ความสว่างแวบใหญ่และความสว่างแวบเล็ก—ตอนสอง
“โดยความสว่างจากพระองค์ ข้าพเจ้าทั้งหลายจึงเห็นความสว่าง.”—บทเพลงสรรเสริญ 36:9, ล.ม.
1. มีความพยายามเช่นไรตอนเริ่มแรกเพื่อจะเข้าใจสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่กล่าวไว้ในพระธรรมวิวรณ์?
พระธรรมวิวรณ์เคยเร้าความสนใจใคร่รู้ของคริสเตียนตั้งแต่สมัยแรก ๆ. พระธรรมวิวรณ์ให้ตัวอย่างที่ดีว่า ความสว่างแห่งความจริงส่องแสงแรงกล้ายิ่งขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไร. ปี 1917 ไพร่พลของพระยะโฮวาได้พิมพ์คำอธิบายเกี่ยวกับพระธรรมวิวรณ์ในหนังสือความลึกลับสำเร็จแล้ว (ภาษาอังกฤษ). หนังสือนั้นเปิดโปงพวกผู้นำศาสนาและผู้นำทางการเมืองแห่งคริสต์ศาสนจักร แต่คำอธิบายหลายตอนในหนังสือนั้นได้มาจากแหล่งอื่น ๆ. กระนั้น หนังสือความลึกลับสำเร็จแล้ว มีประโยชน์ใช้ทดสอบความซื่อสัตย์ภักดีของนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลที่มีต่อช่องทางอันประจักษ์ได้ซึ่งพระยะโฮวาทรงใช้.
2. บทความ “การกำเนิดของชาตินั้น” ให้ความสว่างอะไรเกี่ยวด้วยพระธรรมวิวรณ์?
2 ความสว่างสะดุดตาที่แวบขึ้นส่องที่พระธรรมวิวรณ์พร้อมด้วยการพิมพ์บทความชื่อ “การกำเนิดของชาตินั้น” ในวารสารหอสังเกตการณ์ (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 1 มีนาคม 1925. เคยมีความเข้าใจกันว่า วิวรณ์บท 12 ชี้ถึงสงครามระหว่างโรมนอกรีตกับโรมฝ่ายโปป โดยที่บุตรชายนั้นหมายถึงระบบการปกครองของพวกโปป. แต่ในบทความนั้นแสดงให้เห็นว่า วิวรณ์ 11:15-18 เกี่ยวเนื่องกันกับความหมายของบท 12 จึงบ่งชี้ว่าบทนั้นเกี่ยวข้องกับการกำเนิดราชอาณาจักรของพระเจ้า.
3. หนังสืออะไรบ้างที่ให้ความสว่างเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับพระธรรมวิวรณ์?
3 ทั้งหมดนี้นำไปสู่ความเข้าใจที่กระจ่างชัดยิ่งขึ้นเกี่ยวด้วยพระธรรมวิวรณ์ ซึ่งมาพร้อมกับหนังสือความสว่าง ชุดสองเล่ม (ภาษาอังกฤษ) พิมพ์ในปี 1930. ยังมีการปรับปรุงให้ดีขึ้นอีกในหนังสือ “บาบูโลนใหญ่ล่มจมเสียแล้ว!” ราชอาณาจักรของพระเจ้าครอบครอง! (ภาษาอังกฤษ, ปี 1963) และหนังสือ “ครั้นแล้วความลึกลับของพระเจ้าถึงที่สำเร็จ” (ภาษาอังกฤษ, ปี 1969). กระนั้น ยังจะต้องเรียนอีกมากเกี่ยวกับพระธรรมวิวรณ์ซึ่งเป็นพระธรรมเชิงพยากรณ์. ใช่แล้ว ความสว่างเจิดจ้ายิ่งขึ้นได้ส่องมาที่พระธรรมวิวรณ์อีกในปี 1988 ด้วยหนังสือชื่อพระธรรมวิวรณ์—ใกล้จะถึงจุดสุดยอด! อาจกล่าวได้ว่ากุญแจสู่ความเข้าใจเป็นขั้น ๆ นี้ก็คือข้อเท็จจริงที่ว่า คำพยากรณ์ในพระธรรมวิวรณ์สำเร็จเป็นจริงใน “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า” ซึ่งเริ่มต้นในปี 1914. (วิวรณ์ 1:10) ดังนั้น พระธรรมวิวรณ์จึงเป็นที่เข้าใจชัดแจ้งมากขึ้นขณะที่วันนั้นคืบหน้าไป.
