การระบุว่าเป็นความอ่อนแอ,ความชั่ว, และการกลับใจ
บาปเป็นสิ่งที่คริสเตียนเกลียดชัง—เป็นการไม่บรรลุมาตรฐานอันชอบธรรมของพระยะโฮวา. (เฮ็บราย 1:9) น่าเศร้าใจ เราทุกคนทำบาปเป็นครั้งคราว. เราทุกคนต่อสู้กับความอ่อนแอและความไม่สมบูรณ์ที่มีมาแต่กำเนิด. อย่างไรก็ดี ในกรณีส่วนใหญ่ หากเราสารภาพบาปของเราต่อพระยะโฮวา และพยายามอย่างจริงจังที่จะไม่ทำบาปนั้นซ้ำ เราก็สามารถเข้าเฝ้าพระองค์ด้วยสติรู้สึกผิดชอบที่สะอาดได้. (โรม 7:21-24; 1 โยฮัน 1:8, 9; 2:1, 2) เราขอบพระคุณพระยะโฮวาที่ โดยอาศัยเครื่องบูชาไถ่ พระองค์ทรงยอมรับการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ของเราทั้ง ๆ ที่เรามีความอ่อนแอ.
หากบางคนถลำเข้าสู่บาปร้ายแรงเนื่องจากความอ่อนแอทางเนื้อหนัง เขาต้องได้รับการบำรุงเลี้ยงอย่างเร่งด่วนตามขั้นตอนที่ได้วางเค้าโครงไว้ที่ยาโกโบ 5:14-16 (ล.ม.): “มีผู้ใดในพวกท่านป่วย [ฝ่ายวิญญาณ] หรือ? จงให้เขาเชิญบรรดาผู้เฒ่าผู้แก่ของประชาคมมาหาตน . . . หากเขาได้กระทำบาป เขาจะได้รับการอภัย. เพราะเหตุนี้ จงสารภาพบาปของท่านทั้งหลายอย่างเปิดเผยต่อกันและกัน และอธิษฐานเพื่อกันและกัน เพื่อท่านจะได้รับการรักษาให้หาย.”
ดังนั้น เมื่อคริสเตียนที่อุทิศตัวแล้วทำบาปที่ร้ายแรง จำต้องทำบางสิ่งมากกว่าการสารภาพเป็นส่วนตัวต่อพระยะโฮวา. ผู้ปกครองต้องดำเนินการบางอย่าง เนื่องจากความสะอาดหรือสันติสุขของประชาคมถูกคุกคาม. (มัดธาย 18:15-17; 1 โกรินโธ 5:9-11; 6:9, 10) ผู้ปกครองอาจต้องวินิจฉัยว่า บุคคลนั้นกลับใจไหม? อะไรนำไปสู่บาปนั้น? นั่นเป็นผลจากความอ่อนแอชั่วขณะหนึ่งที่เกิดขึ้นครั้งเดียวไหม? นั่นเป็นการทำบาปเป็นอาจิณไหม? การตัดสินดังกล่าวไม่ใช่ง่ายหรือชัดแจ้งเสมอไปและเรียกร้องการสังเกตเข้าใจมากทีเดียว.
อย่างไรก็ดี หากบาปนั้นเนื่องมาจากการติดตามแนวทางแห่งการทำผิดและความประพฤติที่ชั่วล่ะจะว่าอย่างไร? ถ้าเช่นนั้น ความรับผิดชอบของผู้ปกครองก็ชัดแจ้ง. เมื่อชี้แนะวิธีจัดการกับเรื่องร้ายแรงในประชาคมโกรินโธ อัครสาวกเปาโลกล่าวว่า “จงขับไล่คนชั่วนั้นออกเสียจากพวกท่าน.” (1 โกรินโธ 5:13) ไม่มีที่สำหรับคนชั่วในประชาคมคริสเตียน.
