โยนาเรียนรู้ถึงความเมตตาของพระยะโฮวา
พระยะโฮวาทรงมอบหมายงานให้กับโยนาผู้พยากรณ์ของพระองค์. เวลานั้นเป็นศตวรรษที่เก้าก่อนสากลศักราช และกษัตริย์ยาราบะอามที่สองปกครองอยู่ในแผ่นดินยิศราเอล. โยนามาจากเมืองฆัธเฮเฟรซึ่งเป็นเมืองหนึ่งของตระกูลซะบูโลน. (ยะโฮซูอะ 19:10, 13; 2 กษัตริย์ 14:25) พระเจ้าทรงส่งโยนาไปนีนะเวเมืองหลวงของอัสซีเรียซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้านเกิดของท่าน ไกลออกไปมากกว่า 800 กิโลเมตร. ท่านจะต้องเตือนชาวนีนะเวว่า พวกเขาจะประสบกับการพิพากษาโดยพระเจ้า.
โยนาอาจคิดว่า ‘ไปยังเมืองนีนะเวแห่งอัสซีเรียหรือ? พวกเขาไม่ได้อุทิศตัวแด่พระเจ้าด้วยซ้ำ. ชาวอัสซีเรียที่กระหายเลือดพวกนี้ไม่เคยเข้าสู่พันธสัญญากับพระเจ้าเหมือนชาติยิศราเอล. ประชาชนของชาติที่ชั่วช้านี้อาจมองดูคำเตือนของข้าฯว่าเป็นคำขู่คุกคามแล้วยกมาย่ำยียิศราเอลก็ได้! ไม่ ไม่ใช่ข้าฯ. ข้าฯจะไม่ไป. ข้าฯจะหนีไปเมืองยบเปและนั่งเรือบ่ายหน้าไปทิศตรงข้าม—รวดเดียวให้ถึงเมืองธาระซิศ ไปให้ถึงปลายอีกด้านหนึ่งของทะเลใหญ่ไปเลย. นั่นคือสิ่งที่ข้าฯจะทำ!’—โยนา 1:1-3.
ภยันตราย ณ ทะเล!
ไม่ช้า โยนาก็อยู่ที่ยบเปเมืองท่าบนชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน. ท่านจ่ายค่าโดยสารแล้วขึ้นเรือที่จะมุ่งหน้าไปยังเมืองธาระซิศ ซึ่งเข้าใจกันโดยทั่วไปว่าเป็นส่วนหนึ่งของสเปน อยู่ทางด้านทิศตะวันตกไกลออกไปจากเมืองนีนะเวกว่า 3,500 กิโลเมตร. พอออกทะเล ผู้พยากรณ์ที่เหนื่อยล้าก็ลงไปยังห้องเก็บของและหลับไป. ยังไม่ทันจะไปได้ไกล พระยะโฮวาทรงขับกระแสลมใหญ่ขึ้นเหนือทะเล และบรรดาลูกเรือต่างพากันกลัวและร้องขอต่อพระของตนให้ช่วย. เรือโยนขึ้นโยนลงและโคลงไปเคลงมาจนต้องโยนสินค้าทิ้งทะเลไปเพื่อเรือจะเบาขึ้น. กระนั้น ดูเหมือนเรือจะอับปางแน่ และโยนาก็ได้ยินเสียงกัปตันเรืออุทานลั่นว่า “เจ้าคนขี้เซา, อย่างไรกันนี่? ลุกขึ้นเถอะ, ร้องขอต่อพระเจ้า, ชะรอยพระองค์นั้นจะทรงระลึกถึงพวกเราบ้าง, เพื่อเราจะมิได้พินาศไป.” โยนาก็ลุกและขึ้นไปยังดาดฟ้าเรือ.—โยนา 1:4-6.
