ผู้สำเร็จการศึกษาจากกิเลียดพบว่า “การให้ทำให้มีความสุขยิ่งกว่า”
ในวันอาทิตย์ที่ 6 มีนาคม 1994 ครอบครัวเบเธลที่สำนักงานกลางของพยานพระยะโฮวากับแขกทั้งหลายได้มาชุมนุมกันในโอกาสแห่งการฉลองการสำเร็จการศึกษาของชั้นเรียนที่ 96 ของโรงเรียนว็อชเทาเวอร์ไบเบิลแห่งกิเลียด. ในคำกล่าวต้อนรับ คาร์ล เอฟ. ไคลน์ ประธานของงานนี้ ซึ่งรับใช้ในคณะกรรมการปกครองแห่งพยานพระยะโฮวามาเกือบสองทศวรรษ บอกแก่นักศึกษา 46 คนว่า “พระเยซูตรัสว่า การให้ทำให้มีความสุขยิ่งกว่าการรับ. จะเป็นเช่นนั้นในงานมอบหมายของคุณในฐานะมิชชันนารี—ยิ่งคุณให้มากขึ้น คุณก็จะยิ่งมีความสุขมากขึ้น.”—กิจการ 20:35.
คำเตือนก่อนอำลา
ตามด้วยชุดคำบรรยายสำหรับนักศึกษา. ลีอัน วีเวอร์ สมาชิกคณะกรรมการแผนกการรับใช้ ขยายความอรรถบทที่ว่า “ความอดทนถวายเกียรติแด่พระยะโฮวา.” เราทุกคนเผชิญการทดลอง. (2 โกรินโธ 6:3-5) บราเดอร์วีเวอร์ชี้แจงว่า “เมื่อเราตกอยู่ใต้ความกดดัน เป็นการง่ายมากที่จะวางใจตัวเอง.” แต่เขาเตือนใจเหล่านักศึกษาว่า “ไม่ว่าคุณต้องเผชิญการทดลองอะไรก็ตามซึ่งมนุษย์โดยทั่วไปต้องเผชิญ พระยะโฮวาทรงสนพระทัยการทดลองนั้น. พระองค์จะไม่ทรงปล่อยให้คุณถูกล่อใจเกินกว่าที่คุณจะทนได้.”—1 โกรินโธ 10:13.
“จงทะนุถนอมงานมอบหมายที่คุณได้รับเสมอ” เป็นชื่อเรื่องคำบรรยายถัดไปซึ่งบรรยายโดย ไลแมน สวิงเกิล จากคณะกรรมการปกครอง. ชาวยิศราเอลไม่ได้เลือกเสมอไปว่า เขาจะอาศัยที่ไหนและจะทำอะไร. แต่ละตระกูลได้รับการจัดสรรแผ่นดินให้ส่วนหนึ่ง และชาวเลวีได้รับมอบหมายหน้าที่พิเศษให้ทำ. ในทำนองคล้ายกัน หลายคนที่รับใช้ประเภทเต็มเวลาแบบพิเศษในทุกวันนี้ เช่น มิชชันนารีและสมาชิกครอบครัวเบเธล ก็ไม่ตัดสินใจเองว่า เขาจะอยู่ที่ไหนและจะทำงานอะไร. แล้วถ้าคนเรามีความรู้สึกถึงความไม่แน่นอนเกี่ยวกับงานมอบหมายของตนล่ะจะว่าอย่างไร? บราเดอร์สวิงเกิลบอกว่า “ถ้าคุณมองเขม้นที่พระเยซูผู้นำองค์เอกแห่งความเชื่อของเราและพิจารณาแบบอย่างของพระองค์อย่างใกล้ชิดละก็ คุณจะไม่เลิกรับใช้.”—เฮ็บราย 12:2, 3.
เลนาร์ด เพียร์สัน แห่งคณะกรรมการฟาร์มว็อชเทาเวอร์ บรรยายต่อด้วยเรื่อง “จงเอาใจจดจ่อเสมอไป.” เขากล่าวดังนี้: คุณอาจมีกล้องถ่ายรูปที่ดีที่สุด, มีสิ่งที่จะถ่ายที่สวยมาก, มีฉากหลังที่ถูกใจ, แต่ก็ยังได้ภาพไม่สวย ถ้าคุณปรับระยะชัดของกล้องไม่ดี.” เหมือนกับเลนส์มุมกว้าง ความคิดของเราต้องรวมเอางานประกาศทั่วโลกที่กำลังทำกันอยู่เข้าไว้ด้วย. เราไม่ควรลืมภาพรวมนั้น. บราเดอร์เพียร์สันกล่าวว่า “คนที่มุ่งสนใจแต่ตัวเองจะไม่มีความสุขในงานมอบหมายของเขา. แต่คนที่เอาใจจดจ่อที่พระยะโฮวาและในงานที่พระองค์ทรงมอบให้เขาทำจะประสบผลสำเร็จ.”