การชั่งดูว่าเป็นความอ่อนแอ,ความชั่ว, และการกลับใจ
ผู้ปกครองจะรู้ได้อย่างไรเมื่อใครคนหนึ่งกลับใจ?a นี้ไม่ใช่คำถามง่าย ๆ. เพื่อเป็นตัวอย่าง จงคิดถึงกษัตริย์ดาวิด. ท่านเล่นชู้ และครั้นแล้วก็ฆ่าคนตายแม้ว่าไม่ใช่โดยตรง. ถึงกระนั้น พระยะโฮวาทรงยอมให้ท่านมีชีวิตอยู่ต่อไป. (2 ซามูเอล 11:2-24; 12:1-14) ครั้นแล้ว จงคิดถึงอะนาเนียและสัปไฟเร. เขาทั้งสองโป้ปดเพื่อพยายามหลอกลวงอัครสาวก โดยเสแสร้งด้วยความหน้าซื่อใจคดว่าใจกว้างกว่าที่เป็นจริง ๆ. เป็นเรื่องร้ายแรงไหม? แน่นอน. เลวร้ายพอ ๆ กับฆาตกรรมและการเล่นชู้ไหม? คงไม่! ถึงกระนั้น อะนาเนียกับสัปไฟเรชดใช้ด้วยชีวิต.—กิจการ 5:1-11.
ทำไมจึงมีการตัดสินที่ต่างกัน? ดาวิดตกเข้าสู่บาปร้ายแรงเนื่องจากความอ่อนแอทางเนื้อหนัง. เมื่อต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่ท่านได้ทำ ท่านกลับใจ และพระยะโฮวาทรงให้อภัยท่าน—ถึงแม้ท่านได้รับการตีสอนอย่างหนักโดยมีปัญหาต่าง ๆ ในเชื้อวงศ์ของท่าน. อะนาเนียและสัปไฟเรทำบาปในประการที่ว่า เขาทั้งสองโกหกอย่างหน้าซื่อใจคด พยายามที่จะหลอกลวงประชาคมคริสเตียน และด้วยเหตุนี้จึง ‘มุสาต่อพระวิญญาณบริสุทธิ์และต่อพระเจ้า.’ นั่นปรากฏว่าเป็นหลักฐานของหัวใจที่ชั่ว. เนื่องจากเหตุนี้ เขาทั้งสองจึงถูกตัดสินอย่างที่เข้มงวดกว่า.
ในทั้งสองกรณีพระยะโฮวาทรงทำการตัดสิน และการตัดสินของพระองค์ถูกต้องเพราะพระองค์ทรงสามารถตรวจสอบหัวใจ. (สุภาษิต 17:3) ผู้ปกครองที่เป็นมนุษย์ทำเช่นนั้นไม่ได้. แต่ผู้ปกครองจะวินิจฉัยได้อย่างไรว่า บาปที่ร้ายแรงนั้นบ่งชี้ถึงความอ่อนแอยิ่งกว่าความชั่วหรือไม่?
ที่จริง บาปทุกอย่างเป็นการชั่ว แต่ไม่ใช่ผู้ทำบาปทุกคนเป็นคนชั่ว. บาปที่คล้ายคลึงกันอาจบ่งชี้ถึงความอ่อนแอในคนหนึ่งและบ่งชี้ถึงความชั่วในอีกคนหนึ่ง. ที่จริง ตามปกติแล้ว การทำบาปเกี่ยวข้องกับทั้งความอ่อนแอและความชั่วในส่วนของผู้ทำบาป. ปัจจัยที่ช่วยในการตัดสินอย่างหนึ่งคือคนที่ทำบาปนั้นมีทัศนะอย่างไรต่อสิ่งที่เขาได้ทำและสิ่งที่เขาตั้งใจจะทำในเรื่องนั้น. เขาแสดงน้ำใจแห่งการกลับใจไหม? ผู้ปกครองจำเป็นต้องมีการสังเกตเข้าใจเพื่อจะมองเห็นเรื่องนี้. เขาจะได้มาซึ่งการสังเกตเข้าใจเช่นนั้นได้อย่างไร? อัครสาวกเปาโลสัญญากับติโมเธียวว่า “จงใคร่ครวญข้อความซึ่งข้าพเจ้าได้พูดนั้นเถิด, และองค์พระผู้เป็นเจ้าจะทรงประทานความเข้าใจในสิ่งสารพัดให้แก่ท่าน.” (2 ติโมเธียว 2:7) หากผู้ปกครอง “ใคร่ครวญ” อย่างถ่อมใจในถ้อยคำที่ได้รับการดลใจของเปาโลและผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลคนอื่น ๆ แล้ว พวกเขาจะได้ความเข้าใจที่จำเป็นเพื่อจะมีทัศนะอย่างถูกต้องต่อคนเหล่านั้นซึ่งทำบาปในประชาคม. ครั้นแล้ว การตัดสินใจของเขาจะสะท้อนถึงพระดำริของพระยะโฮวา ไม่ใช่ความคิดของตนเอง.—สุภาษิต 11:2; มัดธาย 18:18.
