น้ำใจรับรองแขกแบบคริสเตียนในโลกที่แบ่งแยก
“เพราะเหตุนี้ เราจึงมีพันธะที่จะรับคนเช่นนี้ไว้ด้วยอัชฌาสัยดี เพื่อเราจะมาเป็นเพื่อนร่วมงานในความจริง.”—3 โยฮัน 8, ล.ม.
1. ของประทานที่น่าปรารถนาที่สุดอะไรบ้างที่พระผู้สร้างประทานแก่มนุษยชาติ?
“ภายใต้ดวงอาทิตย์มนุษย์ไม่มีอะไรดีไปกว่ากินและดื่มกับชื่นชมยินดี, และให้อาการนี้คลุกคลีไปในการงานของตนตลอดชีวิตของตนที่พระเจ้าได้ทรงโปรดประทานให้แก่ตนที่ภายใต้ดวงอาทิตย์.” (ท่านผู้ประกาศ 8:15) ด้วยถ้อยคำข้างต้นนี้ ผู้รวบรวมชาวฮีบรูแต่ครั้งโบราณโน้นได้บอกเราว่า พระยะโฮวาพระเจ้าไม่เพียงแค่ประสงค์ให้มนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งทรงสร้างของพระองค์ชื่นชมยินดีและมีความสุข แต่ยังทรงจัดเตรียมวิถีทางเพื่อพวกเขาจะประสบความสุขด้วย. ตลอดประวัติศาสตร์มนุษย์ ความปรารถนาอย่างเดียวกันในหมู่คนทุกแห่งดูเหมือนจะได้แก่การทำให้ตัวเองเพลิดเพลินและได้รับความสำราญบานใจ.
2. (ก) มนุษยชาติได้ทำให้สิ่งที่พระยะโฮวาทรงประสงค์สำหรับพวกเขานั้นเสียไปอย่างไร? (ข) ผลเป็นเช่นไร?
2 ทุกวันนี้ เราอยู่ในสังคมที่ยึดคติสุขารมณ์ซึ่งผู้คนต่างก็สนใจแต่การติดตามความสนุกเพลิดเพลิน. คนส่วนใหญ่กลายเป็น “คนรักตัวเอง . . . เป็นคนรักการสนุกสนานมากกว่ารักพระเจ้า” ดังที่คัมภีร์ไบเบิลได้พยากรณ์ไว้. (2 ติโมเธียว 3:1-4) แน่นอน การดำเนินชีวิตเช่นนี้เป็นการบิดเบือนอย่างชัดแจ้งต่อสิ่งที่พระยะโฮวาพระเจ้าทรงประสงค์ให้เป็น. เมื่อการติดตามความสนุกเพลิดเพลินกลายเป็นเป้าหมายหลักไปเสียแล้ว หรือเมื่อการทำให้ตัวเองพึงพอใจกลายเป็นจุดหมายเพียงประการเดียวแล้ว ไม่มีความอิ่มใจอย่างแท้จริงและ ‘ทุกสิ่งก็กลายเป็นอนิจจังเหมือนวิ่งไล่ตามลม.’ (ท่านผู้ประกาศ 1:14; 2:11) ผลก็คือ โลกนี้เต็มไปด้วยคนที่อ้างว้างและข้องขัดใจ ซึ่งส่งผลก่อให้เกิดปัญหามากมายในสังคม. (สุภาษิต 18:1) ผู้คนกลายเป็นคนที่ระแวงกันและกัน และแบ่งแยกกันทางเชื้อชาติ, ชาติพันธุ์, สังคม, และเศรษฐกิจ.
3. เราจะพบความยินดีและความอิ่มใจแท้ได้อย่างไร?
