลจากวิหารของเรา?’”—ยะเอศเคล 8:1-6.
8 สัญลักษณ์ความหึงหวงเชิงรูปเคารพอาจเป็นเสาศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้แทนเทพธิดาที่เป็นพระเท็จ ซึ่งชาวคะนาอันถือว่าเป็นภรรยาพระบาละที่เขาบูชา. ไม่ว่าสัญลักษณ์นั้นเป็นอะไรก็ตาม สิ่งนั้นยั่วยุพระยะโฮวาให้เกิดความหึงหวง เพราะสิ่งนั้นทำให้ความเลื่อมใสศรัทธาโดยเฉพาะที่ชนยิศราเอลควรถวายแด่พระองค์ถูกแบ่งไปอันเป็นการละเมิดคำสั่งของพระองค์ที่ว่า “เราคือยะโฮวาพระเจ้าของเจ้า . . . อย่าได้มีพระเจ้าอื่นต่อหน้าเราเลย. อย่าทำรูปเคารพสำหรับตน, เป็นสันฐานรูปสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งมีอยู่ในฟ้าอากาศเบื้องบน, หรือซึ่งมีอยู่ที่แผ่นดินเบื้องล่าง, หรือซึ่งมีอยู่ในน้ำใต้แผ่นดิน, อย่ากราบไหว้หรือปรนนิบัติรูปเหล่านั้น; ด้วยเราคือยะโฮวาพระเจ้าของเจ้าเป็นผู้หวงแหน [พระเจ้าที่เรียกร้องความเลื่อมใสโดยเฉพาะ, ล.ม.].”—เอ็กโซโด 20:2-5.
9. คริสต์ศาสนจักรได้ยั่วพระเจ้าให้หวงแหนโดยวิธีใด?
9 การนมัสการรูปยั่วความหึงหวงภายในวิหารของพระเจ้าเป็นหนึ่งในบรรดาสิ่งที่ถือว่าน่าเกลียดยิ่งซึ่งพวกยิศราเอลผู้ออกหากพากันทำ. ทำนองเดียวกัน คริสต์จักรต่าง ๆ แห่งคริสต์ศาสนจักรเป็นมลทินไปก็เพราะสัญลักษณ์และรูปเคารพที่ยังความเสื่อมเสียแก่พระเจ้า เนื่องจากได้แบ่งเอาความเลื่อมใสศรัทธาโดยเฉพาะซึ่งเขาอ้างว่าถวายแด่พระองค์ผู้นั้นที่ตนปรนนิบัติ. อนึ่ง เขาได้ยั่วพระเจ้าให้หวงแหนเพราะนักเทศน์นักบวชปฏิเสธราชอาณาจักรของพระองค์ฐานะเป็นความหวังอย่างเดียวของมนุษยชาติ และพากันยกย่องบูชาสหประชาชาติ—“สิ่งอันน่าเกลียด . . . ตั้งอยู่ในที่บริสุทธิ์” ซึ่งไม่สมควรตั้งอยู่ที่นั่น.—มัดธาย 24:15, 16; มาระโก 13:14.
10. ยะเอศเคลแลเห็นสิ่งใดภายในพระวิหาร และเรื่องนี้เปรียบเทียบกับสิ่งใดที่สังเกตได้ในคริสต์ศาสนจักร?
