วิธีที่คริสเตียนรับมือกับการติเตียนจากคนทั่วไป
คุณรู้สึกอย่างไรเมื่อมีใครตำหนิคุณหรือแพร่คำโกหกเกี่ยวกับคุณ? โดยธรรมชาติแล้ว คุณรู้สึกโกรธมาก. พยานพระยะโฮวาประสบความรู้สึกที่คล้ายคลึงกันเมื่อไรก็ตามที่พวกเขากลายเป็นเป้าของข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและบิดเบือนความจริงในสื่อมวลชน. แต่ดังที่พระเยซูตรัสไว้ในมัดธาย 5:11, 12 พวกเขายังคงมีเหตุผลที่จะชื่นชมยินดี.
ตัวอย่างเช่น หนังสือเล่มหนึ่งของคาทอลิกในเยอรมนีอ้างว่า “พยานฯแต่ละคนมีหน้าที่ต้องบริจาคระหว่าง 17 ถึง 28 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ให้กับสำนักงานใหญ่ของนิกาย.” อย่างไรก็ตาม พยานพระยะโฮวาไม่เป็นนิกาย และงานของพวกเขาได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงินทั้งสิ้นโดยการบริจาคด้วยความสมัครใจ. ข้อมูลเท็จนี้ทำให้ผู้อ่านหลายคนเข้าใจผิด ซึ่งพยานพระยะโฮวาก็รู้สึกเสียใจ. แต่คริสเตียนแท้ควรมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อการติเตียนของสื่อมวลชน?
ตัวอย่างที่คริสเตียนพึงติดตาม
มัดธายบท 23 พรรณนาอย่างแจ่มแจ้งถึงวิธีที่พระเยซูประณามพวกต่อต้านศาสนาเนื่องจากความหน้าซื่อใจคดและการหลอกลวงของพวกเขา. เรื่องนี้เป็นแบบอย่างสำหรับคริสเตียนทุกวันนี้ไหมเกี่ยวกับวิธีที่จะรับมือกับพวกวิพากษ์วิจารณ์? คงจะไม่. พระบุตรของพระเจ้าประณามพวกต่อต้านทางศาสนาเนื่องจากอำนาจและความหยั่งเห็นเข้าใจอันหาที่เปรียบไม่ได้ที่พระองค์มี การทำเช่นนั้นก็เพื่อผลประโยชน์ของฝูงชนที่กำลังฟังอยู่.
มัดธาย 15:1-11 บรรยายว่า พระเยซูถูกวิพากษ์วิจารณ์เพราะมีการพูดถึงสาวกของพระองค์ว่าละเมิดประเพณีของชาวยิว. พระเยซูมีปฏิกิริยาอย่างไร? พระองค์ยืนหยัดมั่นคง. บางโอกาส พระเยซูโต้แย้งกับพวกวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา หักล้างทัศนะผิด ๆ ของพวกเขา. กล่าวโดยทั่วไปแล้ว ไม่ผิดที่คริสเตียนทุกวันนี้พยายามแก้ข่าวที่บิดเบือนเกี่ยวกับงานหรือหลักคำสอนต่าง ๆ ของพวกเขา โดยพยายามแก้ไขสถานการณ์ในวิธีที่อาศัยข้อเท็จจริงและมีเหตุมีผล. พวกเขาทำเช่นนี้เพื่อช่วยผู้คนที่จริงใจให้ตระหนักว่า การวิพากษ์วิจารณ์พยานพระยะโฮวานั้นไม่มีเหตุผลและเป็นการทำลายชื่อเสียง.
แต่จงสังเกตดูวิธีที่พระเยซูโต้ตอบไม่นานหลังจากนั้นเมื่อสาวกของพระองค์ทูลถามว่า “พระองค์ทรงทราบแล้วหรือว่า, เมื่อพวกฟาริซายได้ยินคำนั้นเขาก็หมางใจ?” พวกฟาริซายเหล่านี้ได้ “หมางใจ”—พวกเขาไม่เพียงแต่อารมณ์เสีย แต่ได้กลายมาเป็นปรปักษ์ที่หมดหนทางแก้ไขซึ่งพระเยซูได้ปฏิเสธ. ดังนั้นพระองค์จึงตรัสตอบว่า “ช่างเขาเถิด เขาเป็นคนตาบอดจูงคนตาบอด.” การถกเถียงกันต่อไปกับปฏิปักษ์ที่มีเจตนาร้ายเช่นนั้นไม่เป็นผลประโยชน์กับฝ่ายใด และเพียงแต่จะนำไปสู่การโต้แย้งที่ไร้ผลเท่านั้น. (มัดธาย 7:6; 15:12-14; เทียบกับ 27:11-14.) คำตอบที่พระเยซูให้แสดงว่ามี “วาระสำหรับอมพะนำ, และวาระสำหรับเจรจา.”—ท่านผู้ประกาศ 3:7.