ความเข้าใจที่กระจ่างชัดเกี่ยวด้วย “ผู้มีอำนาจ”
4, 5. (ก) นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลมีแง่คิดเช่นไรต่อโรม 13:1? (ข) ต่อมาเป็นที่เข้าใจว่า ทัศนะตามหลักพระคัมภีร์ในเรื่อง “ผู้มีอำนาจ” นั้นคืออะไร?
4 ความสว่างเจิดจ้าที่แวบขึ้นได้ส่องให้เห็นเมื่อปี 1962 เกี่ยวข้องกับพระธรรมโรม 13:1 ที่ว่า “ให้ทุกคนยอมอยู่ใต้บังคับผู้มีอำนาจ [ใต้อำนาจที่สูงกว่า, ล.ม.].” นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลสมัยต้น ๆ เข้าใจว่า “ผู้มีอำนาจ” ที่กล่าวถึงที่นี่หมายถึงอำนาจเจ้าหน้าที่บ้านเมือง. เขาเข้าใจว่าข้อคัมภีร์นี้หมายความว่า ถ้าคริสเตียนถูกเกณฑ์ยามสงคราม เขาจะต้องสวมชุดทหาร, แบกปืน และออกไปสู่แนวหน้า, ไปสู่สนามเพลาะ. เคยคิดกันว่า ในเมื่อคริสเตียนไม่อาจสังหารเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ถ้าสถานการณ์รุนแรงถึงที่สุดเขาก็จะยกปืนยิงขึ้นฟ้า.a
5 วารสารหอสังเกตการณ์ ฉบับกุมภาพันธ์และมีนาคม 1964 ได้ให้ความสว่างเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อพิจารณาถ้อยคำของพระเยซูที่มัดธาย 22:21 ที่ว่า: “ของของกายะซาจงถวายแก่กายะซา, และของของพระเจ้าจงถวายแก่พระเจ้า.” ถ้อยคำของเหล่าอัครสาวกที่กิจการ 5:29 (ล.ม.) เกี่ยวข้องด้วยที่ว่า “พวกข้าพเจ้าจำต้องเชื่อฟังพระเจ้าในฐานะเป็นผู้ครอบครองยิ่งกว่ามนุษย์.” คริสเตียนยอมอยู่ใต้อำนาจกายะซา ซึ่งเป็น “ผู้มีอำนาจ” ตราบใดที่ไม่มีการเรียกร้องคริสเตียนให้ละเมิดกฎหมายของพระเจ้า. การอยู่ใต้อำนาจกายะซานั้นมีขอบเขต ไม่ใช่แบบสิ้นเชิง. คริสเตียนคืนของของกายะซาเฉพาะสิ่งที่ไม่ขัดกับข้อเรียกร้องของพระเจ้า. ช่างเป็นความพอใจเสียจริง ๆ ที่เราได้รับความเข้าใจกระจ่างเกี่ยวด้วยเรื่องนี้!
ความสว่างที่แวบขึ้นในเรื่ององค์การ
6. (ก) เพื่อจะหลีกเลี่ยงโครงสร้างระบบชนชั้นซึ่งแพร่หลายอยู่ในคริสต์ศาสนจักร จึงได้มีการรับเอาหลักการอะไร? (ข) ในที่สุดมีความเข้าใจว่าแนวที่ถูกต้องสำหรับการเลือกคนเหล่านั้นที่จะดูแลเอาใจใส่ประชาคมเป็นอย่างไร?
6 มีข้อสงสัยว่า ใครสมควรปฏิบัติหน้าที่ฐานะผู้ปกครองและผู้รับใช้ในประชาคม. เพื่อหลีกเลี่ยงโครงสร้างแบบระบบชนชั้นที่แพร่หลายในคริสต์ศาสนจักร จึงเคยลงความเห็นกันว่า ควรมีการเลือกตั้งบุคคลเหล่านี้แบบประชาธิปไตย โดยสมาชิกแต่ละประชาคมออกเสียงเลือกตั้ง. แต่ความสว่างซึ่งมีเพิ่มขึ้นที่มีอยู่ในวารสารหอสังเกตการณ์ (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 1 กันยายนและ 15 ตุลาคม 1932 ได้ชี้ให้เห็นว่าพระคัมภีร์ไม่ได้สนับสนุนให้มีผู้ปกครองที่มาจากการเลือกตั้ง. ดังนั้น จึงมีกรรมการฝ่ายการรับใช้เข้ามาแทนบุคคลเหล่านี้ และสมาคมฯได้เลือกผู้อำนวยการการรับใช้.