10 เมื่อเข้าไปในพระวิหาร ยะเอศเคลรายงานดังนี้: “นี่แน่ะ, มีสัตว์เลื้อยคลานต่าง ๆ, แลสัตว์จัตุบาทชั่วโสโครกและรูปเคารพทั้งหลายของเรือนยิศราเอล, ที่เขียนไว้ที่ฝาล้อมรอบ. และมีผู้เฒ่าเจ็ดสิบคนของเรือนยิศราเอลยืนอยู่ตรงหน้ารูปเคารพนั้น . . . และมือถือพานสำหรับเผาเครื่องหอมทุกคน, และควันหอมเครื่องหอมนั้นได้ขึ้นไปเป็นเมฆ.” คิดดูซิ! ผู้เฒ่าชาวยิศราเอลอยู่ในพระวิหารของพระยะโฮวา เผาเครื่องหอมถวายพวกพระเท็จ แสดงภาพแกะสลักไว้ที่ผนังเป็นที่น่าเกลียด. (ยะเอศเคล 8:10-12) ในเชิงเปรียบเทียบจะเห็นได้ว่า หลายประเทศแห่งคริสต์ศาสนจักรใช้รูปนกและสัตว์ที่ดุร้ายเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติ ซึ่งประชาชนให้ความเคารพ. ยิ่งกว่านั้น นักเทศน์นักบวชไม่น้อยมีความผิดด้วยการชักนำผู้คนมากมายไปผิดทาง โดยสนับสนุนทฤษฎีที่ผิด ๆ เกี่ยวกับมนุษย์วิวัฒนาการจากสัตว์ชั้นต่ำ แทนที่จะยึดถือบันทึกอันเป็นความจริงในคัมภีร์ไบเบิลเรื่องการสร้างสรรพสิ่งโดยพระเจ้ายะโฮวา.—กิจการ 17:24-28.
11. ทำไมพวกผู้หญิงชาวยิวที่ออกหากพากันร้องไห้ให้แก่พระธามูศ?
11 ตรงประตูทางเข้าพระวิหารของพระยะโฮวา ยะเอศเคลได้เห็นพวกผู้หญิงยิศราเอลที่ออกหากร้องไห้แก่พระเจ้าธามูศ. (ยะเอศเคล 8:13, 14) ชาวบาบูโลนและซีเรียถือว่าธามูศพระแห่งพืชเขียวซึ่งงอกงามในฤดูฝนแล้วแห้งตายในฤดูแล้ง. การตายของพืชผลเป็นภาพแสดงว่าพระเจ้าธามูศตาย พอถึงช่วงที่แห้งแล้งที่สุดพวกที่นมัสการพระเจ้าองค์นี้จะพากันร้องไห้เศร้าโศกเป็นประจำทุกปี. ครั้นถึงฤดูที่ต้นพืชงอกขึ้นมาใหม่ในช่วงหน้าฝน ก็สมมุติกันว่าพระเจ้าธามูศกลับจากโลกข้างใต้. สัญลักษณ์แทนพระเจ้าองค์นี้คืออักษรแรกของชื่อธามูศคือ tau ดั้งเดิมเป็นรูปไม้กางเขน. ทั้งนี้ทำให้เรานึกถึงคริสต์ศาสนจักรที่เคารพไม้กางเขนในเชิงไหว้รูปเคารพ.
12. ยะเอศเคลแลเห็นชายยิวผู้ออกหากจำนวน 25 คนทำอะไร? และมีการกระทำอะไรที่คล้ายคลึงกันเกิดขึ้นในคริสต์ศาสนจักร?
12 ถัดจากนั้น ณ ลานชั้นในของพระวิหาร ยะเอศเคลได้เห็นผู้ชายยิศราเอลที่ออกหาก 25 คนนมัสการดวงอาทิตย์ อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของพระยะโฮวาว่าด้วยการไหว้รูปเคารพเช่นนั้น. (พระบัญญัติ 4:15-19) พวกที่ไหว้รูปเคารพเหล่านั้นยังได้ชูกิ่งไม้ ทำท่าโลนลามกต่อพระนาสิกของพระเจ้า ไม้นั้นอาจหมายถึงอวัยวะเพศชายก็ได้. ไม่แปลกที่พระเจ้าไม่ทรงตอบคำอธิษฐานของเขา ดังที่คริสต์ศาสนจักรจะร้องขอให้พระองค์ช่วยในคราว “ความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่” แต่ไร้ผล. (มัดธาย 24:21) ชาวยิศราเอลเหล่านั้นที่ออกหากนมัสการดวงอาทิตย์ที่ให้ความสว่าง แล้วหันหลังให้วิหารของพระยะโฮวาฉันใด คริสต์ศาสนจักรก็หันหลังให้ความสว่างที่มาจากพระเจ้า สอนหลักคำสอนเท็จ, ยกย่องบูชาสติปัญญาฝ่ายโลก, และยอมให้กับการประพฤติผิดศีลธรรมฉันนั้น.—ยะเอศเคล 8:15-18.
