บิดาและผู้ปกครอง—การทำให้สำเร็จทั้งสองบทบาท
“ถ้าชายคนใดไม่รู้จักวิธีปกครองครอบครัวของตนเองแล้ว เขาจะเอาใจใส่ดูแลประชาคมของพระเจ้าอย่างไรได้?”—1 ติโมเธียว 3:5, ล.ม.
1, 2. (ก) ในศตวรรษแรก ผู้ดูแลที่เป็นโสดและผู้ดูแลที่สมรสแล้วแต่ไม่มีบุตรสามารถรับใช้พี่น้องของตนได้อย่างไร? (ข) อะกูลาและปริศกีลาเป็นตัวอย่างแก่คู่สมรสมากมายในทุกวันนี้อย่างไร?
ผู้ดูแลในประชาคมคริสเตียนยุคแรกอาจเป็นชายโสดหรือเป็นคนที่สมรสแล้วแต่ไม่มีบุตร หรือเป็นชายที่สมรสแล้วและมีบุตร. ไม่ต้องสงสัยว่า คริสเตียนบางคนสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำของอัครสาวกเปาโลที่ให้ไว้ในจดหมายฉบับแรกของท่านถึงชาวโกรินโธ ในบทที่ 7 และยังครองตัวเป็นโสด. พระเยซูทรงแถลงว่า “ผู้ที่ทำตัวเองให้เป็นขันทีเพราะเห็นแก่ราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ก็มี.” (มัดธาย 19:12, ล.ม.) ชายที่เป็นโสดเช่นเปาโล และอาจรวมทั้งบางคนที่เป็นเพื่อนร่วมเดินทางกับท่านด้วย คงจะมีอิสระพร้อมจะเดินทางไปช่วยพี่น้องของตน.
2 คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกว่าบาระนาบา, มาระโก, ซีลา, ลูกา, ติโมเธียว, และติโตเป็นคนโสดหรือไม่. หากเป็นผู้ที่สมรสแล้ว ก็เห็นได้ชัดว่าพวกเขามีอิสระจากพันธะหน้าที่ด้านครอบครัวมากพอควรจึงสามารถเดินทางไปอย่างกว้างไกลในงานมอบหมายตามที่ต่าง ๆ. (กิจการ 13:2; 15:39-41; 2 โกรินโธ 8:16, 17; 2 ติโมเธียว 4:9-11; ติโต 1:5) พวกเขาอาจได้พาภรรยาร่วมทางไปด้วยกัน เหมือนเปโตรและ “พวกอัครสาวกอื่น ๆ” ซึ่งดูเหมือนว่าได้พาภรรยาไปด้วยเมื่อเดินทางจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง. (1 โกรินโธ 9:5) อะกูลาและปริศกีลาเป็นตัวอย่างหนึ่งของคู่สมรสที่เต็มใจจะโยกย้ายถิ่นฐาน ติดตามเปาโลจากเมืองโกรินโธไปยังเอเฟโซ ต่อมาย้ายไปโรม แล้วย้ายกลับไปที่เอเฟโซอีก. คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกว่าพวกเขามีบุตรหรือไม่. การรับใช้อย่างเสียสละของพวกเขาเพื่อพวกพี่น้องทำให้พวกเขาได้รับความหยั่งรู้ค่าจาก “คริสตจักรทั้งปวงของพวกต่างประเทศ.” (โรม 16:3-5; กิจการ 18:2, 18; 2 ติโมเธียว 4:19) ทุกวันนี้ ไม่ต้องสงสัยว่ามีคู่สมรสหลายคู่ที่เหมือนกับอะกูลาและปริศกีลาที่สามารถไปรับใช้ในประชาคมอื่น โดยอาจจะย้ายไปยังที่ที่มีความต้องการมากกว่า.
บิดาและผู้ปกครอง
3. มีอะไรที่แนะให้เห็นว่าผู้ปกครองในศตวรรษแรกคงเป็นผู้ชายที่สมรสแล้วเสียเป็นส่วนมาก?