“มีมากมายหลายสิ่งที่จะขอบพระคุณ” เป็นชื่อเรื่องคำบรรยายถัดไปซึ่งบรรยายโดย จอห์น อี. บารร์ สมาชิกอีกคนหนึ่งแห่งคณะกรรมการปกครอง. “อย่าให้ความรู้สึกขอบพระคุณต่อพระยะโฮวาสูญหายไป” บราเดอร์ บารร์เตือนเหล่านักศึกษา. “นี่คือแหล่งสำคัญยิ่งแห่งความอิ่มใจพอใจ ไม่ว่าคุณมีงานมอบหมายอะไรก็ตาม.” ทัศนะที่เปี่ยมด้วยความรู้สึกขอบคุณกระตุ้นให้ดาวิดเขียนดังนี้: “เครื่องวัดเขตต์ของข้าพเจ้าได้ตกในที่อันเหมาะ; แท้จริง, ส่วนมฤดกของข้าพเจ้าเป็นที่ดียิ่ง.” (บทเพลงสรรเสริญ 16:6) บราเดอร์บารร์กล่าวว่า “คุณมีทรัพย์อันล้ำค่าทีเดียว คือความรู้สึกใกล้ชิดพระยะโฮวาในชีวิตประจำวันของคุณ. พระยะโฮวาจะไม่ทรงเอาสัมพันธภาพเช่นนั้นไปเสียจากคุณตราบเท่าที่คุณมองดูสิ่งนี้ว่าเป็นสิ่งที่น่าพอใจอย่างมากเสมอซึ่งคุณขอบพระคุณสำหรับสิ่งนี้.”
แจ็ก เรดฟอร์ด ครูประจำโรงเรียน เป็นผู้บรรยายถัดจากนั้นด้วยอรรถบท “คุณจะใช้ลิ้นของคุณอย่างไร?” คำพูดที่ไม่ยั้งคิดก่อความหายนะจริง ๆ! (สุภาษิต 18:21) จะควบคุมลิ้นได้อย่างไร? บราเดอร์เรดฟอร์ดตอบว่า “คุณต้องฝึกจิตใจของคุณก่อน เพราะลิ้นย่อมสะท้อนให้เห็นถึงจิตใจและหัวใจ.” (มัดธาย 12:34-37) พระเยซูทรงวางแบบอย่างอันดีเลิศไว้ พระองค์ทรงใช้ลิ้นของพระองค์เพื่อยกย่องพระนามของพระยะโฮวา. บราเดอร์เรดฟอร์ดบอกแก่ชั้นเรียนว่า “ทุกวันนี้มีความอดอยากหิวโหยจะได้ยินพระคำของพระยะโฮวา. พวกคุณรู้จักถ้อยคำเหล่านั้น. คุณมี ‘ลิ้นของคนที่ได้รับการสอนแล้ว.’ ฉะนั้น จงให้ลิ้นของคุณได้รับการชี้นำโดยจิตใจและหัวใจที่อุทิศแด่พระยะโฮวาอย่างเต็มที่.”—ยะซายา 50:4.
มีการเน้นความสำคัญของการอธิษฐานในคำบรรยายเรื่อง “คุณกำลังดำเนินเหมือนกับอยู่เฉพาะพระพักตร์พระยะโฮวาไหม?” ยูลิซิส กลาสส์ เจ้าหน้าที่ลงทะเบียนของโรงเรียนชี้แจงว่า “ถ้าบิดาทำงานหนักเพื่อเกื้อกูลครอบครัว แต่ไม่เคยพูดกับคนในครอบครัวและไม่เคยเอ่ยคำพูดแสดงความรักเลย ครอบครัวของเขาอาจลงความเห็นว่า เจตนาในการทำงานหนักของเขานั้นเนื่องมาจากหน้าที่ที่จำใจทำ แทนที่จะมาจากความรัก. เป็นอย่างนั้นกับเราเช่นกัน. เราอาจขันแข็งในงานรับใช้พระเจ้า. แต่ถ้าเราไม่อธิษฐาน เราก็เพียงแต่อุทิศตัวแก่งาน ไม่ใช่แด่พระบิดาในสวรรค์องค์เปี่ยมด้วยความรัก.”
