ผู้ดูแลเดินทาง—ของประทานในลักษณะมนุษย์
“คราวที่พระองค์เสด็จขึ้นเบื้องสูงพระองค์ทรงนำเอาเชลยไป; พระองค์ทรงให้ของประทานในลักษณะมนุษย์.”—เอเฟโซ 4:8, ล.ม.
1. มีการประกาศงานใหม่อะไรในวารสารนี้เมื่อปี 1894?
มากกว่าหนึ่งศตวรรษมาแล้ว วารสารหอสังเกตการณ์ (ภาษาอังกฤษ) ประกาศสิ่งใหม่อย่างหนึ่ง. สิ่งนี้ได้รับการพรรณนาว่าเป็น “อีกแขนงหนึ่งของงานประกาศ.” กิจกรรมใหม่นี้เกี่ยวข้องกับอะไร? เป็นการเปิดฉากงานของผู้ดูแลเดินทางสมัยใหม่. วารสารนี้ฉบับ 1 กันยายน 1894 อธิบายว่า นับตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นไปพี่น้องชายที่มีคุณวุฒิจะเยี่ยมกลุ่มนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิล ‘ด้วยจุดประสงค์จะก่อร่างสร้างพวกเขาขึ้นในความจริง.’
2. ผู้ดูแลหมวดและผู้ดูแลภาคมีหน้าที่อะไร?
2 ในศตวรรษแรกแห่งสากลศักราช ประชาคมคริสเตียนในที่ต่าง ๆ ได้รับการเยี่ยมจากเหล่าผู้ดูแลอย่างเช่นเปาโลและบาระนาบา. คนที่ซื่อสัตย์เหล่านี้มีจุดประสงค์จะ “ก่อร่างสร้าง” ประชาคมขึ้น. (2 โกรินโธ 10:8) ทุกวันนี้ เราได้รับพระพรจากการที่มีพี่น้องชายหลายพันคนซึ่งกำลังทำการเยี่ยมเช่นนี้อย่างเป็นระบบ. คณะกรรมการปกครองของพยานพระยะโฮวาได้แต่งตั้งพวกเขาเป็นผู้ดูแลหมวดและผู้ดูแลภาค. ผู้ดูแลหมวดรับใช้ประมาณ 20 ประชาคม เยี่ยมแต่ละแห่งครั้งละหนึ่งสัปดาห์ สองครั้งในรอบหนึ่งปีโดยประมาณ, ตรวจบันทึกรายงานต่าง ๆ, บรรยาย, และเข้าส่วนในงานเผยแพร่กับผู้ประกาศราชอาณาจักรประจำท้องถิ่น. ผู้ดูแลภาคเป็นประธานการประชุมหมวดแต่ละครั้งในรอบปีของหมวดต่าง ๆ, เข้าร่วมงานเผยแพร่ในเขตงานกับประชาคมที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม, และจัดคำบรรยายที่หนุนใจซึ่งอาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลัก.
น้ำใจเสียสละของพวกเขา
3. เหตุใดผู้ดูแลเดินทางจำต้องมีน้ำใจเสียสละ?
3 ผู้ดูแลเดินทางต้องเดินทางอยู่เป็นประจำ. นี่เป็นเรื่องที่ต้องมีน้ำใจเสียสละ. การเดินทางจากประชาคมแห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่ง หลายครั้งอาจเป็นเรื่องลำบากทีเดียว แต่คนเหล่านี้และภรรยาของพวกเขาทำเช่นนั้นโดยมีเจตคติที่เปี่ยมด้วยความยินดี. ผู้ดูแลหมวดคนหนึ่งกล่าวว่า “ภรรยาผมให้การเกื้อหนุนอย่างยิ่งและไม่บ่น . . . เธอสมควรได้รับคำสรรเสริญเป็นอย่างมากสำหรับน้ำใจเสียสละของเธอ.” ผู้ดูแลหมวดบางคนเดินทางระหว่างประชาคมเป็นระยะทางมากกว่า 1,000 กิโลเมตร. หลายคนใช้รถยนต์ แต่ก็มีอีกหลายคนเดินทางจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งโดยอาศัยพาหนะโดยสารสาธารณะ, ขี่จักรยาน, ขี่ม้า, หรือเดินเท้า. ผู้ดูแลหมวดชาวแอฟริกาคนหนึ่งถึงกับต้องเดินลุยข้ามแม่น้ำโดยที่ให้ภรรยาขี่คอเพื่อจะไปถึงประชาคมแห่งหนึ่ง. ในการเดินทางของท่านฐานะมิชชันนารี อัครสาวกเปาโลต้องรับมือกับความร้อนและความหนาว, ความหิวและกระหาย, การอดหลับอดนอน, อันตรายรอบด้าน, และการกดขี่ข่มเหงอย่างรุนแรง. ท่านยัง ‘ห่วงกังวลถึงประชาคมทั้งสิ้น’ อีกด้วย ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ผู้ดูแลเดินทางทุกวันนี้มักจะประสบเช่นเดียวกัน.—2 โกรินโธ 11:23-29.