3 คงจะแตกต่างไปมากสักเพียงไรหากประชาชนเลียนแบบวิถีทางของพระยะโฮวาในการติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่น คือมีใจกรุณา, เอื้อเฟื้อ, และน้ำใจรับรองแขก! พระองค์ทรงทำให้เห็นชัดว่า เคล็ดลับสู่ความสุขแท้ไม่ได้อยู่ที่การพยายามทำให้ได้สมตามความปรารถนาของตัวเราเอง. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น นี่คือเคล็ดลับ: “การให้เป็นเหตุให้มีความสุขยิ่งกว่าการรับ.” (กิจการ 20:35) เพื่อจะได้ความยินดีและความอิ่มใจอย่างแท้จริง เราต้องเอาชนะสิ่งกีดขวางและการแบ่งแยกต่าง ๆ ซึ่งอาจจำกัดเราไว้. และเราต้องตีแผ่ตัวเราเองออกไปหาคนเหล่านั้นที่รับใช้พระยะโฮวาด้วยกันกับเรา. นับว่าจำเป็นที่เราจะเอาใจใส่คำแนะนำที่ว่า “เพราะเหตุนี้ เราจึงมีพันธะที่จะรับคนเช่นนี้ไว้ด้วยอัชฌาสัยดี เพื่อเราจะมาเป็นเพื่อนร่วมงานในความจริง.” (3 โยฮัน 8, ล.ม.) การแสดงน้ำใจรับรองแขกต่อคนที่สมควรได้รับเท่าที่สภาพการณ์ในชีวิตของเราจะอำนวยให้ ให้ผลประโยชน์ในสองทางด้วยกัน คือเป็นประโยชน์ทั้งในส่วนของผู้ให้และผู้รับ. ถ้าอย่างนั้น ใครบ้างที่เราสมควรจะ ‘รับไว้ด้วยอัชฌาสัยดี’?
“เอาใจใส่ดูแลลูกกำพร้าและหญิงม่าย”
4. มีการเปลี่ยนแปลงอะไรในเรื่องสายสัมพันธ์ของครอบครัวที่เห็นได้แม้แต่ในท่ามกลางไพร่พลของพระยะโฮวาบางครอบครัว?
4 ครอบครัวที่มั่นคงและชีวิตสมรสที่มีความสุขในปัจจุบันนี้หาได้ยากเต็มที. อัตราการหย่าร้างที่สูงขึ้นและจำนวนมารดาที่ไม่ได้สมรสที่เพิ่มมากขึ้นทั่วโลกได้เปลี่ยนโครงสร้างของครอบครัวแบบดั้งเดิมอย่างสิ้นเชิง. ผลคือ หลายคนที่ได้เข้ามาเป็นพยานพระยะโฮวาเมื่อไม่นานมานี้มาจากครอบครัวที่แตกแยก. พวกเขาบางคนหย่าขาดจากคู่สมรสของตนหรือแยกกันอยู่ หรือไม่ก็อยู่ในครอบครัวที่มีบิดาหรือมารดาฝ่ายเดียว. นอกจากนั้น ดังที่พระเยซูทรงบอกล่วงหน้า ความจริงที่พระองค์สอนนั้นยังผลให้เกิดความแตกแยกในหลายครอบครัว.—มัดธาย 10:34-37; ลูกา 12:51-53.
5. พระเยซูตรัสอะไรซึ่งอาจเป็นแหล่งแห่งการหนุนใจคนที่อยู่ในครอบครัวที่แตกแยกกัน?
5 เป็นเรื่องที่ทำให้เราชื่นใจเมื่อเห็นคนใหม่ ๆ ยืนหยัดเพื่อความจริง และเรามักปลอบประโลมใจพวกเขาด้วยคำสัญญาที่หนุนใจของพระเยซูที่ว่า “เราบอกท่านทั้งหลายตามจริงว่า, ถ้าผู้ใดได้สละเรือนหรือพี่น้องชายหญิงหรือบิดามารดา [“มารดาหรือบิดา,” ล.ม.] หรือลูกหรือไร่นาเพราะเห็นแก่เราและกิตติคุณของเรา, ในชาตินี้ [“ในช่วงเวลานี้,” ล.ม.] ผู้นั้นจะได้รับตอบแทนร้อยเท่าคือเรือน, พี่น้องชายหญิง, บิดามารดา [“มารดา,” ล.ม.], ลูกและไร่นา, ทั้งจะถูกความข่มเหงด้วย, และในชาติหน้า [“ในระบบที่กำลังจะมา,” ล.ม.] จะได้ชีวิตนิรันดร์.”—มาระโก 10:29, 30.
6. เราจะทำตัวเป็น ‘พี่น้องชายหญิงและมารดาและลูก’ ต่อ “ลูกกำพร้าและหญิงม่าย” ในท่ามกลางพวกเราได้โดยวิธีใด?
