พวกเขา “ได้ทำอย่างนั้นทีเดียว”
“นี่แหละหมายถึงความรักต่อพระเจ้า คือว่าให้เราปฏิบัติตามบัญญัติของพระองค์.”—1 โยฮัน 5:3, ล.ม.
1. อาจกล่าวได้อย่างไรเกี่ยวด้วยขอบเขตแห่งความรักของพระเจ้า?
“พระเจ้าเป็นความรัก.” ทุกคนที่มารู้จักพระเจ้าและเชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์ย่อมได้มาหยั่งรู้ค่าอย่างลึกซึ้งต่อความลึกล้ำแห่งความรักนั้น. “ความรักในกรณีนี้คือ ไม่ใช่ว่าเราได้รักพระเจ้า แต่ว่าพระองค์ได้ทรงรักเราและได้ส่งพระบุตรของพระองค์มาเป็นเครื่องบูชาระงับพระพิโรธเพราะบาปของเรา.” ขณะเราแสดงความเชื่อในเครื่องบูชาไถ่อันประเสริฐของพระเยซู เราจึง ‘คงอยู่ในความรักของพระเจ้า.’ (1 โยฮัน 4:8-10, 16, ล.ม.) โดยเหตุนี้ เราอาจได้รับพระพรฝ่ายวิญญาณมากมหาศาลขณะนี้ และในระบบที่จะมีมา คือชีวิตนิรันดร์.—โยฮัน 17:3; 1 โยฮัน 2:15, 17.
2. การปฏิบัติตามบัญญัติของพระเจ้าเป็นประโยชน์อย่างไรแก่ผู้รับใช้ของพระองค์?
2 คัมภีร์ไบเบิลมีตัวอย่างมากมายว่าด้วยบุคคลที่ได้ปฏิบัติตามบัญญัติของพระเจ้าและผลที่สุดได้รับพระพรมากเหลือล้น. คนเหล่านี้รวมไปถึงเหล่าพยานฯก่อนยุคคริสเตียน อัครสาวกเปาโลได้เขียนเกี่ยวกับบางคนในคนเหล่านั้นว่า “คนเหล่านี้ทุกคนตายไปขณะที่ยังมีความเชื่อ แม้ว่าเขามิได้รับผลตามคำสัญญาก็ตาม แต่ก็แลเห็นแต่ไกลและยินดีต้อนรับไว้ และได้ประกาศอย่างเปิดเผยว่าตนเป็นคนแปลกถิ่นและเป็นคนอาศัยชั่วคราวในแผ่นดินนั้น.” (เฮ็บราย 11:13, ล.ม.) ต่อมา คริสเตียนผู้รับใช้ของพระเจ้าที่มีศรัทธาแรงกล้าได้รับประโยชน์จาก “พระกรุณาอันไม่พึงได้รับและความจริงนั้น [ซึ่ง] มาทางพระเยซูคริสต์.” (โยฮัน 1:17, ล.ม.) ตลอดเวลา 6,000 กว่าปีแห่งประวัติศาสตร์มนุษย์ พระยะโฮวาประทานบำเหน็จแก่ผู้ที่ปฏิบัติตามบัญญัติของพระองค์ ซึ่งตามจริงแล้ว “ไม่เป็นภาระหนัก.”—1 โยฮัน 5:2, 3, ล.ม.
สมัยโนฮา
3. โนฮาได้ทำ “อย่างนั้นทีเดียว” ในทางใดบ้าง?
3 บันทึกในคัมภีร์ไบเบิลแจ้งดังนี้: “โดยความเชื่อ หลังจากที่ท่านได้รับคำเตือนจากพระเจ้าถึงสิ่งที่ยังไม่ได้เห็น โนฮาแสดงความยำเกรงพระเจ้า และสร้างนาวาเพื่อช่วยครอบครัวของตนให้รอดชีวิต; และโดยความเชื่อนี้เองท่านได้ปรับโทษโลก และท่านจึงได้เป็นเจ้ามรดกแห่งความชอบธรรมซึ่งเนื่องมาจากความเชื่อ.” ในฐานะเป็น “ผู้ประกาศความชอบธรรม” โนฮาเชื่อฟังพระเจ้าโดยไม่คลางแคลง ท่านได้ประกาศเตือนโลกที่มีความรุนแรงก่อนน้ำท่วมโลกถึงการพิพากษาของพระเจ้าซึ่งใกล้เข้ามา. (เฮ็บราย 11:7; 2 เปโตร 2:5, ล.ม.) ในการสร้างนาวานั้น ท่านทำอย่างถี่ถ้วนตามแบบแปลนซึ่งพระเจ้าประทานให้. ต่อจากนั้น ท่านได้นำพวกสัตว์ซึ่งได้กำหนดไว้ อีกทั้งเสบียงอาหารไปเก็บไว้ในนาวา. “โนฮาได้ทำตามทุกสิ่งที่พระเจ้าได้รับสั่งแก่ท่าน. ท่านได้ทำอย่างนั้นทีเดียว.”—เยเนซิศ 6:22, ล.ม.