4. ปัญหาสุขภาพอาจก่อให้เกิดผลเช่นไรต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ดูแลเดินทางและภรรยา?
4 เช่นเดียวกับติโมเธียวเพื่อนร่วมงานของเปาโล บางครั้งผู้ดูแลเดินทางและภรรยาของพวกเขาก็มีปัญหาสุขภาพด้วย. (1 ติโมเธียว 5:23) นี่ยิ่งเพิ่มความเครียดให้แก่พวกเขามากขึ้นไปอีก. ภรรยาผู้ดูแลหมวดคนหนึ่งชี้แจงว่า “การที่ต้องอยู่กับพี่น้องเสมอทำให้ตึงเครียดเมื่อดิฉันไม่ค่อยสบาย. ช่วงที่เริ่มเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ดิฉันพบว่าลำบากเป็นพิเศษ. แค่การที่ต้องเก็บสัมภาระทุกสัปดาห์และย้ายไปอีกแห่งหนึ่งก็นับว่าเป็นเรื่องท้าทายทีเดียว. บ่อยครั้ง ดิฉันต้องหยุดเพื่อจะอธิษฐานถึงพระยะโฮวาขอพระองค์ประทานความเข้มแข็งแก่ดิฉันให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้.”
5. แม้เผชิญสภาพการณ์ที่ลำบากหลายประการ ผู้ดูแลเดินทางและภรรยาได้แสดงน้ำใจเช่นไร?
5 แม้มีปัญหาสุขภาพและสภาพการณ์ที่ลำบากอื่น ๆ ผู้ดูแลเดินทางและภรรยาก็พบความยินดีในการรับใช้ของตน และแสดงความรักที่เสียสละ. บางคนเสี่ยงชีวิตเพื่อให้ความช่วยเหลือฝ่ายวิญญาณในยามที่เกิดการกดขี่ข่มเหงหรือสงคราม. เมื่อไปเยี่ยมประชาคมต่าง ๆ พวกเขาสำแดงน้ำใจในแบบเดียวกับที่เปาโลได้แสดง ซึ่งท่านได้บอกคริสเตียนชาวเธซะโลนิเกว่า “เราได้ปฏิบัติอย่างนิ่มนวลท่ามกลางท่านทั้งหลาย เหมือนแม่ลูกอ่อนที่กำลังให้ลูกกินนมทะนุถนอมลูกของตน. ดังนั้น เนื่องจากเรามีความรักใคร่อันอ่อนละมุนต่อท่าน เราจึงยินดีจะให้ท่านทั้งหลายไม่เพียงแต่ข่าวดีของพระเจ้าเท่านั้น แต่ให้ทั้งจิตวิญญาณของเราแก่ท่านด้วย เพราะว่าท่านเป็นที่รักของเรา.”—1 เธซะโลนิเก 2:7, 8, ล.ม.
6, 7. ผู้ดูแลเดินทางที่พากเพียรในการงานอาจมีอิทธิพลด้านบวกเช่นไร?
