ภัยธรรมชาติ—พระเจ้าเป็นผู้รับผิดชอบไหม?
“พระเจ้า พระองค์ได้ทำอะไรกับเรา?”
นั่นเป็นปฏิกิริยาโต้ตอบของผู้รอดชีวิตคนหนึ่งตามที่รายงานไว้ ซึ่งสำรวจดูความพินาศที่เกิดขึ้นเนื่องจากการปะทุของภูเขาไฟ เนวาโด เดล รูอีส ที่ยอดปกคลุมด้วยหิมะในประเทศโคลัมเบีย เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 1985 ยังผลเป็นโคลนไหลทะลักลงมาฝังเมืองอาร์เมโรทั้งเมืองและคร่าชีวิตผู้คนกว่า 20,000 คนในคืนเดียว.
เป็นที่เข้าใจได้ว่า ผู้รอดชีวิตอาจมีปฏิกิริยาอย่างนั้น. เมื่อเผชิญกับพลังที่น่าเกรงขามของธรรมชาติอย่างหมดหนทาง ผู้คนตั้งแต่ยุคแรกสุดเชื่อว่า เหตุการณ์ที่ยังความหายนะเช่นนั้นเกิดจากพระเจ้า. คนในสมัยก่อนถวายเครื่องบูชา กระทั่งเครื่องบูชาที่เป็นมนุษย์ด้วยซ้ำ เพื่อเอาใจเทพเจ้าแห่งทะเล, ท้องฟ้า, แผ่นดินโลก, ภูเขา, ภูเขาไฟ และแหล่งอื่น ๆ ที่เป็นอันตราย. แม้แต่ทุกวันนี้ บางคนยอมรับอย่างง่าย ๆ ว่า ผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์ธรรมชาติที่ยังความหายนะเป็นโชคชะตาหรือสิ่งที่พระเจ้าบันดาลให้เกิดขึ้น.
พระเจ้าเป็นผู้รับผิดชอบจริง ๆ ต่อภัยพิบัติที่นำมาซึ่งความทุกข์ทรมานเหลือล้นแก่มนุษย์และความสูญเสียตามที่ต่าง ๆ ทั่วโลกไหม? ควรตำหนิพระองค์ไหม? เพื่อทราบคำตอบ เราจำเป็นต้องพิจารณาดูสิ่งที่เกี่ยวข้องอยู่ด้วยในภัยพิบัติดังกล่าวนั้นอย่างใกล้ชิดมากขึ้น. ที่จริง เราจำต้องตรวจสอบดูข้อเท็จจริงอันเป็นที่รู้จักกันบางประการนั้นอีกที.
“ภัยธรรมชาติ” คืออะไร?
เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขึ้นที่เมืองถางชาน ประเทศจีน และตามรายงานของทางการจีน มี 242,000 คนเสียชีวิต และคราวที่พายุเฮอร์ริเคนแอนดรูว์โหมกระหน่ำส่วนใต้ของรัฐฟลอริดาและรัฐหลุยเซียนาในสหรัฐอเมริกาและได้ก่อความเสียหายหลายหมื่นล้านบาทนั้น ภัยธรรมชาติดังกล่าวเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก. กระนั้น จะว่าอย่างไรถ้าหากแผ่นดินไหวนั้นได้เกิดขึ้นในทะเลทรายโกบีที่ไม่มีคนอาศัยซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองถางชาน 1,100 กิโลเมตร หรือจะว่าอย่างไรหากพายุเฮอร์ริเคนแอนดรูว์ได้เปลี่ยนทิศทางไป แล้วอ่อนกำลังลงในทะเล ไม่พัดผ่านผืนแผ่นดินเลย? คงแทบจะไม่มีใครจำเหตุการณ์เหล่านั้นได้ในขณะนี้.