“มาเถอะ, ให้เราจับฉลากกัน,” พวกลูกเรือชักชวนกัน “เพื่อเราจะรู้ว่าใครเป็นต้นเหตุที่ให้เกิดภัยอันนี้แก่พวกเรา.” ฉลากนั้นมาตกอยู่ที่โยนา. ลองนึกภาพความกระวนกระวายใจของท่านขณะที่พวกลูกเรือกล่าวแก่ท่านว่า “ขอท่านจงบอกเราให้ทราบว่า, ท่านมานี่ด้วยธุระอะไร? และท่านมาจากไหน? บ้านเมืองของท่านชื่ออะไร? และท่านเป็นคนเชื้อชาติอะไร?” โยนาตอบว่า ท่านเป็นชาวฮีบรูผู้นมัสการ “พระเจ้า [“พระยะโฮวา,” ล.ม.] แห่งสรวงสวรรค์” และนับถือยำเกรงในพระองค์ “ผู้ได้ทรงสร้างทะเลและพื้นแผ่นดิน.” พายุได้เกิดขึ้นแก่พวกเขาเพราะท่านหนีจากเฉพาะพระพักตร์พระยะโฮวาแทนที่จะเชื่อฟังพระบัญชาให้นำข่าวสารไปถึงเมืองนีนะเว.—โยนา 1:7-10.
พวกลูกเรือถามท่านว่า “พวกเราจะทำอะไรกับตัวท่านดีเพื่อทะเลจะได้สงบลง?” ขณะที่ทะเลปั่นป่วนมากขึ้นทุกที โยนากล่าวว่า “จงจับตัวเราโยนลงไปในทะเลก็แล้วกัน, ทะเลก็จะสงบลง, เพราะเรารู้อยู่ว่าทะเลเกิดปั่นป่วนเช่นนี้ก็เนื่องมาจากตัวเรานี่เอง.” แต่คนเหล่านั้นไม่ต้องการโยนผู้รับใช้ของพระยะโฮวาให้ลงไปตายสถานเดียวในทะเล พวกเขาจึงพยายามนำเรือเข้าฝั่งอย่างเต็มกำลัง. เมื่อไม่เป็นผล พวกลูกเรือจึงร้องวิงวอนว่า “โอ้พระยะโฮวา, ข้าพเจ้าขอวิงวอนพระองค์ด้วยสุดใจ, อย่าให้พวกข้าพเจ้าพินาศไปเนื่องจากชีวิตของชายคนนี้และอย่าทรงลงโทษแก่พวกข้าพเจ้าในการที่ประหารชีวิตเขา. ด้วยว่าพระองค์ โอ้พระยะโฮวา, ได้ทรงกระทำไปแล้วตามที่พระองค์ทรงเห็นชอบ.”—โยนา 1:11-14.
จมลงในทะเล!
เมื่อเป็นดังนั้น พวกลูกเรือจึงจับตัวโยนาโยนจากเรือ. ขณะที่ท่านจมลงไป ทะเลที่ปั่นป่วนคลุ้มคลั่งก็พลันสงบลง. เมื่อเห็นดังนั้น “คนทั้งหลายก็ยำเกรงพระยะโฮวาเป็นที่ยิ่ง; และเขาได้ถวายเครื่องบูชาแด่พระยะโฮวา, และให้สัตย์ปฏิญาณไว้กับพระองค์.”—โยนา 1:15,16.
ชั่วขณะที่ท่านจมลงใต้น้ำนั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่าโยนากำลังอธิษฐานอยู่. จากนั้นท่านก็รู้สึกว่าตัวเองกำลังลื่นไถลไปตามช่องอันอ่อนนิ่มเข้าไปสู่โพรงขนาดใหญ่. ช่างอัศจรรย์เสียจริง ๆ ท่านยังสามารถหายใจได้. เมื่อดึงสาหร่ายทะเลที่คล้องพันศีรษะของท่านออกแล้ว โยนาก็พบว่าท่านอยู่ในสถานที่พิเศษไม่มีที่ใดเหมือนอย่างแท้จริง. ทั้งนี้เป็นเพราะ “พระยะโฮวาได้ทรงเตรียมปลาใหญ่ไว้ตัวหนึ่งสำหรับให้กลืนโยนาเข้าไป; และโยนาก็อยู่ในท้องปลานั้นสามวันสามคืน.”—โยนา 1:17.