6 เช่นเดียวกับผู้ปกครองคนอื่น ๆ ในประชาคมคริสเตียน ผู้ดูแลเดินทาง “พากเพียรในการพูดและการสั่งสอน.” ผู้ปกครองทุกคนที่ได้ทำเช่นนั้นสมควร “ได้รับเกียรติสองเท่า.” (1 ติโมเธียว 5:17, ล.ม.) ตัวอย่างของพวกเขาจะปรากฏว่าเป็นประโยชน์ก็ต่อเมื่อ ‘พิจารณาดูผลแห่งปลายทางแห่งประวัติของเขา, แล้วเราเอาอย่างความเชื่อของเขา.’—เฮ็บราย 13:7.
7 ผู้ดูแลเดินทางบางคนได้ก่อให้เกิดผลกระทบเช่นไรต่อคนอื่น ๆ? พี่น้องคนหนึ่งเขียนจดหมายมาดังนี้ “บราเดอร์ พ——เป็นผู้มีอิทธิพลที่วิเศษจริง ๆ ต่อชีวิตของผม! เขาเป็นผู้ดูแลเดินทางในเม็กซิโกตั้งแต่ปี 1960 เป็นต้นมา. ตอนผมเป็นเด็ก ผมรอคอยให้ถึงการเยี่ยมของเขาด้วยใจจดใจจ่อและด้วยความยินดี. เมื่อผมอายุได้สิบขวบเขาบอกผมว่า ‘เธอเองก็จะได้เป็นผู้ดูแลหมวดด้วย.’ ในช่วงวัยรุ่นที่ยุ่งยากลำบาก ผมจะติดต่อกับเขาอยู่บ่อย ๆ เพราะเขามีคำพูดเตือนสติที่สุขุมเสมอ. เขามีชีวิตอยู่เพื่อบำรุงเลี้ยงฝูงแกะโดยแท้! เวลานี้เมื่อผมเองได้มาเป็นผู้ดูแลหมวดคนหนึ่ง ผมจึงพยายามเสมอจะทุ่มเทเวลาให้แก่คนหนุ่มสาว และตั้งเป้าหมายตามระบอบของพระเจ้าไว้ตรงหน้าพวกเขาเหมือนกับที่เขาได้ทำเพื่อช่วยผม. แม้แต่ในช่วงบั้นปลายแห่งชีวิตของเขา ทั้งที่มีปัญหาโรคหัวใจล้มเหลว บราเดอร์ พ——หาโอกาสพูดหนุนใจคนอื่นอยู่เสมอ. เพียงวันเดียวก่อนเขาเสียชีวิตในเดือนกุมภาพันธ์ 1995 เขากับผมไปยังการประชุมพิเศษวันเดียวด้วยกัน และเขาได้ช่วยพี่น้องชายคนหนึ่งซึ่งเป็นสถาปนิกให้ตั้งเป้าหมายที่ดี. พี่น้องคนนั้นยื่นใบสมัครเพื่อรับใช้ที่เบเธลทันที.”
พวกเขาได้รับความหยั่งรู้ค่า
8. ใครคือ “ของประทานในลักษณะมนุษย์” ที่กล่าวถึงในเอเฟโซบท 4 และพวกเขาให้ประโยชน์แก่ประชาคมเช่นไร?
8 ผู้ดูแลเดินทางและผู้ปกครองคนอื่น ๆ ซึ่งได้รับงานมอบหมายให้รับใช้โดยพระกรุณาคุณอันมิพึงได้รับ ถูกเรียกว่าเป็น “ของประทานในลักษณะมนุษย์.” ฐานะเป็นตัวแทนของพระยะโฮวาและเป็นประมุขของประชาคม พระเยซูทรงจัดให้มีผู้ชายฝ่ายวิญญาณเหล่านี้เพื่อเราแต่ละคนจะได้รับการเสริมสร้างและบรรลุถึงความอาวุโส. (เอเฟโซ 4:8-15) ของขวัญไม่ว่าจะเป็นสิ่งใดสมควรได้รับการแสดงความหยั่งรู้ค่า. เป็นจริงดังกล่าวโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับของประทานที่ช่วยให้เราเข้มแข็งในการรับใช้พระยะโฮวาอยู่เสมอ. ถ้าอย่างนั้นเราจะแสดงความหยั่งรู้ค่าของเราสำหรับการงานของผู้ดูแลเดินทางได้โดยวิธีใด? ในทางใดบ้างที่เราจะแสดงให้เห็นว่า เรา “นับถือคนเช่นนั้น”?—ฟิลิปปอย 2:29.
