“จากปากเด็กอ่อน”
เมื่อซามูเอลเป็นเด็ก ท่านยึดมั่นกับหลักการอันถูกต้องแม้ว่าบุตรของมหาปุโรหิตเอลีทำความชั่วก็ตาม. (1 ซามูเอล 2:22; 3:1) ในสมัยอะลีซา เด็กหญิงชาวยิศราเอลซึ่งเป็นเชลยในซีเรียได้ให้คำพยานแก่นายหญิงของเธออย่างกล้าหาญ. (2 กษัตริย์ 5:2-4) เมื่อพระเยซูมีพระชนมายุ 12 พรรษา พระองค์ตรัสอย่างกล้าหาญกับพวกอาจารย์แห่งยิศราเอล ถามคำถามและให้คำตอบซึ่งทำให้ผู้เฝ้ามองประหลาดใจ. (ลูกา 2:46-48) ตลอดประวัติศาสตร์ พระยะโฮวาได้รับการรับใช้ด้วยความซื่อสัตย์จากผู้นมัสการวัยเยาว์ของพระองค์.
เยาวชนในสมัยนี้แสดงน้ำใจสัตย์ซื่อเช่นเดียวกันนั้นไหม? แน่นอน! รายงานต่าง ๆ จากสำนักงานสาขาต่าง ๆ ของสมาคมว็อชเทาเวอร์แสดงให้เห็นว่า คนหนุ่มสาวมากมายซึ่งมีความเชื่อ “เสนอตัวด้วยความเต็มใจ” ในงานรับใช้พระยะโฮวา. (บทเพลงสรรเสริญ 110:3, ล.ม.) ผลอันดีเยี่ยมจากความพยายามของพวกเขาหนุนใจคริสเตียนทั้งปวง ทั้งเยาว์วัยและมีอายุ ‘ไม่ให้เลื่อยล้าในการกระทำดี.’—ฆะลาเตีย 6:9.
ตัวอย่างหนึ่งที่ดีได้แก่อายูมิ เด็กหญิงเล็ก ๆ ชาวญี่ปุ่นซึ่งเริ่มเป็นผู้ประกาศเมื่อเธออายุหกขวบและได้ตั้งเป้าจะให้คำพยานแก่ทุกคนในชั้นเรียน. เธอได้รับอนุญาตให้จัดวางหนังสือหลายเล่มไว้ในห้องสมุดของชั้นเรียน เตรียมตัวตอบคำถามที่เพื่อนร่วมชั้นอาจถาม. เพื่อนนักเรียนของเธอเกือบทุกคนรวมทั้งคุณครูด้วยต่างก็ได้รู้จักหนังสือเหล่านั้นเป็นอย่างดี. ระหว่างหกปีที่เรียนชั้นประถมศึกษา อายูมิ ได้จัดให้มีการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล 13 ราย. เธอได้รับบัพติสมาขณะเรียนชั้นประถมปีที่สี่ และเพื่อนคนหนึ่งที่เธอศึกษาด้วยก็รับบัพติสมาเมื่อเรียนชั้นประถมปีที่หก. ยิ่งกว่านั้น คุณแม่กับพี่สาวสองคนของนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลคนนี้ก็ศึกษาและได้รับบัพติสมาด้วยเช่นกัน.
การประพฤติที่ดีให้คำพยาน
อัครสาวกเปโตรกล่าวว่า “จงรักษาความประพฤติของท่านให้ดีงามท่ามกลางนานาชาติ” และคริสเตียนหนุ่มสาวทั้งหลายต่างทำตามคำสั่งนี้อย่างจริงจัง. (1 เปโตร 2:12, ล.ม.) ผลก็คือ บ่อยครั้ง ความประพฤติอันดีงามของพวกเขาให้คำพยานที่ดี. ในประเทศแคเมอรูนในแอฟริกา ชายคนหนึ่งมายังการประชุมประจำประชาคมของพยานพระยะโฮวาเป็นครั้งที่สองและบังเอิญนั่งข้างเด็กหญิงคนหนึ่ง. เมื่อผู้บรรยายเชิญผู้ฟังให้เปิดดูข้อความในคัมภีร์ไบเบิล ชายคนนี้สังเกตเห็นว่า เด็กหญิงเล็ก ๆ คนนี้หาพบข้อนั้นในคัมภีร์ไบเบิลของเธออย่างรวดเร็วและติดตามการอ่านอย่างเอาใจใส่. ท่าทีของเธอทำให้เขาประทับใจมากถึงขนาดที่พอการประชุมเลิก เขาเข้าไปหาผู้บรรยายและบอกว่า “เด็กหญิงคนนี้ทำให้ผมอยากศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับคุณ.”
