ความเป็นโสด—ประตูสู่การงานโดยไม่วอกแวก
“ให้ท่านทั้งหลายปฏิบัติองค์พระผู้เป็นเจ้าโดยปราศจากความกระวนกระวาย.”—1 โกรินโธ 7:35.
1. ข่าวที่รบกวนใจอะไรเกี่ยวกับคริสเตียนในเมืองโกรินโธที่ไปถึงเปาโล?
อัครสาวกเปาโลเป็นห่วงพี่น้องคริสเตียนของท่านที่อยู่ในเมืองโกรินโธ ประเทศกรีซ. ประมาณห้าปีก่อนหน้านั้น ท่านได้ตั้งประชาคมในเมืองอันมั่งคั่งนี้ที่มีชื่อฉาวโฉ่เนื่องด้วยการผิดศีลธรรม. บัดนี้ ประมาณปีสากลศักราช 55 ขณะอยู่ที่เมืองเอเฟโซแห่งเอเชียไมเนอร์ ท่านได้รับรายงานซึ่งรบกวนใจจากเมืองโกรินโธเกี่ยวกับการแตกเป็นหมู่เป็นพวก และการยอมให้กับการผิดศีลธรรมขั้นร้ายแรง. นอกจากนั้น เปาโลได้รับจดหมายจากคริสเตียนชาวโกรินโธขอคำแนะนำเรื่องการเกี่ยวพันทางเพศ, การรักษาตัวเป็นโสด, การแต่งงาน, การแยกกันอยู่, และการแต่งงานใหม่.
2. การผิดศีลธรรมที่มีอย่างแพร่หลายในเมืองโกรินโธดูเหมือนว่ามีผลกระทบอย่างไรต่อคริสเตียนในเมืองนั้น?
2 การผิดศีลธรรมร้ายแรงที่มีอยู่ดาษดื่นในเมืองโกรินโธดูเหมือนกำลังกระทบประชาคมในท้องถิ่นแห่งนี้ในสองทาง. คริสเตียนบางคนกำลังพ่ายแพ้ต่อบรรยากาศอันหละหลวมทางศีลธรรมและยอมผ่อนปรนให้แก่การผิดศีลธรรม. (1 โกรินโธ 5:1; 6:15-17) ดูเหมือนว่า ในอีกฝ่ายหนึ่งก็มีบางคนซึ่งต่อต้านความเพลิดเพลินทางกามารมณ์ที่มีอยู่ทุกซอกทุกมุมในเมืองนี้ ปฏิบัติตัวอย่างสุดขั้วถึงขั้นสนับสนุนให้ละเว้นจากการร่วมประเวณีทุกกรณี แม้แต่ในกรณีของคู่สมรส.—1 โกรินโธ 7:5.
3. เรื่องอะไรที่เปาโลเขียนถึงเป็นประการแรกในจดหมายฉบับแรกของท่านถึงชาวโกรินโธ?
3 ในจดหมายที่เปาโลเขียนถึงชาวโกรินโธอย่างยืดยาว ก่อนอื่นท่านกล่าวถึงปัญหาเรื่องความไม่เป็นเอกภาพ. (1 โกรินโธ บท 1-4) ท่านกระตุ้นเตือนพวกเขาให้หลีกเลี่ยงการติดตามมนุษย์ ซึ่งรังแต่จะนำไปสู่การแตกแยกที่ก่อผลเสียหาย. พวกเขาควรเป็นเอกภาพฐานะเป็น “ผู้ร่วมทำการ” ด้วยกันกับพระเจ้า. จากนั้นท่านให้คำแนะนำเฉพาะเจาะจงกับพวกเขาเรื่องการรักษาประชาคมให้สะอาดทางศีลธรรม. (บท 5, 6) เสร็จแล้วท่านอัครสาวกก็หยิบยกจดหมายของพวกเขาขึ้นมาพิจารณา.
สนับสนุนความเป็นโสด
4. เปาโลหมายความเช่นไรเมื่อท่านกล่าวว่า “จะดีหากผู้ชายไม่แตะต้องผู้หญิง”?