คำอธิษฐานอันแรงกล้าของโยนา
ในท้องปลายักษ์โยนามีเวลาที่จะอธิษฐาน. ถ้อยคำของท่านบางส่วนคล้ายคลึงกับบทเพลงสรรเสริญบางบท. ในภายหลัง โยนาได้บันทึกคำอธิษฐานของท่านซึ่งแสดงความรู้สึกทั้งความสิ้นหวังและความสำนึกผิด. ตัวอย่างเช่น ในความคิดของท่านดูเหมือนท้องปลาตัวนั้นจะกลายเป็นเชโอลหรือหลุมฝังศพสำหรับท่าน. ดังนั้น ท่านอธิษฐานดังนี้: “ในคราวทุกข์ยากลำบาก, ข้าพเจ้าได้ร้องเรียกพระยะโฮวา, แล้วพระองค์ได้ทรงขานรับข้าพเจ้า; ข้าพเจ้าได้ร้องออกไปจากขุมท้องแห่งเมืองผี, และพระองค์ได้ทรงยินเสียงของข้าพเจ้า.” (โยนา 2:1, 2) บทเพลงสองบทของพวกที่เดินทางขึ้นไป—น่าจะเป็นเพลงซึ่งร้องในยามที่ชาวยิศราเอลขึ้นไปยังกรุงยะรูซาเลมเพื่อฉลองเทศกาลประจำปี—แสดงถึงความคิดที่คล้ายกัน.—บทเพลงสรรเสริญ 120:1; 130:1, 2.
เมื่อรำพึงถึงการจมดิ่งสู่ท้องทะเล โยนาอธิษฐานโดยกล่าวว่า “เพราะพระองค์ได้ทรงเหวี่ยงข้าพเจ้าลงไปยังที่ลึก, ในใจกลางแห่งทะเล; อันมีน้ำอยู่ล้อมรอบข้าพเจ้า: ละลอกและคลื่นทั้งหลายของพระองค์ซัดผ่านข้าพเจ้าไป.”—โยนา 2:3; เทียบกับบทเพลงสรรเสริญ 42:7; 69:2.
โยนากลัวว่าการไม่เชื่อฟังของท่านจะหมายถึงการสูญเสียความโปรดปรานจากพระเจ้า และท่านจะไม่มีโอกาสได้เห็นพระวิหารของพระองค์อีก. ท่านอธิษฐานว่า “ข้าพเจ้าจึงว่า, ข้าพเจ้าถูกทอดทิ้งไปจากพระเนตรของพระองค์. ถึงกระนั้นข้าพเจ้ายังจะมองเพ่งไปทางพระวิหารอันบริสุทธิ์ของพระองค์อีก [ได้อย่างไร?, ล.ม.].” (โยนา 2:4; เทียบกับบทเพลงสรรเสริญ 31:22.) สภาพการณ์ของโยนาดูเหมือนจะเลวร้ายมากจนท่านกล่าวว่า “น้ำก็ท่วมมิดตัวข้าพเจ้า, ท่วมกะทั่งมิดใจข้าพเจ้า; ทะเลลึกอยู่รอบข้างข้าพเจ้า; สาหร่ายทะเลก็คล้องพันศีรษะข้าพเจ้าไว้.” (โยนา 2:5; เทียบกับบทเพลงสรรเสริญ 69:1.) ลองนึกสภาพของโยนาดู เมื่อท่านกล่าวต่อไปว่า “ข้าพเจ้าดิ่งลงไปถึงฐานแห่งภูเขา [ในท้องปลา]; ธรณี [เหมือนหลุมฝังศพ] จะกักขังข้าพเจ้าไว้เป็นนิตย์. ถึงกระนั้น, โอ้พระยะโฮวาพระเจ้าของข้าพเจ้า, พระองค์ยังได้ทรงกระทำให้ข้าพเจ้าฟื้นคืนชีวิตออกมาจากความตายนั้น [ในวันที่สาม].”—โยนา 2:6; เทียบกับบทเพลงสรรเสริญ 30:3.
แม้จะอยู่ในท้องปลา โยนาไม่ได้คิดว่า ‘ข้าฯรู้สึกหดหู่เสียจนไม่อาจอธิษฐานได้เลย.’ ตรงกันข้าม ท่านอธิษฐานดังนี้: “ขณะจิตต์วิญญาณข้าพเจ้ามอดลงไป [ใกล้ตาย], ข้าพเจ้าได้ระลึกถึง [ด้วยความเชื่อในอำนาจและความเมตตาอันไม่มีผู้ใดเปรียบได้ของ] พระยะโฮวา, และคำอธิษฐานของข้าพเจ้านั้นได้ไปถึงพระองค์ ณ พระวิหารอันบริสุทธิ์ของพระองค์.” (โยนา 2:7) จากพระวิหารทางภาคสวรรค์ พระเจ้าทรงได้ยินเสียงของโยนาและช่วยท่านให้รอด.