7. ความสว่างที่แวบขึ้นยังผลให้มีการปรับปรุงแก้ไขอะไรในวิธีที่ผู้รับใช้ในประชาคมได้รับการแต่งตั้ง?
7 วารสารหอสังเกตการณ์ (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 1 และ 15 มิถุนายน 1938 ได้บรรจุความสว่างที่แวบขึ้นซึ่งแสดงว่า ผู้รับใช้ในประชาคมเป็นบุคคลที่รับการแต่งตั้ง ไม่ใช่รับการเลือกตั้ง นั่นคือรับการแต่งตั้งตามระบอบของพระเจ้า. ปี 1971 มีความสว่างที่แวบขึ้นอีกครั้งหนึ่งให้เห็นว่า แต่ละประชาคมไม่ควรได้รับการดูแลโดยผู้รับใช้เพียงคนเดียว. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น แต่ละประชาคมควรมีคณะผู้ปกครองหรือผู้ดูแล ที่รับหน้าที่มอบหมายจากคณะกรรมการปกครองแห่งพยานพระยะโฮวา. ดังนั้น เนื่องจากความสว่างที่มีเพิ่มขึ้นเป็นเวลา 40 กว่าปี จึงปรากฏชัดว่าผู้ปกครองและผู้ช่วยของเขา ซึ่งเวลานี้รู้จักกันว่าผู้รับใช้ที่รับการแต่งตั้ง จึงควรได้รับการแต่งตั้งจาก “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ผ่านคณะกรรมการปกครอง. (มัดธาย 24:45-47) เรื่องนี้สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นสมัยอัครสาวก. ผู้ชายเป็นต้นว่า ติโมเธียวและติโต ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ดูแลโดยคณะกรรมการปกครองสมัยศตวรรษแรก. (1 ติโมเธียว 3:1-7; 5:22; ติโต 1:5-9) ทั้งหมดนี้เป็นความสำเร็จสมจริงอย่างน่าทึ่งของยะซายา 60:17 ที่ว่า “เราจะนำทองคำมาให้แทนทองเหลือง, เราจะนำเงินมาให้แทนเหล็ก, ทองเหลืองแทนไม้, และเหล็กแทนหิน; และเราจะเอาสันติสุขเป็นรัฐบาลของเจ้า และความชอบธรรมเป็นผู้ครอบครองของเจ้า.”
8. (ก) ความจริงที่ชัดเจนยิ่งขึ้นยังผลให้มีการปรับปรุงแก้ไขอะไรในวิธีการดำเนินงานของสมาคมฯ? (ข) คณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ แห่งคณะกรรมการปกครองมีอะไรบ้าง? และขอบข่ายของกิจกรรมหรือการดูแลเอาใจใส่ของคณะกรรมการแต่ละฝ่ายมีอะไรบ้าง?