4 ท่านเริ่มอย่างนี้: “บัดนี้ เกี่ยวกับเรื่องที่ท่านทั้งหลายเขียน จะดีหากผู้ชายไม่แตะต้องผู้หญิง.” (1 โกรินโธ 7:1, ล.ม.) วลี “ไม่แตะต้องผู้หญิง” ในที่นี้หมายถึงการหลีกเลี่ยงการสัมผัสร่างกายสตรีเพื่อความเพลิดเพลินทางเพศ. เนื่องจากเปาโลได้ตำหนิการผิดประเวณี หรือ การลักลอบได้เสียไปแล้ว ตอนนี้ท่านจึงกำลังกล่าวถึงการมีเพศสัมพันธ์ภายใต้การจัดเตรียมเรื่องการสมรส. ดังนั้น ในที่นี้เปาโลกำลังสนับสนุนสถานภาพความเป็นโสด. (1 โกรินโธ 6:9, 16, 18; เทียบกับเยเนซิศ 20:6; สุภาษิต 6:29.) ต่อจากนั้นอีกเล็กน้อย ท่านเขียนว่า “ฝ่ายข้าพเจ้าขอกล่าวแก่คนทั้งหลายที่ยังเป็นโสดและพวกแม่ม่ายว่า, หากเขาจะอยู่เหมือนข้าพเจ้าก็ดีอยู่.” (1 โกรินโธ 7:8) เปาโลไม่ได้แต่งงาน ซึ่งก็อาจเป็นได้ว่าท่านเป็นพ่อม่าย.—1 โกรินโธ 9:5.
5, 6. (ก) เหตุใดจึงเป็นที่แน่ชัดว่า เปาโลไม่ได้สนับสนุนแนวชีวิตแบบนักบวช? (ข) เพราะเหตุใดเปาโลจึงสนับสนุนความเป็นโสด?
5 มีทางเป็นไปได้มากว่า คริสเตียนในเมืองโกรินโธได้รับทราบปรัชญากรีก ซึ่งบางสำนักยกย่องการตัดขาดความสุขทางโลก หรือการหักห้ามใจตัวเองอย่างเด็ดขาด. เป็นไปได้ไหมว่านั่นอาจเป็นเหตุที่ชาวโกรินโธถามเปาโลว่า เป็นการ “ดี” ไหมสำหรับคริสเตียนจะหลีกเลี่ยงจากเพศสัมพันธ์ทุกอย่าง? คำตอบของเปาโลไม่ได้สะท้อนทัศนะของปรัชญากรีกเลย. (โกโลซาย 2:8) ไม่เหมือนกับนักเทววิทยาคาทอลิก ไม่มีสักแห่งที่ท่านสนับสนุนการครองตัวแบบนักบวชที่ถือพรหมจรรย์ในวัดหรือสำนักชี ราวกับว่าคนโสดบริสุทธิ์เป็นพิเศษและอาจมีส่วนช่วยเหลือให้ตัวเองรอดได้โดยแบบชีวิตและคำอธิษฐานของตน.
6 เปาโลสนับสนุนความเป็นโสด “เพราะเหตุความยากลำบากที่มีอยู่ในเวลานี้.” (1 โกรินโธ 7:25ข [ข้อ 26, ล.ม.]) ท่านอาจหมายถึงช่วงเวลาต่าง ๆ ที่ยากลำบากที่คริสเตียนกำลังฝ่าฟัน ซึ่งการแต่งงานอาจซ้ำเติมให้หนักไปอีกก็เป็นได้. (1 โกรินโธ 7:28) คำแนะนำของท่านต่อคริสเตียนที่เป็นโสดคือ: “หากเขาจะอยู่เหมือนข้าพเจ้าก็ดีอยู่.” ต่อพ่อม่าย ท่านกล่าวดังนี้: “ท่านเป็นโสด [“เป็นอิสระจากภรรยา,” ล.ม.] หรือ อย่าหาภรรยาเลย.” สำหรับแม่ม่าย ท่านเขียนว่า “ตามความคิดเห็นของข้าพเจ้าก็เห็นว่า, ถ้านางจะอยู่อย่างนั้นก็เป็นสุขกว่า และข้าพเจ้าเห็นว่าพระวิญญาณของพระเจ้าสถิตอยู่ฝ่ายข้าพเจ้าด้วย.”—1 โกรินโธ 7:8, 27, 40.
