พวกเขาทำตามพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวา
ฟิลิปให้ข้าราชการชาวเอธิโอเปียรับบัพติสมา
ขณะที่นั่งอยู่ในรถม้า ชาวเอธิโอเปียคนหนึ่งได้ใช้เวลาของเขาอย่างฉลาด. เขาอ่านออกเสียง—ซึ่งเป็นกิจปฏิบัติโดยทั่วไปในท่ามกลางผู้เดินทางในศตวรรษแรก. บุรุษคนนี้เป็นข้าราชการ “มีอำนาจมากในแผ่นดินของพระนางกันดาเกนางกษัตริย์ของชาวอายธิโอบ [เอธิโอเปีย].”a เขาเป็น “นายคลังทรัพย์ทั้งหมดของนางกษัตริย์นั้น”—ที่แท้แล้ว เขาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง. ข้าราชการคนนี้กำลังอ่านจากพระคำของพระเจ้าเพื่อที่จะได้รับความรู้.—กิจการ 8:27, 28.
ฟิลิปผู้เผยแพร่กิตติคุณอยู่ใกล้บริเวณนั้น. ทูตสวรรค์ได้ชี้แนะท่านไปยังที่นั่น และบัดนี้ท่านได้รับคำสั่งว่า “จงเข้าไปให้ชิดกับรถนั้นเถิด.” (กิจการ 8:26, 29) เราอาจนึกภาพออกที่ฟิลิปถามตัวเองว่า ‘ชายผู้นี้เป็นใครหนอ? เขากำลังอ่านอะไร? ทำไมฉันถูกสั่งให้มาหาเขา?’
ขณะที่ฟิลิปวิ่งเคียงข้างรถม้าไป ท่านบังเอิญได้ยินชาวเอธิโอเปียคนนั้นอ่านถ้อยคำเหล่านี้ “เขาได้จูงท่านเหมือนอย่างจูงแกะไปยังที่สำหรับฆ่า และเหมือนลูกแกะนิ่งอยู่ต่อหน้าผู้ที่ตัดขนของมันฉันใด, ท่านก็มิได้ออกปากร้องเหมือนกันฉันนั้น. ในคราวที่ท่านถูกเหยียดลงนั้น, ความพิพากษาของท่านโดยยุติธรรมเขาก็ไม่ให้มีเสียเลย ใครจะเล่าเรื่องลูกหลานของท่านได้? เพราะว่าชีวิตของท่านต้องถูกตัดเสียจากแผ่นดินโลกแล้ว.”—กิจการ 8:32, 33.
ฟิลิปจำข้อความนั้นได้ทันที. นั่นมาจากบทจารึกของยะซายา. (ยะซายา 53:7, 8) ชาวเอธิโอเปียรู้สึกงงจากสิ่งที่อ่าน. ฟิลิปเริ่มการสนทนาโดยถามว่า “ซึ่งท่านอ่านนั้นท่านเข้าใจหรือ?” ขันทีตอบว่า “ถ้าไม่มีใครอธิบายให้, ที่ไหนจะเข้าใจได้?” ครั้นแล้ว เขาได้ขอร้องฟิลิปให้มาสมทบกับเขาในรถม้า.—กิจการ 8:30, 31.
“มีอะไรขัดข้องไม่ให้ข้าพเจ้ารับบัพติสมา?”
ชาวเอธิโอเปียพูดกับฟิลิปว่า “ศาสดาพยากรณ์ได้กล่าวอย่างนั้นเล็งถึงผู้ใด? เล็งถึงท่านเองหรือ, หรือเล็งถึงผู้อื่น?” (กิจการ 8:34) ความสับสนของชาวเอธิโอเปียไม่ใช่เรื่องน่าแปลก เพราะเอกลักษณ์ของ “แกะ” หรือ “ผู้รับใช้” ในคำพยากรณ์ของยะซายาเป็นความลึกลับมานานแล้ว. (ยะซายา 53:11) เรื่องนี้คงต้องชัดแจ้งเพียงไรเมื่อฟิลิปประกาศ “[ข่าวดี] เรื่องพระเยซู”! หลังจากนั้นไม่นานชาวเอธิโอเปียบอกว่า “นี่แน่ะมีน้ำ มีอะไรขัดข้องไม่ให้ข้าพเจ้ารับบัพติศมา?” ดังนั้น ฟิลิปจึงให้เขารับบัพติสมาทันที.—กิจการ 8:35-38.