ดังนั้นแล้ว ปรากฏชัดว่าเมื่อเราพูดถึงภัยธรรมชาติ เราไม่เพียงพูดถึงการแสดงให้เห็นพลังธรรมชาติอย่างที่น่าตื่นเต้นเร้าใจ. ทุก ๆ ปีมีแผ่นดินไหวหลายพันครั้ง ทั้งที่ใหญ่โตและเล็กน้อย, และพายุหมุน, เฮอร์ริเคน, ลมไต้ฝุ่นมากมาย, การระเบิดของภูเขาไฟ และปรากฏการณ์ที่รุนแรงอื่น ๆ หลายสิบครั้งซึ่งไม่มีอะไรสำคัญยิ่งไปกว่าเพียงถูกบันทึกไว้เป็นสถิติเท่านั้น. อย่างไรก็ดี เมื่อเหตุการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดการทำลายชีวิตและทรัพย์สินมหาศาลและทำให้วิถีชีวิตแบบปกตินั้นสับสนยุ่งเหยิงแล้ว เหตุการณ์เหล่านั้นจึงกลายเป็นภัยพิบัติ.
ควรสังเกตว่าความเสียหายและความสูญเสียที่เป็นผลนั้นใช่ว่าจะได้สัดส่วนเสมอไปกับพลังธรรมชาติที่เกี่ยวข้องอยู่ด้วย. ภัยพิบัติใหญ่โตที่สุดใช่ว่าจะต้องเกิดขึ้นจากพลังธรรมชาติที่ทรงพลังมากที่สุด. ตัวอย่างเช่น ในปี 1971 เกิดแผ่นดินไหวที่วัดได้ 6.6 ตามมาตราวัดริกเตอร์ที่เมืองซาน เฟอร์นานโด รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ และ 65 คนเสียชีวิต. หนึ่งปีต่อมา แผ่นดินไหวที่วัดได้ในอัตรา 6.2 ที่เมืองมานากัว ประเทศนิการากัว ทำให้ 5,000 คนเสียชีวิต!
ด้วยเหตุนี้ เมื่อพูดถึงความพินาศเนื่องจากภัยธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เราต้องถามว่า ปัจจัยทางธรรมชาติกลายเป็นเรื่องที่รุนแรงขึ้นไหม? หรือว่ามนุษย์มีส่วนส่งเสริมปัญหานั้น?
ใครรับผิดชอบ?
คัมภีร์ไบเบิลระบุว่า พระเจ้ายะโฮวาเป็นพระผู้สร้างสิ่งสารพัดองค์ยอดเยี่ยม รวมทั้งพลังธรรมชาติต่าง ๆ ของแผ่นดินโลกนี้. (เยเนซิศ 1:1; นะเฮมยา 9:6; เฮ็บราย 3:4; วิวรณ์ 4:11) นี้มิได้หมายความว่า พระองค์ทรงบันดาลการเคลื่อนไหวทุกครั้งของลมหรือทำให้ฝนตกทุกครั้ง. ถ้าจะพูดให้ถูกแล้ว พระองค์ได้ทรงตั้งกฎบางอย่างที่ควบคุมแผ่นดินโลกและสิ่งแวดล้อมของโลก. ตัวอย่างเช่น ที่พระธรรมท่านผู้ประกาศ 1:5-7 เราอ่านถึงการดำเนินงานขั้นพื้นฐานสามประการที่ทำให้ชีวิตบนแผ่นดินโลกเป็นไปได้ นั่นคือ การที่ดวงอาทิตย์ขึ้นและตกทุกวัน, รูปแบบของลมที่ไม่เปลี่ยนแปลง และวัฏจักรของน้ำ. ไม่ว่ามนุษยชาติทราบเรื่องนั้นหรือไม่ก็ตาม เป็นเวลาหลายพันปีที่ระบบทางธรรมชาติเหล่านี้ และระบบอื่น ๆ ที่คล้ายกัน ซึ่งเกี่ยวข้องกับภูมิอากาศ, ธรณีวิทยา และนิเวศวิทยาของแผ่นดินโลกได้ดำเนินงานอยู่แล้ว. ที่จริง ผู้เขียนพระธรรมท่านผู้ประกาศแนะให้เอาใจใส่ต่อการเปรียบเทียบความแตกต่างกันอย่างมากมายระหว่างวิถีแห่งสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้างที่ไม่เปลี่ยนแปลงและไม่รู้จักจบสิ้นกับลักษณะที่ไม่ยั่งยืนถาวรของชีวิตมนุษย์.