ไม่มีการบังคับให้ครองตัวเป็นโสด
7, 8. อะไรแสดงว่าเปาโลไม่ได้กะเกณฑ์คริสเตียนให้ครองตัวเป็นโสด?
7 ไม่ต้องสงสัยว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระยะโฮวานำทางเปาโลขณะที่ท่านให้คำแนะนำนี้. การเสนอทั้งสิ้นของท่านเรื่องการรักษาความเป็นโสดและการสมรสแสดงถึงความสมดุลและการควบคุมในการแสดงทัศนะ. ท่านไม่ได้ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องความซื่อสัตย์หรือไม่ซื่อสัตย์. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น นี่เป็นประเด็นเรื่องการเลือกอย่างอิสระ โดยที่เน้นหนักไปทางสนับสนุนความเป็นโสดสำหรับคนที่สามารถครองตัวบริสุทธิ์สะอาดในสภาพนั้น.
8 ทันทีหลังจากกล่าวว่า “จะดีหากผู้ชายไม่แตะต้องผู้หญิง” เปาโลกล่าวอีกว่า “กระนั้น เนื่องด้วยการประพฤติผิดทางเพศแพร่หลาย จงให้ผู้ชายทุกคนมีภรรยาของตนเอง และจงให้ผู้หญิงทุกคนมีสามีของตนเอง.” (1 โกรินโธ 7:1, 2, ล.ม.) หลังจากแนะนำคนที่ไม่ได้แต่งงานและคนที่เป็นม่ายให้ “อยู่เหมือนข้าพเจ้า” ท่านรีบกล่าวเพิ่มเติมว่า “แต่ถ้าเขายั้งใจไม่ได้ก็ให้ทำการสมรสกันเถิด ซึ่งจะทำการสมรสกันนั้นก็ดีกว่ามีใจฟุ้งซ่านในกามราคะ.” (1 โกรินโธ 7:8, 9) อีกครั้งหนึ่ง คำแนะนำของท่านแก่คนที่เป็นพ่อม่ายคือ: “อย่าหาภรรยาเลย. แต่ถ้าท่านจะสมรสก็ไม่ผิด.” (1 โกรินโธ 7:27, 28) คำแนะนำที่สมดุลนี้สะท้อนซึ่งเสรีภาพในการเลือก.
9. ตามที่พระเยซูและเปาโลกล่าวถึง การสมรสและความเป็นโสดต่างก็เป็นของประทานจากพระเจ้าอย่างไร?
9 เปาโลแสดงว่า ทั้งชีวิตสมรสและความเป็นโสดเป็นของประทานที่มาจากพระเจ้า. “ข้าพเจ้าใคร่ให้ทุกคนเป็นเหมือนข้าพเจ้า. แต่ถึงอย่างไรก็ดีทุกคนได้รับคุณสมบัติ [“ของประทาน,” ล.ม.] จากพระเจ้าเหมาะกับตัว, คนหนึ่งรับอย่างนี้, และอีกคนหนึ่งรับอย่างนั้น.” (1 โกรินโธ 7:7) ไม่ต้องสงสัยว่า ท่านคงได้คิดถึงสิ่งที่พระเยซูได้ตรัส. หลังจากทรงวางพื้นฐานแล้วว่าการสมรสมาจากพระเจ้า พระเยซูทรงแสดงว่า ความเป็นโสดโดยสมัครใจเพื่อเห็นแก่ผลประโยชน์ของราชอาณาจักรเป็นของประทานพิเศษ: “มิใช่ทุกคนทำตามคำนั้น เว้นแต่ผู้ที่มีของประทานนี้. ด้วยว่า ผู้ที่เป็นขันทีตั้งแต่ครรภ์มารดาก็มี ผู้ที่มนุษย์ทำให้เป็นขันทีก็มี และผู้ที่ทำตัวเองให้เป็นขันทีเพราะเห็นแก่ราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ก็มี. ผู้ที่สามารถทำได้ก็จงทำเถิด.”—มัดธาย 19:4-6, 11, 12, ล.ม.