4, 5. (ก) อิทธิพลชั่วร้ายมีผลกระทบต่อมนุษยชาติจนกระทั่งปัจจุบันอย่างไร? (ข) เหตุใดเราจึงควรทำ “อย่างนั้นทีเดียว” ในแง่การเชื่อฟังคำแนะนำของพระเจ้า?
4 โนฮาและครอบครัวของท่านต้องยืนหยัดต่อสู้กับอิทธิพลชั่วร้ายของเหล่าทูตสวรรค์ที่ไม่เชื่อฟัง. บุตรชายเหล่านี้ของพระเจ้าได้แปลงกายลงมาสมสู่กับผู้หญิง เกิดบุตรหลานพันธุ์ผสมมีความสามารถเหนือมนุษย์ซึ่งใช้อำนาจพาลข่มเหงมนุษย์. “แผ่นดินถูกทำให้เสียหายในสายพระเนตรของพระเจ้าองค์เที่ยงแท้ และแผ่นดินเต็มไปด้วยความรุนแรง.” พระยะโฮวาทรงบันดาลน้ำมาท่วมโลกกวาดล้างคนชั่วช้าในชั่วอายุนั้นเสียสิ้น. (เยเนซิศ 6:4, 11-17; 7:1, ล.ม.) ตั้งแต่สมัยโนฮาเป็นต้นมา ไม่มีการยินยอมให้ทูตสวรรค์ที่กลายเป็นพวกผีปิศาจแปลงกายเป็นมนุษย์อีกเลย. ถึงกระนั้น ‘โลกทั้งสิ้นก็ยังคงตกอยู่ใต้อำนาจของตัวชั่วร้ายนั้น’ คือซาตานพญามาร. (1 โยฮัน 5:19; วิวรณ์ 12:9) กล่าวในเชิงพยากรณ์ พระเยซูทรงเปรียบพวกกบฏสมัยโนฮากับคนชั่วอายุของมนุษยชาติที่ได้ปฏิเสธพระองค์ตั้งแต่สัญลักษณ์แห่ง “การประทับ” ของพระองค์เริ่มปรากฏเมื่อปี 1914.—มัดธาย 24:3, 34, 37-39; ลูกา 17:26, 27, ล.ม.
5 สมัยนี้ก็เช่นเดียวกันกับสมัยโนฮา ซาตานพยายามนำมนุษยชาติและดาวเคราะห์ที่เราอาศัยอยู่นี้ไปสู่ความหายนะ. (วิวรณ์ 11:15-18) ดังนั้น จึงเป็นการเร่งด่วนที่เราพึงปฏิบัติตามบัญชาซึ่งกล่าวโดยการดลใจที่ว่า “จงสวมยุทธภัณฑ์ครบชุดจากพระเจ้า เพื่อท่านจะสามารถยืนมั่นต่อต้านยุทธอุบายของมารได้.” (เอเฟโซ 6:11, ล.ม.) เกี่ยวกับเรื่องนี้ เราได้รับการเสริมกำลังจากการศึกษาพระคำของพระเจ้าและนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตของเรา. ยิ่งกว่านั้น เรามีองค์การของพระยะโฮวาที่คอยดูแลเอาใจใส่ ซึ่งมี “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ผู้ถูกเจิม และผู้ปกครองซึ่งเปี่ยมด้วยความรัก บำรุงเลี้ยงเราด้วยความอดทนให้ดำเนินในแนวทางที่เราควรจะไป. พวกเรามีงานประกาศตลอดทั่วโลกซึ่งต้องทำให้แล้วเสร็จ. (มัดธาย 24:14, 45-47) เช่นเดียวกับโนฮาผู้เชื่อฟังคำแนะนำของพระเจ้าอย่างถี่ถ้วน ขอให้พวกเราทำ “อย่างนั้นทีเดียว” อยู่เสมอ.