6 แต่ใครกันที่เป็น ‘พี่น้องชายหญิงและมารดาและลูก’? เพียงเห็นคนจำนวนมากที่หอประชุมราชอาณาจักร ซึ่งหลายแห่งมีจำนวนเป็นร้อยหรือมากกว่า ซึ่งเรียกตัวเองเป็นบราเดอร์และซิสเตอร์ไม่ได้ทำให้คนเรารู้สึกโดยอัตโนมัติว่าคนเหล่านี้เป็นพี่น้องชายหญิง, มารดา, และลูกของเขา. ขอให้พิจารณาจุดนี้ดู: อัครสาวกยาโกโบเตือนเราให้ระลึกว่า เพื่อการนมัสการของเราจะเป็นที่ยอมรับจากพระยะโฮวา เราต้อง “เอาใจใส่ดูแลลูกกำพร้าและหญิงม่ายในความทุกข์ลำบากของเขา และรักษาตัวให้พ้นจากด่างพร้อยของโลก.” (ยาโกโบ 1:27, ล.ม.) นั่นย่อมหมายความว่า เราต้องไม่ยอมให้กับเจตคติแบบโลกในเรื่องความหยิ่งอันเนื่องด้วยฐานะทางเศรษฐกิจและฐานะทางสังคมที่เหนือกว่ามาปิดประตูแห่งความรักใคร่ที่จะแสดงต่อคนที่เป็น “ลูกกำพร้าและหญิงม่าย.” แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เราต้องริเริ่มแผ่มิตรภาพและน้ำใจรับรองแขกของเราไปยังพวกเขา.
7. (ก) จุดประสงค์ที่แท้จริงของการต้อนรับเลี้ยงดู “ลูกกำพร้าและหญิงม่าย” คืออะไร? (ข) ใครที่อาจร่วมในการแสดงน้ำใจรับรองแขกแบบคริสเตียนได้ด้วยเช่นกัน?
7 การแสดงน้ำใจรับรองแขกต่อ “ลูกกำพร้าและหญิงม่าย” ไม่หมายความเสมอไปว่าต้องเกี่ยวข้องกับการชดเชยให้ในสิ่งที่พวกเขาอาจขาดอยู่ทางวัตถุ. ครอบครัวที่มีบิดาหรือมารดาฝ่ายเดียวหรือครอบครัวที่แบ่งแยกกันทางศาสนาก็ใช่ว่าจะต้องมีปัญหาลำบากทางการเงิน. อย่างไรก็ดี การคบหาสมาคมที่ดีงาม, บรรยากาศแบบครอบครัว, การเป็นเพื่อนกับคนทุกวัย, และการร่วมแบ่งปันสิ่งดี ๆ ฝ่ายวิญญาณแก่กันและกัน—สิ่งเหล่านี้เป็นแง่มุมของชีวิตที่มีค่ามาก. ด้วยเหตุนั้น เมื่อระลึกถึงว่าสิ่งสำคัญไม่ใช่อยู่ที่ความพิถีพิถันของโอกาสนั้น ๆ หากแต่อยู่ที่น้ำใจแห่งความรักและเป็นเอกภาพ จึงนับว่าดีสักเพียงไรที่บางครั้งแม้แต่ “ลูกกำพร้าและหญิงม่าย” ก็สามารถมีส่วนร่วมในการแสดงน้ำใจรับรองแขกต่อเพื่อนคริสเตียนของเขา!—เทียบกับ 1 กษัตริย์ 17:8-16.
มีคนต่างชาติอยู่ท่ามกลางพวกเราไหม?
8. มีการเปลี่ยนแปลงอะไรที่เห็นได้ในหลายประชาคมแห่งพยานพระยะโฮวา?