3 ดูเหมือนว่าในศตวรรษแรกแห่งสากลศักราช คริสเตียนผู้ปกครองส่วนใหญ่คงจะเป็นชายที่สมรสแล้วและมีบุตร. เมื่อเปาโลวางข้อเรียกร้องในเรื่องคุณวุฒิสำหรับผู้ชายที่ “เอื้อมแขนออกไปเพื่อจะได้ตำแหน่งผู้ดูแล” ท่านจึงชี้แจงว่า คริสเตียนคนนั้นควรจะเป็น “คนที่ปกครองครอบครัวของตนเองอย่างดีงาม, ให้ลูก ๆ อยู่ใต้อำนาจด้วยความจริงจังทุกอย่าง.”—1 ติโมเธียว 3:1, 4, ล.ม.
4. อะไรเป็นข้อเรียกร้องสำหรับผู้ปกครองที่แต่งงานแล้วและมีบุตร?
4 ดังที่เราได้เข้าใจกันแล้ว ไม่มีข้อเรียกร้องที่ว่าผู้ดูแลต้องมีบุตร หรือแม้แต่เป็นผู้ที่สมรสแล้ว. แต่ถ้าเขาแต่งงานแล้ว เพื่อจะมีคุณวุฒิเป็นผู้ปกครองหรือผู้ช่วยงานรับใช้ คริสเตียนต้องทำหน้าที่เป็นประมุขเหนือภรรยาอย่างเหมาะสมและด้วยความรัก และแสดงให้เห็นว่าเขาสามารถดูแลบุตรของตนให้อยู่ใต้อำนาจอย่างเหมาะสม. (1 โกรินโธ 11:3; 1 ติโมเธียว 3:12, 13) ข้อบกพร่องที่ร้ายแรงใด ๆ ในการจัดการครัวเรือนของเขาคงจะทำให้พี่น้องชายคนนั้นขาดคุณวุฒิสำหรับสิทธิพิเศษต่าง ๆ ในประชาคมไป. เพราะเหตุใด? เปาโลอธิบายดังนี้: “ถ้าชายคนใดไม่รู้จักวิธีปกครองครอบครัวของตนเองแล้ว เขาจะเอาใจใส่ดูแลประชาคมของพระเจ้าอย่างไรได้?” (1 ติโมเธียว 3:5, ล.ม.) ถ้าคนที่เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขและเนื้อหนังเดียวกันของเขาเองไม่ยอมอยู่ใต้การดูแลของเขาแล้ว คนอื่นจะยอมอยู่ใต้อำนาจเขาอย่างไรได้?
“มีบุตรที่เชื่อถือ”
5, 6. (ก) ข้อเรียกร้องอะไรในเรื่องบุตรที่เปาโลบอกกับติโต? (ข) ผู้ปกครองที่มีบุตรได้รับการคาดหมายเช่นไร?
5 เมื่อสั่งติโตให้ทำการแต่งตั้งผู้ดูแลในประชาคมเกรเต เปาโลได้กำหนดเงื่อนไขว่า “ถ้ามีชายคนใดปราศจากข้อกล่าวหา, เป็นสามีของภรรยาคนเดียว, มีบุตรที่เชื่อถือซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้ข้อกล่าวหาในเรื่องความเสเพลหรือเกเร. เพราะผู้ดูแลต้องปราศจากข้อกล่าวหาในฐานะคนต้นเรือนของพระเจ้า.” ข้อเรียกร้องที่ให้ “มีบุตรที่เชื่อถือ” นั้นหมายความเช่นไร?—ติโต 1:6, 7, ล.ม.