9. เราสามารถแสดงความหยั่งรู้ค่าต่อผู้ดูแลเดินทางได้ในทางใดบ้าง?
9 เมื่อมีการประกาศแจ้งการเยี่ยมของผู้ดูแลหมวด เราสามารถเริ่มวางแผนจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในกิจกรรมของประชาคมสำหรับสัปดาห์นั้น. บางทีเราอาจสามารถจัดเวลาเอาไว้เป็นพิเศษเพื่อสนับสนุนการรับใช้ในเขตงานในระหว่างสัปดาห์แห่งการเยี่ยมนั้น. เราอาจสามารถรับใช้เป็นไพโอเนียร์สมทบในเดือนนั้น. แน่นอน เราปรารถนาจะนำเอาคำแนะนำของผู้ดูแลหมวดไปใช้จริง ๆ เพื่อปรับปรุงงานรับใช้ของเรา. น้ำใจตอบรับเช่นนั้นจะทำให้เราได้รับประโยชน์ และจะทำให้เขามั่นใจว่าการมาเยี่ยมของเขานั้นให้ประโยชน์. ถูกแล้ว ผู้ดูแลเดินทางเยี่ยมประชาคมเพื่อเสริมสร้างเราขึ้น แต่พวกเขาก็ต้องการการเสริมสร้างทางฝ่ายวิญญาณด้วยเช่นกัน. มีอยู่หลายครั้งที่เปาโลต้องการการหนุนใจ และท่านมักขอให้เพื่อนคริสเตียนอธิษฐานเผื่อท่าน. (กิจการ 28:15; โรม 15:30-32; 2 โกรินโธ 1:11; โกโลซาย 4:2, 3; 1 เธซะโลนิเก 5:25) ผู้ดูแลเดินทางในสมัยปัจจุบันก็เช่นกัน ต้องการคำอธิษฐานและการหนุนใจจากพวกเรา.
10. เราจะสามารถช่วยทำให้งานของผู้ดูแลเดินทางเป็นที่น่ายินดีได้อย่างไร?
10 เราได้บอกผู้ดูแลหมวดและภรรยาไหมว่าเราหยั่งรู้ค่าการเยี่ยมของพวกเขามากสักเพียงไร? เราขอบคุณเขาไหมสำหรับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ที่ได้ให้แก่เรา? เราบอกให้เขาทราบไหมเมื่อข้อเสนอแนะของเขาสำหรับการประกาศในเขตงานทำให้เรามีความยินดีในงานรับใช้มากขึ้น? หากเราทำเช่นนั้น นั่นจะช่วยทำให้งานของเขาเป็นที่น่ายินดี. (เฮ็บราย 13:17) ผู้ดูแลหมวดคนหนึ่งในสเปนได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า เขาและภรรยาเห็นคุณค่าบัตรแสดงความขอบคุณซึ่งได้รับหลังการเยี่ยมประชาคมต่าง ๆ มากสักเพียงใด. เขากล่าวว่า “เราเก็บบัตรขอบคุณเหล่านี้เอาไว้และอ่านเมื่อเรารู้สึกท้อแท้. คำขอบคุณเหล่านี้เป็นแหล่งแห่งการหนุนกำลังใจอย่างแท้จริง.”
11. เหตุใดเราควรแสดงให้ภรรยาผู้ดูแลหมวดและภรรยาผู้ดูแลภาคทราบว่า พวกเขาเป็นที่รักและได้รับความหยั่งรู้ค่า?