พระยะโฮวาไม่เพียงแต่เป็นพระผู้สร้างพลังธรรมชาติเท่านั้น แต่พระองค์ทรงมีอำนาจที่จะควบคุมพลังเหล่านั้นด้วย. ตลอดคัมภีร์ไบเบิลทั้งเล่ม เราอ่านพบเรื่องราวเกี่ยวกับการที่พระยะโฮวาทรงควบคุมหรือใช้พลังดังกล่าวเพื่อทำให้พระประสงค์ของพระองค์บรรลุผลสำเร็จ. เรื่องเหล่านี้นับรวมการแยกทะเลแดงออกจากกันในสมัยของโมเซ และการทำให้ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์หยุดอยู่ในทางโคจรของมันผ่านท้องฟ้าในสมัยของยะโฮซูอะ. (เอ็กโซโด 14:21-28; ยะโฮซูอะ 10:12, 13) นอกจากนี้พระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระเจ้าและพระมาซีฮาที่ทรงสัญญาไว้ ได้แสดงให้เห็นอำนาจของพระองค์เหนือพลังธรรมชาติด้วย อาทิเช่น เมื่อพระองค์ทรงทำให้พายุในทะเลฆาลิลายสงบ. (มาระโก 4:37-39) เรื่องราวที่คล้ายกับเรื่องเหล่านี้ไม่ปล่อยให้มีข้อสงสัยเลยว่า พระเจ้ายะโฮวาและพระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระองค์ ทรงสามารถควบคุมสิ่งทั้งปวงที่มีผลกระทบต่อชีวิตบนแผ่นดินโลกนี้ได้อย่างเต็มที่.—2 โครนิกา 20:6; ยิระมะยา 32:17; มัดธาย 19:26.
เนื่องจากเป็นจริงเช่นนั้น เราจะถือได้ไหมว่า พระเจ้าเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายร้ายแรงที่เพิ่มขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากภัยธรรมชาติเมื่อไม่นานมานี้? เพื่อตอบคำถามนี้ เราต้องพิจารณาดูก่อนว่า มีหลักฐานหรือไม่ที่ว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้พลังธรรมชาติรุนแรงมากขึ้น บางทีถึงกับควบคุมไม่ได้ด้วยซ้ำ.
ในเรื่องนี้โปรดสังเกตสิ่งที่หนังสือภัยธรรมชาติ—ปฏิบัติการของพระเจ้าหรือการกระทำของมนุษย์? (ภาษาอังกฤษ) ได้กล่าวไว้ “ไม่มีหลักฐานว่า กลไกทางภูมิอากาศที่เกี่ยวข้องกับความแห้งแล้ง, น้ำท่วมและพายุหมุนนั้นกำลังเปลี่ยนแปลง. และไม่มีนักธรณีวิทยาคนใดอ้างว่าการเคลื่อนของพื้นดินซึ่งเกี่ยวพันกับแผ่นดินไหว, ภูเขาไฟ และซึนามิ (คลื่นที่เกิดจากแผ่นดินไหว) นั้นกำลังรุนแรงมากขึ้น.” ในทำนองเดียวกัน หนังสือการสั่นสะเทือนของแผ่นดินโลก (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “หินของทุกทวีปมีบันทึกเกี่ยวกับเหตุการณ์ด้านธรณีวิทยาทั้งที่ใหญ่โตและเล็กน้อยอยู่เป็นจำนวนนับไม่ถ้วน ซึ่งแต่ละเหตุการณ์คงจะเป็นภัยพิบัติที่ยังความหายนะแก่มนุษยชาติถ้าหากเกิดขึ้นในสมัยนี้—และเป็นเรื่องแน่นอนตามหลักวิทยาศาสตร์ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวจะ เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าในอนาคต.” กล่าวอีกนัยหนึ่ง แผ่นดินโลกและพลังในธรรมชาติของโลกคงมีอยู่ในระดับเดียวกันตลอดยุคต่าง ๆ. เนื่องจากเหตุนี้ ไม่ว่าสถิติบางอย่างแสดงว่ามีการเพิ่มทวีขึ้นของการเคลื่อนไหวทางธรณีวิทยาหรือแบบอื่น ๆ บางรูปแบบหรือไม่ แผ่นดินโลกก็มิได้เกิดความรุนแรงอย่างที่ควบคุมไม่อยู่ในยุคนี้.