6 คำ “บุตรที่เชื่อถือ” หมายถึงคนหนุ่มสาวที่ได้อุทิศชีวิตของตนแด่พระยะโฮวาแล้วและได้รับบัพติสมา หรือคนหนุ่มสาวที่กำลังทำความก้าวหน้าไปสู่การอุทิศตัวและรับบัพติสมา. สมาชิกประชาคมคาดหมายว่า บุตรของผู้ปกครองโดยทั่วไปแล้วน่าจะมีความประพฤติที่ดีและเชื่อฟัง. ควรจะเป็นที่ปรากฏชัดว่า ผู้ปกครองทำทุกสิ่งที่ทำได้เพื่อเสริมสร้างความเชื่อในตัวบุตรของเขา. กษัตริย์ซะโลโมเขียนดังนี้: “จงฝึกสอนเด็กให้ประพฤติตามทางที่ควรจะประพฤตินั้น: และเมื่อแก่ชราแล้วเขาจะไม่เดินห่างจากทางนั้น.” (สุภาษิต 22:6) แต่จะว่าอย่างไรถ้าคนหนุ่มสาวที่ได้รับการฝึกอบรมเช่นนั้นปฏิเสธที่จะรับใช้พระยะโฮวาหรือกระทั่งทำความผิดร้ายแรงบางอย่าง?
7. (ก) เหตุใดจึงเห็นได้ชัดว่า สุภาษิต 22:6 ไม่ได้เป็นกฎที่ยืดหยุ่นไม่ได้? (ข) ถ้าลูกของผู้ปกครองเลือกจะไม่รับใช้พระยะโฮวา ทำไมผู้ปกครองคนนั้นไม่จำเป็นต้องเสียสิทธิพิเศษของเขาโดยอัตโนมัติ?
7 เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า สุภาษิตที่ยกมาข้างต้นไม่ได้เป็นกฎที่เคร่งครัดตายตัว. สุภาษิตข้อนี้ไม่ได้หักล้างหลักการเรื่องเจตจำนงเสรี. (พระบัญญัติ 30:15, 16, 19) เมื่อบุตรชายหรือบุตรหญิงถึงวัยที่จะต้องรับผิดชอบตัวเอง เขาหรือเธอต้องตัดสินใจเป็นส่วนตัวในเรื่องการอุทิศตัวและการรับบัพติสมา. หากผู้ปกครองที่เป็นบิดาได้ให้ความช่วยเหลือฝ่ายวิญญาณ, การชี้นำ, และการตีสอนที่จำเป็นอย่างเห็นได้ชัด แต่คนหนุ่มสาวนั้นเลือกจะไม่รับใช้พระยะโฮวา ผู้เป็นบิดาจะไม่ขาดคุณสมบัติในการรับใช้ฐานะเป็นผู้ดูแลไปโดยอัตโนมัติ. ในอีกด้านหนึ่ง หากผู้ปกครองมีบุตรที่ยังเล็กอยู่หลายคนอาศัยอยู่ในบ้านซึ่งแต่ละคนมีสภาพย่ำแย่ฝ่ายวิญญาณและมักก่อเรื่องยุ่งยากเดี๋ยวคนนั้นทีเดี๋ยวคนนี้ที เขาก็อาจไม่ได้รับการพิจารณาอีกต่อไปว่า “เป็นคนที่ปกครองครอบครัวของตนเองอย่างดีงาม.” (1 ติโมเธียว 3:4, ล.ม.) จุดสำคัญก็คือว่า ควรเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ผู้ดูแลทำหน้าที่ของเขาอย่างสุดความสามารถเพื่อจะมี “บุตรที่เชื่อถือซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้ข้อกล่าวหาในเรื่องความเสเพลหรือเกเร.”a
สมรสกับ “ภรรยาไม่เชื่อถือพระคริสต์”
8. ผู้ปกครองควรปฏิบัติเช่นไรต่อภรรยาที่ไม่ได้เป็นผู้เชื่อถือ?