8 เรามีชีวิตอยู่ในสมัยที่มีการโยกย้ายถิ่นฐานของประชากรกันมาก. วารสารเวิลด์ เพรส รีวิว กล่าวว่า “มีมากกว่า 100 ล้านคนทั่วโลกอาศัยอยู่ตามประเทศต่าง ๆ ที่พวกเขาไม่ได้เป็นพลเมืองของประเทศนั้น ๆ และ 23 ล้านคนที่ต้องพลัดพรากจากถิ่นที่อยู่ภายในประเทศของตนเอง.” ผลโดยตรงของปรากฏการณ์นี้คือ ในหลายท้องที่ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ๆ ประชาคมแห่งไพร่พลของพระยะโฮวาซึ่งแต่ก่อนเคยประกอบไปด้วยคนเชื้อชาติหรือสัญชาติเดียว มาบัดนี้กลายเป็นประชาคมที่ประกอบด้วยผู้คนจากหลายส่วนของโลก. บางทีอาจเป็นเช่นนี้ในที่ที่คุณอยู่. อย่างไรก็ตาม เราควรจะมีทัศนะเช่นไรต่อคนเหล่านี้ซึ่งโลกทั่วไปอาจจะเรียกพวกเขาว่า “คนต่างด้าว” และ “คนต่างชาติ” ผู้ซึ่งมีภาษา, ธรรมเนียม, และรูปแบบชีวิตต่างไปจากพวกเรา?
9. เราอาจตกหลุมพรางที่อันตรายอะไรในเรื่องทัศนะของเราต่อ “คนต่างด้าว” และ “คนต่างชาติ” ที่เข้ามาในประชาคมคริสเตียน?
9 พูดง่าย ๆ คือ เราต้องไม่ปล่อยให้แนวโน้มกลัวหรือเกลียดคนแปลกหน้าหรือคนต่างชาติทำให้รู้สึกว่า เราสมควรได้รับสิทธิพิเศษในการเรียนรู้ความจริงมากกว่าคนที่มาจากประเทศที่เราไม่คุ้นเคยหรือที่เรียกว่าประเทศนอกรีต; ทั้งเราไม่ควรรู้สึกราวกับว่าผู้มาใหม่รุกล้ำสิทธิในการใช้หอประชุมราชอาณาจักรหรือทรัพย์สินอื่น ๆ. อัครสาวกเปาโลจำเป็นต้องเตือนใจคริสเตียนชาวยิวบางคนในศตวรรษแรกซึ่งมีความคิดเช่นนั้นว่า จริง ๆ แล้วไม่มีใครที่คู่ควร; หากแต่เป็นพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้าที่ทำให้เป็นไปได้สำหรับเราทุกคนจะได้รับความรอด. (โรม 3:9-12, 23, 24) เราควรยินดีที่พระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้าในขณะนี้กำลังแผ่ไปยังคนเป็นอันมากซึ่งเมื่อก่อนไม่มีโอกาสได้ยินได้ฟังข่าวดี ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม. (1 ติโมเธียว 2:4) เราจะสามารถแสดงได้โดยวิธีใดว่าความรักของเราที่มีต่อพวกเขานั้นเป็นความรักแท้?
10. เราจะแสดงว่าเราเป็นคนมีน้ำใจต้อนรับอย่างแท้จริงต่อ “คนต่างชาติ” ที่อยู่ท่ามกลางพวกเราโดยวิธีใด?
10 เราสามารถปฏิบัติตามคำเตือนสติของเปาโลที่ว่า “จงต้อนรับซึ่งกันและกัน เหมือนพระคริสต์ได้ทรงต้อนรับท่าน [“เรา,” ล.ม.] ทั้งหลาย เป็นที่ถวายเกียรติยศแก่พระเจ้า.” (โรม 15:7) ด้วยการหยั่งรู้ว่าคนที่มาจากประเทศหรือภูมิหลังที่ต่างออกไปมักจะอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบ เราควรแสดงความกรุณาและความห่วงใยต่อพวกเขาเมื่ออยู่ในข่ายความสามารถของเราจะทำได้. เราควรยินดีต้อนรับเขาเข้ามาอยู่กับพวกเรา ปฏิบัติต่อพวกเขาแต่ละคน “เหมือนกับคนที่เกิดในแผ่นดินเมืองของเจ้า” และ “รักเขาเหมือนตัวเจ้าเอง.” (เลวีติโก 19:34, ล.ม.) นี่อาจทำได้ไม่ง่ายนัก แต่เราจะทำได้ถ้าเราระลึกถึงคำแนะนำที่ว่า “จงเลิกให้เขานวดปั้นท่านตามระบบนี้ แต่จงได้รับการดัดแปลงโดยเปลี่ยนแปลงความคิดจิตใจของท่าน เพื่อท่านทั้งหลายจะพิสูจน์แก่ตัวเองว่าอะไรคือพระทัยประสงค์อันดี ที่น่ารับไว้และสมบูรณ์พร้อมของพระเจ้า.”—โรม 12:2, ล.ม.