11 ภรรยาผู้ดูแลเดินทางได้รับประโยชน์อย่างแน่นอนจากคำชมเชย. เธอเสียสละอย่างมากเพื่อช่วยสามีในงานรับใช้ด้านนี้. พี่น้องหญิงที่ซื่อสัตย์เหล่านี้ระงับความปรารถนาตามธรรมชาติที่จะมีบ้านเป็นของตนเอง และในกรณีของหลายคน ระงับความปรารถนาจะมีบุตรด้วย. บุตรสาวของยิพธาเป็นผู้รับใช้คนหนึ่งของพระยะโฮวาที่เต็มใจสละโอกาสที่จะมีสามีและครอบครัว เนื่องด้วยคำสาบานที่บิดาได้ทำ. (วินิจฉัย 11:30-39) การเสียสละของเธอได้รับการมองดูเช่นไร? วินิจฉัย 11:40 (ล.ม.) กล่าวดังนี้: “ปีแล้วปีเล่าบุตรสาวชาวยิศราเอลจะไปพูดจาชมเชยลูกสาวของยิพธาชาวเมืองฆีละอาด ปีละสี่วัน.” เป็นการดีสักเพียงไรเมื่อเราพยายามบอกภรรยาผู้ดูแลหมวดและภรรยาผู้ดูแลภาคว่า พวกเขาเป็นที่รักและได้รับความหยั่งรู้ค่า!
“อย่าลืมแสดงน้ำใจรับรองแขก”
12, 13. (ก) มีพื้นฐานอะไรตามหลักพระคัมภีร์สำหรับการมีน้ำใจรับรองแขกต่อผู้ดูแลเดินทางและภรรยา? (ข) จงแสดงให้เห็นว่า น้ำใจรับรองแขกเช่นนั้นอาจก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่ายอย่างไร.
12 การแสดงน้ำใจรับรองแขกเป็นอีกทางหนึ่งในการแสดงความรัก และความหยั่งรู้ค่าสำหรับผู้ที่อยู่ในงานเดินทางฝ่ายคริสเตียน. (เฮ็บราย 13:2, ล.ม.) อัครสาวกโยฮันชมเชยฆาโยที่ได้แสดงน้ำใจรับรองแขกต้อนรับคนที่มาเยี่ยมประชาคมฐานะมิชชันนารีเดินทาง. โยฮันเขียนดังนี้: “ท่านที่รัก ท่านกระทำการที่ซื่อสัตย์ในสิ่งใด ๆ ที่ท่านกระทำเพื่อพวกพี่น้อง และแม้พวกเขาเป็นคนแปลกหน้าเสียด้วยซ้ำ ผู้ซึ่งได้เป็นพยานถึงความรักของท่านต่อหน้าประชาคม. ขอท่านส่งเขาเหล่านั้นไปตามทางของเขาอย่างที่สมกับพระเจ้า. เพราะว่าพวกเขาได้ออกเดินทางเพื่อเห็นแก่พระนามของพระองค์โดยไม่รับเอาสิ่งใดจากชนนานาชาติ. เพราะเหตุนี้ เราจึงมีพันธะที่จะรับคนเช่นนี้ไว้ด้วยอัชฌาสัยดี เพื่อเราจะมาเป็นเพื่อนร่วมงานในความจริง.” (3 โยฮัน 5-8, ล.ม.) ทุกวันนี้ เราสามารถส่งเสริมกิจกรรมการประกาศเรื่องราชอาณาจักรได้โดยการแสดงน้ำใจรับรองแขกในลักษณะเดียวกันต่อผู้ดูแลเดินทางและภรรยา. แน่นอน ผู้ปกครองในท้องถิ่นควรคอยดูแลให้มีที่พักที่พอเหมาะพอควร แต่ผู้ดูแลภาคคนหนึ่งกล่าวว่า “ความสัมพันธ์ใกล้ชิดของเรากับพวกพี่น้องจะไม่ขึ้นอยู่กับว่าใครสามารถทำอะไรให้แก่เรา. เราไม่ต้องการจะให้ใครคิดอย่างนั้นด้วยซ้ำ. เราต้องเต็มใจจะยอมรับน้ำใจรับรองแขกจากพี่น้องของเรา ไม่ว่าใครจะยากดีมีจนอย่างไรก็ตาม.”