8 อนึ่ง มีเรื่องราวเกี่ยวกับการดำเนินงานของสมาคมว็อช เทาเวอร์ด้วย. นานหลายปีที่คณะกรรมการปกครองแห่งพยานพระยะโฮวาเป็นชุดเดียวกันกับกรรมการบริหารของสมาคมว็อช เทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ แห่งเพนซิลเวเนีย และการดำเนินงานส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การควบคุมของนายกสมาคม. ดังแจ้งอยู่ในหนังสือประจำปีของพยานพระยะโฮวา ปี 1977 (ภาษาอังกฤษ, หน้า 258-259) ปี 1976 คณะกรรมการปกครองเริ่มการปฏิบัติงานด้วยคณะกรรมการหกฝ่าย แต่ละฝ่ายมีหน้าที่ดูแลงานเฉพาะด้านซึ่งดำเนินอยู่ทั่วโลก. คณะกรรมการฝ่ายบุคคลเกี่ยวข้องกับบุคลากร รวมทั้งผลประโยชน์ของทุกคนซึ่งรับใช้ในครอบครัวเบเธลทั่วโลก. คณะกรรมการฝ่ายการพิมพ์จัดการเรื่องทั่ว ๆ ไปทางโลกและด้านกฎหมาย เช่น ทรัพย์สินและงานพิมพ์. คณะกรรมการฝ่ายการรับใช้เอาใจใส่งานให้คำพยานและเอาใจใส่ผู้ดูแลเดินทาง, ไพโอเนียร์, และกิจการงานของผู้ประกาศประจำประชาคม. คณะกรรมการฝ่ายการสอนมีความรับผิดชอบด้านการประชุมต่าง ๆ ของประชาคม, การประชุมพิเศษต่าง ๆ, การประชุมหมวด, การประชุมภาคและการประชุมนานาชาติ อีกทั้งโรงเรียนประเภทต่าง ๆ เพื่อให้การศึกษาฝ่ายวิญญาณแก่ไพร่พลของพระเจ้า. คณะกรรมการฝ่ายการเขียนดูแลด้านการตระเตรียมและการแปลสรรพหนังสือทุกอย่าง เพื่อแน่ใจได้ว่าทุกอย่างถูกต้องตรงกันกับพระคัมภีร์. คณะกรรมการประธานเอาใจใส่เหตุการณ์ฉุกเฉินและเรื่องเร่งด่วนอื่น ๆ.b อนึ่ง ในช่วงทศวรรษปี 1970 สำนักงานสาขาต่าง ๆ ของสมาคมว็อช เทาเวอร์เริ่มปฏิบัติงานภายใต้การดำเนินงานโดยคณะกรรมการแทนการมีผู้ดูแลคนเดียว.
ความสว่างเกี่ยวกับการประพฤติแบบคริสเตียน
9. ความสว่างแห่งความจริงมีผลกระทบอย่างไรต่อความเกี่ยวพันของคริสเตียนกับรัฐบาลต่าง ๆ ทางแผ่นดินโลก?
9 มีความสว่างที่แวบขึ้นหลายครั้งเกี่ยวข้องกับการประพฤติของคริสเตียน. เพื่อเป็นตัวอย่าง ลองพิจารณาเรื่องความเป็นกลาง. ความสว่างเจิดจ้าเป็นพิเศษที่แวบขึ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ส่องมาในบทความ “ความเป็นกลาง” ซึ่งปรากฏในวารสารหอสังเกตการณ์ (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 1 พฤศจิกายน 1939. ช่างทันเวลาสักเพียงไร ออกมาไม่นานหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองเริ่มขึ้น! บทความนี้นิยามความเป็นกลางและชี้ให้เห็นว่า คริสเตียนต้องไม่พัวพันกับกิจการทางการเมืองหรือการสู้รบระหว่างประเทศ. (มีคา 4:3, 5; โยฮัน 17:14, 16) ทั้งนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่พวกเขาเป็นที่เกลียดชังของนานาชาติ. (มัดธาย 24:9) การสู้รบของยิศราเอลโบราณหาใช่เป็นแบบอย่างสำหรับคริสเตียนไม่ ดังพระเยซูทรงชี้ชัดที่มัดธาย 26:52. ยิ่งกว่านั้น ทุกวันนี้ ไม่มีชาติใดทางการเมืองปกครองตามระบอบของพระเจ้า มีพระเจ้าครอบครอง เหมือนกับชาติยิศราเอลโบราณ.
10. ความสว่างที่แวบขึ้นได้เผยให้เห็นอะไรเกี่ยวด้วยทัศนะของคริสเตียนที่พึงมีต่อเลือด?
10 นอกจากนั้น ความสว่างยังได้ส่องให้เห็นความศักดิ์สิทธิ์ของเลือด. นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลบางคนเคยคิดว่าการห้ามรับประทานเลือดในกิจการ 15:28, 29 ก็จำกัดเฉพาะพวกยิวที่เข้ามาเป็นคริสเตียนเท่านั้น. อย่างไรก็ตาม กิจการ 21:25 แสดงว่าแม้ในสมัยอัครสาวก คำสั่งห้ามนี้ก็ใช้กับคนต่างชาติที่เข้ามาเชื่อถือด้วย. ดังนั้น เรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของเลือดจึงผูกมัดคริสเตียนทุกคน ตามที่แจ้งในวารสารหอสังเกตการณ์ (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 1 กรกฎาคม 1945. นั่นหมายความว่าไม่เพียงแต่ปฏิเสธการรับประทานเลือดสัตว์ เช่น ไส้กรอกเลือด แต่หมายถึงการละเว้นไม่รับเอาเลือดมนุษย์ด้วย เช่น กรณีที่มีการถ่ายหรือให้เลือด.