ร่วมกันกับเหล่าผู้บริสุทธิ์
11, 12. มีการคำนึงถึงเป็นพิเศษเช่นไรต่อผู้รับใช้บางคนของพระยะโฮวา (ก) ในยิศราเอลโบราณ (ข) ในศตวรรษแรก?
11 ในบรรดาคนที่สมควรอย่างแท้จริงจะได้รับการเอาใจใส่และน้ำใจรับรองแขกได้แก่บรรดาคริสเตียนที่อาวุโสทั้งหลายซึ่งทำงานหนักเพื่อสวัสดิภาพฝ่ายวิญญาณของเรา. พระยะโฮวาทรงจัดเตรียมให้เป็นพิเศษสำหรับพวกปุโรหิตและพวกเลวีในยิศราเอลโบราณ. (อาฤธโม 18:25-29) ในศตวรรษแรก คริสเตียนได้รับการกระตุ้นให้เอาใจใส่คนเหล่านั้นที่รับใช้พวกเขาในหน้าที่พิเศษต่าง ๆ. เรื่องราวที่ 3 โยฮัน 5-8 ทำให้เราเห็นเป็นเลา ๆ ได้ถึงสายสัมพันธ์อันสนิทชิดใกล้ของความรักที่มีอยู่ในหมู่คริสเตียนยุคแรก.
12 อัครสาวกโยฮันผู้ชราหยั่งรู้ค่าอย่างมากต่อความเมตตาและน้ำใจรับรองแขกที่ฆาโยได้แสดงต่อผู้ดูแลเดินทางบางคนที่ถูกส่งไปเยี่ยมประชาคม. พี่น้องเหล่านี้—รวมทั้งเดเมเตรียวซึ่งดูเหมือนจะเป็นคนส่งจดหมายของโยฮันด้วย—ล้วนแต่เป็นคนแปลกหน้าหรือไม่รู้จักฆาโยมาก่อน. แต่พี่น้องรับรองพวกเขาไว้ด้วยอัชฌาสัยดีเพราะ “พวกเขาได้ออกเดินทางเพื่อเห็นแก่พระนาม [ของพระเจ้า].” โยฮันกล่าวอย่างนี้: “เพราะเหตุนี้ เราจึงมีพันธะที่จะรับคนเช่นนี้ไว้ด้วยอัชฌาสัยดี เพื่อเราจะมาเป็นเพื่อนร่วมงานในความจริง.”—3 โยฮัน 1, 7, 8, ล.ม.
13. ใครในท่ามกลางพวกเราทุกวันนี้ที่สมควรอย่างยิ่งจะ ‘รับไว้ด้วยอัชฌาสัยดี’?
13 ทุกวันนี้ ในองค์การของพระยะโฮวามีหลายคนที่บากบั่นแข็งขันเพื่อประโยชน์ของสังคมพี่น้องทั้งสิ้น. คนเหล่านี้รวมถึงผู้ดูแลเดินทางซึ่งใช้เวลาและกำลังของพวกเขาสัปดาห์แล้วสัปดาห์เล่าในการเสริมสร้างประชาคมต่าง ๆ; พวกมิชชันนารีซึ่งได้ละครอบครัวและเพื่อน ๆ ไว้เบื้องหลังเพื่อจะประกาศสั่งสอนในต่างแดน; คนที่รับใช้ที่เบเธลหรือสำนักงานสาขาต่าง ๆ ซึ่งอาสาสมัครรับใช้เพื่อสนับสนุนงานการประกาศทั่วโลก; และคนเหล่านั้นที่รับใช้เป็นไพโอเนียร์ซึ่งใช้เวลาและกำลังส่วนใหญ่ของตนในงานเผยแพร่ตามบ้าน. โดยพื้นฐานแล้ว พี่น้องเหล่านี้ทั้งหมดทำงานหนักไม่ใช่เพื่อเกียรติยศหรือผลประโยชน์ส่วนตัวใด ๆ แต่เนื่องด้วยความรักพี่น้องคริสเตียนและความรักต่อพระยะโฮวา. พวกเขามีค่าควรแก่การเลียนแบบเนื่องด้วยการทุ่มเทสิ้นสุดจิตวิญญาณและสมควรได้รับการ ‘รับไว้ด้วยอัชฌาสัยดี.’