ถ้าเช่นนั้น อะไรเป็นสาเหตุของการเพิ่มทวีขึ้นในด้านความถี่และความเสียหายของภัยธรรมชาติซึ่งเราได้อ่านถึงนั้น? หากไม่ควรตำหนิพลังธรรมชาติแล้ว ความผิดนี้ดูเหมือนจะตกอยู่กับมนุษย์. และที่จริงแล้ว พวกผู้เชี่ยวชาญได้ยอมรับว่า กิจกรรมของมนุษย์ได้ทำให้สิ่งแวดล้อมของเรามีแนวโน้มไปสู่ภัยธรรมชาติมากขึ้นและทั้งได้รับผลกระทบจากภัยเหล่านั้นได้ง่ายขึ้น. ในประเทศที่กำลังพัฒนา ความต้องการเพิ่มขึ้นด้านอาหารนั้นบีบพวกชาวนาให้เพาะปลูกมากเกินไปในที่ดินซึ่งเขามีอยู่นั้นหรือบุกเบิกที่ดินโดยการหักร้างถางพงป่าไม้สำคัญที่ปกคลุมพื้นที่นั้น. ทั้งนี้ทำให้เกิดการเซาะกร่อนผิวดินอย่างร้ายแรง. การเพิ่มทวีของพลเมืองได้เร่งการเจริญเติบโตของชุมชนแออัด และกระท่อมโกโรโกโสได้ถูกสร้างขึ้นตามอำเภอใจในบริเวณที่ไม่ปลอดภัย. แม้กระทั่งในประเทศที่พัฒนามากกว่า ประชาชนได้ปล่อยให้ตัวเองตกอยู่ในอันตรายทั้ง ๆ ที่ได้รับคำเตือนอย่างชัดแจ้งแล้วก็ตาม เช่น หลายล้านคนที่อาศัยอยู่ตามแนวรอยเลื่อนซานแอนเดรียสในแคลิฟอร์เนียนั้น. ภายใต้สภาพการณ์เช่นนั้น เมื่อเหตุการณ์ผิดปกติ เช่น พายุ, น้ำท่วม หรือแผ่นดินไหวเกิดขึ้นนั้น ผลที่เป็นความหายนะนั้นจะเรียกว่าเป็นภัย “ธรรมชาติ” จริง ๆ ได้ไหม?
ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือความแห้งแล้งในเขตซาเฮลของแอฟริกา. ตามปกติ เราคิดถึงความแห้งแล้งว่า เป็นการขาดแคลนฝนหรือน้ำ ซึ่งนำไปสู่การกันดารอาหาร, ความอดอยาก และความตาย. แต่การกันดารอาหารและความอดอยากอย่างขนาดหนักในภูมิภาคนั้นเป็นเพียงเนื่องจากการขาดแคลนน้ำไหม? หนังสือธรรมชาติที่บ้าคลั่ง (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “หลักฐานที่รวบรวมโดยองค์การด้านวิทยาศาสตร์และการบรรเทาทุกข์แสดงว่า การกันดารอาหารในทุกวันนี้ยังคงมีอยู่เนื่องมาจากการใช้ทรัพยากรบนบกและในน้ำแบบผิด ๆ เป็นเวลานาน มากยิ่งกว่าเนื่องจากความแห้งแล้งที่ยืดเยื้อ . . . .การที่ซาเฮลกลายเป็นทะเลทรายมากขึ้นเรื่อย ๆ นั้นส่วนใหญ่เป็นปรากฏการณ์ที่มนุษย์ก่อขึ้น.” เดอะ เนทัล วิตเนสส์ หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งของสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ กล่าวว่า “การกันดารอาหารมิใช่เกี่ยวข้องกับการมีอาหารไม่พอ แต่เกี่ยวข้องกับการขาดทางเข้าถึงอาหาร. กล่าวอีกนัยหนึ่ง นั่นเกี่ยวข้องกับความยากจน.”