8 เกี่ยวด้วยชายคริสเตียนที่สมรสกับผู้ไม่เชื่อถือ เปาโลเขียนดังนี้: “ถ้าพี่น้องคนใดมีภรรยาไม่เชื่อถือพระคริสต์, และนางพอใจอยู่กับสามี, อย่าให้สามีทิ้งนางนั้นเลย. . . . ด้วยว่า . . . ภรรยาที่ไม่เชื่อถือพระคริสต์ก็ทรงสรรไว้เฉพาะเพราะเห็นแก่สามี มิฉะนั้นลูกท่านทั้งหลายก็เป็นมลทิน แต่บัดนี้ลูกเหล่านั้นก็ไม่เป็นมลทินแล้ว. . . . ดูก่อน . . . ท่านผู้เป็นสามี, ไฉนท่านจะรู้ได้ว่าท่านจะช่วยภรรยาให้รอดได้หรือไม่?” (1 โกรินโธ 7:12-14, 16) คำ “ไม่เชื่อถือ” ณ ที่นี้ไม่ได้หมายถึงภรรยาที่ไม่มีความเชื่อทางศาสนา หากแต่หมายถึงผู้ที่ไม่ได้อุทิศตัวแด่พระยะโฮวา. เธออาจเป็นชาวยิว หรือเป็นผู้เชื่อถือในพระนอกรีตทั้งหลาย. ทุกวันนี้ ผู้ปกครองบางคนอาจได้สมรสกับผู้หญิงที่นับถืออีกศาสนาหนึ่ง, เป็นนักอไญยนิยม, หรือแม้กระทั่งนักอเทวนิยม. ถ้าเธอพอใจจะอยู่กับเขาต่อไป เขาก็ไม่ควรทิ้งเธอเพียงเพราะความเชื่อต่างกัน. เขาควรจะ ‘อยู่กับเธอต่อ ๆ ไปตามความรู้ ให้เกียรติแก่เธอเหมือนหนึ่งเป็นภาชนะที่อ่อนแอกว่า คือเพศหญิง’ โดยหวังว่าจะช่วยเธอให้รอดได้.—1 เปโตร 3:7, ล.ม.; โกโลซาย 3:19.
9. ในประเทศที่กฎหมายให้สิทธิแก่ทั้งสามีและภรรยาจะสั่งสอนบุตรตามความเชื่อทางศาสนาของแต่ละคน ผู้ปกครองควรกระทำเช่นไร และการทำเช่นนี้จะมีผลกระทบสิทธิพิเศษของเขาอย่างไร?
9 หากผู้ดูแลมีบุตร เขาจะแสดงบทบาทความเป็นประมุขอย่างเหมาะสมฐานะสามีและฐานะบิดาในการเลี้ยงดูพวกเขาให้เติบโตขึ้น “ด้วยการตีสอนและการปรับความคิดจิตใจตามหลักการของพระยะโฮวา.” (เอเฟโซ 6:4, ล.ม.) ในหลายประเทศ กฎหมายให้สิทธิแก่คู่สมรสทั้งสองฝ่ายในการสั่งสอนบุตรเรื่องศาสนา. ในกรณีเช่นนี้ ภรรยาอาจเรียกร้องจะใช้สิทธิของเธอเพื่อสอนความเชื่อและกิจปฏิบัติต่าง ๆ ทางศาสนาของเธอ ซึ่งอาจรวมถึงการพาลูก ๆ ไปโบสถ์ของเธอ.b แน่นอน เด็กควรปฏิบัติตามสติรู้สึกผิดชอบที่ได้รับการอบรมจากคัมภีร์ไบเบิลในเรื่องการไม่เข้าส่วนร่วมในพิธีต่าง ๆ ของศาสนาเท็จ. ในฐานะประมุขครอบครัว บิดาจะใช้สิทธิของตนในการศึกษากับบุตรและพาพวกเขาไปร่วมประชุมที่หอประชุมราชอาณาจักรเมื่อมีโอกาสทำได้. เมื่อพวกเขาถึงวัยที่เขาอาจทำการตัดสินใจด้วยตัวเองได้ เขาจะตัดสินใจว่าเขาจะดำเนินทางไหน. (ยะโฮซูอะ 24:15) ถ้าเพื่อนผู้ปกครองและสมาชิกประชาคมสามารถเห็นได้ว่า เขากำลังทำทุกสิ่งที่กฎหมายบ้านเมืองอนุญาตให้ทำได้เพื่อสอนบุตรของเขาอย่างเหมาะสมในแนวทางแห่งความจริง เขาจะไม่ถูกนับว่าขาดคุณวุฒิฐานะผู้ดูแล.