จะทำเช่นนั้นได้อย่างไร? วิธีหนึ่งคือตรวจสอบดูว่า คัมภีร์ไบเบิลพรรณนาถึงคนชั่วไว้อย่างไร และดูว่าคำพรรณนานั้นนำมาใช้ได้กับบุคคลที่ต้องได้รับการพิจารณานั้นหรือไม่.
การยอมรับผิดและการกลับใจ
มนุษย์คู่แรกซึ่งเลือกแนวทางแห่งความชั่วนั้นคืออาดามและฮาวา. ทั้ง ๆ ที่เป็นคนสมบูรณ์และมีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายของพระยะโฮวาอย่างเต็มเปี่ยม เขายังกบฏต่อพระบรมเดชานุภาพของพระเจ้า. เมื่อพระยะโฮวาได้นำการกระทำที่เขาได้ทำไปนั้นมาพิจารณากับเขา ปฏิกิริยาของเขาเป็นที่น่าสังเกต—อาดามโทษฮาวา, และฮาวาโทษงู! (เยเนซิศ 3:12, 13) จงเทียบการกระทำนี้กับความถ่อมใจยิ่งของดาวิด. เมื่อต้องเผชิญกับบาปร้ายแรงของท่าน ท่านยอมรับผิดและอ้อนวอนขอการให้อภัย โดยกล่าวว่า “เราทำผิดเฉพาะพระยะโฮวาแล้ว.”—2 ซามูเอล 12:13; บทเพลงสรรเสริญ 51:4, 9, 10.
ผู้ปกครองสมควรพิจารณาสองตัวอย่างนี้เมื่อจัดการกับกรณีของบาปที่ร้ายแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของผู้ใหญ่. ผู้ที่ทำบาปเป็นเช่นเดียวกับดาวิดที่เมื่อมีการทำให้ท่านสำนึกถึงความผิดของตน แล้วยอมรับความผิดอย่างตรงไปตรงมาและหมายพึ่งพระยะโฮวาอย่างสำนึกผิดเพื่อได้รับความช่วยเหลือและการให้อภัยไหม หรือว่าเขาหาทางที่จะทำให้ความผิดที่เขาได้ทำนั้นลดน้อยลง บางทีโทษคนอื่นไหม? จริงอยู่ บุคคลที่ทำบาปอาจประสงค์จะชี้แจงสิ่งที่ชักนำให้เขาทำ และอาจมีสภาพการณ์แวดล้อมไม่ว่าในอดีตหรือปัจจุบันซึ่งผู้ปกครองอาจจำเป็นต้องคำนึงถึงเมื่อพิจารณาว่าจะช่วยเขาอย่างไร. (เทียบกับโฮเซอา 4:14.) แต่เขาควรยอมรับว่าเขา เป็นคนที่ได้ทำบาป และเขา ต้องรับผิดชอบเฉพาะพระพักตร์พระยะโฮวา. โปรดระลึกว่า “พระยะโฮวาทรงสถิตอยู่ใกล้ผู้ที่มีใจชอกช้ำ และคนที่มีใจสุภาพพระองค์จะทรงช่วยให้รอด.”—บทเพลงสรรเสริญ 34:18.
การทำผิดเป็นอาจิณ
ในพระธรรมเพลงสรรเสริญมีการกล่าวถึงคนชั่วหลายครั้ง. ข้อคัมภีร์ดังกล่าวสามารถช่วยผู้ปกครองให้เข้าใจว่า ที่แท้แล้ว คนนั้นเป็นคนชั่วหรือว่าเป็นคนอ่อนแอ. ตัวอย่างเช่น จงพิจารณาคำอธิษฐานของกษัตริย์ดาวิดที่ได้รับการดลใจที่ว่า “ขอพระองค์อย่าทรงฉุดลากข้าพเจ้าไปด้วยกันกับคนชั่ว, และไปกับคนที่กระทำการอสัตย์อธรรม [ทำสิ่งที่ก่อความเสียหายเป็นอาจิณ, ล.ม.]; ซึ่งเคยพูดคำหวานดีแก่เพื่อนบ้าน, แต่ส่วนในใจเขามีแต่ความชั่วร้าย.” (บทเพลงสรรเสริญ 28:3) จงสังเกตว่า คนชั่วที่ถูกกล่าวถึงนั้นเทียบได้กับ “คนทำสิ่งที่ก่อความเสียหายเป็นอาจิณ.” บุคคลซึ่งทำบาปเนื่องจากความอ่อนแอทางเนื้อหนังคงจะหยุดทันทีที่เขาสำนึกตัว. อย่างไรก็ดี หากคนที่ ‘ทำเป็นอาจิณ’ ในสิ่งที่เลวร้ายจนกระทั่งนั่นกลายเป็นรูปแบบพฤติกรรมในชีวิตของเขา นั่นอาจเป็นหลักฐานของหัวใจที่ชั่ว.