ในคำลงท้ายโยนาอธิษฐานว่า “ผู้ที่สนใจในสิ่งที่เหลวไหลไม่เที่ยงแท้ [โดยการวางใจในรูปเคารพแห่งพระเท็จที่ปราศจากชีวิต] ย่อมสละทิ้งโอกาสของตนที่จะได้รับพระกรุณานั้นเสีย [ด้วยเหตุที่ได้ละทิ้งพระองค์ผู้ทรงสำแดงพระกรุณานั้น]. ฝ่ายข้าพเจ้าถวายเครื่องบูชาแก่พระองค์ [พระยะโฮวาพระเจ้า] ด้วยออกเสียงขอบพระคุณพระองค์, ข้าพเจ้าจะแก้สินบนในส่วนที่ข้าพเจ้าได้บนบานไว้; ความรอดนั้นมาจากพระยะโฮวา.” (โยนา 2:8, 9; เทียบกับบทเพลงสรรเสริญ 31:6; 50:14.) โดยสำนึกว่า เฉพาะพระเจ้าเท่านั้นที่สามารถช่วยท่านรอดจากความตายได้ ท่านผู้พยากรณ์ที่กลับใจ (เช่นเดียวกับกษัตริย์ดาวิดและซะโลโมก่อนหน้านี้) ได้กล่าวอ้างถึงพระยะโฮวาฐานะเป็นแหล่งแห่งความรอด.—บทเพลงสรรเสริญ 3:8; สุภาษิต 21:31.
โยนาแสดงการเชื่อฟัง
หลังจากที่ได้ใคร่ครวญอย่างดีและอธิษฐานอย่างจริงจัง โยนาก็รู้สึกว่า ท่านถูกแรงบางอย่างผลักดันตัวท่านให้ออกไปทางช่องที่ท่านเคยเข้ามา. ในที่สุด ท่านก็ถูกคายไว้บนฝั่ง. (โยนา 2:10) ด้วยสำนึกในพระกรุณาที่ทรงช่วยให้รอดออกมา โยนาจึงเชื่อฟังพระบัญชาของพระเจ้าที่ว่า “จงลุกขึ้นไปยังนีนะเวกรุงใหญ่นั้น, และป่าวประกาศแก่กรุงนั้นตามข้อความที่เราสั่งให้เจ้าประกาศนั้น.” (โยนา 3:1,2) โยนาออกเดินทางไปยังเมืองหลวงของอัสซีเรีย. เมื่อท่านรู้ว่าเป็นวันอะไร จึงได้ทราบว่าท่านอยู่ในท้องปลาเป็นเวลาสามวัน. ท่านผู้พยากรณ์ข้ามแม่น้ำยูเฟรติส ณ จุดโค้งใหญ่ด้านตะวันตก เดินทางไปทางทิศตะวันออกข้ามเมโสโปเตเมียตอนเหนือไป จนมาถึงแม่น้ำไทกริส และในที่สุดก็มาถึงกรุงใหญ่นั้น.—โยนา 3:3.
โยนาเข้าไปในเมืองนีนะเว กรุงซึ่งเป็นเมืองใหญ่. ท่านเดินเข้าไปในเมืองหนึ่งวันและประกาศว่า “อีกสี่สิบวันกรุงนีนะเวจะถูกทำลายให้พินาศไป.” โยนาได้รับการประสาทพรให้รู้ภาษาของชาวอัสซีเรียโดยวิธีอัศจรรย์อย่างนั้นไหม? เราไม่ทราบ. แต่ถึงแม้ท่านจะพูดเป็นภาษาฮีบรูและให้บางคนแปล การป่าวประกาศของท่านก็บังเกิดผล. ชาวเมืองนีนะเวเริ่มแสดงความเชื่อในพระเจ้า. พวกเขาป่าวประกาศให้ประชาชนอดอาหารและนุ่งห่มด้วยผ้าเนื้อหยาบ, ตั้งแต่คนชั้นสูงที่สุดจนถึงคนชั้นต่ำที่สุด. เมื่อข่าวนั้นทรงทราบไปถึงกษัตริย์นีนะเว, ท่านได้ทรงลุกขึ้นจากพระที่นั่งของท่าน, ทรงเปลื้องฉลองพระองค์ออก, ทรงผ้าเนื้อหยาบแทนและทรงนั่งที่กองขี้เถ้า.—โยนา 3:4-6.