“ปกครองครอบครัวของตนเองอย่างดีงาม”
10. หากคนที่มีครอบครัวแล้วเป็นผู้ปกครอง หน้าที่ประการแรกของเขาอยู่ตรงไหน?
10 แม้แต่ผู้ปกครองที่เป็นบิดาและมีภรรยาเป็นเพื่อนคริสเตียน ก็ไม่ใช่งานง่ายเลยที่จะแบ่งสันปันส่วนเวลาและความเอาใจใส่อย่างเหมาะสมให้กับภรรยา, บุตร, และหน้าที่รับผิดชอบในประชาคม. พระคัมภีร์ทำให้เห็นชัดทีเดียวว่า บิดาที่เป็นคริสเตียนมีพันธะต้องเอาใจใส่ภรรยาและบุตร. เปาโลเขียนว่า “ถ้าแม้นผู้ใดไม่จัดหามาเลี้ยงคนเหล่านั้นซึ่งเป็นของตนเอง และโดยเฉพาะคนเหล่านั้นซึ่งเป็นสมาชิกแห่งครอบครัวของตน ผู้นั้นก็ได้ปฏิเสธเสียซึ่งความเชื่อและนับว่าเลวร้ายกว่าคนที่ไม่มีความเชื่อเสียด้วยซ้ำ.” (1 ติโมเธียว 5:8, ล.ม.) ในจดหมายฉบับเดียวกันนั้นเอง เปาโลแจ้งว่าเฉพาะคนซึ่งสมรสแล้วที่ได้พิสูจน์ตัวว่าเป็นสามีและบิดาที่ดีเท่านั้นที่ควรจะได้รับการเสนอให้รับใช้ฐานะผู้ดูแล.—1 ติโมเธียว 3:1-5, ล.ม.
11. (ก) ในทางใดบ้างที่ผู้ปกครองควร “จัดหามาเลี้ยงคนเหล่านั้นซึ่งเป็นของตนเอง”? (ข) การทำเช่นนี้จะช่วยให้ผู้ปกครองบรรลุหน้าที่รับผิดชอบของเขาในประชาคมได้อย่างไร?
11 ผู้ปกครองควร “จัดหามาเลี้ยง” คนซึ่งเป็นของตนเองไม่เพียงแต่ทางด้านวัตถุเท่านั้น แต่ด้านวิญญาณและด้านอารมณ์ด้วย. กษัตริย์ซะโลโมผู้ฉลาดสุขุมเขียนดังนี้: “จงเตรียมการงานภายนอกของเจ้า, และจงเตรียมทุ่งนาไว้ให้พร้อม, แล้วภายหลังจึงมีเหย้าเรือน [“เสริมสร้างครอบครัวของเจ้า,” ล.ม.].” (สุภาษิต 24:27) ดังนั้น ในขณะที่จัดหาในเรื่องความจำเป็นทางวัตถุ, อารมณ์, และนันทนาการของภรรยาและบุตร ผู้ดูแลควรเสริมสร้างพวกเขาขึ้นทางฝ่ายวิญญาณด้วย. การทำเช่นนั้นต้องใช้เวลา—เวลาที่เขาจะไม่อาจเอาไปทุ่มเทให้แก่เรื่องต่าง ๆ ของประชาคม. แต่เป็นเวลาที่สามารถจะให้ผลตอบแทนอย่างมากมายจริง ๆ ในรูปของความสุขและสภาพฝ่ายวิญญาณของครอบครัว. ผลที่สุด ถ้าครอบครัวแข็งแรงฝ่ายวิญญาณ ผู้ปกครองก็อาจจะไม่จำเป็นต้องใช้เวลามากนักในการจัดการกับปัญหาครอบครัว. เมื่อเป็นเช่นนี้ความคิดจิตใจของเขาจะเป็นอิสระมากขึ้นในการดูแลเรื่องของประชาคม. ตัวอย่างของเขาฐานะสามีและบิดาที่ดีจะเป็นผลประโยชน์ทางฝ่ายวิญญาณต่อประชาคม.—1 เปโตร 5:1-3.