13. ในทางใดพยานพระยะโฮวาละเว้นการบูชารูปเคารพในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งปรากฏในนิมิตของยะเอศเคล?
13 พยานพระยะโฮวาหลีกเลี่ยงรูปแบบต่าง ๆ ของการไหว้รูปเคารพที่ปฏิบัติกันในคริสต์ศาสนจักร คู่เทียบของยะรูซาเลม ตามที่ยะเอศเคลมองเห็นล่วงหน้า. พวกเราไม่บูชาสัญลักษณ์ใด ๆ ซึ่งหลู่เกียรติพระเจ้า. แม้นพวกเราแสดงความนับถือต่อ “ผู้มีอำนาจ” ในทางการปกครองบ้านเมือง การยอมอยู่ใต้อำนาจนั้นมีขอบเขต. (โรม 13:1-7; มาระโก 12:17; กิจการ 5:29) เรามอบความเลื่อมใสสุดหัวใจแด่พระเจ้าและราชอาณาจักรของพระองค์. เราไม่รับเอาทฤษฎีวิวัฒนาการแทนพระเจ้าผู้ซึ่งได้ทรงสร้างสรรพสิ่งทั้งปวง. (วิวรณ์ 4:11) พวกเราไม่นมัสการไม้กางเขนหรือยกย่องบูชาปัญญานิยม, ปรัชญา, หรือปัญญาความรู้ด้านอื่น ๆ ฝ่ายโลก. (1 ติโมเธียว 6:20, 21) นอกจากนี้ พวกเรารักษาตัวให้พ้นการไหว้รูปเคารพลักษณะอื่น ๆ ทุกรูปแบบ. รูปแบบเหล่านั้นมีอะไรบ้าง?
การบูชารูปเคารพประเภทอื่น
14. เหล่าผู้รับใช้ของพระยะโฮวาตั้งตัวอยู่ฝ่ายไหนเกี่ยวด้วย “สัตว์ร้าย” ที่มีกล่าวในวิวรณ์ 13:1?
14 คริสเตียนไม่เข้าส่วนกับมนุษยชาติบูชา “สัตว์ร้าย” โดยนัย. อัครสาวกโยฮันบันทึกไว้ว่า “ข้าพเจ้าได้เห็นสัตว์ร้ายตัวหนึ่งขึ้นมาจากทะเล มีสิบเขาและเจ็ดหัว และบนเขาของมัน [มี] มงกุฎสิบอัน . . . และคนทั้งปวงที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินโลกจะนมัสการมัน.” (วิวรณ์ 13:1, 8, ล.ม.) สัตว์ร้ายอาจเป็นสัญลักษณ์ของ “บรรดากษัตริย์” หรืออำนาจทางการเมือง. (ดานิเอล 7:17; 8:3-8, 20-25) ดังนั้น เจ็ดหัวของสัตว์ร้ายโดยนัยจึงหมายถึงมหาอำนาจโลก—อียิปต์, อัสซีเรีย, บาบูโลน, เมโด-เปอร์เซีย, กรีซ, โรม, และแองโกล-อเมริกันซึ่งประกอบด้วยอังกฤษกับสหรัฐอเมริกา. นักเทศน์นักบวชในคริสต์ศาสนจักรได้หลู่เกียรติพระเจ้าและพระคริสต์เป็นอย่างมาก โดยชักนำมนุษยชาติให้บูชาระบบการเมืองของซาตาน “ผู้ครองโลก.” (โยฮัน 12:31) อย่างไรก็ดี ผู้รับใช้ของพระยะโฮวา ในฐานะเป็นคริสเตียนที่รักษาความเป็นกลางและสนับสนุนฝ่ายราชอาณาจักรจึงไม่ยอมบูชารูปเคารพดังกล่าว.—ยาโกโบ 1:27.