อาจกล่าวได้เช่นเดียวกันกับการทำลายล้างส่วนใหญ่ที่เป็นผลมาจากมหันตภัยอื่น ๆ. การศึกษาวิจัยได้เผยให้เห็นว่า ประเทศชาติที่ยากจนกว่าประสบอัตราการตายจากภัยธรรมชาติสูงกว่าประเทศชาติที่ร่ำรวยกว่าในโลกอย่างที่ไม่ได้สัดส่วนกัน. ตัวอย่างเช่น ตามการวิจัยรายหนึ่ง ตั้งแต่ปี 1960 ถึงปี 1981 ญี่ปุ่นมีแผ่นดินไหวและภัยพิบัติอื่น ๆ 43 ครั้งและมีผู้เสียชีวิต 2,700 คน เฉลี่ยแล้วมี 63 คนตายในภัยพิบัติแต่ละครั้ง. ในช่วงเวลาเดียวกัน เปรูมีภัยพิบัติ 31 ครั้งมีผู้เสียชีวิต 91,000 คน หรือ 2,900 คนต่อภัยพิบัติแต่ละครั้ง. ทำไมจึงมีความแตกต่างกัน? พลังธรรมชาติอาจก่อให้เกิดภัยธรรมชาติ แต่การดำเนินงานของมนุษย์—ทางด้านสังคม, ด้านเศรษฐกิจ, และการเมืองนั่นเอง—ต้องแบกความรับผิดชอบสำหรับผลต่างมากมายของการสูญเสียชีวิตและการทำลายทรัพย์สิน.
วิธีแก้คืออะไร?
พวกนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญได้พยายามคิดค้นหาวิธีที่จะรับมือกับภัยธรรมชาติมาเป็นเวลาหลายปี. พวกเขาสำรวจลึกลงไปในแผ่นดินเพื่อแสวงหาความเข้าใจการทำงานของแผ่นดินไหวและการระเบิดของภูเขาไฟ. โดยดาวเทียมในอวกาศ พวกเขาสังเกตสภาพอากาศเพื่อหาร่องรอยวิถีของพายุหมุนและพายุเฮอร์ริเคนหรือพยากรณ์น้ำท่วมและความแห้งแล้ง. การค้นคว้าทั้งหมดนี้ได้ให้ข้อมูลแก่พวกเขาซึ่งพวกเขาหวังว่า จะทำให้เขาสามารถลดผลกระทบจากพลังธรรมชาติเหล่านี้ให้น้อยลงได้.
ความพยายามดังกล่าวยังผลที่น่าพอใจไหม? เกี่ยวกับวิธีการที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง มีราคาแพงนี้ องค์การหนึ่งที่ตรวจสอบสิ่งแวดล้อมได้กล่าวว่า “วิธีการเหล่านี้มีความสำคัญอยู่บ้าง. แต่หากวิธีเหล่านั้นทำให้สิ้นเปลืองเงินและความพยายามโดยได้ประโยชน์ไม่มาก—หากวิธีการนั้นใช้เป็นข้อแก้ตัวที่จะไม่ใส่ใจกับอันตรายซึ่งแฝงอยู่ในสังคมซึ่งผู้ตกเป็นเหยื่อภัยพิบัตินั้นอาศัยอยู่และทำให้ภัยพิบัตินั้นร้ายแรงมากขึ้น—ดังนั้นแล้ว วิธีการเหล่านั้นก็อาจทำให้เกิดความเสียหายมากกว่าผลดี.” ตัวอย่างเช่น ขณะที่เป็นประโยชน์ในการทราบว่าดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำชายฝั่งทะเลของบังกลาเทศถูกคุกคามด้วยน้ำท่วมและคลื่นใหญ่จากทะเลอยู่เสมอ ความรู้ดังกล่าวมิได้ป้องกันชาวบังกลาเทศหลายล้านคนไว้จากการถูกบีบบังคับให้อาศัยอยู่ที่นั่น. ผลก็คือภัยพิบัติครั้งแล้วครั้งเล่าพร้อมกับจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บนับเป็นแสน ๆ คน.