12. บิดาที่เป็นผู้ปกครองควรวางแบบอย่างที่ดีอะไรในเรื่องเกี่ยวกับครอบครัว?
12 การปกครองครอบครัวอย่างดีงามรวมถึงการจัดตารางเวลาเพื่อนำการศึกษาประจำครอบครัว. นับว่าสำคัญเป็นพิเศษที่ผู้ปกครองจะวางแบบอย่างที่ดีในด้านนี้ เพราะครอบครัวที่เข้มแข็งประกอบกันขึ้นเป็นประชาคมที่เข้มแข็ง. เวลาของผู้ดูแลไม่ควรจะเต็มแน่นไปด้วยสิทธิพิเศษแห่งการรับใช้อื่น ๆ อยู่เป็นประจำจนเขาไม่มีเวลาจะศึกษากับภรรยาและลูก ๆ. หากเป็นเช่นนี้ เขาควรพิจารณาตารางเวลาของเขาเสียใหม่. เขาอาจจะต้องจัดตารางเวลาใหม่หรือตัดทอนเวลาที่เขาอุทิศให้ในเรื่องอื่น ๆ หรืออาจถึงกับต้องปฏิเสธสิทธิพิเศษบางอย่างในบางครั้ง.
การดูแลอย่างสมดุล
13, 14. “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ได้ให้คำแนะนำอะไรแก่ผู้ปกครองที่มีครอบครัวแล้ว?
13 คำแนะนำให้รักษาความสมดุลระหว่างหน้าที่รับผิดชอบต่อครอบครัวกับหน้าที่รับผิดชอบต่อประชาคมไม่ใช่เรื่องใหม่. เป็นเวลาหลายปีที่ “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ได้ให้คำแนะนำแก่ผู้ปกครองในเรื่องนี้มาโดยตลอด. (มัดธาย 24:45, ล.ม.) กว่า 37 ปีมาแล้ว หอสังเกตการณ์ (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 15 กันยายน 1959 หน้า 553, 554 ได้ให้คำแนะนำนี้: “จริง ๆ แล้ว เป็นเรื่องของการรักษาความสมดุลในการใช้เวลาของเราจัดการกับข้อเรียกร้องเหล่านี้ทุกอย่างมิใช่หรือ? เพื่อจะรักษาความสมดุลในเรื่องนี้ คุณควรจะเน้นอย่างเหมาะสมที่ผลประโยชน์ของครอบครัวคุณเอง. แน่นอน พระยะโฮวาพระเจ้าจะไม่ทรงคาดหมายผู้ชายจะใช้เวลาทั้งหมดของเขาในกิจการงานของประชาคม, ในการช่วยพี่น้องและเพื่อนบ้านให้รอด, แต่ไม่ได้เอาใจใส่ความรอดของครอบครัวตัวเอง. ภรรยาและลูกเป็นหน้าที่รับผิดชอบเบื้องต้น.”
14 หอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 พฤศจิกายน 1986 หน้า 19, 20 แนะนำดังนี้: “การเข้าร่วมทำการประกาศตามบ้านฐานะเป็นครอบครัวย่อมทำให้ท่านใกล้ชิดกัน กระนั้น ความจำเป็นของเด็กที่ไม่เหมือนของผู้ใหญ่จึงเรียกร้องการสละเวลาส่วนตัวและพลังใจ. ดังนั้น ความสมดุลเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อจะตัดสินใจได้ว่า ท่านอาจใช้เวลาสำหรับการประกาศหรือทำหน้าที่บางอย่างในประชาคมได้มากแค่ไหน ขณะที่ท่านให้ความเอาใจใส่ดูแล ‘คนเหล่านั้นซึ่งเป็นของตนเอง’ ทางด้านวิญญาณ ด้านจิตใจและด้านวัตถุ. [คริสเตียน] ต้อง ‘เรียนรู้ที่จะแสดงความเลื่อมใสในพระเจ้าในครอบครัวของตัวเองก่อน.’ (1 ติโมเธียว 5:4, 8, ล.ม.).