11. เป็นที่เข้าใจกันอย่างไรในเรื่องทัศนะของคริสเตียนต่อการใช้ยาสูบยาเส้น?
11 เนื่องจากความสว่างที่เพิ่มขึ้น นิสัยต่าง ๆ ซึ่งเมื่อแรกก็แค่ไม่เห็นด้วย ต่อมามีการจัดการอย่างเหมาะสมและจริงจัง. ตัวอย่างหนึ่งในเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการใช้ยาสูบยาเส้น. ในวารสารหอสังเกตการณ์แห่งซีโอน (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 1 สิงหาคม 1895 บราเดอร์รัสเซลล์ได้เพ่งเล็งความสนใจไปที่พระธรรม 1 โกรินโธ 10:31 และ 2 โกรินโธ 7:1 และเขียนว่า “ข้าพเจ้าไม่เห็นว่าจะเป็นการถวายเกียรติพระเจ้าได้อย่างไร หรือเป็นประโยชน์อันใดแก่ตนเอง ที่คริสเตียนจะใช้ยาสูบยาเส้นทางใดทางหนึ่ง.” ตั้งแต่ปี 1973 เป็นที่เข้าใจกระจ่างชัดว่า คนที่ใช้ยาสูบยาเส้นจะเป็นพยานพระยะโฮวาไม่ได้. ปี 1976 เป็นที่กระจ่างแจ้งว่า ไม่มีพยานฯคนใดจะทำงานในวงการธุรกิจการพนัน แล้วยังคงอยู่ต่อไปในประชาคมได้.
การปรับปรุงอื่น ๆ
12. (ก) ความสว่างที่แวบขึ้นได้เผยให้เห็นอะไรเกี่ยวกับจำนวนลูกกุญแจแห่งราชอาณาจักรที่มอบไว้กับเปโตร? (ข) สภาพการณ์เป็นอย่างไรขณะที่เปโตรใช้กุญแจแต่ละลูก?
12 นอกจากนั้น ยังมีความสว่างที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับจำนวนลูกกุญแจโดยนัยซึ่งพระเยซูทรงมอบไว้กับเปโตร. นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเคยยึดถือว่า เปโตรได้รับกุญแจสองลูกเพื่อใช้เปิดทางแก่ผู้คนที่จะเข้ามาเป็นทายาทราชอาณาจักร—ลูกหนึ่งใช้สำหรับชาวยิวเมื่อวันเพนเตคอสเตปีสากลศักราช 33 และอีกลูกหนึ่งสำหรับคนต่างชาติ ซึ่งใช้ครั้งแรกเมื่อปีสากลศักราช 36 คราวที่เปโตรได้ประกาศแก่โกระเนเลียว. (กิจการ 2:14-41; 10:34-48) ต่อมา ปรากฏว่ามีกลุ่มที่สามเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย คือชาวซะมาเรีย. เปโตรใช้กุญแจลูกที่สองเพื่อเปิดโอกาสให้พวกเขาเข้าสู่ราชอาณาจักร. (กิจการ 8:14-17) ดังนั้น เป็นอันว่ากุญแจลูกที่สามถูกใช้คราวที่เปโตรได้ประกาศแก่โกระเนเลียว.—หอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 พฤษภาคม 1980, หน้า 11-21, 25.
13. ความสว่างที่แวบขึ้นได้เผยให้เห็นอะไรในเรื่องคอกแกะที่กล่าวในโยฮันบท 10?
13 จากแสงที่ส่องมาอีกลำหนึ่ง เห็นได้ว่า พระเยซูทรงกล่าวถึงแกะสามคอก ไม่ใช่แค่สองคอก. (โยฮันบท 10) คอกเหล่านี้ได้แก่ (1) คอกที่ประกอบด้วยคนยิวซึ่งมีโยฮันผู้ให้บัพติสมาเป็นคนเฝ้าประตู, (2) คอกของทายาทราชอาณาจักรที่ได้รับการเจิม, และ (3) คอก “แกะอื่น” ผู้ซึ่งมีความหวังทางแผ่นดินโลก.—โยฮัน 10:2, 3, 15, 16; หอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 สิงหาคม 1984 หน้า 10-22.