ปรากฏชัดว่า ความรู้ทางด้านเทคนิคอาจเป็นประโยชน์ถึงขีดหนึ่งเท่านั้น. อีกสิ่งหนึ่งที่จำเป็นคือความสามารถที่จะผ่อนคลายความกดดันซึ่งทิ้งให้ผู้คนมีทางเลือกไม่มากนัก นอกจากอาศัยอยู่ในบริเวณที่ต้องเผชิญอันตรายโดยตรงหรืออาศัยอยู่แบบที่ทำลายสิ่งแวดล้อม. กล่าวอีกนัยหนึ่ง เพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากพลังธรรมชาตินั้น คงจะต้องจัดรูปแบบด้านสังคม, เศรษฐกิจ และการเมืองซึ่งเราอยู่ใต้ระบบนั้นเสียใหม่อย่างทั่วถึง. ผู้ใดจะทำให้ภารกิจดังกล่าวสัมฤทธิ์ผล? เฉพาะแต่พระองค์ผู้นั้นซึ่งทรงสามารถควบคุมกระทั่งพลังที่ก่อให้เกิดภัยธรรมชาติเท่านั้น.
ปฏิบัติการของพระเจ้ามีอยู่ข้างหน้า
พระเจ้ายะโฮวาจะไม่เพียงจัดการกับอาการที่ปรากฏภายนอกเท่านั้น แต่พระองค์จะทรงเข้าถึงมูลเหตุอันแท้จริงแห่งความทุกขเวทนาของมนุษย์. พระองค์จะทรงยุติระบบทางการเมือง, การค้า, และทางศาสนาที่ละโมบและกดขี่ซึ่งได้ “มีอำนาจเหนือมนุษย์ด้วยกันเป็นผลเสียหายแก่เขา.” (ท่านผู้ประกาศ 8:9, ล.ม.) ใคร ๆ ที่คุ้นเคยกับคัมภีร์ไบเบิลจะสังเกตว่า ตลอดบันทึกของพระคัมภีร์ทั้งเล่มมีคำพยากรณ์จำนวนมากชี้ถึงสมัยที่พระเจ้าจะปฏิบัติการเพื่อกำจัดความชั่วและความทุกข์ออกไปจากแผ่นดินโลก และฟื้นฟูอุทยานทางภาคพื้นโลกที่มีสันติภาพและความชอบธรรม.—บทเพลงสรรเสริญ 37:9-11, 29; ยะซายา 13:9; 65:17, 20-25; ยิระมะยา 25:31-33; 2 เปโตร 3:7; วิวรณ์ 11:18.
ที่แท้แล้ว นั่นคือสิ่งที่พระเยซูคริสต์ได้สอนบรรดาผู้ติดตามพระองค์ให้อธิษฐานขอ กล่าวคือ “ขอให้แผ่นดิน [ราชอาณาจักร, ล.ม.] ของพระองค์มาตั้งอยู่. พระทัยของพระองค์สำเร็จในสวรรค์อย่างไร, ก็ให้สำเร็จในแผ่นดินโลกเหมือนกัน.” (มัดธาย 6:10) ราชอาณาจักรมาซีฮาจะกำจัดการปกครองที่ไม่สมบูรณ์ทั้งสิ้นของมนุษย์ออกไปและเข้ามาแทนที่การปกครองเหล่านั้น ดังที่ผู้พยากรณ์ดานิเอลได้บอกไว้ล่วงหน้าว่า “ในสมัยเมื่อกษัตริย์เหล่านั้นกำลังเสวยราชย์อยู่, พระเจ้าแห่งสรวงสวรรค์จะทรงตั้งอาณาจักรอันหนึ่งขึ้น, ซึ่งจะไม่มีวันทำลายเสียได้, หรือผู้ใดจะชิงเอาอาณาจักรนี้ไปก็หาได้ไม่, แต่อาณาจักรนี้จะทำลายอาณาจักรอื่น ๆ ลงให้ย่อยยับและเผาผลาญเสียสิ้น, และอาณาจักรนี้จะดำรงอยู่เป็นนิจ.”—ดานิเอล 2:44.