14. (ก) โดยวิธีใดที่เราได้มาเป็นคริสเตียนที่ดีขึ้นเมื่อเราแสดงน้ำใจรับรองแขกต่อคนที่ซื่อสัตย์? (ข) ทำไมพระเยซูตรัสว่ามาเรียได้เลือก “ส่วนดีนั้น”?
14 เมื่อเรา “รับคนเช่นนี้ไว้ด้วยอัชฌาสัยดี” อัครสาวกโยฮันชี้ว่า เราก็ “จะมาเป็นเพื่อนร่วมงานในความจริง.” ในแง่หนึ่งก็คือผลการกระทำเช่นนั้นทำให้เรากลายเป็นคริสเตียนที่ดีขึ้น. ทั้งนี้เพราะการงานของคริสเตียนรวมถึงการทำดีต่อเพื่อนร่วมความเชื่อด้วย. (สุภาษิต 3:27, 28; 1 โยฮัน 3:18) มีบำเหน็จในทางอื่นด้วย. เมื่อมาเรียและมาธาต้อนรับพระเยซูไว้ในบ้านของพวกเขา มาธาต้องการเป็นเจ้าบ้านที่ดีโดยการเตรียม “หลายสิ่ง” สำหรับพระเยซู. มาเรียแสดงน้ำใจรับรองแขกในอีกแนวทางหนึ่ง. เธอ “นั่งใกล้พระบาทพระเยซูฟังถ้อยคำของพระองค์” และพระเยซูตรัสชมเชยเธอที่ได้เลือกเอา “ส่วนดีนั้น.” (ลูกา 10:38-42) การสนทนาและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วยกันกับคนที่มีประสบการณ์นานปีมักจะเป็นจุดเด่นของเย็นวันที่มีการสังสรรค์กัน.—โรม 1:11, 12.
ในโอกาสพิเศษ
15. โอกาสพิเศษอะไรบ้างที่อาจปรากฏว่าเป็นเวลาที่น่าเพลิดเพลินสำหรับไพร่พลของพระยะโฮวา?
15 แม้ว่าคริสเตียนแท้ไม่ติดตามประเพณีนิยมหรือฉลองวันหยุดและงานรื่นเริงต่าง ๆ ฝ่ายโลก แต่ก็มีอยู่หลายโอกาสที่พวกเขามาพบปะสังสรรค์กันเพื่อจะได้รับความเพลิดเพลินจากการอยู่ด้วยกัน. ตัวอย่างเช่น พระเยซูทรงร่วมงานเลี้ยงสมรสที่หมู่บ้านคานาและมีส่วนร่วมความยินดีในโอกาสนั้นโดยการทำการอัศจรรย์ครั้งแรกที่นั่น. (โยฮัน 2:1-11) เช่นเดียวกัน ในทุกวันนี้ไพร่พลของพระยะโฮวาสนุกสนานด้วยกันในโอกาสพิเศษต่าง ๆ ที่คล้าย ๆ กัน และในวาระเช่นนี้การเลี้ยงฉลองและงานรื่นเริงอย่างที่เหมาะสมเป็นส่วนที่ช่วยเสริมบรรยากาศได้มาก. อย่างไรก็ตาม อะไรที่นับว่าเหมาะสม?
16. เรามีเครื่องชี้นำอะไรในเรื่องการประพฤติอย่างที่เหมาะสมแม้ในโอกาสพิเศษ?