พยานพระยะโฮวาไม่ได้คาดหมายทุกคนให้พูดเข้าข้างเขา. พวกเขาจำคำตรัสของพระเยซูไว้ที่ว่า “วิบัติแก่เจ้าทั้งหลายเมื่อคนทั้งหลายจะยอว่าเจ้าดี. เพราะว่าบรรพบุรุษของเขาได้ทำอย่างนั้นแก่ผู้พยากรณ์เท็จเหมือนกัน.” (ลูกา 6:26) ซี. ที. รัสเซลล์ นายกคนแรกของสมาคมว็อชเทาเวอร์ ครั้งหนึ่งเคยถูกถามถึงสาเหตุที่เขาไม่แก้ตัวเมื่อถูกกล่าวร้าย. เขาตอบว่า “ถ้าคุณหยุดเตะสุนัขทุกตัวที่เห่าคุณ คุณจะไปไม่ถึงไหนเลย.”
ดังนั้น เราไม่ควรให้คำวิพากษ์วิจารณ์โดยผู้ที่จงใจต่อต้านนั้นทำให้เราเขวไปจากงานรับใช้พระเจ้า. (บทเพลงสรรเสริญ 119:69) ให้เราจดจ่ออยู่กับงานของคริสเตียนแท้ นั่นคือ การเผยแพร่. ผลสืบเนื่องโดยทั่วไปก็คือ เราจะมีโอกาสตอบคำถามต่าง ๆ และอธิบายเนื้อหาสาระของงานที่เราทำว่า เป็นการส่งเสริมศีลธรรมของผู้คนและสอนเขาในพระคำของพระเจ้า.—มัดธาย 24:14; 28:19, 20.
ควรโต้ตอบการวิพากษ์วิจารณ์ไหม?
พระเยซูตรัสกับสาวกของพระองค์ว่า “ท่านมิได้อยู่ฝ่ายโลก . . . เหตุฉะนั้นโลกจึงชังท่าน.” (โยฮัน 15:19) รายงานข่าวต่าง ๆ จากหนังสือพิมพ์ที่ทับถมพยานพระยะโฮวาด้วยการติเตียนนั้นเป็นการแสดงออกถึงความเกลียดชังนี้ และไม่ควรสนใจรายงานข่าวดังกล่าว. อย่างไรก็ตาม บางครั้งบางคราวสื่อมวลชนอาจเสนอข้อมูลที่แสดงถึงการขาดความรู้เกี่ยวกับพยานฯหรือบิดเบือนและตีความข้อเท็จจริงบางข้ออย่างผิด ๆ. นักหนังสือพิมพ์บางคนอาจได้รับข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ที่มีอคติ. เราจะเพิกเฉยต่อข้อมูลเท็จ จากสื่อมวลชนหรือจะปกป้องความจริงโดยวิธีที่เหมาะสมหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับสภาพการณ์, ผู้ปลุกปั่นให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์, และเป้าหมายของเขา.
บางครั้งข้อเท็จจริงต่าง ๆ อาจได้รับการแก้ไขโดยจดหมายที่เขียนถึงบรรณาธิการอย่างเหมาะสม หากมีการตีพิมพ์จดหมายทั้งฉบับ. แต่จดหมายดังกล่าวอาจบรรลุผลตรงข้ามทีเดียวในสิ่งที่มุ่งหมายไว้. โดยวิธีใด? สิ่งไม่จริงแต่แรกเริ่มอาจได้รับการกระจายให้รู้กันมากยิ่งขึ้นโดยวิธีนี้ หรืออาจเป็นการเปิดโอกาสให้ใส่คำโกหกหรือคำพูดใส่ร้ายป้ายสีของผู้ต่อต้านลงในสิ่งพิมพ์อีก. ในกรณีส่วนใหญ่ เป็นการสุขุมที่ละปัญหาที่ว่าจะเขียนจดหมายถึงบรรณาธิการหรือไม่นั้นให้กับผู้ปกครองที่เกี่ยวข้อง. ถ้ารายงานข่าวในแง่ลบก่อให้เกิดอคติ สำนักงานสาขาของสมาคมว็อชเทาเวอร์ สามารถชี้แจงข้อเท็จจริงให้กับประชาคมต่าง ๆ ทราบ ด้วยวิธีนี้ ทำให้ผู้ประกาศทุกคนสามารถให้คำอธิบายที่น่าพอใจแก่ผู้ซักถามได้.