ในแอฟริกาใต้มีโรงเรียนหนึ่งซึ่งมีนักเรียน 25 คนเป็นบุตรของพยานพระยะโฮวา. ความประพฤติอันดีของพวกเขายังผลให้พยานพระยะโฮวามีชื่อเสียงดี. ครูคนหนึ่งเปิดเผยกับบิดาที่เป็นพยานฯว่า เธอไม่เข้าใจว่าพวกพยานฯจัดการอบรมบุตรของพวกเขาเป็นอย่างดีเช่นนั้นอย่างไร โดยเฉพาะเนื่องจากคริสตจักรที่เธอเข้าร่วมได้พิสูจน์ให้เห็นว่าไม่สามารถช่วยคนหนุ่มสาวได้. ครูใหม่คนหนึ่งได้มาช่วยสอนในโรงเรียนนี้และสังเกตเห็นความประพฤติอันดีงามของเด็ก ๆ พยานฯในทันที. เธอถามเด็กชายที่เป็นพยานฯว่าเธอต้องทำอะไรเพื่อมาเป็นพยานพระยะโฮวา. เขาชี้แจงว่าเธอควรศึกษาคัมภีร์ไบเบิล และเขาได้จัดการให้คุณพ่อคุณแม่ของเขาติดตามผู้สนใจคนนี้.
ในคอสตาริกา ริโกเบอร์โตยอมรับเสียงเรียกแห่งความจริงเมื่อเพื่อนนักเรียนสองคนใช้คัมภีร์ไบเบิลตอบคำถามของเขาในเรื่องตรีเอกานุภาพ, จิตวิญญาณ, และไฟนรก. สิ่งที่พวกเขาบอกนั้นมีผลกระทบอย่างแท้จริงต่อเขา ไม่ใช่เพียงเพราะพวกเขาสามารถใช้ข้อพระคัมภีร์ต่าง ๆ เท่านั้น แต่เพราะความประพฤติอันดีเยี่ยมของพวกเขาแตกต่างจากสิ่งที่เขาได้รู้เห็นในโบสถ์ต่าง ๆ ของคริสต์ศาสนจักรเป็นอย่างมากด้วย. ทั้ง ๆ ที่ครอบครัวต่อต้าน ริโกเบอร์โตก้าวหน้าอย่างดีในการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล.
ในสเปน พยานของพระยะโฮวาสองคน คนหนึ่งอายุเก้าขวบ ได้เยี่ยมชายคนหนึ่งชื่อโอโนเฟร. ในขณะที่พยานฯที่เป็นผู้ใหญ่เป็นฝ่ายพูดคุยเป็นส่วนใหญ่ พยานฯวัยเยาว์ก็อ่านข้อพระคัมภีร์ซึ่งพยานฯที่เป็นผู้ใหญ่อ่านนั้นตามไปด้วยและยกข้อพระคัมภีร์บางข้อมากล่าวจากความจำ. โอโนเฟรรู้สึกประทับใจ. เขาตัดสินใจว่าเขาต้องการจะศึกษาคัมภีร์ไบเบิลในที่เดียวกับที่เด็กชายคนนั้นได้เรียนรู้การใช้คัมภีร์ไบเบิลเป็นอย่างดี. ดังนั้น เช้าวันอาทิตย์ถัดมา เขาไปที่หอประชุม. เขาต้องรออยู่ข้างนอกจนกระทั่งบ่าย ๆ เมื่อพยานฯมาประชุม. ตั้งแต่นั้นมา เขาก็ก้าวหน้าเป็นอย่างดีและได้รับบัพติสมาเป็นเครื่องหมายแห่งการอุทิศตัวเมื่อไม่นานมานี้เอง.