16 จากการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล เราเรียนรู้ว่าการประพฤติอันเหมาะสมสำหรับคริสเตียนนั้นเป็นเช่นไร และเราก็ดำเนินตามนั้นโดยตลอด. (โรม 13:12-14; ฆะลาเตีย 5:19-21; เอเฟโซ 5:3-5) การพบปะสังสรรค์กัน ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับงานแต่งงานหรือเนื่องด้วยเหตุอื่นใด ก็ไม่ได้ทำให้เรามีอิสระที่จะละทิ้งมาตรฐานของคริสเตียนหรือจะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ตามปกติเราจะไม่ทำ; ทั้งเราไม่อยู่ใต้พันธะต้องทำตามประเพณีนิยมทุกอย่างของประเทศที่เราอาศัยอยู่. ประเพณีนิยมหลายอย่างมีพื้นฐานมาจากกิจปฏิบัติของศาสนาเท็จหรือการถือโชคลาง และบางอย่างเกี่ยวข้องกับการกระทำที่คริสเตียนไม่อาจยอมรับได้อย่างเห็นได้ชัด.—1 เปโตร 4:3, 4.
17. (ก) ปัจจัยอะไรบ้างที่แสดงว่างานเลี้ยงสมรสที่หมู่บ้านคานาได้มีการจัดระเบียบอย่างดีและดูแลอย่างเหมาะสม? (ข) มีอะไรที่บ่งบอกว่าพระเยซูทรงเห็นชอบด้วยกับโอกาสนั้น?
17 เมื่ออ่านโยฮัน 2:1-11 (ล.ม.) มองเห็นได้ไม่ยากว่างานเลี้ยงนั้นเป็นงานใหญ่และแขกที่อยู่ที่นั่นก็มีเป็นจำนวนมากทีเดียว. อย่างไรก็ตาม พระเยซูและพวกสาวกของพระองค์เป็นแขกที่ได้ “รับเชิญ”; พระองค์กับพวกเขาไม่ได้เพียงแค่แวะไปร่วมด้วย แม้ว่าอย่างน้อยมีบางคนในพวกสาวกที่คงจะเป็นญาติกับเจ้าภาพ. เราสังเกตด้วยว่า มีคนเหล่านั้นที่ “รับใช้” รวมทั้ง “ผู้จัดงานเลี้ยง” ซึ่งจะคอยดูแลกำกับว่าจะเสิร์ฟอะไรหรือทำอะไร. ทั้งหมดนี้บ่งบอกว่างานนั้นได้มีการจัดระเบียบอย่างดีและมีการดูแลอย่างเหมาะสม. เรื่องราวที่บันทึกไว้จบด้วยการรายงานว่า ด้วยสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำที่งานนั้น พระเยซู “ได้ทรงสำแดงสง่าราศีของพระองค์ให้เป็นที่ประจักษ์.” พระองค์จะทรงเลือกโอกาสนั้นเพื่อแสดงสง่าราศีไหมหากว่าเป็นงานเลี้ยงที่อึกทึกครึกโครมและไม่มีการเหนี่ยวรั้ง? ไม่อย่างแน่นอน.
18. ในการสังสรรค์ใด ๆ ควรต้องพิจารณาอะไรอย่างจริงจัง?
18 ถ้าอย่างนั้น จะว่าอย่างไรสำหรับโอกาสพิเศษที่เราอาจเป็นเจ้าภาพ? เราต้องการจะระลึกอยู่เสมอว่า จุดประสงค์ของการต้อนรับผู้อื่นด้วยน้ำใจรับรองแขกคือ เพื่อเราทุกคนจะได้ “มาเป็นเพื่อนร่วมงานในความจริง.” ดังนั้น การได้ชื่อว่าเป็นงานสังสรรค์ของ “พยานฯ” นั้นยังไม่พอ. อาจถามดังนี้: งานนี้ปรากฏว่าเป็นประจักษ์พยานถึงตัวเราและความเชื่อที่เรามีไหม? เราไม่ควรมองดูโอกาสเช่นนั้นว่าเป็นโอกาสที่จะดูว่าเราจะแข่งกับโลกในแนวทางต่าง ๆ ได้ถึงขีดไหน ในการหมกมุ่นอยู่กับ “ความปรารถนาของเนื้อหนัง, ความปรารถนาของตา, และการอวดอ้างปัจจัยการดำรงชีวิตของตน.” (1 โยฮัน 2:15, 16, ล.ม.) แทนที่จะเป็นเช่นนั้น โอกาสเหล่านี้ควรจะสะท้อนบทบาทของเราฐานะพยานพระยะโฮวา และเราควรแน่ใจว่าสิ่งที่เราทำลงไปนำคำสรรเสริญและถวายพระเกียรติแด่พระยะโฮวา.—มัดธาย 5:16; 1 โกรินโธ 10:31-33.