15. เหตุใดผู้ปกครองพร้อมทั้งภรรยาและบุตรจำต้องมีสติปัญญาและการสังเกตเข้าใจ?
15 สุภาษิตข้อหนึ่งของพระคัมภีร์บอกดังนี้: “โดยสติปัญญาครอบครัวจะได้รับการเสริมสร้าง และโดยการสังเกตเข้าใจจะปรากฏว่าตั้งมั่นคง.” (สุภาษิต 24:3, ล.ม.) ใช่แล้ว เพื่อที่ผู้ดูแลจะทำหน้าที่ตามระบอบของพระเจ้าให้ลุล่วงได้และขณะเดียวกันก็เสริมสร้างครอบครัวตน เขาต้องอาศัยสติปัญญาและการสังเกตเข้าใจอย่างแน่นอน. เขามีหน้าที่รับผิดชอบตามหลักพระคัมภีร์ต้องดูแลมากกว่าหนึ่งขอบเขต—ต่อครอบครัวและต่อประชาคมของเขา. เขาจำต้องอาศัยการสังเกตเข้าใจเพื่อรักษาความสมดุลระหว่างหน้าที่เหล่านี้. (ฟิลิปปอย 1:9, 10) เขาจำต้องมีสติปัญญาเพื่อกำหนดลำดับความสำคัญก่อนหลัง. (สุภาษิต 2:10, 11) ไม่ว่าเขาจะรู้สึกถึงความรับผิดชอบต้องเอาใจใส่สิทธิพิเศษในประชาคมสักเพียงใด เขาควรตระหนักว่า ในฐานะสามีและบิดา หน้าที่รับผิดชอบเบื้องต้นที่พระเจ้าประทานให้เขาเอาใจใส่คือการดูแลและการช่วยครอบครัวของเขาให้ได้รับความรอด.
เป็นทั้งบิดาที่ดีและผู้ปกครองที่ดี
16. มีข้อได้เปรียบอะไรหากผู้ปกครองเป็นบิดาด้วย?
16 ผู้ปกครองซึ่งมีบุตรที่มีความประพฤติดีอาจเป็นบุคคลที่มีค่าอย่างแท้จริง. หากเขาได้เรียนรู้ในการเอาใจใส่ครอบครัวอย่างดี เขาย่อมอยู่ในฐานะที่จะช่วยครอบครัวอื่นในประชาคมได้. เขาจะเข้าใจปัญหาของพวกเขาได้ดีขึ้นและสามารถให้คำแนะนำที่สะท้อนประสบการณ์ของตนเอง. น่ายินดีที่มีผู้ปกครองเป็นจำนวนมากมายทั่วโลกกำลังทำการงานที่ดีฐานะเป็นสามี, บิดา, และผู้ดูแล.
17. (ก) คนที่เป็นทั้งบิดาและผู้ปกครองต้องไม่ลืมอะไร? (ข) สมาชิกคนอื่น ๆ ในประชาคมควรแสดงความเห็นอกเห็นใจเช่นไร?
17 เพื่อผู้ชายที่มีครอบครัวแล้วจะเป็นผู้ปกครองได้ เขาต้องเป็นคริสเตียนที่อาวุโสซึ่ง ในขณะที่ดูแลเอาใจใส่ภรรยาและบุตร สามารถจัดระเบียบกิจธุระของตนเพื่อจะสามารถอุทิศเวลาและการเอาใจใส่ให้คนอื่น ๆ ในประชาคม. เขาไม่ควรลืมว่า งานการบำรุงเลี้ยงนั้นเริ่มต้นที่บ้าน. เมื่อได้ทราบว่าผู้ปกครองที่มีภรรยาและบุตรมีหน้าที่รับผิดชอบที่ต้องดูแลทั้งในครอบครัวของเขาและในประชาคม สมาชิกประชาคมจะพยายามไม่เรียกร้องเวลาจากเขาจนเกินควร. ตัวอย่างเช่น ผู้ปกครองที่มีบุตรที่ต้องไปโรงเรียนเช้าวันรุ่งขึ้นอาจจะไม่สามารถอยู่ต่ออีกได้เสมอไปหลังการประชุมตอนค่ำจบลง. สมาชิกคนอื่น ๆ ในประชาคมควรจะเข้าใจในข้อนี้และแสดงความเห็นอกเห็นใจ.—ฟิลิปปอย 4:5.