โมเซ—ถ่อมใจยิ่งกว่าคนทั้งปวง
6, 7. (ก) โมเซเลือกแนวทางใดอันให้บำเหน็จ? (ข) แบบอย่างอันกล้าหาญอะไรซึ่งโมเซละไว้ให้พวกเรา?
6 จงพิจารณาผู้มีความเชื่ออีกคนหนึ่ง นั่นคือโมเซ. ท่านอาจจะดำรงชีวิตอย่างสะดวกสบายท่ามกลางความหรูหราฟุ้งเฟ้อแห่งอียิปต์. แต่ท่านกลับเลือก “ที่จะทนการเคี่ยวเข็ญด้วยกันกับพลไพร่ของพระเจ้าดีกว่ามีใจยินดีในการชั่วสักเวลาหนึ่ง.” ในฐานะผู้รับใช้ที่รับการแต่งตั้งจากพระยะโฮวา “ท่านเห็นแก่ประโยชน์บำเหน็จนั้น . . . ท่านมั่นใจอยู่เหมือนหนึ่งเห็นพระองค์ผู้ไม่ทรงปรากฏแก่ตา.”—เฮ็บราย 11:23-28.
7 ที่อาฤธโม 12:3 เราอ่านดังนี้: “โมเซนั้นเป็นคนถ่อมจิตใจอ่อนยิ่งมากกว่าคนทั้งปวงที่อยู่บนแผ่นดิน.” ตรงกันข้าม ฟาโรห์แห่งอียิปต์ประพฤติเสมือนเป็นคนยโสโอหังยิ่งกว่ามนุษย์ทั้งปวง. เมื่อพระยะโฮวาทรงบัญชาให้โมเซและอาโรนประกาศคำพิพากษาแก่ฟาโรห์ บุคคลทั้งสองมีปฏิกิริยาอย่างไร? เราอ่านดังนี้: “โมเซกับอาโรนได้ทำตามที่พระยะโฮวาทรงบัญชาพวกท่าน. ท่านได้ทำอย่างนั้นทีเดียว.” (เอ็กโซโด 7:4-7, ล.ม.) ช่างเป็นแบบอย่างความกล้าหาญอย่างแท้จริงสำหรับพวกเราซึ่งประกาศการพิพากษาของพระเจ้าในเวลานี้!
8. ชาวยิศราเอลถูกเรียกร้องอย่างไรให้ทำ “อย่างนั้นทีเดียว” และความชื่นชมยินดีอันเป็นผลสืบเนื่องในสมัยก่อนโน้นจะเกิดขึ้นอีกอย่างไรในอนาคตอันใกล้นี้?
8 ชาวยิศราเอลให้การสนับสนุนโมเซอย่างภักดีไหม? หลังจากพระยะโฮวาบันดาลพิบัติภัยเก้าในสิบประการลงเหนืออียิปต์แล้ว พระองค์ทรงชี้แจงโดยละเอียดเกี่ยวกับการฉลองปัศคา. “พลไพร่ทั้งปวงจึงได้ก้มศีรษะลงนมัสการ. พระยะโฮวารับสั่งแก่โมเซและอาโรนแล้วอย่างไร, ชนชาติยิศราเอลก็ได้กระทำอย่างนั้นทุกประการ [“พวกเขาทำอย่างนั้นทีเดียว,” ล.ม.].” (เอ็กโซโด 12:27, 28) ตอนเที่ยงคืนของวันสำคัญนั้น คือวันที่ 14 เดือนไนซาน ปี 1513 ก่อนสากลศักราช ทูตสวรรค์ของพระเจ้าได้ออกไปสังหารบุตรหัวปีทุกคนของชาวอียิปต์ แต่ทว่าผ่านบ้านชาวยิศราเอลไป. ทำไมจึงไว้ชีวิตบุตรหัวปีของยิศราเอล? เพราะพวกเขาได้รับการคุ้มครองเนื่องด้วยเลือดลูกแกะปัศคาที่เขาได้ประพรมตรงประตูบ้านของเขา. พวกเขาได้ทำตามที่พระยะโฮวาทรงบัญชาแก่โมเซและอาโรน. ใช่แล้ว ‘พวกเขาได้ทำอย่างนั้นทีเดียว.’ (เอ็กโซโด 12:50, 51) ที่ทะเลแดง พระยะโฮวาทรงกระทำการอันน่าอัศจรรย์อีกอย่างหนึ่ง เมื่อพระองค์ช่วยชีวิตไพร่พลของพระองค์ที่เชื่อฟัง ขณะเดียวกันก็ทรงทำลายฟาโรห์พร้อมด้วยยุทโธปกรณ์ทางทหารอันเกรียงไกรของเขา. ชาวยิศราเอลรู้สึกชื่นชมยินดีปานใด! ทุกวันนี้ก็เช่นกัน ประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ปฏิบัติตามพระบัญญัติของพระยะโฮวาจะมีความยินดีปรีดาที่ตนจะเป็นสักขีพยานคราวการพิสูจน์ให้เห็นว่า พระยะโฮวาเป็นฝ่ายถูก ณ อาร์มาเก็ดดอน.—เอ็กโซโด 15:1, 2; วิวรณ์ 15:3, 4.