13 น้ำใจรับรองแขกสามารถก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย. ชอร์เช อดีตผู้ดูแลหมวดซึ่งขณะนี้รับใช้ที่เบเธลเล่าความหลังว่า “ในครอบครัวของผม เรามีธรรมเนียมที่จะเชิญผู้ดูแลเดินทางให้พักอยู่กับเรา. ผมรู้สึกว่า การเยี่ยมเหล่านี้ช่วยผมมากกว่าที่ผมตระหนักในตอนนั้น. ในช่วงที่ผมเป็นวัยรุ่น ผมมีปัญหาทางฝ่ายวิญญาณ. แม่ผมวิตกกังวลเกี่ยวด้วยเรื่องนี้ แต่ไม่รู้จะช่วยอย่างไรดี ดังนั้นท่านจึงขอผู้ดูแลหมวดให้พูดกับผม. ทีแรก ผมพยายามหลบ เพราะผมกลัวจะถูกต่อว่า. แต่ท่าทีที่เป็นมิตรของเขาชนะใจผมในที่สุด. เขาเชิญผมไปรับประทานอาหารด้วยกันในวันจันทร์วันหนึ่ง แล้วผมก็เปิดอกพูด เพราะผมรู้สึกมั่นใจว่ามีคนที่เข้าอกเข้าใจ. เขาฟังอย่างตั้งใจ. ข้อชี้แนะของเขาปรากฏว่าใช้ได้ผลจริง ๆ และผมก็เริ่มก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณ.”
14. เหตุใดเราควรหยั่งรู้ค่าผู้ดูแลเดินทาง แทนที่จะวิพากษ์วิจารณ์?
14 ผู้ดูแลเดินทางพยายามทำตัวให้เป็นประโยชน์ทางฝ่ายวิญญาณทั้งแก่คนหนุ่มและผู้สูงอายุด้วยเช่นกัน. แน่นอน เมื่อเป็นเช่นนี้เราน่าจะแสดงความหยั่งรู้ค่าความพยายามของเขา. อย่างไรก็ตาม จะว่าอย่างไรถ้าเราวิพากษ์วิจารณ์เขาในจุดอ่อนแอของเขา หรือเอาเขาไปเทียบว่าไม่ดีเหมือนกับคนก่อนที่เคยมาเยี่ยมประชาคม? การทำเช่นนี้คงจะทำให้ท้อใจเป็นแน่. เปาโลไม่ได้รู้สึกว่าได้รับการหนุนใจเลยเมื่อท่านได้ยินคำวิพากษ์วิจารณ์งานของท่าน. ดูเหมือนว่า คริสเตียนชาวโกรินโธบางคนพูดดูถูกดูเบาเกี่ยวกับการปรากฏตัวและความสามารถของท่านในการพูด. ท่านเองได้ยกคำพูดวิจารณ์เช่นนั้นขึ้นมากล่าวซึ่งมีความดังนี้: “หนังสือของเปาโลนั้นมีน้ำหนักมาก และมีอำนาจแข็งแรงนักก็จริง, แต่ว่าตัวเขาดูอ่อนกำลัง, และคำพูดของเขาก็ใช้ไม่ได้.” (2 โกรินโธ 10:10) อย่างไรก็ดี น่ายินดีที่ผู้ดูแลเดินทางมักจะได้ยินคำพูดแสดงความรักและหยั่งรู้ค่าเสียมากกว่า.
15, 16. ผู้ดูแลเดินทางและภรรยาได้รับผลกระทบเช่นไรจากความรัก และความกระตือรือร้นที่เพื่อนร่วมความเชื่อแสดงออกมา?
15 ผู้ดูแลหมวดคนหนึ่งในลาตินอเมริกาเดินด้วยความเหนื่อยยากทั้งวันไปตามทางเดินที่เฉอะแฉะด้วยโคลน เพื่อจะเยี่ยมพี่น้องชายหญิงฝ่ายวิญญาณของเขาที่อาศัยอยู่ในเขตที่ถูกกลุ่มกองโจรควบคุมอยู่. เขาเขียนบอกว่า “เป็นเรื่องที่น่าตื้นตันใจที่ได้เห็นวิธีที่พวกพี่น้องแสดงความหยั่งรู้ค่าสำหรับการเยี่ยม. แม้ผมต้องใช้ความพยายามมากเพื่อจะไปถึงที่นั่น เผชิญอันตรายและความยากลำบากหลายประการ ทั้งหมดนี้ได้รับการตอบแทนด้วยความรักและความกระตือรือร้นที่พวกพี่น้องแสดงให้เห็น.”