14. ความสว่างที่เพิ่มขึ้นได้ให้ความกระจ่างชัดอย่างไรเกี่ยวด้วยการเริ่มต้นปีจูบิลีตัวจริง?
14 อนึ่ง ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องปีจูบิลีตัวจริงนั้นก็ได้รับความกระจ่างชัดขึ้น. ภายใต้พระบัญญัติ ทุกรอบปีที่ 50 นับเป็นจูบิลีใหญ่ ซึ่งปีนั้นทุกสิ่งทุกอย่างต้องคืนให้เจ้าของเดิม. (เลวีติโก 25:10) เคยเข้าใจมานานแล้วว่า ปีจูบิลีนี้เป็นภาพเล็งถึงรัชสมัยพันปีของพระคริสต์. แต่ไม่นานมานี้เป็นที่เข้าใจกันว่า จูบิลีตัวจริงนั้นโดยแท้แล้วได้เริ่มต้นเมื่อวันเพนเตคอสเต ปีสากลศักราช 33 เมื่อคนเหล่านั้นที่ได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ซึ่งหลั่งลงมาได้รับการปลดเปลื้องพ้นข้อผูกมัดแห่งคำสัญญาไมตรีโดยทางพระบัญญัติของโมเซ.—หอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 มกราคม 1987 หน้า 20-32.
ความสว่างที่เพิ่มขึ้นในเรื่องการใช้ถ้อยคำ
15. ได้มีการฉายความสว่างอะไรเกี่ยวกับการใช้คำ “แผนการ”?
15 “ท่านผู้รวบรวมคนมาประชุมได้เสาะหาถ้อยคำที่หวานหูและวิธีการเขียนถ้อยคำอันถูกต้องแห่งความจริง.” (ท่านผู้ประกาศ 12:10, ล.ม.) ถ้อยคำเหล่านี้อาจนำมาใช้กับเรื่องที่เราพิจารณาขณะนี้ เนื่องจากความสว่างส่องมาไม่เฉพาะเรื่องสำคัญ เช่น หลักคำสอนและการประพฤติ แต่ส่องให้เห็นการใช้ถ้อยคำแบบคริสเตียนและความหมายที่ถูกต้องด้วย. ยกตัวอย่าง หนึ่งในบรรดาสรรพหนังสือที่นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลชอบที่สุดได้แก่เล่มที่หนึ่งของชุดคู่มือการศึกษาพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) ที่ชื่อว่าแผนการของพระเจ้าสำหรับยุคต่าง ๆ. อย่างไรก็ดี เวลาต่อมา เขาได้ตระหนักว่า พระคำของพระเจ้าพูดถึงมนุษย์เท่านั้นที่วางแผนงาน. (สุภาษิต 19:21, ฉบับแปลใหม่) คัมภีร์ไบเบิลไม่เคยพูดถึงพระยะโฮวาว่าวางแผน. พระองค์ไม่จำเป็นต้องวางแผน. ไม่ว่าพระองค์ทรงมุ่งหมายอะไรก็ตาม ก็เป็นที่แน่นอนว่าจะสำเร็จ เนื่องจากสติปัญญาและอำนาจของพระองค์ไม่จำกัด ดังที่เราอ่านได้จากพระธรรมเอเฟโซ 1:9, 10 (ล.ม.) ว่า “ตามซึ่งชอบน้ำพระทัยอันดีของพระองค์ที่พระองค์ดำริไว้ด้วยพระองค์เอง เพื่อการบริหารงานเมื่อเวลากำหนดครบถ้วน.” ฉะนั้น จึงค่อย ๆ ปรากฏให้เห็นว่าคำ “ดำริ” หรือ “วัตถุประสงค์” นั้นเหมาะสมกว่าเมื่อกล่าวถึงพระยะโฮวา.
16. ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพระธรรมลูกา 2:14 ค่อย ๆ ปรากฏให้เห็นอย่างไร?