9. การที่ชาวยิศราเอลทำ “อย่างนั้นทีเดียว” เมื่อสร้างพลับพลาประชุมเป็นภาพล่วงหน้าถึงสิทธิพิเศษอะไรในปัจจุบัน?
9 เมื่อพระยะโฮวาทรงบัญชาชาวยิศราเอลให้บริจาคและสร้างพลับพลาประชุมในถิ่นทุรกันดาร ผู้คนต่างก็สมัครใจสนับสนุนเต็มที่. ครั้นแล้ว โมเซพร้อมด้วยผู้ร่วมทำงานที่เต็มใจจึงดำเนินการไปตามแบบแปลนที่พระยะโฮวาทรงกำหนดไว้ กระทั่งรายละเอียดปลีกย่อยที่สุด. “ดังนี้แหละ เขาได้ทำการสำหรับพลับพลาประชุมให้เสร็จทุกประการ; พระยะโฮวาตรัสสั่งแก่โมเซอย่างไร, ชนชาติยิศราเอลก็ได้ทำอย่างนั้นทุกประการ [“พวกเขาทำอย่างนั้นทีเดียว,” ล.ม.].” ในทำนองเดียวกัน ณ การแต่งตั้งคณะปุโรหิต “พระยะโฮวาได้ตรัสสั่งให้โมเซทำประการใดท่านก็ได้กระทำดังนั้นทุกประการ [“ท่านทำอย่างนั้นทีเดียว,” ล.ม.].” (เอ็กโซโด 39:32; 40:16) ในสมัยปัจจุบัน พวกเรามีโอกาสสนับสนุนงานประกาศและแผนงานต่าง ๆ เพื่อการแผ่ขยายงานราชอาณาจักรด้วยสุดหัวใจเลยทีเดียว. ดังนั้น จึงเป็นสิทธิพิเศษของเราที่จะร่วมใจกันทำ “อย่างนั้นทีเดียว.”
ยะโฮซูอะ—กล้าหาญและเข้มแข็งจริง ๆ
10, 11. (ก) ที่ยะโฮซูอะประสบความสำเร็จได้นั้น อะไรเป็นปัจจัยสำคัญ? (ข) เราอาจได้การเสริมกำลังอย่างไรที่จะรับมือกับความยากลำบากต่าง ๆ สมัยปัจจุบัน?
10 เมื่อโมเซได้มอบหมายยะโฮซูอะนำชาติยิศราเอลเข้าสู่แผ่นดินแห่งคำสัญญา พระคำของพระยะโฮวาที่เขียนโดยการดลใจก็ดูเหมือนมีเพียงพระธรรมห้าเล่มแรกที่โมเซเขียน, เพลงสรรเสริญหนึ่งหรือสองบท, และพระธรรมโยบ. โมเซสั่งยะโฮซูอะให้รวบรวมไพร่พลมาประชุมกันเมื่อเขาไปถึงแผ่นดินแห่งคำสัญญา และ “อ่านพระบัญญัตินี้ให้พวกยิศราเอลทั้งปวงฟัง.” (พระบัญญัติ 31:10-12) นอกจากนั้น พระยะโฮวาเองได้ตรัสสั่งยะโฮซูอะดังนี้: “หนังสือกฎหมายนี้ไม่ควรให้ขาดจากปากของเจ้า และเจ้าต้องอ่านออกเสียงเบา ๆ ทั้งกลางวันกลางคืน เพื่อว่าเจ้าจะได้ทำตามสิ่งที่เขียนไว้นั้นทุกข้อทุกประการ เพราะถ้าเจ้าทำอย่างนั้นเจ้าจะบรรลุผลสำเร็จและเจ้าจะปฏิบัติอย่างสุขุมรอบคอบ.”—ยะโฮซูอะ 1:8, ล.ม.