การทำตัวเพื่อรับเอาของประทานแห่งความเป็นโสด
10. คนเราจะ ‘ทำตัว’ เพื่อจะรับของประทานแห่งความเป็นโสดได้โดยวิธีใด?
10 แม้ว่าทั้งพระเยซูและเปาโลกล่าวถึงความเป็นโสดว่าเป็น “ของประทาน” แต่ทั้งสองก็ไม่ได้บอกว่าเป็นของประทานอย่างอัศจรรย์ที่เฉพาะบางคนเท่านั้นจะมีได้. พระเยซูตรัสว่า “มิใช่ทุกคนทำ” ตัวเพื่อจะได้ของประทานนั้น และท่านกระตุ้นเตือนคนที่สามารถทำเช่นนั้นว่า “จงทำเถิด” ดังที่พระเยซูและเปาโลได้ทำ. จริงอยู่ เปาโลเขียนว่า “ซึ่งจะทำการสมรสกันนั้นก็ดีกว่ามีใจฟุ้งซ่านในกามราคะ” แต่ท่านกำลังพูดถึงคนที่ “ยั้งใจไม่ได้.” (1 โกรินโธ 7:9) ในข้อเขียนก่อนหน้านั้น เปาโลแสดงว่า คริสเตียนสามารถหลีกเลี่ยงการมีใจฟุ้งซ่านในราคะตัณหา. (ฆะลาเตีย 5:16, 22-24) การดำเนินตามพระวิญญาณหมายถึงการให้พระวิญญาณของพระยะโฮวานำทางเราทุกฝีก้าว. คริสเตียนหนุ่มสาวสามารถทำเช่นนี้ได้ไหม? ได้ หากเขาปฏิบัติตามพระคำของพระยะโฮวาอย่างใกล้ชิด. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญเขียนดังนี้: “คนหนุ่ม [หรือคนสาว] ทำไฉนจึงจะได้ชำระทางประพฤติของตนให้บริสุทธิ์? ให้ระวังในทางประพฤติตามพระดำรัสของพระองค์.”—บทเพลงสรรเสริญ 119:9.
11. ‘การดำเนินตามพระวิญญาณ’ หมายความเช่นไร?
11 การชำระทางของตนนี้เกี่ยวข้องกับการที่เราต้องรักษาตัวให้อยู่ห่างจากความคิดปล่อยตามอำเภอใจที่แพร่อยู่ทั่วไปทางรายการโทรทัศน์, ภาพยนตร์, บทความต่าง ๆ ในนิตยสาร, หนังสือ, และเนื้อเพลง. ความคิดเหล่านั้นเอนเอียงไปทางเนื้อหนัง. คริสเตียนหนุ่มสาวไม่ว่าเพศใดที่ต้องการรักษาความเป็นโสดควรจะ “ไม่ดำเนินตามเนื้อหนัง แต่ตามพระวิญญาณ. เพราะว่าคนทั้งหลายที่อยู่ฝ่ายเนื้อหนังก็สนใจในสิ่งซึ่งเป็นของของเนื้อหนัง, แต่คนทั้งหลายที่อยู่ฝ่ายพระวิญญาณก็สนใจในสิ่งซึ่งเป็นของของพระวิญญาณ.” (โรม 8:4, 5) สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ฝ่ายพระวิญญาณนั้นชอบธรรม, บริสุทธิ์, น่ารัก, และกล่าวถึงในทางดี. คริสเตียนไม่ว่าหนุ่มสาวหรืออายุมาก ทำดีเมื่อได้ “ใคร่ครวญสิ่งเหล่านี้ต่อ ๆ ไป.”—ฟิลิปปอย 4:8, 9, ล.ม.
12. อะไรที่เกี่ยวข้องอยู่ด้วยเป็นหลักใหญ่ในการทำตัวเพื่อจะรับของประทานแห่งความเป็นโสดได้?