พยานฯ วัยเยาว์ที่มีประสิทธิภาพ
ใช่แล้ว พระยะโฮวาทรงใช้เยาวชนรวมทั้งผู้ใหญ่ให้ไปถึงคนที่หัวใจถ่อม. เรื่องเช่นนี้เห็นได้อีกในประสบการณ์จากฮังการี. ที่นั่น พยาบาลคนหนึ่งสังเกตว่า เมื่อไรก็ตามที่มีคนมาเยี่ยมผู้ป่วยวัยสิบขวบคนหนึ่ง พวกเขาจะนำหนังสือมาพร้อมกับอาหาร. ด้วยความสนใจ เธออยากรู้ว่าเด็กหญิงนั้นสนใจอ่านอะไรและก็ได้พบว่านั่นคือคัมภีร์ไบเบิล. พยาบาลคนนี้คุยกับเธอและต่อมากล่าวว่า “ตั้งแต่แรกทีเดียว เธอสอนดิฉันจริง ๆ.” เมื่อเด็กหญิงออกจากโรงพยาบาล เธอเชิญพยาบาลคนนี้ให้เข้าร่วมการประชุมภาค แต่พยาบาลคนนี้ปฏิเสธ. กระนั้น ต่อมาเธอตกลงใจจะเข้าร่วมการประชุมภาค “ภาษาบริสุทธิ์.” ไม่นานหลังจากนั้น เธอเริ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิล และหนึ่งปีต่อมา เธอได้รับบัพติสมา ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นผลเนื่องจากการที่เด็กหญิงเล็ก ๆ ใช้เวลาที่อยู่ในโรงพยาบาลอ่านหนังสืออธิบายคัมภีร์ไบเบิล.
อานา รูท ในเอลซัลวาดอร์ เรียนชั้นมัธยมปลายปีที่สอง. เธอทำเป็นนิสัยที่จะละหนังสืออธิบายคัมภีร์ไบเบิลไว้บนโต๊ะเรียนเพื่อให้คนอื่นได้อ่านถ้าเขาต้องการ. เมื่อสังเกตว่าหนังสือนั้นหายไปแล้วไม่นานก็กลับมาอยู่ที่เดิมอีก อานา รูท จึงพบว่าเพื่อนนักเรียนคนหนึ่งชื่อเอเวลีนอ่านหนังสือนั้นอยู่. หลังจากนั้นไม่นาน เอเวลีนก็ยอมรับการศึกษาและเริ่มเข้าร่วมการประชุมประจำประชาคม. ในที่สุดเธอก็รับบัพติสมา และเดี๋ยวนี้ เธอรับใช้เป็นไพโอเนียร์สมทบเป็นประจำ. อานา รูท เป็นไพโอเนียร์ประจำ.
พี่น้องหญิงคนหนึ่งในปานามาศึกษากับสตรีคนหนึ่งซึ่งสามีเธอเริ่มต่อต้านความจริงถึงขนาดที่การศึกษานั้นเกือบจะเลิกไป. อย่างไรก็ตาม เจตคติของสามีเธอค่อย ๆ อ่อนลง. ต่อมาไม่นาน พี่ชายของเขาซึ่งเป็นพยานฯได้ขอให้เขาไปติดตั้งสัญญาณกันขโมยที่บ้าน. ขณะที่เขากำลังติดตั้งสัญญาณอยู่นั้น หลานสาววัยเก้าขวบกลับมาบ้านด้วยความเสียใจมาก. เขาถามเธอว่ามีอะไรผิดปกติหรือ และเธอบอกว่า เธอกับพี่สาวออกไปเพื่อนำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลแต่คนนั้นไม่อยู่บ้าน ดังนั้น เธอจึงไม่อาจทำอะไรเพื่อพระยะโฮวาได้ในวันนั้น. คุณอาของเธอจึงบอกว่า “ทำไมไม่สอนอาล่ะ? แล้วหลานจะได้ทำอะไรสักอย่างเพื่อพระยะโฮวา.” หลานสาวของเขาวิ่งไปเอาคัมภีร์ไบเบิลด้วยความดีใจ และการศึกษาก็เริ่มขึ้น.