16 ผู้ดูแลหมวดคนหนึ่งในแอฟริกาเขียนมาว่า “เนื่องด้วยความรักของพวกพี่น้องที่แสดงต่อเรา เราจึงรักเขตงานในแทนซาเนียอย่างยิ่ง! พี่น้องพร้อมจะเรียนรู้จากเรา และเขายินดีที่จะให้เราพักที่บ้านของเขา.” ความสัมพันธ์ที่เปี่ยมด้วยความรักและความสุขมีอยู่ระหว่างอัครสาวกเปาโลกับอะกูลาและปริศกีลาคู่สามีภรรยาคริสเตียนในศตวรรษแรก. ที่จริง เปาโลกล่าวถึงพวกเขาดังนี้: “ขอคำนับปริศกีลาและอะกูลาผู้ร่วมมือด้วยกันกับข้าพเจ้าในการของพระคริสต์ เขาผู้ได้ยอมพลีชีวิตของตนเพื่อจะป้องกันชีวิตของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอบคุณเขาทั้งสอง, และมิใช่ข้าพเจ้าคนเดียว, แต่คริสตจักรทั้งปวงของพวกต่างประเทศก็ขอบคุณเขาด้วย.” (โรม 16:3, 4) ผู้ดูแลเดินทางและภรรยารู้สึกขอบคุณที่มีเพื่อนอย่างอะกูลาและปริศกีลาสมัยปัจจุบัน ซึ่งได้พยายามเป็นพิเศษเพื่อแสดงน้ำใจรับรองแขกและทำตัวเป็นเพื่อนที่ดี.
การเสริมความเข้มแข็งแก่ประชาคม
17. เหตุใดจึงกล่าวได้ว่า มีสติปัญญาที่อยู่เบื้องหลังการจัดเตรียมเกี่ยวกับผู้ดูแลเดินทาง และพวกเขาได้รับการสั่งสอนจากที่ไหน?
17 พระเยซูตรัสว่า “สติปัญญาได้รับการพิสูจน์ว่าชอบธรรม ก็โดยผลแห่งสติปัญญานั้น.” (มัดธาย 11:19, ล.ม.) สติปัญญาที่อยู่เบื้องหลังการจัดเตรียมเรื่องผู้ดูแลเดินทางเห็นได้ชัดจากการที่การจัดเตรียมนี้ช่วยเสริมความเข้มแข็งให้แก่ประชาคมแห่งไพร่พลของพระเจ้า. ระหว่างการเดินทางในงานมิชชันนารีรอบที่สองของเปาโล ท่านและซีลาประสบผลสำเร็จในการ “ไปตลอดมณฑลซุเรียกับมณฑลกิลิเกียเพื่อหนุนใจคริสตจักร [“ประชาคม,” ล.ม.] ให้แข็งแรงขึ้น.” พระธรรมกิจการแจ้งแก่เราดังนี้: “เมื่อท่านเหล่านั้นได้เที่ยวไปตามบ้านเมืองทั้งหลาย, ก็ได้ส่งหนังสือข้อบังคับของอัครสาวกและผู้ปกครองในกรุงยะรูซาเลมมอบให้คนทั้งหลายทุกเมืองให้ประพฤติตาม. โดยเหตุนั้นคริสตจักรทั้งปวงจึงตั้งมั่นคงอยู่ในความเชื่อ, และคริสต์สมาชิกได้ทวีขึ้นทุก ๆ วัน.” (กิจการ 15:40, 41; 16:4, 5) ผู้ดูแลเดินทางสมัยปัจจุบันได้รับการสั่งสอนฝ่ายวิญญาณทางพระคัมภีร์และสรรพหนังสือจาก “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” เช่นเดียวกับคริสเตียนคนอื่น ๆ.—มัดธาย 24:45.