12 การทำตัวเพื่อรับของประทานแห่งความเป็นโสดโดยหลักใหญ่แล้วเป็นเรื่องของการที่เรามีหัวใจแน่วแน่อยู่ที่เป้าหมายนั้นและอธิษฐานขอพระยะโฮวาทรงช่วยให้ดำเนินตามเป้าหมายนั้นได้. (ฟิลิปปอย 4:6, 7) เปาโลเขียนดังนี้: “ถ้าคนหนึ่งคนใดตั้งมั่นในหัวใจของเขา ไม่มีความจำเป็น แต่มีอำนาจเหนือความตั้งใจของตน และได้กระทำการตัดสินเช่นนั้นในหัวใจของตนเอง ให้รักษาพรหมจรรย์ของตน เขาจะทำดี. เหตุฉะนั้น ผู้ซึ่งให้พรหมจรรย์ของตนในการสมรสก็ทำดี แต่ผู้ซึ่งไม่ให้พรหมจรรย์ของตนในการสมรสจะทำดีกว่า.”—1 โกรินโธ 7:37, 38, ล.ม.
ความเป็นโสดด้วยมีจุดประสงค์
13, 14. (ก) อัครสาวกเปาโลเปรียบเทียบให้เห็นอะไรระหว่างคริสเตียนที่ไม่ได้แต่งงานกับที่แต่งงานแล้ว? (ข) คริสเตียนที่เป็นโสดจะสามารถ “ทำดีกว่า“ คนที่แต่งงานเฉพาะกรณีใด?
13 ความเป็นโสดมิได้มีคุณความดีควรแก่การยกย่องในตัวของมันเอง. ถ้าอย่างนั้น ในแง่ใดที่ความเป็นโสดสามารถเป็นสถานภาพที่ “ดีกว่า”? ที่จริงแล้ว เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับวิธีที่คน ๆ นั้นใช้เสรีภาพที่ความเป็นโสดมีให้. เปาโลเขียนดังนี้: “ข้าพเจ้าใคร่ให้ท่านทั้งหลายพ้นจากความกระวนกระวาย. ฝ่ายคนที่ไม่มีภรรยาก็เอาใจใส่การขององค์พระผู้เป็นเจ้า, เพื่อจะทำสิ่งซึ่งเป็นที่ชอบพระทัยองค์พระผู้เป็นเจ้า. แต่คนที่มีภรรยาแล้วก็สาละวนด้วยการของโลกนี้, เพื่อจะทำสิ่งซึ่งชอบใจภรรยาเป็นการสองฝักสองฝ่าย. ฝ่ายหญิงที่ไม่มีสามีและสาวพรหมจารีนั้นก็เอาใจใส่ในการขององค์พระผู้เป็นเจ้า, เพื่อจะได้เป็นคนบริสุทธิ์ทั้งกายและดวงจิตต์. แต่หญิงที่มีสามีแล้วก็สาละวนด้วยการของโลกนี้, เพื่อจะทำสิ่งซึ่งเป็นที่ชอบใจสามี. ข้าพเจ้าได้ว่าอย่างนี้, เพื่อเป็นประโยชน์ของท่านทั้งหลาย, มิใช่จะวางบ่วงแร้วไว้ดักท่าน, แต่เพื่อความดีความงามของท่าน, ให้ท่านทั้งหลายปฏิบัติองค์พระผู้เป็นเจ้าโดยปราศจากความกระวนกระวาย.”—1 โกรินโธ 7:32-35.
14 คริสเตียนโสดที่ใช้สถานภาพโสดของเขาเพื่อติดตามเป้าหมายอันเห็นแก่ตัวมิได้ทำ “ดีกว่า” คริสเตียนที่สมรส. เขายังคงเป็นโสด ไม่ใช่ “เพราะเห็นแก่ราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์” แต่เพราะเหตุผลส่วนตัว. (มัดธาย 19:12, ล.ม.) ชายหรือหญิงที่เป็นคนโสดควร “เอาใจใส่การขององค์พระผู้เป็นเจ้า” และเป็นห่วงสนใจในการ “ทำสิ่งซึ่งเป็นที่ชอบพระทัยองค์พระผู้เป็นเจ้า” และในการ “ปฏิบัติองค์พระผู้เป็นเจ้าโดยปราศจากความกระวนกระวาย [“โดยไม่วอกแวก,” ล.ม.].” นี่ย่อมหมายถึงการอุทิศความเอาใจใส่ทั้งสิ้นให้แก่การรับใช้พระยะโฮวาและพระเยซูคริสต์. เฉพาะโดยการทำเช่นนั้นที่คริสเตียนโสดชายหญิงทำ “ดีกว่า” คริสเตียนที่สมรส.