ดาวิดได้กล่าวถึงลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่งของความชั่วในข้อนั้น. เช่นเดียวกับอะนาเนียและสัปไฟเร บุคคลที่ชั่วพูดสิ่งดีด้วยปากของเขา ทว่ามีสิ่งชั่วร้ายอยู่ในหัวใจ. เขาอาจเป็นคนหน้าซื่อใจคด เช่นเดียวกับพวกฟาริซายในสมัยของพระเยซูผู้ซึ่ง ‘ภายนอกปรากฏแก่มนุษย์ว่าเป็นคนชอบธรรม, แต่ภายในเต็มไปด้วยความเท็จเทียมและความชั่ว.’ (มัดธาย 23:28; ลูกา 11:39) พระยะโฮวาทรงเกลียดชังความหน้าซื่อใจคด. (สุภาษิต 6:16-19) หากใครพยายามอย่างหน้าซื่อใจคดที่จะไม่ยอมรับบาปร้ายแรงของเขาแม้แต่ขณะที่พูดกับคณะกรรมการตัดสินความ หรือฝืนใจยอมรับเฉพาะแต่สิ่งที่คนอื่นรู้กันอยู่แล้ว ไม่ยอมสารภาพอย่างหมดเปลือก นี้อาจเป็นหลักฐานของหัวใจที่ชั่วทีเดียว.
การไม่คำนึงถึงพระยะโฮวาอย่างหยิ่งยโส
สิ่งอื่นที่บ่งลักษณะของคนชั่วนั้นมีกล่าวไว้ย่อ ๆ ในเพลงสรรเสริญบท 10. ที่นั่นเราอ่านว่า “คนอนาถาถูกคนชั่วเย่อหยิ่งไล่กวดอย่างดุเดือด; . . . และประมาทหมิ่นพระยะโฮวา.” (บทเพลงสรรเสริญ 10:2, 3) เราต้องมีทัศนะอย่างไรต่อคริสเตียนผู้อุทิศตัวแล้วซึ่งหยิ่งยโสและไม่นับถือพระยะโฮวา? แน่นอน เหล่านี้เป็นเจตคติที่ชั่ว. บุคคลซึ่งทำบาปเนื่องจากความอ่อนแอ เมื่อได้สำนึกถึงบาปของเขาหรือมีการแนะให้เขาเอาใจใส่เรื่องนั้นแล้ว จะกลับใจและพยายามอย่างแข็งขันที่จะเปลี่ยนแนวทางการกระทำของเขา. (2 โกรินโธ 7:10, 11) ตรงกันข้าม ถ้าคนทำบาปเนื่องจากความไม่นับถืออย่างแท้จริงต่อพระยะโฮวา อะไรจะหยุดยั้งเขาไว้จากการกลับไปสู่แนวทางที่ผิดบาปของเขาอีกครั้งแล้วครั้งเล่า? หากเขาเป็นคนหยิ่งยโสทั้ง ๆ ที่ได้รับการแนะนำด้วยน้ำใจอ่อนโยนแล้ว เขาจะมีความถ่อมใจได้อย่างไร ซึ่งจำเป็นต้องมีในการกลับใจด้วยน้ำใสใจจริงและอย่างแท้จริง?
บัดนี้จงพิจารณาถ้อยคำของดาวิดต่อไปอีกเล็กน้อยในเพลงสรรเสริญบทเดียวกัน: “เหตุไรคนชั่วจึงได้ประมาทหมิ่นพระเจ้า, นึกในใจของตนว่า, พระองค์จะไม่ทรงไต่สวน?” (บทเพลงสรรเสริญ 10:13) ในสภาพแวดล้อมของประชาคมคริสเตียน คนชั่วทราบความแตกต่างระหว่างสิ่งที่ถูกกับสิ่งที่ผิด แต่เขาไม่ลังเลที่จะทำผิดหากเขาคิดว่าจะรอดตัวไปได้โดยไม่ถูกลงโทษ. ตราบใดที่ไม่กลัวว่าจะถูกเปิดโปง เขาปล่อยตามอำเภอใจเต็มที่ให้กับแนวโน้มที่ผิดบาปของเขา. ต่างจากดาวิด ถ้าบาปของเขาถูกเปิดเผย เขาจะออกอุบายเพื่อหลบเลี่ยงการตีสอน. คนเช่นนั้นไม่เคารพพระยะโฮวาทีเดียว. “ความยำเกรงพระเจ้าไม่มีในแววตาของเขาเลย. . . . การชั่วร้ายเขาไม่เกลียดชังเลย.”—บทเพลงสรรเสริญ 36:1, 4.