ราชอาณาจักรของพระเจ้าจะทำให้สิ่งใดสัมฤทธิ์ผลซึ่งนานาชาติในทุกวันนี้ทำไม่ได้? คัมภีร์ไบเบิลให้ภาพที่ตรึงใจล่วงหน้าแวบหนึ่งเกี่ยวกับสิ่งที่จะมีมา. แทนที่จะมีสภาพการณ์ดังมีภาพแสดงไว้ในหน้าเหล่านี้ เช่น การกันดารอาหารและความอัตคัดขัดสน “จะมีธัญญาหารบริบูรณ์บนพื้นแผ่นดินบนยอดภูเขา; ผลไม้จะดกจนต้นโอนเอนไปมา” และ “ต้นไม้ในนาจะเกิดผลที่ต้นนั้น, และผลประโยชน์จะเกิดแต่แผ่นดินนั้น; และเขาทั้งหลายจะอยู่ในแผ่นดินแห่งเขาโดยปกติ [ความปลอดภัย, ล.ม.].” (บทเพลงสรรเสริญ 72:16; ยะเอศเคล 34:27) คัมภีร์ไบเบิลบอกเราเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติว่า “ป่ารกและที่แห้งแล้งจะยินดี, และป่าทรายจะชื่นชม, จะมีดอกเหมือนกับดอกบัว . . . .เพราะน้ำจะพุขึ้นในป่ารก, และจะเกิดลำธารขึ้นในป่าทราย. ทรายที่ร้อนระอุจะกลับเป็นบ่อน้ำ และดินที่แตกระแหงจะเกิดมีน้ำพลุ่งขึ้นมา.” (ยะซายา 35:1, 2, 6, 7) และสงครามจะไม่มีอีกต่อไป.—บทเพลงสรรเสริญ 46:9
พระเจ้ายะโฮวาจะทรงทำให้ทั้งหมดนั้นสัมฤทธิ์ผลอย่างไร และพระองค์จะจัดการอย่างไรกับพลังธรรมชาติทั้งสิ้นเพื่อว่าพลังเหล่านั้นจะไม่เป็นสาเหตุแห่งความเสียหายใด ๆ อีกต่อไปนั้นคัมภีร์ไบเบิลไม่ได้กล่าวไว้. อย่างไรก็ดี สิ่งที่แน่นอนคือว่า ทุกคนที่มีชีวิตอยู่ภายใต้รัฐบาลที่ชอบธรรมนั้น “จะไม่ต้องทำงานเสียแรงเปล่า, และไม่ต้องคลอดบุตรแล้วพินาศไป, เพราะว่าเขาทั้งหลายจะเป็นชาติที่ได้รับพระพรของพระยะโฮวา, และลูกหลานของเขาจะคงอยู่กับเขาทั้งหลาย.”—ยะซายา 65:23.
ในวารสารนี้ เช่นเดียวกับในสรรพหนังสืออื่น ๆ ของสมาคมว็อชเทาเวอร์ พยานพระยะโฮวาได้ชี้ชัดซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า ราชอาณาจักรของพระเจ้าได้รับการสถาปนาขึ้นในสวรรค์เมื่อปี 1914. ภายใต้การชี้นำของราชอาณาจักรนั้น ได้มีการให้คำพยานทั่วโลกเป็นเวลาเกือบ 80 ปี และทุกวันนี้เราอยู่ตรงธรณีประตูของ “ฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่” ที่ทรงสัญญาไว้นั้น. มนุษยชาติจะไม่เพียงได้รับการปลดปล่อยจากการทำลายล้างของภัยธรรมชาติเท่านั้น แต่จากความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานทั้งมวลที่ได้ทำให้เกิดวิบัติแก่มนุษยชาติตลอดหกพันปีที่แล้วมานั้นอีกด้วย. อาจกล่าวถึงสมัยนั้นได้อย่างแท้จริงว่า “เหตุการณ์ที่ได้มีอยู่แต่ดั้งเดิมนั้นได้ล่วงพ้นไปแล้ว.”—2 เปโตร 3:13, ล.ม.; วิวรณ์ 21:4.
แต่ขณะนี้เป็นอย่างไร? พระเจ้าได้ทรงดำเนินการเพื่อประโยชน์ของคนเหล่านั้นที่อยู่ในความทุกข์อันเนื่องจากสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติหรือเหตุอื่น ๆ ไหม? แน่นอนทีเดียว พระองค์ได้ทรงกระทำ ทว่าไม่จำเป็นต้องทำในวิธีที่คนส่วนใหญ่อาจคาดหมาย.
[รูปภาพหน้า 8, 9]
กิจกรรมของมนุษย์ได้ทำให้ที่แวดล้อมของเรามีแนวโน้มไปสู่ภัยธรรมชาติมากขึ้น
[ที่มาของภาพ]
Laif/Sipa Press
Chamussy/Sipa Press
Wesley Bocxe/Sipa Press
Jose Nicolas/Sipa Press