การงานโดยไม่มีสิ่งใดทำให้วอกแวก
15. สาระสำคัญแห่งการพิจารณาของเปาโลใน 1 โกรินโธ บท 7 คืออะไร?
15 สาระสำคัญของเรื่องที่เปาโลกล่าวในบทนี้คือ: แม้ว่าการสมรสนั้นถูกทำนองคลองธรรม และภายใต้สภาพการณ์บางอย่างแล้ว บางคนควรจะสมรสเสีย แต่ความเป็นโสดมีข้อได้เปรียบอย่างที่มิอาจปฏิเสธได้สำหรับคริสเตียนชายหญิงผู้ปรารถนาจะรับใช้พระยะโฮวาโดยมีสิ่งที่ทำให้เขวน้อยที่สุด. ขณะที่คนที่สมรส ‘เป็นสองฝักสองฝ่าย’ คริสเตียนโสดมีอิสระที่จะทุ่มเทความเอาใจใส่ใน “การขององค์พระผู้เป็นเจ้า.”
16, 17. คริสเตียนที่เป็นโสดจะสามารถทำดีกว่าในการทุ่มเทความสนใจใน “การขององค์พระผู้เป็นเจ้า” ได้อย่างไร?
16 การขององค์พระผู้เป็นเจ้ามีอะไรบ้างที่คริสเตียนโสดสามารถให้ความเอาใจใส่ได้อย่างเป็นอิสระมากกว่าคนที่สมรส? ในอีกท้องเรื่องหนึ่ง พระเยซูตรัสเกี่ยวกับ “ของของพระเจ้า” ซึ่งเป็นสิ่งที่คริสเตียนไม่อาจให้แก่ซีซาร์ได้. (มัดธาย 22:21) สิ่งเหล่านี้โดยพื้นฐานแล้วเกี่ยวข้องกับชีวิต, การนมัสการ, และการรับใช้ของคริสเตียน.—มัดธาย 4:10; โรม 14:8; 2 โกรินโธ 2:17; 3:5, 6; 4:1.
17 โดยทั่วไปแล้วคนโสดมีอิสระกว่าในการอุทิศเวลาให้แก่การรับใช้พระยะโฮวา ซึ่งสามารถก่อประโยชน์แก่สภาพฝ่ายวิญญาณและขอบเขตแห่งการรับใช้ของพวกเขา. พวกเขาสามารถใช้เวลามากกว่าในการศึกษาส่วนตัวและการคิดรำพึง. คริสเตียนโสดมักจะสามารถจัดการอ่านพระคัมภีร์เข้าไว้ในตารางเวลาของเขาได้ง่ายกว่าคนที่สมรส. พวกเขาอาจเตรียมตัวสำหรับการประชุมและการประกาศตามบ้านได้ดีกว่า. ทั้งหมดนี้เป็น ‘ประโยชน์เฉพาะตน’ ของคนโสด.—1 โกรินโธ 7:35.
18. พี่น้องชายที่เป็นโสดหลายคนจะแสดงว่าพวกเขาต้องการรับใช้พระยะโฮวา “โดยปราศจากความกระวนกระวาย” ได้โดยวิธีใด?
18 พี่น้องโสดหลายคนที่รับใช้อยู่ในฐานะผู้ช่วยงานรับใช้มีอิสระจะพูดต่อพระยะโฮวาว่า “ข้าพเจ้าอยู่ที่นี่; ทรงใช้ข้าพเจ้าเถิด.” (ยะซายา 6:8) พวกเขาสามารถสมัครเข้ารับการอบรมในโรงเรียนฝึกอบรมเพื่องานรับใช้ ซึ่งจำกัดไว้เฉพาะแก่ผู้ช่วยงานรับใช้และผู้ปกครองที่เป็นคนโสดเท่านั้น ซึ่งเป็นผู้ที่มีอิสระจะรับใช้ในที่ที่มีความต้องการมากกว่า. แม้แต่พี่น้องชายที่เป็นโสดซึ่งไม่มีอิสระพอจะย้ายไปจากประชาคมของตนก็สามารถทำตัวให้อยู่พร้อมจะรับใช้พี่น้องของเขาในฐานะผู้ช่วยงานรับใช้หรือผู้ปกครอง.—ฟิลิปปอย 2:20-23.