18. ผู้ดูแลเดินทางเสริมความเข้มแข็งแก่ประชาคมต่าง ๆ โดยวิธีใด?
18 ถูกแล้ว ผู้ดูแลเดินทางต้องรับการเลี้ยงที่โต๊ะฝ่ายวิญญาณของพระยะโฮวาต่อ ๆ ไป. พวกเขาต้องคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับวิธีและแนวชี้นำที่องค์การของพระเจ้าปฏิบัติอยู่. เมื่อเป็นเช่นนี้คนเหล่านั้นจึงนับได้ว่าเป็นพระพรอย่างแท้จริงแก่ผู้อื่น. โดยทางตัวอย่างที่ดีในเรื่องความกระตือรือร้นในงานเผยแพร่ พวกเขาสามารถช่วยเพื่อนร่วมความเชื่อให้ปรับปรุงงานรับใช้ฝ่ายคริสเตียน. คำบรรยายที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลักซึ่งผู้ดูแลที่มาเยี่ยมบรรยาย ก่อร่างสร้างผู้ฟังขึ้นทางฝ่ายวิญญาณ. โดยการช่วยเหลือคนอื่นให้ใช้คำแนะนำแห่งพระคำของพระเจ้า รับใช้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับไพร่พลของพระยะโฮวาทั่วโลก และนำเอาสิ่งฝ่ายวิญญาณที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมให้ผ่านทาง “ทาสสัตย์ซื่อ” ไปใช้ ผู้ดูแลเดินทางได้เสริมความเข้มแข็งให้แก่ประชาคมที่พวกเขาได้รับสิทธิพิเศษไปเยี่ยม.
19. ยังมีคำถามอะไรที่ต้องพิจารณาต่อไป?
19 เมื่อองค์การของพระยะโฮวาได้ก่อตั้งการงานของผู้ดูแลเดินทางขึ้นในหมู่นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลประมาณหนึ่งร้อยปีมาแล้ว วารสารนี้กล่าวว่า “เราจะเฝ้าคอยผลที่เกิดขึ้นและคอยท่าการนำต่อไปขององค์พระผู้เป็นเจ้า.” การนำของพระยะโฮวาเห็นได้ชัดเจน. เนื่องจากการอวยพระพรของพระองค์และภายใต้การดูแลของคณะกรรมการปกครอง งานนี้จึงได้แผ่ขยายและได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นตลอดระยะเวลาหลายปี. ผลก็คือ ประชาคมแห่งพยานพระยะโฮวาทั่วแผ่นดินโลกต่างก็ตั้งมั่นในความเชื่อและกำลังเพิ่มทวีขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน. เห็นได้ชัดว่า พระยะโฮวากำลังอวยพระพรคนเหล่านี้ที่มีน้ำใจเสียสละซึ่งเป็นของประทานในลักษณะมนุษย์. แต่ผู้ดูแลเดินทางจะสามารถทำหน้าที่ของตนได้สำเร็จโดยวิธีใด? เป้าหมายของพวกเขาคืออะไร? พวกเขาจะสามารถประสบผลสำเร็จได้ดีที่สุดโดยวิธีใด?
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ หน้าที่บางอย่างของผู้ดูแลหมวดและผู้ดูแลภาคคืออะไร?
▫ เหตุใดผู้ดูแลเดินทางจำต้องมีน้ำใจเสียสละ?
▫ จะแสดงความหยั่งรู้ค่างานของผู้ดูแลเดินทางและภรรยาได้โดยวิธีใด?
▫ ผู้ดูแลเดินทางสามารถทำอะไรได้เพื่อทำให้ประชาคมต่าง ๆ มั่นคงอยู่ในความเชื่อ?
[รูปภาพหน้า 10]
การที่ต้องเดินทางอยู่เสมอจำต้องมีน้ำใจเสียสละ
[รูปภาพหน้า 13]
คุณได้แสดงน้ำใจรับรองแขกต่อผู้ดูแลเดินทางและภรรยาไหม?