11 การอ่าน “หนังสือ” ของพระยะโฮวาเป็นประจำทุกวันได้เตรียมยะโฮซูอะไว้พร้อมเพื่อรับมือกับการยากลำบากต่าง ๆ ในวันข้างหน้า เช่นเดียวกับการอ่านคัมภีร์ไบเบิลพระคำของพระยะโฮวาทุกวันย่อมเสริมกำลังพยานทั้งหลายของพระองค์สมัยนี้เพื่อจะรับมือกับความยากลำบากต่าง ๆ ใน “สมัยสุดท้าย” อันวิกฤตนี้. (2 ติโมเธียว 3:1, ล.ม.) ขณะที่เราถูกแวดล้อมด้วยโลกซึ่งมีความรุนแรง ขอให้เราใส่ใจรับเอาคำเตือนของพระเจ้าแก่ยะโฮซูอะที่ว่า “จงมีกำลังเข้มแข็งและมีใจมั่นคง; อย่าสะดุ้งตกใจกลัวเลย, เพราะว่าเจ้าจะไปทางใด ๆ ยะโฮวาพระเจ้าของเจ้าจะสถิตอยู่ด้วย.” (ยะโฮซูอะ 1:9) ภายหลังการยึดครองแผ่นดินคะนาอันได้แล้ว ตระกูลต่าง ๆ ในชาติยิศราเอลได้บำเหน็จอันอุดมเมื่อเข้าไปตั้งหลักแหล่งในแผ่นดินที่ได้เป็นกรรมสิทธิ์. “พระยะโฮวาได้ทรงรับสั่งไว้แก่โมเซแล้วฉันใด, พวกยิศราเอลก็ได้แบ่งปันแผ่นดินด้วยการจับฉลากกันฉันนั้น.” (ยะโฮซูอะ 14:5) บำเหน็จคล้ายคลึงกันมีอยู่ข้างหน้าสำหรับพวกเราทุกคนสมัยนี้ที่อ่านพระคำของพระเจ้าและนำไปใช้ในชีวิต โดยทำ “อย่างนั้นทีเดียว” ด้วยความเชื่อฟัง.
บรรดากษัตริย์—ที่ซื่อสัตย์และที่ไม่เชื่อฟัง
12. (ก) มีการให้คำสั่งอะไรแก่บรรดากษัตริย์ในแผ่นดินยิศราเอล? (ข) การที่กษัตริย์หลายองค์ละเลยไม่เชื่อฟังมีผลอะไรตามมา?
12 แล้วกษัตริย์องค์ต่าง ๆ ในแผ่นดินยิศราเอลล่ะ? พระยะโฮวาทรงวางข้อกำหนดนี้แก่กษัตริย์: “เมื่อผู้นั้นนั่งบนที่นั่งในแผ่นดินของท่านแล้ว, ท่านจะได้ลอกเขียนพระบัญญัติเหล่านี้, ออกไว้จากหนังสือพระบัญญัติที่อยู่กับพวกปุโรหิตและพวกเลวี: และพระบัญญัตินั้นจะต้องอยู่กับท่าน และท่านจะต้องอ่านพระบัญญัตินั้นมิได้ขาดจนสิ้นชีวิต; เพื่อจะได้เรียนการที่จะเกรงกลัวพระยะโฮวาพระเจ้าของตน, และจะได้รักษาบรรดาถ้อยคำในพระบัญญัติ, และข้อกฎหมายเหล่านี้, และประพฤติตาม.” (พระบัญญัติ 17:18, 19) กษัตริย์องค์ต่าง ๆ ในชาติยิศราเอลได้เชื่อฟังคำสั่งนั้นไหม? ส่วนใหญ่แล้ว พวกเขาพลาดไปอย่างน่าสังเวช ดังนั้นเขาจึงต้องประสบความทุกข์ยากตามคำสาปแช่งล่วงหน้าตามที่กล่าวในพระบัญญัติ 28:15-68. ในที่สุด ชาติยิศราเอลก็กระจัดกระจายไป อยู่ “ตั้งแต่สุดโลกข้างนี้จนถึงสุดข้างโน้น.”