19. พี่น้องหญิงที่เป็นโสดหลายคนได้รับพระพรเช่นไร และทางหนึ่งที่พวกเขาสามารถนำพระพรมาสู่ประชาคมนั้นคืออะไร?
19 พี่น้องหญิงโสด เนื่องจากไม่มีประมุขที่เป็นมนุษย์จะปรึกษาและมอบความไว้วางใจ อาจอยู่พร้อมมากกว่าที่จะ ‘ทอดภาระของพวกเธอไว้กับพระยะโฮวา.’ (บทเพลงสรรเสริญ 55:22; 1 โกรินโธ 11:3) เรื่องนี้สำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับพี่น้องหญิงที่เป็นโสดเนื่องด้วยความรักที่มีต่อพระยะโฮวา. หากต่อมาเขาสมรส ก็จะสมรสกับ “ผู้ที่เชื่อถือองค์พระผู้เป็นเจ้า” เท่านั้น คือเฉพาะแต่กับคนที่อุทิศตัวแด่พระยะโฮวา. (1 โกรินโธ 7:39) บรรดาผู้ปกครองรู้สึกหยั่งรู้ค่าที่มีพี่น้องหญิงโสดในประชาคมของตน; พี่น้องหญิงเหล่านี้มักจะไปเยี่ยมและช่วยผู้ป่วยและผู้สูงอายุ. นี่ยังผลเป็นความสุขแก่ทุกคนที่เกี่ยวข้อง.—กิจการ 20:35.
20. คริสเตียนหลายคนแสดงว่าพวกเขา “ปฏิบัติองค์พระผู้เป็นเจ้าโดยปราศจากความกระวนกระวาย” อย่างไร?
20 คริสเตียนหนุ่มสาวหลายคนได้จัดกิจธุระในชีวิตของตนเพื่อจะ “ปฏิบัติองค์พระผู้เป็นเจ้าโดยปราศจากความกระวนกระวาย.” (1 โกรินโธ 7:35) พวกเขากำลังรับใช้พระยะโฮวาอยู่ในฐานะผู้รับใช้เต็มเวลาประเภทไพโอเนียร์, มิชชันนารี, หรือรับใช้ที่สำนักงานสาขาของสมาคมว็อชเทาเวอร์ที่ใดที่หนึ่ง. และพวกเขาเป็นกลุ่มคนที่มีความสุขสักเพียงไร! การที่มีพวกเขาอยู่ด้วยช่างเป็นเรื่องน่าสดชื่นเสียจริง ๆ! ในสายพระเนตรของพระยะโฮวาและของพระเยซู พวกเขาเป็น “ดุจหยดน้ำค้าง.”—บทเพลงสรรเสริญ 110:3, ล.ม.
ไม่ใช่การปฏิญาณเรื่องการเป็นโสดตลอดไป
21. (ก) เหตุใดจึงเห็นได้ชัดว่าเปาโลไม่ได้สนับสนุนให้ปฏิญาณตัวเป็นโสด? (ข) ท่านกล่าวแสดงนัยถึงอะไรเมื่อท่านพูดถึงการ “เลยความเปล่งปลั่งแห่งวัยหนุ่มสาวไปแล้ว”?