15. ไพร่พลของพระยะโฮวามีทัศนะเช่นไรต่อพวกดาราในวงการแสดง และพยานฯคนหนึ่งได้พูดอย่างไรในเรื่องนี้?
15 ไพร่พลของพระเจ้าละเว้นจากการบูชาเหล่าดาราในวงการบันเทิงและกีฬา. ภายหลังที่มาเป็นพยานพระยะโฮวาแล้ว นักดนตรีคนหนึ่งกล่าวว่า “ดนตรีเพื่อความบันเทิงและสำหรับการเต้นรำอาจปลุกเร้าความปรารถนาที่ผิดศีลธรรมได้ . . . ผู้แสดงร้องเพลงพรรณนาความสุขความอ่อนโยนซึ่งผู้ฟังหลายคนรู้สึกว่าคู่ชีวิตของตนขาดสิ่งเหล่านี้. ผู้คนมักคิดว่าศิลปินเป็นเหมือนเนื้อเพลงที่เขาร้อง. ด้วยเหตุผลนี้เอง นักดนตรีและนักร้องอาชีพบางคนที่ผมรู้จักจึงเป็นคนโปรดที่ชื่นชอบจริง ๆ ของพวกผู้หญิง. ครั้นคนเราดื่มด่ำอยู่กับโลกแห่งการเพ้อฝันเช่นนี้แล้ว เขาก็อาจกลายเป็นคนที่บูชานักเล่นนักแสดง. การเช่นนี้อาจเริ่มต้นอย่างไม่เป็นพิษเป็นภัยด้วยการขอลายมือไว้เป็นที่ระลึก. แต่บางคนจะคิดเอาว่าศิลปินนั้นคือคนในอุดมคติของตน และโดยการให้ความนิยมนับถือเขาเกินเหตุเช่นนั้น จึงเท่ากับยกบุคคลนั้นขึ้นไว้เสมือนรูปเคารพ. เขาอาจแขวนภาพดารานักแสดงไว้ข้างฝาผนังและริแต่งตัวไว้ทรงผมอย่างดารา. คริสเตียนจะต้องระลึกอยู่เสมอว่าพระเจ้าเท่านั้นคู่ควรกับการเคารพบูชา.”
16. มีอะไรแสดงว่าเหล่าทูตสวรรค์ที่ชอบธรรมปฏิเสธการบูชารูปเคารพ?
16 ถูกแล้ว พระเจ้าเท่านั้นที่คู่ควรกับการเคารพบูชาหรือการนมัสการ. เมื่อโยฮัน “น้อมตัวลงจะกราบไหว้แทบเท้าทูตสวรรค์” ที่ได้เปิดเผยเรื่องราวอันน่าทึ่งแก่ท่าน ทูตองค์นั้นไม่ยอมรับการยกย่องใด ๆ เลย แต่ได้กล่าวอย่างนี้: “อย่าไหว้เลย! ข้าพเจ้ากับท่านเป็นเพื่อนทาสด้วยกัน. และข้าพเจ้าเป็นแต่พวกพี่น้องของท่านคือพวกผู้พยากรณ์, และแต่พวกที่ถือรักษาถ้อยคำในหนังสือเล่มนี้ จงนมัสการพระเจ้าเถิด.” (วิวรณ์ 22:8, 9) การเกรงกลัวพระยะโฮวา หรือเคารพยำเกรงพระองค์อย่างสุดซึ้งจะทำให้เรานมัสการพระองค์เพียงผู้เดียว. (วิวรณ์14:7) ดังนั้นแล้ว ความเลื่อมใสในพระเจ้าอย่างจริงจังย่อมป้องกันเราไว้จากการไหว้รูปเคารพ.—1 ติโมเธียว 4:8.