การทำความเสียหายแก่คนอื่น
ตามปกติ มีมากกว่าหนึ่งคนที่ได้รับผลกระทบจากบาป. เพื่อเป็นตัวอย่าง คนที่เล่นชู้ทำบาปต่อพระเจ้า เขาทำให้ภรรยาและลูก ๆ รับผลเสีย หากผู้ที่ร่วมกับเขาในบาปนั้นสมรสแล้ว เขาทำให้ครอบครัวของเธอรับผลร้าย และทำให้ชื่อเสียงที่ดีของประชาคมมีด่างพร้อย. เขามีทัศนะอย่างไรต่อเรื่องนั้นทั้งหมด? เขาแสดงความโศกเศร้าด้วยน้ำใสใจจริงพร้อมกับการกลับใจอย่างแท้จริงไหม? หรือว่าเขาแสดงน้ำใจดังที่พรรณนาไว้ในบทเพลงสรรเสริญ 94 ที่ว่า “คนทั้งปวงที่กระทำการอสัตย์อธรรมก็อวดตัว, ข้าแต่พระยะโฮวา, เขาย่ำยีพลไพร่ของพระองค์, และเบียดเบียนพวกที่เป็นมรดกของพระองค์. เขาฆ่าหญิงม่ายและแขกบ้าน, ทั้งประหารชีวิตของเด็กกำพร้า. เขาพูดกันว่าพระยะโฮวาจะไม่ทอดพระเนตร, และพระเจ้าของพวกยาโคบจะไม่ทรงพิจารณาดู”?—บทเพลงสรรเสริญ 94:4-7.
อาจเป็นไปได้ บาปซึ่งผู้ปกครองในประชาคมต้องจัดการจะไม่เกี่ยวข้องกับฆาตกรรมและการฆ่าคน. ถึงกระนั้น น้ำใจ ที่แสดงออก ณ ที่นี้ น้ำใจของการพร้อมจะทำร้ายคนอื่นเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวอาจปรากฏชัดขณะที่ผู้ปกครองสอบสวนการกระทำผิด. นี่เป็นความจองหอง เครื่องหมายของคนชั่วด้วยเช่นกัน. (สุภาษิต 21:4) นั่นตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับน้ำใจของคริสเตียนแท้ ผู้ซึ่งเต็มใจจะเสียสละตัวเองเพื่อพี่น้อง.—โยฮัน 15:12, 13.
การนำเอาหลักการของพระเจ้ามาใช้
แนวชี้นำไม่กี่อย่างเหล่านี้มิได้มุ่งหมายจะให้เป็นกฎเกณฑ์. อย่างไรก็ดี แนวชี้นำเหล่านี้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับบางสิ่งที่พระยะโฮวาทรงถือว่าชั่วอย่างแท้จริง. มีการปฏิเสธที่จะยอมรับผิดสำหรับความผิดที่ได้ทำลงไปนั้นไหม? คนที่ทำบาปเพิกเฉยอย่างไร้ยางอายต่อคำแนะนำที่เคยให้มาก่อนแล้วเกี่ยวกับเรื่องเดียวกันนี้ไหม? มีการทำผิดร้ายแรงเป็นอาจิณอย่างฝังรากลึกไหม? ผู้กระทำผิดแสดงความไม่นับถืออย่างโจ่งแจ้งต่อกฎหมายของพระยะโฮวาไหม? เขาได้ใช้ความพยายามอย่างมีเล่ห์เหลี่ยมเพื่อปกปิดความผิดนั้น บางทีทำให้คนอื่นเสื่อมเสียในเวลาเดียวกันไหม? (ยูดา 4) ความพยายามดังกล่าวมีแต่จะเพิ่มทวียิ่งขึ้นเมื่อความผิดปรากฏออกมาไหม? ผู้กระทำผิดแสดงการไม่สนใจไยดีเลยต่อความเสียหายที่เขาได้ก่อขึ้นกับคนอื่นและกับพระนามของพระยะโฮวาไหม? เจตคติของเขาล่ะเป็นอย่างไร? หลังจากมีการให้คำแนะนำตามหลักพระคัมภีร์อย่างกรุณาแล้ว เขาเป็นคนหยิ่งยโสหรือจองหองไหม? เขาขาดความปรารถนาด้วยน้ำใสใจจริงที่จะหลีกเลี่ยงการทำผิดซ้ำไหม? ถ้าผู้ปกครองสังเกตออกในเรื่องดังกล่าว ซึ่งแสดงอย่างชัดแจ้งถึงการขาดการกลับใจ พวกเขาอาจลงความเห็นว่า บาปที่ทำลงไปนั้นบ่งชี้ถึงความชั่วแทนที่จะเป็นเพียงความอ่อนแอของเนื้อหนัง.