13. โดยการแสดงความรักต่อพระคำของพระเจ้า เราอาจได้ประโยชน์เช่นเดียวกับดาวิดอย่างไร?
13 อย่างไรก็ตาม ดาวิด—กษัตริย์ที่เป็นมนุษย์ที่ซื่อสัตย์องค์แรกในแผ่นดินยิศราเอล—ได้แสดงความเลื่อมใสพิเศษจำเพาะต่อพระยะโฮวา. ท่านพิสูจน์ให้เห็นว่าท่านเป็น ‘ลูกสิงโตในยูดา’ เป็นภาพล่วงหน้าถึงพระเยซูคริสต์ “สิงโตแห่งตระกูลยูดา รากของดาวิด” ผู้มีชัย. (เยเนซิศ 49:8, 9; วิวรณ์ 5:5, ล.ม.) ดาวิดได้พลังจากแหล่งใด? ท่านหยั่งรู้ค่าอย่างลึกซึ้งต่อพระคำของพระยะโฮวาที่จารึกไว้ และดำเนินชีวิตตามพระคำนั้น. ในเพลงสรรเสริญบท 19 เราอ่านดังนี้: “กฎหมายของพระยะโฮวาดีรอบคอบ.” หลังจากการอ้างถึงข้อเตือนใจ, คำสั่ง, พระบัญญัติ, และคำพิพากษาตัดสินของพระยะโฮวาแล้ว ดาวิดกล่าวต่อไปว่า “คำพิพากษาเหล่านั้นเป็นที่น่าปรารถนายิ่งกว่าทองคำ ใช่แล้ว ยิ่งกว่าทองนพคุณ; และหวานยิ่งกว่าน้ำผึ้ง คือน้ำผึ้งที่หยดจากรวง. นอกจากนั้น ผู้รับใช้ของพระองค์ได้รับการเตือนสติจากข้อความเหล่านี้; การรักษาข้อความเหล่านั้นไว้ก็มีบำเหน็จเป็นอันมาก.” (บทเพลงสรรเสริญ 19:7-11, ล.ม.) ถ้าการอ่านพระคำของพระยะโฮวาทุกวันเป็นประจำพร้อมกับการคิดรำพึงข้อความเหล่านั้นมีบำเหน็จเมื่อ 3,000 ปีมาแล้ว บำเหน็จจะมากยิ่งกว่านั้นสักเพียงใดในสมัยนี้!—บทเพลงสรรเสริญ 1:1-3; 13:6; 119:72, 97, 111.
14. แนวทางชีวิตของซะโลโมแสดงให้เห็นอย่างไรว่าแค่มีความรู้เท่านั้นไม่พอ?
14 ถึงกระนั้น เพียงการรับเอาความรู้เท่านั้นยังไม่พอ. เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกันที่ผู้รับใช้ของพระเจ้าจะปฏิบัติตามความรู้นั้น ใช้ความรู้นั้นตามพระประสงค์ของพระเจ้า ใช่แล้ว ทำ “อย่างนั้นทีเดียว.” เรื่องนี้อาจยกตัวอย่างในกรณีของซะโลโมราชบุตรดาวิดเป็นตัวอย่าง ผู้ซึ่งพระยะโฮวาทรงโปรดเลือก “ให้ขึ้นนั่งบนพระที่นั่งแผ่นดินของพระยะโฮวาให้ครอบครองพวกยิศราเอล.” ซะโลโมได้รับหน้าที่มอบหมายให้สร้างพระวิหาร โดยใช้แบบแปลนการก่อสร้างซึ่งดาวิดได้รับโดยการ “ดลใจ.” (1 โครนิกา 28:5, 11-13) ซะโลโมสามารถทำงานใหญ่หนักหนาเช่นนี้ให้สำเร็จได้อย่างไร? เมื่อทรงตอบคำอธิษฐาน พระยะโฮวาได้ประทานสติปัญญาและความรู้แก่ท่าน. ด้วยสติปัญญาและความรู้ที่ท่านได้รับ และโดยยึดมั่นกับแบบแปลนตามการจัดเตรียมของพระเจ้า