คุณแม่ของเด็กหญิง (พี่สะใภ้ของชายคนนี้) ก็ฟังอยู่ด้วย. เธอคิดว่าทั้งหมดนั้นคงเป็นเรื่องทำกันเล่น ๆ เท่านั้น แต่ทุกครั้งที่เขามาที่บ้านเธอ เขาขอให้หลานสาวศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับเขา. เมื่อคุณแม่ของเด็กหญิงเห็นว่าน้องชายสามีเอาจริงเอาจังและมีคำถามยาก ๆ บางข้อ เธอจึงตัดสินใจนำการศึกษาเองโดยมีลูกสาวอยู่ด้วย. เขาเริ่มศึกษาสัปดาห์ละสองครั้งและก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว. ในที่สุด เขาบรรลุถึงขั้นการอุทิศตัวและได้รับบัพติสมาในการประชุมใหญ่คราวเดียวกับที่ภรรยาของเขารับบัพติสมา ทั้งหมดนั้นก็เพราะเจตคติอันดีของหลานสาวเล็ก ๆ ของเขา.
ความกล้าหาญของเยาวชนให้คำพยานอันดี
คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “จงตั้งข้อให้แข็งและทำใจไว้ให้กล้าหาญ; จงคอยท่าพระยะโฮวาเถิด.” (บทเพลงสรรเสริญ 27:14) ถ้อยคำนี้ใช้ได้กับผู้รับใช้ทั้งปวงของพระเจ้า และเยาวชนรวมทั้งผู้ใหญ่ต่างปฏิบัติตามถ้อยคำนี้ในระหว่างปีที่ผ่านมา. ในออสเตรเลีย เมื่อเด็กหญิงวัยห้าขวบเริ่มเข้าโรงเรียนใหม่ คุณแม่ของเธอไปหาครูเพื่ออธิบายถึงความเชื่อของพยานพระยะโฮวา. ครูกล่าวว่า “ดิฉันรู้แล้วค่ะว่าคุณเชื่ออะไร. ลูกสาวของคุณอธิบายให้ดิฉันฟังหมดแล้วค่ะ.” เด็กหญิงคนนี้ไม่ได้ขี้อายเกินกว่าจะเข้าพบคุณครูของเธอด้วยตัวเองเพื่ออธิบายความเชื่อทางศาสนาของเธอ.
อันเดรอาวัยห้าขวบในโรมาเนียก็แสดงความกล้าเช่นกัน. เมื่อคุณแม่ของเธอออกจากศาสนาออร์โทด็อกซ์เพื่อมาเป็นพยานฯเพื่อนบ้านของเธอไม่ยอมฟังเธอ. วันหนึ่งในการศึกษาหนังสือประจำประชาคม อันเดรอาได้ยินผู้ดูแลการรับใช้เน้นความจำเป็นจะต้องประกาศกับเพื่อนบ้าน. เธอคิดอย่างจริงจังในเรื่องนี้ และเมื่อกลับบ้าน เธอพูดกับมารดาว่า “คุณแม่คะ หลังจากคุณแม่ออกไปทำงาน หนูจะตื่นนอน จัดหนังสือใส่กระเป๋าเหมือนที่คุณแม่ทำ และหนูจะอธิษฐานขอพระยะโฮวาช่วยหนูให้พูดคุยเรื่องความจริงกับเพื่อนบ้าน.”