ทีโอดอร์ จาราซ แห่งคณะกรรมการปกครอง บรรยายในอรรถบท “เหตุที่ผู้คนมากมายมาสมทบกับไพร่พลของพระเจ้า.” แต่ละปีมีหลายแสนคนหลั่งไหลมาสู่องค์การของพระยะโฮวา. (ซะคาระยา 8:23) อะไรที่บ่งว่า พยานพระยะโฮวาเป็นไพร่พลของพระเจ้า? ประการแรก พวกเขายอมรับคัมภีร์ไบเบิลทั้งเล่มว่าเป็นพระวจนะของพระเจ้า. (2 ติโมเธียว 3:16) ประการที่สอง พวกเขาเป็นกลางด้านการเมือง. (โยฮัน 17:16) ประการที่สาม พวกเขาเป็นพยานถึงพระนามของพระเจ้า. (โยฮัน 17:26) ประการที่สี่ พวกเขาแสดงออกซึ่งความรักแบบเสียสละตัวเอง. (โยฮัน 13:35; 15:13) ด้วยหลักฐานเหล่านี้ เราจึงสามารถ ‘ประกาศเผยแพร่พระบารมีคุณของพระองค์ผู้ได้ทรงเรียกเราทั้งหลายให้ออกจากความมืดเข้าสู่ความสว่างอันมหัศจรรย์ของพระองค์’ ด้วยความกล้าหาญ.—1 เปโตร 2:9, ล.ม.
หลังจากคำบรรยายที่กระตุ้นใจเหล่านี้ นักเรียนทั้ง 46 คนก็ได้รับประกาศนียบัตร. พวกเขาได้รับมอบหมายให้ไปยัง 16 ประเทศทั่วโลก.
ระเบียบวาระหลากหลายในภาคบ่าย
ในภาคบ่ายมีการสรุปการศึกษาหอสังเกตการณ์ โดย โดนัลด์ เคร็บส์ แห่งคณะกรรมการเบเธล. แล้วเหล่าผู้สำเร็จการศึกษาก็เสนอรายการหนึ่งมีชื่อเรื่องว่า “พระปัญญาส่งเสียงดังอยู่ในท้องถนน.” (สุภาษิต 1:20, ล.ม.) พวกเขาแสดงถึงประสบการณ์ต่าง ๆ ที่มีผลตอบแทนอันดีซึ่งพวกเขาได้มีในการให้คำพยานทั้งตามถนนและในย่านธุรกิจ. จริงทีเดียว พระยะโฮวาทรงอวยพระพรคนที่รวบรวมความกล้าเพื่อจะประกาศเมื่อสบโอกาส. ผู้สำเร็จการศึกษาคนหนึ่งกล่าวว่า “ผมชอบคิดว่าพวกเราเป็นเคียวในหัตถ์ทูตสวรรค์ผู้ทำการเกี่ยว. ยิ่งเรามีความชำนาญเฉียบแหลมมากขึ้นเท่าใด ทูตสวรรค์เหล่านั้นก็ยิ่งสามารถใช้เราให้ทำงานมากขึ้นเท่านั้น.” (เทียบกับวิวรณ์ 14:6.) ในรายการของนักศึกษายังรวมถึงการฉายภาพนิ่งซึ่งพาผู้ฟังไปทัศนศึกษายังโบลิเวีย, มอลตา, และไต้หวัน ซึ่งเป็นสามประเทศที่นักศึกษาจากชั้นเรียนนี้ถูกส่งไป.
ถัดจากนั้น มีการสัมภาษณ์ วอลเลซ กับ เจน ลิเวอรันซ์ ซึ่งเป็นมิชชันนารีมา 17 ปี. ในเดือนตุลาคม 1993 พวกเขาได้รับเชิญให้ไปยังฟาร์มว็อชเทาเวอร์ ซึ่งบราเดอร์ลิเวอรันซ์ทำหน้าที่เป็นครูประจำโรงเรียนกิเลียดอยู่ในขณะนี้.