21 จุดหลักในคำแนะนำของเปาโลคือ คริสเตียนทำ “ดี” ที่จัดชีวิตของตนเพื่ออยู่เป็นโสด. (1 โกรินโธ 7:1, 8, 26, 37) อย่างไรก็ตาม ท่านหาได้เชื้อเชิญพวกเขาให้ปฏิญาณตัวเป็นโสดไม่. ตรงกันข้าม ท่านเขียนดังนี้: “ถ้าผู้ใดคิดว่า เขาประพฤติไม่เหมาะกับพรหมจรรย์ของตน ถ้าสิ่งนั้นเลยความเปล่งปลั่งแห่งวัยหนุ่มสาวไปแล้ว และนั่นเป็นแนวทางที่ควรปฏิบัติ ให้เขาทำตามที่เขาต้องการ; เขาไม่ทำบาป. ให้เขาสมรส.” (1 โกรินโธ 7:36, ล.ม.) คำภาษากรีก (ไฮเพʹราคโมส) ที่ได้รับการแปลว่า “เลยความเปล่งปลั่งแห่งวัยหนุ่มสาวไปแล้ว” ตามตัวอักษรแล้วหมายถึง “เลยจุดสูงสุดไปแล้ว” และใช้หมายถึงการผ่านจุดสูงสุดแห่งความปรารถนาทางเพศ. ดังนั้น คนที่ใช้ชีวิตนานหลายปีในสถานภาพโสดและในที่สุดรู้สึกว่าเขาควรแต่งงานก็มีอิสระเต็มที่จะแต่งกับเพื่อนร่วมความเชื่อ.—2 โกรินโธ 6:14.
22. เหตุใดจึงเป็นประโยชน์ไม่ว่าจะมองจากจุดยืนใดสำหรับคริสเตียนที่จะไม่แต่งงานขณะอายุน้อยเกินไป?
22 เวลาหลายปีที่คริสเตียนหนุ่มสาวใช้ในการรับใช้พระยะโฮวาโดยไม่วอกแวกนั้นเป็นการลงทุนที่ฉลาดสุขุมทีเดียว. เวลาที่ผ่านไปทำให้พวกเขาได้รับสติปัญญาที่ใช้การได้, ประสบการณ์, และความหยั่งเห็นเข้าใจ. (สุภาษิต 1:3, 4) คนที่ได้ครองตัวเป็นโสดเพื่อเห็นแก่ราชอาณาจักรอยู่ในฐานะที่ดีกว่ามาก หากในภายหลังเขาตัดสินใจรับเอาหน้าที่รับผิดชอบของชีวิตสมรสและอาจรวมถึงการเป็นบิดาหรือมารดาด้วย.
23. บางคนที่คิดเรื่องการแต่งงานอาจตั้งใจเช่นไร แต่จะมีการพิจารณาคำถามอะไรในบทความถัดไป?
23 คริสเตียนบางคนที่ได้ใช้เวลานานหลายปีรับใช้พระยะโฮวาเต็มเวลาในสถานภาพโสดทำการเลือกคู่ชีวิตในอนาคตอย่างรอบคอบ เพื่อจะยังคงรับใช้เต็มเวลาประเภทใดประเภทหนึ่งต่อไปได้. นี่นับว่าน่าชมเชยที่สุดแน่นอน. บางคนอาจถึงกับสร้างจินตภาพการแต่งงานพร้อมด้วยความคิดที่จะไม่ปล่อยให้การสมรสของพวกเขามาหน่วงเหนี่ยวการรับใช้ไม่ว่าในทางใด. แต่คริสเตียนที่สมรสแล้วควรรู้สึกเป็นอิสระจะจดจ่อในงานรับใช้พระยะโฮวาเหมือนตอนที่เขาหรือเธอยังเป็นโสดไหม? จะมีการพิจารณาคำถามนี้ในบทความถัดไป.
เพื่อเป็นการทบทวน
▫ เหตุใดอัครสาวกเปาโลรู้สึกถึงความจำเป็นต้องเขียนถึงประชาคมในเมืองโกรินโธ?
▫ ทำไมเรารู้ว่าเปาโลไม่ได้สนับสนุนแนวชีวิตแบบนักบวช?
▫ คนเราจะสามารถ ‘ทำตัว’ เพื่อความเป็นโสดได้โดยวิธีใด?
▫ พี่น้องหญิงโสดจะสามารถได้รับผลประโยชน์จากสถานภาพโสดของตัวเองได้อย่างไร?
▫ ในทางใดบ้างที่พี่น้องชายโสดได้รับประโยชน์จากเสรีภาพของตนเพื่อรับใช้พระยะโฮวา “โดยปราศจากความกระวนกระวาย”?