จำเป็นจริง ๆ ไหมที่คุณจะเข้าไปพัวพันกับข้อกล่าวหาที่บิดเบือนดังกล่าวด้วยตัวเอง? คำแนะนำของพระเยซูที่ว่า “ช่างเขาเถิด” คือ อย่ารับรู้เรื่องของพวกเขา ใช้หมายถึงกลุ่มปฏิปักษ์นี้อย่างแน่ชัด. คริสเตียนที่ภักดีมีเหตุผลตามหลักคัมภีร์ไบเบิลในการหลีกเลี่ยงพวกออกหากและทัศนะของพวกเขา. (1 โกรินโธ 5:11-13; ติโต 3:10, 11; 1 โยฮัน 2:19; 2 โยฮัน 10, 11) ถ้าบางคนสนใจอย่างจริงใจว่าการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับพวกพยานฯเป็นเรื่องจริงหรือไม่ โดยปกติแล้ว ความรู้ที่อาศัยเหตุผลที่ดีของคุณเองก็เพียงพอแล้วที่จะให้คำตอบ.—ดูหอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 มีนาคม 1986 หน้า 13 และ 14.
ถ้าคุณพบข้อความที่บิดเบือนความจริงในหนังสือพิมพ์ จงเอาใจใส่คำแนะนำในสุภาษิต 14:15 ที่ว่า “คนโง่เชื่อคำบอกเล่าทุกคำ; แต่คนฉลาดย่อมมองดูทางเดินของเขาด้วยความระวัง.” ในสวิตเซอร์แลนด์ หลายคนขุ่นเคืองเมื่อข่าวที่ทำให้สะเทือนอารมณ์รายงานว่า หญิงสาวพยานฯคนหนึ่งเสียชีวิตเพราะญาติของเธอไม่ยอมให้แพทย์ใช้วิธีการถ่ายเลือด. เป็นอย่างนั้นจริงไหม? ไม่. คนไข้ปฏิเสธการถ่ายเลือดเนื่องจากเหตุผลทางศาสนา แต่เธอยอมรับวิธีการรักษาแบบอื่นที่ไม่ใช้เลือด. การรักษาโดยไม่ใช้เลือดสามารถเริ่มทันที และคงจะช่วยชีวิตเธอได้. อย่างไรก็ดี ทางโรงพยาบาลได้หน่วงเหนี่ยวการรักษาไว้โดยไม่จำเป็น จนกระทั่งสายเกินแก้. หนังสือพิมพ์ไม่ได้อธิบายข้อเท็จจริงเหล่านี้.
ดังนั้น จงชั่งดูอย่างรอบคอบว่าข่าวเช่นนั้นมีความจริงมากแค่ไหน. เราอาจอธิบายกับผู้ซักถามว่า ผู้ปกครองท้องถิ่นใส่ใจต่อกรณีต่าง ๆ ดังกล่าวในวิธีที่เปี่ยมด้วยความรัก และสอดคล้องกับมาตรฐานในคัมภีร์ไบเบิล. การยึดมั่นกับหลักการต่าง ๆ เมื่อให้คำตอบป้องกันเรามิให้รีบร้อนลงความเห็น.—สุภาษิต 18:13.
การได้รับข้อมูลจากต้นตอโดยตรงสำคัญยิ่ง
ในศตวรรษแรก ผู้คนแพร่คำโกหกเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์เพื่อทำลายชื่อเสียงของพระองค์ บางคนถึงกับประณามพระองค์ว่าเป็นกบฏ. (ลูกา 7:34; 23:2; เทียบกับมัดธาย 22:21.) ต่อมา ประชาคมคริสเตียนที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่เผชิญการต่อต้านจากหลายด้านทั้งทางฝ่ายศาสนาและฝ่ายโลก. เนื่องจาก “พระเจ้าได้ทรงเลือกสิ่งที่โลกถือว่าโฉดเขลา” หลายคนจึงดูถูกผู้รับใช้ของพระองค์. (1 โกรินโธ 1:22-29) คริสเตียนแท้ทุกวันนี้ต้องคาดหมายจะได้รับการติเตียน ซึ่งเป็นการข่มเหงแบบหนึ่ง.—โยฮัน 15:20.
อย่างไรก็ดี พยานพระยะโฮวาหยั่งรู้ค่าเมื่อผู้คนที่พวกเขาสนทนาด้วยไม่มีอคติและแสดงเจตคติอย่างเดียวกันกับบางคนที่มาเยี่ยมเปาโลในโรม ซึ่งกล่าวว่า “ข้าพเจ้าทั้งหลายปรารถนาจะฟังท่านกล่าวว่าท่านคิดเห็นอย่างไร, เพราะข้าพเจ้าทั้งหลายทราบว่าพวกที่ถือลัทธินี้ก็ถูกติเตียนทุกแห่ง.”—กิจการ 28:22.