ถัดมาเป็นการแสดงสี่ฉาก ที่มีชื่อเรื่องว่า “การให้เกียรติผู้ที่คู่ควรในวัยชรา.” เมื่อคนเรามีอายุ ความกลัวว่าจะกลายเป็นคนไร้ประโยชน์และกลัวถูกทอดทิ้งอาจเซาะกร่อนความมั่นใจของเขา. (บทเพลงสรรเสริญ 71:9) การแสดงที่น่าประทับใจนี้แสดงวิธีที่ทุกคนในประชาคมอาจสนับสนุนผู้สูงอายุที่ซื่อสัตย์เหล่านั้นได้.
หลังจากการร้องเพลงและอธิษฐานปิดการประชุม ผู้เข้าร่วมทั้งหมด 6,220 คน ณ หอประชุมใหญ่ในเจอร์ซี ซิตี และหอประชุมในเมืองใกล้เคียงต่างรู้สึกชื่นใจ. เราอธิษฐานเผื่อเหล่าผู้สำเร็จการศึกษาในงานมอบหมายใหม่ของพวกเขา. ขอให้พวกเขาประสบความสุขอันเนื่องมาจากการให้ต่อ ๆ ไป.
[กรอบหน้า 26]
สถิติของชั้นเรียน
นักเรียนมาจาก: 9 ประเทศ
ได้รับมอบหมายให้ไปยัง: 16 ประเทศ
จำนวนนักเรียน: 46 คน
เฉลี่ยอายุ: 33.85 ปี
เฉลี่ยจำนวนปีที่อยู่ในความจริง: 16.6 ปี
เฉลี่ยจำนวนปีที่อยู่ในงานรับใช้เต็มเวลา: 12.2 ปี
[กรอบหน้า 27]
มุ่งความสนใจในมอลตา
คริสต์ศาสนจักรปิดกั้นความจริงแห่งคัมภีร์ไบเบิลในมอลตาเป็นเวลานานหลายปี. มิชชันนารีจากกิเลียดกลุ่มสุดท้ายที่ถูกส่งไปที่นั้นคือ เฟรเดอริก สเม็ดลี กับ ปีเตอร์ ไบรเดล สำเร็จการศึกษาจากชั้นเรียนที่แปดย้อนไปในปี 1947. อย่างไรก็ตาม พวกเขาถูกจับและถูกขับออกจากมอลตาไม่นานหลังจากที่ไปถึง. หนังสือประจำปีของพยานพระยะโฮวา 1948 (ภาษาอังกฤษ) รายงานว่า “มิชชันนารีสองคนนั้นได้ใช้เวลามากในศาลและกับเจ้าหน้าที่ของประเทศนั้นเท่ากับที่เขาใช้ในการทำหน้าที่ในงานรับใช้ของเขา เพียงเพราะการต่อต้านจากบาทหลวงของนิกายโรมันคาทอลิกเท่านั้น. พวกบาทหลวงบอกว่า มอลตาเป็นของชาวคาทอลิกและไม่ว่าพวกใดก็ตามต้องออกไป.” บัดนี้ ประมาณ 45 ปีต่อมา มิชชันนารีสี่คนจากชั้นเรียนที่ 96 ของโรงเรียนกิเลียดได้รับมอบหมายให้ไปยังมอลตา.
[รูปภาพหน้า 26]
ชั้นเรียนที่ 96 ของโรงเรียนว็อชเทาเวอร์ไบเบิลแห่งกิเลียด
รายชื่อข้างล่าง แถวนับจากข้างหน้าไปข้างหลัง และชื่อนับจากซ้ายไปขวาในแต่ละแถว.
(1) Ehlers, P.; Giese, M.; Sellman, S.; Zusperregui, J.; Rowe, S.; Jackson, K.; Scott, T. (2) Liehr, T.; Garcia, I.; Garcia, J.; Fernández, A.; Davidson, L.; Liidemann, P.; Gibson, L.; Juárez, C. (3) Fouts, C.; Pastrana, G.; Claeson, D.; Fernández, L.; Walls, M.; Dressen, M.; Pastrana, F.; Burks, J. (4) Burks, D.; Scott, S.; Jackson, M.; Mauray, H.; Juárez, L.; Zusperregui, A.; Brorsson, C.; Rowe, C. (5) Sellman, K.; Liidemann, P.; Davidson, C.; Mauray, S.; Walls, D.; Dressen, D.; Schaafsma, G.; Liehr, S. (6) Claeson, T.; Gibson, T.; Giese, C.; Ehlers, D.; Fouts, R.; Schaafsma, S.; Brorsson, L.