วันต่อมาอันเดรอาก็ทำอย่างที่เธอสัญญา. ครั้นเมื่อรวบรวมความกล้าขึ้นแล้ว เธอกดกริ่งประตูเพื่อนบ้านคนหนึ่ง. เมื่อเพื่อนบ้านคนนั้นมาเปิดประตู เด็กหญิงเล็ก ๆ คนนี้บอกว่า “หนูรู้ว่าเพราะคุณแม่หนูมาเป็นพยานฯ คุณจึงไม่ชอบคุณแม่. คุณแม่พยายามพูดกับคุณหลายครั้ง แต่คุณไม่อยากพูดกับคุณแม่. ทำให้คุณแม่รู้สึกไม่สบายใจ แต่หนูอยากบอกให้คุณรู้ว่าเรารักคุณ.” แล้วอันเดรอาก็ให้คำพยานอย่างดีต่อไป. ในวันเดียว เธอจำหน่ายหนังสือหกเล่ม, วารสารหกเล่ม, หนังสือเล่มเล็กสี่เล่ม, และแผ่นพับสี่ใบ. นับแต่นั้น เธอออกไปประกาศเป็นประจำ.
พี่น้องของเราในรวันดาจำต้องแสดงความกล้าหาญอย่างมากเมื่อคำนึงถึงการสู้รบที่นั่น. ครั้งหนึ่ง ครอบครัวพยานฯ ครอบครัวหนึ่งถูกนำตัวไปไว้ในห้องซึ่งพวกทหารเตรียมจะฆ่าพวกเขา. ครอบครัวนี้ขออนุญาตอธิษฐานก่อน. พวกเขาได้รับอนุญาต และทุกคนอธิษฐานเงียบ ๆ เว้นแต่บุตรสาววัยหกขวบชื่อเดบอรา. ตามที่ได้รับรายงานเธออธิษฐานออกเสียงดังว่า “พระยะโฮวา สัปดาห์นี้คุณพ่อกับหนูได้จำหน่ายวารสารห้าเล่ม. เราจะกลับไปสอนคนเหล่านั้นให้รู้ความจริงและช่วยเขารับชีวิตได้อย่างไร? นอกจากนั้น หนูจะเป็นผู้ประกาศได้อย่างไร? หนูต้องการรับบัพติสมาเพื่อจะรับใช้พระองค์.” เมื่อได้ยินเช่นนั้น ทหารคนหนึ่งบอกว่า “เราไม่อาจฆ่าพวกคุณได้เพราะเด็กหญิงเล็ก ๆ คนนี้.” เดบอราตอบว่า “ขอบคุณค่ะ.” ครอบครัวนี้ได้รับการไว้ชีวิต.
เมื่อพระเยซูเสด็จเข้าสู่กรุงยะรูซาเลมอย่างมีชัยในตอนที่พระองค์ใกล้จะจบชีวิตทางแผ่นดินโลก พระองค์ได้รับการต้อนรับจากฝูงชนมากมายที่โห่ร้องอวยชัย. ฝูงชนนั้นประกอบด้วยพวกเด็ก ๆ รวมทั้งพวกผู้ใหญ่ด้วย. ดังบันทึก พวกเด็กชาย “ร้องในโบสถ์ว่า, ‘ให้ราชโอรสแห่งดาวิดทรงสำราญเถิด.’” เมื่อปุโรหิตใหญ่กับพวกอาลักษณ์คัดค้าน พระเยซูตรัสตอบว่า, “พวกท่านยังไม่เคยอ่านหรือว่า, เสียงที่ออกจากปากเด็กอ่อนและทารกนั้นก็เป็นคำสรรเสริญอันจริงแท้?”—มัดธาย 21:15, 16.
เป็นสิ่งน่าตื่นเต้นมิใช่หรือที่เห็นว่า คำตรัสของพระเยซูเป็นความจริงแม้แต่ในทุกวันนี้? “จากปากเด็กอ่อนและทารก”—และเราอาจเสริมอีก คือจากพวกวัยรุ่นและหนุ่มสาวชายหญิง—พระยะโฮวาทรงได้รับคำสรรเสริญ. แท้จริง ไม่มีใครที่เยาว์วัยเกินไปในเรื่องการสรรเสริญพระยะโฮวา.—โยเอล 2:28, 29.