16 แล้วก็มาถึงเรื่องการได้ความเข้าใจข้อคัมภีร์ที่ลูกา 2:14 ชัดเจนยิ่งขึ้น. ตามคัมภีร์ฉบับแปลคิงเจมส์ ข้อนั้นอ่านว่า “สง่าราศีแด่พระเจ้าในที่สูงสุด, และสันติสุขบนแผ่นดินโลก ไมตรีจิตแก่มนุษย์.” เห็นได้ว่าข้อนี้ไม่ได้ให้แง่คิดที่ถูกต้อง เพราะพระเจ้าย่อมไม่มีไมตรีจิตแก่คนชั่ว. เหตุฉะนั้น เหล่าพยานฯได้ถือว่าข้อนี้เป็นเรื่องสันติสุขที่จะมีแก่มนุษย์ที่มีน้ำใจไมตรีต่อพระเจ้า. ดังนั้น พยานฯมักจะพูดถึงผู้ที่ให้ความสนใจต่อคัมภีร์ไบเบิลว่าเป็นคนมีไมตรีจิต. แต่แล้วจึงได้เข้าใจกันว่า สิ่งที่เกี่ยวข้องนี้เป็นน้ำใจไมตรีในส่วนของพระเจ้า ไม่ใช่ในส่วนของมนุษย์. ฉะนั้น เชิงอรรถในคัมภีร์ฉบับแปลโลกใหม่ ที่ลูกา 2:14 จึงพูดถึง “มนุษย์ซึ่งพระองค์ [พระเจ้า] ทรงโปรดปราน.” คริสเตียนทั้งปวงซึ่งประพฤติสมกับการปฏิญาณตนเมื่อเขาอุทิศตัวจึงได้รับความโปรดปรานจากพระเจ้า.
17, 18. พระยะโฮวาจะทรงพิสูจน์ให้เห็นว่าอะไรถูกต้อง และพระองค์จะทรงทำให้สิ่งใดเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์?
17 ทำนองคล้ายกัน เหล่าพยานฯได้พูดถึงการชันสูตรเชิดชูพระนามของพระยะโฮวามานานหลายปี. แต่ซาตานได้ทำให้พระนามของพระยะโฮวาเป็นที่น่าสงสัยไหม? เกี่ยวกับเรื่องนี้ ตัวแทนคนใดของซาตานแสดงความสงสัยประหนึ่งว่าพระยะโฮวาไม่มีสิทธิ์จะใช้พระนามนี้ไหม? ไม่อย่างแน่นอน. ไม่ใช่พระนามของพระยะโฮวาที่ถูกท้าทายและจำต้องได้รับการชันสูตรเชิดชู. ด้วยเหตุนี้ สรรพหนังสือของสมาคมว็อช เทาเวอร์ ที่ออกมาเมื่อเร็ว ๆ นี้จึงไม่พูดเรื่องพระนาม ของพระยะโฮวาได้รับการชันสูตรเชิดชู. สิ่งพิมพ์เหล่านั้นพูดถึงพระบรมเดชานุภาพ ของพระยะโฮวาว่าได้รับการพิสูจน์ให้เห็นว่าถูกต้อง และพระนาม ของพระองค์นั้นเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์. ทั้งนี้ จึงสอดคล้องกับสิ่งที่พระเยซูทรงสอนเราอธิษฐาน “ขอให้พระนาม ของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์.” (มัดธาย 6:9) พระยะโฮวาได้ตรัสครั้งแล้วครั้งเล่าว่า พระองค์จะกระทำให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์ ซึ่งชาวยิศราเอลไม่ได้ท้าทายพระนามนี้แต่ได้ดูหมิ่น.—ยะเอศเคล 20:9, 14, 22; 36:23.
18 น่าสนใจ ในปี 1971 หนังสือ “นานาชาติจะรู้ว่าเราคือยะโฮวา”—อย่างไร? (ภาษาอังกฤษ) ชี้ให้เห็นความแตกต่างดังนี้: “พระเยซูคริสต์ทรงต่อสู้ . . . เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าสากลบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวานั้นถูกต้องและเพื่อทำให้พระนามของพระยะโฮวาได้รับเกียรติยศ.” (หน้า 364-365) ในปี 1973 หนังสือราชอาณาจักรหนึ่งพันปีของพระเจ้าใกล้เข้ามาแล้ว (ภาษาอังกฤษ) บอกว่า “‘ความทุกข์ครั้งใหญ่’ ที่จวนจะเกิดขึ้นนั้นเป็นเวลาสำหรับพระยะโฮวาพระเจ้าองค์ทรงฤทธิ์ทุกประการจะพิสูจน์ให้เห็นว่า สากลบรมเดชานุภาพของพระองค์ถูกต้องและจะกระทำให้พระนามอันคู่ควรของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์.” (หน้า 409) ครั้นแล้ว ในปี 1975 หนังสือความรอดของมนุษย์พ้นจากความทุกข์ยากในโลกมาใกล้แล้ว! (ภาษาอังกฤษ) ระบุว่า “เหตุการณ์สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์สากลจะสำเร็จตอนนั้น นั่นคือการพิสูจน์ให้เห็นว่าสากลบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวาถูกต้องและการทำให้พระนามศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์.”—หน้า 281.