17. โดยวิธีใดเราสามารถระวังตัวไม่ทำผิดศีลธรรมทางเพศอันเป็นการบูชารูปเคารพ?
17 การประพฤติผิดศีลธรรมทางเพศเป็นการไหว้รูปเคารพอีกแบบหนึ่งซึ่งผู้รับใช้ของพระยะโฮวาปฏิเสธ. พวกเขารู้ว่า “คนผิดประเวณีหรือคนไม่สะอาด หรือคนมักโลภ—ซึ่งหมายถึงการเป็นคนไหว้รูปเคารพ—จะไม่ได้รับมรดกใด ๆ ในราชอาณาจักรของพระคริสต์และของพระเจ้า.” (เอเฟโซ 5:5, ล.ม.) การไหว้รูปเคารพเกี่ยวข้องก็เพราะความปรารถนาสิ่งสนุกเพลิดเพลินในทางผิดศีลธรรมนั้นได้กลายมาเป็นเป้าหมายแห่งความเลื่อมใส. คุณลักษณะต่าง ๆ แบบพระเจ้าอยู่ในภาวะอันตรายถ้ามีความปรารถนาอันไม่ถูกต้องต่าง ๆ ในทางเพศ. โดยความสมัครใจของตัวเองยอมดูภาพลามกหรือฟังคำหยาบโลน ผู้นั้นก็ทำให้ความสัมพันธ์ทั้งสิ้นระหว่างเขากับพระเจ้ายะโฮวาองค์บริสุทธิ์ตกอยู่ในอันตราย. (ยะซายา 6:3) ดังนั้น การที่จะรักษาตัวให้พ้นจากการบูชารูปเคารพดังกล่าว ผู้รับใช้ของพระเจ้าต้องหลีกเลี่ยงภาพลามกและดนตรีอันจะก่อผลในทางชั่ว. พวกเขาจำต้องยึดมั่นอย่างเหนียวแน่นกับค่านิยมฝ่ายวิญญาณซึ่งเป็นไปตามหลักการแห่งคัมภีร์ไบเบิล และเขาต้องดำเนินต่อ ๆ ไปด้วย “บุคลิกลักษณะใหม่ซึ่งได้ถูกสร้างขึ้นตามพระประสงค์ของพระเจ้าในความชอบธรรมและความจงรักภักดีที่แท้จริง.”—เอเฟโซ 4:22-24, ล.ม.
ละเว้นความโลภและการอยากได้สิ่งของของผู้อื่น
18, 19. (ก) อะไรคือความโลภและการอยากได้ของของผู้อื่น? (ข) เราจะระมัดระวังตัวอย่างไรเพื่อจะไม่เป็นคนโลภและอยากได้ของของผู้อื่นอันเป็นการบูชารูปเคารพ?
18 อนึ่ง คริสเตียนพึงรักษาตัวให้พ้นจากความโลภและการอยากได้สิ่งของของผู้อื่น ซึ่งเป็นรูปแบบของการบูชารูปเคารพที่เกี่ยวพันอย่างใกล้ชิด. ความโลภคือความต้องการเกินควรและไม่รู้จักพอ พระเยซูทรงเตือนไม่ให้โลภและตรัสถึงชายเศรษฐีผู้มักโลภซึ่งไม่ได้รับประโยชน์จากความร่ำรวยของตนเมื่อสิ้นชีวิต และอยู่ในสภาพแย่ที่เขาไม่ได้ “มั่งมีจำเพาะพระเจ้า.” (ลูกา 12:15-21) เปาโลได้ตักเตือนเพื่อนร่วมความเชื่ออย่างเหมาะสมทีเดียวว่า “จงประหารอวัยวะแห่งร่างกายของท่านทั้งหลาย ซึ่งอยู่บนแผ่นดินโลกนี้ . . . และความละโมบซึ่งเป็นการไหว้รูปเคารพ.”—โกโลซาย 3:5, ล.ม.