นี่เป็นการกระทำแบบหุนหันพลันแล่นหรือ? เปล่าเลย! ชาวเอธิโอเปียเป็นผู้เปลี่ยนมาถือศาสนายิว.b ดังนั้น เขาเป็นผู้นมัสการพระยะโฮวาอยู่แล้วพร้อมกับมีความรู้เกี่ยวกับพระคัมภีร์ รวมทั้งคำพยากรณ์เรื่องพระมาซีฮา. อย่างไรก็ตาม ความรู้ของเขาไม่ครบถ้วน. ในเมื่อเขาได้รับความรู้สำคัญยิ่งนี้เกี่ยวกับบทบาทของพระเยซูคริสต์ ชาวเอธิโอเปียคนนี้จึงเข้าใจสิ่งที่พระเจ้าเรียกร้องจากเขาและพร้อมที่จะทำตาม. การรับบัพติสมานับว่าสมควร.—มัดธาย 28:18-20; 1 เปโตร 3:21.
หลังจากนั้น “พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าทรงรับเอาฟีลิบไปเสีย.” ท่านดำเนินงานมอบหมายอีกอย่างหนึ่งต่อไป. ชาวเอธิโอเปีย “เดินทางต่อไปโดยความยินดี.”—กิจการ 8:39, 40
บทเรียนสำหรับเรา
ในฐานะผู้รับใช้ของพระยะโฮวาสมัยปัจจุบัน เรามีภารกิจที่จะช่วยปัจเจกบุคคลที่มีหัวใจสุจริตให้เรียนรู้ความจริงเกี่ยวกับพระคำของพระเจ้า. หลายคนได้ประสบผลสำเร็จในการเสนอข่าวดีแก่คนอื่นขณะเดินทางหรือในสภาพแวดล้อมอื่น ๆ เมื่อสบโอกาส. ผลจากงานประกาศราชอาณาจักร แต่ละปีมีหลายแสนคนแสดงเครื่องหมายการอุทิศตัวของเขาแด่พระยะโฮวาพระเจ้าโดยการรับบัพติสมา.
แน่นอน คนใหม่ ๆ ไม่ควรรีบร้อนเข้าสู่การรับบัพติสมา. ทีแรก เขาต้องได้รับความรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับพระยะโฮวาพระเจ้าและพระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระองค์. (โยฮัน 17:3) ต่อจากนั้นเขาต้องกลับใจ ละทิ้งความประพฤติที่ผิดและหันกลับเพื่อที่จะทำตามมาตรฐานของพระเจ้า. (กิจการ 3:19) นี่ต้องใช้เวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากความคิดและความประพฤติที่ผิดนั้นฝังรากลึก. ขณะที่คนใหม่ควรคำนึงถึงการเสียสละที่เกี่ยวข้องกับการเป็นสาวกคริสเตียน ก็ยังอาจคาดหมายพระพรมากมายที่เป็นผลมาจากการเข้าสู่สัมพันธภาพที่ได้อุทิศแล้วแด่พระยะโฮวาพระเจ้า. (เทียบกับลูกา 9:23; 14:25-33.) คนเหล่านั้นซึ่งเป็นพยานของพระยะโฮวาชี้นำคนใหม่ ๆ ดังกล่าวนั้นอย่างกระตือรือร้นให้มายังองค์การที่พระเจ้าทรงใช้อยู่เพื่อทำให้พระทัยประสงค์ของพระองค์บรรลุผลสำเร็จ. (มัดธาย 24:45-47) เช่นเดียวกับชาวเอธิโอเปีย คนเหล่านี้จะปีติยินดีในการเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งที่พระเจ้าเรียกร้องจากเขาและทำตามสิ่งนั้น.
[เชิงอรรถ]
a “กันดาเก” ไม่ใช่ชื่อ ทว่าเป็นตำแหน่ง (คล้ายคลึงกับ “ฟาโรห์” และ “กายะซา [ซีซาร์]”) ซึ่งนำมาใช้กับการสืบสันตติวงศ์ของราชินีเอธิโอเปีย.
b ผู้ที่เปลี่ยนมาถือศาสนายิวเป็นคนที่ไม่ใช่ชาวยิศราเอลซึ่งยึดมั่นกับพระบัญญัติของโมเซ.—เลวีติโก 24:22.
[กรอบหน้า 8]
ทำไมถูกเรียกว่าขันที?
ตลอดทั้งเรื่องในพระธรรมกิจการบท 8 มีการกล่าวถึงชาวเอธิโอเปียว่าเป็น “ขันที.” อย่างไรก็ดี เนื่องจากพระบัญญัติของโมเซไม่ยอมรับชายที่ถูกตอนเข้ามาในประชาคม เห็นได้ชัดว่า บุรุษผู้นี้ไม่ใช่ขันทีในความหมายตามตัวอักษร. (พระบัญญัติ 23:1) คำภาษากรีกสำหรับ “ขันที” อาจพาดพิงถึงคนที่อยู่ในตำแหน่งสูง. ด้วยเหตุนี้ ชาวเอธิโอเปียคนนั้นจึงเป็นข้าราชการอยู่ภายใต้ราชินีของเอธิโอเปีย.