‘จงต้อนรับเลี้ยงดูโดยไม่บ่น’
19. เหตุใดเราต้อง “ต้อนรับเลี้ยงดูกันและกันโดยไม่บ่น”?
19 ขณะที่สภาพการณ์ต่าง ๆ ของโลกเสื่อมลงไปเรื่อย ๆ และประชาชนแตกแยกกันมากขึ้น เราจำต้องทำทุกสิ่งที่ทำได้เพื่อเสริมสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดซึ่งมีอยู่ท่ามกลางคริสเตียนแท้ให้เข้มแข็งขึ้น. (โกโลซาย 3:14) เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ เราต้องมี “ความรักอันแรงกล้าต่อกันและกัน” ดังที่เปโตรกระตุ้นเตือนเรา. จากนั้น ด้วยคำพูดที่แนะให้ปฏิบัติ ท่านกล่าวเพิ่มดังนี้: “จงต้อนรับเลี้ยงดูกันและกันโดยไม่บ่น.” (1 เปโตร 4:7-9, ล.ม.) เราเต็มใจเป็นฝ่ายริเริ่มเป็นคนมีน้ำใจรับรองแขกต่อพี่น้องของเรา บากบั่นเพื่อจะเป็นคนที่กรุณาและทำตัวเป็นประโยชน์ไหม? หรือเราบ่นงึมงำเมื่อโอกาสเช่นนั้นมาถึง? หากเราทำเช่นนั้น เราก็หมดโอกาสจะได้ความยินดีและพลาดรางวัลแห่งความสุขสำหรับการกระทำดีด้วย.—สุภาษิต 3:27; กิจการ 20:35.
20. พระพรอะไรรอเราอยู่ถ้าเราปฏิบัติอย่างที่มีน้ำใจรับรองแขกในโลกทุกวันนี้ที่แตกแยก?
20 การทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกันกับเพื่อนคริสเตียนของเรา การแสดงความกรุณาและน้ำใจรับรองแขกต่อกันและกัน จะนำพระพรไม่รู้สิ้นสุดมาให้. (มัดธาย 10:40-42) พระยะโฮวาทรงสัญญากับคนเช่นนั้นว่า พระองค์จะ “ทรงกางพลับพลาของพระองค์ไว้เหนือเขา. พวกเขาจะไม่หิวอีกทั้งจะไม่กระหายอีก.” การอยู่ในพลับพลาของพระยะโฮวาคือการได้รับการคุ้มครองและการต้อนรับเลี้ยงดูจากพระองค์. (วิวรณ์ 7:15, 16, ล.ม.; ยะซายา 25:6) ใช่แล้ว ความหวังที่จะได้รับการต้อนรับเลี้ยงดูจากพระยะโฮวาไปตลอดกาลอยู่เบื้องหน้าเรานี้เอง.—บทเพลงสรรเสริญ 27:4; 61:3, 4.
คุณจะอธิบายได้ไหม?
▫ เราต้องไม่มองข้ามอะไรหากเราต้องการพบความยินดีและความอิ่มใจอย่างแท้จริง?
▫ ใครคือ “ลูกกำพร้าและหญิงม่าย” และเราควร “เอาใจใส่ดูแล” พวกเขาอย่างไร?
▫ เราควรมีทัศนะเช่นไรต่อ “คนต่างด้าว” และ “คนต่างชาติ” ที่อยู่ท่ามกลางพวกเรา?
▫ ใครที่สมควรได้รับการคิดคำนึงถึงเป็นพิเศษในปัจจุบัน?
▫ โอกาสพิเศษต่าง ๆ น่าจะสะท้อนให้เห็นน้ำใจรับรองแขกที่แท้จริงอย่างไร?
[รูปภาพหน้า 17]
ในโอกาสที่มีงานเลี้ยงรื่นเริงกันเราสามารถต้อนรับเลี้ยงดูคนต่างชาติ,ลูกไร้พ่อ, คนที่อยู่ในงานรับใช้เต็มเวลา, และแขกคนอื่น ๆ