19 คนเหล่านั้นที่การรักเงิน, ความตะกละในการกินและดื่ม, หรือความทะเยอทะยานอยากได้อำนาจเข้าครอบงำย่อมทำให้ความปรารถนาในสิ่งเช่นนั้นกลายเป็นรูปเคารพสำหรับตัวเอง. ดังที่เปาโลชี้แจงว่าคนมักโลภเป็นคนไหว้รูปเคารพและจะไม่ได้รับส่วนในราชอาณาจักรของพระเจ้า. (1 โกรินโธ 6:9, 10; เอเฟโซ 5:5) ฉะนั้น ใคร ๆ ที่ได้รับบัพติสมาแล้วแต่ยังปฏิบัติการไหว้รูปเคารพฐานะคนละโมบก็อาจถูกตัดสัมพันธ์ขาดจากประชาคมคริสเตียน. แต่โดยการปฏิบัติตามคำแนะนำในพระคัมภีร์และอธิษฐานด้วยความกระตือรือร้น เราจะสามารถละเว้นความโลภได้. สุภาษิต 30:7-9 กล่าวอย่างนี้: “ข้าพเจ้าได้ทูลขอสองสิ่งต่อพระองค์ [พระเจ้ายะโฮวา]; ขอประทานสองสิ่งนั้นแก่ข้าพเจ้าก่อนข้าพเจ้าจะตาย; ขอกำจัดการเท็จและคำมุสาไปเสียให้ไกลจากข้าพเจ้า; และขออย่าให้ข้าพเจ้ายากจนหรือมั่งมี: โปรดเลี้ยงข้าพเจ้าด้วยอาหารพอดีกับความต้องการของข้าพเจ้า: เกรงว่าเมื่อข้าพเจ้าอิ่มหนำข้าพเจ้าจะปฏิเสธพระองค์, และกล่าวว่า, ‘พระยะโฮวาเป็นใครหนอ?’ หรือเกรงว่าเมื่อข้าพเจ้ายากจนข้าพเจ้าจะลักของของเขา, และจะทำให้พระนามพระเจ้าของข้าพเจ้าเป็นที่เสื่อมเสีย.” เจตนาดังกล่าวจะช่วยเรารักษาตัวไว้จากความโลภและการอยากได้ของของผู้อื่นอันเป็นการไหว้รูปเคารพ.
จงระวังอย่าบูชาตัวเอง
20, 21. โดยวิธีใดไพร่พลของพระยะโฮวาระวังระไวไม่บูชาตัวเอง?
20 อีกประการหนึ่ง ไพร่พลของพระยะโฮวาระวังไม่บูชาตัวเอง. ในโลกนี้ เป็นสิ่งปกติที่จะบูชาตัวเองและความประสงค์ของตนเอง. การใฝ่ฝันชื่อเสียงและเกียรติยศเป็นเหตุให้หลายคนประพฤติไม่ซื่อตรง. เขาต้องการให้เป็นไปตามใจของตนเอง ไม่ใช่ตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. แต่เราไม่อาจจะมีสัมพันธภาพกับพระเจ้าได้หากเรามีใจโอนเอียงอยากบูชาตัวเอง โดยถือเอาแต่ใจตนเป็นใหญ่และพยายามเป็นนายเหนือผู้อื่น. (สุภาษิต 3:32; มัดธาย 20:20-28; 1 เปโตร 5:2, 3) ในฐานะที่เราเป็นสาวกของพระเยซู เราได้ตัดขาดจากสิ่งต่าง ๆ อันเป็นเล่ห์เหลี่ยมของโลกแล้ว.—2 โกรินโธ 4:1, 2.