ซะโลโมจึงสามารถก่อสร้างราชสำนักที่โอ่อ่าตระการตาเช่นนั้นได้ ซึ่งต่อมาเต็มไปด้วยสง่าราศีของพระยะโฮวา. (2 โครนิกา 7:2, 3) แต่ถึงกระนั้น ในเวลาต่อมา ซะโลโมก็พลาดพลั้ง. ในเรื่องใด? กฎหมายของพระยะโฮวาแจ้งเกี่ยวด้วยกษัตริย์ในแผ่นดินยิศราเอลดังนี้: “ผู้ครอบครองนั้นห้ามมิให้มีมเหสีมาก, เพื่อมิให้ใจหันหวนเสีย.” (พระบัญญัติ 17:17) แต่ซะโลโม “มีนางห้ามเจ็ดร้อยคน, เป็นเชื้อกษัตริย์, และนางห้ามธรรมดาสามร้อยคน; นางห้ามเหล่านั้นก็ทำให้พระทัยของพระองค์ . . . หลงปฏิบัติพระอื่น.” พอถึงช่วงปลายรัชกาลของท่าน ซะโลโมได้หันเหไปอีกทางหนึ่ง หาได้ทำ “อย่างนั้นทีเดียว” ไม่.—1 กษัตริย์ 11:3, 4; นะเฮมยา 13:26.
15. โยซียาได้ทำ “อย่างนั้นทีเดียว” อย่างไร?
15 กษัตริย์ที่เชื่อฟังมีไม่กี่องค์ในแผ่นดินยูดา องค์สุดท้ายที่เชื่อฟังคือโยซียา. ในปี 648 ก่อนสากลศักราช ท่านเริ่มกำจัดการบูชารูปเคารพให้หมดไปจากแผ่นดิน ทั้งได้ฟื้นฟูบูรณะพระวิหารของพระยะโฮวา. ณ ที่นั่นเอง ปุโรหิตใหญ่ได้พบ “หนังสือพระบัญญัติของพระยะโฮวาซึ่ง (ประกาศ) โดยโมเซ.” โยซียาทรงดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไร? “[“กษัตริย์,” ล.ม.] จึงเสด็จขึ้นไปยังโบสถ์วิหารของพระยะโฮวา, พร้อมด้วยบรรดาชาวชนแผ่นดินยูดา, และชาวกรุงยะรูซาเลม, กับพวกปุโรหิตและพวกเลวี, และราษฎรทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อย; แล้วทรงอ่านให้เขาฟังถ้อยคำทั้งปวงในหนังสือคำสัญญาไมตรีนั้น, ที่เขาได้พบปะในโบสถ์วิหารของพระยะโฮวา. กษัตริย์ได้ยืนบนที่สูงทำคำสัตย์สาบานต่อพระพักตร์พระยะโฮวารับสัญญาว่า, จะแสวงหาพระยะโฮวา จะถือรักษาบทพระบัญญัติ, กับกฎหมายและข้อตัดสินของพระองค์, ด้วยสิ้นสุดใจและสุดจิตต์วิญญาณของตน, ทั้งจะกระทำตามซึ่งเขียนไว้ในหนังสือสัญญาไมตรีนี้.” (2 โครนิกา 34:14, 30, 31) ใช่แล้ว โยซียาได้ “ทำอย่างนั้นทีเดียว.” แนวทางอันซื่อสัตย์ของท่านยังผลให้ชะลอเวลาลงโทษตามการพิพากษาของพระยะโฮวาต่อชาวแผ่นดินยูดาที่ขาดความเชื่อ จนถึงสมัยเหล่าโอรสของท่านที่ละเลยกฎหมาย.
ดำเนินชีวิตตามพระคำของพระเจ้า
16, 17. (ก) เราจำต้องเจริญรอยตามพระเยซูในแง่ไหน? (ข) มีใครอื่นอีกที่เป็นผู้รับใช้ซื่อสัตย์ของพระเจ้า ซึ่งให้ตัวอย่างแก่พวกเรา?