โยนาประหลาดใจสักเพียงใด! กษัตริย์อัสซีเรียได้ออกหมายประกาศซึ่งมีใจความว่า “ห้ามไม่ให้คนหรือสัตว์, โขลงหรือฝูงสัตว์, กินอะไรแม้แต่น้อย; ห้ามไม่ให้กินอาหารหรือดื่มน้ำ; แต่ให้ทั้งคนและสัตว์คลุมตัวด้วยผ้าเนื้อหยาบ; และให้ตั้งจิตต์ตั้งใจร้องทุกข์ต่อพระเจ้า, คือให้ทุกคนเลิกประพฤติในทางชั่ว, และเลิกการร้ายที่กำลังกระทำอยู่. ใครจะรู้ได้ว่าพระเจ้าจะไม่ทรงกลับและเปลี่ยนพระทัย, และคลายจากพระพิโรธอันร้ายแรง; และเราจะไม่ถึงซึ่งความพินาศไป?”—โยนา 3:7-9.
ชาวเมืองนีนะเวทำตามพระราชโองการแห่งกษัตริย์ของพวกเขา. ครั้นพระเจ้าได้ทรงเห็นการกระทำของเขา, ที่เขาได้หันกลับไม่ประพฤติในทางชั่วต่อไป, พระองค์ก็ทรงเสียพระทัยที่ได้ตรัสว่าจะนำความหายนะมาสู่พวกเขา ด้วยเหตุนั้น พระองค์จึงมิได้ทรงกระทำให้เกิดความหายนะนั้น. (โยนา 3:10) เนื่องด้วยการกลับใจ, ความถ่อม, และความเชื่อของพวกเขา พระยะโฮวาจึงตัดสินพระทัยไม่ทำตามการพิพากษาที่ทรงตั้งพระทัยเอาไว้.
ผู้พยากรณ์ผู้บึ้งตึง
สี่สิบวันผ่านไปและไม่มีอะไรเกิดขึ้นแก่นีนะเว. (โยนา 3:4) เมื่อรู้ว่าชาวนีนะเวจะไม่ถูกทำลาย โยนาไม่พอใจอย่างมาก เป็นเดือดเป็นแค้นและอธิษฐานว่า “ข้าแต่พระยะโฮวา, ข้าพเจ้าขอทูลพระองค์ว่า, ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้เมื่อข้าพเจ้ายังอยู่ในบ้านเมืองของข้าพเจ้าว่าจะเป็นอย่างนี้มิใช่หรือ? เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงได้รีบหนีไปยังเมืองธาระซิศ; เพราะข้าพเจ้ารู้ว่าพระองค์เป็นพระเจ้าผู้ประกอบไปด้วยพระมหากรุณาธิคุณและความเมตตาปรานี, ไม่ใคร่ทรงกริ้วโกรธ, สมบูรณ์ไปด้วยความเมตตาอารีรักพร้อมที่จะเปลี่ยนพระทัยไม่ลงโทษผู้ใด. เพราะฉะนั้น, ข้าแต่พระยะโฮวา, บัดนี้ขอพระองค์ทรงเอาชีวิตของข้าพเจ้าไปเสียเถอะ, เพราะว่าข้าพเจ้าจะตายเสียก็ดีกว่าที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป.” พระเจ้าทรงตอบด้วยคำถามดังนี้: “การที่เจ้าโกรธเช่นนี้ถูกหรือ?”—โยนา 4:1-4.