21 แทนการแสวงหาชื่อเสียง ไพร่พลของพระเจ้าประพฤติสอดคล้องกับคำแนะนำของเปาโลที่ว่า “ถ้าท่านทั้งหลายจะกินจะดื่มก็ดี, หรือจะทำประการใดก็ดี, จงกระทำทุกสิ่งให้เป็นที่ถวายเกียรติยศแก่พระเจ้า.” (1 โกรินโธ 10:31) ในเมื่อเราเป็นผู้รับใช้ของพระยะโฮวา เราไม่ยืนกรานในทางของตัวเองเสมือนการบูชาตัวเอง แต่กระทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าด้วยความปีติยินดี, รับการชี้นำจาก “บ่าวสัตย์ซื่อและฉลาด” และร่วมมือเต็มที่กับองค์การของพระยะโฮวา.—มัดธาย 24:45-47.
จงเฝ้าระวังอยู่เสมอ!
22, 23. เราสามารถรักษาตัวให้พ้นจากการบูชารูปเคารพทุกชนิดตลอดเวลาได้อย่างไร?
22 ในฐานะเป็นไพร่พลของพระยะโฮวา เราไม่ก้มศีรษะคำนับสิ่งอันเป็นรูปเคารพแบบวัตถุนิยม. อนึ่ง เราพึงระวังระไวรูปแบบต่าง ๆ อันแฝงเร้นของการบูชารูปเคารพ. ที่จริง ตลอดเวลาเราจำต้องละเว้นการบูชารูปเคารพทุกชนิด. ด้วยเหตุนี้ เราจึงกระทำตามคำแนะนำของโยฮันที่ว่า “จงรักษาตัวให้พ้นจากรูปเคารพ.”— 1 โยฮัน 5:21.
23 ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งในบรรดาผู้รับใช้ของพระยะโฮวา จงใช้สติรู้สึกผิดชอบของคุณและอำนาจในการคิดที่รับการอบรมมาแล้วจากหลักการแห่งคัมภีร์ไบเบิลอย่าได้ขาด. (เฮ็บราย 5:14) ครั้นแล้ว คุณจะไม่ปนเปื้อนกับน้ำใจที่ส่อถึงการบูชารูปเคารพแห่งโลกนี้ แต่จะเป็นเหมือนชาวฮีบรูสามคนที่สัตย์ซื่อและคริสเตียนผู้ภักดีรุ่นแรก ๆ. คุณจะถวายความเลื่อมใสโดยเฉพาะแด่พระยะโฮวา และพระองค์จะช่วยคุณเฝ้าระวังตัวให้พ้นจากการบูชารูปเคารพทุกประเภทต่อ ๆ ไป.
คุณมีความคิดเห็นอย่างไร?
▫ พยานพระยะโฮวาหลีกเลี่ยงการบูชารูปเคารพชนิดต่าง ๆ ที่ปรากฏในนิมิตของยะเอศเคลนั้นโดยวิธีใด?
▫ “สัตว์ร้าย” ที่กล่าวถึงในวิวรณ์ 13:1 หมายถึงอะไร และผู้รับใช้ของพระยะโฮวาตั้งตัวอยู่ฝ่ายไหนในเรื่องนี้?
▫ ทำไมพึงระวังตัวเพื่อจะไม่บูชาเหล่าดาราในวงการแสดงและวงการกีฬา?
▫ เราจะระมัดระวังตัวโดยวิธีใดที่จะไม่บูชาตัวเอง?
▫ เหตุใดพึงเฝ้าระวังตัวทุกเวลาให้พ้นจากการบูชารูปเคารพทุกชนิด?
[รูปภาพหน้า 26]
คุณทราบไหมว่าสิ่งน่ารังเกียจที่ยะเอศเคลเห็นในนิมิตนั้นเป็นภาพเล็งถึงการบูชารูปเคารพภายในคริสต์ศาสนจักรอย่างไร?
[ที่มาของภาพ]
Artwork (upper left) based on photo by Ralph Crane/Bardo Museum