16 ในบรรดามวลมนุษย์ทั้งสิ้นที่เคยอยู่บนแผ่นดินโลก พระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นแบบอย่างอันดีเลิศในเรื่องการใคร่ครวญพิจารณาพระคำของพระเจ้าและการดำเนินชีวิตตามพระคำ. พระคำของพระเจ้าเป็นประหนึ่งอาหารสำหรับพระองค์. (โยฮัน 4:34) พระองค์ได้ตรัสแก่ผู้ที่ฟังพระองค์ว่า “พระบุตรจะทำสิ่งใดตามความริเริ่มของตนเองไม่ได้เลย เว้นแต่ที่ได้เห็นพระบิดาทรงกระทำ. เพราะว่าสิ่งใด ๆ ที่พระองค์ทรงกระทำ พระบุตรก็ทรงกระทำในลักษณะเดียวกัน.” (โยฮัน 5:19, 30; 7:28; 8:28, 42, ล.ม.) พระเยซูได้ทำ “อย่างนั้นทีเดียว” โดยทรงแถลงว่า “เราได้ลงมาจากสวรรค์ มิใช่เพื่อจะกระทำตามความประสงค์ของเรา แต่เพื่อจะทำตามความประสงค์ของพระองค์ผู้ทรงใช้เรามา.” (โยฮัน 6:38, ล.ม.) พวกเราฐานะเป็นพยานของพระยะโฮวาถูกเรียกให้กระทำ “อย่างนั้นทีเดียว” โดยเจริญรอยตามพระเยซู.—ลูกา 9:23; 14:27; 1 เปโตร 2:21.
17 การทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าเป็นเรื่องสำคัญยิ่งในพระทัยของพระเยซูเสมอ. พระองค์ทรงคุ้นเคยกับพระวจนะของพระเจ้าอย่างทะลุปรุโปร่ง และด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงเตรียมพร้อมที่จะให้คำตอบตามหลักพระคัมภีร์. (มัดธาย 4:1-11; 12:24-31) โดยการเอาใจใส่พระคำของพระเจ้าอยู่เสมอ พวกเราก็เช่นกันจะได้เป็นผู้ที่ “มีคุณสมบัติครบถ้วน เตรียมพร้อมสำหรับการดีทุกอย่าง.” (2 ติโมเธียว 3:16, 17, ล.ม.) ขอให้เราติดตามตัวอย่างผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวาในสมัยโบราณและยุคต่อมา และที่สำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือตัวอย่างของพระเยซูคริสต์ นายของเราซึ่งได้ตรัสว่า “เพื่อโลกจะได้รู้ว่าเรารักพระบิดา และพระบิดาทรงมีพระบัญชาให้เรากระทำอย่างไร เราก็กระทำอย่างนั้น.” (โยฮัน 14:31, ล.ม.) ขอให้พวกเราแสดงความรักต่อพระเจ้าเช่นกัน โดยกระทำ “อย่างนั้นทีเดียว” อยู่เรื่อยไป.—ลูกา 12:29-31.
18. อะไรน่าจะกระตุ้นเราให้ “เป็นผู้ปฏิบัติตามพระคำ” และคราวหน้านี้จะมีการพิจารณาเรื่องอะไร?
18 ขณะที่เราใคร่ครวญพิจารณาการกระทำของผู้รับใช้พระเจ้าสมัยพระคัมภีร์ เราได้รับการหนุนกำลังใจมิใช่หรือที่จะปฏิบัติรับใช้ด้วยความซื่อสัตย์ในช่วงปลายแห่งระบบชั่วของซาตาน? (โรม 15:4-6) จริง ๆ แล้ว เราน่าจะรับแรงกระตุ้นให้ “เป็นผู้ปฏิบัติตามพระคำ” อย่างเต็มที่ ดังที่จะมีการพิจารณาเรื่องนี้ในบทความถัดไป.—ยาโกโบ 1:22, ล.ม.
คุณจำได้ไหม?
▫ “ความรักต่อพระเจ้า” น่าจะหมายถึงอะไรสำหรับพวกเรา?
▫ เราเรียนอะไรจากตัวอย่างของโนฮา, โมเซ, และยะโฮซูอะ?
▫ บรรดากษัตริย์ในแผ่นดินยิศราเอลได้เชื่อฟังพระคำของพระเจ้าถึงขีดไหน?
▫ พระเยซูทรงเป็นบุคคลตัวอย่างสำหรับพวกเราอย่างไร ด้วยการทำ “อย่างนั้นทีเดียว”?
[รูปภาพหน้า 15]
โนฮา, โมเซ, และยะโฮซูอะ “ทำอย่างนั้นทีเดียว”