ได้ฟังดังนั้น โยนาก็เดินปั้นปึ่งออกจากเมืองไป. ท่านออกไปทางตะวันออก แล้วสร้างเพิงขึ้นเพื่อจะได้นั่งอยู่ใต้ร่มเพิงจนจะได้เห็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นแก่เมืองนั้น. ฝ่ายพระยะโฮวาทรงแสดงพระเมตตาโดย “ทรงให้ต้นละหุ่งงอกขึ้นมา, และทรงให้มันเจริญขึ้นเหนือที่ซึ่งโยนาอยู่, ให้เป็นร่มศีรษะของท่านไว้เพื่อบรรเทาทุกข์ความกลุ้มใจในเรื่องนี้.” โยนาช่างมีความยินดีเสียจริง ๆ ที่มีละหุ่งต้นนี้! แต่พระเจ้าทรงให้มีหนอนตัวหนึ่งมากัดกินต้นละหุ่งนั้นเสียในเวลาเช้า และมันก็เริ่มเหี่ยวเฉา. ไม่ช้าก็แห้งเหี่ยวจนสิ้น. พระเจ้ายังทรงให้ลมตะวันออกที่ร้อนระอุพัดมาด้วย. ถึงตอนนี้แสงแดดแผดกล้าลงบนศีรษะผู้พยากรณ์จนท่านเป็นลมไป. ท่านร่ำร้องขอแต่ความตาย. โยนาพูดพร่ำอยู่ดังนี้: “ตายเสียก็ดีกว่าที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป.”—โยนา 4:5-8.
บัดนี้พระยะโฮวาจึงตรัส. พระองค์ทรงถามโยนาว่า “การที่เจ้าโกรธเพราะเรื่องต้นละหุ่งนั้นถูกหรือ?” โยนาตอบว่า “การที่ข้าพเจ้าโกรธถึงกับอยากตายนั้นถูกแล้ว.” พระยะโฮวาจึงตรัสกับผู้พยากรณ์ว่า, “ตัวเจ้ายังเสียดายต้นละหุ่งซึ่งเจ้าเองก็มิได้ลงแรงปลูกหรือมิได้ทำอะไรเพื่อให้มันเจริญขึ้น. มันงอกเจริญขึ้นในคืนเดียว, แล้วก็ตายไปในคืนเดียวดุจกัน.” พระเจ้าทรงหาเหตุผลกับโยนาต่อไปว่า “อันตัวเราจะไม่อาลัยนีนะเวกรุงใหญ่นั้นซึ่งมีพลเมืองมากกว่าแสนสองหมื่นคน, เป็นผู้ไม่รู้เดียงสาว่าข้างไหนเป็นมือขวามือซ้าย, รวมทั้งสัตว์เดียรัจฉานเป็นอันมากด้วย, อย่างนั้นหรือ?” (โยนา 4:9-11) คำตอบที่ถูกต้องย่อมเห็นได้ชัดอยู่แล้ว.
โยนากลับใจและได้มีชีวิตต่อมาและเขียนพระธรรมเล่มหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิลชื่อเดียวกับตัวท่าน. ท่านรู้ได้อย่างไรที่ว่าพวกลูกเรือเกรงกลัวพระเจ้า, ได้ถวายเครื่องบูชาแด่พระองค์, และให้สัตย์ปฏิญาณไว้กับพระองค์? โดยการดลใจจากพระเจ้า หรืออาจทราบที่พระวิหาร จากปากของลูกเรือหรือผู้โดยสารคนใดคนหนึ่งก็เป็นได้.—โยนา 1:16; 2:4.
“หมายสำคัญของโยนา”
เมื่อพวกอาลักษณ์และฟาริซายถามพระเยซูคริสต์ถึงหมายสำคัญ พระองค์ตรัสตอบว่า “คนชาติชั่วและคิดทรยศแสวงหาหมายสำคัญ และจะไม่ทรงโปรดให้หมายสำคัญแก่เขา เว้นไว้แต่หมายสำคัญของโยนาห์ผู้เผยพระวจนะ.” พระเยซูตรัสเพิ่มเติมว่า “ด้วยว่าโยนาห์ได้อยู่ในท้องปลามหึมาสามวันสามคืนฉันใด บุตรมนุษย์จะอยู่ในท้องแผ่นดินสามวันสามคืนฉันนั้น.” (มัดธาย 12:38-40, ฉบับแปลใหม่) วันของชาวยิวเริ่มเมื่อดวงอาทิตย์ตก. พระคริสต์วายพระชนม์บ่ายวันศุกร์ที่ 14 เดือนไนซาน ปี 33 สากลศักราช. พระศพของพระองค์ถูกเก็บไว้ในอุโมงค์ก่อนดวงอาทิตย์ตกวันเดียวกันนั้น. วันที่ 15 เดือนไนซานเริ่มนับจากเย็นนั้นไปสิ้นสุดตอนดวงอาทิตย์ตกในวันเสาร์ซึ่งเป็นวันที่เจ็ดและเป็นวันสุดท้ายของสัปดาห์. ตอนนั้น วันที่ 16 เดือนไนซานเริ่มและดำเนินไปจนจบวันตอนดวงอาทิตย์ตกของวันซึ่งตามการนับของเราเรียกว่าวันอาทิตย์. ด้วยเหตุนี้ พระเยซูทรงสิ้นพระชนม์และอยู่ในอุโมงค์ฝังศพอย่างน้อยก็ช่วงหนึ่งของวันที่ 14 เดือนไนซาน อยู่ในนั้นตลอดวันที่ 15 เดือนไนซาน และช่วงเวลากลางคืนของวันที่ 16 เดือนไนซาน. เมื่อพวกผู้หญิงบางคนมาที่อุโมงค์ฝังศพเช้าวันอาทิตย์ พระองค์ได้รับการปลุกเป็นขึ้นจากตายไปเรียบร้อยแล้ว.—มัดธาย 27:57-61; 28:1-7.