ผู้ปกครองของเราควรเป็นคนที่เรารักอย่างสุดซึ้ง
18, 19. (ก) การพิจารณาของเราในพระธรรม 1 โกรินโธ บท 7 ช่วยเราให้ตระหนักถึงอะไร? (ข) เราควรมองดูชายคริสเตียนเหล่านี้เช่นไร?
18 การพิจารณาของเราในบท 7 ของจดหมายฉบับแรกของเปาโลที่มีไปยังชาวโกรินโธได้ช่วยเราให้เห็นว่า เนื่องจากเขาปฏิบัติตามคำแนะนำของเปาโล มีชายโสดมากมายที่กำลังใช้ความเป็นอิสระของตนรับใช้เพื่อผลประโยชน์ของราชอาณาจักร. มีพี่น้องที่สมรสแล้วแต่ไม่มีบุตรอีกมากมายเช่นกันซึ่ง ขณะที่ให้ความเอาใจใส่อย่างสมควรต่อภรรยา ได้รับใช้ฐานะผู้ดูแลภาค, ผู้ดูแลหมวด, ผู้ดูแลในประชาคม, และผู้ดูแลสาขา พร้อมทั้งได้รับความร่วมมืออันน่าชมเชยจากภรรยาของพวกเขา. นอกจากที่กล่าวไปแล้ว ในเกือบ 80,000 ประชาคมแห่งไพร่พลของพระยะโฮวา ก็ยังมีบิดาอีกหลายคนที่ไม่เพียงเอาใจใส่ด้วยความรักต่อภรรยาและลูก ๆ แต่ยังสละเวลารับใช้พี่น้องของพวกเขาฐานะเป็นผู้บำรุงเลี้ยงที่เอาใจใส่.—กิจการ 20:28.
19 อัครสาวกเปาโลเขียนดังนี้: “จงถือว่าผู้เฒ่าผู้แก่ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานอย่างดีนั้นสมควรได้รับเกียรติสองเท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่พากเพียรในการพูดและการสั่งสอน.” (1 ติโมเธียว 5:17, ล.ม.) ถูกแล้ว ผู้ปกครองที่ทำหน้าที่ในแนวทางที่ดีงามในบ้านของตนและในประชาคมสมควรได้รับความรักและความนับถือจากพวกเรา. เราควร “นับถือคนเช่นนั้น.”—ฟิลิปปอย 2:29.
[เชิงอรรถ]
a ดูหอสังเกตการณ์ (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 1 กุมภาพันธ์ 1978 หน้า 31, 32.
b ดูหอสังเกตการณ์ (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 1 ธันวาคม 1960 หน้า 735-736.
เพื่อเป็นการทบทวน
▫ เรารู้ได้อย่างไรว่ามีผู้ปกครองหลายคนในศตวรรษแรกเป็นคนมีครอบครัวแล้ว?
▫ มีการเรียกร้องอะไรจากผู้ปกครองที่สมรสแล้วและมีบุตร และเพราะเหตุใด?
▫ การมี “บุตรที่เชื่อถือ” หมายความเช่นไร กระนั้นจะว่าอย่างไรหากลูกของผู้ปกครองเลือกจะไม่รับใช้พระยะโฮวา?
▫ ผู้ปกครองควร “จัดหามาเลี้ยงคนเหล่านั้นซึ่งเป็นของตนเอง” ในด้านใดบ้าง?
[รูปภาพหน้า 23]
ครอบครัวที่เข้มแข็งประกอบกันขึ้นเป็นประชาคมที่เข้มแข็ง