แม้แต่เมื่อจัดการกับบุคคลซึ่งดูเหมือนมีแนวโน้มที่ชั่วก็ตาม ผู้ปกครองไม่หยุดในการตักเตือนเขาให้ติดตามความชอบธรรม. (เฮ็บราย 3:12) บุคคลที่ชั่วอาจกลับใจและเปลี่ยนแปลง. หากไม่เป็นจริงเช่นนั้น ทำไมพระยะโฮวาทรงกระตุ้นชนยิศราเอลว่า “ให้คนชั่วละทิ้งความประพฤติของตน, และคนอธรรมละทิ้งความคิดของตน, และให้เขากลับมาหาพระยะโฮวา, เพื่อพระองค์จะได้ทรงเมตตาแก่เขา, และให้เขากลับมาหาพระเจ้า, เพราะพระองค์จะทรงให้อภัยแก่เขาที่ทำบาปทั้งปวง”? (ยะซายา 55:7) บางที ระหว่างการพิจารณาตัดสินความ ผู้ปกครองจะสังเกตออกถึงการเปลี่ยนแปลงที่ชัดแจ้งในสภาพหัวใจของเขาดังที่สะท้อนให้เห็นในอากัปกิริยาและเจตคติที่กลับใจ.
แม้แต่ในคราวการตัดสัมพันธ์ใครคนหนึ่ง ผู้ปกครองฐานะผู้บำรุงเลี้ยงจะกระตุ้นเขาให้กลับใจและพยายามกลับคืนสู่ความโปรดปรานของพระยะโฮวา. ขอระลึกถึง “คนชั่ว” ในเมืองโกรินโธ. ปรากฏชัดว่าเขาได้เปลี่ยนแนวทางของเขา และภายหลังเปาโลได้แนะนำให้รับเขากลับสู่ฐานะเดิม. (2 โกรินโธ 2:7, 8) จงพิจารณาดูกษัตริย์มะนาเซด้วย. ท่านเป็นคนชั่วช้าจริง ๆ แต่เมื่อท่านได้กลับใจในที่สุด พระยะโฮวาทรงยอมรับการกลับใจของท่าน.—2 กษัตริย์ 21:10-16; 2 โครนิกา 33:9, 13, 19.
จริงอยู่ มีบาปซึ่งจะให้อภัยไม่ได้คือบาปต่อพระวิญญาณบริสุทธิ์. (เฮ็บราย 10:26, 27) พระยะโฮวาเท่านั้นทรงตัดสินว่าใครได้ทำบาปแบบนั้น. มนุษย์ไม่มีอำนาจจะทำเช่นนั้น. ความรับผิดชอบของผู้ปกครองคือรักษาประชาคมให้สะอาดและช่วยทำให้ผู้กระทำผิดที่กลับใจนั้นคืนสู่สภาพเดิม. หากเขาทำเช่นนั้นด้วยความสังเกตเข้าใจและความถ่อมใจ โดยให้การตัดสินของเขาสะท้อนสติปัญญาของพระยะโฮวา เมื่อนั้นแหละ พระยะโฮวาจะอวยพระพรการบำรุงเลี้ยงของเขาในด้านนี้.
[เชิงอรรถ]
a สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดดูหอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 มกราคม 1982, หน้า 27-29; การหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ), เล่ม 2, หน้า 772-774.
[รูปภาพหน้า 29]
อะนาเนียและสัปไฟเรมุสาต่อพระวิญญาณบริสุทธิ์อย่างหน้าซื่อใจคด เผยให้เห็นหัวใจชั่ว และเสียชีวิตเนื่องจากการทำเช่นนั้น