พระเยซูทรงอยู่ในอุโมงค์ฝังศพเป็นระยะเวลาช่วงหนึ่งของสามวันนั้น. เช่นนี้เอง ศัตรูของพระองค์จึงได้รับ “หมายสำคัญของโยนา” แต่พระคริสต์ตรัสว่า “ชนชาวนีนะเวจะยืนขึ้นกล่าวโทษคนสมัยนี้ในวันพิพากษาด้วยว่าชาวนีนะเวได้กลับใจเสียใหม่เพราะคำประกาศของโยนา และนี่แน่ะ มีผู้ใหญ่กว่าโยนาอยู่ที่นี่.” (มัดธาย 12:41) ช่างเป็นความจริงเสียนี่กระไร! พวกยิวมีพระเยซูคริสต์อยู่ท่ามกลางพวกเขาเอง—ผู้พยากรณ์ซึ่งใหญ่กว่าโยนามาก. แม้กระทั่งโยนาก็เป็นหมายสำคัญที่เพียงพอแล้วสำหรับชาวนีนะเว แต่พระเยซูประกาศด้วยพลังที่เหนือกว่าและโดยมีข้อพิสูจน์สนับสนุนมากกว่าโยนามากนัก. กระนั้น ชาวยิวโดยทั่วไปไม่เชื่อเลย.—โยฮัน 4:48.
ในฐานะชาติ พวกยิวไม่ได้ยอมรับด้วยความถ่อมใจว่าผู้พยากรณ์องค์นี้ยิ่งใหญ่กว่าโยนา และพวกเขาไม่ได้สำแดงความเชื่อในพระองค์. แต่บรรพบุรุษของพวกเขาล่ะเป็นอย่างไร? พวกเขาก็เช่นกัน ขาดความเชื่อและน้ำใจถ่อมตน. อันที่จริง เห็นได้ชัดว่าพระยะโฮวาส่งโยนาไปนีนะเวเพื่อจะแสดงให้เห็นชัดถึงความแตกต่างระหว่างชาวนีนะเวที่สำนึกผิดกลับใจกับชาวยิศราเอลที่หัวแข็งผู้ซึ่งขาดความเชื่อและความถ่อมเป็นอย่างยิ่ง.—เทียบกับพระบัญญัติ 9:6, 13.
โยนาเองเป็นอย่างไร? ท่านได้เรียนรู้ถึงความเมตตาของพระเจ้าว่ายิ่งใหญ่สักเพียงไร. ยิ่งกว่านั้น ปฏิกิริยาของพระยะโฮวาที่มีต่อการบ่นพึมพำของโยนา เกี่ยวกับเรื่องความเมตตาที่แสดงต่อชาวนีนะเวที่กลับใจ ควรจะปรามเราไว้จากการบ่นค้านเมื่อพระบิดาฝ่ายสวรรค์ของเราแผ่ความเมตตาพระองค์ต่อประชาชนในสมัยปัจจุบัน. ที่จริง ให้เรารู้สึกยินดีที่ในแต่ละปีมีผู้คนหลายแสนคนหันมาหาพระยะโฮวาด้วยความเชื่อและด้วยหัวใจถ่อม.