จงให้คำอธิบายกับผู้คนที่ได้รับข้อมูลอย่างผิด ๆ ทำเช่นนั้นด้วยใจอ่อนโยน. (โรม 12:14; เทียบกับ 2 ติโมเธียว 2:25.) เชิญเขาให้รับข้อมูลจากพยานฯโดยตรงเกี่ยวกับพยานพระยะโฮวา ซึ่งทำให้พวกเขาสามารถมองเห็นการกล่าวหาเท็จอย่างทะลุปรุโปร่ง. นอกจากนี้ คุณอาจใช้คำอธิบายต่าง ๆ ที่พิมพ์โดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ซึ่งให้รายละเอียดเกี่ยวกับองค์การ, ประวัติ, และหลักคำสอนต่าง ๆ ขององค์การ.a ครั้งหนึ่ง ฟิลิปได้ตอบนะธันเอลโดยเพียงแต่พูดว่า “มาดูเถิด.” (โยฮัน 1:46) เราอาจทำได้เช่นเดียวกัน. ใครก็ตามที่ปรารถนาจะเยี่ยมหอประชุมท้องถิ่นเพื่อเห็นด้วยตนเองว่าพยานพระยะโฮวาเป็นคนชนิดใดและพวกเขาเชื่ออะไร จะได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น.
อย่าตกใจกลัวเพราะผู้ต่อต้าน
ช่างเป็นการหนุนกำลังใจสักเพียงใดที่รู้ว่าการติเตียนไม่ได้ยับยั้งผู้คนจากการเข้ามาเป็นพยานฯ! ระหว่างรายการทอล์กโชว์ในทีวีที่เยอรมนี ผู้ออกหากเสนอคำโกหกมากมายเกี่ยวกับพยานฯ. ผู้ชมคนหนึ่งสังเกตเห็นการแต่งเติมของผู้ออกหากว่าเป็นเรื่องที่จินตนาการขึ้นและจึงถูกกระตุ้นให้เริ่มการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับพยานฯอีก. ใช่แล้ว การติเตียนจากคนทั่วไปบางครั้งนำไปสู่ผลดีหลายอย่าง!—เทียบกับฟิลิปปอย 1:12, 13.
อัครสาวกเปาโลทราบว่า บางคนอาจสนใจ “เรื่องเท็จ” มากกว่าความจริง ดังนั้น ท่านเขียนว่า “ฝ่ายท่านจงรักษาสติในทุกสิ่ง จงอดทนความยากลำบาก จงกระทำการงานของผู้เผยแพร่กิตติคุณ จงทำงานรับใช้ของท่านให้ครบถ้วน.” (2 ติโมเธียว 4:3-5, ล.ม.) ดังนั้น อย่ายอมให้ตัวคุณถูกทำให้เขวไป และ ‘อย่าตกใจกลัวประการใดเลย’ ต่อปรปักษ์ของคุณ. (ฟิลิปปอย 1:28) คงความสงบเยือกเย็นไว้และควบคุมสติ และประกาศข่าวดีด้วยความชื่นชมยินดี แล้วคุณจะรับมือกับการติเตียนจากคนทั่วไปได้อย่างมั่นคง. ใช่แล้ว จงระลึกถึงคำสัญญาของพระเยซูที่ว่า “ความสุขมีแก่เจ้าทั้งหลายเมื่อเขาได้ติเตียนเจ้าและข่มเหงเจ้าและพูดสิ่งชั่วร้ายทุกรูปแบบด้วยคำเท็จต่อเจ้าเพราะเรา. จงชื่นชมยินดีและโลดเต้นด้วยความปลาบปลื้ม เพราะบำเหน็จของพวกเจ้าล้ำเลิศในสวรรค์; ด้วยว่าพวกเขาก็ได้ข่มเหงเหล่าผู้พยากรณ์ที่อยู่ก่อนเจ้าเหมือนกัน.”—มัดธาย 5:11, 12, ล.ม.
[เชิงอรรถ]
a ดูหนังสือพยานพระยะโฮวา—กระทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าอย่างพร้อมเพรียงทั่วโลก, พยานพระยะโฮวาในศตวรรษที่ยี่สิบ, และพยานพระยะโฮวา—ผู้ประกาศราชอาณาจักรของพระเจ้า (ภาษาอังกฤษ).
[จุดเด่นหน้า 27]
เมื่อเผชิญหน้ากับผู้ต่อต้าน พระเยซูตรัสกับสาวกของพระองค์ว่า “ช่างเขาเถิด.” พระองค์หมายถึงอะไร?
[จุดเด่นหน้า 29]
“ความสุขมีแก่เจ้าทั้งหลายเมื่อเขาได้ติเตียนเจ้าและข่มเหงเจ้าและพูดสิ่งชั่วร้ายทุกรูปแบบด้วยคำเท็จต่อเจ้าเพราะเรา.”—มัดธาย 5:11, ล.ม.