19, 20. พวกเราจะแสดงความหยั่งรู้ค่าความสว่างฝ่ายวิญญาณที่แวบขึ้นได้โดยวิธีใด?
19 ไพร่พลของพระยะโฮวาได้รับพระพรมากเพียงไรที่อยู่ในความสว่างฝ่ายวิญญาณเช่นนี้! ในทางตรงกันข้าม ความมืดทึบฝ่ายวิญญาณซึ่งพวกผู้นำในคริสต์ศาสนจักรได้ประสบ เห็นได้จากคำพูดของนักบวชคนหนึ่งซึ่งกล่าวว่า “ทำไมจึงมีบาป? ทำไมมีความทุกข์? ทำไมจึงมีพญามาร? นี่เป็นคำถามที่ผมต้องการถามองค์พระผู้เป็นเจ้าเมื่อผมไปถึงสวรรค์.” แต่พยานพระยะโฮวาตอบเขาได้ว่าเป็นเพราะอะไร: เพราะประเด็นว่าด้วยสิทธิอันชอบธรรมเกี่ยวด้วยพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวาและประเด็นที่ว่ามนุษย์สามารถจะรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงต่อพระเจ้าได้หรือไม่ ทั้ง ๆ ที่มีการต่อต้านขัดขวางจากพญามาร.
20 ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ความสว่างแวบใหญ่และความสว่างแวบเล็กได้ทำให้ทางเดินของผู้รับใช้ที่อุทิศตัวแด่พระยะโฮวาสว่างไสว. ทั้งนี้สำเร็จเป็นจริงตามข้อคัมภีร์ต่าง ๆ เช่น บทเพลงสรรเสริญ 97:11 และสุภาษิต 4:18. แต่ขอพวกเราอย่าลืมว่า การเดินอยู่ในความสว่างหมายถึงการหยั่งรู้ค่าต่อความสว่างที่เพิ่มขึ้นและดำเนินชีวิตประสานกับความสว่างนั้น. ดังที่เราได้เห็น ความสว่างที่เพิ่มขึ้นนี้เกี่ยวข้องกับทั้งการประพฤติของเราและหน้าที่มอบหมายของเราที่จะประกาศเผยแพร่.
[เชิงอรรถ]
a ในการแสดงปฏิกิริยาต่อทัศนะนี้ วารสารหอสังเกตการณ์ (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 1 และ 15 มิถุนายน 1929 ได้ตีความ “ผู้มีอำนาจ” ว่าเป็นพระเจ้ายะโฮวาและพระเยซูคริสต์. ความเข้าใจนี้ได้รับการแก้ไขเมื่อปี 1962.
b หอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 เมษายน 1992 ประกาศว่า พี่น้องชายที่ส่วนใหญ่เป็นจำพวก “แกะอื่น” ที่ถูกเลือกได้รับมอบหมายให้ช่วยคณะกรรมการปกครอง เหมือนพวกนะธีนิมสมัยเอษรา.—โยฮัน 10:16; เอษรา 2:58.
คุณจำได้ไหม?
▫ ความสว่างอะไรที่ฉายออกมาเกี่ยวกับการยอมอยู่ใต้ “ผู้มีอำนาจ”?
▫ ความสว่างที่แวบขึ้นก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในองค์การ?
▫ ความสว่างที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบความประพฤติของคริสเตียนอย่างไร?
▫ ความสว่างฝ่ายวิญญาณทำให้เกิดการปรับปรุงอะไรต่อความเข้าใจของเราด้วยเรื่องจุดสำคัญบางจุดในพระคัมภีร์?
[ที่มาของภาพหน้า 25]
Keys on page 24: Drawing based on photo taken in Cooper-Hewitt,National Design Museum, Smithsonian Institution